มองสังคมป่าไม้เห็นสังคมมนุษย์

376 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มิถุนายน 2010 เวลา 15:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5935

(บันทึกยาวครับ..)

ไปเยี่ยมยามแม่บังเกิดเกล้า ยามเฒ่าแก่ ให้บุพการีชื่นอกชื่นใจแล้วก็เดินทางกลับ ภาระปัจจุบันไปไหนๆได้ไม่นานนัก ก็ดีกว่าไม่ได้ไปเลย แม้ว่าใจอยากจะอยู่กับแม่นานๆ

คนข้างกายมีงานวิจัยประเภท Action Research กับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้หลายชิ้น จึงคุ้นเคยกับบุคลากรกรมป่าไม้หลายท่าน เธอมีคำถามกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ป่านั้นถูกบุกรุกทำลาย ทำร้ายมากมายทุกหนแห่ง สมัยก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองโน้นเมืองนี้ ต้องบุกป่าฝ่าดงไปนั้น ป่าในอดีตจริงๆเป็นอย่างไรหนอ..? ดร.โกมล แพรกทอง ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้กล่าวว่า อยากดูก็ไปที่ ป่าสะแกราช ที่ปักธงชัย นครราชสีมา รอยต่อกับเขาใหญ่ รอยต่อกับพื้นที่วังน้ำเขียว “ที่นั่นเป็นป่าบริสุทธิ์เท่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย” มีโอกาสก็ไปดูซะ…

ทีมงานของคนข้างกายขอร้องไว้ก่อนแล้วว่า ให้ผมพาไปพักผ่อนบ้างหลังลุยเขียนงานใหญ่ๆ สามชิ้น กลัวจะฟุบเข้าโรงพยาบาลอีก เมื่อหันหัวรถออกจากบ้านอ่างทองก็ตั้งเป้าหมายเขาใหญ่ ที่กำลังดังเป็นเป้าหมาย.. เข้าปากช่องเลี้ยวขวาเข้าเขาใหญ่ มีที่พักมากมาย แต่ไม่เอา ใช้เส้นทาง Local Road รอบเขาใหญ่จากปากช่องไปวังน้ำเขียว เป็นถนนเส้นเล็กๆ แต่ธุรกิจรีสอร์ท บ้านพัก สวน ตั้งแต่หรูหราเริ่ด ไปจนแบบชาวบ้านธรรมดา เต็มไปหมดตลอดทาง…

ค่ำพอดีเลยหาที่พักสบายๆข้างทาง ได้ที่พักชื่อ วิลล่า เขาแผงม้า ร่มรื่น สะอาด บริการดี ราคาสมน้ำสมเนื้อต่อคืน อาหารเช้าเพียบ ที่แปลกคือห้องน้ำแบบโอเพ่นแอร์ แต่ปลอดภัย คนงานทำความสะอาดตลอดเวลา สภาพทั่วไปเป็นเนินเขา การเดินขึ้นลงอาจจะไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ แต่มีบริการฟรีรถกอล์ฟรับส่งกระเป๋า หรือจะขึ้นลงก็ตาม เขามีเด็กขับบริการเอาใจ สว. อย่างเรา

หลังอาหารเช้ากับบรรยากาศสดชื่น เราก็ลุยตรงไปที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ผ่านประตูโดยมอบบัตรประชาชนให้ ยามก็รายงานขึ้นไปว่ามีคนสนใจมาศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ก็ได้รับการต้อนรับที่ดี คุยกับเจ้าหน้าที่สักพักใหญ่ๆ พอดีเขามีแค้มป์เด็กนักเรียนจาก “ดัดดรุณี” เราจึงขอแยกตัวไปสัมผัสป่าบริสุทธิ์ซึ่งขับรถช้าๆตามกติกาขึ้นไปอีกสอง กม.จากสำนักงานที่พัก คนข้างกายบอกว่า “เอารถไปจอด แล้วขอลงนั่งฟังเสียงป่าแบบเงียบๆนะ”

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า ป่าสะแกราชส่วนนี้รอดมือการสัมปทานป่ามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นความจริงที่เป็นเพียงพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง หากเราสังเกตสภาพป่าสะแกราชตั้งแต่ปากทางเข้ามาจะพบว่ามี “สังคมไม้ป่า” ที่แตกต่างกันไปหลายแบบ ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงไม่กล้าเอ่ยชื่อชนิดป่า ความจริงเขามีเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้แต่เราปฏิเสธ

มีร่องรอยการศึกษาวิจัยหลายที่หลายแห่ง อันเนื่องมาจากความสมบูรณ์ของป่านี่เองจึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ผมเองก็ซื้อหนังสือมาหอบใหญ่เกี่ยวกับกรณีศึกษาของป่าสะแกราชแห่งนี้

หยุดรถเป็นระยะ ถ่ายรูปบ้าง ลงไปดูร่องรอยการศึกษาวิจัยบ้าง และก็มาเห็นต้นไม้ใหญ่ที่มีต้นไม้เล็กเกาะยึดไว้ ทั้งที่เป็นเถาวัลย์ และต้นไม้อิงอาศัย… แหมฉุกคิดขึ้นมาทันทีถึงคำว่าสังคมป่าไม้ ที่นักวิชาการท่านกล่าวถึง นี่ไงสังคมป่าไม้ที่ความหลากหลายทางชีวภาพของไม้ป่าอิงอาศัยกันและกัน ไม้ใหญ่มีระบบราก ลำต้น เผ่าพันธุ์ที่สูงใหญ่ ก็ปล่อยให้ไม้เล็กเกาะ อาศัยเลื้อยขึ้นไปชูคอสูดอากาศข้างบน หรือขึ้นสู่เรือนยอด ผมนึกถึงระบบสังคมมนุษย์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ “ระบบอุปถัมภ์” สังคมไม้ป่า หรือสังคมไม้บ้านก็ตามก็มีระบบอุปถัมภ์เหมือนกัน

ผมเองได้ยินคำนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานพัฒนาชนบท ในสนามและท่าน ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ กับ อ.ดร.จิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เป็นวิทยากรอบรมท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้นานมากแล้ว แรกๆก็รับรู้แต่ไม่เข้าใจเท่าไหร่
ต่อเมื่อเข้าไปทำงานสนามนานๆเข้า ก็เห็น ย้อนมามองตัวเองเกี่ยวข้องเพียบเลย และมีกระจายไปทั่วหัวระแหงของสังคม ไม้ของไทยและสังคมไหนๆก็ตาม เพียงแต่ว่าจะมองในแง่ไหน จะใช้ระบบนี้ในแง่ไหน

นักวิชาการสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างมากในแง่ที่สร้างปัญหาต่อสังคมโดยรวม เช่น ระบบเส้นสายก็คือระบบอุปถัมภ์ ความพึงพอใจส่วนตัวเอามาเป็นเหตุผลมากกว่าการเคารพกฎกติกา หรือเหตุผลที่เหมาะสม ก็คือระบบอุปถัมภ์ชนิดหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นความจริงในสังคมนี้

เมื่อผมเห็น “สังคมป่าไม้ที่สะแกราช” ดังกล่าวนี้ทำไม่ผมอ่านได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นธรรมชาติแบบสังคมป่าไม้นั้นต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ยังประโยชน์แก่กัน หากเถาวัลย์ไม่มีไม้ใหญ่เกาะเกี่ยว มีหรือเขาจะเจริญเติบโต ออกลูกหลานเผ่าพันธุ์สืบมาจนปัจจุบันนี้ ผมเดาเอาเองว่า ไม้ใหญ่ก็ให้อิงอาศัยแม้ว่าอาจจะทำให้เกิดอุปสรรคบ้างในการเจริญเติบโต แต่คงไม่มาก และที่สำคัญไม่ได้ทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง ตรงข้ามพื้นที่ส่วนน้อยของเขาได้ยังชีวิตเถาวัลย์เล็กๆ และไม้อิงอาศัยได้มากที่สุด เพราะธรรมชาติของเขาต้องอิงอาศัย ต้องเกาะยึดสิ่งอื่นๆ

ผมนึกถึงที่บ้านขอนแก่น ผมเอา กลอย และ ต้นมันป่าจากดงหลวงไปปลูก ช่วงฤดูฝนนี้เขาแตกยอดใหม่เลื้อยออกมาจากหัว หาต้นไม้ข้างเคียงเกาะยึด แล้วเขาก็เลื้อยพันขึ้นไปข้างบนจนถึงยอดไม้อิงอาศัย เราดูก็อาจจะสงสารต้นไม้หลักที่เขายึดเกาะ เพราะเจ้า กลอย และมันป่าจะงาม แตะกิ่งก้านสาขาจนเกือบจะปกปิดต้นหลัก แต่เขาก็อยู่เพียงไม่กี่เดือนก็สิ้นสุดการเติบโตเข้าสู่วงจรการนอนหลับหรือการหยุดการเจริญเติบโต (Hibernation เอใช้คำนี้ได้เปล่า เปลี่ยน) ใบหลุดร่วงตายไป หัวกลอย หัวมันขยายใหญ่ขึ้น เพราะได้สังเคราะห์แสงเก็บอาหารไว้เต็มที่ตามลักษณะเผ่าพันธุ์ และไม่มีที่ผิดแผกไปจากนี่

แต่มองย้อนกลับมาที่สังคมมนุษย์ เพราะ กิเลส ตัญหา ความทะยานอยาก การไม่อยู่ในหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันคือ ศีลธรรม คุณธรรม ปฏิเสธความพอเพียง ระบบอุปถัมภ์ก็กลายเป็นเครื่องมือก้าวไปสู่ความเป็นเลิศที่ตัวเองต้องการ โดยสร้างปัญหากระทบต่อสังคมรอบข้าง โดยกระทบตั้งแต่น้อยไปหามาก จากเบาไปหาหนัก (เอ เหมือนอะไรน้อ..)

เมื่อมองจากมุมสังคมไม้ป่า ก็พบว่า ระบบอุปถัมภ์นั้นมีประโยชน์ เพราะธรรมชาติของเผ่าพันธุ์เป็นตัวควบคุม และไม้ไม่มีจิตวิญญาณ แต่สังคมมนุษย์ผู้ประเสริฐ ได้ใช้ปัญญาไปในทางที่ผิด ใช้ไปในทางทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกัน ใช้เงื่อนไขทั้งหมดเพื่อความมั่งคั่งส่วนตนและพวกพ้อง เพราะรัศมีการอุปถัมภ์ของสังคมไม้ป่านั้นอยู่วงรอบของทรงพุ่มเท่านั้น แต่รัศมีระบบอุปถัมภ์ของสังคมมนุษย์นั้นครอบไปทั่วทั้งสังคมใหญ่คือประเทศ

ดังนั้นคนชายขอบเขาจะอยู่ไม่ได้เลยหากหมู่บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศไม่โอบอุ้มเขาด้วยระบบอุปถัมภ์ เอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การยื่นน้ำใจให้แก่กัน

เช่นเดียวกันคนที่มีปัญหา หาทางออกไม่ได้ก็ต้องอาศัยระบบของสังคมมาเยียวยาด้วย หนึ่งในนั้นคือระบบอุปถัมภ์ที่มีศีลธรรม คุณธรรม และทุนทางสังคมแบบเดิมๆของเราเป็นสะพานเชื่อม


ความรู้สึกภายใน..ที่อยากบอก

1315 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 10:47 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, ทุนสังคม #
อ่าน: 18820

พูดไม่ออก…………

แต่รู้สึกได้ภายในว่า

หัวอกเราชอกช้ำเป็นที่สุด…


พระไพศาล ฐิตสาโร

596 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 เมษายน 2010 เวลา 23:36 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11736

เนื่องในวาระดียิ่งที่ เม้ง จะบวช จึงเอารูปเก่าของผมตอนบวชมาให้ดูกัน น่าจะประมาณปี 2520 ตอนนั้นทำงานพัฒนาชนบทที่ อ.สะเมิง เชียงใหม่ พ่อบอกถึงวาระที่พี่น้องผู้ชายสามคนควรจะบวชได้แล้ว


ก็เป็นไปตามประเพณีท้องถิ่น พี่น้องสามคนบวชพร้อมกัน รวมทั้งพี่ชายผมคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือเลย


พระอาจารย์ซ้ายมือสุดนั่น ที่จีวรสีกลัก คือพระอาจารย์ธรรมธโร เจ้าสำนักวิปัสสนาไทรงาม จ.สุพรรบุรี ที่พี่น้องสามคนจะไปจำพรรษาที่นั่น พระอาจารย์ธรรมธโรได้มีเมตตามาเป็นพระพี่เลี้ยงและรับตัวไปสำนัก


หน้าตาบึ้งตึงเชียว อิอิ ดูเหมือนจะมาที่บ้านก่อนไปอยู่วัด ส่วนรูปขวามือนั้น เป็นช่วงออกพรรษาแล้ว เตรียมจะลาสิกขา ญาติโยมในพื้นที่ทำงานนิมนต์ให้ไปโปรดสัตว์ที่ อ.สะเมิง เชียงใหม่ จึงวางแผนจะไปลาสิกขาที่วัดเจดีย์หลวง เพราะสนิทสนมกับท่านเจ้าอาวาสที่ท่านเป็นพระนักเทศน์และนักพัฒนาชุมชน

ก่อนลาสิกขา ท่านอาจารย์ไพโรจน์ ผลประสิทธิ์ ผอ.สำนักงานเกษตรภาคเหนือสมัยนั้นนิมนต์ไปเพลที่บ้านท่าน เลยเพื่อนๆร่วมงานมากันหมด พระก็ให้ศีลให้พร



แล้วก็ไปลาสิกขาที่วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงท่านเป็นเจ้าอาวาสที่นั่นด้วย ท่านทำพิธีให้ ก่อนท่านมรณภาพท่านเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นชั้นเทพ…ผมจำไม่ได้ว่าฉายาท่านเป็นเช่นใด หลังจากลาสิกขาแล้วผมก็กลับไปทำงานในสะเมิงก่อนอีก 1 ปี แล้วย้ายถิ่นฐานไปอีสานจนปัจจุบันนี้

พระอาจารย์ธรรมธโร เจ้าอาวาสสำนักวิปัสสนาไทรงาม สุพรรณบุรี ท่านก็มรณภาพไปแล้ว นึกย้อนไปช่วงนั้น เป็นช่วงที่ชีวิตได้สัมผัสอีกโลกหนึ่งที่มีคุณค่าเหลือเกิน สมณะเพศนั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของทุนทางสังคม เป็นผู้สร้างแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นพระในศาสนาใดก็ตาม ล้วนเป็นผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคม

ผมยังภาวนาเสมอว่า หากชีวิตไม่สิ้นไปก่อน จะขอเข้ามาสู่ร่มศาสนาโดยการบวชทั้งกายทั้งใจอีก.. ผมได้รับฉายาว่า พระไพศาล ฐิตสาโร ครับ


สีฝัด…

840 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 เมษายน 2010 เวลา 23:06 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 24266

วันที่ผมกลับไปบ้าน ผมไปนั่งมุมนี้มองดูวัดตูม วัดที่ผมเติบโตเคียงคู่ข้างวัดมาตลอด รั้วบ้านผมติดวัดมีคลองเล็กๆคั่นอยู่ วัดแห่งนี้มีพระมากน้อยแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา บางพรรษามีพระเต็มวัด คึกคักมาก บางปีมีแต่หลวงตาเจิมอยู่องค์เดียว


หอระฆังนั่นมีก่อนผมเกิด สมัยเด็กๆผมชอบไปแย่งไม่ตีจากพระเณรที่เจ้าอาวาสมอบหมายให้มีหน้าที่ตีระฆัง ทางวัดได้เงินจากการทอดผ้าป่าจึงเอาเงินมาบำรุงซ่อมแซมแล้วทาสีใหม่


ผมมองไปใต้ถุนกุฏิพระ นั่นคือเรือขึ้นคาน เรือวัดที่พระใช้บิณฑบาตในช่วงน้ำท่วม ผมจำได้มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเรือนี้ บางปีเรือล่มพระเกือบจมน้ำมรณภาพ เพราะมีคลื่นจากเรือสินค้าผ่านมา บนเรือวัดนั้นมีพระสององค์นั่งตั้งลำเรือไม่ถูกคลื่นเลยทำให้เรือล่ม บาตรพระจมน้ำหายไป ชาวบ้านมาช่วยพระกันเต็มทั้งหมู่บ้าน เพราะพระมีจีวรพะรุงพะรังไม่สะดวกในการว่ายน้ำ จึงอันตรายมาก

ข้างๆเรือที่ขึ้นคานนั้นคือ “สีฝัด” หรือเรียกสีฝัดข้าว คนในเมืองคนภาคอื่นไม่รู้จัก เพราะเป็นเครื่องมือองค์ประกอบหนึ่งของการทำนาของภาคกลาง ภาคอีสานกับภาคเหนือใช้พัดวีเมล็ดข้าวเพื่อให้เมล็ดข้าวลีบ หรือสิ่งที่ไม่ใช่ข้าวกระเด็นออกไป เมล็ดข้าวหนักกว่าก็จะไม่ปลิวไปไหน แต่ภาคกลางใช้เครื่องสีฝัดเป็นเครื่องมือแยกเมล็ดข้าวออกจากทุกอย่างที่ไม่ใช่เมล็ดข้าว

ผมคุ้นเคยสีฝัดเพราะถูกพ่อใช้ให้ช่วยทุกอย่าง เป็นแรงงานช่วยกันแบกไปวางไว้ในที่ที่เตรียมไว้ ทำหน้าที่ขนข้าวจากกองที่นวดแล้วเอามาใส่เครื่องรับด้านบนของตัวสีฝัด ก่อนจะฝัดเอาฝุ่นละออง ข้าวลีบ ฯลฯ ออกไปจากเมล็ดข้าว จะเหลือเมล็ดข้าวล้วนๆไหลลงมาด้านหน้าของสีฝัด เป็นแรงงานหมุนใบพัดให้เครื่องทำหน้าที่ของมัน การหมุนต้องไม่เบา หรือแรงเกินไป หากเบาไปเศษสิ่งที่ไม่ต้องการก็อาจจะไม่หลุดไปหมด อาจตกมาพร้อมกับเม็ดข้าว เมล็ดข้าวก็มีการปน สิ่งแปลกปลอม ขายไม่ได้ราคา หรือถูกหักสิ่งเจือปน หากฝัดแรงไป เมล็ดข้าวก็อาจจะปลิวไปกับลมที่พัดนั่น ก็เสียหายอีก


ไม่ใช่มีแรงเท่าไหร่ก็ใส่เข้าไป มันมีศาสตร์ มีศิลป์มีองค์ความรู้ของมัน ไม่มีคู่มือ มีแต่สั่งสอนแล้งลงมือทำเลย ติชมกันตรงนั้น ที่คือการเรียนจากการปฏิบัติจริงเด็กชนบทจึงรู้จัก ใครมาเปลี่ยนเมื่อเมื่อยเกินไป เขาก็รู้ว่าจะใช้แรงเท่าไหร่จึงพอเหมาะ


สีฝัดคือเทคโนโลยี แบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ให้ประโยชน์มาก ทั้งหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องมีทุกหลังคาเรือน ขอหยิบขอยืมกันได้ หมดหน้านาก็ล้าง ทำความสะอาด แล้วเอาน้ำมันยางชโลมรักษาเนื้อไม้เอาไว้ใช้งานปีต่อไป ตั้งแต่มีเครื่องไถนา เครื่องนวดข้าว เครื่องฝัดข้าวที่เป็นเครื่องจักรกลที่ใช้น้ำมัน เจ้าสีฝัดก็หมดบทบาทลง กระเด็นมาอยู่ใต้ถุนวัด และหรือไปอยู่ในแหล่งรวบรวมของเก่าเพื่อขาย

จากข้อมูลอาจารย์ goo ทราบว่ามีการซื้อขายเพื่อเอาไปแต่งบ้าน ร้านอาหาร และอื่นๆในราคา 3,500 บาทต่อหลัง เหมือนเครื่องมือโบราณอื่นๆที่กลายเป็นเครื่องตกแต่งไปแล้ว


ไปพบภาพนี้ของอาจารย์วิรัตน์ ที่ g2k จึงขออนุญาตนำมาให้ชมกันครับ

http://gotoknow.org/blog/civil-learning/321493


แรงเหวี่ยงทางสังคม

80 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 มีนาคม 2010 เวลา 5:50 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2724

รูปข้างล่างนี้ผมถ่ายมาเมื่อไปพักที่เขื่อนห้วยหวด สกลนคร เมื่อเดือนที่แล้ว ตอนถ่ายรูปก็ไม่ได้คิดอะไรแต่เมื่อมานั่งดูรูป ดูน้ำหมุนจากหัวจ่ายน้ำนี้เห็นเม็ดน้ำทั้งใหญ่และเล็กกระเด็นออกจากศูนย์กลางการหมุน นอกจากมองในมุมสวยแล้วมันยังสอนอะไรให้เราอีก


ผมมานั่งพิจารณาได้เห็นในสิ่งที่เห็น

ถ้าไม่มีแรงหมุนก็ไม่มีแรงเหวี่ยง ไม่มีแรงสลัด ผลที่เกิดคือ ไม่มีการกระเด็นของน้ำ ไม่มีการแตกกระจายของน้ำ ตรงกันข้ามน้ำยังเกาะรวมกันอยู่

ถ้ามีแรงหมุนน้อย แรงเหวี่ยงน้อย ผลที่เกิดคือ น้ำกระเด็นน้อย การแตกกระจายน้อย การกระเด็นไกลจากศูนย์กลางน้อย ตรงกันข้ามการเกาะตัวของน้ำก็มีอยู่ตามศักยะของเขา

ถ้ามีแรงหมุนมาก แรงเหวี่ยงมาก ผลที่เกิดคือ น้ำกระเด็นมาก การแตกกระจายมาก การกระเด็นไกลจากศูนย์กลางมาก ตรงกันข้ามการเกาะตัวของน้ำก็มีอยู่ตามศักยะของเขาซึ่งน้อย


ถ้ามีแรงหมุนมากและศูนย์กลางไม่นิ่ง หรือมีองศาของการเหวี่ยงเข้ามาอีก แรงเหวี่ยงมากนั้นก็แกว่างไปด้วย ผลที่เกิดคือ น้ำกระเด็นมาก การแตกกระจายมากจากแนวระนาบ น้ำที่กระเด็นออกแตกเป็นเม็ดเล็กๆจำนวนมากด้วย ตรงกันข้ามการเกาะตัวของน้ำก็มีอยู่ตามศักยะของเขาซึ่งน้อยลงมากมาก

และหากแรงหมุนมากมายมหาศาล เมื่อมีเครื่องมากำกับบางอย่างเช่น ยูเล็ม ของ อ.แฮนดี้ น้ำก็จะแตกเป็นฝอยละอองเล็กๆ แรงเกาะเกี่ยวในเม็ดเล็กๆของน้ำก็เกือบจะไม่มีเลย เม็ดเล็กๆของน้ำก็ปลิวไปตามลมที่พัดมา


รูปแรงเหวี่ยงของน้ำช่างไปตรงกับรูปจักรวาล ซึ่งมีเหตุมีผลที่ใกล้เคียงกัน แต่การที่เทหวัตถุ หรือดวงดาวเล็กใหญ่ไม่กระเด็นปลิวหายไปจากศูนย์กลางหมดนั้นเพราะมีแรงเกาะเกี่ยวกันอยู่ระหว่างเทหวัตถุและกับศูนย์กลางจักรวาล

การเห็นในเห็นนั้น ผมเห็นสังคมดั้งเดิมของเรามีทุนทางสังคมสูงมากๆ มีความเอื้ออาทร มีน้ำใจ มีอภัย มีละวาง มีอโหสิ มีการตอบแทน มีทดแทน มีอาวุโส มีศรัทธา มีความรักในความแตกต่าง โดยมีศาสนาเป็นแกนกลางมีวัฒนธรรมที่สังคมดึงเอามาปฏิบัติ เป็นตัวบ่มเพาะ หรือเป็นเบ้าหลอมคนในสังคม โดยมีโครงสร้างวัดที่เป็นสถานที่ที่เรียนหนังสือ มีคุณครูที่ไม่มีใจโอบอ้อมอารีในความเป็นลูกหลานของนักเรียนมากกว่า มีประเพณี พิธีกรรมเป็นตัวปฏิบัติ นี่คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคมแต่ก่อน


