น้ำแดง

310 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2011 เวลา 8:45 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 8063

ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมตอนนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำเหมือนกัน แต่เป็นน้ำสีแดงในขวด ที่เราเรียดน้ำอัดลม


จากรูปตรงนี้คือหัวสะพานปูนยาวประมาณ 80 เมตร อยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เรียกกันว่าสะพานขาว ด้านขวามือของสะพานนี้เป็นอ่างเก็บน้ำรอบๆอ่างเป็นถนนปูน มักเป็นสถานที่ออกกำลังกายของสมาชิกสถาบันนี้

ท่านที่เห็นรูปนี้แล้วก็อาจ งง งง เอาน้ำอัดลมมาเลี้ยงคนงานหรือไง หรือนักศึกษามาทำกิจกรรมแล้วสั่งน้ำอัดลมมาบริการกัน…ฯลฯ แต่คงไม่คิดไปถึงว่า ใครมาลืมน้ำอัดลมแน่นะครับ..

เป็นน้ำอัดลมสีแดงที่ชาวสถาบันแห่งนี้เอามาเส้นไหว้ เจ้าพ่อสะพานขาว เพื่อหวังผลอะไรสักอย่าง บางท่านอาจเรียกว่าติดสินบนก็ได้มั๊ง.. เช่น ถวายน้ำแดงหนึ่งขวด ขอให้สอบผ่านในกรณีที่นักศึกษาไม่มั่นใจตัวเองจะทำข้อสอบได้ นักศึกษาบางคนอาจถวายน้ำแดงหนึ่งขวดแล้วขอให้ได้เกรดเอ.. บางคนอาจจะเกทับ ถวายน้ำแดงหลายขวดไปเลย เพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่า เจ้าพ่อจะพึงพอใจแล้วให้ในสิ่งที่ต้องการ…

มีคนพูด วิเคราะห์เรื่องนี้มามากมายแล้วโดยเฉพาะนักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ซึ่งมุมมองจะแตกต่างกับท่านที่มาทางสายวิทยาศาสตร์

เชื่อว่านักศึกษาบางคนอาจจะสัมฤทธิ์ผลจึงร่ำลือกันไป ยิ่งลือมาก ก็ยิ่งมีขวดน้ำแดงมาวางมาก…

แต่ก็น่าที่จะมีการเอาน้ำแดงมาถวายเจ้าพ่อโดยไม่ได้ขอเกรด หรือขออะไร เพียงแสดงความเคารพความศรัทธาเฉยๆ ตามค่านิยม ความเชื่อด้านลึกของคนไทยเรา

แต่การให้เพื่อหวังผลนั้นมันต่อยอดไปไม่เพียงน้ำแดงหนึ่งขวดเพื่อขอเกรดเท่านั้น ค่านิยมนี้ ความเชื่อนี้ถูกผันแปรไปเป็นเงื่อนไขอื่นๆมากมายในสังคม บางท่านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าระบบอุปถัมภ์ แต่ผมคิดว่าระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมนั้นมิใช่เลวร้ายเช่นความหมายในปัจจุบันนี้ มันมีเส้นบางๆแบ่งกันระหว่างความเอื้ออาทร กับการอุปถัมภ์แบบหวังผล

กรณีเด็กสาวชาวบ้านมาเรียนหนังสือระดับอุดมศึกษา แต่บ้านยากจนมากพ่อแม่ไม่มีปัญญาส่งเรียน เด็กสาวคนนี้ก็ดิ้นรนมาเป็นคนดูแลผู้สูงอายุ คุณแม่(ยาย)ผม เพื่อเอาเงินค่าจ้างไปเรียนหนังสือทั้งพี่ทั้งน้อง สองคน เราก็จ้างเธอทั้งสองให้ดูแลคุณแม่กลางวันคนหนึ่งกลางคืนคนหนึ่ง เธอยังนอนเคียงข้างจนวาระสุดท้ายของคุณแม่เลยทีเดียว เราซาบซึ้งในความเอาใจใส่ และทำดีของเธอ จึงส่งเธอเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปฏิบัติต่อเธอเหมือนบุตรสาวเราอีกคนหนึ่ง(ผู้พี่เรียนจบก่อนคุณแม่เสีย) เรานั้นไม่ได้หวังตอบแทนจากเธอทั้งสอง แต่เราต้องการตอบแทนเธอที่ดูแลคุณแม่แทนเราที่ต้องไปทำงานหาเงิน ไม่ได้ดูแลข้างเตียงตลอดเวลา..

คุณแม่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว เธอผู้น้องเรียนจบและได้ทำงาน พยายามสอบเป็นทนายความจนได้และทำงานที่ภูเก็ตในปัจจุบันนี้ ผู้พี่แต่งงานไปทำสวนผักอยู่บ้าน จะเอาส้มสูกลูกไม้และข้าวสารมาให้เราทุกสามเดือน สี่เดือน โดยเราไม่ได้ร้องขออะไรเลย มันเป็นการผูกพันแบบเอื้ออาทรกัน เธอผู้น้องหากขึ้นมาบ้านขอนแก่นก็แวะมานอนที่บ้านเราก่อน

การที่เธอผู้พี่เอาสิ่งของมาให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราบอกว่าอย่าเอามาให้ลำบากเลย มันเยอะแยะ กินไม่หมด เหลือทิ้ง จนต้องแบ่งให้คนรีดผ้า คนดูแลบ้าง เพื่อนบ้านข้างๆทุกครั้งไป เธอก็แอบเอามาให้ตอนเราไม่อยู่บ้าน อิอิ

พฤติกรรมแบบนี้แตกต่างจากคนที่เอาขวดน้ำแดงไปถวายเจ้าพ่อ

แต่ที่ข้าราชการผู้ใหญ่มีเงินสดเก็บในบ้านเป็นสิบล้านร้อยล้านนั้นมันผิดปกติธรรมดาคนนะครับ

คิดเอาเองก็แล้วกันว่าเหมือนเจ้าพ่อที่ได้น้ำแดงมากองเยอะแยะหรือไม่ น้ำลดตอผุด หรือน้ำท่วมเลยวิ่งชนตอเลย หุหุ


ความแตกต่าง..

101 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 เวลา 14:05 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 6045

 

(ภาพจากอินเตอเนท ขอขอบคุณครับ)

ในโลกธุรกิจ ม้าที่ชนะการแข่งขัน รางวัลก้อนโตนั้นตกกับผู้เป็นเจ้าของม้า หรือผู้เล่นการพนัน

แต่ในโลกของชนเผ่า ผู้อยู่กับความจริงและธรรมชาติ ม้าที่มีชัยชนะนั้น รางวัล คือ ม้าตัวนั้นได้อาหารโปรดชุดใหญ่ ส่วนเจ้าของม้าได้ความสนุกและความอิ่มเอมทางความรู้สึกเท่านั้น สำหรับชนเผ่านี้ความเป็นเพื่อนของคู่แข่งขันยังเหมือนเดิม ไม่มีการแพ้ ชนะ เข้ามาแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง

 

เป็นมุมที่ได้จากสารคดีทาง ไทยพีบีเอส ครับ สารคดีบอกให้เราทบทวนชีวิต และวิเคราะห์การกระทำของเรามากขึ้นครับ


ศูนย์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

682 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 เวลา 16:35 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5130

นั่งดู ไทยพีบีเอส หลายวันรู้สึกชอบใจรายการ “ชุมชนคนสู่น้ำ” ที่ตระเวนไปหลายแห่งเอาการจัดการศูนย์ประสบภัยออกมาเผยแพร่ว่าที่นั่นที่นี่จัดการอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง การช่วยเหลือของรัฐเป็นอย่างไร และที่เน้นมากคือการบริหารจัดการอย่างไร โดยมีหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นวิทยากรคอยเสริม คอยสรุปออกมาเป็นหลักการ แนวคิด ฯลฯ

ไทย พีบีเอส คัดเลือกศูนย์ฯที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการและเอามาเผยแพร่นับว่ามีประโยชน์กับศูนย์ผู้ประสบภัยอื่นๆเอาไปดัดแปลง ปรับใช้ และมีแง่มุมที่น่าคิดมากมาย ของชื่นชม ไทย พีบีเอส โดยเฉพาะน้องหมอโกมาตร ที่ไม่ได้พบกันมานานนับสิบๆปี


(ภาพจากอินเตอเนท)

ขออนุญาตกล่าวถึงน้องหมอโกมาตร ผมคิดว่าเป็นหมอที่เดินออกมาจากอิทธิพลการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ที่มีหมอหลายท่านออกสู่ชนบททั้งที่เปิดเผยตัวตน เช่น หมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว หมอแหยง หรือสำเริง แหยงกะโทกแห่งโคราช หมอโกมาตร และอีกหลายต่อหลายท่าน บุคคลเหล่านี้เคยร่วมงานกันมาสมัยโน้น แล้วต่างแยกย้ายไปกันตามเส้นทาง ท่านเหล่านี้เป็นแบบอย่างหมอรุ่นใหม่หลายท่านตามมา

หมอโกมาตรเป็นหมอคนแรกๆที่ก้าวออกมาสนับสนุนแพทย์แผนไทย สมุนไพร และกระบวนการเยียวยาตามภูมิความรู้โบราณของท้องถิ่น อาจจะเรียกการแพทย์ทางเลือกก็ได้ ท่านศรัทธาชุมชน และภูมิปัญญาชุมชนที่ท่านเอาไปผสมผสานความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ จนท่านได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศทางด้านมานุษยวิทยา(ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งหายากมากที่แพทย์ไปเรียนต่อทางด้านนี้ ส่วนใหญ่ก็เรียนทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน…

ผมขอกล่าวถึงศูนย์ประสบภัยที่ออกรายการวันนี้ คือศูนย์บ้านม้า เขตประเวศ กทม.นี่แหละ เป็นชุมชนอิสลาม อยากสรุปสั้นๆว่า


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • แรกเข้า

หมอโกมาตรเรียกว่าการจัดการพื้นที่ มีการประมวลผลผู้เข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้ประสบภัยนี้อย่างไรบ้าง ลงทะเบียนให้หมดที่เราเรียกว่าทำฐานข้อมูล จากฐานข้อมูลก็มาคัดกรองเป็นกลุ่ม ตามความเหมาะสม เช่น กลุ่มผู้ป่วยควรจะอยู่ในพื้นที่ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย กลุ่มผู้สูงอายุควรจะอยู่ใกล้ห้องน้ำและไม่อยู่ในชั้นสูงๆของอาคาร กลุ่มสตรี กลุ่มที่มีครอบครัว ฯลฯ


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • ปฐมนิเทศ

มีการปฐมนิเทศผู้ที่เข้ามาพักพิงในศูนย์ เพื่อให้เข้าใจระเบียบ ข้อตกลงที่จัดทำกันขึ้นมาเองโดยผู้อพยพนี้ ข้อแนะนำการพักพิง การปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกันซึ่งจะไม่มีความเป็นส่วนตัวเหมือนบ้านของตัวเอง การทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้เป็นความสำคัญในการที่ชุมชนชั่วคราวควรพูดจากันให้รู้เรื่อง เข้าใจ เช่นห้องตากเสื้อผ้ารวม ห้องแต่งตัวสตรี ห้องเก็บของส่วนกลาง ห้องนอน พื้นที่ทิ้งขยะ ฯลฯ หากไม่ทำความเข้าใจกันคงมั่วน่าดู

  • การบริหารจัดการศูนย์ฯ

ดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆที่จะต้องทำร่วมกัน ผู้บริหารศูนย์จึงระดมคนในศูนย์นั่นแหละมาช่วยกันรับผิดชอบใครมีความสามารถอะไร ถนัดอะไรก็มาช่วยกัน แบ่งความรับผิดชอบกัน เช่น ฝ่ายลงทะเบียน ฝ่ายรับและบริหารจัดการของบริจาค ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายทำอาหาร ฝ่ายสุขอนามัย ฝ่ายเก็บขยะ ฝ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ สารพัดฝ่ายที่จำเป็น ที่สมควรจัดทำขึ้น

  • การบริหารจัดการเฉพาะเรื่องเฉพาะฝ่าย

ตรงนี้สำคัญมาก กรณีที่น่าสนใจคือ ผู้บริจาคไม่ทราบว่าผู้รับบริจาคต้องการอะไร ขาดแคลนอะไร แต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แต่ละเพศไม่เหมือนกัน แต่ถุงยังชีพนั้นจัดสิ่งของเหมือนกันหมด ของบริจาคหลายอย่างไม่ได้ใช้ สิ่งที่ต้องการไม่ได้รับการบริจาค ฯลฯ และผู้บริจาคไม่ได้เข้าระบบการจัดการ เห็นผู้ประสบภัยก็ให้อย่างเดียว เรียกว่าเจตนาดีแต่ไม่ตรงกับความต้องการ ศูนย์แห่งนี้มีกระบวนการคือของบริจาคทั้งหมดมากองรวมกันเป็นส่วนกลาง แล้วแยกแยะออกเป็นกลุ่ม แล้วจัดสรรให้ตรงตามต้องการแก่ผู้พักอาศัย เท่าที่จำเป็นก่อน ส่วนเหลือยังอยู่เป็นส่วนกลาง ใครหมดก็มาเบิกไปใหม่ และเบิกได้เฉพาะเวลาเท่านั้น โดยมีการลงทะเบียนหรือจัดทำระบบข้อมูลขึ้นมาเพื่อควบคุมให้เกิดความเรียบร้อย ทั่วถึง ขาดแคลนอะไรก็สามารถร้องขอโดยตรงต่อผู้บริจาคได้.ยังมีรายละเอียดอีกมาก..

