ฝนฟ้า นาข้าว..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 สิงหาคม 2010 เวลา 22:20 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2563

ขอลอก Freemind หน่อยนะ คือว่า บันทึกยาว เพราะกระชับพื้นที่ไม่ได้ อันตรายหากฝืนอารมณ์อ่าน ..แค่บันทึกเก็บไว้เฉยๆ..

ใครเคยไปเที่ยวนครเวียงจันทร์ช่วงฤดูฝนก็จะเห็นความแตกต่างจากกรุงเทพฯมหานครอย่างน้อยก็หนึ่งอย่างคือ ใจกลางนครเวียงจันทร์ยังทำนาติดกับตึกรูปทรงฝรั่งเศสเลย ผมไม่ได้ไปนานแล้วไม่ทราบว่าเปลี่ยนแปลงเป็นตึกไปหมดหรือยัง หากมาดูกรุงเทพฯนั้น ในอดีตน่าจะเป็นเช่นนั้น ปัจจุบันที่นากลายเป็นเงินทองมหาศาล แปรเปลี่ยนเป็นอาคารพานิชไปหมดแล้ว มีแต่รอบนอกเท่านั้นที่ยังมีการทำนาอยู่บ้าง เพราะสังคมเราเป็นเกษตรกรรม


ยิ่งนครเวียงจันทร์ ความเป็นสังคมเกษตรกรรมยังมีมาก ผมเคยทราบว่าข้าราชการรับราชการแล้วก็ต้องทำนาด้วย คุณครู อาจารย์ ก็ต้องทำนา ไม่งั้นรายได้ไม่พอกิน… สมัยผมเด็กๆ พ่อเป็นครูใหญ่ ก็ต้องทำนาด้วยเหมือนกัน จำได้ว่าช่วงฤดูทำนาเคยเรียนครึ่งวัน แล้วครูๆทั้งหมดก็กลับไปรีบทำนา.. เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ครูอยากทำนาด้วยก็ต้องจ้างแรงงาน เพราะระเบียบราชการไม่อนุญาตให้ทำเช่นอดีต

แตง แม่บ้านสำนักงานผม และ พิลา พนักงานขับรถผม บ้านยังทำนา เขาลาหยุดช่วงนี้ประจำเพราะต้องไปไถนา ดำนา แม้รับจ้างช่วงวันหยุดก็ทำ เพราะค่าจ้างเดี๋ยวนี้วันละ 200 บาทขึ้นไปแล้ว ผมอนุญาตให้เขาไปทำนาได้เต็มที่ เพราะเข้าใจวิถีชีวิตเขา เงินเดือนไม่สูง รายจ่ายมาก ก็ต้องทำนากิน และรับจ้างดำนาตามโอกาส รถนั้นผมขับเองได้


สำหรับพิลานั้น พิเศษหน่อยเพราะเขาทำนาอินทรีย์ ที่เอาความรู้ไปจากการที่เราไปอบรมชาวบ้านในพื้นที่โครงการ เขาก็แอบฟัง แล้วเอาความรู้ไปใช้จนได้ผลขึ้นมา และข้าวอินทรีย์ของเขาขยายในเครือญาติ และเริ่มกระขยายสู่เพื่อนบ้านแล้ว หลังจากรีรอมาหลายปีเพื่อให้แน่ใจว่า เออ ดีจริง.. นี่คือชาวบ้าน.. ทางภาคเหนือเรียกว่า..”ถ้าผ่อ” หรือรอดู หากดีจริงก็ค่อยทำตาม นักพัฒนาหลายคนก็ใช้สูตร..ค้นหาชาวบ้านที่ “หัวไวใจสู้” .. แล้วสนับสนุนให้ทำกิจกรรมนำร่อง..เมื่อได้ผลแล้วชาวบ้านอื่นๆจะทำตาม