เมื่อสังคมพลวัตรไป เคลื่อนที่ไป บนทิศทางนัยความทันสมัย ก้าวหน้า ศิวิไลซ์ ความแตกสลายของดีเดิมๆก็ค่อยๆเกิดขึ้น แรงเกาะเกี่ยวทางสังคมก็ลดลงจนบางเรื่องหายไป สมัยก่อน เดินสวนพระต้องนั่งลงและหลีกทางให้พระท่านเดินได้สะดวกกว่า สมัยก่อนหน้าบ้านมีหม้อน้ำดินที่ไว้สำหรับสาธารณะดื่มกินอันเป็นการแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน ผู้ใหญ่เอ็นดูผู้น้อยกว่า ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่


แรงเหวี่ยงทำให้เกิดการแบ่งเป็นสองกลุ่มที่แยกออกจากศูนย์กลาง

แต่พลวัตรสังคมคือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเคลื่อนที่ของสังคม คือหมุนของสังคม เกิดความแตกต่างมากขึ้น สภาพการแตกต่างของสังคมคือแรงเหวี่ยง แรงสลัด ก่อให้เกิดการกระเด็นหลุดออกจากใจกลางแบบเดิมๆ หากตัวเมืองเคลื่อนไปเร็วเกินไปก็สลัดชนบทหลุดออกจากความสมดุล กลายเป็นความแตกต่าง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความแตกแยก อาจจะมีแต่แรงผลักหรือแรงสลัด ไม่มีแรงเกาะ อันตรายจริงๆ…

ความขัดแย้งทางสังคมก็คือแรงสลัดแบ่งแยกคนในสังคมออกเป็นกลุ่มเป็นพวก เป็นสี เป็นอคติ เป็นความแตกต่างที่พลวัตรไปสู่ความแตกแยก หากไม่สร้างแรงเกาะเกี่ยวที่มากเพียงพอ โอกาสหลุดออกไปจากแกนกลางย่อมมีสูงมากขึ้น

จุดอ่อนของสังคมไทยปัจจุบันนั้นมีมากมายที่ปราชญ์สังคมไทยกล่าวไว้ ประการหนึ่งก็คือ ทุนทางสังคมของเราเจือจางลงไปมาก เรามีกิจกรรมมากมายที่ไม่ได้เสริมสร้างทุนทางสังคม กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ แข่งฟุตบอลกันแล้วก็ตีกันหัวร้างข้างแตก ยิ่งกีฬากลายเป็นธุรกิจ ก็ยิ่งทำลายทุนทางสังคมให้แตกสลายลงไปเร็วขึ้น

อ้าว…ร่ายยาวตั้งแต่เช้ามืดเลย อิอิ..จบก่อนดีกว่า..


เที่ยวลาวใต้ ปราสาทวัดพู 2

35 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มีนาคม 2010 เวลา 19:41 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 3053

ตรงทางเข้าปราสาทวัดพูเราก็พบพิพิธภัณฑ์ ที่เขาห้ามถ่ายรูป แต่มีชาวฝรั่งเศสมาถ่ายทำสารคดี เขาคงขออนุญาตพิเศษ เราเข้าไปชมก็พบ อรรธนารีศวร ที่นี่ แต่ไม่สมบูรณ์เท่าที่อุบลฯครับ

ไกด์สาวพาเราเดินขึ้นปราสาทวัดพู ก่อนขึ้นไปมีชาวบ้านเอาเครื่องเซ่นไหว้พระรูปมาขาย เราซื้อมาแสดงคารวะ ต่อพระรูปตระหง่านก่อนทางขึ้นนั่น

ทางผ่านด้านล่างก่อนขึ้นปราสาทนั้นไกด์บอกว่ามีสามชาติมาสนับสนุนการฟื้นฟูมี อินเดีย ฝรั่งเศษ และอิตาลี

ช่วงที่ไปเที่ยวบังเอิญต้นลีลาวดีสองข้างบันไดขึ้นปราสาทกำลังออกดอก ดูสวยจริงๆเต็มไปหมด

เมื่อ สว.ปีนบันไดชันจำนวนนับร้อยขั้น ผลออกมา เฮ่อ…ขอน้ำเย็นดื่มหน่อย… ไกด์สาว ที่หอบหิ้วน้ำเย็นผ้าเย็นคอยบริการลูกค้า.. นี่ดีนะว่าลูกค้ามีแค่สามคน

เมื่อถึงชั้นปราสาทแล้ว พบชาวบ้านมาขายเครื่องบูชาพระรูปในตัวปราสาท ไปที่ไหนก็มีฝรั่ง อิอิ ฝรั่งคลานขึ้นคลานลงก็มีให้เห็น

นักท่องเที่ยวบางคนศรัทธามาก เอาขวดเปล่าไปรองน้ำที่หยดมาตามรอยแตกของหิน ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ด้านหลังปราสาทวัดพูมีร่องรอยงานแกะสลักที่ยังไม่แล้วเสร็จปรากฏอยู่

ด้านเหนือของตัวปราสาทมีก้อนหินใหญ่ก็มีร่องรอยของการแกะสลับรูปช้าง บันไดนาค และรอยลึกของจระเข้เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อ..

นับว่าเป็นปราสาทที่สวยอีกแห่งหนึ่งที่น่าไปชม หากการฟื้นฟูตัวปราสาทด้านล่างสำเร็จหมด ก็จะยิ่งสร้างคุณค่าของปราสาทวัดพูอีกมากมาย

ดอกลีลาวดีที่พื้นบันไดหินนั้นเหมือนเทวดามาโปรยปรายให้เหล่ามนุษยชนขึ้นไปดื่มด่ำกับอดีตกาลที่มีศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ต่างเพื่อสันติและธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน..


วันสตรีสากล..สตรีในมุมของอดีต

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มีนาคม 2010 เวลา 14:18 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 2054

เทวรูปอรรธนารีศวรพระองค์นี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์อุบลราชธานี อย่างที่บันทึกไปแล้ว และผมไปพบรูปนี้ที่พิพิธภัณฑ์ปราสาทวัดพู เมืองจำปาสัก ปากเซ ซึ่งเอารูปนี้ไปอธิบายเทวรูปที่เป็นวัตถุโบราณที่นั่น ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและไม่งดงามเท่าที่อุบล มีคำบรรยายเป็นภาษาลาว ผมให้น้องไกด์อ่านให้ฟัง

มีตอนหนึ่งพยายามอธิบายความหมายเทวรูปที่มีสองเพศนี้โดยกล่าวว่า

“….เนื่องจากสตรีคือพลังแห่งการสร้างโลก…”

เนื่องในวันสตรีสากลจึงหยิบเอามุมนี้ของ “อรรธนารีศวร” มาบอกกล่าวกันครับ

..สตรีจงเจริญ..


น้ำตาแห่งความสุข..

210 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กุมภาพันธ 2010 เวลา 11:00 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 3533

ไอหมอกลอยอ้อยอิ่งห่มคลุมขุนเขาในยามเช้า แลเห็นสีเหลืองทองรางๆของดวงตะวัน และเคลื่อนไหวกลายเป็นพระชราที่อุ้มบาตร ตามหลังด้วยเด็กชายที่ไว้หางเปียตัวน้อยสะพายย่ามเดินตามมาด้วย

ความอ่อนน้อมสงบเสงี่ยม หญิงชราอยู่หน้าบ้านห่มสไบเฉียงขาว ยกขันข้าวทูนขึ้นเหนือหัวขณะหลับตาปากพึมพำเบาๆ ดั่งจะขอพรให้ยามเช้านี้เป็นวันแห่งความศักดิ์สิทธิ์และดีงาม ขณะตักข้าวจากขันลงใส่บาตรพระพร้อมกับคาวหวาน มีมะม่วงสุกปากตะกร้อที่สุกคาต้นหย่อนลงมาด้วย ทำให้สายตาของเด็กหางเปียที่เดินตามหลังพระมาถึงกับตาลุกวาว


ที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียน พวกเด็กๆกำลังล้อมวงมุมดูเด็กหางเปียคนนั้นกำลังกอดปล้ำต่อยกันกับเด็กชายอีกคนหนึ่ง ขณะที่ครูผู้หญิงวิ่งเข้ามายุติ และถามว่าใครเป็นคนต่อยกัน เด็กที่ถูกต่อยจึงชี้ไปที่เด็กหางเปียว่าเป็นคนลงมือต่อยก่อน ครูสาวจึงหันไปถามเด็กชายเปีย “เธอต่อยเขาก่อนจริงหรือเปล่า” เด็กชายเปียก้มหน้าพยักหน้ารับคำด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ครูจึงให้ยืนหันหลัง และใช้ไม้เรียวหวดไปที่ก้นอย่างแรง 5 ครั้ง


ท่ามกลางที่เด็กนักเรียนยืนมุงดูมากมาย เด็กชายเปียยังคงสงบข่มความรู้สึกเจ็บปวดไว้ในใจ ครูสาวจึงเอ่ยถามว่า “เปีย เธอต่อยสมชายทำไม” เด็กชายเปียค่อยๆเอามือล้วงประเป๋ากางเกง หยิบมะม่วงสุกปากตะกร้อลูกนั้นออกมา แล้วยื่นส่งให้คุณครูซึ่งมองดูด้วยความฉงนสงสัยโดยไม่ยื่นมือออกไปรับ แต่สายตาเพ่งใส่เด็กชายเปียด้วยความคาดคั้น เด็กชายเปียสบตาคู่นั้นแล้วกล่าวว่า “ผมขอมะม่วงสุกปากตะกร้อจากหลวงตามาฝากคุณครู แต่สมชายแย่งเอาไป ผมจึงต่อยเขา”…..


ขณะนั้นเองที่น้ำตาของเด็กชายเปียเริ่มหลั่งไหล มือยังถือมะม่วงยื่นให้คุณครูอย่างวิงวอนร้องขอให้คุณครูช่วยรับไปด้วย………

(ผมขออนุญาตคัดลอกมาเพียงแค่นี้ เพราะแค่นี้ก็ให้อารมณ์ความรู้สึกที่สนั่น หวั่นไหวไปทั่วกายแล้วครับ ……)

————-

จากเรื่อง “น้ำตาแห่งความสุข” หนังสือ ความสุขที่ไม่ควรสูญเสีย โดยพระอาจารย์อำนาจ โอภาโส แห่งผาซ่อนแก้ว หน้า 251

กราบพระอาจารย์อำนาจ โอภาโส กราบขอบพระคุณป้าจุ๋มเป็นยิ่งนัก เรื่องแรกที่ผมอ่านก็ปิติเป็นล้นพ้นแล้วครับป้าจุ๋ม


“ชั่งหัวมัน”

19 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 มกราคม 2010 เวลา 23:58 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 1259

ได้กลับบ้านเกิดในวันหยุดยาววันพ่อ คุณพ่อก็ชวนขับรถเที่ยวอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดเพชรบุรี อย่างอำเภอท่ายาง
ไม่ได้มีที่เที่ยวน่าสนใจไปกว่า ชะอำ หัวหิน จึงนึกไม่ออกว่าจะขับรถไปเที่ยวที่ไหนได้อีกนอกจากสองที่นั้น
คำเชิญชวนต่อมาของพ่อชวนให้รู้สึกสนใจขึ้นไปอีก เพราะพ่อบอกว่า
“ไปดูไร่ที่ในหลวงซื้อเอาไว้ไหม”

พ่อเล่าต่อว่า ไร่นั้นอยู่ห่างไกลความเจริญ ถนนราดยางยังเข้าไม่ถึง ไฟฟ้าไม่มี แต่พระองค์ท่านทรงปลูกบ้านอยู่ที่นั่นเรียบร้อยแล้ว

บ้านมีสองหลัง หลังแรกของในหลวง หลังที่สองของพระเทพฯ ราชการทูลเกล้าถวายเลขที่บ้าน เลขที่ 1 กับเลขที่ 2 ให้

ฟังทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าพระองค์ท่านจะไปซื้อที่ดินในที่ธุรกันดาร แถมยังปลูกบ้านไว้ที่นั่นทำไม ในเมื่อปัจจุบันพระองค์ท่านก็อาศัยอยู่ที่หัวหินเป็นกิจลักษณะแล้ว แถมพ่อยังบอกอีกว่า ขับรถเข้าไปในที่ดินได้เลยนะ ทหารเขาให้เข้า ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ว่าเราจะเข้าไปขับรถเล่นในเขตพระราชฐานกันได้ยังไง ด้วยความอยากรู้ อันนี้ก็ต้องพิสูจน์ ไปกันดู จากตัวอำเภอท่ายาง ขับเลี้ยวเข้าไปทางตำบลเขากระปุก ถนนเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยไร่นา

นั่งมองต้นไม้ไปได้สักครู่ สองข้างถนนก็เริ่มมีธงชาติ ธงเหลือง ธงฟ้า และธงม่วง พร้อมตราสัญลักษณ์ของแต่ละพระองค์ (ราชาศัพท์เรียกอะไร??) ติดเต็มไปตลอดทาง ดูจากเสาธงก็รู้ว่าเป็นธงที่ชาวบ้านช่วยกันทำขึ้นอย่างตั้งใจเพื่อรับเสด็จ ข้างๆ ธงมีร่องรอยตะเกียงน้ำมันอย่างง่าย (หรืออาจเรียกได้ว่าคบไฟ) เพื่อรอรับเสด็จในเวลากลางคืน ทั้งธงและคบไฟบ่งบอกได้ว่าข่าวของพ่อไม่ผิด เรากำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ไร่ของในหลวงเข้าไปทุกขณะ

ในขณะที่นั่งชมทิวธงและคบไฟไปได้จนเริ่มง่วง ถนนราดยางก็เปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง ฝุ่นคลุ้งตลบ แต่เราคงมาไม่ผิดทางแน่
เพราะทิวธงยังคงอยู่ มองไปแต่ไกลเห็นภูเขาขนาดย่อมอยู่ตรงหน้า กังหันผลิตไฟฟ้าประมาณสิบกว่าต้น สูงเด่น มีรถทะเบียนกรุงเทพฯ วิ่งสวนมาเป็นระยะ ฝุ่นฟุ้งกระจายเต็มถนนแคบ

รั้วลวดหนามทอดตัวยาวไกล ต้นไม้หลากหลายชนิดเรียงตัวเป็นระเบียบอยู่ในนั้น เขื่อนดินขนาดใหญ่ พร้อมศาลาเก้าเหลี่ยมสูงเด่น เราเดินทางมาถึงไร่ของในหลวงกันแล้ว เมื่อแลกบัตรที่ป้อมทหาร และเลี้ยวรถเข้าไป ก็เพิ่งถึงบางอ้อ ที่ดินจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ว่าไม่ใช่ไร่ที่ซื้อเอาไว้หลบหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง หรือใช้ตากอากาศ แต่มันคือที่ดินเพื่อใช้เป็น โครงการในพระราชดำริ
ที่มีชื่อมันๆ ว่า “โครงการชั่งหัวมัน”

ดูจากวันที่ตั้งโครงการ คาดว่าน่าจะเป็นโครงการล่าสุดเลยทีเดียว พอได้เดินเข้าไปในโครงการก็เกิดอาการซาบซึ้ง เพราะไม่นึกว่าในหลวงที่เราเห็นในทีวีที่แทบไม่มีแรงยกมือ กลับยังมีใจ + มีไฟ ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ในถิ่นที่อยู่ห่างไกลความเจริญอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหยุด

ดูจากบอร์ดภายในโครงการ อธิบายว่า โครงการนี้เป็นเสมือนแปลงทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่น อันได้แก่ มะนาว มะพร้าว ชมพู่เพชร และพืชไร่ พืชสวน อะไรอีกจิปาถะมากมายที่ไม่รู้จัก หรือไม่มีความรู้พอจะเขียนถึง

มีการขุดบ่อ (หรือในโครงการคือเขื่อน) เพื่อเก็บกักน้ำ มีกังหันและโซล่าเซลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เหมือนจะเป็นแบบทดลองตัวอย่างแก่เกษตรกรโดยรอบ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต แบบพึ่งพาตัวเอง

และเหนือสิ่งอื่นใด พอมีข่าวในหลวงเสด็จมาตั้งโครงการปั๊บชาวบ้านแถวนั้นก็ดีใจกันยกใหญ่ หลายคนถวายแรงกายแรงใจ เข้ามาช่วยงานในโครงการฟรีชาวบ้านบางคนที่ทำงานอยู่ในนั้น พูดอวดใครต่อใครที่มาเยือนว่าได้ก้มลงกราบฝ่าพระบาทถวายตัวรับใช้งาน
พูดไปน้ำตาไหลไป มีความภาคภูมิใจในถิ่นที่เกิดและอาชีพของตัวเอง นี่คือเรื่องราวๆ ดีๆ เพียงไม่กี่เรื่องในรอบปีที่ได้รู้แล้วก็อยากเอามาเล่าต่อ นี้ก็เป็นโครงการที่เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีประโยชน์เพื่อการพัฒนารากเหง้าของชาวบ้านที่แท้จริง ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานฝรั่ง แต่เอารากที่เมืองไทยมี คือการเกษตร มาพัฒนา ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมัน ไม่ต้องตามตลาดโลก ไม่ต้องป่าวประกาศ ไม่ต้องออกข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ทำอย่างเงียบๆ ทำดีอย่างที่ในหลวงบอกคนไทยเสมอว่าเป็นการ
“ปิดทองหลังพระ” อย่างแท้จริงและงานแบบนี้ ถ้าในหลวงไม่ทำ ก็อย่าหวังว่ารัฐบาลชุดไหนจะมาทำให้คนไทย รับรองได้ว่าไม่มีแน่ๆแถมท้าย หลังจากกลับมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ในอินเตอร์เน็ต

ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชื่อที่มาของโครงการว่า ตอนที่ในหลวงเสด็จมาที่ที่ดินนี้ครั้งแรกๆ มีชาวบ้านเอาหัวมันมาถวายแต่ยังไงไม่รู้ ในหลวงทรงลืมเอาหัวมันกลับไปด้วย พอกลับมาที่ที่ดินนี้อีกที หัวมันนั้นก็เริ่มงอกขึ้นมาเป็นต้น

เมื่อถึงเวลา ก็พระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการชั่งหัวมัน”

ถ้าใครได้ติดตามผลงานของในหลวงมาตลอด ก็จะรู้ว่า ในหลวงท่านทรงมีเอกลักษณ์ในการตั้งชื่อแบบนี้ ชื่อไทย+จำง่าย+ มีอารมณ์ขัน (ต่างจาก to be number one จริงๆ) หลายคนต่างก็ตีความคำว่า ชั่งหัวมัน ไปต่างๆ นานา แต่การตีความไปได้ต่างๆ ก็เป็นเสน่ห์ที่ดีอีกอย่างหนึ่งของการตั้งชื่อ ดังนั้น แล้วแต่ใครจะไปคิดเป็นอะไรก็แล้วกัน

แต่ส่วนตัวของกระผมคิดว่าพระองค์ท่านน่าจะมีความสุขทีเดียวที่ได้ทำงานนี้ การได้เลี้ยวรถจากหัวหินมาแวะที่โครงการชั่งหัวมัน
ถ้ามันสร้างความสุขให้พระองค์ท่านได้ สร้างความสุขให้กับชาวบ้านแถวนี้ได้ ผลผลิตทางการเกษตรก็ถือเป็นของแถมไปแล้ว

โครงการชั่งมัน ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ภาพข้างล่างคือ
บ้านพักส่วนพระองค์ของในหลวง บ้านเลขที่ 1 เด่นเป็นสง่าภายในโครงการ



Meeting on blog

301 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 เวลา 20:34 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2365

เราทราบกันดีว่าสังคม Blog ได้สร้างมิติใหม่ของการเรียนรู้ในบ้านเรา ที่เรียก KM และแนวความคิดเรื่องนี้ก็กระจายไปมาก มี Blog เกิดขึ้นมากมายจนนับไม่ถ้วน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ทั้งที่ก่อประโยชน์ และสร้างปัญหา

แต่ที่ลานแห่งนี้เป็นกลุ่มคนคอเดียวกัน แต่ก็กำลังเคลื่อนตัวไปสะดุดบ้าง ราบรื่นบ้างก็เป็นไปตามปรากฏการณ์ของการเคลื่อนตัวขององค์กรที่ผมเฝ้าสังเกตมา ผมไม่กล่าวถึงตรงนั้น แต่อยากจะขยายมุมมองที่พ่อครูบาฯพยายามใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ และได้ใช้มาแล้วหลายครั้ง ท่านเองก็พอใจ(ระดับหนึ่ง)

ผมเข้ามาอยู่ในวงการนี้ก็ สามปีแล้ว เห็นประโยชน์และพยายามเอาไปขยายสู่องค์กรที่สังกัด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเลย ทั้งหมดเป็นผู้อ่านเพียงอย่างเดียว แปลกนะ เวลาประชุมต่อหน้าบ่อยครั้งก็คุยกันข้ามวันข้ามคืน แต่ไม่เขียน เวลาผมเขียนก็ไม่มีความคิดเห็นย้อนกลับ เฉย เงียบ เลยไม่รู้ว่า เอ มันเอาไงแน่ รู้แต่ว่า หัวหน้างานที่เป็นชาวต่างประเทศ เอาไปแปลและสนับสนุนให้ขยายเรื่องนี้ต่อไปจนเปิด Web ขององค์กร แล้วอบรมเลขานุการทุกสำนักงานให้เอาผลงานทุกอย่างของโครงการไปใส่ที่นั่น เพื่อทุกคนจะได้เข้าถึงข้อมูลทันที ลดการส่ง Fax เอกสารที่เป็น hard copy ลดต้นทุน…

ย้อนกลับมาที่ ประเด็นของพ่อครูฯ ที่ท่านใช้ Blog เป็นเวทีระดมความคิดเห็น และหลายๆคนก็แสดงความเห็นไปใน Comment และท่านก็เอาผลไปประมวลแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆต่อไป ผมอยากเรียกว่า เป็นการประชุมทาง Blog ซึ่งผมชอบมาก การประชุมทาง Blog นี้มีประโยชน์หลายประการ


อย่างที่ผมลองสรุปมาเป็นเบื้องต้นนี้ ผมประมวลว่า ทั้งตัว Blog นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจและความคิดเห็นของเพื่อนๆที่แสดงเข้ามาก็น่าสนใจ หลายครั้งผมพบว่ามันช่วย เตือนสติเรา เป็นความรู้ใหม่มีประโยชน์ก็เอาไปปรับใช้ มีมากมาย เช่น การปลูกผักของโสทร ผมก็เอาไปใช้ แนวทางการป้องกันโรคของหมอตา ความรู้เรื่องกฎหมายที่ดินที่ อัยการเล่าให้ฟัง พืชผักที่เป็นประโยชน์ต่างๆที่อาม่าเอามาขยาย ที่พ่อครูเล่าให้ฟัง โอยมากมาย

ความรู้ทั้งหลายนั้นเอามาวางในที่สาธารณะใครๆก็เข้ามาเรียนรู้ได้ ทุกเมื่อเชื่อวัน วงสังคมนี้เชื่อมความสัมพันธ์แก่กัน ผมมาอยู่ขอนแก่นจนเป็นชาวขอนแก่นไปแล้วนานมาแล้วไม่รู้จักป้าหวานที่อยู่ใกล้ๆกันเอง แต่ก็มารู้จักกันใน Blog นี้ และที่สำคัญ หากมีการระดมความคิดเห็นต่อประเด็นใดๆ ก็สามารถเอาเหตุผลทั้งหมดนั้นมาสรุปความรู้ได้

มันก็เหมือนการประชุมทาง Blog นี่เอง


ผมสนับสนุนเวทีแบบนี้ เพราะผมมองเห็นประโยชน์หลายอย่าง ดังตัวอย่างที่ผมสรุปมาในแผนผังข้างบนนี้ เลยนึกไปถึงว่า คนข้างกายผมเดินทางไปประชุมกรุงเทพบ่อย จน ไมล์เลจน์ มากพอที่จะได้ตั๋วฟรีให้ลูกสาวบินไปไหนต่อไหนมาหลายครั้งแล้ว

ผมลองคำนวณดูว่า หากเราประชุมทาง Blog โดยไม่เดินทาง คงจะประหยัดงบประมาณมากมายทีเดียว เช่น ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าแท็กซี่ ค่าอื่นๆ ต่อคนก็ไม่ใช่น้อย และเอาจำนวนคนคูณเข้าไปก็มหาศาลทีเดียว การประชุมหลายครั้งก็ไม่ได้พูดสักคำ ปิดประชุมแล้ว

ยกเว้นการประชุมที่สำคัญๆที่จำเป็นต้องเห็นกันต่อหน้า

แน่นอนจุดอ่อนก็มี แต่เราก็สามารถพิจารณาได้ว่า การประชุมแบบไหนที่ใช้ Blog ก็พอ การประชุมแบบไหนที่ต้องแบบเห็นหน้ากัน หรือจะใช้แบบ tele-conference ก็เป็นทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน


ในหลวงของแผ่นดิน..

