ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..3

247 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 เวลา 19:51 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5840

เราลงไปถึงเหมืองสมศักดิ์จริงๆประมาณ 5 โมงเย็น เพราะเราเสียเวลาในกรุงเทพฯและการออกจากรุงเทพฯนั้นเอง ระหว่างเดินทางมานั้นผมดูอุณหภูมิภายนอกรถประมาณ 39 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเรามาถึงเหมืองนี้อุณหภูมิแค่ 27 องศาเซลเซียสเท่านั้นเอง ป้าเกล็นนั่งอยู่กับผู้มาเที่ยวกลุ่มหนึ่ง เมื่อเรามาถึงป้าเกล็นก็ลุกออกมาต้อนรับเรา เมื่อเราแสดงตัวว่าเป็นใครมาจากไหน จองห้องพักมาแล้ว ป้าเกล็นก็พยักหน้าว่าทราบการจัดการนี้แล้ว



ป้าเกล็นเชิญเรานั่งพักและดื่มน้ำเย็นและกาแฟ โดยเฉพาะขนมเค้กที่ตั้งอยู่ที่โต๊ะตลอดวันใครใคร่กินก็มากินได้ตลอด กาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ มีบริการตั้งแต่เช้าจรดค่ำ บริการตัวเอง ขอไม่เล่าความเป็นไปเป็นมาเรื่องของป้าเกล็นและเหมืองแร่สมศักดิแห่งนี้



ท่านใดสนใจ เข้าไปที่ www.parglen.com ยกเว้นบางส่วนที่ผมสนใจ ความจริงประวัติและพัฒนาการเหมืองแร่สมศักดิ์นี้น่าสนใจมาก ความรุ่งเรืองนั้นเท่ากับประวัติศาสตร์เหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ต การเดินทางเข้ามาที่นี่ปัจจุบันที่เรายังใจเต้นตุ๊บตั๊บ หากย้อนหลังไปสมัยแรกๆที่คุณลุงสมศักดิ์มาบุกเบิกจะยากลำบากแค่ไหน


ผมสงสัยว่าใครหนอช่างมาสำรวจแร่จนพบที่นี่ สมัยเมื่อ 50 ปีขึ้นไปโน้นนะเครื่องมือวิทยาศาสตร์ก็เป็นแบบง่ายๆแล้วมาสำรวจได้อย่างไร รู้ได้อย่างไรว่ามีแร่ปริมาณมากพอที่จะลงทุนทำเหมือง ป้าเกล็นเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อพี่สมศักดิ์(สามีเธอ) เอาความรู้มาจากสมัยที่รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดีย พม่า รัฐบาลอังกฤษเอาช่างจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและเหมืองแร่มาจากอังกฤษมาสำรวจพื้นที่แถบนี้ทั้งหมด…


บรรพบุรุษคุณลุงสมศักดิ์คือเจ้าเมืองคนแรกของเมืองสังขละซึ่งเป็น ปกากะญอ ความรู้นั้นจึงตกมาถึงคุณพ่อคุณลุงสมศักดิ์ ทำให้ผมนึกถึงรัชการที่ 5 ทรงจ้างนักทำแผนที่ซึ่งเป็นจากอินเดียและพม่ามาทำแผนที่และเส้นเขตแดนประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นอาณาจักรประเทศไทยนั้นครอบคลุมไปถึงหลวงพระบางโน้น… ฝรั่งชุดนี้จึงได้รับพระทานให้เข้ารับราชการเป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรกของประเทศไทยฝรั่งคนนี้คือ เจมส์ แมคคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล เจ้ากรมแผนที่คนแรก) http://resgat.net/explorings.html ผู้สนใจประวัติศาสตร์อย่าพลาดบันทึกของพระวิภาคภูวดลนะครับสุดยอดจริงๆ