กรณีบ้านม้าที่เป็นชุมชนมุสลิมนั้นพบว่าสิ่งของบริจาคบางอย่างเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา เช่น เนื้อหมูบริจาค ก็สามารถส่งคืนผู้บริจาคหรือส่งต่อไปให้ศูนย์อพยพอื่นๆได้

  • อย่าให้เวลาล่วงเลยไปอย่างไร้ประโยชน์

ทางศูนย์ทราบดีว่าการมาร่วมกันนั้นคืออพยพหนีภัยน้ำท่วมบุคคลที่มีหน้าที่ก็ออกไปทำหน้าที่ ยังมีส่วนที่เหลืออยู่ในศูนย์ เช่นเด็กและผู้สูงอายุ อย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ศูนย์สามารถจัดการเพิ่มพูนความรู้ต่างๆให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจจะสำรวจความต้องการก่อน หรือจากการสังเกตเห็นของผู้บริหารงานศูนย์ เช่นกลุ่มเด็กๆ ก็อาจจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่สร้างสรรค์ โดยการหาผู้ที่มีความสามารถภายในศูนย์เอง หากไม่มีก็แสวงหาจากภายนอกได้ ผู้สูงอายุก็สามารถจัดกิจกรรมที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกัน

มีรายละเอียดอีกมากที่น่าสนใจ ท่านที่ได้ติดตามรายการนี้คงทราบดี ผมประทับใจบทเรียนที่คณะวิทยากรสรุปและหมอโกมาตรสรุปคือ

  • การจัดตั้งเดิมของชุมชน: ชุมชนมุสลิมมีองค์กรเฉพาะของเขาอยู่เดิมแล้วซึ่งมิใช่โครงสร้างของการปกครองของรัฐบาล การจัดตั้งเดิมนี้คือฐานสำคัญที่มาหนุนเนื่องให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระบบเครือข่าย: นอกจากการจัดตั้งดั้งเดิมของชุมชน ยังมีเครือข่ายมุสลิมมรชุมชนอื่นๆทั้งใกล้เคียงและห่างไกล เมื่อเพื่อนประสบภัยต่างก็หนุนช่วยกันเต็มที่ เป็นพลังกลุ่ม และเครือข่ายที่เห็นประโยชน์ชัดเจน
  • ชุมชนที่มีฐานศาสนาร่วมกันและเคร่งครัดเช่นมุสลิมนี้ ต่างใช้วิกฤตินี้เรียนรู้สัจธรรมของคำสอนและธรรมชาติ: เช่นมีการสรุปจากวิกฤตินี้ว่า แก่นแท้ของชีวิตคืออะไร ยามปกติเราก็ประมาท เมื่อประสบภัยเราก็ตระหนักถึงพื้นฐานง่ายๆของชีวิตที่จำเป็นและต้องการ ส่วนเกินของชีวิตมีมากมาย
  • หมอโกมาตรกล่าวว่า บางศูนย์ขนาดใหญ่เอาดนตรีวงใหญ่ๆมาขับกล่อม เพียงเจตนาช่วยด้านบันเทิงมิให้จมในกองทุกข์ แต่อีกมุมหนึ่งเป็น”ทัศนะกลบเกลื่อน” ความเป็นจริง ตรงข้ามควรที่จะเอาความจริงนั้นมาสรุปบทเรียนชีวิตต่างหาก มิได้ปฏิเสธกิจกรรมบันเทิง แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากกว่าเพียงเจตนาดี
  • ท่านผู้นำศาสนาท่านหนึ่งสรุปว่า “ศีลธรรม จริยธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” ทุกคนสามารถมีได้ สร้างขึ้นมาได้ รักษามันได้ และมันเป็นแก่นแกนของดารดำรงชีวิตร่วมกัน

    ผมเรียนรู้จากรายการนี้มากทีเดียว และเชื่อว่าศูนย์อพยพอื่นๆก็มีการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปตามความเหมาะสม และท้ายที่สุดท่านนักบวชมุสลิมพบว่า ยามนี้ต้องใช้ปลัก 3 ป. คือ ป เปิด คือเปิดใจรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ฯลฯ ป ปรับ คือ ต้องปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ให้ได้ และ ป เปลี่ยน คือการที่ไม่เคยเปิดก็ต้องเปิด และที่ไม่เคยปรับก็ต้องปรับ

    ขอบคุณหมอโกมาตร นักบวชและผู้นำอิสลามบ้านม้า และรายการชุมชนคนสู้น้ำ แห่ง ไทยพีบีเอสครับ


คำถามที่ต้องตอบ..

47 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 เวลา 9:52 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 3716

วิกฤติน้ำท่วมบ่งชี้แนวทางการเติบโตของสังคม ของประเทศให้เห็นชัดๆมากขึ้น ผมยังไม่แตะในเรื่องสาเหตุของอุทกภัย แต่เมื่อเกิดแล้วนั้นประชาชนประสพภัยอะไรบ้าง

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการดำรงชีพด้วยปัจจัยสี่พื้นฐานนี่แหละ ความจริงมากกว่าปัจจัยสี่

เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมเมืองนั้นดำรงชีพด้วย “เงิน” เวลาของชีวิตส่วนใหญ่ต้องเข้าระบบงาน เพื่อได้เงิน และเอาเงินนั้นไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และชีวิตที่ขึ้นกับเงินตรานั้นยังเคลือบไปด้วยค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่น มากกว่าคุณสมบัติความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ยิ่งทำให้ชีวิตยืนอยู่บนราคาที่แพงมากขึ้น ต้องใช้เงินที่มีปริมาณมากขึ้น ในขณะที่รายได้นั้นไม่มากเพียงพอ จึงกลายเป็น “ชีวิตผ่อนส่ง” ยิ่งติดใน ค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่นมากเท่าไหร่ อัตราการผ่อนส่งของชีวิตก็แพงมากขึ้น


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

สภาพชีวิตเช่นนี้ได้สร้างลูกโซ่แห่งทัศนคติ นิสัย แห่งการได้มาของปริมาณเงินตรา และค่อยๆก้าวข้ามคุณค่าเดิมของสังคมในด้านความเอื้ออาทร บาป สิ่งไม่พึงกระทำที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมกำกับ เวลาที่มีอยู่ต้องเข้าระบบงาน บางแห่งทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน

เด็กรุ่นใหม่มีวิถีประจำวันที่หลุดลอยออกจากคุณค่าทางสังคมเดิมออกไป ใช้เงินตรามากมายไปกับสิ่งที่มิใช่ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่แฝงบนค่านิยมมากกว่าความจำเป็น

แน่นอนครอบครัวใดที่มีอาชีพที่สร้างรายได้มากเพียงพอ ก็ก้าวผ่านสภาพสังคมแบบนี้ไปได้ แต่ครอบครัวใดที่ไม่มีรายได้เพียงพอ แต่ค่านิยมนั้นท่วมท้นการตอบสนอง ก็ดิ้นรนในวิธีการได้มาซึ่งเงินตราไปในช่องทางที่เขาจะพึงทำได้ หลายคนทำงานพิเศษ แต่หลายคนต้องก้าวไปบนเส้นทางที่ผิดต่อระเบียบบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามวิถีคนเมืองพัฒนามาบนสภาพเช่นนี้นับชั่วอายุคน จนเป็นความเคยชิน และรู้สึกแปลกแยกเมื่อต้องไปอยู่ในสังคมที่มีวิถีแบบชนบท


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

เมื่อเงินไม่มี ปัจจัยสี่ก็ขาดแคลน ตรงข้ามเมื่อมีเงินแต่ไม่สามารถจับจ่ายตามต้องการได้ ก็กระทบต่อปัจจัยสี่ เช่น กรณีเกิดน้ำท่วมในลักษณะวิกฤติมีเงินก็ซื้ออะไรไม่ได้ ในขณะที่ชีวิตประจำวันขึ้นกับการใช้จ่ายวันต่อวัน นี่คือการสูญเสียปัจจัยการดำรงชีวิต กล่าวอีกทีคือ พึ่งตัวเองไม่ได้เลย…

ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เราจึงเห็นขบวนการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหาร น้ำ ฯ และที่ร้ายมากไปกว่านั้นคือ ความรู้ในการพึ่งตนเองก็ไม่มี หรือมีน้อย

กรณีวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้บ่งบอกว่ากระทบต่อลูกโซ่ของวิถีสังคม การขับเคลื่อนของสังคม ประเทศ และเลยไปถึงความมั่นคงของประเทศ ยิ่งใจกลางของวิกฤติน้ำอยู่ในใจกลางของนครหลวงที่รวมศูนย์ทุกอย่างของประเทศอยู่ที่นี่..

ถามว่าหากวิกฤติน้ำเกิดในชนบทสภาพจะแตกต่างกันอย่างไร.. ตอบได้ว่า การซวนเซของปัจจัยสี่นั้นมีแน่นอน แต่ฟื้นตัวเร็วกว่า เพราะมีสภาพ เงื่อนไขของวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเองได้มากกว่าพึ่งพาภายนอก รวมทั้งเขามีประสบการณ์ในการยังชีวิตด้วยสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้มากกว่า

ภาพนี้นั้นจึงเป็นคำถามใหญ่ๆว่า แนวทางการเติบโตของสังคมแบบเมืองนั้นควรทบทวนอย่างหนัก เพราะวิกฤติในทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจจะหนักมากกว่านี้ก็เป็นได้

หากไม่มีพลังงาน เช่นไฟฟ้า แก๊ส จะทำอย่างไร..?

หากไม่มีอาหารในซูปเปอร์มาร์เก็ต จะทำอย่างไร…?

หากบ้านพักไม่สามารถพักได้ มีความรู้อะไรจะแก้ปัญหานี้..?

หากน้ำที่มีท่วมบ้านท่วมเมืองดื่มไม่ได้ จะมีความรู้พื้นฐานอะไรแก้ปัญหานี้ได้…?

หากมีเงิน แต่ใช้ไม่ได้ จะแก้ปัญหาการดำรงชีพอย่างไร…?

หากเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน จะมีความรู้อะไร มีปัจจัยเอื้ออย่างไรที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ได้…?

ฯลฯ….

การพึ่งตัวเองในเมืองคืออย่างไร

เป็นคำถามที่ต้องตอบ….?


อยู่กับน้ำ

277 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2011 เวลา 23:35 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4783

นึกถึงสมัยที่ผมเด็กๆอยู่ที่บ้านวิเศษชัยชาญ พื้นที่น้ำท่วมในฤดูน้ำคือหลังทำนาแล้วฝนก็ตกใหญ่น้ำเหนือก็ไหลบ่า น้ำก็ท่วมทั้งแม่น้ำน้อยและทุ่งนาและที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะมันเกิดมานับร้อยปีมาแล้วตั้งแต่มีการตั้งหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อฤดูกาลแต่ละปีจะมีช่วงหนึ่งน้ำท่วม วิถีชีวิตก็ปรับให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ

ไม่เดือดร้อนเหมือนน้ำท่วมในปัจจุบัน

เพราะวิถีชาวบ้านนั้นทำนา เก็บข้าวไว้กินใส่ยุ้งฉางไว้ จะกินเมื่อไหร่ก็เอาไปใส่ครกใหญ่ตำ ต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องสีข้าวมือ ต่อมาเป็นโรงสีใหญ่ และโรงสีเล็ก เลิกการตำและสีข้าวมาเป็นจ้างโรงสี หรือขายข้าวแล้วซื้อข้าวกิน

หุงข้าวด้วยฟืนก็เตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มฤดูทำนาใหม่ๆ เด็กๆมีหน้าที่ไปตัดต้นก้ามปูมาเป็นฟืน แล้วเอามากองให้สูงเหนือระดับน้ำที่ชาวบ้านรู้ดีว่าแต่ละปีน้ำสูงแค่ไหน เรามี “โคก” เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักทุกอย่างที่อยากกิน และเมื่อน้ำท่วมพืชผักในฤดูน้ำก็มีมาโดยธรรมชาติ ปลามีมากมาย ใครมีปัญญาจับก็เอามากิน มาขาย มาแบ่งปันกัน

การคมนาคม บ้านผมมีเรือไผ่ม้า เรือบด เรืออีป๊าบ และเรือมาด เรือแต่ละชนิดใช้ประโยชน์ต่างกัน เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ มีใบพายที่พ่อทำขึ้นมาเอง พ่อรู้จักว่าจะทำใบพายแบบไหนจึงจะเบาแรงและใช้ได้ดี เราเตรียมเรือตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูทำนา เอามาขัดด้วยแปรงทองเหลืองทั้งด้านนอกด้านในเพื่อเอาสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปแล้วก็ทาด้วยน้ำมันยางโดยลงชันอุดตามรอยต่อเรือ หรือรูรั่วต่างๆที่ชาวบ้านรู้ดีว่าเรือลำนี้ตรงไหนมีรูรั่ว ตรงไหนชำรุดก็ซ่อมแซม พร้อมใช้งานในช่วงน้ำหลาก

เรือซึ่งเป็นพาหนะของสังคมชุมชนในช่วงฤดูน้ำนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ หลักๆคือเอาไปใช้ทำนาบรรทุกสิ่งของที่ต้องใช้ หรือเอาไปเยี่ยมแปลงนา กำจัดวัชพืชที่มักเป็น “ต้นซิ่ง” เริ่มมีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงนา จำได้ว่าจะฉีดยาฆ่าวัชพืชที่เรียกต้นซิ่งนี้ ในถังน้ำยาต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วย นัยว่าช่วยให้น้ำยาจับใบวัชพืชมากขึ้น หากไม่ใส่ผงซักฟอกน้ำยาเคมีจะไม่จับใบพืชชนิดนี้ เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน สิ้นเปลืองยา วัชพืชไม่ตาย

เมื่อวันโกนวันพระมาถึง เราแต่งตัวสวยงามพากันพายเรือไปทำบุญที่วัดกันทั้งครอบครัว เด็กๆชอบใจเพราะจะได้กินขนมแปลกๆที่ชาวบ้านจะเอาข้าว เอาขนมมาแลกกัน หลังจากที่ถวายพระทำบุญแล้ว เด็กๆได้เล่นกัน แต่อยู่ในสายตาการสอนการดูแลของผู้ใหญ่

หมู หมา กา ไก่ มีร้านให้เขาอยู่อาศัย แม้แต่สัตว์ใหญ่เช่น ควายทั้งคอก เราทำร้านให้เขาอยู่ หรือเรียกง่ายๆคือ สร้างเรือนให้ควายอยู่ แล้วชาวบ้านเจ้าของก็ไปตัดหญ้ามาให้เขากินทุกเช้า เหล่านี้มีการเตรียมตัว จัดทำมาก่อนหน้าที่น้ำจะหลากมาแล้ว

เรามีข้าวในยุ้ง เรามีน้ำดื่มเพราะรองน้ำใส่ตุ่มไว้ตั้งแต่ฤดูฝนปีก่อน มีตุ่มมากเพียงพอที่เก็บน้ำดื่มได้ทั้งปี อาหารมีตามฤดูกาล การเดินทางใช้เรือ วัฒนธรรม ประเพณีตามฤดูกาลก็มี เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน ผ้าป่า การทำบุญวันพระ การแข่งเรือยาวช่วงออกพรรษา สมัยนั้นยังมีการเล่นเพลงเรือ คนเฒ่าคนแก่ออกมาต่อเพลงเรือกันสนุกสนาน

มีการทำกระยาสารท กล้วยไข่ มีการย้อมแห อวนด้วยผลไม้ชนิดหนึ่งเอามาตำใส่ครกใหญ่แล้วเอาน้ำมาย้อม เพราะยางของผลไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติเกาะจับแน่นกับผ้าหรือฝ้ายการห่อหุ้มผ้าหรือเส้นใยทำให้รักษาคุณภาพทำให้คงทนต่อการใช้งาน

ช่วงนี้ก็จะจับปลามาเป็นอาหารและทำแห้งเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกี่ยวข้าว พอน้ำเริ่มลดลง ปลาออกจากทุ่ง ก็จะมีการทำยอยกจับปลาในบริเวณที่ปลาจะออกมาจากทุ่งลงสู่แม่น้ำน้อย ปลาชนิดหนึ่งจะขึ้นมาจากเจ้าพระยา เข้าสู่แม่น้ำน้อย และมาเป็นฝูงใหญ่ๆ คือปลาสร้อย ปลาชนิดนี้เป็นปลาชั้นเยี่ยมที่เอามาทำน้ำปลา ตั้งแต่มีการสร้างประตูน้ำพระอินทร์ ที่วิเศษชัยชาญก็ไม่มีปลาสร้อยอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถผ่านประตูน้ำขึ้นไปได้ ปลาที่ชาวบ้านทำแห้งมากที่สุดคือปลาตะเพียน ปลาช่อน..

