รากเหง้า…2

270 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มิถุนายน 2009 เวลา 1:04 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 5402

ผมเอาบางตอนของการคุยกับพ่อคืนวันนั้นมาแสดง

———–

พ่อ: นามสกุลของย่าคือ กุลมา … ตอนพ่ออายุ 6 ขวบเศษ ย้ายบ้าน.. เหตุที่ย้ายเพราะแพ(คนสมัยก่อนบางส่วนอาศัยเรือนแพ..บางทราย) ย่าถูกโจรปล้นเป็นครั้งที่สอง… คืนนั้นเวลาตีสองเศษๆ ใครๆก็ได้ยิน สมัยโน้นชาวบ้านเรามีอาวุธไม่ค่อยดี เตี่ยไปอยู่แพ เห็นผิดสังเกต ก็เตรียมปืนกันคนละกระบอก มีปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา และปืนปัสสะตัน ปืนนี้นับว่าเยี่ยมแล้วในสมัยนั้น ผลที่สุดเอาจริงเอาจังเข้า ปืนก็ยิงไม่ออกสักกระบอกเดียว…


พ่อ: โจร 7 คนมาปล้น เรามีแพอยู่ 4 หลังเชี่อมต่อกัน ในแพก็มี ย่าตุ้ย ก๋งเริก อาแต้ม แพอีกหลังก็มี อาเทียม อาถมกับลูกๆ ต่างหนีเอาตัวรอดไปได้หมด ย่าอิ่มของเรานอนล่อที่สุดริมแผงกั้นมีซี่เหล็กและผ้าม่านกั้นถกขึ้นไปได้ น้ำแรงจัด โจรมันเอาเรือมาก็ปะทะแพโครมคราม ย่าอิ่มตื่นตกใจก็เอะอะขึ้น โจรเข้าคว้าแขนย่า แกสะบัดหลุด หนีออกทางหลังแพครัวกระโดดน้ำหนีไปได้หวุดหวิด ก๋งคลานขึ้นฝั่งได้ ไอ้พวกโจรเข้าในแพไม่ได้เป็นนานจึงเข้าไป มันใช้ขวานจาม “กำปั่น” อยู่เป็นชั่วโมง ก็เปิดได้ เอาของในกำปั่นไปหมด สารพัดเงินทอง เพชรนิลจินดา ข้าวของมีค่ามันเอาไปหมด ย่าตุ้ยมีเงินทองมาก ใครๆก็เรียกกันว่า “ยายตุ้ยแพเอียง” ก็เงินทองมากมาย หนักจนแพเอียง กำปั่นใหญ่มีใบเดียวแต่หีบเหล็กมีเยอะหลายสิบใบ..

พ่อ: ..ย่าโกรธกับก๋ง เลยเอาพ่อกับอาชินหนีก๋งไปอยู่กับญาติที่นครชัยศรี นครปฐม สมัยนั้นต้องนั่งเรือไปกรุงเทพฯก่อน มีเรือกลไฟของบริษัทพิทักษ์พานิช คือเรือเขียว กับบริษัทสยามสตีมเบกเกท คือเรือแดง เจ้าของเรือแดงเป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ค เข้ามาขอสัมปทาน ส่วนเรือเขียวเป็นของคนไทย อยู่ผักไห่ ชื่อ ขุนพิทักษ์ เป็นคหบดีร่ำรวยมาก มีที่ดินไร่นาสาโทเยอะแยะ มีกิจการเรือกลไฟรับส่งคนโดยสารจากกรุงเทพฯถึง อ.วิเศษชัยชาญ..