ภาพความยากลำบากสมัยบุกเบิก และที่เก็บกุญแจที่ยังรักษาสภาพเดิมๆไว้

เมื่อ 45 ปีที่แล้วที่ป้าเกล็นมาใช้ชีวิตที่เหมืองแร่นี่สภาพความยากลำบากสุดโหดนั้น ผมสงสัยว่าแล้วเมื่อเหมืองฉีดทำแร่ได้แล้วขนแร่ไปขายที่ไหน อย่างไร ป้าเกล็นเล่าอย่างมีความสุขว่า แรกก็ใช้วัวต่าง ที่มีวัวเป็นร้อยๆตัว ขนแร่จากที่นี่ข้ามภูเขาไม่รู้ว่าจะกี่ลูกไปลงเรือที่ทองผาภูมิ แล้วเข้าเมืองกาญจนบุรี

ป้าเกล็นคงจะตอบคำถามนักท่องเที่ยวมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ป้าเกล็นมีความสุขที่จะตอบ อาหารทุกมือ อร่อยและมีปริมาณมากเกินที่เราจะทานได้หมด ดีกว่าโรงแรมหลายแห่ง อาจเป็นเพราะป้าเกล็นเป็นฝรั่งออสเตรเลียที่มีเชื้อสายมาจากอังกฤษ วัฒนธรรมการประกอบโต๊ะอาหาร การวางจาน ช้อนแก้ว อาหารทุกชนิด ผมว่าดีกว่าโรงแรมหลายแห่งครับ ค่าใช้จ่าย 1200 บาทต่อหัวต่อคืนรวม package tour นั้นผมว่าคุ้มค่า(กรณีที่เอารถ4WDไปเอง) สำหรับคนที่ชอบธรรมชาติ ป่าเขา เงียบๆ อาหารอร่อย ที่พัก สะอาด ที่นี่คือสุดยอด แต่สำหรับคนที่ต้องการ ช็อปปิ้ง ห้องแอร์ internet และความสะดวกสบาย ต่างๆนั้นผมแนะนำว่าอย่าไปเลย


ครอบครัวป้าเกล็น บุตรชายคนเดียวซึ่งปัจจุบันเป็น CEO ของบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง

เนื่องจากอยู่หุบเขาลึกชายแดนนั้น อย่าถามหาคลื่นมือถือ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ มีแต่จะมีเป็นจุดๆตามเส้นทางที่ลงไปหาเหมืองแร่ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อุทยานมาปักป้ายบอกว่าบริเวณที่สามารถใช้มือถือได้ การติดต่อของเหมืองกับโลกภายนอกนั้นใช้วิทยุสื่อสาร ป้าเกล็นขึ้นเสาวิทยุสูง ติดต่อกับคนที่ตกลงกันไว้ให้เป็นสถานที่ติดต่อสื่อสารกันที่ทองผาภูมิ แล้วทองผาภูมิก็จะติดต่อสำนักงานที่กรุงเทพฯซึ่งบุตรชายป้าเกล็นคนเดียวอยู่กับครอบครัวที่นั่น

(ขออภัยที่เอาบันทึกนี้มาลงใหม่ เพราะเกิดความผิดพลาดก่อนหน้านี้)


ปิล๊อก 4 ไฟฟ้าพลังน้ำ

1042 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11085

มีสิ่งหนึ่งที่ผมและคนข้างกายสนใจมาก พอดีเธอกำลังทำวิจัยเรื่องพลังงานเพื่อชุมชนอยู่ด้วย เลยเข้าตากรรมการ ที่เหมืองแร่นี้ปกติผลิตกระแสฟ้าเองด้วยเครื่องทำไฟฟ้าที่ใช้เครื่องยนต์แบบทั่วๆไป ก็จะเปิดเครื่องเฉพาะเวลาค่ำจนถึงสามทุ่ม และไปเปิดอีกทีตอนตีห้า


ฝายเล็กๆที่กักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังสามทุ่มไปแล้วป้าเกล็นผลิตกระแสไฟฟ้าเองจากพลังงานน้ำ..?? เราหูผึ่ง…หลังจากนั้นก็ตั้งคำถามมากมายกับคุณป้า รุ่งเช้าเราก็รีบเดินไปดูองค์ประกอบการผลิตกระแสฟ้าโดยใช้พลังงานน้ำทันที

