ประสบการณ์เล็กๆแต่มีราคาเกี่ยวกับน้ำ…
เหตุผลที่สำคัญที่เรากู้เงินมิยาซาวา เมื่อปี 40 และเหตุผลที่สำคัญของ สปก. อ้างถึงในการขอแบ่งเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อมาทำโครงการพัฒนาชนบทคือ ระบบการเงินของประเทศพัง เราต้องการมาฟื้นฟูประเทศ การฟื้นฟูมีหลายแนวทาง หนึ่งก็คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะชนบท เพื่อเกษตรกรมีรายได้ ทีกำลังซื้อ ดังนั้นอีสานแห้งแล้งจึงเป็นต้นเรื่อง เพื่อให้เหตุผลขลังก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษา Feasibility study (FS) ว่าชาวอีสานต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประโยคนี้พูดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ถูก
แล้วโครงการเงินกู้มิยาซาวาก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินงานมาเกือบสิบปี การประเมินผลที่เรียกว่า External Final Evaluation เพิ่งเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างไรผมขอไม่ลงรายละเอียด ระหว่างการดำเนินงานส่วนหนึ่งก็อยู่ในบันทึกลานดงหลวงนั่นแหละ
ถามอีสานแล้งจริงไหม คงไม่ต้องตอบ เพราะมันกลายเป็นคำคู่กับภาคอีสานมานานแล้ว แต่จริงๆที่ไหนๆก็แล้ง เหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก แม้ภาคใต้ก็เคยแล้ง เพียงแต่อีสานเกิดปรากฏการณ์มากกว่า และทางเลือกมีน้อยเพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงนั่นเอง
ไม่ใช่อีสาน แห้งแล้งเท่านั้น น้ำท่วมก็เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และเกิดขึ้นมาคู่กับโลก เพราะหากเราเป็นคนทำงานชนบทและสนใจ “พัฒนาการสังคมชนบท” เราก็ใช้วิธี Dialogue ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เราก็จะทราบ “พัฒนาการของหมู่บ้าน ชุมชน สังคม” กระบวนการนี้ดีมากๆ ไม่เห็นโรงเรียนที่ไหนทำเลย มีแต่เรียนสิ่งไกลตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เอามานั่งให้กราบไว้เท่านั้น ไม่พอครับ ประสบการณ์ของท่านคือประวัติศาสตร์
ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า การย้ายถิ่นฐานของคนในอดีตเป็นเรื่องปกติ ทำไมต้องย้าย ก็โรคร้ายระบาดผู้คนล้มตาย หรือเกิดแห้งแล้งหนักข้าวปลาขาดแคลน หรือตรงข้ามน้ำท่วมใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่มีพิธีกรรมความเชื่อเป็นของคู่กับสังคมโบราณ เมื่อ “นางเทียม” บอกให้ย้ายหมู่บ้าน ก็พากันย้าย… ย้ายไปไหน นี่แหละความรู้หรือที่เรียกภูมิปัญญาของคนโบราณเขาก็เลือกเอาพื้นที่ที่ดอน แต่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ มีป่าให้หาสิ่งก่อสร้างอิงอาศัย เป็นแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ดูดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน เมื่อทุกอย่างได้ ก็ทำพิธีขอพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน
ดิน น้ำ ป่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนโบราณ และสืบทอดมาจนปัจจุบันและยังหนาแน่นในกลุ่มบางชนเผ่าเช่น กะโซ่ที่ดงหลวง หรือชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ หรือชุมชนที่อาว์เปลี่ยนเล่าให้ฟังนั่น
แล้วฝรั่งก็มาล่าเมืองขึ้น ใครลืมประวัติศาสตร์นี้ก็ไปทบทวนดู มันรู้สึกเจ็บลึกๆเหมือนกันที่ความศิวิไลซ์ของชนเผ่าผิวขาวตะวันตกมาแย่งชิงดินแดนเราไปอย่างด้านๆโดยใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ และที่สำคัญใช้กำลังบังคับ ผมว่าการที่อมริกันไม่ชนะสงครามเวียตนามนั้น ตะวันตกได้บทเรียนที่มีค่ามากๆ อ้าว..เรื่อยเปื่อยไปแล้วนะเนี่ย