พ่อ: ไปอยู่นครชัยศรีเป็นแรมเดือน เตี่ยไปซื้อปืนเมาเซอร์สามกระบอกที่กรุงเทพฯ แล้วเลยไปรับย่ากลับบ้าน เมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เตี่ยก็ชวนพ่อไปเที่ยววัดมหาธาตุ พ่อไม่ได้คิดอะไร คิดว่าไปเที่ยวกันเท่านั้น ไปถึงวัดมหาธาตุก็ไปคณะที่ 24 แทนที่จะไปเที่ยว เตี่ยกลับเอาพ่อไปฝากพระอาจารย์เรื่อง ซึ่งเป็นญาติกัน เตี่ยตั้งใจจะให้เรียนหนังสือที่วัดมหาธาตุนี้ พ่อดีใจที่จะได้เรียน แต่ใจหนึ่งก็คิดถึงแม่คิดถึงน้อง เตี่ยกลับไปแล้ว พ่อก็ร้องให้จะกลับ ดิ้นพลาดๆ พระอาจารย์ก็ตีซะจนหยุดร้อง.. คืนนั้นทั้งคืนไม่ได้นอน เพราะคิดถึงแม่ คิดถึงน้อง ตี 4 เช้ามืด เรือจะออกจากท่า เปิดหวูด โอย…มันโหย หวน ใจจะขาดรอน รอน เชียวเอ๋ย นานเข้าก็จางไป จนอาจารย์เห็นว่าเราเชื่องแน่ก็เลยพาเราไปตัดเสื้อผ้า เพื่อเข้าโรงเรียน…


พ่อ: สมัยพ่อเรียนนั้นยังไม่มีกระดานชนวนเลย ใช้กระดานไม้มะกอก หรือกระดานไม้สักอย่างดี เอาดินหม้อผสมน้ำข้าว หรือผสมน้ำมันยาง ทาให้เป็นสีดำ แล้วใช้ดินสอพองปั้นเป็นแท่งยาวๆเป็นดินสอเขียน แล้วก็ไม่ได้อ่านเป็น กอ ขอ คอ ฅอ งอ อย่างปัจจุบัน สมัยนั้นอ่าน กอ ข้อ ขอ ค่อ คอ งอ, จอ ฉอ ช่อ เชาะ ยอ, ดอ ตอ ถ่อ ท่อ เทาะ นอ มีตำราเรียนเร็ว มีประถมกอกา มีมูลบทบรรพกิจ คนเขียนหนังสือสมัยโน้น เอาอักษรทั้ง 24 ตัว ผสมสระทั้งหมด เรียกว่า แจกลูก แล้วไปเรียนตัวสะกด แม่กม แม่กก แม่กด แม่กบ…แม่เกย พ่ออ่านได้ถึงแม่เกย เกย ไก กาย กาว กิว กีว กึว กืว กุว กูว เกว เกว แกว แกว…..

พ่อ: สมัยนั้นเรียนกับพระท่านสอนเป็นธรรมทาน ไม่มีสินจ้างรางวัล ไม่มีเงินเดือน เครื่องแบบนักเรียนวัดมหาธาตุสมัยนั้นโก้หรูมาก คล้ายๆนักเรียนวชิราวุธปัจจุบัน เสื้อห้าตะเข็บ กางเกงฟอร์มสีดำยาวคลุมเข้า หมวกฟางถัก หัวตัด ทรงปีกแข็ง อยู่วัดมีกติกาว่า เช้าขึ้นมาต้องปัดกวาดเช็ดถูกุฏิ คอยจัดอาหารให้พระอาจารย์ คอยรับบาตรมาจัดให้ท่าน ประเคน เป็นกิจวัตร พระกรุงเทพฯสมัยนั้นบางวันอัตคัด บางวันได้ข้าวทัพพีเดียวไม่พอฉันท์ ต้องหุงข้าว สมัยนั้นไม่ว่าผู้ดีหรือชาวบ้านต้องมีหม้อ 2 แบบเท่านั้นคือ หม้อดิน กับหม้อทองเหลือง… หม้อดินหุงข้าวไม่มีหู ทรงคอชะลูด ปากบาน มีฝาครอบ เวลาข้าวสุกน้ำเดือดต้องยกลงวางที่ “เสวียน” ถักด้วยหวายมีหูโค้งเข้าหากันถึงปากหม้อพอดี หาผ้าเทินฝาหม้อแล้วก็เอียงหม้อเช็ดเอาน้ำข้าวออก หาก “ฝาละมี” เลื่อน ข้าวร่วง ข้าวหกก็ถูกดุ หากทำเป็นครั้งที่สองที่สามก็โดนเฆี่ยน

