เผา..

1011 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:28 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 16442

เผาอาคารราชการถือเป็นสมบัติสาธารณะแห่งชาติ ยิ่งเผายิ่งร้อน ภายใน

เผากิเลส ตัณหา ของตัวเอง ยิ่งเผายิ่งเย็น ภายใน


ความเป็นไทยคืออะไร..

1126 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 พฤษภาคม 2010 เวลา 19:27 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 14279

มันสาแก่ใจใช่ไหม เพื่อนร่วมชาติ

เมื่อความคั่งแค้นได้ถูกปลดปล่อยเช่นนี้

แต่เราต้องอยู่ร่วมกันอีกยาวนานมิใช่หรือ

“หากใจมีสิ่งขวางกั้นภายใน

แล้วความเป็นไทย..คืออะไรเล่า”

เพื่อนร่วมชาติที่รัก



แสดงความเห็นต่อโจทย์พ่อครูบาฯ 2

อ่าน: 2761

โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??

ยกที่ 1 ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีข้อจำกัด หากท่านอธิการบดีสั่งรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเอามากองรวมกัน ทั้ง Hard & soft innovation ผมก็คิดว่ายังทำงานภายใต้ข้อจำกัดของกรอบระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ของระบบมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะยืดหยุ่นมากกว่าระบบราชการทั่วไปก็ตาม แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


มหาวิทยาลัย

ยกที่ 2 นวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยผลิตขึ้นมานั้น “มาจากความต้องการของชุมชน หรือมาจากความอยากรู้ของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย” แตกต่างกันมากนะครับ เพราะความต้องการของชนบทนั้นจะถูกออกแบบนวัตกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชนบทเพราะเป็นตัวตั้ง แต่หากนวัตกรรมนั้นมาจากคณาจารย์อยากทำ อาจจะไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องกับชนบท หรืออาจจะต้องถูกดัดแปลงอีกมากก็ได้ เหมือนที่พ่อครูกล่าวว่าเพลงลูกกรุงนั้นจะเอาไปให้ลูกทุ่งร้องนั้นมันคนละคีย์กันครับ แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชุมชนชนบท

ยกที่ 3 แม้ว่าจะรู้ความต้องการของชนบท หรือความอยากของคณาจารย์สอดคล้องกับความต้องการของชนบท กระบวนการเอานวัตกรรมไปสู่ชนบทนั้นคืออย่างไร บ้าง อบรม หรือศึกษาดูงาน หรือทั้งสองอย่าง หรือ ฝึกทำ หรือทำแปลงสาธิต หรือตั้งศูนย์เรียนรู้ หรือ ลองผิดลองถูกกันไป หรือ…..ใครเป็นคนออกแบบกระบวนการนี้ เอาละให้เกษตรกรมีส่วนร่วม แต่กระบวนการให้มีส่วนร่วมก็มีรายละเอียดมากมาย บ่อยครั้งนวัตกรรมนั้นนำเสนอโดยคนข้างนอก ให้ชาวบ้านออกความเห็นสองสามคนแล้วก็บอกว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมแล้ว โดยทั้งกระบินั้นมาจากคนข้างนอกผลักดันมากกว่า แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก


ชาวบ้าน

ยกที่ 4 ชนบทไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีทั้งน่ารักน่าชัง ทั้งน่าสงสารและน่าตียิ่งนัก ข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยนั้นเรื่องหนึ่งคือเวลาที่มีกำหนดตายตัว งานชิ้นนี้ต้องทำภายใน สามเดือน แปดเดือน แต่หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั้น บางเรื่องต้องใช้เวลาเข้าใจมากมาย โดยเฉพาะส่วนลึกที่เป็น soft side ราชการมักให้ผู้ใหญ่บ้านเชิญชาวบ้านเป้าหมายมาประชุมที่ศาลาวัด ท่านทราบไหมว่าชาวบ้านที่มานั่งทั้งหมดนั้นน่ะ แต่ละคนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หากไม่เข้าใจแล้วจะทำงานพัฒนาอย่างไรล่ะ มันก็แค่เอาลงไปใช่ไหม… ในทางการแพทย์เขาใช้คำว่า Triage ในทางการพัฒนาชนบทเราก็ใช้คำนี้เราต้องเข้าใจรายบุคคล รายครัวเรือน แล้วจึงรู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหาแต่ละคน แล้วการเยียวยารักษาจึงจะเหมาะสมถูกต้อง สอดคล้อง เพราะปัญหาแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน หรือเหมือนกันแต่หนักเบาไม่เท่ากัน อาจจะหนักเท่ากันแต่เงื่อนไขแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ครอบครัวอาจจะเหมือนกัน แต่บุคลิกภาพแต่ละคนแตกต่างกัน…. เราต้องแยกแยะ จำแนก จัดกลุ่ม จัดหมู่ จัดพวกของคนและปัญหาออกมาแล้วก็แก้ไขกันไปตามเหตุปัจจัยแต่ละคน งานแบบนี้จะมาแล้วไปแบบราชการนั้นไม่ได้ ต้องลงคลุกคลีตีโมงกันพักใหญ่ๆ หากมาแล้วไป ไม่มีความผูกพันเลย ชาวบ้านก็หลอกกินเอาได้ โดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

ยกที่ 5 การทำงานชนบทไม่เหมือนการผสมสารเคมีในห้องทดลอง เมื่อเอาไฮโดรเจนสองส่วนมาผสมกับอ๊อกซีเจนหนึ่งส่วนแล้วจะได้น้ำออกมาทันที (H2O) แต่คนมีพื้นฐาน มีที่มาที่ไป มีฐานประวัติชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และชุมชน สิ่งแวดล้อม แม้เอาการฝึกอบรมเข้าไป เอาการศึกษาดูงานเข้าไป เอาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเข้าไป แต่บ่อยครั้งยังต้องการปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย และไม่เหมือนกัน ชนบทที่สุรินทร์ กับที่สกลนครเงื่อนไขก็แตกต่างกัน แล้วทำอย่างไรล่ะมหาวิทยาลัยที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดมากมาย ผู้บริหารเข้าใจก็ดีไป หากไม่เข้าใจ ทีมงานอาจถูกฆ่าตายในทางการทำงานก็เป็นได้


ยกที่ 6 ส่วนที่สำคัญยิ่งคือ ด้าน Soft side ของตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน เราเอาชาวบ้านมาฝึกทหารก่อนที่จะเอาออกไปประจำการในสนามจริง เพราะอะไร ทุกท่านคงหาคำตอบได้ การที่พระคุณเจ้ามุ่งสู่หนทางละวางทั้งหมดก้าวเข้าสู่นิพพานนั้น สมณะรูปนั้นๆต้องฝึกฝนตนเองนานนับชั่วชีวิตทีเดียว หากเราจะสนับสนุนให้ชาวบ้านเดินทางไปสู่แนวทางการพึ่งตนเองนั้น การจะไปพูดไปจาเพียงไม่กี่คำนั้นคงไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการทำอย่างไรจะขจัดคราบไคลของลัทธิบริโภคนิยม ค่านิยมของทุน แล้วก้าวเดินบนเส้นทางที่ต้องถูกยั่วยวนตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องการต่อสู้ภายในทั้งสิ้น กระบวนการพัฒนาจึงทำงานด้านในด้วย เราอาจจะประสบผลสำเร็จในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย แต่ล้มเหลวลงหมดเพราะเกษตรกรคนนั้น ครอบครัวนั้นหลงใหลกับการบริโภค ที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่งานพัฒนาชนบทไม่เน้นเรื่องนี้ เพราะเห็นผลยาก รายงานยาก ประเมินผลยาก สำเร็จยาก สร้างอาคารเสร็จก็รีบถ่ายรูปรายงานว่าทำสำเร็จแล้ว แต่การเอาอาคารไปใช้ประโยชน์นั้นถ่ายรูปไปครั้งเดียวก็อ้างไปหลายปี ทั้งที่การใช้ประโยชน์มีแค่ 6 เดือนแรกเท่านั้น…ผมจึงทึ่งกับ CUSO ที่หลังโครงการจบไปแล้ว 6 ปีเขาจึงมาประเมินผล..??!!