31 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 เวลา 13:15 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 876

ผมเชื่อว่าบทความสั้นๆต่อไปนี้ทุกท่านคงผ่านตามาแล้ว แต่ผมก็ยังประสงค์บันทึกในลานนี้อีกเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ลานปัญญาต่อไป เจตนาผมต้องการเทิดทูลพระองค์ท่าน ในวาระที่จะครบรอบวันสำคัญ 5 ธันวาคมที่จะมาถึงนี้ ผมไม่เคยมีบุญได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท แต่การทำงานเพื่อสังคม และพยายามเป็นคนดี ก็ถือว่าสนองพระคุณแด่พระองค์ท่าน และแผ่นดินนี้

ต่อไปเป็น FW mail ที่ผมได้รับมาสามรอบแล้วครับ จึงขอนำมาบันทึกในที่นี้เพื่อเตือนสติแก่พวกเราด้วย

————————————-

30 บาทรักษาทุกโรค

ในขณะที่ในหลวงท่านทรงประชวรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่เมื่อต้นปีนี้ มีข้าราชบริพารเข้าเยี่ยมจำนวนมาก ทุกคนคงจำได้ที่เป็นข่าวใหญ่โตที่นายกฯท่านหนึ่ง บังอาจถวายบัตร 30 บาท ให้พระองค์ เพื่อใช้สิทธิ์ สร้างความแค้นเคืองใจให้พสกนิกรชาวไทยทุกคน แต่ไม่มีใครรู้เบื้องหลังว่าพระองค์ทรงตอบว่าอย่างไร ในหลวงทรงตรัสว่า “ไม่เป็นไรหรอกหากข้าพเจ้าไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ แต่คงสามารถใช้บัตรผู้สูงอายุได้หรือจะใช้สิทธิข้าราชการของบุตรี (ฟ้าหญิง) ก็ได้”
ท่านพูดเสียงเรียบๆ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกลบหลู่เลยพูดเสร็จก็ยื่นบัตรทองใบนั้น ให้นายกที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ฟังแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ว่าท่านตอบได้น่ารักมาก เคยมีคนถามผมว่านับถือใครมากที่สุด คิดถึงคนแรกและคนเดียวเลยคือ ในหลวงท่านเหนือกว่ากษัตริย์ใดในโลกหล้ายิ่งใหญ่กว่าวีรบุรุษคนใดในตำนาน มีคุณธรรมประเสริฐล้ำเทียบพระโพธิสัตว์ ขอถวายความจงรักภักดีจนกว่าชีวีจะหาไม่

เชื้อโรคตายหมด

หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการโครงการหลวง

……. เหตุการณ์ในปี ๒๔๑๓ ที่ควรจะนำมากล่าว เพราะมีผลต่อจิตใจของชาวเขา และควรที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ทราบเพื่อพยายามเดินตาม “เบื้องยุคลบาท”วันนั้นเสด็จฯ ไปหมู่บ้านดอยจอมหด พร้าว เชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ “ไปแอ่วบ้านเฮา” ก็เสด็จฯ ตามเขาเข้าไปบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ และมุงหญ้าแห้งเขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้างจนมีคราบดำ ๆ จับ ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงเพราะตามปกติ ไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ จึงกระซิบทูลว่าควรจะทรงทำท่าเสวยแล้วส่งถ้วยมา พระราชทานให้ผู้เขียนจัดการ แต่ก็ทรงดวดเองกร้อบเดียวเกลี้ยง ตอนหลังรับสั่งว่า..”ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด” จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ

ข้าวผัดไข่ดาว โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

วันหนึ่งเสด็จฯเขาค้อเปิดอนุสาวรีย์ พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จพระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนักเฟื่อจะทรงเปลี่ยน ฉลองพระบาทเพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง………เราก็ไม่ได้ทานข้าวไม่มีใครทานข้าว ตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้วก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาทสักยี่สิบนาทีน่าจะพุ้ยข้าวทันก็รีบวิ่งไปห้องอาหารที่เตรียมไว้ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ ตามเสด็จเขาทานกันหมดแล้วในนั้นจึงเหลือข้าวผัดติด ก้นกระบะกับมีไข่ดาวิ้งแห้งไว้ 3-4 ใบ เราก็ตักเห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้ มีข้าวผัดเหมือนอย่างเราไข่ดาวโปะใบหนึ่ง มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่เพื่อนผมก็จะไปหยิบมา มหาดเล็กบอกว่า “ไม่ได้ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก”
ดูสิครับตักมาจากก้นกระบะเลยผมนี่น้ำตาแทบไหลเลยท่านเสวยเหมือนๆกันกับเรา…… ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ


พับเพียบ

รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ผู้สนองพระราชดำริ ในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศ และอิเล็กทรอนิกส์

… ในครั้งแรก ผมทำงานตามพระราชดำริ โดยไม่ทราบว่าเป็นงานของพระองค์จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนบอกว่า ให้เข้าไปในวังด้วยกัน และให้นำระบบสายอากาศชนิดใหม่ขึ้นไปติดตั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มาแต่ว่าแปลกใจทำไมอยู่ดี ๆเจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆอย่บนดาดฟ้าของพระตำหนักถึงปีนลงมาทั้ง ๆ ที่งานยังไม่เสร็จ แท้ที่จริงพระองค์ท่านเสด็จฯ มายืนอยู่ข้างหลัง ผมเหลียวหลังไปมองนิดหนึ่ง ครั้นพอเห็นพระองค์ท่านก็ตกใจ เป็นอาการวูบขึ้นมาทันที นึกอยู่ในใจว่าใช่แล้ว ใช่แน่ ๆ เพราะคิดว่าเหมือนในรูปผมก็รีบทำความเคารพ แล้วก็ทำอะไรไม่ถูก สิ่งที่ผมจำได้คือเราต้องอยู่ต่ำกว่าจึงรีบคุกเข่าให้ต่ำลงมา เป็นเหมือนชันเข่า เพราะว่าตอนนั้นพระองค์ท่านประทับยืนอยู่ ถ้านั่งพับเพียบเลยก็จะต่ำเกินไปเพราะว่าผมต้องพูดอธิบายด้วย ปรากฏว่าพระองค์ท่านก็คุกเข่าลงไปด้วย ผมก็เลยนั่งพับเพียบให้ต่ำลงไปอีก พระองค์ท่านก็ประทับพับเพียบเหมือนกันเลยกลายเป็นว่าวันนั้น นั่งพับเพียบสนทนากัน ๒-๓ ชั่วโมงบนดาดฟ้าพระตำหนักในเวลาช่วง บ่ายที่ร้อนเปรี้ยง ……. จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ

ไม่ต้องกั้น

โดยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล มีอยู่ครั้งหนึ่งเสด็จฯไปที่เซ็นทรัลวันที่มีประชุมรัฐสภาโลก วันนั้นผมจำได้ผมติดอยู่บนท้องถนนฝนตก ผมก็มีวิทยุเลยได้ยินรับสั่งมากับตำรวจมาเลย “วันนี้ไม่ต้องกั้นรถ”ทรงเข้าใจความทุกข์ของราษฎรอยู่ตลอดเวลา วันนี้เป็นวันฝนตกรถติดกันอย่างมหาศาล ถ้าขืนต้องไปติดขบวนอีกสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนทรงวิทยุบอกตำรวจว่า “ขบวนจะแล่นไปพร้อมกับรถของประชาชนไม่ต้องกั้นเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน” จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ

กส. ๙

พลตำรวจตรี สุชาติ เผือนสกนธ์อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข
..พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้เครื่องวิทยุที่ทรงมีอยู่ เฝ้าฟังและติดต่อกับ “ปทุมวัน” และ “ผ่านฟ้า” เป็นครั้งคราวเมื่อทรงว่างพระราชภารกิจอื่น การติดต่อทางวิทยุได้ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ผู้ที่ติดต่อกับพระองค์ท่านไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ พระองค์ท่านทรงจดจำสัญญาณเรียกขาน, ประมวลคำย่อ (โค๊ด “ว”)ได้อย่างแม่นยำ และใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยยังปฏิบัติไม่ได้ โดยการรับฟังการติดต่อในข่ายวิทยุของตำรวจนี้เองจึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นข่าวโจรกรรม ,อัคคีภัย ,การจราจรได้ทุกระยะ ในการเสด็จจากที่ประทับของพระองค์ท่านเพื่อปฏิบัติพระราชภารกิจ


… จึงทรงพระกรุณารับสั่งให้สมุหราชองครักษ์ติดต่อประสานงานกับกรมตำรวจ ให้สั่งการสถานีตำรวจท้องที่ติดต่อสื่อสารทางวิทยุกับแผนกรักษาความปลอดภัย บุคคลสำคัญ กรมราชองครักษ์ เพื่อจะได้ทราบกำหนดเวลาเสด็จออกจากพระตำหนักที่ใกล้เคียง และปิดการจราจรในเส้นทางผ่านเพียงช่วงเวลาสั้น ๆประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อน

… มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้รับสั่งทางวิทยุ กับพนักงานวิทยุ
สถานีวิทยุกองกำกับการตำรวจนนทบุรี เพื่อจะพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติ การสื่อสารบางประการโดยทรงใช้สัญญาณเรียกขานว่า “กส. ๙” ติดต่อเข้าไป พนักงานวิทยุผู้นั้นจำพระสุรเสียง ไม่ได้จึงได้สอบถามว่า “เป็น กส.๙” จริงหรือปลอม ทั้งดูเหมือนจะใช้คำพูดไม่สู้จะเรียบร้อยเรื่องนี้จึงเดือดร้อน มาถึงผู้เขียน เนื่องจากได้รับสั่งเล่าเหตุการณ์มาให้ทราบเพื่อให้ช่วยยืนยันว่าเป็น “กส.๙ จริง”

…ด้วยพระมหากรุณาธคุณ พระองค์ท่าน ยังทรงห่วงใยว่าพนักงานวิทยุผู้นั้น จะถูกลงโทษทางวินัย จึงได้รับสั่งทางวิทยุให้ผู้เขียนติดต่อประสานงานกับผู้บังคับบัญชาของพนักงานวิทยุ ขออย่าให้มีการลงโทษเลย จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ

ตัวยึกยือ

มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อดีตเลขาธิการ สำนักงานกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

…… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจะพระราชดำเนินด้วยพระบาท เข้าไปในป่ายางท่ามกลางฝนตกหนักโดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตามรอยพระยุคลบาทไปไม่ห่างเป็นระยะทางถึง ๒ กม. เศษ

…. นี่คือสิ่งที่มิใช่สามัญธรรมดาในความรู้สึก ของผู้คนและความไม่สามัญ ธรรมดานี้ ก็ยิ่งไม่ธรรมดามากยิ่งขึ้น เป็นทวีคูณเนื่องเพราะบริเวณนี้คือ “ดงทาก” หรือ “รังทาก”อันมีทากชุกชุม ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

…กว่าจะถึงจุดหมาย คือบริเวณพื้นที่ที่จะพิจารณาสร้าง อ่างเก็บน้ำเพื่อใหม่มีน้ำไว้ใช้ สำหรับพื้นที่ ๕,๐๐๐ ไร่ใน ๓ เขตตำบลคือ เชิงคีรี มะยูง และรือเสาะ เกือบทุกคนก็โชกฝน และโชกเลือด แม้ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์ ก็มิได้รับยกเว้น


….. ค่ำวันนั้น ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อากาศปลายฤดูฝน กำลังสบาย ดวงดาวบนท้องฟ้า เริ่มจะปรายแสงขบวนรถยนต์พระที่นั่ง ได้หยุดลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุบนทางหลวงที่มืดสงัด เป็นเวลาหลายนาทีถามไถ่ได้ความภายหลังว่ายังมีทากหลงเหลือ กัดติดพระวรกายอยู่อีก เมื่อรู้สึกพระองค์จึงได้ทรงหยุดรถยนต์พระที่นั่งและรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯช่วยจับทากที่ตัวเป่งด้วยพระโลหิตออกจากพระวรกาย

… ทรงเรียกการทรงงานวิบาก ที่เชิงคีรีครั้งนี้ในภายหลังว่าสงครามกับตัวยึกยือ ที่เชิงคีรี “  จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ


ปมเชือก..