เหนืออาคารหลักของสถานที่นี้เป็นที่สูงลาดเอียงขึ้นไป มีอาคารที่พักอีกสามหลัง ด้านล่างเป็นร่องลำห้วยธรรมชาติ ป้าเกล็นสร้างฝายเล็กๆขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำ แล้วต่อท่อน้ำออกไปสู่เครื่องกลไกผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ที่วันก่อนผมเอารูปมาทายว่าเป็นอะไร เพื่ออะไร ทายเล่นๆ



กังหันพลังน้ำตัวเริ่มต้นผลิตกระแสไฟฟ้า

รูปนี้คือกังหันที่รับน้ำจากท่อที่ปล่อยน้ำมาจากฝายเล็กๆด้านบนนั้น เมื่อน้ำไหลออกมาก็จะไปโดนกังหันซึ่งมีที่รองรับน้ำอยู่ ความแรงของน้ำจะดันให้กังหันนี้หมุน ยิ่งน้ำมีแรงดันสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้กังหันนี้หมุนเร็วขึ้นเท่านั้น พลังน้ำที่มาหมุนนี้เอง มนุษย์ก็ฉลาดเอาการหมุนนี้ไปใช้ประโยชน์ซะเลย ดูรูปต่อไป


แสดงการทดรอบการหมุนของกังหันเพื่อสร้างความเร็วมากขึ้นในการปั่นกระแสไฟฟ้า

อีกด้านหนึ่งของกังหันนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากการหมุนนั้นมาปั่นกระแสไฟฟ้า โดยใช้การทดรอบการหมุนให้เร็วขึ้น เช่น วงล้อ 1 หมุนหนึ่งรอบจะทำให้วงล้อเล็กๆ 2 หมุนไปมากกว่า สิบรอบ จากวงล้อเล็ก 2 หมุนหนึ่งรอบก็ทำให้วงล้อใหญ่ 3 หมุนหนึ่งรอบเช่นกัน แต่วงล้อที่ 4 จะได้มากกว่าหนึ่งรอบแน่นอน และที่หมายเลข 4 นี้ตัวตัว generator หรือตัวก่อกำเนิดไฟฟ้าก็จะหมุนไป เมื่อหมุนด้วยความเร็วก็จะสร้างกระแสไฟฟ้าออกมา ก็เอากระแสไฟฟ้านี้ไปใช้ (เรื่องนี้ คอน อธิบายดีกว่าผม)


ชาลีกับเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ

คุณผู้ชายที่เราเห็นนั่นคือคุณชาลี เจ้าหน้าที่เหมืองแร่เก่าแก่ ของคุณลุงสมศักดิ์ ปัจจุบันมาทำหน้าที่ดูแลกิจการ ช่วยคุณป้าเกล็นสารพัดเรื่อง คุณชาลีเป็นคนมหาสารคาม เมื่อรู้ว่าผมมาจากขอนแก่นก็ให้ความเป็นกันเองสูง ถามอะไรก็ขยายความจนละเอียดลออ หมดจด หมดสิ้น สมใจอยากทีเดียว คุณชาลีบอกว่า อุปกรณ์ทุกอย่างดัดแปลงมาจากวัสดุ อุปกรณ์เหมืองแร่เก่าๆทั้งหลาย ไม่ได้ซื้อหามาใหม่แต่อย่างใด การทดรอบการหมุนของกังหันไปสู่ generator นั้นก็ทำกันแบบลูกทุ่ง ไม่ได้เอาวิศวกรที่ไหนมาคำนวณหาค่าสูงสุดของพลังงาน ก็พอได้ ปริมาณไฟฟ้าที่ได้ก็พอใช้ ยิ่งฤดูน้ำหลากมากๆ เปิดทั้งวันทั้งคืนก็ได้ไฟพอใช้ คุณชาลีบอกว่า ระดับความต่างของฝายเก็บน้ำกับกังหันนี้ประมาณ 4-7 เมตรเท่านั้น