ครั้งหนึ่งพ่อทำจานแตกใบหนึ่ง เป็นจานที่พระใช้ฉันท์ จะเอาไปเก็บเข้าที่ หลุดมือตกแตก เราก็รีบจะไปเรียน พระอาจารย์เห็นก็วิ่งมาฉุดเข้ากุฏิลั่นกลอนเลย เหลียววซ้ายขวาไม่มีอะไร เห็นสากกะเบือ แกก็คว้าเอามาห้ำตั้งแต่หลังมือเรื่อยไปถึงข้อศอก แล้วห้ำลงมา จากแขนซ้ายไปแขนขวา พ่อร้องสุดชีวิต แกก็ไม่หยุด จนเจ้าคณะต้องพังกุฏิเข้ามาช่วย.. พ่อไม่ได้ไปโรงเรียนสามวัน.. ต่อมาแม่มารับกลับวิเศษชัยชาญ ไปเรียนต่อที่นั่นโดยไปอาศัยบ้านเสมียนสรรพากร แม่บ้านสมัยนั้นติดการพนัน พวกเมียข้าราชการเล่นการพนันกันมาก หยอดบ่อ ทอยกอง ไพ่ตองบ้างละ.. พ่อไปจบ ม. 3 ที่จังหวัดอ่างทอง…

——-

การคุยกับพ่อแม่ หรือแม้ผู้เฒ่าผู้แก่ทั่วไปนั้น เราได้อะไรมากมายจริงๆครับ เราเห็นประวัติศาสตร์สมัยนั้น เห็นวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ระบบการเรียน การสั่งสอนนอกจากความรู้ สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าได้มากๆ คือ การสัมผัสรากเหง้าอันเป็นชีวิตของผู้เล่า ยิ่งเป็นบุพการีเราด้วยแล้ว เนื้อหาสาระ อารมณ์ ความรู้สึกมันมีพลังอย่างมาก รับรู้ได้ สัมผัสได้ ซึ่งบรรยากาศเช่นนั้นมันได้สร้างความสำเหนียก ความสำนึกแก่เราโดยอัตโนมัติ…

ด้วยเหตุฉะนี้เอง ผมจึงชอบใจที่อัยการชาวเกาะ เขียนบันทึกสอนลูก…ตลอดไปถึงสาระในหน้าที่การงาน ที่น้อยคนจะเข้าถึงสาระละเอียดเช่นนั้น

ในวาระที่พ่อครูบาฯในฐานะเป็นคนเก่า เล่าความหลัง ถือว่าจะเป็นบันทึกของยุคสมัย ของหนุ่มอีสานคนหนึ่ง ผมว่าจะสะท้อนเรื่องราวต่างๆทำให้เราเข้าใจอีสานอีกมุมหนึ่งได้ดีทีเดียว นักประวัติศาสตร์ถือว่านี่เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่า

สังคมเราพัฒนาไปแต่ข้างหน้า ผมก็คิดว่าเราสมควรที่จะก้าวไปข้างหน้า แต่การก้าวไปข้างหน้านั้นหากมีรากเหง้าเหล่านี้ติดสมองบ้างแล้ว สังคมคงชั่งน้ำหนักออกว่า สังคมไทยที่มีขั้วชนบทกับเมือง ที่เราจำลองภาพมานี้นั้น ความทันสมัยที่เหมาะสมกับบ้านเราจะอยู่ตรงไหนจึงจะพอดี ลงตัวกับบ้านเรา มิใช่ก้าวไปข้างหน้าเพราะต้องการให้ทันสมัย หรือให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยไม่พิจารณาให้อยู่บนรากของสังคมไทยเลย

ถ้าเราเอาแต่มุ่งไปข้างหน้าแบบสุดโต่ง ย่ิอมจะสร้างช่องว่างของความเป็นคนไทย ชนบทกับเมือง เกษตรกรกับธุรกิจ ช่องว่างนี้จะถ่างออกมากขึ้น หลักการปกครองบ้านเมืองนั้นถือว่าปรากฏการณ์นี้เป็นอันตราย

นับได้ว่า เจ้าเป็นไผ เป็นส่วนย่อย เล็กๆ ที่จารึกรากเหง้าสังคมไทยทั่วทุกภาคเอาไว้บ้างแล้ว….


