ปรับเปลี่ยน…

48 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 ธันวาคม 2011 เวลา 9:47 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3628

ภาพนี้นำมาจาก อินเตอเนท ที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้ามาทำข่าวในกรุงเทพฯ นำภาพน้ำท่วมไปเผยแพร่ทั่วโลก

วันนี้ใน ไทย พีบีเอส เล่าให้ฟังว่า ที่ญี่ปุ่นนั้นเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่บ่อยๆอย่างที่เราทราบดี แต่ครั้งหลังสุดนี้คือ สึนามิ ที่ฟูกุชิมา มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นแบบ Critical mass ที่น่าสนใจมากคือ

คนญี่ปุ่นตื่นตัวครั้งใหญ่ต่อพฤติกรรมประจำวันของคน มีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อสร้างความพร้อมต่อภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา..??? นั้นคือ

  • คนญี่ปุ่นหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นแทนที่จะใช้รถยนต์
  • สตรีญี่ปุ่นเลิกใช้รองเท้าส้นสูง หันมาใช้รองเท้าธรรมดาเพื่อพร้อมที่จะวิ่ง
  • สภาพบุรุษเลิกใช้เนคไท ใส่สูทธรรมดาเท่านั้น
  • ฯลฯ
  • และคนญี่ปุ่นแต่งงานกันมากขึ้น..!!!

คนญี่ปุ่นกล่าวว่า เขาตระหนักมากขึ้น มากขึ้น ว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราเข้าใจ……

การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นของพฤติกรรมคนต่อภัยธรรมชาติ อาจจะกล่าวอย่างหยาบๆได้ว่า ในที่สุดเราก็ต้องจำนนต่อธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการดำรงชีวิต มากกว่าคำว่า แฟชั่น ค่านิยม หรือแม้แต่วัฒนธรรม เพราะอะไรก็ตามที่ไปขัดต่อวิถีธรรมชาติ ย่อมถูกทำลาย หรือได้รับผลกระทบ สิ่งที่ดีที่สุดคือการลู่ไปตามครรลองของธรรมชาติ

สิ่งสำคัญสุดที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนพฤติกรรมคือ การเปลี่ยนความคิด หากความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมก็เปลี่ยน

เป็นข่าวที่สะท้อนกลับมาถึงบ้านเราว่า มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นนั้น จะสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบ้าง ซึ่งหากคิดแบบเร็วๆ ดูเหมือนมีหลายด้านที่ต้องมีการทบทวนการสร้างบ้านสร้างเมือง และพฤติกรรมของคนไทยเรา

หน่วยที่ต้องปรับเปลี่ยนทันทีคือ รัฐบาล ต่อแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำ สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และปริมาณน้ำที่มิอาจคาดการณ์ได้ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณะต่างๆนั้น เตรียมสำหรับวิกฤติต่างๆอย่างไรบ้าง ชุดสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมีการเตรียมไว้หรือไม่ อย่างไร ฯลฯ

ส่วนตัวประชาชนเองที่อยู่ในความเสี่ยงทั้งหลายนั้น มีสำนึกของการเตรียมพร้อมแค่ไหน

พระพุทธองค์กล่าวไว้ตั้งสองพันกว่าปีว่า “ชีวิตอย่าตั้งอยู่บนความประมาท”

คอยดูกันต่อไปครับว่าอะไรบ้างที่จะเกิดการปรับเปลี่ยน….

หรือมุ่งหน้าคืนพาสปอร์ต และแก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนบางคนแบบเนียนๆ….???


วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต..

1055 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 ธันวาคม 2011 เวลา 0:21 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 21270

วิทยาศาสตร์ คือวิชาว่าด้วยการเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจอะไร ก็เข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆของธรรมชาติรอบตัวเรา เข้าใจแล้วทำไม เข้าใจแล้วก็ อ๋อ….น่ะซี เอามาใช้ประโยชน์ได้ เข้าใจแล้วจัดการได้ หากมีปัญหา ก็เอาความเข้าใจนั้นไปจัดการได้….นำกฎเกณฑ์ไปสร้างนวัตกรรมต่างๆเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์เพื่อการอยู่รอด และอื่นๆอีกมากมาย และก็มีที่เอาความรู้นี้ไปใช้ในทางทำลาย…ซึ่งแน่นอนเราไม่เห็นด้วย..


วันที่ผมไปเมืองกาญจนบุรี เพื่อดูงานมหกรรมพลังงานที่ สสส เป็นเจ้าภาพจัดนั้น มีหลายอย่างที่ผมสนใจ สิ่งหนึ่งคือรูปที่เห็นนี่แหละครับ
เนื่องจากมีเวลาน้อย เพราะต้องเดินไปตามโปรแกรมกับทีมงานที่ไปด้วย

รูปที่เห็นนั้นคือ การแสดงว่าในดิน และในน้ำนั้นมีพลังงานอยู่ หรือมีไฟฟ้าอยู่ กล่องซ้ายมือนั้นคือดินเปียก ถูกต่อด้วยสายไฟฟ้า ส่วนด้านขวามือนั้นคือกล่องเล็กๆหลายช่องที่บรรจุน้ำและต่อสายไฟฟ้า ทั้งสองกล่องนี้เมื่อเอาหลอดไฟไปต่อก็แสดงประจุไฟฟ้าออกมาด้วยหลอดไฟแดงขึ้น…

ผมไม่ได้ศึกษารายละเอียด ได้แค่ถ่ายรูปไว้

นี่คือความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่คนเราเมื่อเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้วก็เอามาใช้ประโยชน์คือทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นได้ แม้ว่าแสงที่ได้ หรือพลังงานที่ได้จะไม่มาก แต่มันเป็นความรู้เบื้องต้นที่สามารถคิดต่อยอดได้อีกมากมาย ความรู้นี้ถูกค้นพบมานานแล้ว… การแสดงนี้เป็นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ครับ


เครื่องที่เห็นนี้คือเครื่องทำไฟฟ้าขนาดเล็กโดยใช้พลังน้ำ เป็นฝีมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เข้าไปช่วยชาวบ้าน “คีรีวง” จัดทำเรื่องนี้ บ้านคีรีวงนี้ใครไม่รู้จักก็ถามกูเกิลเอานะครับเพราะโด่งดังมากมายหลายเรื่อง และเป็นแม่แบบในการพัฒนาแบบพึ่งตนเองฉบับภาคใต้เลยหละครับ

เครื่องนี้หลักการง่ายๆ แค่เอาน้ำมาพ่นใส่ใบพัดที่เห็นนี่เครื่องก็จะหมุนก็เกิดกระแสไฟฟ้า เอาไปใช้ในครอบครัวได้สบาย บ้านคีรีวงเป็นสถานที่เหมาะมากเพราะเป็นเขตภูเขาที่มีน้ำจากภูเขาเพียงพอจึงมีการพัฒนาน้ำจากภูเขามาปั่นเครื่องทำไฟฟ้านี้ ทำกันทุกครอบครัวครับ..? ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มาก

ความจริงรูปแบบการสร้างไฟฟ้าจากพลังน้ำนั้นมีมานานและมีต้นแบบหลากหลาย โครงการหลวงหลายที่ก็ใช้วิธีการนี้ แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบขนาดใหญ่ที่สร้างกระแสไฟฟ้าที่ใช้ได้ทั้งชุมชน แต่ที่คีรีวงนี้มีขนาดเล็ก ใช้เฉพาะครัวเรือน..

แหมผมชอบจริงๆที่มาดูงานแบบนี้ เสียดายที่เวลาน้อยไป ท่านที่สนใจ ติดต่อ สสส นะครับ เพราะทุกคน ทุกสถาบัน ทุกหน่วยงานที่ไปร่วมแสดงนั้นได้รับทุนของ สสส ทั้งนั้นครับ…

ขอบคุณ สสส และควรต่อยอดผลงานเหล่านี้…

วันนี้เห็น อ.วิทย์ออก ทีวีเรื่องที่ คอน เอามาเขียนในลานด้วย คือ เครื่องมือกรองน้ำสะอาดแบบประหยัด ขอปรบมือดังๆอีกทีครับ…


ทฤษฎีชัช…ปูน

81 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 ธันวาคม 2011 เวลา 14:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3264

มีเรื่องเขียนเยอะ แต่เวลาถูกดึงไปทำรายงานหมด ทั้งงานครอบครัวและงานในหน้าที่ เป็นช่วงๆ บางครั้งก็ล้มไม้ล้นมือ บางครั้งก็ห่างไป

ทำรายงานไป เครื่องมือหากินเกิดผิดปกติ ภาพหน้าจอหายไปเฉยๆ เอาขึ้นใหม่ แล้วก็หายอีก เลยเอาไป reinstal วินโดว์ใหม่ เมื่อทำใหม่หลายอย่างก็ต้อง ทำใหม่ เราไม่ใช่ผู้รู้ ก็ให้ช่างคอมพ์ทำ บางทีก็สื่อกันไม่ตรง เขาก็ทำให้พอว่าได้ทำให้แล้ว แต่ก็ไม่ตรงกับที่เราต้องการเท่าไหร่ ก็เลยตามเลย สมน้ำหน้าที่เราไม่รู้เรื่อง อิอิ..

สามวันก่อนเดินทางไปคำแสดรีสอร์ท เมืองกาญจน์ เพราะ สสส เราจัดงานมหกรรมพลังงาน ที่ สสส ให้ทุนชุมชน สถาบัน ฯลฯ ไปทำวิจัย น่าสนใจมากครับ เสียดายที่ไม่ค่อยมีคนไปศึกษาดูงานมากเท่าที่ควรจะเป็น มากันทุกภุมิภาค เหนือ ใต้  ออก ตก ผมเองก็อยากเขียนละเอียดแต่ทำไม่ได้ ต้องเอาเวลาไปเีขยนรายงานอย่างว่าแหละ

ทฤษฎีชัช ….ปูน

สัปดาห์ก่อนไปมาบตาพุด กลุ่มบริษัทของ ปตท. เขาว่าจ้างให้บริษัทไปร่วมประมูลงาน เราก็ขอลงพื้นที่เพื่อ ดูพื้นที่เบื้องต้นแล้วเอามาเขียนงานนี่แหละ เดี๋ยวนี้งาน CSR ก้าวไปมากทีเดียว แต่ก็ยังไม่ถูกใจโก๋อย่างผมเท่าไหร่ เพราะอย่างไรก็เอาอำนาจเงินมาสร้างกำแพงปกป้องตัวเอง แม้ว่ามีความพยายามที่เรียกว่า “เจตนาดี” แต่ดูๆก็ยังมิใช่งานพัฒนาชุมชนแท้จริง เลยมีคนสรุปงาน CSR ว่าเป็นงานตามทฤษฎีชัช…ปูน

ในความหมายนั้นอธิบายว่า มีผู้กว้างชวางท่านหนึ่ง ใครๆสมัยก่อนทราบดีว่าท่านผู้นี้คือเจ้าพ่อบ่อนการพนันที่ผิดกฏหมาย ตำรวจพยายามเข้าไปจับ แต่ไม่เคยถึงตัว ไม่เคยทำได้เลย เพราะชุมชนรอบๅท่านผู้นี้ปกป้องมาตลอด แต่ตำรวจเดินเข้าไปเขตชุมชน ทุกอย่าก็รับรู้หมดแล้ว ปกป้อง ปกปิด ทำลายหลักฐานหมดแล้ว นัยว่าเช่นนั้น… จึงเรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีชัช…ปูน เพราะใจกลางชุมชนนั้นคือบ่อนผิดกฏหมาย แต่ตำรวจเข้าไม่ได้เพราะชุมชนร่วมกันปกป้องเขา

เลยเป็นหลักการเปรียบเทียบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมนั้นมักปล่อยมลภาวะออกมาด้วยทางใดทางหนึ่งหรือหลายๆทาง แม้จะพยายามปกปิดหรือมีมาตรการมากมายแต่ก็มีโอกาสที่มลพิษนั้นรั่วไหลมาได้  ก็ส่งผลกระทบชุมชนรอบๆ ทั้งที่ชุมชนอยู่มาก่อน อยู่มานานแสนนาน วันดีคืนดีไม่ว่ารัฐหรือนักการเมือง หรือพ่อค้าเอาอุตสาหกรรมไปตั้งชิดติดกับชุมชน แล้วปล่อยสารพิษออกมา

บริษัทอุตสาหกรรมก็ตั้งงบประมาณมากมาย มหาศาลมาแก้ปัญหาภาพพจน์เหล่านี้โดยการทำโครงการ CSR  ที่ดีดีก็พอมี แต่อีกจำนวนมากเป็นการสงเคราะห์ชั่วครั้งชั่วคราวมากกว่า เช่น ทอกกะฐิน ผ้าป่า  ทำโครงการนั่นนี่เพื่อเอาใจชุมชน  แล้วก็จากไป พร้อมติดป้ายใหญ่ๆว่าได้สนับสนุนสิ่งนั้นๆไว้แล้วนะ

ย้ำว่า ที่ดีดีก็พอมีครับ

มาคราวนี้มันกลายเป็นโจทย์ของผมเอง  ที่สำคัญเป็นโจทย์ที่เข้ามานั่งในวงของทีมงานที่หลากหลายประสพการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการคนเมือง

แต่ได้ร่วมงานกับหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการทำงานมามากมายทั้งในแง่การพัฒนาชนบทและเมือง และการทำธูรกิจชุมชน ทั้งดีใจและกังวลเหมือนกัน  ดีใจเพราะจะได้ทำงานร่วมกัน แต่กังวลเพราะ คำว่า Partnership นั้นมักเข้าใจแตกต่างกันเสมอ

…..


การพร่องน้ำเขื่อน

349 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 เวลา 7:54 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 7917

เนื่องจากเคยทำงานที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ในโครงการจัดการน้ำในระดับไร่นาสนับสนุนโดยรัฐบาลเนเทอร์แลนด์ และมาทำงานกับกลุ่มบริษัท ยูโรคอลซัล เรื่องปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์เขื่อนในภาคอีสาน หลายแห่ง โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลัก อยากแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพร่องน้ำของเขื่อนต่างๆ ไม่ใช่คำอธิบายเชิงวิชาการ เป็นเพียงความเข้าใจที่มีโอกาสใกล้ชิดเรื่องนี้

  • น้ำในเขื่อนมาจากไหน

เขื่อนในประเทศเรานั้นยกเว้นเขื่อนเจ้าพระยา หรือเขื่อนที่กั้นแม่น้ำนั้น น้ำมาจากฟ้า คือน้ำฝน เขื่อนแบบนี้เราเรียก Dam ส่วนเขื่อนเจ้าพระยานั้นเป็นการก่อสร้างขวางทางแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องคอยน้ำฝน แค่เอาบานประตูน้ำปิดลง วันเดียวน้ำก็เต็มหน้าเขื่อน เขื่อนแบบนี้เรียกว่า River-Pondage (หากสะกดผิดก็ขออภัยด้วย)

  • วัตถุประสงค์การสร้างเขื่อนเพื่ออะไร

หากเป็นเขื่อนของกรมชลประทานก็เน้นเรื่องหลักคือ เพื่อการเกษตร โดยสร้างระบบคลอง คูส่งน้ำขึ้นมาเชื่อมต่อกับประตูระบายน้ำปกติจะทำสองบานซ้ายขวา กระจายไปตามพื้นที่การเกษตรโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงโลก หรือระดับสูงต่ำของพื้นที่เป็นตัวนำน้ำไป และพยายามกระจายออกไปให้มากที่สุดตามกำลังความสามารถของปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ในเขื่อนและสภาพพื้นที่

การเกษตรในที่นี้หมายถึงน้ำเสริมการทำนาข้าวในฤดูฝนสำหรับปีที่ฝนน้อย หรือฝนทิ้งช่วง แต่หลักๆคือน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง หรือหลังนาปี ไม่ว่าเกษตรกรจะใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรัง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หรือแม่แต่เลี้ยงปลา กรมชลประทานก็สามารถจัดการน้ำให้ได้

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำหลากที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนได้ แต่ก็มีข้อจำกัดแค่ปริมาณความสามารถในการเก็บกักเท่านั้น หากปริมาณฯฝนมากเกินกว่าเก็บกัก ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ วัตถุประสงค์ข้อนี้มักกล่าวอ้างประโยชน์ของเขื่อน แต่ผู้อธิบายไม่ได้อธิบายทั้งหมดว่ามีข้อจำกัดนะ.. หากเกินระดับเก็บกักแล้ว มีเขื่อนก็เหมือนไม่มีเขื่อนเพราะเก็บกักไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ

เขื่อนของกรมชลประทานแบบนี้จะสร้างทั้งขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่ ซึ่งมีความจุมากที่สุดก็นับหลายพันลูกบาศก์เมตร โดยมีหน่วยวัดที่ระดับเก็บกักจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ส่วนเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ นั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์พลังน้ำในการสร้างกระแสไฟฟ้าเอาไปใช้เป็นหลัก มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร นอกจากจะดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อการเกษตรได้บ้าง

  • การเก็บกักน้ำของเขื่อน

เขื่อนที่สร้างขึ้นมานั้นมีการศึกษาความเหมาะสม อย่างรอบด้านแล้ว จึงตัดสินใจก่อสร้าง โดยกำหนดระดับเก็บกักน้ำฝนที่คาดว่าจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสภาพพื้นที่และในแง่มุมต่างๆ ตัวเลขเก็บกักนั้นใช้มาตรฐานสากลระบุ คือปริมาตรลูกบาศก์เมตรที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง คนในวงการก็จะพูดสั้นๆว่า เขื่อนนี้มีปริมาตรความจุเท่ากับ …. ที่ระดับเก็บกักฯ นายช่างชลประทานที่รับผิดชอบจึงต้องศึกษาสถิติน้ำฝนในรายละเอียดย้อนหลังไปมากที่สุดเพื่อศึกษาค่าเฉลี่ยและ Trend ในแต่ละช่วงปี โดยมีข้อมูลการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นข้อมูลหลัก