ปีนี้แตง เล่าให้ฟังว่า นาเสียหายมาก เพราะ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล กะไม่ถูกว่าจะมาเมื่อไหร่ ทิ้งช่วงเมื่อไหร่ ฝนหนักๆจะมาเมื่อไหร่ ไม่เหมือนอดีต ที่จะมีความสม่ำเสมอมากกว่าปัจจุบัน


ชาวนาไม่รู้ว่าควรตกกล้าข้าวเมื่อไหร่ถึงจะพอดี เพื่อป้องกันไว้ก่อนก็ตกกล้าตั้งแต่ต้นฤดู พอมีฝนลงมาบ้างก็แบ่งเอาไปดำนา นาไหนที่น้ำไม่เพียงพอก็รอฝนไปก่อน รอไปรอมาฝนก็ไม่มาสักที กล้าข้าวก็เลยอายุที่ควรจะเอาไปปลูก ชาวนาบางคนก็ ตกกล้าใหม่ครั้งที่สอง แล้วก็นั่งรอฝนอีก… เมื่อฝนมาก็เอาไปปลูก หลายครอบครัว กล้าหมด ไม่เพียงพอ ก็ต้องไปขอจากญาติพี่น้อง หรือไปซื้อมาจากคนอื่น หมู่บ้านอื่น หากไม่มี หรือหาไม่ได้ นาแปลงนั้นก็ทิ้งร้างไปสำหรับปีนี้ ผลกระทบชัดเจนคือ จำนวนพื้นที่ที่ได้น้ำได้ข้าวนั้นไม่เพียงพอที่ผลผลิตจะเก็บไว้กิน ยิ่งต้นกล้ามีอายุไม่เหมาะสมช่วงปลูก และหรือโดนน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก ก็กระทบต่อความสมบูรณ์ของต้นข้าว กระทบต่อปริมาณผลผลิตอีก

เดือนนี้หากใครไม่ดำนาอีก ก็หมดโอกาสแล้วสำหรับนาข้าวปีนี้ เพราะเลยช่วงเหมาะสมในการทำนา

การทำนานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวบ้านจะรู้ว่านาตัวเองอยู่ในภูมินิเวศที่ลุ่ม หรือ ลุ่มสลับดอนหรือที่ดอนน้ำท่วมถึง หรือที่ดอนน้ำไม่ท่วม หรือที่สูง เพราะต้องตัดสินใจเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ(ป้าจุ๋มรู้ดีกว่าผม) แต่ปัญหาคือ กล้าข้าวไม่พอเพราะเหตุการณ์ดังกล่าว คือความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ


ผมเคยศึกษาคร่าวๆที่จังหวัดชัยภูมิว่า ชาวนามีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร เมื่อดินฟ้าอากาศแปรปรวน หากฝนดีน้ำดี ในนาลุ่มก็ดำนาตามปกติ เมื่อฝนมาบ้างไม่มาบ้าง น้ำไม่ท่วมแปลงนา และเวลาล่วงเลยมาหลานเดือนแล้ว ชาวนาต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง หากนั่งรอฝนก็เสี่ยง จึงตัดสินใจทำนาหยอด เอาไม้แหลมมาสักที่นา มีคนเดินตามหลังเอาเมล็ดข้าวหยอดลงหลุม แล้วเอาเท้าเหยียบกลบ และหากปล่อยไปอีกก็เสี่ยงครั้งสุดท้าย หยอดก็ไม่ได้ แต่ก็อยากเสี่ยงจึงตัดสินใจหว่าน หากมีฝนมาก็ดีไป หากฝนทิ้งช่วงอีก ก็แทบไม่เหลือข้าวไว้กิน ปีนั้นเตรียมลงไปหางานทำในเมืองได้แล้ว…

อาชีพทำนาในเขตน้ำฝน ก็ขึ้นกับฟ้าฝน ที่นาในเขตชนประทานก็นั่งยิ้มได้บ้าง แต่เมืองไทยมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึงร้อยละ 10 (นี่ตัวเลขหลายปีแล้ว) หมายความว่าเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 ต้องเผชิญโชคชะตากับฟ้าฝน