ยกที่ 7 องค์ประกอบที่สำคัญ ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ผู้นำชุมชน พี่เลี้ยงจากภายนอก key person ในชุมชน ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญมาก แต่ก็ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละชุมชน จากบทเรียนเราพบว่า หมู่บ้านไหนผู้นำดีดี เท่ากับทำงานเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วทีเดียว ตรงข้ามหากผู้นำในชุมชนไม่มี หรือไม่ดีก็เหนื่อยหน่อย หลายกิจกรรมก็ล้มลุกคลุกคลานเพราะขาดผู้รับผิดชอบ ขาดการรับลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดความตระหนัก หรือการให้ความสำคัญ ผู้นำชุมชนดีดีหายาก ยิ่งในปัจจุบันถูกการเมืองระบบใหญ่ระดับประเทศ และการเมืองท้องถิ่นระดับตำบลทาสีแดงไปหมด บทบาทที่เหมาะที่ควรก็ถูกเบี่ยงเบนไปเพื่อผลประโยชน์เสียสิ้น

ยกที่ 8 ระบบการเรียนรู้ในชุมชน ระหว่างชุมชน… การท่องเที่ยวไปในโลกกว้างย่อมเสริมสร้างโลกทัศน์ยิ่งนัก เห็นทั้งส่วนเล็กและใหญ่ เห็นแนวโน้ม เห็นที่ตั้งของปัญหาว่าอยู่ส่วนไหนของสังคม ของประเทศ ของการดำรงชีวิตอย่างมีสุข ปัจจุบันจึงต้องมีองค์กร และเครือข่าย เพราะการโดดเดี่ยวนั้นคือจุดอ่อนด้อย การรวมกลุ่มคือพลัง หากกลุ่มดี ระบบดี ก็พากันเดินทางไปข้างหน้าอย่างมีพลัง เพราะชุมชนเดิมของเรานั้นไม่ได้โดดเดี่ยว ชุมชนเดิมของเราเดินไปด้วยกัน พร้อมๆกัน จูงมือไปกัน ระบบกลุ่ม เครือข่ายจึงเอื้อให้นวัตกรรมต่างๆถูกถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งด้วยตัวของมันเอง บทเรียนตรงเหนือบ้านอาจจะถูกดัดแปลงไปอีกนวัตกรรมหนึ่งเมื่อเอาไปทำที่ท้ายบ้าน การเกิดขึ้น พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยกลุ่ม เครือข่าย… เครือข่ายคือระบบการเรียนรู้ในชุมชน..


ยกที่ 9 ย้ำเรื่องการเห็นคนชนบทต้องเห็นให้ทั้งหมด.. ความหมายคือ การที่ชาวบ้านเดินเข้ามาหาเราและเข้าร่วมกิจกรรมของเรานั้น เราไม่ใช่รู้จักชาวบ้านคนนั้นเท่านั้น ไม่พอ เราต้องรู้เรื่องราวของครอบครัวเขาทั้งหมด ทั้ง Hard & soft side อย่างที่เฮียตึ๋งและท่านไร้กรอบกล่าว ทางคริสตชนเรียกว่ารู้ทั้งครบ ตัวอย่าง นาย ทักษิณ เป็นเกษตรกรที่ก้าวเข้ามาร่วมกิจกรรมตามหลักการของเราในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีตารางการปฏิบัติชัดเจน แต่แล้วเขาหายตัวไปถึงสองเดือนไม่ได้ทำตามกำหนดที่คุยกันไว้ ต่อมาทราบว่า เขาต้องตัดสินใจลงไปหางานทำเพื่อหาเงินด่วนไปให้ลูกที่จะเปิดเทอมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง..?? งานการเพิ่มผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย… เมื่อเราคุยกันจึงทราบรายละเอียดถึงความจำเป็นสุดๆของเขา..ตัวอย่างที่สอง นายจตุพร เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ที่มีกำหนดว่าจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อครบกำหนด จะต้องพ่นปุ๋ยน้ำหมักทางใบเมื่อครบกำหนด แต่นายจตุพรไม่ได้ทำเขาหายไปสองสัปดาห์ ต่อมาเรารู้ว่าเขาขึ้นป่าไปยิงบ่าง กระรอก หรือสัตว์ป่า ต้องการกินสัตว์ป่าเพราะมันอร่อยมากกว่าเนื้อหมูที่ตลาด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินของชาวบ้านแถบนี้ ทำให้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของเขาไม่ถูกปฏิบัติตามกำหนด ผลผลิตก็ไม่ได้สูงสุด การบันทึกข้อมูลก็สะดุด…