ผมเองสังเกตตอนหลังสามทุ่มที่ใช้เครื่องพลังน้ำนี้ปั่นไฟฟ้านั้น กระแสไฟอ่อน หลอดไฟประหยัดบางหลอดไม่ติด แต่น่าจะเป็นเพราะปริมาณน้ำที่ป้าเกล็นต้องประหยัด เอามาใช้แต่พอสมควร


ผลงานที่ได้จากเครื่องสร้างกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ

ดูอาเจ๊ใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำทำงานคอมพิวเตอร์บนที่นอนซิ มีไฟฟ้าให้แสงสว่างเพียงพอ เราทดสอบแล้วรู้สึกพอใจมากกับแนวคิดนี้ เห็นว่าคนข้างกายจะหอบทีมงานที่มีวิศวไฟฟ้าไปดูกับตาอีกในไม่ช้านี้ เอากะแม่ซิ…

ความจริงผมก็คิดมานานแล้วเรื่องพลังงานทดแทน แต่มาสะกิดใจเอาตอนมาเห็นกับตานี่แหละ แหล่งน้ำที่ดงหลวงผมมีหลายต่อหลายแห่งที่ดีกว่าฝายเล็กๆของป้าเกล็น น้ำที่เอามาใช้สร้างพลังงานนี้ก็ไม่เสียเปล่า สามารถเอาไปใช้เพื่อการเกษตรได้อีก …

นี่เป็นประกายที่เกิดจากการเที่ยว…และหยิบเอามาคิดต่อ

นี่เป็นประกายเอาไปเสนอต่อโครงการเพื่อทำนำร่องในชนบทอีสานต่อ ใครสนใจก็เชิญซักถามรายละเอียดกับคุณชาลีได้นะครับ โดยเข้าไปที่ web ของป้าเกล็นนั่นแหละครับ



ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..2

320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 พฤษภาคม 2009 เวลา 15:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11013

จากเขื่อนเรามุ่งตรงไปที่ ต.ปิล๊อก ซึ่งเป็นเขตชายแดนไทย-พม่า ติดกับเมืองทวาย มะริด เย สะเทิม มะละแหม่ง มีสถานที่สำคัญคือ สำนักงานอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ซึ่งเป็นแหล่งที่พักของชาวเต็นท์และที่เดินทางมาด้วยรถเก๋ง เลยไปจะเป็นบ้านอีต่อง ซึ่งติดชายแดนเลย ที่นี่จะมีสถานีก๊าซที่ต่อท่อมาจากพม่าที่โด่งดังมาแล้วเพราะระหว่างก่อสร้างขนส่งท่อก๊าซไปใช้ในประเทศไทยนั้นถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ฯมากมาย



ระหว่างทางไปอีต่องและเหมืองแร่นั้นมีที่พักรถและชมวิว กว้างขวาง จอดรถได้หลายคัน เราก็ลงดูแผนที่ ทิวทัศน์รอบข้าง สวยงาม ถนนช่วงนี้จนไปถึงอีต่องนับว่าใช้ได้ เป็นถนนลาดยางแม้จะคับแคบไปสักนิด แต่การจราจรไม่คับคั่ง จำได้ว่าตลอกเส้นทางเกือบร้อยกิโลเมตรนั้นมีรถสวนทางกันไม่ถึงสิบคัน


ก่อนถึงหมู่บ้านอีต่องจะเป็นสถานีตำรวจอีต่อง คดีต่างๆไม่มี ตำรวจก็ไม่มีอะไรทำจริงๆ.. นั่งตบยุงไปวันๆ เงียบจนนึกว่าไม่มีใครอยู่  ก่อนถึงสถานีตำรวจนี้มีทางลงเขาซ้ายมือบอกว่าไปเมืองแร่สมศักดิ์ เป็นอันว่าถนนดำก็สิ้นสุดลงตรงนี้ ต่อไปนี้เป็นถนนดิน ก้อนกรวด ลูกรัง และลาดชัน ซึ่งทางเหมืองแร่บอกกล่าวผู้มาเที่ยวไว้ก่อนแล้วว่า หากเอารถเก๋งมาเองก็ให้ไปจอดที่สถานีตำรวจอีต่อง ทางเหมืองจะเอารถ 4WD ไปรับ ส่วนใครที่เอา 4WD มาเองก็ลงไปได้แต่ระมัดระวังด้วยตลอดระยะทางประมาณ 5 กม.
นี้เป็นการทดสอบรถ ทดสอบคนขับรถ