ไม่เห็นต้องกักตุน เพราะมีการเตรียมมาแล้วตามปกติของวิถีในรอบปี

เมื่อน้ำลดลงงานในนาก็เริ่มเข้มมากขึ้นนั่นคือ ฤดูหนาวเข้ามาข้าวในนาเริ่มสุก งานใหญ่รอข้างหน้าคือการเก็บเกี่ยว พ่อบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ เช่น เคียวเกี่ยวข้าว คันฉาย หลาว เขน็ดมัดฟ่อนข้าว เครื่องสีฝัด ลานกองข้าว

แต่วิถีชีวิตแบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อไฟฟ้าเข้ามา ถนนเข้ามา เด็กรุ่นใหม่เข้าเมือง เรียนหนังสือ พืชใหม่ๆเข้ามาแทนนาข้าว ระบบชลประทานเข้ามา เงินซื้อทุกอย่าง

คนเมืองเป็นอีกระบบของชีวิต ที่ทำเงินอย่างเดียวนอกนั้นซื้อทุกอย่าง เป็นวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงเมื่อภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้น

วิถีชีวิตแบบอยู่กับน้ำในอดีตนั้นอยู่ได้แม้จะมีภัยพิบัติ

แต่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป…


ข้าวงอก

704 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 ตุลาคม 2011 เวลา 22:39 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12169

ช่วงที่ผ่านมาผมได้รับมอบหมายให้ไปจัดประชุมกับชาวบ้านแถบ อ.หนองเสือ อ.ธัญบุรี และ อ.ลำลูกกา ของปทุมธานี และเข้าสัมภาษณ์ข้าราชการทั้งระดับจังหวัด อำเภอ เทศบาล ตำบลและผู้นำชาวบ้านในหมู่บ้าน เรื่อง องค์การเภสัชกรรมจะมาสร้างโรงงานผลิตยาแห่งที่สองที่ คลองสิบปทุมธานี


ไม่คุยเรื่องงานแต่จะคุยเรื่องภาพที่ผมได้ผ่านพบ จากภาพข้างบนนี้ครับ ข้อมูลโดยสรุปคือ ฝนตก น้ำท่วมชาวนาท่านนี้เก็บเกี่ยวไม่ทัน ต้องจ้างคนเกี่ยวกลางน้ำ แล้วไม่มีสถานที่ตาก จึงมาขออาศัยลานวัด อย่างที่เห็นในภาพ อาศัยนอนที่ศาลานั่นแหละเฝ้าข้าวไปด้วย

ค่าแรงงานที่จ้างวันละ 400 บาท แถมได้แรงงานผู้สูงอายุหรือเด็ก เพราะคนหนุ่มสาว เข้าไปทำงานโรงงานหมด ที่มีอยู่ก็ไม่เอางานแบบนี้แล้ว นอกจากแรงงานเป็นกลุ่มสูงอายุและพวกมีภาระเช่น มีบุตรเล็กๆไปไหนไม่ได้

ปกติแถบนี้จะใช้รถเกี่ยวข้าวกันทั้งหมด แต่น้ำลึกรถเข้าที่นาไม่ได้ก็ต้องใช้คนแถมหายากดังกล่าว


ข้าวที่เกี่ยวมาก็เละตุ้มเป๊ะ บางรวงก็ยังไม่สุกดีเท่าไหร่ หากเป็นภาวะปกติก็จะทิ้งไว้อีกสักสัปดาห์หนึ่ง แต่รอไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องเอาขึ้นน้ำด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น แรงงานมีเฉพาะช่วงเวลานี้ เพราะจองกันยาวเหยียด หากไม่เอาก็อีกนานกว่าครบรอบว่าง


ข้าวที่เกี่ยวมาก็ต้องจ้างขนมากองที่ลานวัด จ้างคนมาเกลี่ยให้กองข้าวกระจายออกบางๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้แสงแดดเผาเอาความชื้นออกไป เมื่อปริมาณรวงข้าวมาก ข้าวที่กระจายจึงหนามากไป แต่เมื่อมีพื้นที่จำกัดก็ต้องจ้างแรงงานมา “สาง” เพื่อเอาข้างล่างขึ้นข้างบนให้มาโดนแดดทั่วถึง การสางข้าวต้องใช้เครื่องมือเฉพาะที่เรียก “คันฉาย” ที่มีลักษณะคล้ายสระไอไม้มลาย “ไ” เพียงแต่ไม่มีปลายหยัก โค้งเข้าหาตัว เอาไว้ตักรวงข้าวขึ้นมา แล้วเขย่าๆให้กระจายออก

พ่อผมทำคันฉายใหญ่และสวยงามมาก มีลวดลาย หนัก แข็งแรง ไม่มีใครจับต้องพ่อคนเดียวเท่านั้น มันหายไปตามกาลเวลาแล้ว

ที่นี่ไม่มีคันฉายแล้ว ใช้ไม่ตรงๆเปล่าๆนี่แหละ แบบนี้ไม่เรียก สาง น่าจะเรียกเขี่ยข้าวมากกว่า


เมื่อข้าวแห้งดีก็เอาเครื่องมานวด แล้วกองสุมบนพื้นปูนเตรียมขายหากต้องการขายทันที หรือเก็บเข้ายุ้ง ฉาง เพื่อเอาไว้กิน หรือเตรียมขายเมื่อยามจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ดูซิครับ ฝนมันตกเปียกไปหมด และกองข้าวก็เปียก ส่วนข้างล่างนั้นเรียกว่าแช่น้ำเลยก็ว่าได้ แม้ว่าจะมีพลาสติกคลุม แต่ไม่พอ


ชาวบ้านที่กำลังสางข้าวท่านหนึ่งตะโกนบอกผมว่า มันงอกแล้ว ผมเดินไปดู งอกจริงๆ ชาวบ้านบอกว่า แค่สาม สี่ วันเอง เดี๋ยวเปียกน้ำ เดี๋ยวแดดออก งอกเลย

ขายไม่ได้ราคา เจ้าของบอกว่า ทั้งหมดนี่ไม่ได้หวังอะไรแล้ว เอาไว้ให้ไก้ให้เป็ดกิน

เขาพูดประชดชีวิต อาชีพชาวนาก็เสี่ยงเป็นที่สุด กว่าจะได้เงิน ทองมาใช้

ข้าวงอกเสียแล้ว


ประสบการณ์เล็กๆแต่มีราคาเกี่ยวกับน้ำ…

อ่าน: 10667

เหตุผลที่สำคัญที่เรากู้เงินมิยาซาวา เมื่อปี 40 และเหตุผลที่สำคัญของ สปก. อ้างถึงในการขอแบ่งเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อมาทำโครงการพัฒนาชนบทคือ ระบบการเงินของประเทศพัง เราต้องการมาฟื้นฟูประเทศ การฟื้นฟูมีหลายแนวทาง หนึ่งก็คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะชนบท เพื่อเกษตรกรมีรายได้ ทีกำลังซื้อ ดังนั้นอีสานแห้งแล้งจึงเป็นต้นเรื่อง เพื่อให้เหตุผลขลังก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษา Feasibility study (FS) ว่าชาวอีสานต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประโยคนี้พูดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ถูก

แล้วโครงการเงินกู้มิยาซาวาก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินงานมาเกือบสิบปี การประเมินผลที่เรียกว่า External Final Evaluation เพิ่งเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างไรผมขอไม่ลงรายละเอียด ระหว่างการดำเนินงานส่วนหนึ่งก็อยู่ในบันทึกลานดงหลวงนั่นแหละ

ถามอีสานแล้งจริงไหม คงไม่ต้องตอบ เพราะมันกลายเป็นคำคู่กับภาคอีสานมานานแล้ว แต่จริงๆที่ไหนๆก็แล้ง เหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก แม้ภาคใต้ก็เคยแล้ง เพียงแต่อีสานเกิดปรากฏการณ์มากกว่า และทางเลือกมีน้อยเพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงนั่นเอง

ไม่ใช่อีสาน แห้งแล้งเท่านั้น น้ำท่วมก็เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และเกิดขึ้นมาคู่กับโลก เพราะหากเราเป็นคนทำงานชนบทและสนใจ “พัฒนาการสังคมชนบท” เราก็ใช้วิธี Dialogue ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เราก็จะทราบ “พัฒนาการของหมู่บ้าน ชุมชน สังคม” กระบวนการนี้ดีมากๆ ไม่เห็นโรงเรียนที่ไหนทำเลย มีแต่เรียนสิ่งไกลตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เอามานั่งให้กราบไว้เท่านั้น ไม่พอครับ ประสบการณ์ของท่านคือประวัติศาสตร์

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า การย้ายถิ่นฐานของคนในอดีตเป็นเรื่องปกติ ทำไมต้องย้าย ก็โรคร้ายระบาดผู้คนล้มตาย หรือเกิดแห้งแล้งหนักข้าวปลาขาดแคลน หรือตรงข้ามน้ำท่วมใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่มีพิธีกรรมความเชื่อเป็นของคู่กับสังคมโบราณ เมื่อ “นางเทียม” บอกให้ย้ายหมู่บ้าน ก็พากันย้าย… ย้ายไปไหน นี่แหละความรู้หรือที่เรียกภูมิปัญญาของคนโบราณเขาก็เลือกเอาพื้นที่ที่ดอน แต่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ มีป่าให้หาสิ่งก่อสร้างอิงอาศัย เป็นแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ดูดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน เมื่อทุกอย่างได้ ก็ทำพิธีขอพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน

ดิน น้ำ ป่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนโบราณ และสืบทอดมาจนปัจจุบันและยังหนาแน่นในกลุ่มบางชนเผ่าเช่น กะโซ่ที่ดงหลวง หรือชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ หรือชุมชนที่อาว์เปลี่ยนเล่าให้ฟังนั่น

แล้วฝรั่งก็มาล่าเมืองขึ้น ใครลืมประวัติศาสตร์นี้ก็ไปทบทวนดู มันรู้สึกเจ็บลึกๆเหมือนกันที่ความศิวิไลซ์ของชนเผ่าผิวขาวตะวันตกมาแย่งชิงดินแดนเราไปอย่างด้านๆโดยใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ และที่สำคัญใช้กำลังบังคับ ผมว่าการที่อมริกันไม่ชนะสงครามเวียตนามนั้น ตะวันตกได้บทเรียนที่มีค่ามากๆ อ้าว..เรื่อยเปื่อยไปแล้วนะเนี่ย

เมื่อยุคการพัฒนาเข้ามา อ้างอิงกันถึง สัญญาเบาริง อ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกี่แผนต่อกี่แผนมานี่น่ะ ลัทธิเมืองขยายตัว ลัทธิธุรกิจแผ่พลังครอบคลุมชนบท ตามหลักทฤษฎีทั้งเศรษฐศาสตร์และสังคม ชนบทค่อยๆกลายเป็นเมือง คุณค่าชนบทตกอยู่ภายใต้นิยามของการพัฒนา ว่าเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนา…?? แต่ภายหลังมายกยอปอปั้นว่าชนบทมีทุนทางสังคมมากที่สุด ชนบทมีภูมิปัญญา….??? แต่ดูเหมือนก็ยังแค่เป็นเพียงคำพูด “การพัฒนาก็ยังใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเป็นธงนำ ไม่ได้ใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง”

“สภาพกายภาพของพื้นที่” การเกษตรค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาตามหลักการที่กล่าวว่า “เพื่อความเจริญ” แต่หลายเรื่องหลายอย่างไปขัดกับสภาพธรรมชาติของการเกิดและการถ่ายเทน้ำ

ทุกครั้งที่โครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่มีงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระน้ำประจำไร่นา ฝายกั้นน้ำ หรือใหญ่ขึ้นไปหน่อยคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก็จะมีวิศวะการใหญ่มาคุมงาน นัยใช้ความรู้มหาศาลมาบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขมวลประชา และตามหลักการมีขั้นตอนที่ต้องประชุมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ชาวบ้านก็ตอบคำถามตามประสบการณ์พื้นที่ของเขาแบบตรงๆ แต่ไม่มี Subject area ด้านงานก่อสร้างดังวิศวกร แต่วิศวกรก็ไม่มี Subject area ด้านสภาพชุมชน ขอโทษนะครับวิศวกรทั้งหลาย วิศวกรที่ผมพบนั้นยืนหยัดถึงความรู้แห่งตน มากเกินไปที่จะรับฟังชาวบ้าน แล้วความผิดพลาดมักพบภายหลังการก่อสร้างเสมอๆ มิเพียง “ไม่สำเหนียกเสียงชาวบ้าน” แม้เจ้าหน้าที่อย่างผมที่บริหารโครงการเขาก็ไม่ฟัง

แม้ว่า สตง.จะตามมาตรวจสอบ แต่เล่ห์เหลี่ยมของความจัดเจนในกลยุทธนั้น วงการระบบ..ย่อมรู้แก่ใจ

ความบกพร่องผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆงาน ไม่ว่างานนั้นราคา 10 บาท หรือ หมื่นล้านบาท แต่หากราคานั้น 10 บาทก็ถือว่าเล็กน้อย หากราคางานนั้นสูง สิ่งที่เสียหายคือสังคม ประเทศชาติ และที่ร้ายคือความรู้สึก

ขอยกตัวอย่าง งานก่อสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่พื้นที่ผมรับผิดชอบ ถูกออกแบบมาจากกรุงเทพฯ โดยดูพื้นที่จากแผนที่ ต่อให้เป็นแผนที่ที่ละเอียดแค่ไหนก็ตามเถอะก็ต้องออกไปดูพื้นที่จริง ต่อให้ดูพื้นที่จริงแค่ไหนก็เถอะ หากไม่คุยกับชาวบ้าน หรือต่อให้คุยกับชาวบ้านแค่ไหนก็เถอะ หากไม่มี Subject area ทางด้านสังคม-วิศวกรรม หรือวิศวกรรมสังคม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ อันตราย

การก่อสร้างโรงสูบน้ำถูกออกแบบมาแล้วดังกล่าวสมมุติว่าสูง 10 เมตร นัยว่า ข้อมูลที่ใช้นั้นรอบด้านแล้ว เจ๋งแล้ว แต่เมื่อลงมือก่อสร้างผมได้พูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชาวบ้านว่า น้ำท่วมสูงสุดแค่ไหน ก็ได้คำตอบ และแบบที่ออกมานั้นก็ดูจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่พบว่า ในรอบ 20 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่งโดยประมาณ เมื่อตามตรวจสอบระดับน้ำที่ท่วมพบว่ามันสูงกว่าที่คนอื่นๆพูดกัน…

ตายหละหว่า…หากอนาคตข้างหน้าครบรอบ 20 ปีที่น้ำจะท่วมใหญ่ อาคารสูบน้ำที่ไม่ใช่ระบบ Floating station มันก็อวสาน บานทะโล่หละซี เท่านั้นเองงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักเอาไปออกแบบใหม่ ยกขึ้นอีก 1 เมตร….??

หลังจากนั้นสองปี น้ำก็ท่วมสูงสุดดังที่ผู้เฒ่าบอกกล่าว หากไม่ยกสูงอีก  1 เมตรก็เรียบร้อย….?

เกือบไปแล้วไหมล่ะ ….!!!???


Entertainment Complex 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 16:04 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4110

ภาพของทุ่งกุลานั้นใครต่อใครก็นึกถึงความแห้งแล้ง ขาดแคลน การอพยพแรงงาน ขาดข้าวกิน ฯลฯ ล้วนเป็นสภาพที่เป็นความด้อย เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ จึงสมควรคิดใหม่ทำใหม่คือเลิกทำการเกษตรซะ เอาไปทำบ่อนกาสิโนสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นแสนๆล้านดีกว่า…..