รากเหง้า..1

2114 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 22047

ผมมานั่งทบทวนแนวคิดเจ้าเป็นไผ และสิ่งที่เบิร์ดเสนอที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=1831 และที่ คอน เสนอ ธีม จปผ. 2 ไว้ที่ http://lanpanya.com/journal/archives/4979 นั้น ผมมีความคิดเห็นคล้อยตาม และนึกถึงอะไรอีกมากมาย

ประเด็นของผมคือ : พ่อแม่สร้างชีวิตมาด้วยชีวิต มีคุณค่ามาก แต่ลูกไม่ค่อยได้รับรู้ ไม่ได้เรียนรู้อย่างละเอียด แม้ว่าเวลาเปลี่ยนไป สถานการณ์เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ยุคสมัยของพ่อแม่กับลูกต่างกันลิบลับก็ตาม แต่พัฒนาการชีวิตของพ่อแม่นั้นหากลูกๆได้สัมผัสอย่างลึกซึ้ง ก็เป็นการรับลูกต่อทางรากเหง้า และวัฒนธรรม ที่มีฐานแท้ของท้องถิ่นสังคมไทย

ชีวิตเด็กบ้านนอกอย่างผมและหลายๆคนนั้น ต่างใฝ่ฝันมุ่งไปข้างหน้า มากกว่าจะเซ้งกิจการทำนาของพ่อแม่มาทำต่อ พ่อแม่เองก็คิดเช่นนั้น “ไปเป็นเจ้าคนนายคนซะ ไปเป็นข้าราชการมีเงินเดือนกินซะ จะได้ไม่มาลำบากอย่างพ่อแม่”

ครอบครัวที่ยากจนหลายคนทั้งคนไทยคนจีน ลูกคนโตบางทีเสียสละให้น้อง ยอมออกมาเป็นแรงงานกับพ่อแม่ เพื่อหาเงินส่งน้องเรียนหนังสือ ดอกเตอร์หลายคนที่ผมยกมือไหว้ก็มีร่องรอยเช่นนี้

พ่อแม่ผมก็คงเหมือนกับทุกคนที่ต่างพร่ำสอนมารยาท วิธีการครองตนในสังคมที่หลากหลาย และให้ยึดถือสารพัดวัฒนธรรม ประเพณีทั้งที่สั่งสอนโดยตรงและโดยอ้อม โดยปกติพ่อ แม่ ก็จะเล่าบางช่วงชีวิตให้ฟังตามจังหวะ สถานการณ์ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องแบบม้วนเดียวจบ จึงมีหลายเรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้เล่า บางทีญาติพี่น้องซะอีกเล่าให้ฟัง

ช่วงที่ผมทำงานที่ขอนแก่นประมาณปี 2529 พ่อซึ่งเป็นข้าราชการครูเกษียณ ล้มป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ต้องนอนที่โรงพยาบาลอ่างทอง ผมก็ลงไปเยี่ยม ไปนอนด้วย ไปปรนนิบัติแทนแม่ที่รับมาหนักนานตลอด


ค่ำวันนั้น พ่อเรียกผมเข้าไปนั่งข้างเตียงแล้วก็เล่าชีวิตของพ่อให้ฟังอย่างละเอียด ผมตงิดในใจจึงเอาเทปบันทึกเสียงพ่อไว้ด้วย พ่อเล่าแบบลืมตัว จนสว่างคาตา แม่ตื่นขึ้นมาก็ต่อว่าพ่อ ว่าลูกต้องเดินทางกลับไปขอนแก่นทำไมคุยกันยันสว่างเลย เดี๋ยวลูกขับรถไม่ไหว อันตราย.

จริงๆผมไม่ทราบหลายช่วงหลายตอนของชีวิตพ่อมาก่อน เพราะไม่มีใครเล่าให้ฟัง เรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟังตลอดคืนนั้น มีทั้งรากเหง้าของตระกูล ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น บ้านเมือง บุคคล สังคม การดำรงชีวิต วิถีชีวิตยุคก่อนสงครามโลก การเปลี่ยนครั้งสำคัญๆของประเทศชาติ ฯลฯ เพราะมันเป็นทางเดินของชีวิต ตลอดทั้งคืนมีทั้งหัวเราะกันสองคนพ่อลูก มีทั้งร้องให้ เพราะพ่อฝ่าด่านความยากลำบากมามากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่านัก

