A52S 3
อ่าน: 1406- เรามาลองทบทวนความหลังจั๊กหน่อยนะขอรับคุณท่าน เมื่อตอนเฮสามที่ดงหลวง ผมได้สรุปลักษณะของเฮฮาศาสตร์ไว้สมัยนั้นว่าดังนี้นะเจ้าคุณ
ถือว่าเป็นบันทึกช่วงเวลาหนึ่งของการเคลื่อนตัวของเฮฮาศาสตร์ก็แล้วกันนะครับ สิ่งเหล่านี้สรุปจาการเฝ้ามองรถขบวนนี้ที่ชื่อเฮฮาศาสตร์ครับ
เมื่อสมัยที่ทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่ อยู่ในหมู่บ้านคนเมือง วันหนึ่งมีงานศพในหมู่บ้าน พิธีกรรมของภาคเหนือก็คล้ายๆชนบททั่วไป แต่ที่ผมประทับใจมากๆคือ บ้านที่ผมไปพักช่วงนั้น ก็ไม่ได้เป็นญาติโกโหติกาอะไรกับครอบครัวที่มีงานศพนั้น เพียงเป็นเพื่อนบ้าน ร่วมหมู่บ้าน เขาก็ต้องลงจากบ้านหยิบเอาของติดมือไปร่วมงานศพ โดยเจ้าภาพไม่ต้องออกการ์ดเชิญ ไม่ต้องเดินมาออกปากเชิญ แต่ทุกคนต้องลงบันไดเรือนชานไปร่วมงานศพ แต่สังคมในเมือง ออกการ์ดเชิญยังไม่ไปเลย… ปรากฏการณ์นี้เราคงไม่ต้องอธิบาย
ผมเห็นหลายครั้งที่พ่อครูบาตีฆ้องงานนั่นงานนี่ ก็มีคนลงจากบ้านเดินไปร่วมงานโดยไม่ต้องออกปากเชิญ ป้าจุ๋มก็ดี รอกอดก็ดี อาจารย์แฮนดี้ ก็ดี จอมป่วน ก็ดี และใครต่อใครต่างลงบันไดเดินมาที่สวนป่า ยิ่งกรณีเจ้าเป็นใผ โน้นสุดใต้เมืองไทย(น้องแป๊ด) สุดเหนือเมืองล้านนา(น้องอึ่งอ๊อบ) ต่างก็ส่งเสียงอาสาช่วยอย่างเต็มหัวใจ ผมเห็น ผมรู้สึกได้ และทุกท่านก็เห็นและรู้สึกเหมือนผมเช่นกัน (อีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึงนะครับ)
นี่คือความสวยงามของเฮฮาศาสตร์ หากจะมองว่านี่คือกลุ่มยุ่งเหยิงหรือ Chaos ผมก็ว่าเป็น chaos ที่สวยงาม
- อย่างที่ผมเฝ้ามองกลุ่ม หรือองค์กรชาวบ้านมาหลายปีและพบเห็นการปรับตัวหลายๆแบบก่อนเดินเข้าสู่เป้าหมาย และผมเคยสร้างไดอะแกรมไว้เพื่อบอกให้ทราบว่า เส้นทางเดินของกลุ่มนั้นไม่ใช่ราบรื่น ไหล วิ่งไปสู่เป้าหมายอย่างไม่มีแรงเสียดทาน ไม่ใช่ครับลองดูนี่ซิ
ลองดูไดอะแกรมนี่นะครับ คนแซ่เฮรวมกลุ่มกันที่ A และต้องการเดินทางไปสู่เป้าหมายที่ X ตามเส้นทางสีแดงนั้นคือเส้นทางเดินโดยมีการทำกิจกรรมต่างๆแล้วแต่กลุ่มจะสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่นเฮฮาศาสตร์ครั้งต่างๆ การทอดกฐิน การปลูกป่า ทำหนังสือเจ้าเป็นใผ ระพี…ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ยิ่งทำก็ยิ่งมีส่วนสำคัญที่ให้เฮฮาศาสตร์เข้าถึงกัน และปรับตัวเข้าหากันโดยอัตโนมัติด้วยปัจเจกเอง แต่ในทางตรงข้ามก็จะมีปัญหา อุปสรรค เข้ามา ทั้งเบาๆ และหนัก ถึงหนักหนา