ทั้งหมดนี้คือเพียงบางส่วนเท่านั้น

นี่คือบทเรียน นี่คือข้อสรุป และนี่คือของจริง หากมหาวิทยาลัยจะเดินทางเข้าชนบทเอาความรู้ไปลงสู่ชนบท ลองเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปพิจารณาดูเถิดครับ


จดหมายถึงส.เทอด

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 เวลา 13:17 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1036

ถึง ส.เทอด

สวัสดีเพื่อน เราไม่ได้พบกันประมาณสามสิบปี ดูเหมือน เทอดจะเมล์มาหาผมครั้งหนึ่งโดยบังเอิญแค่ทักทายแล้วก็หายไป ได้ข่าวแว่วๆมาจากลำพูนว่า เทอดอยู่ที่นั่น สักวันจะขึ้นไปหานะครับ

ที่เขียนถึงวันนี้เพราะผมได้เอกสาร “กลั่นจากความทรงจำ” ของเทอดสมัยเคลื่อนไหวกับ พคท. อ่านแล้วเหมือนดูหนังใหญ่เรื่องหนึ่งมีทุกบท ดูแล้วก็เข้าใจเทอดมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามขึ้นมากมาย เป็นคำถามที่ผมต้องการหาทางออก สังคมต้องการคำตอบ ประเทศชาติต้องการข้อสรุปที่ดีที่สุด

เห็นการทุ่มเทชีวิตที่หวุดหวิดความตายหลายครั้งของเทอด การผจญภัย บุกป่าฝ่าดง การอดอยาก การตื่นเต้น และการทำงานอย่างยากลำบากและต้องใช้อุดมการณ์ที่สูงส่งยิ่งนัก เพราะมิเช่นนั้นก็ถอดใจไปนานแล้ว

บางครั้งเทอดมาอยู่ใกล้ผมนี่เองโดยที่ผมไม่ทราบมาก่อน เราต่างคนต่างไม่ทราบแก่กัน แต่นั่นเป็นวิถีที่ชีวิตไหลไปตามลีลาที่ถูกกำหนดมาโดยภารกิจและการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

ผมศรัทธาและเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ของเทอดและเพื่อนๆเราสมัยโครงงานชาวนา พรรคประชาธรรมและการเคลื่อนไหวที่ภาคเหนือ แม้ว่าเทอดกับผมจะอยู่ต่างสถาบันแต่อุดมการณ์นั้นเราอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แม้ประสบการณ์ชีวิตของผมจะแตกต่างจากเทิดก็ตาม ผมเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เราต่างกระทำลงไปแล้ว

ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันนั้นเทอดได้ลงเอยกับคนรักเช่นไร ผมขอให้ทั้งคู่สุขสมและอยากมีโอกาสได้พบกันครับ

ผมเดาเอาว่าเทอดได้กลับเข้าทำงานกับขบวนการที่เทอดอุทิศทั้งชีวิตให้ นั่นแหละคือโจทย์ใหญ่ คำถามที่ต้องการการคลี่คลาย หาคำตอบก่อนที่สังคมจะพังทลายลงไปด้วยการทำงานที่ต่างวิธีการกันแต่เป้าหมายอันเดียวกัน เทิดครับผมทำงานทุกวันนี้ก็เพื่อชนบทตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ เทอดเองก็มีวัตถุประสงค์เช่นนั้น แต่วิธีการต่างกัน มองเห็นปัญหาใกล้เคียงกัน แต่มุมมองในรายละเอียดแตกต่างกัน เทอดใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกำลัง แต่ผมต้องการการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ใช้กำลัง แต่เป้าหมายใกล้เคียงกันคือ เพื่อชนบท เพื่อสังคมและเพื่อประเทศชาติที่ดีขึ้น

ผมไม่อยากเห็นเราเดินคู่ขนานกันไป แล้วสุดท้ายเรายืนคนละฝั่งกัน แต่ผมอยากให้เราเดินคู่ขนานไปและเราจับมือไปด้วยกัน แต่นั่นคือการที่เราควรพบปะพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสถานการณ์ปัจจุบันครับ..