ต้องยอมรับว่าอดีตนั้นมีสภาพเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่หน่วยงานราชการไทยและ NGO เข้าไปพัฒนามานานมากแล้วเปลี่ยนแปลงสภาพความทุกข์ยากดังกล่าวมาเป็นพื้นที่ทำเงินทำทองให้แก่เกษตรกรทีเดียว

มีสถานีพัฒนาที่ดินที่ กู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนาพื้นที่นี้มานานแล้ว มีโครงการพิเศษที่กู้เงินจากต่างประเทศมาทำงานวิจัยและพัฒนามากมาย รวมทั้งเงินให้เปล่าของประเทศออสเตรเลียจนนำเข้าต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ฮือฮามากที่สุดในสมัยนั้น คือต้นยูคาลิปตัส สายพันธ์ คามาลดูเลซิส (พ่อครูบารู้เรื่องนี้ดีที่สุดท่านหนึ่ง) ผมเองมีส่วนร่วมของโครงการพัฒนาทุ่งกุลาอยู่บ้างในสมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา


กู่พระโกนา ที่ตั้งสถานีพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานแถบนี้หลายต่อหลายโครงการ จนปัจจุบัน จนเกิดค้นพบปราชญ์ชาวบ้านในแถบนั้นก็หลายท่าน มีโครงการของจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดรอบข้างทุ่งกุลา เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ฯ ที่เข้ามาเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาที่อยู่ในขอบเขตจังหวัดของตนกันมานาน

ในทางธรณีวิทยานั้น อีสานเคยมีน้ำทะเลท่วมมาสองครั้ง แต่ละครั้งนานนับล้านๆปี จนน้ำทะเลแห้งตกผลึกเป็นชั้นเกลือ ซ่อนอยู่ใต้ผิวดิน ที่เรียกภูเขาเกลือ หรือ Salt dome มีระยะห่างจากผิวดินแตกต่างกันไป มีอิทธิพลต่อผิวดินแตกต่างกันไปตามระบบธรรมชาติ และการทำกิจกรรมของคนบนผิวดินนั้น จนเกิดการแพร่กระจายของเกลือบนผิวดิน นี่เองที่นักวิชาการดิน (อาว์เปลี่ยนนี่ก็คนหนึ่ง) เข้าใจเรื่องนี้ดี และเกิดตั้งสำนักงานพัฒนาที่ดินที่ทุ่งกุลานี่เพื่อศึกษาค้นคว้าหาทางจัดการอย่างถูกวิธี ทุ่งกุลานั้นอยู่ในแอ่งโคราชของหลักทางธรณีวิทยา เป็นพื้นที่ลุ่มที่สุดของแอ่งนี้ กับแอ่งสกลนครที่มีหนองหาญเป็นพื้นที่ก้นกระทะของแอ่งนี้

ในทางประวัติศาสตร์ทุ่งกุลาคือแหล่งผลิตเกลือมาแต่โบราณกาล ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมและคณะศึกษาเรื่องนี้และทำหนังสือมาแล้ว ใครสนใจหามาอ่านได้ และมีนักศึกษาทำปริญญาโท เอก ก็หลายท่าน

สมัยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทุ่งกุลานั้นจำได้ว่ามีการศึกษาวิจัยกันมาก มีการจัดสัมมนาทางวิชาการก็หลายครั้ง การที่เอาออสเตรเลียมาร่วมทำโครงการเพราะ ออสเตรเลียมีพื้นที่คล้ายๆทุ่งกุลา และสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง จึงเอาประสบการณ์ที่นั่นมาใช้ จึงเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการนำเข้ายูคาลิปตัสหลายสายพันธุ์ รวมทั้ง คามาล ดูเลซิส ยูคาลิบตัสมันเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความเค็มอย่างไร ผมไม่อาจลงรายละเอียดได้ แต่หากท่านขับรถผ่านทุ่งกุลาจะเป็นตามคันนามีแต่ต้นยูคาลิปตัสเต็มไปหมด

ผมจำได้ว่าการศึกษาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดินเค็มนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่นมะขามเทศ และข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งน่าที่จะมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง แต่รัฐส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ดี พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนพันธุ์มาเป็นมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีความหอมมาก คุณภาพดีที่สุด ส่งออกตรงไปต่างประเทศก็มี เช่นที่ยโสธรที่มีกลุ่มเกษตรกรรวมกันผลิตข้าวมะลิอินทรีย์ส่งออก…


ดูเหมือนผมเคยกล่าวไว้บ้างว่า ข้าวมะลิ 105 ของไทยนั้นชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลกขายดี ประชากรโลกชอบและเป็นสินค่าส่งออกอันดับหนึ่งมานาน (แต่ชาวนาก็ไม่รวยสักที ?) มีต่างชาติพยายามที่จะเอาพันธุ์ข้าวมะลิ 105 ไปปลูกเพื่อแข่งกับไทย อย่างที่เรารับทราบที่อเมริกา เรียกข้าวจัสมิน ที่เวียตนาม และแม้ที่ลาว แต่ไปตั้งชื่อใหม่ แล้วก็อ้างสรรพคุณว่าหอมเท่ามะลิ 105 หรือดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า

ผมเคยคุยกับท่าน ผอ.สถานีข้าวที่สกลนครชื่อ “พี่ขี” เข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านเป็นนักวิชาการข้าวทำข้าวมะลิมานานและกล่าวว่า ไม่มีทางที่ต่างประเทศจะผลิตข้าวมาเทียบเท่ามะลิ 105 ของไทย ยกเว้นเทียบเท่า(ซึ่งไมเท่า) หรือปลอมปน หรือสรวมยี่ห้อ ท่านกล่าวว่าให้เอาเมล็ดมะลิ 105 ไปปลูกเถอะ ก็จะไม่ได้คุณสมบัติเท่าที่ผลิตในเมืองไทยแถบทุ่งกุลา หรือพื้นที่ใกล้เคียง ฟังดูเหตุผลคือ เพราะคุณภาพดิน(ที่มีความเค็มนิดหน่อย) และสภาพธรรมชาติบน Longitude และ Latitude ของประเทศไทยเท่านั้น ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ เพียงจำเอาการสนทนามาเล่าสู่กันฟัง

ทุ่งกุลาร้องให้ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมๆมากมาย กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจข้าวชั้นเลิศของประเทศไทย ไหนเลยจะเอาพื้นที่ไปทำบ่อนคาสิโน…

ความคิดชุ่ยๆ…แบบนี้เรียกอะไรดีล่ะ…หือ ท่าน

นี่คือตัวอย่างผู้หลักผู้ใหญ่เมืองไทยที่คิดอะไรไม่ดูรายละเอียดบริบทของพื้นที่นั้นๆ และหาข้อมูลรอบด้านเสียก่อน คิดแล้วไม่ทำก็ให้อภัยกันไป

แต่หากเอาจริงขึ้นมา คงสนุกหละครับ…


ขอไม่ได้แล้ว..

814 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กรกฏาคม 2011 เวลา 18:01 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 11137

ไม่ได้ใช้บริการรถไฟมานาน เมื่อวันก่อนก็ทดลองดูโดยนั่งจากดอนเมืองไปขอนแก่น โอยหอบของพะรุงพะรังจากสนามบินดอนเมืองไปสถานีรถไฟดอนเมือง ฟังดูไม่น่าจะไกล แต่การหอบกระเป๋าสองใบกับ 1 กล่องนั้น หากใกล้ๆและเป็นในอาคารสนามบินก็มีรถเข็นแต่นี่ไม่ใช่ เลยนึกว่า เอาวะยอมเสียเงินจ้างแท๊กซี่จากสนามบินดอนเมืองนั่งอ้อมยูเทอนไปสถานีรถไฟ เสียเท่าไหร่ก็ยอม ปรากฏว่าไม่มีคันไหนยอมไป….เดาเหตุผลได้ครับ..

เห็นที่จะต้องหอบข้ามสะพานลอย เมื่อขึ้นไปข้างบนแล้วก็วางสัมภาระลงพยายามมองหาสถานีรถไฟ มองไม่เห็น ถนนก็มีรถวิ่งเต็มไปหมดไม่มีทางเดินสำหรับคน ข้อมูลที่ได้มาก่อนคือ อุโมงค์ลอยฟ้าที่เชื่อมดอนเมืองนานาชาติกับโรงแรมอัมมารีนั้นเขาปิดตายไปแล้ว เอ ท่าจะต้องทำตามคำแนะนำที่ได้รับมาจากพนักงานเก็บรถเข็นที่สนามบินดอนเมืองคือเดินข้ามสะพานลอยแล้วไปเช่า ‘มอไซด์ เดินลงสะพานลอยด้วยเปะปะ ‘มอไซด์เห็นก็ไม่ทันคุยกันโยกมือขึ้นแล้วเขาก็สตาทรถออกเลย เราก็นั่งหลังด้วยของเต็มหลังและมือสองข้าง อิอิ

โฮ ไกลเอาเรื่องกว่าจะมาถึง นี่หากเดินมาก็เรียบร้อยเลย…

เอาตั๋วที่ซื้อไว้ไปแสดงเป็นรถนอนแอร์ราคา 672 บาท พนักงานบอกว่ารถจะมาสองทุ่มห้าสิบโปรดนั่งคอนทางหัวขบวน…

โอย…เอาหนังสือมานั่งอ่านไปตบยุงไป สังเกตวิถีคนที่นี่ มีคุณยายแก่ๆมานั่งขายมะนาวสองสามกอง มีเจ้าของร้ายขายน้ำนั่งเซ็งๆ นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว แต่งตัวรัดรูปดูแล้วทะมัดทะแมง เดินไปมา มีพนักงานรถไฟเดินมาเก็บเศษขยะไปลงถัง อือ..ดีจริงๆ

สักพักหนึ่งก็มีประกาศทางสถานีมีรถเข้า เดี๋ยวมีรถออก เดี๋ยวมีรถเที่ยวเข้า เที่ยวออก ที่ผ่านไปเฉยๆก็มี ที่จอดแวะก็มีให้คนจากด้านในกรุงเทพฯมาลงที่นี่

สักพักใหญ่ๆก็มีพ่อแม่ลูกสองคน มานั่งข้างๆผม ผมขยับสัมภาระให้เขานั่ง เขายิ้มๆ พักใหญ่ๆได้ยินเขาพูดอีสานก็เดาว่าเป็นชาวอีสานจึงถามว่าจะไปลงไหน เขาบอกว่าจะไปขอนแก่น… อ้าว ไปที่เดียวกัน ก็เลยยิงคำถามเป็นชุดเพื่อกวาดรายละเอียดของคนนี้ ครอบครัวนี้มาเพื่อจะได้รู้จัก เข้าใจเขา

มาเยี่ยมแม่ยายที่อายุมากแล้วไม่สบาย ต้องการกลับไปบ้านที่ อ.น้ำพอง ขอนแก่น แต่ก่อนมาทำงานเป็นช่างแอร์กับญาติที่กรุงเทพฯ โดนไฟดูด สลบไปสามวันเลยเลิกอาชีพนี้กลับไปอยู่กับพ่อที่บ้านทำนาและทำอาชีพช่างไม้ตามพ่อ เรียนรู้ความรู้จากพ่อและพ่อก็เสียชีวิตไปแล้วเมื่อต้นปีจึงรับสืบอาชีพช่างไม้เต็มตัวคู่กับการทำนา การทำช่างไม้นั้นมีคู่แข่งเยอะ ทำที่บ้านไม่ได้ออกไปรับงานต่างจังหวัด เน้นฝีมือที่ละเอียดสวยงาม มิเช่นนั้นแข่งกับเขาไม่ได้

ผมถามว่านาเป็นไงบ้าง เขาปลูกข่าว กข.และมะลิ ปีนี้แล้ง เขาเน้นว่าหากเดือนนี้ฝนไม่ลงมามากเพียงพอคงจะตายหมดหรือไม่ได้ผล

ผมถามต่อว่า ถ้างั้นก็ต้องไปขายแรงงานเอาเงินมาซื้อข้าวซิ เขาพยักหน้า แล้วบอกว่า ต้องหาเงินซื้อข้าวส่งลูกเรียนหนังสือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆในบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ‘มอไซด์ ด้วย หากเกิดปัญหาแบบนี้สมัยก่อนเราก็ไป “ขอ” ข้าว “ขอ” อาหารเพื่อนบ้านกินได้ แต่เดี๋ยวนี้ “ขอ”ไม่ได้แล้ว…

ผมฉุกกึก ตรงคำว่า ขอ ไม่ได้แล้ว ผมถามต่อว่าทำไมขอไม่ได้แล้วล่ะ เขาอธิบายว่า ก็ทุกอย่างในปัจจุบันนั้นเป็นการลงทุน และใช้เงินทองลงทุนทั้งนั้น ทุกคนมุ่งหน้าหาเงินทองกันทั้งนั้น สมัยก่อนมันไม่ใช่อย่างนี้… ตั้งแต่บ้านเมืองพัฒนาไป ก้าวหน้าไปแต่ทำไมการแบ่งปันกันมันแคบลง มีแต่มุ่งหน้าแสวงหาเข้าตัว ….

บางท่านอาจจะคิดว่า การขอนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ควรสนับสนุน เพราะแสดงการจำนนต่อการทำมาหากิน… แต่ผมคิดว่าในอดีตนั้น การขอกันกินนั้นเป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นคนที่เอาแนวคิดพอเพียง หรือการพึ่งตนเองไปให้ชาวบ้านทำ เป็นแบบกลไก คือ ทุกครัวเรือนต้องปลูกข้างอย่างต่ำ 3 ไร่ ทำปุ๋ยชีวภาพ 2 ตัน ปลูกพืชสวนครัว 7 อย่าง อย่างละ 5 ต้น ฯลฯ ผมมาพิจารณาแล้วท่านที่สร้างแนวคิดนี้มีเจตนาดีแต่ ดีไม่พอ เพราะต้องพูดให้จบ อย่าหยุดแต่เพียงสิ่งที่จะต้องทำดังกล่าวเสมือน Indicator วัดฐานการพึ่งตนเอง

เดี๋ยวนี้ทำอะไรก็ต้องมี Indicator ทางวิชาการดูดี แต่ทางปฏิบัตินั้น มันจะไปปลูกอะไรเหมือนกันทั้งหมดทุกบ้านได้อย่างไร เหมือนพิมพ์ออกมาจากเบ้าเดียวกัน แต่ละครอบครัวแตกต่างกันมากมาย มีแต่ที่ปลูกบ้านแล้วจะเอาที่ดินที่ไหนไปปลูกพืชสวนครัว 7 อย่างอย่างละ 5 ต้น สังคมโบราณก็เป็นเช่นนั้น ไม่มีหมู่บ้านไหนที่ทุกครัวเรือนปลูกทุกอย่างเหมือนกันหมด ไม่มีหรอก ก็บ้านนี้มีพริก บ้านนั้นมีมะนาว มะกรูด บ้านโน้นมีกระเพรา ฯลฯ บ้านใครไม่มีอะไร อยากกินก็ไปขอกัน และโดยปกติการขอนั้นคนขอเขาก็ดูแล้วว่า เขามีพืชนั้นๆในปริมาณมากพอที่จะแบ่งให้เราได้จึงออกปากขอ เขาเรียกมารยาททางสังคม เมื่อมีคนขอร้อยทั้งร้อยเจ้าของก็จะบอกให้ บอกอนุญาตให้ แถมยังกำชับว่า ไม่มีก็มาเอาไปนะ ไม่ต้อเกรงใจ คนให้ถือว่าได้บุญ ทำบุญทำทาน จิตใจผ่องใสที่ได้ให้ ผู้ขอก็ระลึกในบุญคุณ ระลึกในความดีที่ถูกมอบให้ ระลึกถึงน้ำใจที่ได้รับ และพร้อมจะตอบแทนในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงบอกกล่าวคนข้างเคียง ลูกหลานว่า ครอบครัวเราได้รับน้ำใจจากครอบครัวนั้นๆ

“การขอและการให้” จึงอยู่คู่สังคมชนบทไทยมาแต่โบราณ เป็นสายสัมพันธ์เชื่อมไมตรีต่อกัน เป็นน้ำใจที่สังคมพุทธหรือสังคมศาสนาใดๆก็พึงปฏิบัติต่อกัน ไม่มีคิดเอากำไร ขาดทุน ไม่ได้คิดธุรกิจ บางที “การให้” มิได้มาจากการขอ แต่มาจากความต้องการแบ่งปัน มาจากจิตใจที่ต้องการการเผื่อแผ่ เช่น พ่อผมทอดแหได้ปลามามาก มากเกินกินในครอบครัว ก็แบ่งให้ญาติ พี่น้องที่ไม่มี ให้ผู้มีพระคุณ รวมไปถึงตั้งใจทำอาหารไปถวายพระ ฯลฯ

การให้ การขอ จึงเป็นวัฒนธรรมที่ควบคู่สังคมชนบท มานานแสนนาน แล้ววันดีคืนดีสังคมเปลี่ยนพอความเจริญเข้ามา มีถนน มีไฟฟ้า มีวิทยุ ทีวี มีความทันสมัย มีสินค้าใหม่ๆเข้ามา มีการประชาสัมพันธ์ให้ใช้สินค้าใหม่ๆ สังคมอยู่ภายใต้ระบบธุรกิจที่ครอบ กรอกหูทุกวันตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับไป ภายใต้ระบบนี้ กระตุ้นให้คนแสวงหามา และเงินคือตัวกลาง…

แน่นอนชายชนบทน้ำพอง ขอนแก่น คนนั้นที่ผมพบเขาที่สถานีรถไฟดอนเมืองจึงกล่าวว่า เดี๋ยวนี้ “ขอกันกินไม่ได้แล้ว”..