ข้อสังเกตการปรับตัวขององค์กรชาวบ้านคือ การเดินทางจาก A ไปที่ X นั้นเมื่อพบปัญหา องค์กรก็จะปรับไปสมมุติปรับไปที b องค์กรเดินไปสักพักก็พบปัญหาอีก องค์กรก็ปรับ สมมุติปรับไปที่ c และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ข้อสังเกตคือ การปรับตัวนั้นก็ยึดเอาเป้าหมายเป็นหลัก การแกว่งขององค์กรอาจเกิดขึ้น แต่แล้วก็ปรับเข้ามาเส้นตรง ผมอาจะเรียกเส้นตรงนี้ว่า ความมีคุณธรรม หรือ norm ขององค์กรพึงประสงค์ที่จะเดินเข้าสู่เป้าหมายที่ดีที่สุด
ข้อสังเกตของผมต่อองค์กรชาวบ้านในกรณีที่พบอุปสรรคก็คือ
สมาชิกต่างมาหาข้อเท็จจริงว่ามันคืออะไร บกพร่องตรงไหนและหาทางออกแบบชาวบ้าน ซึ่งหลายๆครั้งเราคิดไม่ถึงหรอกครับ… เพราะเขามีความเชื่อ มีวัฒนธรรม มีวิถีปฏิบัติแบบของเขา แต่กลุ่มก็เดินต่อไปได้หลังการปรับตัว แล้วก็มักจะพบปัญหาอีก หนักบ้างเบาบ้าง บางกลุ่มแก้ไม่ไหวล้มไปต่อหน้าต่อตาก็มี ที่แก้ได้ ปรับตัวได้แต่แคระแกรน ล้มก็ไม่ล้ม โตก็ไม่โต ก็มี ที่เติบโตแบบหยุดไม่อยู่ก็มี เหล่านี้ผมมีข้อสังเกตว่า
- กลุ่มผู้นำมีบทบาทที่สำคัญในการแก้ปัญหา หากฟังเสียงสมาชิกอย่างจริงใจ แสดงความจริงใจต่อกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงเป็นคนมีคุณธรรม ไม่ถือประโยชน์ส่วนตน เสียสละจริงๆให้สมาชิกเห็น มีประวัติที่ดี สรุปว่าเป็นคนดี
- กลุ่มผู้นำมีภาวะผู้นำสูง เมื่อนำก็นำ แต่นำอย่างมีส่วนร่วม กล้าตัดสินใจ มีประสบการณ์ฯ
- สมาชิกก็จริงใจต่อการแสดงออกในการมีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือในข้อตกลงของกลุ่ม หรือไม่ผิดแผกไปจากวัฒนธรรม ข้อปฏิบัติทางวิถีของชุมชนนั้นๆ
- หากกลุ่มนั้นมีกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ ก็เอามาทบทวน ปรับให้เกิดความเหมาะสม
- ข้อที่พบบ่อยมากทั้งองค์กรในชุมชน และองค์กรใหญ่ๆนอกชุมชน แม้ราชการ ธุรกิจ คือ “การสื่อสาร” ระบบการสื่อสาร เครื่องมือการสื่อสาร วิธีการสื่อสาร ช่องทางการสื่อสาร ภาษาที่ใช้ ฯ
- อีกประการที่พบบ่อยเช่นกันกันคือ “ความคาดหวัง” พ่อจอมป่วนคาดว่าลุงบางทรายจะเข้าใจเรื่องนั้นเรื่องนี้ ลุงบางทรายคาดหวังว่าตาออตจะเข้าใจเรื่องที่คุยกัน ประธานคาดว่าสมาชิกจะเข้าใจ สมาชิดคาดว่าสิ่งที่พูดนั้นประธานจะรู้เรื่อง เข้าใจตรงที่อยากสื่อสาร…. เปล่า…ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด มีเรื่องตลกมากมายเกี่ยวกับ การสื่อสาร เมื่อยี่สิบปีก่อน ผมนั่งรถราชการไปกับ ดร.ท่านหนึ่งที่เป็นรอง ผอ. สำนักงานเกษตรภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมประชุมประจำปี เราเชคอินที่โรงแรมเอากระเป๋าไว้ แล้วก็เดินทางเข้าที่ประชุมที่จังหวัดนครพนม เมื่อเราเดินทางถึง ดร.