ด้วยความศรัทธาเพื่อนยิ่งนัก

ป.ล. บันทึก 100 หน้าของกระดาษ A4 font 12 tahoma ของเทอดนั้นผมจะขออ่านอีกหลายเที่ยว บางช่วงบางตอนผมถึงกับหลั่งน้ำตาไปกับการสัมผัสได้ถึงอารมณ์สุดๆของเทอดน่ะครับ


คำบอกเล่าของพิลา..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 20:37 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 665

บางทราย: พิลา ในหมู่บ้านนายมีแดงลงไปกรุงเทพฯเยอะไหม

พิลา: ไม่มี พี่

บางทราย: หา…ไม่มีเลยรึ ก็พี่น้องไปกันโครมๆ บ้านนายไม่มีใครไปเลยรึ

พิลา: ไม่มีใครไป แต่เขาบริจาคข้าวกันพี่ คราวที่แล้วได้ตั้งสองตัน..

บางทราย: หา….สองตันข้าวนั่นน่ะรึ โห..ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ

พิลา: เขาไม่ลงไป แต่บริจาคข้าวกัน ไม่รู้เขากลัวตายกันมั๊ง และอีกอย่าง มันมีงานในไร่นาเยอะไปหมด ไม่มีใครอยากทิ้งไป

บางทราย: เขามีหัวหน้ามาเก็บข้าวรึไง

พิลา: มีพี่..เป็นตำรวจกองเมืองมุกดาหารนี่แหละ เป็นเขยของหมู่บ้านนี้…??????

บางทราย: หา…ตำรวจเลยรึ….

พิลา: พี่..ตำรวจนี่แหละ แค่นั้นยังไม่พอ หมู่บ้านอื่นนะเขาลงไปกรุงเทพฯกันเยอะ หลายคันรถเลย พี่รู้ไหม มีตำรวจทางหลวงนำขบวนหน้า-หลังเลยหละครับ…

บางทราย: หา…ตำรวจขับนำขบวนเลยรึ….โห…

พิลา: พี่ ชาวบ้านเขาไม่รู้เรื่องอะไร เหตุผล ต้นสายปลายเหตุอย่างไรเขาไม่รู้แจ้งหรอก สมัยกลุ่มเหลืองเดินขบวนชาวบ้านผมก็บริจาคข้าวให้เหมือนกัน…

บางทราย: หา…นี่บริจาคให้ทั้งเหลืองทั้งแดงเลยหรือ…โอพระเจ้า…

พิลา: ที่บ้านผมน่ะ ผู้เฒ่าผู้แก่นั่งจับกลุ่มกันเปิดวิทยุแดง ฟังกันทั้งบ้าน ไม่เป็นอันทำอะไรหละ…

เชิญท่านวิเคราะห์กันเองเลยครับ…ว่านี่คือชนบทแห่งหนึ่งที่สะท้อนภาพการเคลื่อนตัวตามปรากฏการณ์ปัจจุบัน บอกอะไร บ่งชี้อะไร คนทำงานชนบทหัวปั่นเหมือนกัน งานที่ทำมันมากมายไปหมด หลายเรื่องนอกเหนือกรอบงานที่โครงการระบุ แต่มันก็พัวพันไปหมด แตะอย่างหนึ่งก็สาวไปถึงอีกเรื่องหนึ่งได้ไม่ยาก

ใครจะมาเนรมิตให้ชนบทสวยงาม บริสุทธิ์ผุดผ่องล่ะ ไม่มีทาง ยิ่งการเมืองที่เข้มข้น ชนบทคือเป้าหมายใหญ่เชียวหละ ไม่เชื่อลองใส่เสื้อแดงเดินไปที่ราชประสงค์ซิ แล้วขอดูบัตรแดงหน่อย มาจากชนบททั้งน้านนนนน

หมายเหตุ: พิลาคือพนักงานขับรถของโครงการที่ทำงานร่วมกันมาตลอด


ความรู้สึกภายใน..ที่อยากบอก

1315 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 10:47 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, ทุนสังคม #
อ่าน: 18643

พูดไม่ออก…………

แต่รู้สึกได้ภายในว่า

หัวอกเราชอกช้ำเป็นที่สุด…


คิดนอกกรอบ..