  • จัดการน้ำในเขื่อน

วัตถุประสงค์เขื่อนแตกต่างกัน การจัดการน้ำจึงไม่เหมือนกันในรายละเอียด แต่หลักการใหญ่ๆคือ ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ก็จะบริหารปล่อยออกไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และปรับปรุงไปตามสภาวการณ์ทุกช่วงระยะที่กำหนด เช่นทุกสัปดาห์ เป็นต้น หากเป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะต้องพิจารณาปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ต้องการผลิตซึ่งจะบ่งชี้ปริมาณน้ำที่ต้องใช้สร้างกระแสไฟฟ้า คือปริมาณน้ำที่ต้องปล่อย

เช่นเดียวกันน้ำเพื่อการชลประทานก็ต้องปล่อยน้ำลงคลองส่งน้ำตามแผนงานของฝ่ายส่งเสริมการผลิตว่ามีพื้นที่ที่ทำการเกษตรเท่าไหร่ ปลูกอะไร ช่วงเวลานั้นอยู่ระยะไหนของการเพาะปลูก ซึ่งต้องการน้ำที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ชลประทานแต่ละตอนส่งน้ำจะต้องเตรียมประชุมกับเกษตรกรในพื้นที่ของตนตั้งแต่ต้นฤดูการผลิตเพื่อสำรวจจำนวนครัวเรือนที่ประสงค์จะทำการผลิตในช่วงฤดูแล้งนี้มีจำนวนกี่ครัวเรือน รวมพื้นที่กี่ไร่ แปลงที่ทำการผลิตอยู่ตรงไหน ตั้งใจจะปลูกพืชอะไร แยกชนิด ประเภท จัดทำระบบข้อมูลอย่างละเอียดจึงมาวางแผนปล่อยน้ำว่าจะเริ่มปล่อยน้ำให้เกษตรกรได้เมื่อใดวันที่เท่าใด โดยคำนึงถึงการประหยัดน้ำ เพราะน้ำทุกหยดมีต้นทุน

  • การพร่องน้ำ

โดยสภาพปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปีนั้นจะมีปริมาณมากเกินการเก็บกักของเขื่อน และมีความไม่แน่นอนว่าแต่ละปีจะตกกี่ครั้ง กี่วัน ที่เรียกว่าการกระจายตัวของฝน แต่ละครั้งนั้นมีปริมาณน้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด ข้อมูลเหล่านี้วิศวกรแหล่งน้ำที่ควบคุมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และฝนตกแต่ละครั้งต้องรีบตรวจสอบว่ามีปริมาณเท่าใดที่เข้ามาในเขื่อน และศึกษาข้อมูลคาดการณ์ข้างหน้าว่าจะมีฝนตกอีกกี่ครั้ง น้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด

โดยปกติ วิศวกรแห่งน้ำที่ควบคุมและบริหารน้ำเข้าและออกจากเขื่อนจะเปิดบานประตูเขื่อนให้น้ำในเขื่อนไหลออกไปจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขื่อนมีปริมาตรเก็บกักน้ำมากเพียงพอที่จะรับน้ำฝนใหม่ที่จะตกลงมา การเปิดบานประตูและปล่อยน้ำออกจากเขื่อนนี้เราเรียก “การพร่องน้ำเขื่อน”

หากข้อมูลชัดเจน และการคาดการณ์จากการพยากรณ์แม่นยำ แน่ชัด หรือมีความเชื่อมั่นสูง การพร่องน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก็จะพอดีกับปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาใหม่จากฝนที่ตกลงมา หากบริหารได้เช่นนี้ ก็จะไม่ส่งผลเสียหายแต่อย่างใด และหากในแต่ละปีปริมาณฝนที่ตก และการกระจายตัวของฝนอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง การบริหารจัดการก็ไม่น่าจะมีปัญหาอย่างใด

แต่ในกรณีที่ปีใดที่มีฝนตกมาก เช่นปีนี้ที่มีพายุเข้ามาถึง 5 ครั้ง แต่ละครั้งปลดปล่อยน้ำออกมามากมายลงสู่หน้าเขื่อน จนเกินระดับเก็บกัก ก็จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำออกมากกว่าทุกปี เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อนให้มีความมั่นคงในการเก็บกัก ตรงนี้เองที่ปริมาณน้ำที่พร่องออกมามากเกินกว่าปกติย่อมส่งผลต่อพื้นที่ด้านล่างของตัวเขื่อน คือ น้ำท่วม และก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ

  • พร่องน้ำเขื่อนอย่างไรจึงจะปลอดภัย

คำถามนี้ วิศวกรแหล่งน้ำผู้ควบคุมย่อมอธิบายได้ แต่ในมุมมองของผมนั้นคิดว่าในกรณีปกตินั้นไม่มีปัญหาอย่างใด แต่ในปีที่มีฝนตกมาก เช่น ปีนี้ ยากที่จะบริหารจัดการน้ำ เพราะการพร่องน้ำมากมันรุนแรงกว่าฝนตกมาก เพราะฝนตกมากนั้นมันตกกระจายตัวในพื้นที่กว้าง แต่การพร่องน้ำในปริมาณที่มากออกมานั้น มันมากเกินกว่าที่ลำน้ำหน้าเขื่อนจะรับได้ เพราะเป็นปริมาณที่มากผิดปกติ หากไม่พร่องก็อาจก่อปัญหาความมั่นคงของตัวเขื่อน ปล่อยมามากก็ทำให้เกิดการท่วมอย่างรวดเร็ว และส่งผลเสียหายมากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่สองข้างริมฝั่งลำน้ำที่เป็นทางไหลออกขากน้ำจากเขื่อน

อาจจะพร่องน้ำบ่อยครั้งในปริมาณที่ไม่กระทบต่อการท่วมย่อมได้ แต่ก็เสี่ยงต่อน้ำฝนที่จะเติมลงมาใหม่ว่าจะมีมากเพียงพอให้เก็บกักตามแผนงานหรือไม่ แม้จะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สถิติ การพยากรณ์ที่แม่นยำ แต่ไม่มีหลักประกันในความเชื่อมั่นสูงแต่อย่างใด การบริหารงานเก็บกักน้ำจึงเป็นการบริหารงานความเสี่ยงแบบหนึ่ง

ยิ่งหากมีการเมืองเข้ามาแทรก หรือมีอำนาจที่เหนือกว่ามาสั่งการให้บริหารจัดการตามประสงค์ของผู้สั่งการ โดยไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลและความเหมาะสมแล้ว ความผิดพลาดในการบริหารงานย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

  • ประโยชน์ของเขื่อน

ทัศนะส่วนตัวเห็นว่าเขื่อนมีประโยชน์โดยเฉพาะเพื่อการเกษตร เป็นความฉลาดของมนุษย์ที่ดัดแปลงธรรมชาติมาเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร แต่ขนาดของเขื่อนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใหญ่มากเพราะส่วนที่ทำให้เกิดผลเสียก็ย่อมมี เช่นไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติต่างๆ สองด้านนี้ต้องศึกษาและประเมินแบบมีส่วนร่วมอย่างละเอียดว่าความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน


ศูนย์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

682 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 เวลา 16:35 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5106

นั่งดู ไทยพีบีเอส หลายวันรู้สึกชอบใจรายการ “ชุมชนคนสู่น้ำ” ที่ตระเวนไปหลายแห่งเอาการจัดการศูนย์ประสบภัยออกมาเผยแพร่ว่าที่นั่นที่นี่จัดการอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง การช่วยเหลือของรัฐเป็นอย่างไร และที่เน้นมากคือการบริหารจัดการอย่างไร โดยมีหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นวิทยากรคอยเสริม คอยสรุปออกมาเป็นหลักการ แนวคิด ฯลฯ

ไทย พีบีเอส คัดเลือกศูนย์ฯที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการและเอามาเผยแพร่นับว่ามีประโยชน์กับศูนย์ผู้ประสบภัยอื่นๆเอาไปดัดแปลง ปรับใช้ และมีแง่มุมที่น่าคิดมากมาย ของชื่นชม ไทย พีบีเอส โดยเฉพาะน้องหมอโกมาตร ที่ไม่ได้พบกันมานานนับสิบๆปี


(ภาพจากอินเตอเนท)

ขออนุญาตกล่าวถึงน้องหมอโกมาตร ผมคิดว่าเป็นหมอที่เดินออกมาจากอิทธิพลการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ที่มีหมอหลายท่านออกสู่ชนบททั้งที่เปิดเผยตัวตน เช่น หมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว หมอแหยง หรือสำเริง แหยงกะโทกแห่งโคราช หมอโกมาตร และอีกหลายต่อหลายท่าน บุคคลเหล่านี้เคยร่วมงานกันมาสมัยโน้น แล้วต่างแยกย้ายไปกันตามเส้นทาง ท่านเหล่านี้เป็นแบบอย่างหมอรุ่นใหม่หลายท่านตามมา

หมอโกมาตรเป็นหมอคนแรกๆที่ก้าวออกมาสนับสนุนแพทย์แผนไทย สมุนไพร และกระบวนการเยียวยาตามภูมิความรู้โบราณของท้องถิ่น อาจจะเรียกการแพทย์ทางเลือกก็ได้ ท่านศรัทธาชุมชน และภูมิปัญญาชุมชนที่ท่านเอาไปผสมผสานความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ จนท่านได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศทางด้านมานุษยวิทยา(ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งหายากมากที่แพทย์ไปเรียนต่อทางด้านนี้ ส่วนใหญ่ก็เรียนทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน…

ผมขอกล่าวถึงศูนย์ประสบภัยที่ออกรายการวันนี้ คือศูนย์บ้านม้า เขตประเวศ กทม.นี่แหละ เป็นชุมชนอิสลาม อยากสรุปสั้นๆว่า


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • แรกเข้า

หมอโกมาตรเรียกว่าการจัดการพื้นที่ มีการประมวลผลผู้เข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้ประสบภัยนี้อย่างไรบ้าง ลงทะเบียนให้หมดที่เราเรียกว่าทำฐานข้อมูล จากฐานข้อมูลก็มาคัดกรองเป็นกลุ่ม ตามความเหมาะสม เช่น กลุ่มผู้ป่วยควรจะอยู่ในพื้นที่ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย กลุ่มผู้สูงอายุควรจะอยู่ใกล้ห้องน้ำและไม่อยู่ในชั้นสูงๆของอาคาร กลุ่มสตรี กลุ่มที่มีครอบครัว ฯลฯ


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • ปฐมนิเทศ

มีการปฐมนิเทศผู้ที่เข้ามาพักพิงในศูนย์ เพื่อให้เข้าใจระเบียบ ข้อตกลงที่จัดทำกันขึ้นมาเองโดยผู้อพยพนี้ ข้อแนะนำการพักพิง การปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกันซึ่งจะไม่มีความเป็นส่วนตัวเหมือนบ้านของตัวเอง การทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้เป็นความสำคัญในการที่ชุมชนชั่วคราวควรพูดจากันให้รู้เรื่อง เข้าใจ เช่นห้องตากเสื้อผ้ารวม ห้องแต่งตัวสตรี ห้องเก็บของส่วนกลาง ห้องนอน พื้นที่ทิ้งขยะ ฯลฯ หากไม่ทำความเข้าใจกันคงมั่วน่าดู

  • การบริหารจัดการศูนย์ฯ

ดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆที่จะต้องทำร่วมกัน ผู้บริหารศูนย์จึงระดมคนในศูนย์นั่นแหละมาช่วยกันรับผิดชอบใครมีความสามารถอะไร ถนัดอะไรก็มาช่วยกัน แบ่งความรับผิดชอบกัน เช่น ฝ่ายลงทะเบียน ฝ่ายรับและบริหารจัดการของบริจาค ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายทำอาหาร ฝ่ายสุขอนามัย ฝ่ายเก็บขยะ ฝ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ สารพัดฝ่ายที่จำเป็น ที่สมควรจัดทำขึ้น

  • การบริหารจัดการเฉพาะเรื่องเฉพาะฝ่าย

ตรงนี้สำคัญมาก กรณีที่น่าสนใจคือ ผู้บริจาคไม่ทราบว่าผู้รับบริจาคต้องการอะไร ขาดแคลนอะไร แต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แต่ละเพศไม่เหมือนกัน แต่ถุงยังชีพนั้นจัดสิ่งของเหมือนกันหมด ของบริจาคหลายอย่างไม่ได้ใช้ สิ่งที่ต้องการไม่ได้รับการบริจาค ฯลฯ และผู้บริจาคไม่ได้เข้าระบบการจัดการ เห็นผู้ประสบภัยก็ให้อย่างเดียว เรียกว่าเจตนาดีแต่ไม่ตรงกับความต้องการ ศูนย์แห่งนี้มีกระบวนการคือของบริจาคทั้งหมดมากองรวมกันเป็นส่วนกลาง แล้วแยกแยะออกเป็นกลุ่ม แล้วจัดสรรให้ตรงตามต้องการแก่ผู้พักอาศัย เท่าที่จำเป็นก่อน ส่วนเหลือยังอยู่เป็นส่วนกลาง ใครหมดก็มาเบิกไปใหม่ และเบิกได้เฉพาะเวลาเท่านั้น โดยมีการลงทะเบียนหรือจัดทำระบบข้อมูลขึ้นมาเพื่อควบคุมให้เกิดความเรียบร้อย ทั่วถึง ขาดแคลนอะไรก็สามารถร้องขอโดยตรงต่อผู้บริจาคได้.ยังมีรายละเอียดอีกมาก..

กรณีบ้านม้าที่เป็นชุมชนมุสลิมนั้นพบว่าสิ่งของบริจาคบางอย่างเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา เช่น เนื้อหมูบริจาค ก็สามารถส่งคืนผู้บริจาคหรือส่งต่อไปให้ศูนย์อพยพอื่นๆได้

  • อย่าให้เวลาล่วงเลยไปอย่างไร้ประโยชน์

ทางศูนย์ทราบดีว่าการมาร่วมกันนั้นคืออพยพหนีภัยน้ำท่วมบุคคลที่มีหน้าที่ก็ออกไปทำหน้าที่ ยังมีส่วนที่เหลืออยู่ในศูนย์ เช่นเด็กและผู้สูงอายุ อย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ศูนย์สามารถจัดการเพิ่มพูนความรู้ต่างๆให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจจะสำรวจความต้องการก่อน หรือจากการสังเกตเห็นของผู้บริหารงานศูนย์ เช่นกลุ่มเด็กๆ ก็อาจจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่สร้างสรรค์ โดยการหาผู้ที่มีความสามารถภายในศูนย์เอง หากไม่มีก็แสวงหาจากภายนอกได้ ผู้สูงอายุก็สามารถจัดกิจกรรมที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกัน

มีรายละเอียดอีกมากที่น่าสนใจ ท่านที่ได้ติดตามรายการนี้คงทราบดี ผมประทับใจบทเรียนที่คณะวิทยากรสรุปและหมอโกมาตรสรุปคือ

  • การจัดตั้งเดิมของชุมชน: ชุมชนมุสลิมมีองค์กรเฉพาะของเขาอยู่เดิมแล้วซึ่งมิใช่โครงสร้างของการปกครองของรัฐบาล การจัดตั้งเดิมนี้คือฐานสำคัญที่มาหนุนเนื่องให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระบบเครือข่าย: นอกจากการจัดตั้งดั้งเดิมของชุมชน ยังมีเครือข่ายมุสลิมมรชุมชนอื่นๆทั้งใกล้เคียงและห่างไกล เมื่อเพื่อนประสบภัยต่างก็หนุนช่วยกันเต็มที่ เป็นพลังกลุ่ม และเครือข่ายที่เห็นประโยชน์ชัดเจน
  • ชุมชนที่มีฐานศาสนาร่วมกันและเคร่งครัดเช่นมุสลิมนี้ ต่างใช้วิกฤตินี้เรียนรู้สัจธรรมของคำสอนและธรรมชาติ: เช่นมีการสรุปจากวิกฤตินี้ว่า แก่นแท้ของชีวิตคืออะไร ยามปกติเราก็ประมาท เมื่อประสบภัยเราก็ตระหนักถึงพื้นฐานง่ายๆของชีวิตที่จำเป็นและต้องการ ส่วนเกินของชีวิตมีมากมาย
  • หมอโกมาตรกล่าวว่า บางศูนย์ขนาดใหญ่เอาดนตรีวงใหญ่ๆมาขับกล่อม เพียงเจตนาช่วยด้านบันเทิงมิให้จมในกองทุกข์ แต่อีกมุมหนึ่งเป็น”ทัศนะกลบเกลื่อน” ความเป็นจริง ตรงข้ามควรที่จะเอาความจริงนั้นมาสรุปบทเรียนชีวิตต่างหาก มิได้ปฏิเสธกิจกรรมบันเทิง แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากกว่าเพียงเจตนาดี
  • ท่านผู้นำศาสนาท่านหนึ่งสรุปว่า “ศีลธรรม จริยธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” ทุกคนสามารถมีได้ สร้างขึ้นมาได้ รักษามันได้ และมันเป็นแก่นแกนของดารดำรงชีวิตร่วมกัน