ผมเองเคยคุ้นชินเส้นทางแบบนี้ตั้งแต่สมัยทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่มาแล้วก็ตื่นเต้นนิดหน่อยเพราะเป็นเส้นทางใหม่ที่มาเป็นครั้งแรก แต่ใจนึกว่า โชคดีที่ฝนไม่ตกเพราะหากฝนตกสภาพถนนที่เต็มไปด้วยกรวด หินที่ไม่ได้เทปูนหรือลาดยางนั้นมันกลิ้งไปมาตามแรงหมุนของล้อรถ และลื่น ไถลไปข้างๆได้ง่ายหากบังคับรถไม่ถูกต้องตามหลักการใช้ การขับเคลื่อน 4 ล้อ คนที่ไม่เคยผ่านเส้นทางแบบนี้ก็หวาดเสียวพอได้ยินเสียงกรี๊ดกร๊าดได้แน่นอน บางช่วงความลาดชันน่ากลัวไม่ว่าลงหรือขึ้น ยิ่งหากมีรถสวนทางกันละก็ ต้องใช้ฝีมือกันเชียวหละ


รถที่จะมาเหมืองแร่ต้องเป็น 4WD เท่านั้น ก่อนมาควรตรวจสภาพการใช้งานการขับเคลื่อนสี่ล้อก่อน ตรวจสภาพยางทั้ง 4 ล้อ เบรกและควรตรวจสอบยางอะไหล่และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับกรณีฉุกเฉินต่างๆคนรักรถย่อมรู้ดี

หลังจากที่ผมลงไปถึงเหมืองแล้ววันต่อมามีนักธุรกิจจากบุรีรัมย์ พาลูกสาวสองคนลูกชายหนึ่งคนลงมาที่เหมืองด้วย Fortuner ตอนขาขึ้น มาขอความรู้วิธีใช้เกียร์ Low แกบอกว่าตั้งแต่ซื้อมาไม่เคยใช้เกียร์ Low เลย ที่มานี่ก็เพราะลูกสาวอ้อนวอนให้พามาหน่อย อยากมา จองห้องพักไม่ได้ แต่ก็อยากมาโชคดีที่มีคนเชคเอ้าท์ไปก่อน 4 คนพอดี


คุณชาลี ลูกน้องป้าเกล็นก็เล่าให้ฟังว่า มีบางคนซื้อรถประเภท 4WD มาแล้วไม่เคยใช้เลยและไม่ตรวจสภาพรถก่อนลงมาเหมืองแร่ พอมาถึงขาขึ้นต้องใช้ HighLow พบว่าใช้ไม่ได้ เพราะไม่เคยใช้ น้ำมันหล่อลื่นแห้งไปหมดแล้ว….

สำหรับกลุ่ม OffRoad คงชอบมากๆที่จะมาที่นี่ ได้ลุยสมใจอยากละครับ โดยเฉพาะหน้าฝน..

สำหรับผมเหมือนกลับไปสะเมิงเมื่อ สมัยปี 2518 เลยครับ


ไปหาป้าเกล็นที่ปิล๊อก..

344 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7022

คนข้างกายผมงานเข้าตลอดปีตลอดชาติ ห้องนอนคือห้องทำงาน ที่หลับบ่อยๆคือบนเก้าอี้ จนพังไปหลายตัวแล้ว ปกติเธอทำงานไปก็เปิดทีวีดูละเม็งละครไป น้ำหูน้ำตาไหลก็บ่อย เมื่อเธอเห็นรายการแนะนำสถานที่เที่ยวก็จะไปเที่ยวเสียทุกที่ ที่นั่นก็อยากไป ที่นี่ก็อยากไป แต่จริงๆไม่เคยว่างเลย