ท่านนั้นก็คิดว่า การประชุมคงนานให้พนักงานขับรถคอยเขาคงเบื่อ ให้เขากลับไปพักที่โรงแรมก่อนด้วยความหวังดี จึงบอกพนักงานขับรถว่า “กลับไปก่อนเถอะเดี๋ยวกลับไปกับเพื่อนที่เข้าร่วมประชุมนี้ก็ได้” (ในความหมายคือเมื่อเสร็จการประชุมจะกลับที่พักโรงแรมพร้อมกับท่านอื่นๆเอง) แต่แล้วพนักงานขับรถขับรถกลับขอนแก่นเฉยเลย..เพราะคิดว่านายบอกให้กลับบ้านแล้วนายจะเดินทางกลับกับเพื่อนๆที่มาร่วมประชุมนั้น….ฮา..(ไม่ออก)
(มีต่อ)
« « Prev : A52S 2
2 ความคิดเห็น
ผมคิดว่าทิศทาง สำคัญกว่าเป้าหมายนะครับ ถึงกระนั้น ก็ยังคิดว่าการปักธงไว้ที่เป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนกำหนดการชาวเฮ ที่อยู่ใน sidebar ของลานเจ๊าะแจ๊ะ เป็นเครื่องมือช่วยให้สมาชิกเลือกได้ ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมต่างๆ อย่างไร และจะจัดการกับตัวเองล่วงหน้าอย่างไร
การปักธงเป้าหมายเอาไว้ ทำได้ด้วยการเขียนบันทึก ให้รายละเอียดให้มากที่สุด ต้องการความช่วยเหลืออะไร เขียนบอกไปเลย เอาชัดๆ แล้วส่งอีเมลมาหาผม (อีเมลหาได้จากความคิดเห็นที่ผมเขียนไว้ในบันทึกต่างๆ) หรือมาเขียนบอกไว้สั้นๆ ในลานเจ๊าะแจ๊ะ เพื่อที่จะได้ลิงก์เข้าไปในกำหนดการชาวเฮครับ ผมอ่านบล็อกในลานปัญญาเยอะ แต่ก็อาจมีหลุดไปได้เหมือนกัน ดังนั้นบอกกันตรงๆ ดีกว่า
ที่ว่าทิศทางสำคัญกว่าเป้าหมายนั้น เป็นเพราะคนเราไม่เหมือนกัน มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เรียนรู้ไม่เหมือนกัน มีความพร้อมที่แตกต่างกัน ว่างไม่ตรงกัน ถ้าจูงมือกันเดินไปได้พร้อมกันหมดก็ดี แต่ในบางขณะก็ไม่อาจทำได้ ดังนั้นก็ต้องทิ้งอะไรบอกทางไว้ เพื่อที่คนที่ยังไม่พร้อม จะได้ตามไปถูก
ความจริงพี่ว่าเป้าหมายของเฮยั้ยยังไม่ชัด แต่พูดกว้างๆไว้เพียงว่า “เพื่อสังคม” อะไรก็ได้เพื่อสังคม ปล่อยให้การเคลื่อนตัวของกลุ่มจัดสรรกันขึ้นมาพร้อมๆกับการปรับตัวไปข้างหน้า ในมุมมองของพี่เป็นเช่นนี้ ดังนั้นทิศทางที่คอนกล่าวถึงจึงเป็นเรื่องสำคัญกว่านั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะคิดเป็นอื่น
จริงๆเรายังไม่จำเป็นต้องไปเคี่ยวเอาเป้าหมายให้ชัด เพราะเรามิใช่องค์กรปิด หรือองคืกรที่มีโครงสร้าง เป็นแค่องค์กรเสมือนที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจแต่อย่างใด การประคับประคองให้องค์กรเสมือนนี้ไปด้วยกันข้างหน้าได้เรื่อยๆ แบบอบอุ่น แค่นี้ก็มหาศาลแล้วพี่ว่านะ