    ผมเรียนรู้จากรายการนี้มากทีเดียว และเชื่อว่าศูนย์อพยพอื่นๆก็มีการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปตามความเหมาะสม และท้ายที่สุดท่านนักบวชมุสลิมพบว่า ยามนี้ต้องใช้ปลัก 3 ป. คือ ป เปิด คือเปิดใจรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ฯลฯ ป ปรับ คือ ต้องปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ให้ได้ และ ป เปลี่ยน คือการที่ไม่เคยเปิดก็ต้องเปิด และที่ไม่เคยปรับก็ต้องปรับ

    ขอบคุณหมอโกมาตร นักบวชและผู้นำอิสลามบ้านม้า และรายการชุมชนคนสู้น้ำ แห่ง ไทยพีบีเอสครับ


บางส่วนของปัญหาการจัดการน้ำในภาพรวม

458 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 เวลา 11:31 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 9625

ในช่วงเดือน สิงหาคมถึงเดือนตุลาคม รวมสามเดือนที่ผมได้เข้าไปลุยพื้นที่คลองต่างๆของปทุมธานีเพื่อเก็บข้อมูลชุมชน ความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและประชาชนในงานก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งที่สองขององค์การเภสัชกรรมที่คลอง 10 ซึ่งเป็นพื้นที่ อำเภอธัญบุรี นอกจากนี้ในรัศมี 5 กม.จากที่ตั้งโครงการ ยังต้องไปเก็บข้อมูลต่างๆเช่นเดียวกัน นั่นหมายถึงครอบคลุมพื้นที่ของ อำเภอหนองเสือ ซึ่งอยู่ด้านเหนือของอำเภอธัญบุรีและติดต่อกับอำเภอวังน้อยของจังหวัดอยุธยา และเก็บข้อมูลทางด้านใต้ของ ธัญบุรีคืออำเภอลำลูกกา


ผมไม่เคยมาพื้นที่แถบนี้มาก่อนแรกๆจึงงงกับสภาพพื้นที่ ที่เป็นคลองจากทิศเหนือ-ใต้ และคลองขวางทางตะวันออกตะวันตก ตลอดสามเดือนนั้นผมได้พบข้าราชการตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ผู้นำชาวบ้านรวมถึงตัวเกษตรกรเอง และ เจ้าหน้าที่บริหาร อปท. จึงมีความเข้าใจพื้นที่นี้มากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย

  • สองวัตถุประสงค์หลักของระบบคลองน้ำ

พื้นที่ของจังหวัดประทุมธานีส่วนนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่รัชการที่ 5 เท่าที่รับฟังมานั้นพระองค์ทรงมีประสงค์จะสร้างทางระบายน้ำจากทิศเหนือกรุงเทพฯไปลงทะเลโดยให้ผ่านพื้นที่เหล่านี้ เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาพื้นที่เป็นเขตเกษตรกรรมก้าวหน้า เพราะสามารถจัดการน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงได้ตลอดปี

เจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมตรงนี้นั้นเป็นพื้นที่ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย เมื่อพัฒนาระบบคลองส่งน้ำจึงมีชื่อคลองที่เป็นชื่อ “เจ้านาย” อยู่หลายแห่ง และในระยะเวลาต่อมาที่ดินเปลี่ยนมือไปสู่ประชาชนที่เป็นผู้มีเงินทอง….

แต่ผมสอบถามผู้นำชุมชนและเกษตรกรพบว่าร้อยละ 70-90 ของพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เช่า..เกษตรกรเช่าในอัตราที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นที่..

  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เป็นที่ทราบดีว่าอาชีพหลักของประชาชนไทยเรานั้นคือการทำการเกษตร ทำนา ทำสวน กรุงเทพฯในสมัยรัชการที่ 5 นั้นเหมือนกรุงเวียงจันทร์ปัจจุบันที่กลางกรุงยังมีการทำนากันอยู่ พื้นที่ปทุมธานีเขตนี้ก็ทำการเกษตรทั้งหมด

เมื่อน้ำดีการพัฒนาการเกษตรก็ก้าวหน้า จนเกิดนวัตกรรมพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์เกิดขึ้นที่นี่ ที่มีชื่อเสียงคือพันธุ์ข้าว “เหลืองปทุม” และอื่นๆเพราะมีสถานีข้าวของกรมการข้าวที่นี่ น้ำดี การพัฒนาเทคโนโลยี่การผลิตการเกษตรดี จึงเป็นเขตเกษตรก้าวหน้า และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ จึงเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนเมืองกรุง และการส่งออกต่างประเทศ

เมืองพัฒนาไปมากเท่าใด ก็ขยายตัวออกไปรอบๆกรุงเทพฯมากขึ้น ที่ดินในกรุงเทพฯแพงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดย่อมและขนาดเล็กก็ขยายตัวไปรอบๆกรุงเทพฯรวมทั้งพื้นที่ตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะรอบๆถนนสายหลักและตามต้นลำคลองทั้งหลาย จนมีการพบมลพิษและปัญหาต่างๆมากขึ้นจึงมีการกำหนดให้พื้นที่ปทุมธานีส่วนนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ไม่อนุญาตให้ทำโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง แต่มีขนาดย่อมและขนาดเล็กมากมายนับร้อยนับพันแห่ง


อุตสาหกรรมขยาย และที่ดินกรุงเทพฯแพงมาก และเป็นพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวก จึงเกิด “บูม” ในเรื่องที่พักอาศัย ทั้งเป็นที่พักของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแถบนั้น และบ้านพักข้าราชการที่ขยายไปอยู่ การลงทุนหมู่บ้านจัดสรรนั้นเติบโตเกินไป และพบปัญหาระบบน้ำประปาไม่มี อาศัยน้ำใต้ดินที่คุณภาพน้ำไม่เหมาะที่ใช้ดื่ม แม้เป็นน้ำใช้ก็มีปัญหา จึงเกิดล่มสลายของหมู่บ้านจัดสรรมากมายอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก บางแห่งทั้งโครงการมีผู้อยู่อาศัยไม่ถึงสิบหลัง นอกนั้นปล่อยร้างต้นไม้ขึ้นเป็นป่า หรือซื้อแล้วทิ้ง ซื้อแล้วให้ธนาคารยึดมากมายเหลือคณานับนัก


ดังนั้นพื้นที่เกษตรเดิมถูกสภาพเมืองบุกรุกกลายเป็นบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่สนามกอล์ฟ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง พื้นที่เหล่านั้นถูกถมเพื่อก่อสร้าง ทำให้พื้นที่รองรับน้ำเดิมลดลงไป

  • การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร

การเกษตรดั้งเดิมคือการทำนาทำสวน เมื่อระบบคลองถูกพัฒนา น้ำดี ระบบประตูน้ำชลประทานเข้ามาจัดการน้ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตรเป็นแบบก้าวหน้า เมื่อเทคโนโลยี่การเกษตรพัฒนามากขึ้น การทำนาแถบนี้เป็นแบบก้าวหน้าทั้งสิ้น ไม่มีวัว ควาย มีแต่เครื่องจักรร้อยเปอร์เซ็นต์ พบว่าในสองปีทำนา 5 ครั้ง พบว่าเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็เริ่มเพาะปลูกข้าวรุ่นใหม่ต่อไปเลยทันที เกิดระบบพืชสวนขนาดใหญ่ หลายแห่งเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นทำสวน ยกร่อง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ส้ม ซึ่งส้มทั้งหมดล้มละลายไปเมื่อสิบปีที่แล้วเพราะโรคระบาดหนัก เกษตรกรหลายคนมีหนี้สินเป็นหลายล้านบาท ใช้หนี้ธนาคารมาจนถึงปัจจุบัน ทำสวนฝรั่ง มะนาว ฟัก แฟง บวบ ฯลฯ การปลูกพืชเศรษฐกิจแบบนี้ไม่เหมือนภาคกลางส่วนอื่นหรือภาคเหนือภาคอีสานที่ปลูกอย่างมากก็ไม่เกินสองไร่ แต่พื้นที่แถบนี้อย่างต่ำ สิบไร่ขึ้นไป

น้ำท่วมครั้งนี้ยังมีสื่อสารมวลชนไปสอบถามชาวบ้านคลอง 9 ว่ากำลังงมฟักที่เตรียมเก็บขายนับ 10 ตันมาจากใต้น้ำ..?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตการเกษตรนั้นเป็นไปอย่างอิสระ ใครใคร่ปลูกอะไรปลูก..จึงไปกระทบวัตถุประสงค์ของระบบชลประทานพื้นที่นี้ที่เพื่อการเกษตรและเพื่อระบายน้ำออกทะเลยามที่น้ำหลากมากเกินไปและจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ


ช่วงปลายเดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนถึงต้นเดือนตุลาคมนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวของภาคกลาง ที่แต่ละเจ้า แต่ละรายไม่ได้ปลูกข้าวพันธุ์เดียวกัน เวลาเดียวกัน ข้าวจึงสุกพอจะเก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ชลประทานได้รับคำสั่งให้พร่องน้ำในคลองและเปิดรับน้ำเข้าคลองมากขึ้นจึงไปกระทบช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร ปัญหาก็เกิดขึ้น…เอาหละซี..น้ำก็มากขึ้น คำสั่งกรมชลประทานก็สั่งให้นายช่างเปิดประตูรับน้ำเข้าคลอง เกษ๖รกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็ไปร้อง อบต เกษตรอำเภอ นายอำเภอ สส. ใครใกล้ชิดใครก็ไปที่นั่น โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติในพื้นที่นั้นๆก็ย่อมรักษาฐานเสียง หรือหาเสียงนี่คือโอกาสการสร้างความเชื่อถือในอำนาจ ต่างก็วิ่งสุดฤทธิเพื่อระงับการรับน้ำเข้าคลองเพื่อให้เกษตรเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อน

ดังกล่าวว่า พันธุ์ข้าวไม่เหมือนกัน ปลูกไม่พร้อมกัน กำหนดสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวจึงไม่สามารถกำหนดได้ คนนี้เกี่ยวเสร็จ คนนั้นยังไม่เสร็จ และปัจจัยอื่นๆ เช่น ไม่มีแรงงาน ใช้เครื่องจักรก็ไม่สามารถลงไปในท้องนาได้เพราะน้ำสูงไป อุปสรรคจึงซับซ้อนมากขึ้นหลายเท่าตัวนัก

การเมืองย่อมเหนือกว่าหลักการ การเปิดรับน้ำเข้าคลองเพื่อเร่งช่วยระบายน้ำลงทะเลตั้งแต่ต้นมือจึงล่าไปกว่าที่ควรจะทำ….?????

แล้ววิกฤติก็มาเผชิญอย่างใหญ่หลวง..ดังที่เราเห็น


  • การเคร่งครัดต่อความรับผิดชอบในหน้าที่

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเหมือนห่วงโซ่ของเหตุปัจจัย มันมิใช่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มาจากหลายปัจจัย การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะสังคมเราซับซ้อนมากขึ้น มากขึ้น เหมือนที่ผมมีความเห็นต่อระบบจราจรในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด ว่า กฎจราจรอันเดียวกัน ต่างจังหวัดจะย่อหย่อนไปก็ไม่ค่อยกระทบปัญหามากนัก แต่ในกรุงเทพฯที่มีรถมาก ถนนแคบ เวลามีจำกัด ยิ่งต้องเคร่งครัดกฎระเบียบมาก หากใครละเมิดจะส่งผลกระทบมากมาย

การจัดการน้ำก็ทำนองเดียวกัน เมื่อปีไหนน้ำน้อย หรือไม่มากจนท่วม การจัดการก็ยืดหยุ่นได้ ไม่กระทบอะไรมากนัก หากปีไหนน้ำมากมาย หากการจัดการน้ำไม่เคร่งครัดต่อหลักการจัดการน้ำย่อมส่งผลกระทบมากมายเพราะปริมาณน้ำจำนวนมากมายนั้นไม่สามารถผลักให้รีบไหลลงทะเลได้ ก็เอ่อท่วม

นานๆ หรือหลายปีน้ำจะมากมายสักที แม้เจ้าหน้าที่ชลประทานเอง เจ้าหน้าที่ อบต. เทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐส่วนที่รับผิดชอบต่างก็ละเลยการสำรวจตรวจตราระบบคลองให้มีความพร้อมในการระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ ปล่อยให้มีการบุกรุก ปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นเต็มคลอง ปล่อยให้คูคลองตื้นเขินตามกาลเวลา บานประตูเสียหายไม่ได้แก้ไข..ฯลฯ ล้วนมีผลต่อระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือความเห็นส่วนตัวที่เป็นเหตุ ปัจจัยส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของผม ยังมีเหตุ ปัจจัยอีกมากมายนักที่เป็นองค์ประกอบของการเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งนี้

มองไปข้างหน้าแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม แต่มนุษย์ย่อมมีปัญญาในการแก้ไขปัญหา หากสามัคคีกัน ร่วมมือกัน…

แต่เอ จะมีวันนั้นไหมหนอ.. เพราะมัวแต่ชี้นิ้วว่า เองน่ะผิด…??


กรณีความขัดแย้งเรื่องบานประตูน้ำชลประทาน..

411 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 11719

กรณีความขัดแย้งบานประตูเปิดปิดน้ำชลประทานเพราะน้ำท่วม… หากมีใครถามผมว่า หากคุณเป็นผู้รับผิดชอบ คุณจะทำอย่างไร..? ผมอยากแสดงความคิดเห็นในฐานะคนทำงานพัฒนาคน… โดยมองจากประสบการณ์ แม้ว่าเงื่อนไข รายละเอียด สาระ และปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน แต่พยายามนำเสนอเพื่อต่อยอดเท่านั้นเอง

  • ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา

เพราะชุมชนแตกต่างกัน มากมาย การแก้ปัญหาที่อีสานอาจจะสำเร็จ แต่กระบวนวิธีเดียวกันอาจจะใช้ไม่ได้เลยที่ปทุมธานี อาจใช้หลักการเดียวกันได้ แต่ผู้ดำเนินการต้องพลิกแพลงไปตามปัจจัยในระหว่างการดำเนินการ หรืออาจจะพบช่องทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้หากคิดวิเคราะห์ไปตลอดเวลาของการจัดทำกระบวนการ


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • ทำงานมวลชนแบบต่อเนื่อง

เป็นที่ยอมรับกันว่าการทำงานกับคนนั้น ต้องจริงใจเป็นเบื้องต้น มีความพยายามเข้าใจเขาผู้เดือดร้อน ถามว่าแสดงอย่างไร… ตอบว่า มันไม่ใช่พอน้ำท่วมแล้วมาแสดงด้วยคำพูดกันใหญ่ว่า เข้าใจ เห็นใจ จริงใจ แล้วก็หายหน้าไป เดี๋ยวก็โผล่มา เดี๋ยวก็หายไป ต้องมีความผูกพันกันมาก่อนหน้านี้แล้วนานพอสมควรที่ชุมชนนั้นๆจะรู้จักเราดี

นั้นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบานประตูชลประทานต้องทำงานมวลชนมาก่อนหน้านี้ตลอดเวลามานานแล้ว

  • งานมวลชนคืองานอะไร..?

งานที่เจ้าหน้าที่ชลประทานจะต้องเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน ตั้งแต่หัวหน้าชุมชนทุกระดับจนถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน ทั้งในภาระงานที่รับผิดชอบนำความรู้ความเข้าใจไปอธิบายให้ชุมชนฟัง อธิบายอย่างหมดเปลือก ถึงภาระหน้าที่ บทบาท การบริหารน้ำ ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลดี ผลเสีย ประโยชน์ต่างๆ ชุมชนได้อะไร เสียอะไร ระบบน้ำทั้งหมดเป็นอย่างไร ฯลฯ อธิบายซ้ำซาก ใช้เครื่องมือต่างๆทางเทคนิควิทยาการมาช่วย เช่น ระบบ Simulation ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบๆบานประตูน้ำและทั้งระบบน้ำ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของบานประตูและความต่อเนื่องของระบบการจัดการในภาพใหญ่ ภาพรวม นี่คือเป้าหมายแรกของงานมวลชน

  • งานมวลชนต้องละรูปแบบทางการ

เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องอุทิศเวลาส่วนตัว เวลางานออกไปเยี่ยมเยือน พูดคุยกับชาวบ้านอย่าง “ไม่เป็นทางการ” ไปแวะถามไถ่การทำนา ทำสวน หรือการทำอาชีพต่างๆของเขา ไปเยี่ยมเยือนผู้นำ ที่เราเรียกว่า Key informant เป็นระยะๆจนเกิดความสนิทสนม กิจกรรมแบบไม่เป็นทางการนี้แหละที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญสุดของงานมวลชน ก่อนที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในสาระที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งงานแบบนี้เจ้าหน้าที่ชลประทาน หรือข้าราชการทั่วไปมักไม่ได้ให้ความสำคัญ ตรงข้ามมักเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ได้กำหนดไว้ในบทบาทหน้าที่ และไม่ถนัดที่จะทำ เพราะส่วนใหญ่เป็นนายช่าง จะวางตัวในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเทคนิคกับมวลชน ผมเคยสอบถามว่าในวิทยาลัยชลประทานนั้นมีวิชาที่ว่าด้วยสังคมศาสตร์บ้างหรือเปล่า คำตอบคือไม่มี เน้นความเป็นเลิศทางช่างเท่านั้น นี่คือจุดอ่อนของบุคลากรเทคนิคของบ้านเรา