  • นี่คือตัวบ่งชี้ส่วนหนึ่งว่าสังคมเปลี่ยนไป
  • นี่คือตัวบ่งชี้ว่าวัฒนธรรมเดิมของเรากำลังจางหายไปกับยุคสมัย
  • นี่คือสัญญาณบ่งบอกถึงการปรับตัวใหม่ของสังคมชาวนา
  • นี่คือตัวบอกว่าการเปลี่ยนแปลงไม่มีใครมาสั่งให้เปลี่ยน มันค่อยๆคืบคลานเข้ามาจนเราเผลอตัวมันก็มาครอบเราจนหมดสิ้น
  • นี่คือตัวบ่งบอกการเข้ามาของสิ่งตรงข้ามด้วยใช่ไหมคือการเห็นแก่ตัว
  • นี่คือยอดภูเขาน้ำแข็งใช่ไหม….ภูเขาแห่งการพังทลายของสังคมชนบท
  • ฯลฯ


ขุนรองปลัดชู..

356 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กรกฏาคม 2011 เวลา 0:54 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 28622

ในฐานะเป็นลูกชาวนาคนวิเศษชัยชาญ ขอแสดงคารวะต่อบรรพบุรุษ ขุนรองปลัดชู (และผู้กล้าท่านอื่นๆอีก) ที่เป็นภาพยนต์กำลังจะฉายให้ผู้สนใจชม เริ่มวันจันทร์ที่ 11 นี้ เวลา 5 ทุ่ม Thai PBS ขออนุญาตนำข้อมูลที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆมาแล้ว บางท่านอาจจะยังไม่ทราบ เลยขอพื้นที่นี้เผยแพร่ แต่จะฉายภาพยนตร์พรีวิว ในรายการไทยเธียเตอร์ ช่อง Thai PBS วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2554 เวลา 22.00 น.

ข้อความต่อไปนี้ผมสำเนามาจาก การย่อความ จาก หนังสือ กองอาทมาท ประกาศศึก (การ์ตูน) โดย คุณพงษ์พัฒน์ เพชรรัตน์ สำนักพิมพ์อาทมาท, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน ๒๕๕๐ ซึ่งปรากฏใน http://www.oknation.net/blog/print.php?id=138161


ใน พ.ศ. ๒๒๙๔ พระเจ้าอลองพญา ขึ้นครองพม่า แล้วก็แผ่พระราชอำนาจ รวบหัวเมืองน้อยใหญ่รวมทั้งมอญ ไว้ได้หมดสิ้น

ครอง ราชย์ 8 ปี ก็ เป็นเวลาที่ กรุงศรีอยุธยา ผลัดแผ่นดิน เป็นพระเจ้าเอกทัศน์ พม่าเห็นว่าไทย อยู่ในช่วงรอยต่อ มีความวุ่นวาย รวมทั้ง ต้องการลองกำลังหยั่งเชิง ซึ่งพอดีมีเหตุ เรือบรรทุกสินค้าของฝรั่ง ที่ค้าขายในเมืองอังวะ ถูกพายุซัดมาทางตะวันออก แวะมาซ่อมเรือที่มะริด ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของตะนาวศรี พม่าก็ขอให้เจ้าเมืองตะนาวศรี ส่งฝรั่ง และ มอญ ที่เป็นกบฏ หนีมา จับตัวส่งไป ทั้งคน และ เรือ ไทยตอบว่า ฝรั่งมาซ่อมเรือ ส่วนจะมีกบฏมอญมาหรือไม่นั้น หาทราบไม่

พม่าก็ถือเป็นโอกาส หาเหตุ ส่ง มังระ ราชบุตรองค์ที่สอง กับ มังฆ้องนรธา คุมกำลัง แปดพันคน มาตีทวาย ซึ่งตอนนั้นกำลังแข็งเมืองอยู่

เขา ว่า สมัยนั้น การข่าวของ อยุธยาผิดพลาด….เจ้าเมืองกาญจนบุรี แจ้งว่าพม่าจะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ พระเจ้าเอกทัศน์ ก็มีรับสั่งให้พระยาอภัยราชมนตรี ยกพลหนึ่งหมื่นไป ดักรอสกัด ที่นั่น และให้พระยาพระคลัง ยกพลอีกหนึ่งหมื่นไป เป็นทัพหนุนที่ ราชบุรี
ต่อมามีข่าวจากเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่า พม่าจะส่งมาทางด่านแม่ละเมาอีกทางหนึ่ง ทางกรุงศรีฯ ก็ส่งทัพไปสกัดอีกเช่นกัน

ด้าน พม่านั้นเมื่อตีทะวายได้แล้ว ก็ต่อมายังมะริด และ ตะนาวศรี เจ้าเมืองจึงได้มีหนังสือมาแจ้งเมืองหลวง แต่ตอนนั้น กำลังพลส่วนใหญ่ได้ใช้ไปรักษาสองด่าน แรกหมดแล้ว จึงเหลือเพียงกำลังเล็กๆ ที่ยกไปรักษามะริด และ ตะนาวศรี
พระเจ้าเอกทัศน์ โปรดให้ พระยายมราช เป็นแม่ทัพคุมกำลัง สามพัน และ พระยารัตนาธิเบศร์คุมทัพหนุน สองพัน

ใน เวลานั้น มีครูฝึกเพลงอาวุธอยู่ในเมืองวิเศษไชยชาญอยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ ครูดาบชู ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ให้เป็น ปลัดเมือง กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ชาวบ้านจึงเรียนว่าขุนรองปลัดชู

เมื่อท่าน ทราบข่าว ว่าพม่ายกมาตีมะริด ตะนาวศรี ท่านก็สละตำแหน่ง ปลัดเมืองทันที แล้วนำชายฉกรรจ์ ที่เป็นลูกศิษย์ประมาณ ๔๐๐ คน เดินทางมายังพระนคร เพื่อทูลขออาสาออกศึกกับพม่า โดยไม่ต้องรอคำสั่งย้าย แต่ประการ

เรามักจะสงสัยกันว่าว่า ทำไมอยุธยาเสียกรุงสองครั้ง
…การข่าวพลาดมั้ง..?

แล้วก็ความเห็นแก่ตัว ของมนุษย์
สมัยนั้นก็มีคนแบบในภาพนี้แหละ ที่ บอกว่า แค่กำลังสี่ร้อยคน จะไปสู้สึก เรือนหมื่น ทัพพม่าแปดพันที่ยกมา มันฝันกลางวัน ในฝันอีกที คือ ไปตามหมู่มากกว่า

ความเห็นแก่ตัวระดับ เล็กๆ ก็ไม่น่ากลัวเท่ากับความเห็นแก่ตัว และเห็นแก่ได้ ของคน
ความ รักชาติระหว่างการเกณฑ์ผู้คนให้ได้ครบนั้น ชาวบ้านต่างมาร่วมใจกันทั้งตำบล แม้กระทั่งคนตาบอด ที่มีวิทยายุทธก็พากันมาสมัคร แต่ระดับขุนพลในกรุงศรี ฯ กลับไปประจบสอพลอขันทีเฒ่า เช้า ตีกอล์ฟ เย็นเข้าผับ แถมแอบเบียดบังตั้งงบเป็นแสนล้านกว่าจะกินกันข้ามภพข้ามชาติ แผ่นดินจะพินาศไม่สนใจ

ทัพพม่ามาเต็มรูปแบบ ทั้งช้าง ม้า ปืนใหญ่ ของเราคนน้อยกว่า ก็ต้องอาศัย ยุทธวิธี หรือ กลยุทธ์บ้าง ไม่ได้จะสู้ตายอย่างเดียว

เช่น

.. ตัดต้นขวาก มีหนามแหลม มากีดขวางทัพข้าศึก ให้ทะลวงผ่านช่องเขาไม่ได้ง่าย

.. กลิ้งตะกร้อ ที่สานด้วยไม้ไผ่กรุด้วย ฟางแห้ง เผาไฟลงใส่ข้าศึก

.. ราดน้ำมันบริเวณช่องเขา พอทหารล่วงเข้ามาก็ใช้ธนูเพลิง ระดมยิงให้ไฟครอกตาย

แล้ววันแห่งการรุกรบก็มาถึง….ในคืนก่อนการศึกนั้น
ท่านขุนรองปลัดชู ปลุกใจ บรรดาเพื่อนร่วมรบว่า


.. ไม่คืนนี้ ก็อาจจะเป็นตอนย่ำรุ่ง ที่กองทัพพม่า จะเดินทางมาถึง
พวกเอ็งเตรียมใจแล้วหรือยัง

เจ้าแช่ม หนึ่งในกองทหาร ตอบว่า
.. เรื่องนั้น พี่ชู มิต้องวิตก คนวิเศษไชยชาญ ทุกคนในที่นี้ ล้วนแล้วแต่กำลังใจดีกันทั้งสิ้น แต่เมื่อช่วงพลบค่ำ ก็มีหลายเสียงที่ยังไม่กระจ่างใจ
ว่าเหตุใด ทับหลวงมิส่งกองหนุนมาสมทบให้เราบ้าง ส่งมาสักกองก็ยังดี หากทัพพม่ามันมาทางนี้ พวกเราสี่ร้อยคน จะรับมือไหวรึ ?

ท่านขุนรอง ตอบว่า
” เอ็งก็คงสงสัยมิใช่น้อยเหมือนกัน แต่ช่างหัวมันปะไร, ใครใคร่เห็นแก่ตัว ก็ปล่อยเขา, บ้านเมืองเรา ยามนี้ มีศึก, มัวหดหัว กลัวเสี่ยงภัย ไร้สำนึก, ต้องผนึก ผนวกใจ ไปต่อกร

ไอ้แช่ม เอ็งดูต้นไม้นี่สิ กว่ามันจะเติบโตขึ้นมาได้ มันก็ต้องอาศัยหลายอย่าง รอบต้นไม้มีทั้งก้อนหิน ก้อนดิน หากมีแต่ก้อนหิน มันคงตาย ต้องมีก้อนดิน เพื่อพยุงให้มันโต ให้รากยึดเกาะได้ แล้วเราไม่อยากเป็นก้อนดินเหล่านี้รึ เป็นก้อนดินที่ยังให้ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้ ยึดเหนี่ยวต่อไป นานๆ เถิด

..เหมือนกับเป็นคนดี ที่ต้องปกป้องรักษาแผ่นดินเกิดของตัวเองไว้จนถึงที่สุด

กองทัพอาทมาท ต่อสู้กับพม่าอย่างถวายชีวิต จนแม่ทัพพม่า ถึงกับออกปากชม เชย
ศัตรูยังนับถือน้ำใจ …. แล้วคนในชาติเดียวกัน ?
รู้สึกอย่างไรล่ะ

ท่านขุนรองปลัดชู มิได้รบจนมุทะลุอย่างเดียว ในเมื่อไม่เป็นไปตามแผนการ กองหนุนก็ไม่มาสักทีกองทหารอ่อนแรงไปมากแล้ว

ก็มีช่วงที่ต้องข่มขู่กันด้วย การเจรจา ข่มขวัญบ้างละ….

แม้ไม่ได้ผลเต็มร้อย หยุดรบบ้างก็ยังมีเวลาหายใจ เพื่อ…จะไปลบจำนวนศัตรูลงให้มากที่สุด อันเป็นเป้าหมายในการศึกคราวนี้

“………แม้จะตายก็ขอตายในหน้าที่
ชีวีนี้ พลีเพื่อชาติ ที่ข้ารัก
แม้ศัตรู รุกเข้ามา จนหน่วงหนัก
ข้าพร้อมพรัก ประจัญบาน สังหารมัน …..”

ในที่สุด กองทัพอาทมาดทั้งสี่ร้อยก็พลีชีพดับดิ้นสิ้นใจด้วยหมดแรงล้า ตายทั้งที่สองมือยังถือดาบมั่น


แต่ปฎิธาน ของท่านขุนรอง ปลัดชู และ เพื่อนร่วมทัพของท่าน คงยังอยู่ ว่า

” ตราบใดที่ลมหายใจยังมี
ชีวิตนี้ กูขออุทิศ เพื่อปกป้อง ผืนแผ่นดิน สยาม

กูจะสู้  แม้ว่าพวกกูน้อย  สู้ไม่ถอย  ถึงแม้ว่าจะดับสลายขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

แผ่นดินนี้  พ่อกูอยู่  ปู่กูตาย  ยอมมลายมิยอมให้ไพรีครอง

…. ใครบ้างเหวยจะยืนสู้เช่นกูบ้าง   ใครบ้างเหวยจะเคียงข้างไทยใจหาญ

ใครบ้างเหวย  จะละสุขสนุกสำราญ  ใครบ้างเหวย  ยอมวายปราณ  เพื่อไทยคง…..

รูปนำมาจาก : http://www.soccersuck.com/soccer/viewtopic.php?t=301923

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลทั้งสองแห่ง

คนท้องถิ่นเรียนรู้เรื่องท้องถิ่นนี้มานาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้มีส่วนสร้างสมจิตวิญญาณลูกหลานมาบ้าง แม้จะปลายแถว ยังมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ที่บ่งบอกถึงสถานการณ์บ้านเมืองในสมัยรบกับพม่า อาจเป็นเพราะเมืองวิเศษชัยชาญเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดกับกรุงศรีอยุธยา จึงมีเรื่องเล่ามากมาย เสียดายที่หลักสูตรในโรงเรียนรุ่นหลังนั้นยกเลิกสิ่งเหล่านี้ไปหมด จิตวิญญาณเพื่อชาติจึงหดหายไปปกป้องอะไรก็ไม่รู้….


กระเป๋าเงินหาย..