20 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2919

วันนั้นเดินที่สวนป่า เห็นขนไก่ตกอยู่หยิบมาพิจารณาดู รู้สึกชอบ สวยดีครับ หากคนช่างคิดเห็นขนไก่ชิ้นนี้เข้าคงคิดต่อยอดไปหลายอย่าง เช่น

  • เอาไปตกแก่ง เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ถือว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง
  • เอาไปตกแต่งบอร์ด การนำเสนอผลงานต่างๆ ตามโรงเรียน สถาบัน สถานที่หน่วยงานต่างๆ ฯ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำรูปภาพต่างๆ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำตกแต่งการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • หากมีจำนวนมากๆก็เอาไปฟอกแล้วเอาไปทำวัสดุทำหมอนรองหัวหรืออื่นๆ
  • หากเอานักต่างๆมาดู น่าจะเกิด “จินตนาการ” ต่างๆมากมายในการเอาไปใช้ประโยชน์น่ะครับ

ความจริงวันนั้นก็คิดอยู่ว่า จะเอาไปเป็นกรณีศึกษาให้นิสิตแพทย์ดูแล้วถามว่า ท่านเห็นวัสดุสิ่งนี้แล้ว

  • ท่านคิดอะไรบ้าง
  • ท่านคิดทำประโยชน์อะไรได้บ้าง
  • ท่านคิดว่าวัสดุสิ่งนี้จะเป็นที่มาของเชื้อโรคต่างๆอะไรได้บ้าง

แล้วเอาความคิดแต่ละคนจัดกลุ่มดูว่า คนเรานั้นคิดอะไร แบ่งได้กี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มนั้นผู้คิดมีพื้นฐานจากอะไร (อาจจะสะท้อนภูมิหลังของเขา) การเอาความคิดออกมาจากกลุ่มก็จะเรียนรู้กันเอง และจะช่วยฝึกฝนกระบวนการคิดได้ หลายคนอาจจะต่อยอดไปได้ บางคนอาจเกิดแรงบันดาลใจบางอย่างขึ้นมาได้…ฯลฯ

นี่คือการเรียนนอกกรอบ นอกห้องเรียน กลางป่า กับธรรมชาติ ฯลฯ

บางทีการเรียนรู้นอกกรอบแบบนี้ เอาสิ่งรอบตัวมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ แล้วโน้มนำ เข้าสู่ชีวิตเราได้ สนุก กระตุกต่อมคิด สร้างสรรค์ ฯ และหลายครั้งเราได้แนวคิดที่เราคิดไม่ถึงบ่อยๆเช่นกันครับ


AAR นิสิตแพทย์มาสวนป่า

50 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 เมษายน 2010 เวลา 18:53 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2925

เท่าที่ฟังคุณหมอคุยกันถึงนิสิตแพทย์นั้น ดูจะมีแต่เรื่องเรียน สอบ เครียด ปัญหาการเรียนนิสิตแพทย์ ปัญหาหลักสูตรแพทย์ การมองทางออกต่างๆ การคงความเป็นวิชาชีพแพทย์ เกณฑ์ขั้นต่ำของการเป็นแพทย์ ความร่วมมือของทีมอาจารย์ ฯลฯ ล้วนหนักหนาทั้งนั้น ผมฟังแล้วก็หนักหัวไปด้วย…


ในฐานะที่ผมมีเพื่อนเป็นแพทย์หลายคน มีน้องมีพี่ร่วมสถาบันที่ใกล้ชิดกันเป็นแพทย์หลายคน ที่สนิทสนมรักใคร่ขนาดเตะกันได้ก็มี ที่เคยร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมก็มี เมื่อมาทำงานก็ใกล้ชิดวงการแพทย์อันเนื่องมาจากต้องดูแลคุณแม่(ยาย)ที่เข้าๆออกๆ 7 ปี กับโรงพยาบาลทั้งรัฐ ทั้งเอกชนจนพยาบาลร้องอ๋อกันหมดเมื่อเอ่ยชื่อคุณยาย ผมว่าวงการแพทย์นั้นเป็นข้าราชการที่ก้าวหน้าที่สุด มีระบบที่สุด และตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุด ทุกครั้งที่มีเรื่องของบ้านเมืองนั้น ต้องมีแพทย์นั่งร่วมโต๊ะให้ข้อเสนอแนะ แก้ปัญหา คัดหางเสือสังคมเสมอ..