  • งานมวลชนต้องรับฟัง และทำซ้ำ

การใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงไปอธิบายให้ประชาชนทั้งชุมชนเข้าใจระบบการทำงานของบานประตูกับระบบการจัดการน้ำทั้งระบบนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าใจทั้งหมด ยิ่งใช้วิธีแบบทางการ ก็อย่าหวังว่าตามีที่มีอาชีพปลูกข้าวมาตลอด 60 ปีจะเข้าใจทั้งหมด ให้เวลาเขา รับฟังเขามากๆ ต้องทำแบบ two way communication ตลอดเวลา คือชุมชนสามารถสอบถามถึงความไม่เข้าใจ ต่างๆได้ ซึ่งมีเทคนิควิธีมากมายจะบอกกล่าวให้ชุมชนทราบ เช่น โทรศัพท์ การเดินเข้าไปหา การ เขียนจดหมายถึง การเชิญไปอธิบายเพิ่มเติม ฯลฯ ทำซ้ำๆหลายครั้งหลายหน พาไปดูของจริง ตระเวนไปดูทั้งระบบ ฯลฯ

  • งานงานมวลชนนั้นเป็นทักษะเฉพาะคน

พร้อมที่จะดัดแปลงกระบวนวิธี เพราะมวลชนนั้นแตกต่างกันมากมาย อายุ เพศ อาชีพ ลักษณะที่ตั้งชุมชน การเข้าถึงของสื่อต่างๆ ระบบถนน และระยะห่างจากสังคมเมือง สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยห่อหุ้มมวลชนให้มีลักษณะเฉพาะ และแตกต่างกันและกัน

  • งานมวลชนกับชุมชนแบบไหน

ที่กล่าวมานั้นเป็นมวลชนประเภท ชุมชนแบบดั้งเดิม ซึ่งง่ายเพราะชุมชนดั้งเดิมของสังคมไทยนั้นมีลักษณะร่วมมากกว่า มีทุนทางสังคมเป็นแรงเกาะเกี่ยวแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว การทำงานมวลชนง่ายกว่า หากผู้รับผิดชอบเข้าใจโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม และคลำหาตัวบุคคลได้ถูก เท่ากับเดินมาถูกทางไปมากแล้ว โครงสร้างชุมชนดั้งเดิมนั้นถูกซ้อนทับด้วยโครงสร้างการปกครองสมัยใหม่ พ่อเฒ่าพูดกับผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.พูดนั้น บางชุมชนนั้น พ่อเฒ่าพูดมีน้ำหนักมากกว่า คุณผู้ทำหน้าที่เข้าใจและคลำหาบุคลากรเหล่านี้ได้หรือไม่

ส่วนชุมชนอีกแบบเป็นแบบสมัยใหม่ คือหมู่บ้านจัดสรร เป็นชุมนเมือง เป็นชุมชนที่สมาชิกมาจากทั่วสารทิศ แตกต่างกัน มีลักษณะการเกาะเกี่ยวกับด้วยกฎ ระเบียบ ข้อตกลง ข้อบังคับ มากกว่าความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ ความสนิทสนม มีความเป็นส่วนตัวสูง ตัวใครตัวมัน เก็บตัว มันเหมือนมีกำแพงบางอย่างขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่

  • งานมวลชนไม่ใช่มาทำเมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งแล้ว

คนที่ทำงานมวลชนที่หวังผลนั้นต้องทำมาอย่างต่อเนื่อง หลักการของในหลวงที่พระราชทานให้ไว้นั้นสั้นที่สุดและครอบคลุมที่สุดคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในกระบวนการทำงานด้านสังคมชุมชนนั้นเรามีเครื่องมือมากมายที่จะ “เข้าใจชุมชนทั้งครบ” เรามี PRA, RRA, Socio-gram, Triage, Community profile, Historical profile, Sustainability analysis, Livelihoods analysis, Transect, Dairy routine work, ฯลฯ เพื่อศึกษาด้านลึกของแต่ละครอบครัว เพื่อวิเคราะห์จุดร่วม หรือเงื่อนไขที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน งานมวลชนแบบนี้ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์สูงมาทำ เพราะจะเข้าใจเครื่องมือที่ใช้ ท่าที กระบวนวิธี และการสื่อสารกันและกัน เอามาวิเคราะห์ แล้วมาทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านมวลชนเฉพาะ

นี่คือเครื่องมือที่เข้าใจเขา ประการสำคัญขอย้ำว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะที่ทำหน้าที่นี้เพื่อทุ่มเทเวลาในการทำงานด้านมวลชน เพื่อเข้าใจเขา การเข้าใจเขานั้นมิใช่เพียงเข้าใจ แต่ต้องเป็นการ “เข้าใจด้านลึกของเขาทั้งครบ”


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • เขาเข้าใจเราไหม

เราเข้าใจเขาแล้วทั้งภาพรวม ภาพย่อย เงื่อนไข การเกาะเกี่ยว เอกลักษณ์ ความเป็นปัจเจก ความสามัคคี ความขัดแย้ง กลุ่มอิทธิพล การเชื่อมโยงภายในภายนอก ฯลฯ แล้วมาถึงคำถามใหญ่ว่า แล้วเขาเข้าใจเราไหม เข้าใจบานประตูชลประทานไหม เข้าใจระบบการจัดการน้ำไหม เข้าใจความเชื่อมโยงของบานประตูนี้กับบานอื่นๆ คลองอื่นๆ ส่วนอื่นๆ ระบบการสั่งการ การตัดสินใจ ฯลฯประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งเงื่อนไข ปัญหาอุปสรรคต่างๆในการปฏิบัติงาน มวลชนต้องเข้าใจ อย่างน้อยที่สุดกลุ่มผู้นำ และ Key Informant ต้องเข้าใจโดยละเอียด ทุกครั้งที่มีการปฏิบัติงานต้อง Inform ให้กลุ่มผู้นำทราบโดยเฉพาะในช่วงฤดูการเปิดปิดประตูน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเพื่อการระบายน้ำในกรณีน้ำท่วม อาจพิจารณาถึงขั้นตั้งผู้นำชุมชนให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยซ้ำไป


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดหยาบๆที่นำเสนอมาภายหลังที่เกิดกรณีความขัดแย้งการเปิดปิดบานประตูน้ำชลประทานคลองต่างๆ..ในกรณีน้ำท่วม ซึ่งผมส่วนตัวเชื่อว่า เจ้าหน้าที่พยายามที่สุดแล้วแต่ดังกล่าวว่า การทำงานมวลชนนั้นมันมิใช่เพิ่งจะมาทำช่วงวิกฤตินี้ ไม่มีผลเพราะมันเกิดความคาดหวังและอารมณ์ร่วมมากกว่าเหตุผลที่เอามาพิจารณาร่วมกัน

บทเรียนนี้จะทำให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องทบทวนและเอาไปพิจารณากำหนดแผนงานที่สำคัญในอนาคตเพื่อยกระดับการทำงานมวลชนควบคู่ไปกับงานด้านเทคนิค


คำถามที่ต้องตอบ..

47 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 เวลา 9:52 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 3688

วิกฤติน้ำท่วมบ่งชี้แนวทางการเติบโตของสังคม ของประเทศให้เห็นชัดๆมากขึ้น ผมยังไม่แตะในเรื่องสาเหตุของอุทกภัย แต่เมื่อเกิดแล้วนั้นประชาชนประสพภัยอะไรบ้าง

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการดำรงชีพด้วยปัจจัยสี่พื้นฐานนี่แหละ ความจริงมากกว่าปัจจัยสี่

เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมเมืองนั้นดำรงชีพด้วย “เงิน” เวลาของชีวิตส่วนใหญ่ต้องเข้าระบบงาน เพื่อได้เงิน และเอาเงินนั้นไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และชีวิตที่ขึ้นกับเงินตรานั้นยังเคลือบไปด้วยค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่น มากกว่าคุณสมบัติความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ยิ่งทำให้ชีวิตยืนอยู่บนราคาที่แพงมากขึ้น ต้องใช้เงินที่มีปริมาณมากขึ้น ในขณะที่รายได้นั้นไม่มากเพียงพอ จึงกลายเป็น “ชีวิตผ่อนส่ง” ยิ่งติดใน ค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่นมากเท่าไหร่ อัตราการผ่อนส่งของชีวิตก็แพงมากขึ้น


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

สภาพชีวิตเช่นนี้ได้สร้างลูกโซ่แห่งทัศนคติ นิสัย แห่งการได้มาของปริมาณเงินตรา และค่อยๆก้าวข้ามคุณค่าเดิมของสังคมในด้านความเอื้ออาทร บาป สิ่งไม่พึงกระทำที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมกำกับ เวลาที่มีอยู่ต้องเข้าระบบงาน บางแห่งทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน

เด็กรุ่นใหม่มีวิถีประจำวันที่หลุดลอยออกจากคุณค่าทางสังคมเดิมออกไป ใช้เงินตรามากมายไปกับสิ่งที่มิใช่ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่แฝงบนค่านิยมมากกว่าความจำเป็น

แน่นอนครอบครัวใดที่มีอาชีพที่สร้างรายได้มากเพียงพอ ก็ก้าวผ่านสภาพสังคมแบบนี้ไปได้ แต่ครอบครัวใดที่ไม่มีรายได้เพียงพอ แต่ค่านิยมนั้นท่วมท้นการตอบสนอง ก็ดิ้นรนในวิธีการได้มาซึ่งเงินตราไปในช่องทางที่เขาจะพึงทำได้ หลายคนทำงานพิเศษ แต่หลายคนต้องก้าวไปบนเส้นทางที่ผิดต่อระเบียบบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามวิถีคนเมืองพัฒนามาบนสภาพเช่นนี้นับชั่วอายุคน จนเป็นความเคยชิน และรู้สึกแปลกแยกเมื่อต้องไปอยู่ในสังคมที่มีวิถีแบบชนบท


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

เมื่อเงินไม่มี ปัจจัยสี่ก็ขาดแคลน ตรงข้ามเมื่อมีเงินแต่ไม่สามารถจับจ่ายตามต้องการได้ ก็กระทบต่อปัจจัยสี่ เช่น กรณีเกิดน้ำท่วมในลักษณะวิกฤติมีเงินก็ซื้ออะไรไม่ได้ ในขณะที่ชีวิตประจำวันขึ้นกับการใช้จ่ายวันต่อวัน นี่คือการสูญเสียปัจจัยการดำรงชีวิต กล่าวอีกทีคือ พึ่งตัวเองไม่ได้เลย…

ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เราจึงเห็นขบวนการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหาร น้ำ ฯ และที่ร้ายมากไปกว่านั้นคือ ความรู้ในการพึ่งตนเองก็ไม่มี หรือมีน้อย

กรณีวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้บ่งบอกว่ากระทบต่อลูกโซ่ของวิถีสังคม การขับเคลื่อนของสังคม ประเทศ และเลยไปถึงความมั่นคงของประเทศ ยิ่งใจกลางของวิกฤติน้ำอยู่ในใจกลางของนครหลวงที่รวมศูนย์ทุกอย่างของประเทศอยู่ที่นี่..

ถามว่าหากวิกฤติน้ำเกิดในชนบทสภาพจะแตกต่างกันอย่างไร.. ตอบได้ว่า การซวนเซของปัจจัยสี่นั้นมีแน่นอน แต่ฟื้นตัวเร็วกว่า เพราะมีสภาพ เงื่อนไขของวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเองได้มากกว่าพึ่งพาภายนอก รวมทั้งเขามีประสบการณ์ในการยังชีวิตด้วยสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้มากกว่า

ภาพนี้นั้นจึงเป็นคำถามใหญ่ๆว่า แนวทางการเติบโตของสังคมแบบเมืองนั้นควรทบทวนอย่างหนัก เพราะวิกฤติในทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจจะหนักมากกว่านี้ก็เป็นได้

หากไม่มีพลังงาน เช่นไฟฟ้า แก๊ส จะทำอย่างไร..?

หากไม่มีอาหารในซูปเปอร์มาร์เก็ต จะทำอย่างไร…?

หากบ้านพักไม่สามารถพักได้ มีความรู้อะไรจะแก้ปัญหานี้..?

หากน้ำที่มีท่วมบ้านท่วมเมืองดื่มไม่ได้ จะมีความรู้พื้นฐานอะไรแก้ปัญหานี้ได้…?

หากมีเงิน แต่ใช้ไม่ได้ จะแก้ปัญหาการดำรงชีพอย่างไร…?

หากเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน จะมีความรู้อะไร มีปัจจัยเอื้ออย่างไรที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ได้…?

ฯลฯ….

การพึ่งตัวเองในเมืองคืออย่างไร

เป็นคำถามที่ต้องตอบ….?


อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ

1008 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ตุลาคม 2011 เวลา 22:00 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 32893

ผมไม่ได้เรียนจบมาทางการพัฒนาชุมชน แต่มาทำงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่เรียนจบ มช. ถามว่าทำไม ก็ต้องพูดกันตรงๆว่า ผมเข้าเรียนในอุดมศึกษาช่วงการเติบโตของขบวนการนักศึกษาพอดี ความที่มาจากบ้านนอก เห็นความไม่เป็นธรรม และความแตกต่างของสังคม จึงเข้าร่วมและมีส่วนจัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยด้วย จนประสบผลสำเร็จในการเสนอทีมงานขึ้นไปบริหารงานองค์การนักศึกษาในสมัยนั้น


ทั้งๆที่เพื่อนเดินเข้าสู่ระบบราชการกันทั้งนั้น บางคนเรียนต่อ แต่ผมเดินสู่ชนบท ผมไปฝึกงานที่บูรณชนบทแห่งประเทศไทยที่ชัยนาท ซึ่ง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์เป็นผู้จัดตั้งขึ้น โดยเอาหลักการมาจาก ดร.เจมส์ ซี เยนจากฟิลิปปินส์ นั่นคือ Credo 10 ประการ ผมถูกฝึก และเรียนรู้กระบวนวิธีการทำงานพัฒนาชุมชนมาจากการทำจริง และ On the Job Training (OJT)

สมัยนั้นเราเอาหลักการพัฒนาชุมชน สังคม มาจาก “คิปบุช และ โมชาร์ป” ของอิสราเอล เอาหลักการ “เซมาเอิลอันดอง” มาจากเกาหลี เอาหลักการ “ซาโวดายา” มาจากศรีลังกา แม้ “ธนาคารคนจน” จากบลังกาเทศ หน่วยงานส่งคนไปเรียนที่ เซียโซลิน และสถาบัน PRRM ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงาน “หุบกะพง” ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น

หน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนามากๆน่าจะเป็นสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทย และ NGOs ทั้งหลายที่กระจายตัวออกมาจากที่องค์กรต่างประเทศมาทำค่ายผู้ลี้ภัยสงครามเวียตนาม เขมร ตามชายแดนไทยตะวันออก

สมัยนั้นราชการคือกรมการพัฒนาชุมชนที่เรียกสั้นๆว่า พช. หรือ CDD ส่งคนไปเป็นพัฒนากรตำบล และกรมส่งเสริมการเกษตรมีเกษตรตำบล กระทรวงสาธารณะสุขเริ่มมีการทดลองสร้าง อสม.แห่งแรกที่ อ.สารภี จังหวัดลำพูน และมีพื้นที่ที่ควบคุมในลักษณะงานวิจัยคือ อ.สะเมิง ซึ่งผมทำงานที่นั่นพอดี

เรามีชมรมนักพัฒนาชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และแห่งประเทศไทย แบบจัดทำกันเอง มีการประชุมกันทุกปีเพื่อสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

และสมัยนั้นเราไม่โดดเดี่ยวมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ลงมาช่วยเหลือหลายท่าน สืบต่อมาจากที่ ดร.ป๋วยท่านสร้างโครงการบัณฑิตอาสาสมัครขึ้นมาเป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณาจารย์หลายท่านที่ศรัทธา ดร.ป๋วย ก็ออกมาช่วย

หนึ่งในคณาจารย์นั้นคือ อาจารย์ บัณฑร อ่อนดำ…ท่านเป็นอาจารย์สอนภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านจบสังคมวิทยามาจาก Cornell University นักพัฒนารู้จักท่านกันทุกคนเพราะท่านคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานมาก กระบวนวิธีการสอนของท่านก็ไม่มีใครนั่งหลับก็แล้วกัน ท่านเรียบง่าย กันเอง ถ่อมตน แต่ให้ความรู้แบบมีเท่าไหร่ให้หมด นักพัฒนาจึงรักใคร่อาจารย์มาก เชิญอาจารย์เป็นที่ปรึกษามากมาย..