803 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 มิถุนายน 2011 เวลา 22:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 13987

ข้อมูลต่อไปนี้เคยเป็นข่าวทางทีวีมาแล้ว แต่ผมเอามาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ความน่าสนใจจึงอยากจะเอามาเขียนถึงอีก

มีการศึกษาเรื่องคุณธรรม ศีลธรรมของคนในสังคม โดยการเอากระเป๋าเงินทิ้งวางไว้ในที่สาธารณะต่างๆ จำนวนเงินก็มากโขประมาณ 2000 บาท ในนั้นมีที่อยู่ มีรูปเจ้าของกระเป๋าและรูปเด็กเล็ก ใครๆดูก็เดาออกว่าเด็กนั้นคือลูกเจ้าของกระเป๋าเงินใบนั้น


(รูปนี้ไม่เกี่ยวกับสาระนะครับ เอามาให้ดูเฉยๆ)

เขาไปทดลองในหลายจังหวัดรวมทั้งที่กรุงเทพฯ ด้วย พบว่า ที่จังหวัดหนึ่งเหนือกรุงเทพฯขึ้นไป มีการเอากระเป๋ามาคืนร้อยละ 60 ที่กรุงเทพฯ ได้คืนร้อยละ 50

การทดสอบนี้ได้ทำในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่ประเทศหนึ่งในยุโรป มีเด็กอายุ 8 ขวบพบกระเป๋าตกที่พื้นพร้อมกับแม่ และทั้งสองคนบอกกันว่าเราไม่ควรเก็บเพราะมันไม่ใช่ของเรา ผู้เป็นแม่อธิบายภายหลังว่า “ดิฉันเติบโตในช่วงที่ครอบครัวตกอับ เงินทุกสตางค์จึงมีค่ามาก” และพ่อกับแม่อบรมเรื่องซื่อสัตย์มาตลอด

ที่อีกประเทศหนึ่งผู้หญิงแต่งกายดีมากจูงมือลูกสาวเดินเล่นอยู่ ทันใดนั้น เธอก้มลงเก็บกระเป๋าที่ทีมงานศึกษาวิจัยนี้ทิ้งไว้ เธอคนนั้นเอาใส่กระเป๋าตัวเองขณะที่ลูกน้อยยืนมองไม่ปริปาก ทีมงานไม่เคยได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย

แม่ค้าขายผลไม้วัยยี่สิบปีในประเทศหนึ่งแถบเอเชียเธอไม่ได้ร่ำรวย เธอคืนกระเป๋าโดยไม่ลังเล เธอกล่าวว่า “ดิฉันเป็นมุสลิม จึงรู้จักวิธีควบคุมจิตใจอย่างดี เวลาเผชิญหน้ากับสิ่งยั่วยวน” เธอกล่าว

ชายคนหนึ่งอพยพสงครามและไปเป็นลูกจ้างในร้านอาหารแห่งหนึ่งเอากระเป๋ามาคืน เขากล่าวว่า “ผมทำงานหนักมานาน รู้ดีว่ากว่าจะได้เงินจำนวนนี้มันเหนื่อยแค่ไหน” นักศึกษาคนหนึ่งทำงานสามแห่งเพื่อแลกกับเงินค่าเล่าเรียนและที่พัก ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธออธิบายว่า “เงินจำนวนนี้ช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆได้แน่นอน แต่พอเห็นรูปเด็กในกระเป๋านั้นเปลี่ยนใจเพราะคิดว่ามีคนที่ต้องการใช้เงินก้อนนี้มากกว่าเธอ เธอจึงนำกระเป๋าไปคืน”…..


การศึกษาครั้งนี้สรุปว่า

  • การอบรมบ่มเพาะตั้งแต่ครอบครัวมีผลมากต่ออุปนิสัยของเด็กคนนั้นเมื่อเติบโตขึ้น
  • ความศรัทธาในศาสนา ความเชื่อมั่นในหลักการศาสนา มีพลังมากในการกำหนดความคิด สำนึกแห่งการทำความดี ซื่อสัตย์
  • การเผชิญความทุกข์ยากมาก่อน แล้วมีความตระหนัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำให้มีสติในการกระทำความดี ความเหมาะสม

ผมมีความเชื่อมั่นตามผลการศึกษาครั้งนั้น(ศึกษาเมื่อประมาณ 2544) แม้ว่าหลักการดังกล่าวมาทั้งหมดนั้นจะไม่ใช่เหตุผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นสาระหลักของการหลอมเด็ก คนให้เติบโตมาอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม เนื้อแท้ก็คือวัฒนธรรมของครอบครัว วัฒนธรรมความเชื่อความศรัทธา และการเห็นอกเห็นใจ มันเป็นทุนทางสังคมเดิมๆของเรา

ผมคิดว่าระบบการศึกษา หรือครูก็คงมีความเห็นสอดคล้องกับสิ่งดังกล่าวแต่การนำหลักการสู่หลักสูตรและการปฏิบัติในชีวิตจริงในห้องเรียนนั้น ถูกปรับ สอดแทรก ฯลฯ เข้ามาในการเรียนการสอนในทุกวิชามากน้อยแค่ไหน ครูก็บอกว่า ครอบครัวต้องช่วย พ่อแม่ก็บอกว่า โรงเรียนต้องสร้างเด็ก

ข่าวหลังๆมานี้เจ็บปวดกับที่ว่า งบประมาณการศึกษาไทยมากที่สุดในโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ถดถอยอย่างหนัก

ใครมาเชิญผมเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการผมก็ทำอะไรไม่ได้หรอกครับ สู้ผมสร้างในครอบครัวและสังคมเล็กๆของผมดีกว่า เริ่มจากที่นี่ก่อนดีกว่าผมว่านะ แต่ที่นักการเมืองมาพ่นออกอากาศกันโครมๆนั่นน่ะ ฟังแล้วเศร้าจริงๆ ล่องลอยอยู่บนฟองน้ำลายกันมากกว่า….

อ้าวไปจบลงตรงนี้ได้ไง ..หุหุ..


ผมไม่ต้องซื้อข้าวกิน

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มิถุนายน 2011 เวลา 13:24 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2758

กินแกลบหรือไงถึงไม่ซื้อข้าวกิน หรือไปแอบทำนาที่ไหนมาเหมือนดาราในทีวี หรือคนดังๆหลายคนที่เป็นไฮโซ ลูกคนรวยลงไปทำนาจนหน้าขึ้นฝ้าแล้ว ก็ไม่ใช่

ไม่ใช่มาคุย แต่อยากเล่าให้ฟังว่านี่คือปรากฏการณ์ที่ผมได้รับจากการทำงานและการดำรงวิถีแบบวัฒนธรรมเดิมๆของไทย แล้วได้ผลตอบรับมาแบบไม่น่าเชื่อ..ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังมาก่อน

เรื่องแรก เคยเล่าบางช่วงบางตอนมาบ้างแล้ว คือ ผมอยู่กินกับภรรยาผมมานานตั้งแต่ก่อนเธอไปเรียนที่เยอรมันและเนเทอร์แลนด์ พอกลับมาและทำงานเป็นอาจารย์ที่ มข. ผมก็ทำงานเป็น NGO และเข้าสังกัดบริษัทที่ปรึกษา ก็วนเวียนทำงานในอีสานมาตลอด เมื่อผมมีลูกสาวคุณแม่ภรรยาผมก็ขออาสามาเลี้ยงหลาน และประกาศว่าขอเลี้ยงเป็นคนสุดท้ายเพราะเลี้ยงมา 14 คนแล้ว อิอิ อิอิ แล้วอายุท่านก็มากแล้ว

ภรรยาผมเป็นคนสุดท้อง คุณแม่จึงหวังฝากผีฝากไข้ไว้ด้วย พอดีท่านเป็นหอบหืด การอยู่อีสานดีกว่าอยู่กรุงเทพและตรังบ้านเกิดท่าน ที่ขอนแก่นมีโรงพยาบาล ใกล้หมอ เราเองก็รู้จักคุณหมอหลายท่าน จึงให้คุณแม่เป็นคนไข้ประจำของคุณหมอรุ่นน้องผม ก็เป็นคนไข้มามากกว่า 20 ปี

ยามที่ท่านแก่หง่อม และเรี่ยวแรงไม่มี เราเองสองคนก็ออกไปทำงานและเป็นงานที่ตระเวนไปทั่ว จึงไปหาคนดูแลผู้สูงอายุ ที่ขอนแก่นมีสถาบันที่ฝึกคนบริการด้านนี้ โดยใครผ่านที่นี่ก็ประกันรายได้ไม่ต่ำกว่า 5000 บาทต่อเดือน เราก็ได้มาดูแลแม่ แต่แล้วก็เปลี่ยนคนใหม่เป็นคนที่ 6 ถ้าจำไม่ผิด เราได้เด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งของขอนแก่น เธอเป็นเด็กชาวนาบ้านนอก อยากเรียนหนังสือ และหางานทำ แต่พ่อแม่ไม่มีเงินจึงมาหาเงินเอง จึงมารับจ้างดูแลผู้สูงอายุเก็บหอมรอมริบไปเป็นค่าเล่าเรียนค่าใช้จ่าย แบบประหยัดสุดๆ ไม่เคยเที่ยวเตร่เหมือนวัยรุ่นคนอื่น ไม่เคยเดินทาออกจากจังหวัดขอนแก่น โลกเธอแคบมาก หน้าตาก็ล๊าวลาว แต่นิสัยดีมากๆ

เราก็ดูแลเธอเหมือนลูกหลาน กินพร้อมกัน เหมือนกัน ที่ห้องมีแอร์ให้แม่เธอก็นอนในห้องกับแม่ ขาดเกินเรื่องการเรียนอะไรเราก็ช่วยเหลือ ต่อมาเธอเรียนหนัก แม่ก็ต้องการคนดูแลมากขึ้นทั้งกลางวันกลางคืน เธอจึงชวนน้องสาวมาช่วยงานอีกแรง เราก็ยินดี แบ่งกันคนหนึ่งดูแลแม่กลางวันอีกคนดูแลกลางคืน ทำทุกอย่างให้คุณยาย ซึ่งเราก็ฝึกอบรมเธอ ยามบางครั้งคุณแม่ต้องไปนอนโรงพยาบาล เธอทั้งสองก็ไปนอนเป็นเพื่อน และถือโอกาสให้คุณพยาบาลช่วยแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยแบบนี้เพิ่มเติม ซึ่งก็ทำได้ดีมาก

คุณแม่ป่วยอยู่ 7 ปีนอนบนเตียงตลอด เธอสองคนก็ดูแลมาตลอดจนวาระสุดท้ายเธอก็นอนข้างเตียงคุณแม่ก่อนจะสิ้นลม คนพี่เรียนจบ และออกไปแต่งงานกับหนุ่มที่บ้านเราก็ฝากงานหนุ่มคนนั้นให้เข้าทำงานที่โรงงานผลิตกระดาษที่น้ำพอง เพราะผมมีเพื่อนรักเป็นกรรมการผู้จัดการที่นั่น ส่วนน้องสาวยังเรียนไม่จบเราก็ส่งเสียเรียนจนจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย และกินนอนที่บ้านตลอด ก็อยู่ห้องคุณแม่นั้นตลอด เราดูแลเหมือนลูกสาวอีกคนหนึ่งเพราะอยากตอบแทนเธอที่ช่วยดูแลคุณแม่เป็นอย่างดีมาตลอด พี่สาวคนที่เรียนจบไปก่อนตัดสินในกลับบ้านไปทำไร่ทำสวนกับสามีที่ยังทำงานกินเงินเดือนบริษัทผลิตกระดาษ เพราะอยู่ติดบ้านจึงมีเวลาช่วยเหลือกัน

คนน้องสาวเรียนจบได้งานทำในขอนแก่นก็พักอยู่ที่บ้านฟรี ตลอด เพราะคิดว่าเธอคือลูกสาวเราอีกคน

แต่ทุกฤดูกาล พี่สาวของเธอจะเอาผลหมากรากไม้ที่เธอผลิตเองได้เอามาฝากเราตลอดทั้งปี จนบ่อยครั้งเรากินไม่หมด ก็แจกให้คนใช้บ้างเพื่อนบ้านข้างๆบ้างแบ่งไป หนึ่งในของฝากประจำที่บ้านผมได้ คือ ข้าว…

เรื่องที่สอง สมัยที่ผมทำงานกับอาว์เปลี่ยนที่ดงหลวง มุกดาหาร มีพนักงานขับรถคนหนึ่งทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย เรารู้ใจกัน เพราะต่างก็ทำงานกันมานานเข้าใจ และเอื้ออาทร กันมาตลอด ช่วงทำนาก็ให้หยุดขับรถไปทำนาให้เต็มที่ เสร็จนาก็มาขับรถต่อ หรือวันไหน พ่อแม่ ลูกเต้าไม่สบายอยากจะกลับไปดูแลก็ไปได้เลย ไม่ว่ากัน

เรามีงานทดลองวิจัยเล็กๆเรื่องการใช้สารหรือวัสดุต่างๆทดสอบสระน้ำรั่วซึม เราก็ใช้สระน้ำในสวนของเขาเป็นสถานที่ทดลองศึกษา ความรู้ต่างๆที่เราเอาให้ชาวบ้าน คนขับรถคนนี้ก็นั่งฟังมาตลอด โดยเฉพาะ อาว์เปลี่ยนไปส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และฯลฯ คนขับรถคนนี้ก็แอบเอาความรู้ไปทดลองใช้ในแปลงนาแปลงสวนของตัวเองจนได้ผลกับตา

หลายปีผ่านมาพี่ชายเขาโดนยิงตายกลางสวน สาเหตุทราบว่ากลุ่มคนค้ายาเสพติดเป็นผู้ฆ่าโดยสมมติฐานว่าผู้ตายเป็นสายตำรวจ ซึ่งไม่ใช่ คดีท่าทางจะล้มเหลวเพราะมีอิทธิพลใหญ่ขวางคดี ผมทราบจึงไปหารุ่นน้อง มช.ที่เป็นนายตำรวจที่กองเมืองมุกดาหารเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง นายตำรวจใหญ่ท่านนั้นก็รับปากจะจัดการให้ และไม่นานก็สามารถจับคนร้ายได้และสาวไปถึงอีกหลายคน และต่อมากลุ่มค้ายาเสพติดเหล่านี้ก็เสียชีวิตหมด เราไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นเพราะวิสามัญ หรือคนของกลุ่มค้ายามาเก็บเองก็ไม่อาจทราบได้…

ยามที่ปิดโครงการสมบัติของสำนักงานก็แบ่งให้ลูกน้องทั้งหมด คนขับรถได้มากที่สุดเพราะอยู่มานานและกลุ่มลูกน้องตกลงกันเอง

แม้ว่าโครงการจะจบไปนานแล้วคนขับรถก็เอาข้าวที่เขาปลูกเองเป็นข้าวอินทรีย์มาให้ผมทุกฤดูกาลผลิต ให้เงินก็ไม่เอา บอกไม่ต้องเอามาก็ไม่ฟัง เขาบอกว่า ถ้าอาว์เปลี่ยนอยู่เมืองไทยมีครอบครัวก็จะเอาข้าวไปให้กินเช่นกัน…

ผมจึงไม่ได้ซื้อข้าวกินเลย…

หากว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ ผมก็ว่าเป็นมุมของการเอื้ออาทรกัน แบ่งปันกัน ช่วยเหลือสนับสนุนกันตามวาระ โอกาส เงื่อนไขที่มีอยู่ เราซาบซึ้งในน้ำใจของน้องๆเหล่านั้น แน่นอนความสัมพันธ์ของเรามีแต่ดีกับดี ตลอดไป บ้านผมเปิดกว้างสำหรับเธอเหล่านั้น หรืออดีตคนขับรถของผมจะมาพักนอนด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ตลอดเวลา…


การส่งต่อทางวัฒนธรรม

781 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 มิถุนายน 2011 เวลา 20:36 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 18129

(บันทึกผมไม่เป็นชิ้นเป็นอัน พยายามจะทำ แต่เรื่องราวส่วนตัวยังไม่ลงตัวครับ. คอมเกิดมาติดไวรัส TROJAN SPM/LX เข้าอีก หุหุ..)

บันทึกนี้เขียนตอนทำศพแม่ ยังไม่ได้ post เลยเอามาขัดจังหวะไปก่อน

ผมนึกถึงพ่อครูบาที่กล่าวว่า เราต้องทำงานบนความไม่พร้อม..