มาคราวนี้นัดกับลูกสาวไว้ว่าจะพาเที่ยว โดยแม่เป็นคนเลือกสถานที่ เธอบอกว่าไป ปิล๊อก…

ผมได้ยินมานานแล้วตั้งแต่เด็กๆว่าที่นี่คือเหมืองแร่ ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้มาปิล๊อก ผมเข้า Web www.parglen.com
จองที่พักเสียแต่เนิ่นๆ ทราบว่ามีคนเที่ยวมากโดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากเหมืองมาอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ยืนยันการเดินทาง เพราะหากไม่ไปเขาจะได้เอาคนอื่นที่ต้องการไปเที่ยวเข้าพักแทน…


ผมเองก็สนใจเพราะ ได้พาครอบครัวเที่ยวพร้อมๆกัน และอยากมาชายแดนตะวันตกบ้างยิ่งเป็นชายแดนไทยพม่ายิ่งสนใจเพราะดูแผนที่หลายครั้งแล้วว่าน่าเที่ยวเพราะเป็นเขตภูเขา ผมชอบภูเขาครับ แต่ก็ไม่รังเกียจทะเล

เช่นเคย..กว่าจะหลุดออกจากกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรได้ก็เล่นเอาสุดเบื่อ คนบ้านนอกขอนแก่นอย่างเรานั้น แม้จะมีรถติดบ้างก็ไม่เท่าในกรุงเทพฯ ที่คลานกระดึ๊บกระดึ๊บเสียพลังงานมหาศาล ที่เสียมากกว่าคือความรู้สึก.. แต่เอาเถอะจะไปเที่ยวแล้วก็ทำใจให้สนุกสนานดีกว่า..อิอิ

ปิล็อกอยู่ตรงไหน: หากท่านชอบดูแผนที่ประเทศไทยก็นึกถึงซีกตะวันตกของประเทศ ตรงชายแดนไทยต่อกับพม่า เลยตัวจังหวัดกาญจนบุรีไปที่ อ.ทองผาภูมิ


เดินทางทรหด: กว่าจะหลุดกรุงเทพฯเข้าสู่นครปฐมเข้าสู่เมืองกาญจนบุรีก็ลุ้นแทบแย่เพราะเป็นวันหยุดยาวใครต่อใครก็ออกต่างจังหวัดกันทั้งนั้น ผมนั้นยิงยาวไปเมืองกาญจนบุรีต่อไปทองผาภูมิเพราะใจสั่งว่าควรใช้เวลาให้มากที่สุดที่เหมืองแร่
จากทองผาภูมิไปสังขละนั้นต้องเลี้ยวซ้าย แต่เราตรงไปเพื่อไปปิล๊อกเป้าหมายของเรา เลยทางแยกนี้นิดเดียวเราก็แวะเที่ยวเขื่อนเขาแหลมเพื่อพักรถคู่ใจและชื่นชมวิวสวยๆของน้ำเหนือเขื่อน เมื่อมาเห็นแล้วก็หวาดเสียวครับ เพราะตัวเขื่อนสูงกว่าอำเภอทองผาภูมิและเมืองกาญจนบุรีมากทีเดียว คิดเล่นๆว่าหากเขื่อนพังไปละก็ พลังน้ำมหาศาลนั้นจะกวาดบ้านเรือนผู้คนไปมากมายมหาศาลทีเดียว ยิ่งทราบว่าแถบนี้มีรอยเลื่อนสังขละบุรีด้วยแล้ว ภาวะนาอย่าให้เกิดเลย มีคนต่างถิ่นมาเที่ยวเหมือนเรา สองสามคัน



เราสอบถามยามหน้าปากทางเข้าเขื่อนถึงเส้นทางและระยะทางไปเหมืองปิล๊อก พร้อมกับดูแผนที่ที่ผมเตรียมไปแล้ว ก็ได้คำอธิบายแจ่มแจ้ง ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มคุยกันว่านี่แหละ กฟผ. มืออาชีพเขาฝึกเจ้าหน้าที่เขาเยี่ยมจริงๆ ขอชม กฟผ.ครับ




Main: 0.051846981048584 sec
Sidebar: 0.06318187713623 sec