ท่านทำงานไม่เคยหยุดแม้อายุท่านจะเลยวัย 70 ไปแล้วหลายปี ผลงานเด่นของท่านเกี่ยวกับชุมชนนั้น เป็นที่ลือลั่นเมื่อท่านเสนอผลงานชื่อ Rural System Analysis หรือ RSA ซึ่งพัฒนามาจาก Participatory Rural Appraisal (PRA) หรือ Rapid Rural Appraisal (RRA) สมัยที่เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ

อาจารย์บัณฑร ท่านเป็นกรรมการระดับชาติหลายคณะ หนึ่งในนั้นก็คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการที่ ท่านรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้นมา

อาจารย์ยืนข้างประชาชนมาตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงที่พักท่านไม่มีใครรู้จัก แล้ววันหนึ่งอาจารย์ ดร. มรว. อคิน รพีพัฒน์ บอกพวกเราว่า บ้านอาจารย์บัณฑรท่านอยู่ในสลัมแห่งหนึ่ง..? และไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่านไปซื้อที่เล็กๆที่ขอนแก่นปลูกกระต๊อบอยู่กับลูกศิษย์ที่ทำงานพัฒนาชนบท

อาจารย์บัณฑร เข้ามาช่วยงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการต่างๆให้กับบริษัทที่ปรึกษาที่ผมสังกัดอยู่ด้วย เราไม่เคยร่วมงานในนามบริษัท แต่ผมก็ยังหอบงานไปปรึกษาท่านเสมอๆ

ท่านอาจารย์เป็นผู้ให้ ให้กับนักพัฒนา ให้กับสังคมนี้มามากมาย หลายคนเติบโตไปในสังคมแห่งนี้ หลายคนเป็นผู้นำการต่อสู้แนวหน้าของวงการ และหลายคนยังเดินวนเวียนอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ


วันนี้ด้วยวัย 70 เศษของท่านต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น ตึกออโธปิดิก เพราะร่างกายท่อนล่างของท่านเป็นอัมพฤกษ์ แต่ท่อนบนดีมากๆ คุยลั่นเหมือนเดิม

เชิญลูกศิษย์ลูกหาไปเยี่ยมท่านนะครับ

RDI คิดจะจัดสัมมนาผลงานของท่านในเร็วๆวันนี้เพื่อกระจายองค์ความรู้และผลงานท่านพร้อมทั้งรับบริจาคเงินมาดูแลท่านยามที่ท่านเจ็บป่วย ท่านให้สังคมมามากแล้ว

ถึงคราวที่ลูกศิษย์ควรดูแลท่านบ้าง อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ ผู้อยู่เคียงข้างความเป็นธรรม และประชาชนมาตลอด…

(ขอบคุณภาพจาก internet)


อยู่กับน้ำ

277 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2011 เวลา 23:35 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4755

นึกถึงสมัยที่ผมเด็กๆอยู่ที่บ้านวิเศษชัยชาญ พื้นที่น้ำท่วมในฤดูน้ำคือหลังทำนาแล้วฝนก็ตกใหญ่น้ำเหนือก็ไหลบ่า น้ำก็ท่วมทั้งแม่น้ำน้อยและทุ่งนาและที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะมันเกิดมานับร้อยปีมาแล้วตั้งแต่มีการตั้งหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อฤดูกาลแต่ละปีจะมีช่วงหนึ่งน้ำท่วม วิถีชีวิตก็ปรับให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ

ไม่เดือดร้อนเหมือนน้ำท่วมในปัจจุบัน

เพราะวิถีชาวบ้านนั้นทำนา เก็บข้าวไว้กินใส่ยุ้งฉางไว้ จะกินเมื่อไหร่ก็เอาไปใส่ครกใหญ่ตำ ต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องสีข้าวมือ ต่อมาเป็นโรงสีใหญ่ และโรงสีเล็ก เลิกการตำและสีข้าวมาเป็นจ้างโรงสี หรือขายข้าวแล้วซื้อข้าวกิน

หุงข้าวด้วยฟืนก็เตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มฤดูทำนาใหม่ๆ เด็กๆมีหน้าที่ไปตัดต้นก้ามปูมาเป็นฟืน แล้วเอามากองให้สูงเหนือระดับน้ำที่ชาวบ้านรู้ดีว่าแต่ละปีน้ำสูงแค่ไหน เรามี “โคก” เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักทุกอย่างที่อยากกิน และเมื่อน้ำท่วมพืชผักในฤดูน้ำก็มีมาโดยธรรมชาติ ปลามีมากมาย ใครมีปัญญาจับก็เอามากิน มาขาย มาแบ่งปันกัน

การคมนาคม บ้านผมมีเรือไผ่ม้า เรือบด เรืออีป๊าบ และเรือมาด เรือแต่ละชนิดใช้ประโยชน์ต่างกัน เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ มีใบพายที่พ่อทำขึ้นมาเอง พ่อรู้จักว่าจะทำใบพายแบบไหนจึงจะเบาแรงและใช้ได้ดี เราเตรียมเรือตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูทำนา เอามาขัดด้วยแปรงทองเหลืองทั้งด้านนอกด้านในเพื่อเอาสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปแล้วก็ทาด้วยน้ำมันยางโดยลงชันอุดตามรอยต่อเรือ หรือรูรั่วต่างๆที่ชาวบ้านรู้ดีว่าเรือลำนี้ตรงไหนมีรูรั่ว ตรงไหนชำรุดก็ซ่อมแซม พร้อมใช้งานในช่วงน้ำหลาก

เรือซึ่งเป็นพาหนะของสังคมชุมชนในช่วงฤดูน้ำนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ หลักๆคือเอาไปใช้ทำนาบรรทุกสิ่งของที่ต้องใช้ หรือเอาไปเยี่ยมแปลงนา กำจัดวัชพืชที่มักเป็น “ต้นซิ่ง” เริ่มมีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงนา จำได้ว่าจะฉีดยาฆ่าวัชพืชที่เรียกต้นซิ่งนี้ ในถังน้ำยาต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วย นัยว่าช่วยให้น้ำยาจับใบวัชพืชมากขึ้น หากไม่ใส่ผงซักฟอกน้ำยาเคมีจะไม่จับใบพืชชนิดนี้ เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน สิ้นเปลืองยา วัชพืชไม่ตาย

เมื่อวันโกนวันพระมาถึง เราแต่งตัวสวยงามพากันพายเรือไปทำบุญที่วัดกันทั้งครอบครัว เด็กๆชอบใจเพราะจะได้กินขนมแปลกๆที่ชาวบ้านจะเอาข้าว เอาขนมมาแลกกัน หลังจากที่ถวายพระทำบุญแล้ว เด็กๆได้เล่นกัน แต่อยู่ในสายตาการสอนการดูแลของผู้ใหญ่

หมู หมา กา ไก่ มีร้านให้เขาอยู่อาศัย แม้แต่สัตว์ใหญ่เช่น ควายทั้งคอก เราทำร้านให้เขาอยู่ หรือเรียกง่ายๆคือ สร้างเรือนให้ควายอยู่ แล้วชาวบ้านเจ้าของก็ไปตัดหญ้ามาให้เขากินทุกเช้า เหล่านี้มีการเตรียมตัว จัดทำมาก่อนหน้าที่น้ำจะหลากมาแล้ว

เรามีข้าวในยุ้ง เรามีน้ำดื่มเพราะรองน้ำใส่ตุ่มไว้ตั้งแต่ฤดูฝนปีก่อน มีตุ่มมากเพียงพอที่เก็บน้ำดื่มได้ทั้งปี อาหารมีตามฤดูกาล การเดินทางใช้เรือ วัฒนธรรม ประเพณีตามฤดูกาลก็มี เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน ผ้าป่า การทำบุญวันพระ การแข่งเรือยาวช่วงออกพรรษา สมัยนั้นยังมีการเล่นเพลงเรือ คนเฒ่าคนแก่ออกมาต่อเพลงเรือกันสนุกสนาน

มีการทำกระยาสารท กล้วยไข่ มีการย้อมแห อวนด้วยผลไม้ชนิดหนึ่งเอามาตำใส่ครกใหญ่แล้วเอาน้ำมาย้อม เพราะยางของผลไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติเกาะจับแน่นกับผ้าหรือฝ้ายการห่อหุ้มผ้าหรือเส้นใยทำให้รักษาคุณภาพทำให้คงทนต่อการใช้งาน

ช่วงนี้ก็จะจับปลามาเป็นอาหารและทำแห้งเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกี่ยวข้าว พอน้ำเริ่มลดลง ปลาออกจากทุ่ง ก็จะมีการทำยอยกจับปลาในบริเวณที่ปลาจะออกมาจากทุ่งลงสู่แม่น้ำน้อย ปลาชนิดหนึ่งจะขึ้นมาจากเจ้าพระยา เข้าสู่แม่น้ำน้อย และมาเป็นฝูงใหญ่ๆ คือปลาสร้อย ปลาชนิดนี้เป็นปลาชั้นเยี่ยมที่เอามาทำน้ำปลา ตั้งแต่มีการสร้างประตูน้ำพระอินทร์ ที่วิเศษชัยชาญก็ไม่มีปลาสร้อยอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถผ่านประตูน้ำขึ้นไปได้ ปลาที่ชาวบ้านทำแห้งมากที่สุดคือปลาตะเพียน ปลาช่อน..

ไม่เห็นต้องกักตุน เพราะมีการเตรียมมาแล้วตามปกติของวิถีในรอบปี

เมื่อน้ำลดลงงานในนาก็เริ่มเข้มมากขึ้นนั่นคือ ฤดูหนาวเข้ามาข้าวในนาเริ่มสุก งานใหญ่รอข้างหน้าคือการเก็บเกี่ยว พ่อบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ เช่น เคียวเกี่ยวข้าว คันฉาย หลาว เขน็ดมัดฟ่อนข้าว เครื่องสีฝัด ลานกองข้าว

แต่วิถีชีวิตแบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อไฟฟ้าเข้ามา ถนนเข้ามา เด็กรุ่นใหม่เข้าเมือง เรียนหนังสือ พืชใหม่ๆเข้ามาแทนนาข้าว ระบบชลประทานเข้ามา เงินซื้อทุกอย่าง

คนเมืองเป็นอีกระบบของชีวิต ที่ทำเงินอย่างเดียวนอกนั้นซื้อทุกอย่าง เป็นวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงเมื่อภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้น

วิถีชีวิตแบบอยู่กับน้ำในอดีตนั้นอยู่ได้แม้จะมีภัยพิบัติ

แต่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป…


น้ำตาชาวนามากกว่าน้ำท่าที่ท่วมเมือง..

1259 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2011 เวลา 21:06 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 18267

…..”ปล่อยน้ำมาเถอะ ให้ท่วมกรุงเทพฯครึ่งเข่า จะได้ลดการท่วมที่อยุธยาให้เหลือครึ่งเข่า”….. เป็นคำประกาศของคนกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯแล้ว ขณะที่รัฐบาล และนายก อบจ.ปทุมธานียืนยันว่าจะป้องกันได้แน่ไม่ยอมให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ…..

เพื่อการแก้ปัญหาน้ำพัฒนาไป มีการสรุปบทเรียนและปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือเพิ่มวิธีการแก้ไขเฉพาะจุดกันมากขึ้น เป็นสิ่งปกติที่มนุษย์พึงกระทำ แต่เมื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าที่หนึ่งก็ไปท่วมมากขึ้นในอีกที่หนึ่งหรือหลายที่

ไม่มีใครอยากโดนน้ำท่วม คนที่อยู่กรุงเทพฯด้านในก็นึกไปว่า เพราะกรุงเทพฯคือหัวใจของประเทศ เศรษฐกิจที่สำคัญหากน้ำท่วมก็เศรษฐกิจล่มสลายทำนองนั้น ขอให้คนที่อยู่รอบนอกเสียสละ หากคนที่อยู่กรุงเทพฯด้านในมีบ้านอยู่รอบนอกบ้างล่ะ….??

เรื่องแบบนี้เอาเหตุผลมาอธิบายคนที่โดนน้ำท่วมจนหมดตัว เขาเหล่านั้นยากที่จะรับฟัง มีแต่ขมขื่นเก็บไว้ข้างใน คนข้างนอกนั้นก็เสียภาษีเหมือนกับคุณแต่ทำไมคุณจึงมีอภิสิทธิต้องไม่ให้น้ำท่วม….

ตาสี ยายมี บ้านที่ถูกน้ำท่วมนั้น คุณค่าความเป็นคนไทยนั้นต่างอย่างไรจากคุณ เป็นคำถามในใจพร้อมกับน้ำตาตกใน

ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นในร้อยแปดรูปแบบอย่างแน่นอน คำอธิบายก็สามารถอธิบายได้ แต่ยอมรับได้มากน้อยแค่ไหนนั้น น่าคิด …..

การเผยอ ความรู้สึกแบบนี้ออกมามิต้องการตอกลิ่มให้เกิดการแตกแยก เป็นเพียงว่า ต่อไปประเด็นน้ำท่วมหรือภัยพิบัติต่างๆนั้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องคิดมากๆ เตรียมการมากๆ พร้อมที่จะก้าวออกมาแก้ไขด้วยแผนงานของชาติที่ร่วมกันวางไว้จากทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐบาลใครสีไหน จะเป็นเพศไหนก็ต้องเอาแผนนี้ไปใช้ แล้วพัฒนาไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

รัฐมนตรีอย่ามาเสียน้ำตา เพราะชาวนาเขาเสียน้ำตามานานแสนนานแล้ว คุณเสียน้ำตาแต่ฐานเศรษฐกิจของคุณไม่กระทบอะไร แต่ชาวบ้านเสียน้ำตานั้นเพราะฐานรายได้พังหมดตัว มันต่างกันมากมายนัก ถ้าคุณไม่ลงไปคุณก็ยังคงไปเตะฟุตบอลกับเขมรอีกรอบละมั๊ง

ทั้งปีรายได้มาจากข้าวในนา เมื่อปีที่แล้วเพลี้ยลงหมด ปีนี้น้ำท่วมหมด ลูกต้องเรียนหนังสือ ใช้เงิน ต้นทุนทำนาก็แพงลิบลิ่ว รัฐเอางบประมาณไปทุ่มกับเมกกะโปรเจคอะไรนั้น จะบ้าบอไปสร้างเอนเทอเทนคอมเพลกอีก มันเป็นหมาบ้าไปแล้ว แม้จะออกมาแก้ตัว แต่ในหัวมันยังคิดอยู่ มีจังหวะเมื่อไหร่ก็ดันขึ้นมา กินเศษกินเลยกันอิ่มหมีพีมัน ชาวนาข้างๆเอนเทอเทนมาเป็นลูกจ้างแรงงานให้พวกคุณโขกสับต่อไปงั้นหรือ…

พี่ ป้า น้า อา ผมก็หมดตัวเหมือนกัน มันไม่เป็นข่าวหรอก เพราะมันไกลปืนเที่ยง คุณหญิงคุณนาย เจ้านาย ไปไม่ถึงหรอก

น้ำตาชาวนามันมากมายกว่าน้ำที่ท่วมอีก

เพราะน้ำท่วมมันมีวันแห้งเหือด

แต่น้ำตาชาวนานั้นมันตกด้านใน

สะกิดเมื่อไหร่ มันก็เอ่อท้นจิตวิญญาณแห่งความรู้สึก

มันไม่มีวันแห้งเหือดนะ..

“งานช่วยเหลือเฉพาะหน้านั้นหนักเหลือเกิน

งานฟื้นฟูหลังน้ำท่วมก็ยิ่งหนักเพราะเป็นภาระต่อเนื่อง”…


ประสบการณ์เล็กๆแต่มีราคาเกี่ยวกับน้ำ…

อ่าน: 10636

เหตุผลที่สำคัญที่เรากู้เงินมิยาซาวา เมื่อปี 40 และเหตุผลที่สำคัญของ สปก. อ้างถึงในการขอแบ่งเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อมาทำโครงการพัฒนาชนบทคือ ระบบการเงินของประเทศพัง เราต้องการมาฟื้นฟูประเทศ การฟื้นฟูมีหลายแนวทาง หนึ่งก็คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะชนบท เพื่อเกษตรกรมีรายได้ ทีกำลังซื้อ ดังนั้นอีสานแห้งแล้งจึงเป็นต้นเรื่อง เพื่อให้เหตุผลขลังก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษา Feasibility study (FS) ว่าชาวอีสานต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประโยคนี้พูดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ถูก

แล้วโครงการเงินกู้มิยาซาวาก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินงานมาเกือบสิบปี การประเมินผลที่เรียกว่า External Final Evaluation เพิ่งเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างไรผมขอไม่ลงรายละเอียด ระหว่างการดำเนินงานส่วนหนึ่งก็อยู่ในบันทึกลานดงหลวงนั่นแหละ

ถามอีสานแล้งจริงไหม คงไม่ต้องตอบ เพราะมันกลายเป็นคำคู่กับภาคอีสานมานานแล้ว แต่จริงๆที่ไหนๆก็แล้ง เหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก แม้ภาคใต้ก็เคยแล้ง เพียงแต่อีสานเกิดปรากฏการณ์มากกว่า และทางเลือกมีน้อยเพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงนั่นเอง

ไม่ใช่อีสาน แห้งแล้งเท่านั้น น้ำท่วมก็เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และเกิดขึ้นมาคู่กับโลก เพราะหากเราเป็นคนทำงานชนบทและสนใจ “พัฒนาการสังคมชนบท” เราก็ใช้วิธี Dialogue ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เราก็จะทราบ “พัฒนาการของหมู่บ้าน ชุมชน สังคม” กระบวนการนี้ดีมากๆ ไม่เห็นโรงเรียนที่ไหนทำเลย มีแต่เรียนสิ่งไกลตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เอามานั่งให้กราบไว้เท่านั้น ไม่พอครับ ประสบการณ์ของท่านคือประวัติศาสตร์

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า การย้ายถิ่นฐานของคนในอดีตเป็นเรื่องปกติ ทำไมต้องย้าย ก็โรคร้ายระบาดผู้คนล้มตาย หรือเกิดแห้งแล้งหนักข้าวปลาขาดแคลน หรือตรงข้ามน้ำท่วมใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่มีพิธีกรรมความเชื่อเป็นของคู่กับสังคมโบราณ เมื่อ “นางเทียม” บอกให้ย้ายหมู่บ้าน ก็พากันย้าย… ย้ายไปไหน นี่แหละความรู้หรือที่เรียกภูมิปัญญาของคนโบราณเขาก็เลือกเอาพื้นที่ที่ดอน แต่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ มีป่าให้หาสิ่งก่อสร้างอิงอาศัย เป็นแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ดูดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน เมื่อทุกอย่างได้ ก็ทำพิธีขอพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน

ดิน น้ำ ป่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนโบราณ และสืบทอดมาจนปัจจุบันและยังหนาแน่นในกลุ่มบางชนเผ่าเช่น กะโซ่ที่ดงหลวง หรือชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ หรือชุมชนที่อาว์เปลี่ยนเล่าให้ฟังนั่น