เมื่อยุคการพัฒนาเข้ามา อ้างอิงกันถึง สัญญาเบาริง อ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกี่แผนต่อกี่แผนมานี่น่ะ ลัทธิเมืองขยายตัว ลัทธิธุรกิจแผ่พลังครอบคลุมชนบท ตามหลักทฤษฎีทั้งเศรษฐศาสตร์และสังคม ชนบทค่อยๆกลายเป็นเมือง คุณค่าชนบทตกอยู่ภายใต้นิยามของการพัฒนา ว่าเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนา…?? แต่ภายหลังมายกยอปอปั้นว่าชนบทมีทุนทางสังคมมากที่สุด ชนบทมีภูมิปัญญา….??? แต่ดูเหมือนก็ยังแค่เป็นเพียงคำพูด “การพัฒนาก็ยังใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเป็นธงนำ ไม่ได้ใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง”
“สภาพกายภาพของพื้นที่” การเกษตรค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาตามหลักการที่กล่าวว่า “เพื่อความเจริญ” แต่หลายเรื่องหลายอย่างไปขัดกับสภาพธรรมชาติของการเกิดและการถ่ายเทน้ำ
ทุกครั้งที่โครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่มีงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระน้ำประจำไร่นา ฝายกั้นน้ำ หรือใหญ่ขึ้นไปหน่อยคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก็จะมีวิศวะการใหญ่มาคุมงาน นัยใช้ความรู้มหาศาลมาบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขมวลประชา และตามหลักการมีขั้นตอนที่ต้องประชุมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ชาวบ้านก็ตอบคำถามตามประสบการณ์พื้นที่ของเขาแบบตรงๆ แต่ไม่มี Subject area ด้านงานก่อสร้างดังวิศวกร แต่วิศวกรก็ไม่มี Subject area ด้านสภาพชุมชน ขอโทษนะครับวิศวกรทั้งหลาย วิศวกรที่ผมพบนั้นยืนหยัดถึงความรู้แห่งตน มากเกินไปที่จะรับฟังชาวบ้าน แล้วความผิดพลาดมักพบภายหลังการก่อสร้างเสมอๆ มิเพียง “ไม่สำเหนียกเสียงชาวบ้าน” แม้เจ้าหน้าที่อย่างผมที่บริหารโครงการเขาก็ไม่ฟัง
แม้ว่า สตง.จะตามมาตรวจสอบ แต่เล่ห์เหลี่ยมของความจัดเจนในกลยุทธนั้น วงการระบบ..ย่อมรู้แก่ใจ
ความบกพร่องผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆงาน ไม่ว่างานนั้นราคา 10 บาท หรือ หมื่นล้านบาท แต่หากราคานั้น 10 บาทก็ถือว่าเล็กน้อย หากราคางานนั้นสูง สิ่งที่เสียหายคือสังคม ประเทศชาติ และที่ร้ายคือความรู้สึก
ขอยกตัวอย่าง งานก่อสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่พื้นที่ผมรับผิดชอบ ถูกออกแบบมาจากกรุงเทพฯ โดยดูพื้นที่จากแผนที่ ต่อให้เป็นแผนที่ที่ละเอียดแค่ไหนก็ตามเถอะก็ต้องออกไปดูพื้นที่จริง ต่อให้ดูพื้นที่จริงแค่ไหนก็เถอะ หากไม่คุยกับชาวบ้าน หรือต่อให้คุยกับชาวบ้านแค่ไหนก็เถอะ หากไม่มี Subject area ทางด้านสังคม-วิศวกรรม หรือวิศวกรรมสังคม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ อันตราย
การก่อสร้างโรงสูบน้ำถูกออกแบบมาแล้วดังกล่าวสมมุติว่าสูง 10 เมตร นัยว่า ข้อมูลที่ใช้นั้นรอบด้านแล้ว เจ๋งแล้ว แต่เมื่อลงมือก่อสร้างผมได้พูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชาวบ้านว่า น้ำท่วมสูงสุดแค่ไหน ก็ได้คำตอบ และแบบที่ออกมานั้นก็ดูจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่พบว่า ในรอบ 20 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่งโดยประมาณ เมื่อตามตรวจสอบระดับน้ำที่ท่วมพบว่ามันสูงกว่าที่คนอื่นๆพูดกัน…
ตายหละหว่า…หากอนาคตข้างหน้าครบรอบ 20 ปีที่น้ำจะท่วมใหญ่ อาคารสูบน้ำที่ไม่ใช่ระบบ Floating station มันก็อวสาน บานทะโล่หละซี เท่านั้นเองงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักเอาไปออกแบบใหม่ ยกขึ้นอีก 1 เมตร….??
หลังจากนั้นสองปี น้ำก็ท่วมสูงสุดดังที่ผู้เฒ่าบอกกล่าว หากไม่ยกสูงอีก 1 เมตรก็เรียบร้อย….?
เกือบไปแล้วไหมล่ะ ….!!!???