1908 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 เวลา 16:05 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 24482

วันนั้นไปทานอาหารเจที่ร้านประจำที่มุกดาหาร เมื่อเสร็จจะกลับสำนักงาน ผมเห็นชายท่านนี้นั่งยิ้มคนเดียว แล้วก็ก้มหน้าแกะปมเชือกขนาดใหญ่อย่างไม่สนใจใคร ผมหยุดดู
ท่านก็ไม่สนใจ เงยหน้ายิ้ม กึ่งหัวเราะ แล้วก็ก้มหน้าแกะปมเชือกต่อ

….ความสนใจของเขา

โลกของเขาอยู่ที่ปมเชือกนั้น..เท่านั้น…


ไม่ได้เอาอะไรมาตอนเกิด

ยามตายจากไปก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้

นอกจากความดี ความชั่ว ที่คนข้างหลังกล่าวถึง


ปัจจุบันผมทำอะไรอยู่เล่า

ผมถามตัวเองในใจ…


เด็กวิเศษฯ..เขน็ด…

556 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2009 เวลา 21:17 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9453

ช่วงนี้ขับรถไปมุกดาหารก็อดที่จะหยุดรถดูข้างทางไม่ได้ เพราะท้องทุ่งอร่ามสีทองเต็มไปหมด


เลยถือโอกาสบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับฤดูกาลนี้ในภาคกลางสมัยที่ผมยังเป็นเด็กเล็ก เท่าที่ความทรงจำยังมีอยู่

กระบวนวิธีการเก็บเกี่ยวข้าวของภาคกลางและอีสานมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ที่เห็นชัดๆคือการมัดข้าว อีสานกับภาคเหนือจะมีความคล้ายคลึงกันมาก คือ มัดข้าวด้วย “ตอก” ที่ทำมาจากไม้ไผ่ที่มีธุรกิจด้านนี้ทำเงินจำนวนไม่น้อย ขนาดข้าวที่มัดนั้นทางอีสานกับภาคเหนือมีขนาดใกล้เคียงกันคือ ประมาณเอาสองมือมากำได้พอดี เพราะเป็นขนาดที่เหมาะที่จะเอามือจับแล้วตีเพื่อเอาเมล็ดออกก่อนจะเหลือฟางข้าวแล้วเอาทิ้งไปหรือเอาไปประโยชน์อย่างอื่นต่อ


ส่วนภาคกลางนั้นไม่ได้ใช้ “ตอก” แต่ใช้เขน็ด อ่านขะเน็ด ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกไหมเพราะเป็นคำที่ไม่ได้ใช้มานานมากแล้ว เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักเขน็ดแล้ว เขน็ดก็คือ ต้นข้าวที่เอารวงข้าวออกแล้ว เอามาหลายๆต้นแล้วเอามาควั่นเหมือนเชือก เพื่อเอาไปใช้มัดข้าวที่เกี่ยว ให้เป็น “ฟ่อน” ฟ่อนข้าวภาคกลางมีขนาดเท่ากับเอาสองมือโอบรัดได้พอดี

พ่อจะตื่นแต่เช้ามืดคว้าเคียวเกี่ยวข้าวไปเกี่ยวข้าวพอประมาณไปกองไว้ในที่ที่เหมาะสม แล้วก็เอาเคียวนั้นเกี่ยวต้นข้าวที่มีความยาวมากกว่า 1 วาของเรา ท่านอย่าลืมนะครับว่าทุ่งนาภาคกลางนั้นเป็นนาน้ำท่วมลึกท่วมหัวคน ชาวนาภาคกลางก็จะใช้พันธุ์ข้าวที่เรียก “ฟางลอย” ที่ต้นข้าวจะยืดยาวมากเท่าที่น้ำท่วมสูง น้ำท่วมแค่ไหน ต้นข้าวก็จะสร้างตัวเองให้ยืดยาวมากกว่าความสูงของน้ำที่ท่วม แล้วชูรวงข้าวขึ้นเหนือน้ำ เมื่อข้าวสุก ก็พอดีน้ำลดลงเมื่อน้ำลดลงหมด ต้นข้าวก็จะราบเรียบนอนไปในทิศทางเดียวกันตามทิศทางการไหลของน้ำ ไม่ตั้งต้นเหมือนข้าวภาคอีสานหรือภาคเหนือ

เขน็ดที่พ่อนำทุกเช้าก็มากเพียงพอใช้มัดข้าวในเกี่ยวได้ในแต่ละวัน ชาวนาที่ลงมือทำเองรู้ดีว่าจะต้องทำเขน็ดจำนวนเท่าไหร่ คนที่ทำเขน็ดไม่มีคุณภาพดีพอเวลาเอาไปมัดข้าวให้เป็นฟ่อนก็อาจจะเกิดขาดทำให้ข้าวเสียหายได้… หลายครั้งเห็นพ่อเอาต้นข้าวที่จะมาทำเขน็ดแผ่เอาไว้ตั้งแต่เย็นจนรุ่งเช้าจึงตื่นมาทำเขน็ด พ่อบอกว่า ทิ้งให้น้ำค้างมันลงจับต้นข้าวจะได้เหนียวไม่แห้งกรอบจะช่วยให้คุณภาพเขน็ดดี

ผมไม่เห็น “เขน็ด” มานานแล้วครับ


เด็กวิเศษฯ ๑

2528 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 เวลา 2:19 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 18649

บ้านผมอยู่ติดวัด กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นที่วัดจึงอยู่ในสายตาครอบครัวผมทั้งหมด บ้านติดแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา แยกมาจากตัวเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท และไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งที่จังหวัดอยุธยา แม่น้ำน้อยเส้นนี้มีบทบาทสำคัญในอดีต เพราะไหลผ่านตัวเมืองวิเศษชัยชาญ ที่เป็นเมืองด่านสำคัญก่อนที่พม่าจะเข้าถึงกรุงศรีอยุธยา


วัดใกล้ๆบ้านยังมีร่องรอยของบรรยากาศการสู้รบกับพม่า คือมีการพบกะโหลกศีรษะคนโบราณที่บนเพดานโบสถ์วัดอ้อย คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมาว่า เป็นกะโหลกชาวบ้านที่หนีกองทัพพม่าขึ้นไปแอบบนเพดานโบสถ์ จนกระทั่งเสียชีวิตบนนั้น


การที่มีบ้านติดแม่น้ำนั้นมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ส่วนดีก็คือ หน้าหนาวก็ไม่หนาวจัดเพราะไออุ่นจากน้ำจะส่งผลไปถึงบ้านที่อยู่ติดแม่น้ำ และหน้าร้อนก็ได้ลมที่พัดมาตามลำน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน ก็ลดความร้อนลงไปได้ แต่ข้อเสียคือ ตลิ่งหน้าบ้านพังทุกปี จนถึงเสาเรือนและในที่สุดก็ต้องย้ายบ้านไป บ้านที่ปลูกริมแม่น้ำในมุมที่น้ำกัดเซาะนั้นจะพบปัญหานี้ทั้งนั้น ครอบครัวที่มีเงินก็ลงทุนทำที่ชะลอน้ำที่ภาษาภาคกลางเรียก “รอ” หรือ เขื่อน กันตลิ่งพัง แต่โดยทั่วไปก็จะใช้ปลูกต้นไม้ ที่นิยมมากคือ “ต้นพง” น่าจะประเภทเดียวกับ แขม อ้อ (หากผิดพลาดก็อภัยนะครับ)

บ้านภาคกลางนั้นจะมีทรงเดียวคือใต้ถุนสูง มีหลายเหตุผล คือ ภาคกลางนั้นน้ำท่วมจำเป็นต้องยกพื้นสูง การมีบ้านใต้ถุนสูงช่วยในเรื่องการถ่ายเทลมได้ดี จึงช่วยลดความร้อนในช่วงฤดูร้อนได้ และมีหลายหลังคาเรือนที่ใช้ใต้ถุนบ้านดัดแปลงเป็นคอกสัตว์ ซึ่งส่วนมากเป็นควาย ในช่วงฤดูแล้ง หากช่วงน้ำหลากก็ย้ายควายไปอยู่บนร้าน หรือที่อยู่ของควายที่สร้างเป็นเรือนยกพื้นสูงขึ้น ไม่มีฝา อาจจะมีหลังคา แต่ก็โปร่ง ตลอดช่วงน้ำท่วมควายจะอยู่บนเรือนนั้น เจ้าของจะเกี่ยวหญ้ามาให้กิน และจูงลงมากินน้ำ หรือตักน้ำไปให้กิน
หรือจูงลงไปอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้ ควายชอบน้ำ จึงชอบนอนในน้ำเป็นเวลานาน เด็กๆก็ขึ้นไปขี่บนหลังพร้อมกับขัดตัวให้ด้วย ชาวนาจึงใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่ใช้แรงงานมาก

บ้านผมทั้งติดวัดและติดคอกควายของเพื่อนบ้าน จึงนอนดมกลิ่นขี้ควายตลอด ชาวนาจะแข่งขันกันเลี้ยงควายให้อ้วนท้วนและอวดกัน คุณพ่อผมนอกจากรับราชการเป็นครูใหญ่แล้วก็ทำนาช่วยแม่ด้วย พ่อจึงมีควายโปรดสองตัวไอ้ม่วงกับไอ้มั่น อ้วนท้วนมาก เรียกว่าควายถึกก็ได้


ผมเฉียดตายมาแล้วเพราะเจ้าสองตัวนี่แหละ ครั้งหนึ่งช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้วเสร็จ ก็ต้องขนย้ายฟ่อนข้าวเข้าลานใกล้ๆบ้านพัก การขนย้ายฟ่อนข้าวก็จะใช้เกวียนเทียมควาย เกวียนก็มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก หากเล็กมากๆก็เรียก “เลื่อน” ที่บ้านมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง วันนั้นพ่อให้ผมเอาเกวียนขนาดกลางไปขนข้าวกลางนาที่มีญาติพี่น้องคอยอยู่ที่ทุ่งนาแล้ว ให้ผมเอาเกวียนเทียมไอ้ม่วงไอ้มั่นไปบรรทุกกลับมา นัยว่าพ่อต้องการฝึกผมทำงาน ผมก็สนุกซี นั่งบนเกวียนที่มีควายถึงอ้วนท้วนเป็นแรงลากเกวียนไป สักพักเดียว มันเห็นควายตัวเมียเพื่อนบ้านอยู่ข้างหน้า มันก็เดินอย่างเร็วไปหาตัวเมีย จะบังคับหรือส่งเสียงอย่างไรมันก็ไม่ฟัง มุ่งแต่จะไปหาตัวเมีย

ยิ่งดึงยิ่งบังคับมันยิ่งโขยก หรือวิ่งเหยาะๆไป มันเป็นเกวียนนะไม่ใช่รถ ล้อเกวียนไม่มีโชคอับ ไม่มียาง มีแต่ไม้ล้วนๆ เกวียนถูกควายถึกลากไปออกนอกเส้นทางมันก็ไปโดนคันนาเข้าซิ เกวียนก็กระดอนโหยง เท่านั้นเอง ผมก็ตัดสินใจกระโดดลงจากเกวียน ปล่อยให้ควายถึงวิ่งไปหาตัวเมียทั้งที่บ่ามันเทียมเกวียนอยู่ ดูดู๋ ความรักของมันหน้ามืดตามัวไม่ฟังเสียงเจ้าของแล้ว ปรากฏว่าเกวียนพังล้อหลุดไปข้างหนึ่งมันจึงหยุดเพราะวิ่งต่อไปไม่ได้แล้ว พ่อผมและเพื่อนบ้านเห็นจึงวิ่งมาช่วยกันจับ…เฮ่อ เกือบพิการไปแล้ว.. ชาวบ้านจึงมักตอนควาย การตอนก็ทำให้ฮอร์โมนเพศลดลงหรือหมดไป ทำให้ฤดูการ “เป็นสัตว์” ของควายที่ตอนแล้วไม่ดุดันอย่างที่เล่ามา

แล้วท่านทราบไหมว่าภาคกลางแต่ก่อนนั้นเขา “สนสะพาย” “ตอนควาย” ทำ “ลานกองข้าว” กันอย่างไร….