แล้วฝรั่งก็มาล่าเมืองขึ้น ใครลืมประวัติศาสตร์นี้ก็ไปทบทวนดู มันรู้สึกเจ็บลึกๆเหมือนกันที่ความศิวิไลซ์ของชนเผ่าผิวขาวตะวันตกมาแย่งชิงดินแดนเราไปอย่างด้านๆโดยใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ และที่สำคัญใช้กำลังบังคับ ผมว่าการที่อมริกันไม่ชนะสงครามเวียตนามนั้น ตะวันตกได้บทเรียนที่มีค่ามากๆ อ้าว..เรื่อยเปื่อยไปแล้วนะเนี่ย

เมื่อยุคการพัฒนาเข้ามา อ้างอิงกันถึง สัญญาเบาริง อ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกี่แผนต่อกี่แผนมานี่น่ะ ลัทธิเมืองขยายตัว ลัทธิธุรกิจแผ่พลังครอบคลุมชนบท ตามหลักทฤษฎีทั้งเศรษฐศาสตร์และสังคม ชนบทค่อยๆกลายเป็นเมือง คุณค่าชนบทตกอยู่ภายใต้นิยามของการพัฒนา ว่าเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนา…?? แต่ภายหลังมายกยอปอปั้นว่าชนบทมีทุนทางสังคมมากที่สุด ชนบทมีภูมิปัญญา….??? แต่ดูเหมือนก็ยังแค่เป็นเพียงคำพูด “การพัฒนาก็ยังใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเป็นธงนำ ไม่ได้ใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง”

“สภาพกายภาพของพื้นที่” การเกษตรค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาตามหลักการที่กล่าวว่า “เพื่อความเจริญ” แต่หลายเรื่องหลายอย่างไปขัดกับสภาพธรรมชาติของการเกิดและการถ่ายเทน้ำ

ทุกครั้งที่โครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่มีงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระน้ำประจำไร่นา ฝายกั้นน้ำ หรือใหญ่ขึ้นไปหน่อยคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก็จะมีวิศวะการใหญ่มาคุมงาน นัยใช้ความรู้มหาศาลมาบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขมวลประชา และตามหลักการมีขั้นตอนที่ต้องประชุมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ชาวบ้านก็ตอบคำถามตามประสบการณ์พื้นที่ของเขาแบบตรงๆ แต่ไม่มี Subject area ด้านงานก่อสร้างดังวิศวกร แต่วิศวกรก็ไม่มี Subject area ด้านสภาพชุมชน ขอโทษนะครับวิศวกรทั้งหลาย วิศวกรที่ผมพบนั้นยืนหยัดถึงความรู้แห่งตน มากเกินไปที่จะรับฟังชาวบ้าน แล้วความผิดพลาดมักพบภายหลังการก่อสร้างเสมอๆ มิเพียง “ไม่สำเหนียกเสียงชาวบ้าน” แม้เจ้าหน้าที่อย่างผมที่บริหารโครงการเขาก็ไม่ฟัง

แม้ว่า สตง.จะตามมาตรวจสอบ แต่เล่ห์เหลี่ยมของความจัดเจนในกลยุทธนั้น วงการระบบ..ย่อมรู้แก่ใจ

ความบกพร่องผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆงาน ไม่ว่างานนั้นราคา 10 บาท หรือ หมื่นล้านบาท แต่หากราคานั้น 10 บาทก็ถือว่าเล็กน้อย หากราคางานนั้นสูง สิ่งที่เสียหายคือสังคม ประเทศชาติ และที่ร้ายคือความรู้สึก

ขอยกตัวอย่าง งานก่อสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่พื้นที่ผมรับผิดชอบ ถูกออกแบบมาจากกรุงเทพฯ โดยดูพื้นที่จากแผนที่ ต่อให้เป็นแผนที่ที่ละเอียดแค่ไหนก็ตามเถอะก็ต้องออกไปดูพื้นที่จริง ต่อให้ดูพื้นที่จริงแค่ไหนก็เถอะ หากไม่คุยกับชาวบ้าน หรือต่อให้คุยกับชาวบ้านแค่ไหนก็เถอะ หากไม่มี Subject area ทางด้านสังคม-วิศวกรรม หรือวิศวกรรมสังคม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ อันตราย

การก่อสร้างโรงสูบน้ำถูกออกแบบมาแล้วดังกล่าวสมมุติว่าสูง 10 เมตร นัยว่า ข้อมูลที่ใช้นั้นรอบด้านแล้ว เจ๋งแล้ว แต่เมื่อลงมือก่อสร้างผมได้พูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชาวบ้านว่า น้ำท่วมสูงสุดแค่ไหน ก็ได้คำตอบ และแบบที่ออกมานั้นก็ดูจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่พบว่า ในรอบ 20 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่งโดยประมาณ เมื่อตามตรวจสอบระดับน้ำที่ท่วมพบว่ามันสูงกว่าที่คนอื่นๆพูดกัน…

ตายหละหว่า…หากอนาคตข้างหน้าครบรอบ 20 ปีที่น้ำจะท่วมใหญ่ อาคารสูบน้ำที่ไม่ใช่ระบบ Floating station มันก็อวสาน บานทะโล่หละซี เท่านั้นเองงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักเอาไปออกแบบใหม่ ยกขึ้นอีก 1 เมตร….??

หลังจากนั้นสองปี น้ำก็ท่วมสูงสุดดังที่ผู้เฒ่าบอกกล่าว หากไม่ยกสูงอีก  1 เมตรก็เรียบร้อย….?

เกือบไปแล้วไหมล่ะ ….!!!???


Entertainment Complex 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 16:04 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4084

ภาพของทุ่งกุลานั้นใครต่อใครก็นึกถึงความแห้งแล้ง ขาดแคลน การอพยพแรงงาน ขาดข้าวกิน ฯลฯ ล้วนเป็นสภาพที่เป็นความด้อย เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ จึงสมควรคิดใหม่ทำใหม่คือเลิกทำการเกษตรซะ เอาไปทำบ่อนกาสิโนสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นแสนๆล้านดีกว่า…..


ต้องยอมรับว่าอดีตนั้นมีสภาพเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่หน่วยงานราชการไทยและ NGO เข้าไปพัฒนามานานมากแล้วเปลี่ยนแปลงสภาพความทุกข์ยากดังกล่าวมาเป็นพื้นที่ทำเงินทำทองให้แก่เกษตรกรทีเดียว

มีสถานีพัฒนาที่ดินที่ กู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนาพื้นที่นี้มานานแล้ว มีโครงการพิเศษที่กู้เงินจากต่างประเทศมาทำงานวิจัยและพัฒนามากมาย รวมทั้งเงินให้เปล่าของประเทศออสเตรเลียจนนำเข้าต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ฮือฮามากที่สุดในสมัยนั้น คือต้นยูคาลิปตัส สายพันธ์ คามาลดูเลซิส (พ่อครูบารู้เรื่องนี้ดีที่สุดท่านหนึ่ง) ผมเองมีส่วนร่วมของโครงการพัฒนาทุ่งกุลาอยู่บ้างในสมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา


กู่พระโกนา ที่ตั้งสถานีพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานแถบนี้หลายต่อหลายโครงการ จนปัจจุบัน จนเกิดค้นพบปราชญ์ชาวบ้านในแถบนั้นก็หลายท่าน มีโครงการของจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดรอบข้างทุ่งกุลา เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ฯ ที่เข้ามาเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาที่อยู่ในขอบเขตจังหวัดของตนกันมานาน

ในทางธรณีวิทยานั้น อีสานเคยมีน้ำทะเลท่วมมาสองครั้ง แต่ละครั้งนานนับล้านๆปี จนน้ำทะเลแห้งตกผลึกเป็นชั้นเกลือ ซ่อนอยู่ใต้ผิวดิน ที่เรียกภูเขาเกลือ หรือ Salt dome มีระยะห่างจากผิวดินแตกต่างกันไป มีอิทธิพลต่อผิวดินแตกต่างกันไปตามระบบธรรมชาติ และการทำกิจกรรมของคนบนผิวดินนั้น จนเกิดการแพร่กระจายของเกลือบนผิวดิน นี่เองที่นักวิชาการดิน (อาว์เปลี่ยนนี่ก็คนหนึ่ง) เข้าใจเรื่องนี้ดี และเกิดตั้งสำนักงานพัฒนาที่ดินที่ทุ่งกุลานี่เพื่อศึกษาค้นคว้าหาทางจัดการอย่างถูกวิธี ทุ่งกุลานั้นอยู่ในแอ่งโคราชของหลักทางธรณีวิทยา เป็นพื้นที่ลุ่มที่สุดของแอ่งนี้ กับแอ่งสกลนครที่มีหนองหาญเป็นพื้นที่ก้นกระทะของแอ่งนี้

ในทางประวัติศาสตร์ทุ่งกุลาคือแหล่งผลิตเกลือมาแต่โบราณกาล ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมและคณะศึกษาเรื่องนี้และทำหนังสือมาแล้ว ใครสนใจหามาอ่านได้ และมีนักศึกษาทำปริญญาโท เอก ก็หลายท่าน

สมัยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทุ่งกุลานั้นจำได้ว่ามีการศึกษาวิจัยกันมาก มีการจัดสัมมนาทางวิชาการก็หลายครั้ง การที่เอาออสเตรเลียมาร่วมทำโครงการเพราะ ออสเตรเลียมีพื้นที่คล้ายๆทุ่งกุลา และสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง จึงเอาประสบการณ์ที่นั่นมาใช้ จึงเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการนำเข้ายูคาลิปตัสหลายสายพันธุ์ รวมทั้ง คามาล ดูเลซิส ยูคาลิบตัสมันเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความเค็มอย่างไร ผมไม่อาจลงรายละเอียดได้ แต่หากท่านขับรถผ่านทุ่งกุลาจะเป็นตามคันนามีแต่ต้นยูคาลิปตัสเต็มไปหมด

ผมจำได้ว่าการศึกษาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดินเค็มนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่นมะขามเทศ และข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งน่าที่จะมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง แต่รัฐส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ดี พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนพันธุ์มาเป็นมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีความหอมมาก คุณภาพดีที่สุด ส่งออกตรงไปต่างประเทศก็มี เช่นที่ยโสธรที่มีกลุ่มเกษตรกรรวมกันผลิตข้าวมะลิอินทรีย์ส่งออก…


ดูเหมือนผมเคยกล่าวไว้บ้างว่า ข้าวมะลิ 105 ของไทยนั้นชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลกขายดี ประชากรโลกชอบและเป็นสินค่าส่งออกอันดับหนึ่งมานาน (แต่ชาวนาก็ไม่รวยสักที ?) มีต่างชาติพยายามที่จะเอาพันธุ์ข้าวมะลิ 105 ไปปลูกเพื่อแข่งกับไทย อย่างที่เรารับทราบที่อเมริกา เรียกข้าวจัสมิน ที่เวียตนาม และแม้ที่ลาว แต่ไปตั้งชื่อใหม่ แล้วก็อ้างสรรพคุณว่าหอมเท่ามะลิ 105 หรือดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า

ผมเคยคุยกับท่าน ผอ.สถานีข้าวที่สกลนครชื่อ “พี่ขี” เข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านเป็นนักวิชาการข้าวทำข้าวมะลิมานานและกล่าวว่า ไม่มีทางที่ต่างประเทศจะผลิตข้าวมาเทียบเท่ามะลิ 105 ของไทย ยกเว้นเทียบเท่า(ซึ่งไมเท่า) หรือปลอมปน หรือสรวมยี่ห้อ ท่านกล่าวว่าให้เอาเมล็ดมะลิ 105 ไปปลูกเถอะ ก็จะไม่ได้คุณสมบัติเท่าที่ผลิตในเมืองไทยแถบทุ่งกุลา หรือพื้นที่ใกล้เคียง ฟังดูเหตุผลคือ เพราะคุณภาพดิน(ที่มีความเค็มนิดหน่อย) และสภาพธรรมชาติบน Longitude และ Latitude ของประเทศไทยเท่านั้น ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ เพียงจำเอาการสนทนามาเล่าสู่กันฟัง

ทุ่งกุลาร้องให้ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมๆมากมาย กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจข้าวชั้นเลิศของประเทศไทย ไหนเลยจะเอาพื้นที่ไปทำบ่อนคาสิโน…

ความคิดชุ่ยๆ…แบบนี้เรียกอะไรดีล่ะ…หือ ท่าน

นี่คือตัวอย่างผู้หลักผู้ใหญ่เมืองไทยที่คิดอะไรไม่ดูรายละเอียดบริบทของพื้นที่นั้นๆ และหาข้อมูลรอบด้านเสียก่อน คิดแล้วไม่ทำก็ให้อภัยกันไป

แต่หากเอาจริงขึ้นมา คงสนุกหละครับ…


ขอไม่ได้แล้ว..

814 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กรกฏาคม 2011 เวลา 18:01 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 11103

ไม่ได้ใช้บริการรถไฟมานาน เมื่อวันก่อนก็ทดลองดูโดยนั่งจากดอนเมืองไปขอนแก่น โอยหอบของพะรุงพะรังจากสนามบินดอนเมืองไปสถานีรถไฟดอนเมือง ฟังดูไม่น่าจะไกล แต่การหอบกระเป๋าสองใบกับ 1 กล่องนั้น หากใกล้ๆและเป็นในอาคารสนามบินก็มีรถเข็นแต่นี่ไม่ใช่ เลยนึกว่า เอาวะยอมเสียเงินจ้างแท๊กซี่จากสนามบินดอนเมืองนั่งอ้อมยูเทอนไปสถานีรถไฟ เสียเท่าไหร่ก็ยอม ปรากฏว่าไม่มีคันไหนยอมไป….เดาเหตุผลได้ครับ..

เห็นที่จะต้องหอบข้ามสะพานลอย เมื่อขึ้นไปข้างบนแล้วก็วางสัมภาระลงพยายามมองหาสถานีรถไฟ มองไม่เห็น ถนนก็มีรถวิ่งเต็มไปหมดไม่มีทางเดินสำหรับคน ข้อมูลที่ได้มาก่อนคือ อุโมงค์ลอยฟ้าที่เชื่อมดอนเมืองนานาชาติกับโรงแรมอัมมารีนั้นเขาปิดตายไปแล้ว เอ ท่าจะต้องทำตามคำแนะนำที่ได้รับมาจากพนักงานเก็บรถเข็นที่สนามบินดอนเมืองคือเดินข้ามสะพานลอยแล้วไปเช่า ‘มอไซด์ เดินลงสะพานลอยด้วยเปะปะ ‘มอไซด์เห็นก็ไม่ทันคุยกันโยกมือขึ้นแล้วเขาก็สตาทรถออกเลย เราก็นั่งหลังด้วยของเต็มหลังและมือสองข้าง อิอิ

โฮ ไกลเอาเรื่องกว่าจะมาถึง นี่หากเดินมาก็เรียบร้อยเลย…

เอาตั๋วที่ซื้อไว้ไปแสดงเป็นรถนอนแอร์ราคา 672 บาท พนักงานบอกว่ารถจะมาสองทุ่มห้าสิบโปรดนั่งคอนทางหัวขบวน…

โอย…เอาหนังสือมานั่งอ่านไปตบยุงไป สังเกตวิถีคนที่นี่ มีคุณยายแก่ๆมานั่งขายมะนาวสองสามกอง มีเจ้าของร้ายขายน้ำนั่งเซ็งๆ นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว แต่งตัวรัดรูปดูแล้วทะมัดทะแมง เดินไปมา มีพนักงานรถไฟเดินมาเก็บเศษขยะไปลงถัง อือ..ดีจริงๆ

สักพักหนึ่งก็มีประกาศทางสถานีมีรถเข้า เดี๋ยวมีรถออก เดี๋ยวมีรถเที่ยวเข้า เที่ยวออก ที่ผ่านไปเฉยๆก็มี ที่จอดแวะก็มีให้คนจากด้านในกรุงเทพฯมาลงที่นี่

สักพักใหญ่ๆก็มีพ่อแม่ลูกสองคน มานั่งข้างๆผม ผมขยับสัมภาระให้เขานั่ง เขายิ้มๆ พักใหญ่ๆได้ยินเขาพูดอีสานก็เดาว่าเป็นชาวอีสานจึงถามว่าจะไปลงไหน เขาบอกว่าจะไปขอนแก่น… อ้าว ไปที่เดียวกัน ก็เลยยิงคำถามเป็นชุดเพื่อกวาดรายละเอียดของคนนี้ ครอบครัวนี้มาเพื่อจะได้รู้จัก เข้าใจเขา

มาเยี่ยมแม่ยายที่อายุมากแล้วไม่สบาย ต้องการกลับไปบ้านที่ อ.น้ำพอง ขอนแก่น แต่ก่อนมาทำงานเป็นช่างแอร์กับญาติที่กรุงเทพฯ โดนไฟดูด สลบไปสามวันเลยเลิกอาชีพนี้กลับไปอยู่กับพ่อที่บ้านทำนาและทำอาชีพช่างไม้ตามพ่อ เรียนรู้ความรู้จากพ่อและพ่อก็เสียชีวิตไปแล้วเมื่อต้นปีจึงรับสืบอาชีพช่างไม้เต็มตัวคู่กับการทำนา การทำช่างไม้นั้นมีคู่แข่งเยอะ ทำที่บ้านไม่ได้ออกไปรับงานต่างจังหวัด เน้นฝีมือที่ละเอียดสวยงาม มิเช่นนั้นแข่งกับเขาไม่ได้

ผมถามว่านาเป็นไงบ้าง เขาปลูกข่าว กข.และมะลิ ปีนี้แล้ง เขาเน้นว่าหากเดือนนี้ฝนไม่ลงมามากเพียงพอคงจะตายหมดหรือไม่ได้ผล

ผมถามต่อว่า ถ้างั้นก็ต้องไปขายแรงงานเอาเงินมาซื้อข้าวซิ เขาพยักหน้า แล้วบอกว่า ต้องหาเงินซื้อข้าวส่งลูกเรียนหนังสือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆในบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ‘มอไซด์ ด้วย หากเกิดปัญหาแบบนี้สมัยก่อนเราก็ไป “ขอ” ข้าว “ขอ” อาหารเพื่อนบ้านกินได้ แต่เดี๋ยวนี้ “ขอ”ไม่ได้แล้ว…

ผมฉุกกึก ตรงคำว่า ขอ ไม่ได้แล้ว ผมถามต่อว่าทำไมขอไม่ได้แล้วล่ะ เขาอธิบายว่า ก็ทุกอย่างในปัจจุบันนั้นเป็นการลงทุน และใช้เงินทองลงทุนทั้งนั้น ทุกคนมุ่งหน้าหาเงินทองกันทั้งนั้น สมัยก่อนมันไม่ใช่อย่างนี้… ตั้งแต่บ้านเมืองพัฒนาไป ก้าวหน้าไปแต่ทำไมการแบ่งปันกันมันแคบลง มีแต่มุ่งหน้าแสวงหาเข้าตัว ….