และทั้งหมดนี้ก็กระทบต่อการทำกิจกรรมเพื่อ “การพึ่งตนเอง” ของโครงการด้วย เมื่อข้าวไม่พอกินเพราะดินฟ้าอากาศ… ก็จำเป็นต้องหาเงินไปซื้อข้าว ก็ต้องมุ่งทำกิจกรรมที่สามารถทำเงินได้ ในวงจรชีวิตชาวบ้านนั้น มีแต่มันสำปะหลังเท่านั้นที่เป็นพืชหลักประกันการมีข้าวกิน….เมื่อไม่มีข้าวก็ไปขุดมันขาย แม้ว่าจะยังไม่ได้อายุครบกำหนดก็ตาม ก็ขุดเอาไปขายเอาเงินมาซื้อข้าว..

แตง บอกผมว่า ช่วงทำนานั้น บางครอบครัวข้าวเก่าที่เก็บเอาไว้กินจากปีก่อนเริ่มลดลง หรือบางครอบครัวก็หมดแล้ว รอข้าวใหม่.. แตงบอกต่อว่า อาจารย์..เมื่อคืนก่อนมีการ “ขโมยมันฯ” ในสวนไปขายกันแล้ว เพราะมันฯราคาดี เขามาขโมยกลางคืน ไปขุดเอาจากสวนมันเลยเป็นคันรถเลย..

นี่คือชีวิตชาวนาที่มีแต่ความเสี่ยง จริงๆผมอยากทบทวนงานพัฒนาที่ทำกันจริงๆ อย่ามานั่งเขียนรายงานสวยๆกันเลย…


กรรมตามทัน..ในชาตินี้

281 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 เมษายน 2009 เวลา 14:26 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6704

พิลา…เป็นชื่อพนักงานขับรถของโครงการเรา เขาเป็นคนท้องถิ่นมุกดาหาร ซื่อๆ ตรงๆ เรียบร้อย น้ำใจดีงาม และดูแลรถเป็นเลิศ พวกเรารักใคร่พิลา



พวกเรายินยอมให้พิลาลาหยุดเมื่อเข้าสู่ฤดูการทำนา ปลูกมันสำปะหลัง เกี่ยวข้าว กู้มัน หรือธุระอื่นๆที่เกี่ยวกับครอบครัวเขา ก็เรารู้ดีว่าเงินเดือนพนักงานขับรถนั้นไม่ได้มากมาย เมื่อเทียบรายจ่ายในสภาพปัจจุบัน อะไรที่จะช่วยให้ครอบครัวเขาอยู่ได้ เราก็จะทำ

ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการพึ่งตนเอง การเพิ่มผลผลิต การทำเกษตรผสมผสาน และอื่นๆที่เราเอาความรู้ไปให้ชาวบ้านในท้องถิ่น พิลาก็แอบฟังแล้วก็เอาไปทดลองทำ ทดลองใช้เองที่สวนของเขา จนประสบผลสำเร็จก็มาบอกเราว่า เอาความรู้ไปลองทำแล้วได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้… หลายเรื่องเราก็ต้องไปดูสวนเขา และเอาเขาเป็นตัวอย่าง…


วันหนึ่งพิลามาบอกลางานกับเราว่า พี่ชายผมถูกยิงตาย….

ขอลาไปจัดงาน และทำเรื่องราวเกี่ยวกับการตายของพี่ชาย…เราอนุญาต และไปร่วมงานด้วย..