จดหมายเปิดผนึกถึงพ่อครูบาฯ ลุงเอก อาม่า ป้าจุ๋ม และชาวลานทุกท่าน

98 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 ตุลาคม 2009 เวลา 9:58 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 5452


ที่ http://lanpanya.com/dongluang/archives/1207#comment-681

คุยกับ Nothing เกี่ยวกับวันเด็ก สั้นๆ แล้วเกิดความคิดว่า หากสมาชิก Lan เราเขียนเล่าชีวิตวัยเด็ก เน้นเฉพาะวัยเด็กเอามาสู่กันฟังก็น่าสนใจนะครับ เหตุผลนั้นผมคิดว่าอยากศึกษาว่าชีวิตวันเด็กแต่ละคนนั้นเติบโตมาในสภาพใด จนมาเป็นปัจจุบัน

ผมสนใจการบันทึกอดีตของปัจจุบันผ่านตัวบุคคล โดยเริ่มจากสมาชิกลานก่อนซึ่งมีอยู่ทุกภาคทุกส่วน น่าที่จะสะท้อนสิ่งต่อไปนี้

  1. วิถีครอบครัวของคนสมัยนั้น
  2. วีถีสังคมที่อยู่อาศัย ท้องถิ่น ระบบสังคม ญาติพี่น้อง
  3. สิ่งแวดล้อมต่างๆ ดิน น้ำ อากาศ ต้นไม้ คน ฯลฯ
  4. ระบบวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม ฯลฯ
  5. ระบบการศึกษา โรงเรียนวัดนั้นไม่เคยเห็นแล้วในปัจจุบัน แบบเรียนหนังสือ ระบบการตี การท่องบ่น ฯลฯ
  6. การทำมาหากิน อาชีพ การพึ่งพาอาศัย ดินฟ้าอากาศ
  7. การเติบโตของคนไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงสังคม เล่าให้ละเอียดว่าสังคมเปลี่ยนอย่างไร แล้วส่งผลต่อเราอย่างไรต่อครอบครัว ต่อเพื่อนบ้าน ท้องถิ่นอย่างไร
  8. เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงมีอิทธิพลความคิดเราอย่างไร
  9. วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า เข้ามาเมื่อไหร่ มีอิทธิพลอย่างไร
  10. ใครเคยใช้ตะเกียงลาน ตะเกียงโป๊ะ ตะเกียงเจ้าพายุ(ศัพท์ภาคกลาง)บ้าน เป็นอย่างไร
  11. งานสังคมเป็นอย่างไรบ้าง เช่น งานศพ แต่งงาน งานโกนจุก บวชนาค เข้าพรรษา ออกพรรษา วันพระ ทอกกฐิน ผ้าป่า ฯลฯ
  12. ตลาด หรือการซื้อขายสินค้าเป็นอย่างไร
  13. เสื้อผ้า การแต่งกาย รสนิยม ค่านิยม ฯลฯ
  14. คนเฒ่าคนแก่ ทำอะไร ปฏิบัติกันอย่างไร การเข้ากรรม เข้าศีล เป็นอย่างไร กินหมากกินพลู เด็กสมัยนี้ไม่ได้เห็นแล้ว ควรหารูป และบันทึกไว้
  15. ไปสัมภาษณ์พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ท่านยังมีชีวิต ถามถึงการเปลี่ยนแปลง ความคิด ความรู้สึกของท่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน…
  16. แรงบันดาลใจ ฝังใจ ชอบใจ พลังใจ ฯลฯ
  17. ปัญหาสังคมต่างๆในอดีต ทั้งปัญหาครอบครัวและสังคมต่างๆ การแก้ปัญหานั้นๆในอดีต
  18. ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

นี่อาจจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยย่อยๆก็ได้

ทั้งหมดข้างต้นอาจจะเรียกว่า Interview guide หรือ Semi structure life review ก็ได้

การบันทึกออกมาจากตัวเองมีข้อดีที่เรามีเวลาใคร่ครวญไตร่ตรอง ไม่ได้เอาคะแนน ไม่ได้ไปส่งอาจารย์ แต่บันทึกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมผ่านตัวบุคล

แรงบันดาลใจต่างๆมาจากอะไรจนทำให้เรามาเป็นวันนี้

น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์นี้จะหดหายไปกับการสิ้นสุดชีวิตคน นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ระดมการบันทึกอย่างเป็นระบบในทุกภูมิภาคผ่านลานปัญญาครับ

ด้วยความเคารพรักยิ่ง

เรียนมาปรึกษาหารือครับ


สักการสถานที่มุกดาหาร

1771 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 สิงหาคม 2009 เวลา 21:52 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 25907

มีคนจำนวนไม่มากนักที่จะรู้จักสักการสถานที่จังหวัดมุกดาหาร ความจริงสถานที่แห่งนี้คือประวัติศาสตร์อันหนึ่งของประเทศไทย ของอีสาน ของศาสนา และปรากฏการณ์การเผยแพร่ศาสนาในยุคแรกๆของเมืองไทย

หากท่านเป็นคาทอลิค ท่านคงทราบสถานที่นี้ดี แต่หากท่านนับถือศาสนาพุทธ ท่านอาจจะไม่เคยได้ยินสถานที่แห่งนี้เลยก็ได้ เพราะ ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ แม้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเองก็ตาม ทั้งนี้มีเหตุผลที่สำคัญหลายประการ ไม่ขอกล่าวถึง



ที่ยกมากล่าวเพราะ ออต กำลังจะไปทำค่ายในพื้นที่ใกล้ๆแห่งนี้ ก็เลยถือโอกาสแนะนำให้รู้จักซะเลย

สักการสถานเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชนชาวคาทอลิก พี่น้องชาวคาทอลิกกล่าวว่าในชีวิตสักครั้งจะต้องมากราบสักการสถานที่แห่งนี้ หากจะไม่กล่าวถึงความเป็นมา แค่ตัวอาคารก็พิเศษสุดที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย


การออกแบบอาคารแห่งนี้ได้รับรางวัลดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกแห่งประเทศไทย สวยงามมาก มาเห็นแล้วนึกเลยไปถึงยุคกรีก โรมันโน้น


กำแพงโค้งด้านซ้ายมือ กำแพงโค้งด้านขวามือ


แค่กำแพงโค้งก็มโหฬารตระการตา มหาทึ่ง เมื่อเดินเข้าไปดูตัวอาคารภายในกำแพงก็ยิ่งตะลึงครับ


ตัวอาคารที่ใช้ประโยชน์นั้นเป็นคล้ายๆกล่อง มีพื้นที่โล่ง สำหรับใช้เทศนาของนักบวชเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ ภายนอก เป็นที่โล่งหน้าเขียวขจี เย็นตา เย็นใจ สงบ



กระต๊อบสองหลังที่เห็นคือประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ ที่เก็บรักษาไว้ให้เป็นการระลึกถึงความหวาดระแวง ความไม่รู้ จนเป็นที่มาของสักการสถาน


หากท่านมีโอกาสมามุกดาหาร สถานที่แห่งนี้น่ามาเยือนสักครั้งครับ


ค่ายเด็กของ ออต..

475 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 สิงหาคม 2009 เวลา 15:35 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 10061

วันที่ 1-3 ก.ย. นี้จะมีการจัดค่ายเด็กที่ อ.หว้านใหญ่ ริมโขง จ.มุกดาหาร โดย ออต ของเราเป็นโต้โผใหญ่จัดงานเด็ก แต่ไม่เล็กครั้งนี้ ผมสารภาพว่าเป็นคนทื่อๆ ไม่ค่อยมีศิลปะเท่าไหร่ แม้จะชอบ แต่ก็เข้าหูซ้ายออกหูขวาประเภทนั้น เมื่อมาคบกับออต ก็ค่อยๆซึมซับ วิธีคิด วิธีมอง เมื่อผมไปร่วมการสัมมนาที่ RDI จัดเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปนั้นก็ได้สาระเกี่ยวกับเรื่องราวเอาศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้ จนผมปิ๊งแว๊บมาว่า เจ้าพิพิธภัณฑ์ที่ผมรู้จักชื่อมานานนั้นมันมีประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่เป็นที่สะสมของเก่า แล้วเดินเข้าไปชื่นชมเท่านั้น แต่นักพิพิธภัณฑ์ยังสามารถเอาของเก่าเป็นสื่อลากไปถึงอดีต และเรียนรู้เรื่องราวของบรรพชนได้อย่างดี


ผมชอบมาก ถึงมากที่สุดเพราะว่า ผมเองก็เคยทำ Dialogue โดยใช้โบสถ์เก่าเป็นสื่อในการพาผู้คนในชุมชนย้อนรำลึกอดีตอย่างมีคุณค่าและได้สำนึกของท้องถิ่นคืนมา

มุกดาหารมีของเก่าที่ทรงคุณค่าหลายแห่ง และ ออตมาค้นพบจึงจะสร้างห้องเรียนขึ้นแล้วระดมทรัพยากรผู้รู้มาช่วยกันย้อนรำลึกอดีตให้แก่ เด็กๆมุกดาหารได้ตระหนักคุณค่าของพัฒนาการของคนในท้องถิ่น


มันเหมือนนั่ง Time Machine ย้อนไปท่องเที่ยวท้องถิ่นแถบนี้ โดยมีเด็กๆเป็นเป้าหมายที่จะให้ประสบการณ์ใหม่ๆจากของเก่าๆ โดยทีมงานของ ออต

ยิ่งผมทราบมาว่า อดีต ออต คือนักปลุกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โดยหน่วยงานนี้เห็นฝีมือฉกาจของ ออต เลยยกแผนงานนี้ให้ทั้งหมด…?? ยิ่งทำให้ออต มีชั่วโมงบินที่ไปเทียบเซียนได้เลย

วันที่ 1-3 นี้ เราได้วิทยากรเอกอย่าง อาม่า มาเขย่าแม่น้ำโขงให้เกิดละลอกคลื่นแห่งความรู้ ความสุขอีกด้วยละก็ น่าจะเป็นการพัฒนาทีมงานของ ออต ก้าวไปอีกหลายขุมทีเดียว

ท่านที่สนใจ หนุ่มน้อย ต่อยหนักคนนี้ เตรียมตารางแผนงานไว้เถอะ..