บางท่านอาจจะคิดว่า การขอนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ควรสนับสนุน เพราะแสดงการจำนนต่อการทำมาหากิน… แต่ผมคิดว่าในอดีตนั้น การขอกันกินนั้นเป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นคนที่เอาแนวคิดพอเพียง หรือการพึ่งตนเองไปให้ชาวบ้านทำ เป็นแบบกลไก คือ ทุกครัวเรือนต้องปลูกข้างอย่างต่ำ 3 ไร่ ทำปุ๋ยชีวภาพ 2 ตัน ปลูกพืชสวนครัว 7 อย่าง อย่างละ 5 ต้น ฯลฯ ผมมาพิจารณาแล้วท่านที่สร้างแนวคิดนี้มีเจตนาดีแต่ ดีไม่พอ เพราะต้องพูดให้จบ อย่าหยุดแต่เพียงสิ่งที่จะต้องทำดังกล่าวเสมือน Indicator วัดฐานการพึ่งตนเอง

เดี๋ยวนี้ทำอะไรก็ต้องมี Indicator ทางวิชาการดูดี แต่ทางปฏิบัตินั้น มันจะไปปลูกอะไรเหมือนกันทั้งหมดทุกบ้านได้อย่างไร เหมือนพิมพ์ออกมาจากเบ้าเดียวกัน แต่ละครอบครัวแตกต่างกันมากมาย มีแต่ที่ปลูกบ้านแล้วจะเอาที่ดินที่ไหนไปปลูกพืชสวนครัว 7 อย่างอย่างละ 5 ต้น สังคมโบราณก็เป็นเช่นนั้น ไม่มีหมู่บ้านไหนที่ทุกครัวเรือนปลูกทุกอย่างเหมือนกันหมด ไม่มีหรอก ก็บ้านนี้มีพริก บ้านนั้นมีมะนาว มะกรูด บ้านโน้นมีกระเพรา ฯลฯ บ้านใครไม่มีอะไร อยากกินก็ไปขอกัน และโดยปกติการขอนั้นคนขอเขาก็ดูแล้วว่า เขามีพืชนั้นๆในปริมาณมากพอที่จะแบ่งให้เราได้จึงออกปากขอ เขาเรียกมารยาททางสังคม เมื่อมีคนขอร้อยทั้งร้อยเจ้าของก็จะบอกให้ บอกอนุญาตให้ แถมยังกำชับว่า ไม่มีก็มาเอาไปนะ ไม่ต้อเกรงใจ คนให้ถือว่าได้บุญ ทำบุญทำทาน จิตใจผ่องใสที่ได้ให้ ผู้ขอก็ระลึกในบุญคุณ ระลึกในความดีที่ถูกมอบให้ ระลึกถึงน้ำใจที่ได้รับ และพร้อมจะตอบแทนในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงบอกกล่าวคนข้างเคียง ลูกหลานว่า ครอบครัวเราได้รับน้ำใจจากครอบครัวนั้นๆ

“การขอและการให้” จึงอยู่คู่สังคมชนบทไทยมาแต่โบราณ เป็นสายสัมพันธ์เชื่อมไมตรีต่อกัน เป็นน้ำใจที่สังคมพุทธหรือสังคมศาสนาใดๆก็พึงปฏิบัติต่อกัน ไม่มีคิดเอากำไร ขาดทุน ไม่ได้คิดธุรกิจ บางที “การให้” มิได้มาจากการขอ แต่มาจากความต้องการแบ่งปัน มาจากจิตใจที่ต้องการการเผื่อแผ่ เช่น พ่อผมทอดแหได้ปลามามาก มากเกินกินในครอบครัว ก็แบ่งให้ญาติ พี่น้องที่ไม่มี ให้ผู้มีพระคุณ รวมไปถึงตั้งใจทำอาหารไปถวายพระ ฯลฯ

การให้ การขอ จึงเป็นวัฒนธรรมที่ควบคู่สังคมชนบท มานานแสนนาน แล้ววันดีคืนดีสังคมเปลี่ยนพอความเจริญเข้ามา มีถนน มีไฟฟ้า มีวิทยุ ทีวี มีความทันสมัย มีสินค้าใหม่ๆเข้ามา มีการประชาสัมพันธ์ให้ใช้สินค้าใหม่ๆ สังคมอยู่ภายใต้ระบบธุรกิจที่ครอบ กรอกหูทุกวันตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับไป ภายใต้ระบบนี้ กระตุ้นให้คนแสวงหามา และเงินคือตัวกลาง…

แน่นอนชายชนบทน้ำพอง ขอนแก่น คนนั้นที่ผมพบเขาที่สถานีรถไฟดอนเมืองจึงกล่าวว่า เดี๋ยวนี้ “ขอกันกินไม่ได้แล้ว”..

  • นี่คือตัวบ่งชี้ส่วนหนึ่งว่าสังคมเปลี่ยนไป
  • นี่คือตัวบ่งชี้ว่าวัฒนธรรมเดิมของเรากำลังจางหายไปกับยุคสมัย
  • นี่คือสัญญาณบ่งบอกถึงการปรับตัวใหม่ของสังคมชาวนา
  • นี่คือตัวบอกว่าการเปลี่ยนแปลงไม่มีใครมาสั่งให้เปลี่ยน มันค่อยๆคืบคลานเข้ามาจนเราเผลอตัวมันก็มาครอบเราจนหมดสิ้น
  • นี่คือตัวบ่งบอกการเข้ามาของสิ่งตรงข้ามด้วยใช่ไหมคือการเห็นแก่ตัว
  • นี่คือยอดภูเขาน้ำแข็งใช่ไหม….ภูเขาแห่งการพังทลายของสังคมชนบท
  • ฯลฯ


กระเป๋าเงินหาย..

803 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 มิถุนายน 2011 เวลา 22:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 13961

ข้อมูลต่อไปนี้เคยเป็นข่าวทางทีวีมาแล้ว แต่ผมเอามาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ความน่าสนใจจึงอยากจะเอามาเขียนถึงอีก

มีการศึกษาเรื่องคุณธรรม ศีลธรรมของคนในสังคม โดยการเอากระเป๋าเงินทิ้งวางไว้ในที่สาธารณะต่างๆ จำนวนเงินก็มากโขประมาณ 2000 บาท ในนั้นมีที่อยู่ มีรูปเจ้าของกระเป๋าและรูปเด็กเล็ก ใครๆดูก็เดาออกว่าเด็กนั้นคือลูกเจ้าของกระเป๋าเงินใบนั้น


(รูปนี้ไม่เกี่ยวกับสาระนะครับ เอามาให้ดูเฉยๆ)

เขาไปทดลองในหลายจังหวัดรวมทั้งที่กรุงเทพฯ ด้วย พบว่า ที่จังหวัดหนึ่งเหนือกรุงเทพฯขึ้นไป มีการเอากระเป๋ามาคืนร้อยละ 60 ที่กรุงเทพฯ ได้คืนร้อยละ 50

การทดสอบนี้ได้ทำในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่ประเทศหนึ่งในยุโรป มีเด็กอายุ 8 ขวบพบกระเป๋าตกที่พื้นพร้อมกับแม่ และทั้งสองคนบอกกันว่าเราไม่ควรเก็บเพราะมันไม่ใช่ของเรา ผู้เป็นแม่อธิบายภายหลังว่า “ดิฉันเติบโตในช่วงที่ครอบครัวตกอับ เงินทุกสตางค์จึงมีค่ามาก” และพ่อกับแม่อบรมเรื่องซื่อสัตย์มาตลอด

ที่อีกประเทศหนึ่งผู้หญิงแต่งกายดีมากจูงมือลูกสาวเดินเล่นอยู่ ทันใดนั้น เธอก้มลงเก็บกระเป๋าที่ทีมงานศึกษาวิจัยนี้ทิ้งไว้ เธอคนนั้นเอาใส่กระเป๋าตัวเองขณะที่ลูกน้อยยืนมองไม่ปริปาก ทีมงานไม่เคยได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย

แม่ค้าขายผลไม้วัยยี่สิบปีในประเทศหนึ่งแถบเอเชียเธอไม่ได้ร่ำรวย เธอคืนกระเป๋าโดยไม่ลังเล เธอกล่าวว่า “ดิฉันเป็นมุสลิม จึงรู้จักวิธีควบคุมจิตใจอย่างดี เวลาเผชิญหน้ากับสิ่งยั่วยวน” เธอกล่าว

ชายคนหนึ่งอพยพสงครามและไปเป็นลูกจ้างในร้านอาหารแห่งหนึ่งเอากระเป๋ามาคืน เขากล่าวว่า “ผมทำงานหนักมานาน รู้ดีว่ากว่าจะได้เงินจำนวนนี้มันเหนื่อยแค่ไหน” นักศึกษาคนหนึ่งทำงานสามแห่งเพื่อแลกกับเงินค่าเล่าเรียนและที่พัก ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธออธิบายว่า “เงินจำนวนนี้ช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆได้แน่นอน แต่พอเห็นรูปเด็กในกระเป๋านั้นเปลี่ยนใจเพราะคิดว่ามีคนที่ต้องการใช้เงินก้อนนี้มากกว่าเธอ เธอจึงนำกระเป๋าไปคืน”…..


การศึกษาครั้งนี้สรุปว่า

  • การอบรมบ่มเพาะตั้งแต่ครอบครัวมีผลมากต่ออุปนิสัยของเด็กคนนั้นเมื่อเติบโตขึ้น
  • ความศรัทธาในศาสนา ความเชื่อมั่นในหลักการศาสนา มีพลังมากในการกำหนดความคิด สำนึกแห่งการทำความดี ซื่อสัตย์
  • การเผชิญความทุกข์ยากมาก่อน แล้วมีความตระหนัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำให้มีสติในการกระทำความดี ความเหมาะสม

ผมมีความเชื่อมั่นตามผลการศึกษาครั้งนั้น(ศึกษาเมื่อประมาณ 2544) แม้ว่าหลักการดังกล่าวมาทั้งหมดนั้นจะไม่ใช่เหตุผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นสาระหลักของการหลอมเด็ก คนให้เติบโตมาอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม เนื้อแท้ก็คือวัฒนธรรมของครอบครัว วัฒนธรรมความเชื่อความศรัทธา และการเห็นอกเห็นใจ มันเป็นทุนทางสังคมเดิมๆของเรา

ผมคิดว่าระบบการศึกษา หรือครูก็คงมีความเห็นสอดคล้องกับสิ่งดังกล่าวแต่การนำหลักการสู่หลักสูตรและการปฏิบัติในชีวิตจริงในห้องเรียนนั้น ถูกปรับ สอดแทรก ฯลฯ เข้ามาในการเรียนการสอนในทุกวิชามากน้อยแค่ไหน ครูก็บอกว่า ครอบครัวต้องช่วย พ่อแม่ก็บอกว่า โรงเรียนต้องสร้างเด็ก

ข่าวหลังๆมานี้เจ็บปวดกับที่ว่า งบประมาณการศึกษาไทยมากที่สุดในโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ถดถอยอย่างหนัก

ใครมาเชิญผมเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการผมก็ทำอะไรไม่ได้หรอกครับ สู้ผมสร้างในครอบครัวและสังคมเล็กๆของผมดีกว่า เริ่มจากที่นี่ก่อนดีกว่าผมว่านะ แต่ที่นักการเมืองมาพ่นออกอากาศกันโครมๆนั่นน่ะ ฟังแล้วเศร้าจริงๆ ล่องลอยอยู่บนฟองน้ำลายกันมากกว่า….

อ้าวไปจบลงตรงนี้ได้ไง ..หุหุ..


ผมไม่ต้องซื้อข้าวกิน

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มิถุนายน 2011 เวลา 13:24 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2733

กินแกลบหรือไงถึงไม่ซื้อข้าวกิน หรือไปแอบทำนาที่ไหนมาเหมือนดาราในทีวี หรือคนดังๆหลายคนที่เป็นไฮโซ ลูกคนรวยลงไปทำนาจนหน้าขึ้นฝ้าแล้ว ก็ไม่ใช่

ไม่ใช่มาคุย แต่อยากเล่าให้ฟังว่านี่คือปรากฏการณ์ที่ผมได้รับจากการทำงานและการดำรงวิถีแบบวัฒนธรรมเดิมๆของไทย แล้วได้ผลตอบรับมาแบบไม่น่าเชื่อ..ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังมาก่อน

เรื่องแรก เคยเล่าบางช่วงบางตอนมาบ้างแล้ว คือ ผมอยู่กินกับภรรยาผมมานานตั้งแต่ก่อนเธอไปเรียนที่เยอรมันและเนเทอร์แลนด์ พอกลับมาและทำงานเป็นอาจารย์ที่ มข. ผมก็ทำงานเป็น NGO และเข้าสังกัดบริษัทที่ปรึกษา ก็วนเวียนทำงานในอีสานมาตลอด เมื่อผมมีลูกสาวคุณแม่ภรรยาผมก็ขออาสามาเลี้ยงหลาน และประกาศว่าขอเลี้ยงเป็นคนสุดท้ายเพราะเลี้ยงมา 14 คนแล้ว อิอิ อิอิ แล้วอายุท่านก็มากแล้ว

ภรรยาผมเป็นคนสุดท้อง คุณแม่จึงหวังฝากผีฝากไข้ไว้ด้วย พอดีท่านเป็นหอบหืด การอยู่อีสานดีกว่าอยู่กรุงเทพและตรังบ้านเกิดท่าน ที่ขอนแก่นมีโรงพยาบาล ใกล้หมอ เราเองก็รู้จักคุณหมอหลายท่าน จึงให้คุณแม่เป็นคนไข้ประจำของคุณหมอรุ่นน้องผม ก็เป็นคนไข้มามากกว่า 20 ปี

ยามที่ท่านแก่หง่อม และเรี่ยวแรงไม่มี เราเองสองคนก็ออกไปทำงานและเป็นงานที่ตระเวนไปทั่ว จึงไปหาคนดูแลผู้สูงอายุ ที่ขอนแก่นมีสถาบันที่ฝึกคนบริการด้านนี้ โดยใครผ่านที่นี่ก็ประกันรายได้ไม่ต่ำกว่า 5000 บาทต่อเดือน เราก็ได้มาดูแลแม่ แต่แล้วก็เปลี่ยนคนใหม่เป็นคนที่ 6 ถ้าจำไม่ผิด เราได้เด็กนักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งของขอนแก่น เธอเป็นเด็กชาวนาบ้านนอก อยากเรียนหนังสือ และหางานทำ แต่พ่อแม่ไม่มีเงินจึงมาหาเงินเอง จึงมารับจ้างดูแลผู้สูงอายุเก็บหอมรอมริบไปเป็นค่าเล่าเรียนค่าใช้จ่าย แบบประหยัดสุดๆ ไม่เคยเที่ยวเตร่เหมือนวัยรุ่นคนอื่น ไม่เคยเดินทาออกจากจังหวัดขอนแก่น โลกเธอแคบมาก หน้าตาก็ล๊าวลาว แต่นิสัยดีมากๆ

เราก็ดูแลเธอเหมือนลูกหลาน กินพร้อมกัน เหมือนกัน ที่ห้องมีแอร์ให้แม่เธอก็นอนในห้องกับแม่ ขาดเกินเรื่องการเรียนอะไรเราก็ช่วยเหลือ ต่อมาเธอเรียนหนัก แม่ก็ต้องการคนดูแลมากขึ้นทั้งกลางวันกลางคืน เธอจึงชวนน้องสาวมาช่วยงานอีกแรง เราก็ยินดี แบ่งกันคนหนึ่งดูแลแม่กลางวันอีกคนดูแลกลางคืน ทำทุกอย่างให้คุณยาย ซึ่งเราก็ฝึกอบรมเธอ ยามบางครั้งคุณแม่ต้องไปนอนโรงพยาบาล เธอทั้งสองก็ไปนอนเป็นเพื่อน และถือโอกาสให้คุณพยาบาลช่วยแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยแบบนี้เพิ่มเติม ซึ่งก็ทำได้ดีมาก