ต่อมาเรารู้ว่าพี่ชายคนเดียวของเขาถูกลอบยิงตาย คนยิงเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน อันเนื่องมาจาก ระแวงว่าพี่ชายพิลาเอาความลับเขาไปแจ้งตำรวจ ความลับเขาก็คือ เขาค้ายาบ้าที่ข้ามมาจากฝั่งลาว…

งานศพพี่ชายพิลานั้น คุณแม่พิลามาร่ำให้ เสียดาย เพราะเป็นแรงงานที่สำคัญแก่ครอบครัว เป็นคนดี พร้อมทั้งทำพิธีแก่เบื้องสูง ขอความเป็นธรรมแก่ฟ้าดิน…โดยเธอเชื่อว่าลูกชายไม่รู้ไม่เกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้แน่นอน

บ้านนอกนั้นใครทำอะไรก็รู้ๆกันหมด…. วัฒนธรรมแบบนี้ก็น่าสนใจนะครับ แม้จะเป็นเรื่องลับสุดยอดแต่ชาวบ้านก็รู้ว่าใครทำอะไร…


ตัวอย่างธาตุ หรือเจดีย์ที่ใส่กระดูก ที่พ่อค้ายาซ่อนเงินสองล้านบาท

เรื่องของเรื่องคือ เอเยนต์ค้ายาบ้าที่อยู่บ้านใกล้เคียงกันนั้นเอาเงินจำนวนสองล้านบาทที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดไปซ่อนไว้ที่ “ธาตุ” กลางสวนติดกับสวนพี่ชายพิลา วันหนึ่งตำรวจบุกไปจับยึดเอาเงินสองล้านไปเป็นของกลางพร้อมยาบ้าจำนวนหนึ่ง เอเยนต์ค้ายาบ้าปักใจว่าพี่ชายพิลาเป็นสายบอกตำรวจจึงสั่งให้มือปืนมาฆ่าพี่ชายพิลา


ผมมีส่วนช่วยเหลือพิลาบ้าง คือเรามีรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นรองผู้กำกับที่มุกดาหารก็ช่วยกันสืบสวนหาข้อเท็จจริง ส่วนหนึ่งก็กำชับ กำกับคดีให้ตรงไปตรงมา เพราะเรารู้ๆกันว่า คนมีสีบางกลุ่ม บางคนก็เป็นพวกค้าสิ่งนั้น… รองผู้กำกับท่านนี้ช่วยได้มาก….

ในที่สุด ตำรวจมาจับมือปืนเอาไปสอบสวน ตอนแรกปฏิเสธ ต่อมาจำนนต่อหลักฐานจึงถูกตัดสินประหารชีวิตและลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต

มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง เอเยนต์ใหญ่ที่สั่งฆ่าพี่ชายพิลาก็ถูกวิสามัญดับดิ้นไป เอเยนต์คนนี้ไม่น่าเชื่อ เธอเป็นผู้หญิง อายุเพียงสามสิบเศษ หน้าตาสวย ขายมานานจนร่ำรวย มีรถหลายคัน และเปลี่ยนรถเป็นว่าเล่น มีร้าน 711 ให้พ่อแม่ควบคุม แต่งตัวเป็นตู้ทองเคลื่อนที่ เกินความเป็นชาวบ้าน อันเป็นเหตุการณ์ให้สืบสวนจนรู้ว่าทำการค้ายาเสพติด


พร้อมๆกันที่หญิงคนนี้ถูกวิสามัญ ลูกชายมือปืนที่ติดคุกตลอดชีวิต ไปทำงานเป็นกรรมกรที่ระยองเกิดอุบัติเหตุ พิการไปตลอดชีวิต…..

ลือกันทั้งบ้านว่า นี่คือผลกรรม….

และนึกไปถึงพิธีบอกกล่าวเบื้องสูงของแม่พิลา

ผลกรรมตามมาทันที…ไม่ต้องชาติหน้า…

——-

(ธาตุ คือ เป็นคำเรียกของชาวบ้าน หมายถึงเจดีย์เล็กๆที่ใช้สำหรับใส่กระดูกบรรพชนผู้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งมักเอาไปไว้ตามคันนา ตามสวน ที่ผู้เสียชีวิตเคยเป็นเจ้าของ เป็นวัฒนธรรมของชาวอีสานส่วนหนึ่ง และชาวไทโซ่)



Main: 0.028888940811157 sec
Sidebar: 0.050384998321533 sec