ความจริงวัดช้างนั้นโอ่อ่ามาก เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ท่านเจ้าอาวาสท่านเป็นพระพัฒนาในแบบฉบับของท่าน บ้านศาลาดินนั้นเป็นหมู่บ้านใหญ่ จำนวนครัวเรือนมากกว่า 500 ครัวเรือน วัดพัฒนาตัวอย่างแห่งนี้มีส้วมตั้งหน้าวัด โอ่อ่าเสีย….พูดไม่ออก เพราะเป็นวัดที่ยังไม่มีห้องครัว แต่ส้วมสวยสะอาด โอ้อ่าซะ… (ไม่เชื่อถามพ่อครูบา จอมป่วน และน้องครูปู)

การทำครัวในงานศพจึงใช้ระเบียงศาลาที่ตั้งศพนั่นแหละ


ทั้งข้าวปลาอาหาร ขนม นม เนย ถูกผลิตจากตรงนี้ ใช้ “ฝีมือ” หรือชาวบ้านเรียก “สีมือ” ทั้งพระทั้งแขกอาศัยท้องจากมุมนี้ ชาวบ้านจะมีชุดแม่ครัวประจำ เป็นที่รู้กันในระแวกนี้ว่า งานศพ งานอะไรจะหาคนทำอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงแขกละก็ ติดต่อได้ ไม่ผิดหวัง แม่ครัวที่หลายรุ่นผสมผสานกัน แน่นอนต้องมีมือเด็ดๆในอาหารชนิดนั้นๆ เช่นน้ำพริกต้องแม่จำเนียร ต้มมะระต้องแม่สวง ขนมทองหยิบทองหยอดฝอยทองต้องแม่สาหร่าย


ผมแอบเฝ้ามองทีมงานทำงาน ระหว่างทำต่างก็คุยกันในเรื่องสารพัด แต่ทุกช่วงก็จะวกมาที่ขนม หรืออาหารที่กำลังช่วยกันปรุงอยู่นี่ ต่างคุยกันว่า ต้องนั่นลงกระทะก่อน นี่ลงหลัง นั่นปิดฝาหม้อ นี่ปิดฝาหม้อไม่ได้ เอาไฟอ่อนๆ หรือเร่งไฟหน่อย..ฯลฯ.. เรื่องราวที่คุยกันนั้นก็จะมีการหยอกล้อ มีแหย่ พูดเล่นพูดจริงให้ครึกครื้น แม้จะเป็นงานศพ


ผมประทับใจมาก และแฝงความเป็นห่วง ที่ประทับใจเพราะเทคนิค เคล็ดลับ หรือจะเรียกกลเม็ดการทำขนมฝอยทอง ทองหยอดนั้นทำอย่างไร แม้ว่าเครื่องไม้เครื่องมือจะไม่ครบถ้วนตามสูตรโบราณ ภายใต้ข้อจำกัดอย่างที่พ่อครูกล่าว แม่ครัวก็ทำผลิตผลงานติดปากแขกเหรื่อกันทั้งนั้น โดยเฉพาะผมเห็นคนต่างวัยเข้ามาช่วยทำ มาเสริม และเรียนรู้เทคนิคต่างๆไปโดยไม่ได้สอน เรียนโดยไม่เรียน สอนโดยไม่สอน แต่สาวรุ่นท่านนั้นได้ไปเต็มๆ

“นี่คือการส่งต่อทางวัฒนธรรม” ด้านอาหาร เคล็ดลับ หากจะพูดในภาษาสมัยใหม่ก็ว่า กระบวนการ ขั้นตอน เทคนิค ครบถ้วน ผมอยากเห็นเด็กสาวรุ่นใหม่เข้ามานั่งตรงนี้บ้าง

สายป่านทางวัฒนธรรมจะขาดหายไปเพราะยุคสมัยใหม่ เพราะมัวไปแข่งขันกันทำงานหาเงินไปซื้อกิน

งานวัดบ้านนอกก็มีคุณค่าซ่อนอยู่ให้เห็น


จากสีวร ถึงสีน้ำและเสียงเพลง

317 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มีนาคม 2011 เวลา 20:44 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 7569

ผมแอบชื่นชม พ่อหวังและอีกหลายๆพ่อในชนบทที่เขามีวิธีการสอนคนแบบดั้งเดิม แบบบุพกาล อะไรทำนองนั้น ไม่มีหลักวิชา ที่สมัยใหม่ต้องเข้าไปเรียนวิชาสร้างคน(ครู)กันในห้องเรียน แต่ออกมาสร้างใครไม่เป็นจริงๆ ตรงข้ามบางคนกลับไปทำลายซะอีก


ครูดีดีมีเยอะนะครับ อย่าคิดว่าตีขลุมไปหมด ที่ผมกล่าวเช่นนั้นเพราะว่า ผมไปพบชาวบ้านคนหนึ่งที่เหมือนกับเด็กหนุ่มอีสานทั่วไป ที่โตขึ้นมาจากป่าเขาก็อยากเข้าเมือง ความรู้ก็แค่ ป.4 แล้วจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร มีอย่างเดียวคือแรงงาน สีวร ไม่ใช่สีเหลืองสีแดง แต่เป็น “สีวร” ชื่อเด็กหนุ่มดงหลวงคนนี้ ตะลอนไปหางานทำทั่วไปหมด ที่ไหนมีการจ้างก็ทำไม่เลือกหนักเบา …

ในที่สุดพบว่า เงินที่ได้จากค่าจ้างแค่ซื้อปลาทูกินเท่านั้น หลายปีเข้า ก็เหมือนเดิม สีวรทบทวนชีวิตตัวเองแล้วก็หันหลังให้กับสังคมเมืองเดินกลับบ้านป่า กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ทำนาทำไร่ และมีครอบครัวเหมือนหนุ่มทั่วไป แต่ลึกๆสีวรดิ้นรนจากสภาพเดิมๆ แต่ไม่รู้จะทำอะไร แล้วสีวรก็เดินชีวิตเฉียดข้าไปที่ยาเสพติด…

พ่อหวังเป็นชาวโซ่ ธรรมดาคนหนึ่งแต่ผ่านการปรุงชีวิตจากป่า จากงานพัฒนาของเครือข่ายอินแปง ที่เอาชีวิตมาปอกกันเป็นรายคน ว่าตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร แล้วจะเดินไปทางไหนกัน การเข้าค่ายปอกเปลือกชีวิตครั้งนั้นทำให้ผู้นำไทบรูจำนวนมาก ตกผลึกกับชีวิต…เขาเหล่านั้นเดินกลับบ้านด้วยความหวังของการสร้างครอบครัวแบบพึ่งตัวเอง..

พ่อหวังกลับมาเห็นสีวร ซึ่งเป็นเหมือนลูกหลาน เห็นมาตั้งแต่เด็ก จนโตรู้นิสัยใจคอ รู้หัวนอนปลายตีนดี เห็นแววการดิ้นรนแต่ไม่มีทางออก ไม่มีทางไป และเดินเฉียดยาเสพติดเข้าไปทุกที พ่อหวังเห็นว่าเด็กคนนี้จะเสียคนแน่จึงชวนมาอยู่บ้านสวน มากินมานอนมาคุยกันมาทำงานทำนาทำสวนนี่แหละ แต่ทำไปด้วยคุยไปด้วย พ่อหวังที่ผ่านโลกมาก่อน ผ่านการใช้ชีวิตในป่า ต่อสู้กับรัฐบาลมาก่อน แล้วก็ออกมาสร้าวครอบครัวใหม่ด้วยแนวทางเกษตรผสมผสาน พออยู่พอกิน พอประมาณ

สองปีที่สีวรใช้ชีวิตกับพ่อหวัง ไปๆ-มาๆระหว่างบ้านตัวเองกับบ้านพ่อหวัง ความรักที่พ่อหวังให้แก่สีวร การสั่งสอนแบบไม่สอนคือทำไปด้วยกัน ใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยน และคลุกวงในของชีวิตกันและกัน สองปีนั้นสีวรอิ่มเอมกับมิติใหม่กับชีวิต เขากราบลาพ่อหวังพาครอบครัวลูกน้อยไปสร้างบ้านสวนขึ้นมาด้วยมือเขาเอง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ แรงงานที่เคยรับจ้างเขา แต่คราวนี้ แรงงานทุกหยาดหยด มันคือสิ่งที่เขาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สีวรบอกว่า ผมเรียนชีวิตจากพ่อหวังจากงานพัฒนา จาการพูดคุยแลกเปลี่ยน จาการดูพ่อๆทั้งหลายที่สร้างชีวิตมาก่อนผม ผมเข้าใจแล้วว่าผมควรจะทำอะไร ทุกวันนี้ภรรยาสีวรมีความสุขกับการเก็บผักต่างๆในสวนไปขายที่ตลาดมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 2-3 ร้อยบาท


เมื่อผมเข้ามาสัมผัส Hug school ฟังคุณครูทั้งหลายปอกเปลือกตัวเองให้ฟังแม้ว่าจะเป็นเสี้ยวส่วนก็ตาม ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวว่า เขามีความสุขมากที่ทำงานที่นี่ เข้าใจได้ไม่ยากเลยที่ผู้บริหารโรงเรียนเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน แต่มีความเหมือนกันที่ทุกคนรักดนตรี อาจจะเลยไปถึงรักมากที่สุดด้วย รักศิลปะ และช่างดีเสียนี่กระไรที่คุณพ่อก็เป็นคนที่รักดนตรี รักอิสระ และสร้างสรรค์

Hug school ต่างจากโรงเรียนในวิถีชีวิตพ่อหวังที่หลอมสีวรขึ้นมาเป็นผู้คนได้ มันต่างกันสุดหล้าฟ้าเขียว แต่มีสิ่งที่เหมือนกัน ที่เป็นแก่นลึกข้างในของพื้นฐานการสร้างคนคือ “ความรัก” ที่มนุษย์พึงมีต่อกันเพื่อเสริมสร้างให้แก่กัน

ความรักนี้ช่างยิ่งใหญ่จริงๆ ความรักมันสร้างโลกได้จริงๆ ในสังคมเรามีแม่พระ พ่อพระเช่นนี้มากมายที่เราผ่านพบบ่อยๆ

แต่ในระบบการเรียนในห้องของเรานั้นที่มีกระทรวงศึกษาเป็น Manager ใหญ่นั้น ความรักมันไปซ่อนซุกอยู่ตรงไหน หรือมันระเหยระเหิดไปหมดสิ้นนานแล้ว มีแต่หว่านคำพูดหรูๆ สร้างเกณฑ์ประเมินกันหน้าดำคร่ำเครียด


ถามว่าเมื่อพ่อหวังสร้างสีวรมาด้วยความรักความเป็นลูกหลานในหมู่บ้านเดียวกัน และประสพผลสำเร็จเช่นนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นในสายสัมพันธ์ของคนทั้งสอง ครอบครัวทั้งสอง และทัศนคติที่เขามีต่อเพื่อนร่วมหมู่บ้าน….

นี่คือทุนทางสังคมที่ดีงาม หมดจรด ทุกอย่างมันก็ตามมา ความเอื้ออาทรต่อกันและกันลามออกไปถึงผู้อื่นที่สีวรทำกับผู้อื่น มองกับผู้อื่น

หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่บ้าน คนสองคนจะไล่ฆ่าแกงกันไหม มีแต่จะยื่นมือมาจับต้องและนั่งลงคุยกันฉันท์พี่น้อง และอภัยให้แก่กัน

ผมคิดว่า Hug school กำลังทำงานที่ยิ่งใหญ่ เหมือนที่มงคลวิทยากำลังสร้างอยู่ เหมือน ดร.อาจองยื่นสองมือไปโอบกอดเด็กสัตยาไส เหมือนลูกหลานที่มีแต่ความหวังดีมอบให้ เหมือนกับพ่อแม่มีต่อลูก…

Hug school ใช้ศิลปะแขนงต่างๆเป็นสื่อกลางที่กล่อมเกลาด้านในของตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง สีน้ำ…..ฯลฯ ชื่นชมคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ครับ

ความรักสร้างคน สร้างสังคม สร้างโลก

เรามารักกันเถอะครับ…


สำนึกสาธารณะ

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 ธันวาคม 2010 เวลา 12:23 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 1501

เมื่อวานผมนั่งคุยกับเพื่อนบ้าน เราจูงมือกันมาซื้อบ้านพักในหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อนเป็นแคธอลิค ที่เคร่งครัดคนหนึ่ง เกือบบวชเป็นพระไปแล้ว ไปเจอสาวงามริมโขงเข้าเลย ไม่ได้บวช แต่ก็ทำตัวเหมือนนักบวชที่มีพระคัมภีร์ในหัวใจ

ในหมู่บ้านที่พักอาศัยขึ้นชื่อลือชาว่าเพื่อนเป็นนักธรรมชาติวิทยา ไม่ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เลี้ยงน้องหมาหลายตัว แต่ก็ดูแลอย่างดี ยามที่เขาออกไปถ่ายมูลหน้าบ้านใครก็จะเดินไปเก็บกวาดไม่ให้เพื่อนบ้านหมองใจ วันดีคืนดีก็เอาขวดน้ำมาตัดปาก แล้วเอาไปผูกโคนต้นไม้ เอาน้ำใส่เข้าไป บอกว่า ให้น้ำแก่มด หรือนกหนูทั้งหลายที่อาศัยบริเวณบ้าน


ต้นไม้ที่ใหญ่โตใบล่วงลงดินก็เอาไปกองไว้ริมรั้วเต็มไปหมด ไม่ได้เก็บใส่ถุงดำเอาไปทิ้ง หรือเอาไปทำปุ๋ยหมัก คงปล่อยให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ย่อยสลายเอง แต่กลายเป็นที่อยู่ของหนูจำนวนมาก เพื่อนก็เอาสะพานไปหาดหลังคาบ้านสองหลังเข้าด้วยกัน อธิบายว่า ให้แมวที่บ้านสองสามตัวเดินไปมาได้…ฯลฯ เรื่องที่ชาวบ้านคนอื่นเขาไม่ทำกัน เพื่อนทำ

เพื่อนเป็นผู้มีความรู้ดี การศึกษา จบ ป โทที่ AIT แต่มานั่งรับงานแปลที่บ้าน และ Job ต่างๆแบบFreelance ไม่ทำงานประจำ ช่วยเหลือมูลนิธิสมาคมต่างๆแบบไม่เอาค่าตอบแทน มีมูลนิธิหนึ่งมาเชิญไปเป็นที่ปรึกษา เขียนโครงการไปขอทุนจากฝรั่งเศส เขาอนุมัติมาสองล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อนก็คืนเงินเฉยเลย หากให้ต้องไม่มีเงื่อนไข แหมช่างเหมือนพ่อชาดีแห่งดงหลวงเสียจริง ฝรั่งงอนง้อเท่าไหร่ก็บอกว่า ต้องไม่มีเงื่อนไข จนฝรั่งบินมาดูตัว เพื่อนก็ยืนยันเช่นเดิม


NGO มีงานนานาชาติที่ไหนก็มักเชิญไปเป็นล่ามแปลให้ เพื่อนก็ไปมาทั่วแล้ว หากมีเวลาผมก็มักไปขอแลกเปลี่ยนความเห็น และมักจะได้มุมมองที่ดีดีเสมอ

วันก่อนผมก็ไปแลกเปลี่ยนกันในสารพัดเรื่อง มีประเด็นที่ผมติดใจและอยากฟังความเห็นเขาคือเรื่องการเคลื่อนตัวของสังคมที่มุ่งเน้นธุรกิจ และความรู้ เทคโนโลยี และสำนึกสาธารณะเราต่างเห็นด้วยเรื่องที่ว่า บ้านเมืองเราเน้นความรู้มาก จากการแข่งขันความรู้ต่างๆแม้ระดับโลก เช่น โอลิมปิค และเด็กของเราก็ได้เหรียญทองมามากมาย แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศตกต่ำลง ที่สำคัญ เรามีความรู้ดี แต่ความประพฤติไม่ดี สังคมเราเน้นความรู้มานาน แต่อ่อนด้อยสำนึกดี เลยคิดกันว่า เราอาจต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ ต้องเน้น “กระบวนการสร้างสำนึกดี” กระบวนการนี้จะหมายรวมไปถึงนอกโรงเรียนด้วย และไม่เฉพาะเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ทั้งสังคม


หลายครั้งผมเห็นคนขี่มอเตอร์ไซด์ขับผ่าไฟแดงไป บ่อยมากๆ ไม่ว่าเมืองไหน จังหวัดไหน มีทั้งนั้น ผมหงุดหงิดใจ ผมมองว่านั่นคือสำนึก มันเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับบางคนที่คิด แต่ผมคิดว่า มันสะสม และจะกระทำสิ่งที่รุนแรง เสียหายมากกว่านี้ได้ในอนาคต

มีไหมสถาบันการศึกษาที่สร้างสำนึกเป็นเป้าหมายใหญ่ เคียงคู่กับการสร้างความรู้

ระบบการวัดผลเรามีการประเมินเรื่องสำนึกมากน้อยแค่ไหน น่าจะมีอยู่แต่การให้ความสำคัญอาจจะเป็นรองความรู้

สำนึกที่กล่าวถึงนี้ เป็นสำนึกที่ดีนะครับ..