คุณแม่ป่วยอยู่ 7 ปีนอนบนเตียงตลอด เธอสองคนก็ดูแลมาตลอดจนวาระสุดท้ายเธอก็นอนข้างเตียงคุณแม่ก่อนจะสิ้นลม คนพี่เรียนจบ และออกไปแต่งงานกับหนุ่มที่บ้านเราก็ฝากงานหนุ่มคนนั้นให้เข้าทำงานที่โรงงานผลิตกระดาษที่น้ำพอง เพราะผมมีเพื่อนรักเป็นกรรมการผู้จัดการที่นั่น ส่วนน้องสาวยังเรียนไม่จบเราก็ส่งเสียเรียนจนจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย และกินนอนที่บ้านตลอด ก็อยู่ห้องคุณแม่นั้นตลอด เราดูแลเหมือนลูกสาวอีกคนหนึ่งเพราะอยากตอบแทนเธอที่ช่วยดูแลคุณแม่เป็นอย่างดีมาตลอด พี่สาวคนที่เรียนจบไปก่อนตัดสินในกลับบ้านไปทำไร่ทำสวนกับสามีที่ยังทำงานกินเงินเดือนบริษัทผลิตกระดาษ เพราะอยู่ติดบ้านจึงมีเวลาช่วยเหลือกัน

คนน้องสาวเรียนจบได้งานทำในขอนแก่นก็พักอยู่ที่บ้านฟรี ตลอด เพราะคิดว่าเธอคือลูกสาวเราอีกคน

แต่ทุกฤดูกาล พี่สาวของเธอจะเอาผลหมากรากไม้ที่เธอผลิตเองได้เอามาฝากเราตลอดทั้งปี จนบ่อยครั้งเรากินไม่หมด ก็แจกให้คนใช้บ้างเพื่อนบ้านข้างๆบ้างแบ่งไป หนึ่งในของฝากประจำที่บ้านผมได้ คือ ข้าว…

เรื่องที่สอง สมัยที่ผมทำงานกับอาว์เปลี่ยนที่ดงหลวง มุกดาหาร มีพนักงานขับรถคนหนึ่งทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย เรารู้ใจกัน เพราะต่างก็ทำงานกันมานานเข้าใจ และเอื้ออาทร กันมาตลอด ช่วงทำนาก็ให้หยุดขับรถไปทำนาให้เต็มที่ เสร็จนาก็มาขับรถต่อ หรือวันไหน พ่อแม่ ลูกเต้าไม่สบายอยากจะกลับไปดูแลก็ไปได้เลย ไม่ว่ากัน

เรามีงานทดลองวิจัยเล็กๆเรื่องการใช้สารหรือวัสดุต่างๆทดสอบสระน้ำรั่วซึม เราก็ใช้สระน้ำในสวนของเขาเป็นสถานที่ทดลองศึกษา ความรู้ต่างๆที่เราเอาให้ชาวบ้าน คนขับรถคนนี้ก็นั่งฟังมาตลอด โดยเฉพาะ อาว์เปลี่ยนไปส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และฯลฯ คนขับรถคนนี้ก็แอบเอาความรู้ไปทดลองใช้ในแปลงนาแปลงสวนของตัวเองจนได้ผลกับตา

หลายปีผ่านมาพี่ชายเขาโดนยิงตายกลางสวน สาเหตุทราบว่ากลุ่มคนค้ายาเสพติดเป็นผู้ฆ่าโดยสมมติฐานว่าผู้ตายเป็นสายตำรวจ ซึ่งไม่ใช่ คดีท่าทางจะล้มเหลวเพราะมีอิทธิพลใหญ่ขวางคดี ผมทราบจึงไปหารุ่นน้อง มช.ที่เป็นนายตำรวจที่กองเมืองมุกดาหารเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง นายตำรวจใหญ่ท่านนั้นก็รับปากจะจัดการให้ และไม่นานก็สามารถจับคนร้ายได้และสาวไปถึงอีกหลายคน และต่อมากลุ่มค้ายาเสพติดเหล่านี้ก็เสียชีวิตหมด เราไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นเพราะวิสามัญ หรือคนของกลุ่มค้ายามาเก็บเองก็ไม่อาจทราบได้…

ยามที่ปิดโครงการสมบัติของสำนักงานก็แบ่งให้ลูกน้องทั้งหมด คนขับรถได้มากที่สุดเพราะอยู่มานานและกลุ่มลูกน้องตกลงกันเอง

แม้ว่าโครงการจะจบไปนานแล้วคนขับรถก็เอาข้าวที่เขาปลูกเองเป็นข้าวอินทรีย์มาให้ผมทุกฤดูกาลผลิต ให้เงินก็ไม่เอา บอกไม่ต้องเอามาก็ไม่ฟัง เขาบอกว่า ถ้าอาว์เปลี่ยนอยู่เมืองไทยมีครอบครัวก็จะเอาข้าวไปให้กินเช่นกัน…

ผมจึงไม่ได้ซื้อข้าวกินเลย…

หากว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ ผมก็ว่าเป็นมุมของการเอื้ออาทรกัน แบ่งปันกัน ช่วยเหลือสนับสนุนกันตามวาระ โอกาส เงื่อนไขที่มีอยู่ เราซาบซึ้งในน้ำใจของน้องๆเหล่านั้น แน่นอนความสัมพันธ์ของเรามีแต่ดีกับดี ตลอดไป บ้านผมเปิดกว้างสำหรับเธอเหล่านั้น หรืออดีตคนขับรถของผมจะมาพักนอนด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ตลอดเวลา…


ความสำเร็จและบาดแผลของแม่กำปอง

145 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 เวลา 10:46 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3436

“บ้านแม่กำปอง” หมู่ บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา ในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion ทั้งนี้ คนในชุมชนนั้นๆ มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน OTOP อย่างเข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น นอกจากนั้น ในหมู่บ้านมีศักยภาพ ในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถรักษาอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในหมู่บ้านชุมชนไว้ได้

พรมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง ผู้ริเริ่มจัดทำหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เล่าว่า เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 สมัยที่เป็นผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าที่หมู่บ้าน มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีต้นทุนทางธรรมชาติ ทั้งอากาศ ป่าไม้ และน้ำตกที่มีความสูง 7 ชั้น จึงได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้าน ให้ร่วมกันพัฒนาน้ำตก และบริเวณหมู่บ้านให้สะอาด และจัดทำเป็นโฮมสเตย์ขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน ก็มีบ้านที่เข้าร่วมโครงการโฮมสเตย์ 10 หลังคาเรือน และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 50-60 คน ด้วยกัน

แม่กำปองตั้งอยู่ในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบแทบทั้งสี่ด้าน ทำให้มีอากาศเย็นสบาย ค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว มีทัศนียภาพสวยงาม ชาวบ้านอยู่กันเรียบง่าย บ้านเรือนเป็นบ้านไม้สะอาดเรียบร้อย ไม่ทิ้งวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก

กิจกรรมในชุมชนที่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมมีทั้งการท่องเที่ยว ดูวิถีชีวิตของชุมชน ดูการเก็บใบชา ใบเมี่ยง การทำเมี่ยง การทำสมุนไพร การปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน และหากนักท่องเที่ยวอยากจะชมการแสดงฟ้อน หรือการแสดงดนตรีพื้นเมือง ก็สามารถทำได้เช่นกัน ตอนเช้า ก็จะมีการทำบุญตักบาตร ร่วมกับเจ้าของบ้านอีกด้วย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมี “น้ำตกแม่กำปอง” ซึ่งมีสายน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูง 7 ชั้นด้วยกัน บนชั้นที่ 7 มีแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ นอกจากนั้น ก็ยังมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ทั้งระยะใกล้และไกล โดยระยะไกลนั้นจะสามารถเดินขึ้นถึง “ดอยม่อนล้าน” ยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ในวันที่อากาศดี จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้ง 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง นอกจากนั้น บนยอดดอยม่อนล้านก็ยังมีสวนสน สวนสมเด็จย่า และลานของศูนย์พิทักษ์ป่า ซึ่งสามารถกางเต็นท์พักแรม ชมบรรยากาศบนยอดดอยได้ และที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงฤดูหนาวประมาณ เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ต้นพญาเสือโคร่งหรือต้นซากุระเมืองไทย ก็จะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งสวยงามมากทีเดียว ข้อมูลทั้งหมดเอามาจากแหล่งนี้ (ขอบคุณแหล่งข้อมูลมา ณ ที่นี้ด้วย)

http://www.yourhealthyguide.com/travel/tn-maekampong-homestay.html

ผมกลับมาจากลาว คนข้างกายกลับมาจากภาคเหนือ เธอไปที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง เพื่อพาชาวบ้านจากชัยภูมิไปดูงานการใช้พลังน้ำผลิตไฟฟ้าจากน้ำตก เธอแวะไปนอนที่โฮมสเตย์แม่กำปอง ซึ่งครั้งหนึ่งเธอมาประเมินผลโอทอปนั่นเอง กลับมาเธอก็เล่าให้ฟังว่า แม่กำปองก้าวไปไกลมากและชื่นใจเหลือเกินที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาร่วมมือกันพัฒนาชุมชนตนเองจนเป็นแบบอย่างที่น่าเรียนรู้ยิ่งนัก

แต่ภายใต้ความสำเร็จที่คนไปเยือนชื่นชมนั้นก็มีมุมที่น่าคิด ที่ผู้นำและชาวบ้านร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนกลับถูกระเบียบราชการมากดกั้นให้ความเข้มแข็งของชุมชนตีบตัน

ความสนิทสนมของอดีตผู้นำกับคนข้างกายมีมาตั้งแต่สมัยประกวดโอทอป ผู้นำท่านนี้เล่าให้คนข้างกายฟังว่า ชุมชนสร้างฝายกักน้ำไว้หลายแห่งเพื่อเอาพลังน้ำไปสร้างกระแสไฟฟ้าจนเหลือใช้ เพราะการอนุรักษ์ป่ารอบหมู่บ้านทำให้น้ำมากพอทั้งปี และชุมชนไม่ใหญ่ ไม่ขยาย ไม่มีนายทุนหรือคนเมืองไปกว้านซื้อ ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เหลือใช้จึงนำไปขายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำรายได้เข้าชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในด้านต่างๆรวมทั้งสวัสดิการประชาชน

แต่แล้วปัญหาที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อ สตง.มาตรวจและบอกกับชุมชนว่า ทำกิจกรรมนี้ได้แต่ความเป็นเจ้าของต้องเป็นของท้องถิ่นเท่านั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้หมู่บ้านเป็นเจ้าของ…? ผู้นำแม่กำปองก็ลองไปคุยกับ อบต.ว่ามีทางทำได้ไหมโดยให้ อบต.เป็นเจ้าของแต่ทำสัญญากันว่า รายได้ร้อยละ 90 ให้เป็นของหมู่บ้าน ยกให้ อบต. 10% ทำไปได้พักเดียว สตง.มาบอกว่าทำไม่ได้ต้องให้ อบต.เป็นเจ้าของเท่านั้น รายได้ทั้งหมดให้ตกกับ อบต.และให้เอารายได้นี้แบ่งให้กับทุกหมู่บ้าน เฉลี่ยไป…???

ทั้งที่ผู้นำบ้านแม่กำปองและชาวบ้านสร้างมากับมือแล้วผลจบลงเช่นนี้ เขาตัดสินใจปิดกิจการการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้า ผลิตเพียงพอใช้ในชุมชนเท่านั้น

เนื่องจากแม่กำปองมีชื่อเสียง ผู้หลักผู้ใหญ่ไปแวะเวียนกันไม่ซ้ำหน้า ปัญหาใหญ่นี้ถูกเสนอให้ได้รับรู้ ระหว่างการบริการความประทับใจแบบสุดๆ แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบกริบ เหมือนป่าสาก…..

ไหนว่าสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง ไหนโฆษณาให้ผู้นำสร้างความร่วมมือกับชุมชน ไหนว่าให้สามัคคีกัน คนข้างกายถามว่าชาวบ้านแม่กำปองคิดอย่างไร..คงไม่ต้องอธิบายนะครับ เพราะเรารับรู้กันได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว

เฮ่อ……


เหวี่ยงแห..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2011 เวลา 22:44 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 944

ในสังคมเมืองและสังคมทุนนั้น

จะไม่มีภาพนี้ให้เราได้เห็น เพราะมีแต่ปลาเลี้ยง และการซื้อมาบริโภค

แต่นี่หากอยากกินก็ออกแรงเหวี่ยงแหเอากลางลำน้ำนั่น

ได้ปลาสดๆ เพียงพอสำหรับมื้อ

ไม่สะสม ไม่ได้หวังเอามากๆ

แค่พอกิน หรือเกินพอก็แบ่งให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้าน

ยุคสมัยเปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว

“รูปการจิตสำนึก” ของคนแต่ละรุ่นก็เปลี่ยนไป

จนบางรุ่นต่อกันไม่ติด

หากนี่คือการพล่ามพรรณนา

ก็ขอพล่ามถึงวิถีของบรรพบุรุษ

บันทึกให้ลูกหลานได้มาเจอะเจอบ้างเท่านั้น

——

…Xayaburi Lao…


ความสุขของผม..

258 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 มีนาคม 2011 เวลา 1:08 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4369

ข้าราชการมีความสุขตรงไหน..? คงต่างคนต่างความรู้สึกนะครับ

พ่อค้า แม่ค้า มีความสุขที่ขายสินค้าได้กำไรมากๆ

ต่างคนต่างก็มีจุดที่มีความสุขที่ต่างกัน

Email ฉบับที่ 1

สวัสดีค่ะคุณลุงบางทราย (ขออนุญาตเรียกคุณลุงนะคะ)

หนูเพิ่งมาเห็นบล็อกที่เขียนไว้เกี่ยวกับสะเมิงได้น่าสนใจมาก

แล้วภาพในอดีตมันมันก็วนอยู่ในความทรงจำ

แต่ว่ารูปภาพที่ลงในบล็อกมันเปิดไม่ได้ เสียดายไม่ได้เห็นรูปจริงค่ะ

หนูขอแนะนำตัวนิดนึงค่ะ หนูเกิด พ.ศ.2521 คุณแม่เป็นสาวชาวหมู่บ้านหาดส้มป่อย

คุณพ่อเป็นคุณครูที่นั่น ก็เลยเติบโต เรียนหนังสือที่หมู่บ้านหาดส้มป่อยจนถึงปี 2529

แม้ว่าตอนนี้จะมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่กันหมดแล้ว แต่ก็ยังไปเยี่ยมญาติพี่น้องบ่อย ๆ

แม้ว่าตอนนี้ถนน ทางรถยนต์เข้าถึงหมดแล้ว

แต่เวลาขับรถไปทีไรก็ยังนึกถึงตอนซ้อนมอเตอร์ไซค์ลุยดินแดงอยู่ค่ะ

ในฐานะตัวแทนของคนรุ่นหลังหนูขอขอบคุณผู้ที่ได้ทำประโยชน์ และนักพัฒนาที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจจนทำให้เด็ก ๆ เยาวชนรุ่นหลังที่หมู่บ้านห่างไกลได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง ได้เรียนหนังสือจนได้รับโอกาสดี ๆ ในชีวิตมากมายอย่างที่ท่านอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน


Email ฉบับที่ 2

คุณพ่อคือครูดวงฤทธิ์ค่ะ ตอนเด็ก ๆ น่าจะรู้จักลุงเงาะค่ะ
ยังได้ยินคุณพ่อเล่าให้ฟังบ่อย ๆ เช่น เรื่องถูกหวยลุงเงาะ (คือลุงเงาะจะมาในเมือง เลยมีชาวบ้านฝากลุงเงาะซื้อหวย แต่ลุงเงาะกลับเอาเงินนั้นซื้อปลาทูไปให้ แทนที่จะเป็นหวย)และมีคนที่เข้าไปเป็นลูกน้องลุงเงาะในช่วงนั้น ชื่ออ้ายรส จากพะเยา แต่งงานกับหลานของคุณแม่ของหนู ปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านหากส้มป่อยและมีลูกสาวสองคน
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อค่ะว่าตอนนี้ลูกสาวคนโตของอ้ายรสจบเป็นดอกเตอร์ ทำงานที่มหาวิทยาลัยซูริค สวิสเซอร์แลนด์ โน่นค่ะ แถมเรียนต่อ Post doc.อีกต่างหาก ถือว่าน้องสาวคนนี้ของเราไปไกลมากที่สุดในเรื่องการศึกษา (จากการเริ่มต้นด้วยชั้นประถมที่หาดส้มป่อย แต่ตอนนั้นต้องไปเรียนที่อมลองบ้าน แม่ขานบ้าง)

แต่ไม่ทราบว่าคุณพ่อจะรู้จักคุณลุงรึเปล่า (อาจจะรู้จักในชื่ออื่น)

Email ฉบับที่ 3

หนูจะบอกคุณพ่อกับคุณปู่ให้นะคะ ส่วนคุณย่าวันดีท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้วค่ะ

คนทำงานพัฒนาอย่างผมก็มีความสุข

สุขที่เห็นชาวบ้านเติบโต…..คงเหมือนครูคนที่เห็นลูกศิษย์เติบโต..และเป็นคนดี


Paksan

64 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มีนาคม 2011 เวลา 20:34 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3587

วันนี้ที่ปากซัน แขวงบริคัมไซ

UNDP ให้มาศึกษาการพัฒนาน้ำเพื่อการเกษตร

เรามาเป็นหนึ่งในทีมงาน

ปลาแห้งที่แขวนขายข้างทาง ไม่มีโอกาสจอดรถสอบถาม

แต่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

เพลงกุหลาบปากซันยังไพเราะเหมือนเดิม

เมื่อ 30 ปีก่อนเคยมาแล้วครั้งหนึ่ง

มาครั้งนี้จำไม่ได้แล้วว่าภาพเดิมอย่างไร

สังคมเปลี่ยน คนเปลี่ยน พื้นที่เปลี่ยน

คำถามของคนทำงาน คือ

เปลี่ยนอย่างไร แบบไหน ..ฯลฯ เหมาะสมที่สุด



Main: 0.20453500747681 sec
Sidebar: 0.055697917938232 sec