คืนแห่งประวัติศาสตร์นั้นผมเกิดสำนึกขึ้นอย่างสูงส่งโดยอัตโนมัติ ผมเข้าใจว่าทำไมพ่อจึงเป็นดุ โดยเฉพาะกับลูกๆ ทำไมพ่อจึงเคี่ยวเข็ญพวกเราในเรื่อง การรักใคร่กันระหว่างพี่น้อง แม้ว่าพ่ออยากให้รับราชการ แต่หากเราตัดสินใจอยากเป็นอะไร พ่อก็ไม่ได้ขัด แต่ขอให้เป็นคนดี…. ในตระกูลผมนั้น พ่อเสียสละโอกาสที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงทั้งที่อยากจะเรียน เสียสละมรดกที่นาทำกิน ให้น้องๆ(อาผม)ก่อน พ่อก็ได้น้อยที่สุด ดังนั้นอาทุกคนเคารพพ่อมาก เมื่อพ่อพูดอะไร อาทุกคนฟัง

ผมไม่ได้มุ่งหมายให้ลูกๆ ก็อปปี้มาทั้งหมดซึ่งเป็นไปไม่ได้ ซึ่งทำไม่ได้ และไม่ควรทำ แต่ลูกเมื่อมีวุฒิภาวะแล้วย่อมรู้ดีว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

  • มีลูกจำนวนมาก พอออกจากบ้านก็รู้แต่โลกข้างนอก แต่ชีวิตของพ่อแม่อย่างละเอียดนั้นไม่รู้เรื่อง หรือรู้น้อย เพราะไม่มีเวลาให้กับพ่อแม่ แต่มีเวลาให้กับเพื่อนและโลกสื่อสารยุคใหม่
  • อนุมาณว่าพ่อแม่อยากจะเล่าชีวิตให้ลูกๆฟัง แต่เมื่อลูกบอกจะทำโน่นทำนี่ พ่อแม่ก็ตามใจ และคิดไปข้างหน้ามากกว่าจะเอาอดีตของพ่อแม่มาเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อกลั่นเอา ชีวิตออกมาให้ลูกได้เรียนแบบต่อยอด
  • อดีตของพ่อแม่จะล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไรนั้น แม้ว่าพ่อแม่อยากจะเล่าให้ลูกๆฟัง ลูกที่เป็นวัยรุ่นนั้นเขาฟัง แต่ไม่ได้ยิน เพราะใจเขาจดจ่อแต่เรื่องอื่นๆ กว่าจะสำนึกได้ว่าชีวิตของพ่อแม่นั้นมีค่าต่อเรา ก็มักสายไปเสียแล้ว
  • ลูกบางคน เมื่อมีโอกาสได้ทราบรายละเอียดชีวิตของพ่อแม่แล้วคิดได้ เกิดมุมหักเหชีวิตครั้งสำคัญ เกิดสติ เกิดสำนึก เกิดความผูกพัน ซึ่งนี่คือฐานรากของทุนทางสังคม วัฒนธรรมของตะวันออก

อีกไม่กี่เดือนถัดมาพ่อผมก็เสียชีวิต ที่โรงพยาบาล ด้วยโรคต่างๆอันเนื่องมาจากถุงลมโป่งพอง ผมถอดเทปสิ่งที่พ่อและผมคุยกันคืนนั้น จัดทำเป็นเล่มและทำสำเนาแจกให้ญาติพี่น้อง เทปบันทึกการคุยกันคืนนั้นผมทำสำเนาแจกญาติพี่น้องทุกคน..

บังเอิญเรื่องที่จะเขียนนี้กลายเป็นมีสองวัตถุประสงค์ไปโดยบังเอิญ อันแรกคือ ต้องการบอกกล่าวว่า การทำเจ้าเป็นไผนั้น เล่มสอง ควรจะตกแต่งสาระความชัดเจนให้เข้าเป้าหมายร่วมกัน อย่างที่ “คอน”เสนอ อย่างที่สองบุคคลที่ผมกล่าวถึงในบันทึกนี้คือพ่อผมซึ่งท่านเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมโป่งพอง

พอดีวันนี้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลกพอดี…



Main: 0.075989007949829 sec
Sidebar: 0.093378067016602 sec