ไม่ใช่เพื่อนโดนทำร้ายก็เกิดสำนึกเอาระเบิดไปขว้างใส่คู่อริบนรถเมล์กลางมหานคร ?


มัดหมี่พระเวสสันดร

741 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 ตุลาคม 2010 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 32273

คนรักผ้าเห็นมัดหมี่ไหมผืนนี้แล้วก็กรี๊ด…

ชาวบ้านที่มีสมองซับซ้อนสามารถมัดหมี่ไม่รู้ว่าสมองต้องวางแผนกี่สิบชั้นผลิตมัดหมี่ที่เป็นเรื่องราวพระเวสสันดรได้ แม้ว่าลวดลายบางส่วนอาจจะไม่คมกริบ ยังมีขาด เกินบ้าง แต่โดยรวมแล้วนับว่าสุดยอด

วันนี้พาคุณตุ๊ไปดู OTOP ที่ชายแดนโคราช-ขอนแก่น ไม่น่าเชื่อว่า ชาวบ้านจะพัฒนาไปไกลถึงระดับที่ได้ “มาตรฐานนกยูง” ของสมเด็จท่าน กล่าวกันว่า OTOP จำนวน 1000 แห่งนั้นที่จะได้มาตรฐานนกยูงนั้นมีไม่ถึง 10 แห่ง

ราคาหรือครับ ห้าหลักขึ้นไปครับ

แอบภูมิใจภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมจนพัฒนาไปไกลมากทีเดียว


ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 15:12 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2658

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่ เรากะว่าทิ้งเวลาไว้ให้เราทบทวนข้อมูลที่ได้แล้วจะกลับมาสอบถามเพิ่มเติม แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุดแต่ก็เห็นภาพที่ชัดเจน เราทดลองเอาข้อมูลมาจัดหมวดหมู่โดยใช้ Mind map ก็ได้แผนภาพดังกล่าวนี้

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ

เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนครับเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด ในแต่ละครอบครัว เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ถ้วน ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เมื่อมีเวลาเราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่…

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ
  • การเกษตร ปลูกข้าวเหนียวไร่พันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งปัจจุบันหายสูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว
  • การปลูกพืชผักนั้นผสมผสานอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับแปลงปลูกข้าวซึ่งล้อมรั้วกันวัวควายเข้ามากิน
  • ศัตรูที่สำคัญของข้าว พืชผักคือ สัตว์ป่า เช่น หมูป่า นก ลิง โรคแมลงไม่มี
  • สภาพดินอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่ ดินร่วนซุย
  • ไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ ใช้แรงงานเท่านั้น
  • นับถือผี ปู่ตา พระที่วัด
  • ประเพณีที่สำคัญคือ 3 ค่ำเดือน 3
  • ไม่มีค่านิยมเชิงบริโภคเช่นปัจจุบัน


อิอิ ของแม่สาคร

376 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2010 เวลา 0:23 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5484

หลายปีก่อนพ่อไม่ค่อยสบาย น้องสาวพาไปกราบหลวงพ่อโต พรหมรังสี วัดไชโย ที่อ่างทอง ที่หลังวัดมีหมอดูเพ่งกสิณ น้องเลยพาไปตรวจดู หมอบอกว่า พ่อจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกินอีกสองปี ส่วนแม่นั้นอายุยืนยาวถึงกับคลานแน่ะ.. ส่วนผมนั้น อย่าไปรู้เลย ชีวิตเป็นไปตามกรรม..


หลังจากนั้นแค่ปีเดียวพ่อก็จากไปด้วยโรคถุงลมโป่งพอง เพราะพ่อสูบบุหรี่จัด สมัยเด็กๆพ่อใช้ให้ไปซื้อบุหรี่ “พระจันทร์” ประจำ ผมเองก็เคยสูบ แต่เลิกเด็ดขาดมาพร้อมกับกินเจสัก ยี่สิบกว่าปีมานี่

ปัจจุบันแม่นั้น คลานจริงๆ คลานจนหัวเข้าด้าน ลูกๆซื้อเก้าอี้เข็นให้ก็ไม่ชอบนั่ง ยกเว้นจำเป็นจริงๆ


เมื่อปีที่แล้ว ลูกๆทำบุญต่ออายุให้แม่ เพื่อให้แม่ และทุกคนสบายใจ พระที่นิมนต์มาก็เป็นลูกอาว์ จบประสานมิตร แล้วบวชไม่สึกเลย เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว


แม่ทำนามาตลอดชีวิต หลังเลิกทำนาเพราะอายุมากแล้วก็ให้เพื่อนบ้านเช่า คิดค่าเช่าแสนถูกไร่ละหนึ่งพันบาทต่อปี จะทำนากี่ครั้งก็หนึ่งพันบาท แม่เขียนหนังสือช้าแต่ลายมือสวย ชอบอ่านหนังสือธรรมมะ

เมื่อตอนพิมพ์เจ้าเป็นไผ ๑ ผมเอาไปทิ้งไว้ที่บ้านเล่มหนึ่ง แม่เอามาอ่านหลายรอบแล้ว เพราะคิดถึงลูก วันนั้นผมกลับไปบ้าน แม่ก็เล่าให้ฟังว่า แม่คิดถึงลูกก็อ่านเจ้าเป็นไผ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

แต่ที่แม่ไม่เข้าใจเลยว่ามันแปลว่าอะไร.. ก็คำว่า อิอิ มันแปลว่าอะไรล่ะลูก….ฮา..

ผมรักแม่ครับ…


น้ำล้างตีน..

1191 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 กรกฏาคม 2010 เวลา 0:45 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 43985

ขออนุญาตใช้คำตรงๆนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่ผมอยากบันทึกไว้ ให้ปรากฏว่ามีเรื่องราวในชีวิตของตนที่เกี่ยวข้องกับน้ำล้างตีน


รูปที่เห็นนี้ ผมถ่ายจากที่ดินของผมที่โป่งแยง อ.แม่ริม เชียงใหม่ นี่คือเรื่องที่ผมขึ้นมาทำธุระส่วนตัวพร้อมกับการร่วมศึกษาดูงานของทีมงานคนข้างกาย

ที่ดินแห่งนี้ผมอนุญาตให้ลูกเจ้าของที่ดินเดิมปลูกผักปลูกพืชขายเลี้ยงครอบครัว โดยไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะแม่อุ้ยปุ่นนั้นผมเคารพนับถือท่านมาก คบกันมานาน ตั้งแต่สามีอุ้ยยังมีชีวิตอยู่ ผมก็จ้างให้เฝ้าสวนจนแกกินเหล้าหนักจนเสียชีวิตไปเลย ผมเสียภาษีที่ดินทุกปี และขึ้นมาดู ปีละครั้งสองครั้งตามโอกาส


แล้วก็มีเรื่องหวาดเสียวที่ลูกสาวอุ้ยปุ่นทำการหย่ากับสามี(คนที่สอง) แล้วผมได้ข่าวไม่ค่อยดีกับสามีลูกสาวอุ้ยที่คิดไม่ดีกับที่ดินผืนนี้ จึงรีบขึ้นมาจัดการเสียให้เรียบร้อย

น้องวรรณคนซ้ายมือ เป็นคนที่ผมเอ่ยถึง อุ้ยปุ่นอายุ 82 แล้วยังแข็งแรงเดินเหินไปไหนต่อไหนได้ น้องวรรณเล่าให้ฟังว่า อดีตสามีคนนี้คิดไม่ดีหวังจะหุบที่ดินผม แต่อุ้ยปุ่นต่อต้านว่าไม่ได้ ที่ดินนี้เป็นของผม และให้ลูกสาวอุ้ยทำกินเฉยๆ เรามีใจถึงกัน เคารพนับถือกัน ไปทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่ก็ไปขัดใจลูกเขยที่มีเบื้องหลังไม่ดี… แล้วสามีก็มีเรื่องทะเลาะกันกับน้องวรรณอย่างรุนแรงถึงกับลงไม้ลงมือ ในที่สุดก็หย่าขาดจากกัน เพราะอุ้ยปุ่นยืนคำขาดว่าจะรักแม่หรือจะรักสามีคนนี้ น้องวรรณเลือกเอาแม่..

สำหรับน้องวรรณนั้น แม่หรืออุ้ยปุ่นนั้นคือที่สุด แล้วน้องวรรณก็ไปเอาอ่างมาเอาน้ำใส่ เอาส้มป่อยใส่ เอาดอกไม้ใส่แล้วให้อุ้ยปุ่นนั่งลงเอาเท้าหย่อนลงในอ่างนั้น น้องวรรณเล่าว่าเธอเอามือล้างเท้าแม่ พร้อมทั้งขอขมาลาโทษต่างๆนาๆที่ทำผิดไปบ้าง ไปยอมเชื่ออดีตสามีไปบ้าง ไม่ฟังแม่บ้าง.. อุ้ยปุ่นก็พุดให้อภัยลูก ตักเตือนลูกให้เป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรม ยึดมั่นประเพณี…

แล้วน้องวรรณก็เอาน้ำล้างเท้าแม่มาผสมน้ำที่เตรียมไว้แล้วทำพิธีอาบน้ำ ทั่วหัว ทั่วตัว ด้วยน้ำล้างเท่าของแม่นั้น….


นี่คือที่สุดของที่สุดของคุณค่าของความเป็นคนที่แสดงออกต่อกัน ผมฟังน้องวรรณเล่าต่อหน้าอุ้ยปุ่นแล้วก็พูดอะไรไม่ออก… ตื้นตันใจเป็นที่สุด

ผมกราบอุ้ยปุ่น เหมือนทุกครั้งที่ผมขึ้นไปพบท่าน หากไม่ได้ท่านที่ดินของผมก็คงมีปัญหาหนักอกแสลงใจ แล้วผมก็ขอทำหลักฐานให้ถูกต้องตามกระบวนวิธีที่ควรทำ..พร้อมอนุญาตให้น้องวรรณปลูกพืชผักไปขายเลี้ยงครอบครัวต่อไป..

ผมนั้นเคยพกเอาฟันของคุณย่าที่เสียชีวิตไปนานแล้ว และชายผ้านุ่งของแม่เอาไว้เป็นเครื่องรางของคนโบราณ แต่ไม่เคยคิดว่า ที่บ้านโป่งแยงนี้จะมีพิธีกรรมสุดจะบรรยาย โดยเอาน้ำล้างตีนแม่มาลดลงหัว เพื่อไล่เสนียด จัญไรต่างๆที่เข้ามาในชีวิต และขอมาลาโทษต่อแม่ที่ทำบางอย่างพลาดพลั้งไปบ้าง..

ผมนึกย้อนไปถึงแม่ตัวเอง ที่กำลังป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล หากมีใครถามผมว่าทำเช่นน้องวรรณได้ไหม ผมตอบได้โดยไม่ลังเลเลยว่า ผมทำได้ และทุกคนก็คงคิดอย่างผม

เพราะแม่ก็คือที่สุดของลูกๆอยู่แล้ว


สาวสะแกราช

77 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 มิถุนายน 2010 เวลา 1:28 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2120

วันที่ไปเที่ยวชมป่าสะแกราช รอยต่อปักธงชัยกับวังน้ำเขียวนั้น ขากลับออกจากป่า ตรงประตูทางออก เราต้องจอดรถเพราะเอาบัตรประชาชนคืน พอดีเราเห็นสตรีคนหนึ่งนั่งอยู่ เธอเป็นคนตาบอด ผมถามยามว่า เธอจะไปโคราชหรือเปล่า ยามบอกว่าใช่ ผมบอกว่า เชิญไปด้วยกัน เธอตกลง


เธอเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น แต่เป็นคนโคราช ได้สามีเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้สะแกราชนี่เอง มาอยู่ด้วยเพราะต้องการบรรยากาศดูหนังสือ จะไปสอบเป็นพนักงานของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ที่เขาประกาศรับคนตาบอดเข้าทำงาน แผนกคอมพิวเตอร์


เธอใช้คอมพิวเตอร์เก่ง เธอว่าเช่นนั้น เขามีโปรแกรมพิเศษที่เมื่อพิมพ์ลงไปแล้วเกิดเสียงก็ทราบว่าเป็นอักษรอะไร เธอบอกว่ามีคู่แข่งเยอะเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะสอบผ่านหรือเปล่า

ระหว่างทางไปโคราชนั้น บางจังหวะเธอใช้โทรศัพท์โทรไปบอกแฟนเธอว่า มาโคราชกับอาจารย์แล้ว อาจารย์ให้นั่งรถมาด้วย…

สักพักเธอก็โทรไปที่บ้านบอกให้มารับด้วยที่หน้า บิ๊กซีโคราช เสียงทางโทรศัพท์บอกว่าไม่ว่างติดธุระอยู่ เธอบอกว่างั้นเธอจะนั่งรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างเข้าไปเอง


ก่อนถึงบิ๊กซี จะต้องผ่านเดอะมอลล์ ซึ่งมีคนมาเดินมาก รถจำนวนมากก็มาที่นี่ ทำให้รถติด เราก็คุยกันว่ารถติด เธอก็บอกว่าถึง เดอะมอลล์แล้วหรือ เหมือนเธอรู้ทุกอย่าง …

เธอคุยเก่ง และอารมณ์ดี เราชื่นชมเธอที่ต่อสู้กับชีวิตในโลกมืดด้วยความสามารถของเธอเอง และเราขอปรบมือให้บริษัทประกันภัยที่ประกาศรับคนพิการทางสายตาเข้าทำงาน แม้เพียงคนเดียวเราก็ชมเชยที่กล้าอ้าแขนรับพลเมืองของประเทศเรากลุ่มนี้

เราส่งเธอที่คิวรถมอเตอร์ไซด์ หน้าบิ๊กซี พร้อมทั้งบอกรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้ไปส่งเธอด้วย แต่เธอคุ้นเคยอยู่แล้ว

เธอยกมือไหว้และขอบคุณเรา

เราอวยพรให้เธอโชคดีในการสอบ…

ผมขับรถต่อไปขอนแก่นด้วยความสุขใจลึกๆ…



Main: 0.18144702911377 sec
Sidebar: 0.047745943069458 sec