อภิปรายคำถามหลักพ่อครูบาฯ

595 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 15098

คำถามหลัก
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบา
สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้

อภิปรายคำถามหลัก จากการวิเคราะห์คร่าวๆ

  • เป็นความลงตัวระดับหนึ่งของตัวคนคือครูบาฯ และระบบสื่อสารในยุคนี้คือ blog แต่เนื่องจากครูบามีต้นทุนในหลายประการอยู่ในตัวตน มีสวนป่าที่น่าสนใจยิ่ง มีคนที่รู้จักมักจี่ในท้องถิ่นใกล้ ไกลมากมาย มีบุคลิกท่าทีที่มีเสน่ห์ใครเห็นก็เย็นตาเย็นใจ ยิ่งเนื้อในมีความรู้ มีสาระ ใส่สีสันวาทะเข้าไปก็กระเจิดกระเจิง ถูกใจโก๋ กี๋ กิ๊ก กั๊ก ทั้งหลายแหล่
  • พ่อครูบาเขียนบันทึกลง Blog อันเนื่องมาจาก blog นี่เองและปัจจัยต้นทุนดังกล่าว ก็มีสิงห์เหนือเสือใต้ หมี แมว ทั้งหลายเดินเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ก็เกิดรู้จักกัน เกิดไปมาหาสู่กัน เลยกลายเป็นข่ายเป็นเครือทั้งเหนือทั้งใต้ ออก ตก กลายเป็น Cyber Community / bond / net / node
  • เมื่อคนรู้จักกัน ก็ย่อมปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น ในสาระต่างๆทุกแนวก็เกิดขึ้นและพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
  • การปะทะสังสรรค์ย่อมเกิดผลออกมา ที่สำคัญคือ การเรียนรู้สาระต่างๆซึ่งกันและกัน ต่อยอดความรู้ มันเป็นเครือข่ายความรู้ online รู้ตัวคนที่เป็นฐานความรู้ ประสบการณ์เฉพาะด้าน ใครอยากรู้อะไรก็ไป shopping ใน blog ท่านนั้นๆ หรือติดต่อโดยตรงส่วนตัว ก็เกิดการถ่ายเทความรู้กัน หากการถ่ายเทความรู้นี้มีแสงไฟประกายออกมา เราคงจะเห็นแสงสว่างวูบวาบไปตลอดเวลา สว่างมากน้อย แล้วแต่วาระ ความสนใจ ประเด็น ฯลฯ นี่คือสังคมแห่งการเรียนรู้
  • ความรู้มีหลายลักษณะ เช่น สิ่งที่ต้องรู้ สิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ฐานวิชาชีพของแต่ละคนแตกต่างกัน สิ่งที่ต้องรู้ที่อิงอาชีพจึงแตกต่างกัน ความหลากหลายจึงเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดที่คล้ายๆกันคือ ฐานความรู้การดำรงชีพให้มีความสุข ยืนนาน ทุกคนควรจะมีพื้นฐานอันเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ก็ขึ้นกับความสนใจ การเอื้อมากน้อยที่ต่างกัน


  • แต่ละคน(Subject) มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสนใจ(Subject area) ซ้ำกันบ้าง เหลื่อมกันบ้าง เหลื่อมมากเหลื่อมน้อยบ้าง แต่ต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่บนฐานของ “เอาใจมาให้กัน” นี่คือจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้

คำถามรอง
1. กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีกระบวนการอย่างไร
2. มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่เป็นปัจจัยส่งเสริมในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
3. มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ไม่อภิปรายในข้อหนึ่ง

ข้อสอง

ปัจจัยที่เสริมในกระบวนการเรียนรู้น่าจะเป็น

  • ความเป็นครูบาสุทธินันท์ Personality ที่มีองค์ประกอบในหลายประการ อาจจะเรียกรวมๆว่าเสน่ห์ เช่น ท่วงท่า ลีลา การวางตัว อักษรที่จารลงไปในบันทึก ฯลฯ
  • องค์ความรู้ ที่เป็นทุนภายในของครูบาสิทธินันท์ มีมากมาย เพราะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมามาก เรียนรู้มาเยอะ ทั้งของตนเองและเชื่อมต่อกับท่านอื่นๆ
  • หากย้อนไปดูนิวาสถานที่อยู่อาศัยเป็นป่ากลางทะเลทราย นี่ก็เป็นสถานตักศิลาที่เหมาะสม ใครๆเห็นก็อยากจะมา มากกว่าเป็นตึกรามใหญ่โตแต่แห้งแล้ง ธรรมชาติคือองค์ประกอบสถานที่ที่มีคุณค่าแก่การมาเรียนรู้อย่างยิ่ง ทั้งเรียนรู้ธรรมชาติ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆท่ามกลางธรรมชาติ โบราณก็เรียนในป่าทั้งนั้น
  • เครือข่าย อันนี้หายากครับ หากใครมีเครือข่าย หรือพูดง่ายๆคือเพื่อนที่อุดมความรู้ ท่านครูบาไม่รู้ไปทุกเรื่อง และใครๆก็เป็นเช่นนั้น แต่สามารถระดมความรู้มาได้ บอกกล่าวได้ เชื่อมได้
  • วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ ในประเด็นต่างๆนั้น ครูบามีแตกต่างจากท่านอื่นๆ ใครที่ตามมาคุยด้วยก็จะได้เปิดสมองส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ออกมา
  • ฯลฯ

ปัญหาน่ะมีไหมในกระบวนการจัดการความรู้ของครูบาฯ

  • ไม่ว่าแบบไหนๆก็มีทั้งนั้นแหละ การศึกษาในระบบจึงมีคนสอบได้สอบตกไง มีคนแค่สอบผ่านกับคนที่ได้เกรียตินิยม ก็เป็นเรื่องปกติ
  • หากเอาปัจจัยของเสริมของครูบาตั้งขึ้น แล้วมองปัญหาในกระบวนการก็คือ ผู้ที่มาเรียนรู้ มาเพราะถูกบังคับให้มา มาเพราะเอาคะแนน อย่างคนทำวิทยานิพนธ์นี้ไง อิอิ หรือมาเพราะสนใจ อย่างหมอจอมป่วนบึ่งรถมาจากเมืองพิษฯตรงดิ่งยังกะกระทิงโทน ลุยตรงมาเลย แบบนี้ก็ได้ไปเต็มๆ
  • ผู้มาเรียนอาจจะสนใจจริง แต่รับลูกไม่ทัน ตามไม่ทัน เพราะไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่มีการปูพื้นฐานมาก่อน เคนชินกับระบบเดิมๆ พอมาแบบนี้ก็งง แปลก เลย เก็บความรู้ตกๆหล่นๆ ต้องเตรียมตัวมาก่อน มีฐานการเรียนรู้มาก่อนจึงจะรับได้เต็มๆ พ่อครูบาใช้ชีวิตผ่านองค์ความรู้มามากมาย การพูดจาบางครั้งก็เป็นธรรมะ เป็นบทสรุปสุดยอด เด็กใหม่ไม่คุ้นชินก็ลำบากเหมือนกันในบางสาระ
  • เหมือนคนสนใจปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางคนชอบแบบสัมมาอรหัง บางคนคุ้นชินแบบยุบหนอพองหนอ หลายคนสนใจแบบคู้เหยียดแขน ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นอุบายเพื่อเดินทางเข้าสู่จิตสงบ บรรลุธรรมะ ดังนั้น หลายคนไม่ถนัดที่จะเรียนแบบครูบา ตรงข้ามหลายคนได้สัมผัสแล้วน้ำตาไหล..
  • ครูบาได้ใช้ประโยชน์เฮฮาศาสตร์มาก แต่เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่สถาบันการศึกษา เช่นวงน้ำชา เชียงราย ที่วันดีคืนดีก็เรียกทีมงานมานั่งประชุมยกระดับกระบวนการให้เหมาะกับคนที่จะมาเรียนรู้ในสำนัก แต่เฮฮาศาสตร์เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่หลวมๆ โดยมีครูบาเป็นแกนกลาง เห็นเหง้าหลัก หากขาดไปก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการนี้ได้ทันที อาจสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ต่อเนื่อง และความยั่งยืน อนาคตอาจจะมีทางออกดีดีก็ได้

เอาแบบด่วนๆนะครับ อิอิ


วัดลัฎฐิกวัน.หว้านใหญ่

1489 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 สิงหาคม 2009 เวลา 0:44 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 6966

ผมขอติดตามน้อง ออต ไปชมวัดและศิลปกรรมโบราณที่ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เมื่อวันแม่ที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา เดินทางดู 3 วัด คือ วัดพระศรีมหาโพธิ์ วัดลัฎฐิกวัน และวัดมโนภิรมย์

ใกล้เกลือกินด่าง โบราณว่าไว้ เพราะผมอยู่มุกดาหารตั้งนานแต่ไม่เคยเดินทางมาที่สามวัดนี้เลย แม้จะเคยได้ยินเพื่อนคนท้องถิ่นพูดถึงก็ตาม อาจเพราะผมไม่ใช่คนที่มีฐานทางด้านนี้ แต่ก็สนใจอยู่บ้าง โดยเฉพาะในแง่ของการทำความเข้าใจเรื่องราวของโบราณอันเป็นรากเหง้าของเราในปัจจุบัน

ที่วัดลัฎฐิกวันนั้น มีงานก่อสร้างหลายประการที่น่าสนใจเป็นของเก่า ซึ่งผมเองไม่มีความรู้ใดๆเลย พยายามเงี่ยหูฟังผู้รู้เขาคุยกัน

ผมเห็นสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งที่หลายคนเข้าไปถ่ายรูปกัน ผมก็เดินตามไปดูใกล้ๆบ้างเห็นด้านนี้มีงานดังที่เห็น อาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่างานปูนนี้สร้างแบบแปลกๆไม่ค่อยเห็นที่ไหน ยิ่งเมื่อผมยืนพินิจก็ยิ่งประทับใจ


เพราะผนังอาคารหลังนี้มีลายและรูปหน้าหัวเราะที่ผมคิดว่าสวยงาม ช่างมีจินตนาการจริงๆคนโบราณนี่ เมื่อผมถ่ายรูปเข้าไปใกล้ๆมากขึ้นก็เห็นรูปพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานอยู่ด้านในด้วยครับ

ท่านมหาซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นที่บวชเรียนมานานแล้วสึกออกมาเป็นผู้ดูแลงานวัฒนธรรมท้องถิ่น ท่านเล่าสั้นๆว่า เคยข้ามไปฝั่งลาวเห็นวัดและงานศิลปกรรมเหมือนกันนี้อยู่ด้วย น่าที่จะเป็นช่างสกุลเดียวกัน และช่างก็น่าจะมาจากฝั่งซ้าย

เพราะแต่ก่อนเป็นชาติเดียวกัน ท่านมหายังกล่าวว่า ผมเองก็มีญาติพี่น้องอยู่ฝั่งซ้ายด้วย

มาสัมผัสรากวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบนี้ได้สำนึกในการเคารพบรรพบุรุษมากมายก่ายกองทีเดียว..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 17 รดน้ำดำหัว

185 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 สิงหาคม 2009 เวลา 0:52 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 7502

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

(ทีมงานโครงการรดน้ำดำหัว Mr. Klaus Bettenhausen ผู้รับผิดชอบโครงการ)

ต่อเติมทุนทางสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือเมื่อถึงสงกรานต์ก็นำน้ำส้มป่อยไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในชุมชน เพื่อขอขมาลาโทษสิ่งต่างๆที่ล่วงเกิน และขอพรจากท่าน

เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นต้นทุนทางสังคมที่ดีงาม เป็นการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีสาระในการเชื่อมระหว่างรุ่น ระหว่างวัย ระหว่างบทบาทหน้าที่ให้ร้อยรัดต่อกัน

ผู้น้อยแสดงความเคารพ นับถือต่อผู้อาวุโส

ผู้อาวุโสก็แสดงเมตตาต่อผู้น้อย

น้ำส้มป่อยเป็นเพียงสื่อกลางที่ใจมีต่อใจ ตัวตนต่อตัวตน

ความขัดข้องหมองใจ ช่องว่างที่มีต่อกันก็ปิดลงด้วยประเพณีปฏิบัติของท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนก็เชื่อมร้อยเป็นสายใยผูกพันต่อกัน เรื่องร้ายกลายเป็นดี เรื่องร้อนกลับเป็นเย็น การอึมครึมกลายเป็นยิ้มแย้มแจ่มใส…

ของดีมีอยู่..

ที่เป็นรากของสังคมไทยเรา

ที่เป็นต้นทุนทางสังคมของเรา



Main: 0.32974886894226 sec
Sidebar: 0.1682550907135 sec