แต่ก็ทราบมาว่าแพทย์ที่ “น่าตีก้น” ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องปกติของปุถุชน เพราะอาชีพไหนๆก็ย่อมมีคนต่างประเภทกัน แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า แพทย์นั้นมีมาตรฐานสูง..


อาชีพแพทย์นั้นเคลื่อนตัวเองตลอดเวลา ผมหมายถึง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคม ดูจะมากกว่าอาชีพอื่นๆมั๊ง… ดูซิ ทีมอาจารย์หมอพานิสิตแพทย์มาลุยสวนป่าแทนที่จะไปใช้โรงแรมหรูคุยกัน ซึ่งพ่อครูบาฯและอาจารย์แสวงยังบ่นใส่อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เลยว่า ไม่ออกลงสัมผัสดิน นั่งรากงอกอยู่แต่ในห้อง… อันนี้น่าที่จะเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษาสถาบันนั้นๆ รวมทั้งทีมครู อาจารย์….

โดยส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังว่าการใช้เวลา 2-3 วันที่สวนป่านั้นจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้นิสิตแพทย์เปลี่ยนแปลงไปเฉกเช่น ทีมกลุ่มหมอชนบท หรือหมอเมืองพร้าวในสมัย 14 ตุลา ที่ เอาชนบทเป็นวิถีชีวิตของตัวแพทย์เอง แต่ผมคิดว่า บรรยากาศ การขับกล่อมของทีมวิทยากร การตั้งอกตั้งใจของทีมหมอพี่เลี้ยงหรือทีมอาจารย์หมอ ความยากลำบากบ้างในชีวิตคืออีกบทเรียนที่ความเป็นแพทย์ควรที่จะสัมผัส

ที่เด่นและชอบมากคือ การดึงการเรียนรู้ออกมาจากห้องแล็ป ออกมาจากหนังสือ Text ที่หนาเตอะ ออกจากห้องเรียนที่คุ้นชิน ออกจากบรรยากาศของโรงพยาบาล


ผมจำได้ว่าหลักสูตรการศึกษาในประเทศจีนนั้น ทุกสาขาวิชาก่อนจบจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตในชนบทเป็นเวลา 1 ปีเป็นอย่างน้อย ผมสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะนิสิตแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง และมากกว่าครึ่งของคนในเมืองนั้นถูกเลี้ยงดูมาแบบลูกแก้ว เหมือนไข่ในหิน และประเทศไทยสัดส่วนใหญ่ของพื้นที่และประชากรนั้นคือชนบท เราจะต้องลงไปสัมผัส ไปรับรู้ ไปเรียนรู้ ไปซึมซับ ไปเป็นหนึ่งในวิถีของเขา แล้วย้อนกลับมาร่ำเรียนและใช้ประสบการณ์ในชนบทนั้นๆคิดหาทางว่า “เราจะใช้วิชาชีพแพทย์สร้างสุขภาพชนบทให้ทัดเทียมเมืองได้อย่างไร” ผมว่านิสิตแพทย์มีความเก่งโดยพื้นฐานอยู่แล้ว การนำพา หรือเปิดโอกาสให้เธอเหล่านั้นสัมผัสชนบทอาจเป็นคุณูประการให้เขาเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆออกมาเพื่อสังคมชนบท เพื่อสังคมส่วนใหญ่


ในฐานะที่เป็นประชาชนที่คลุกคลีชนบท ขอชื่นชมคณะอาจารย์แพทย์จากจุฬาทุกท่านที่เฝ้าเติมต่อก่อสร้างคนที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้บรรลุเจตนารมณ์ ความเป็นแพทย์เพื่อสังคมสำหรับเธอเหล่านั้นในอนาคต ขอบคุณสวนป่าที่เปิดเวทีแห่งความเป็นธรรมชาติอีกมิติที่นิสิตแพทย์ได้สัมผัสและจะเป็นหน่ออ่อนของการเอ๊ะ..ในที่สุด


ตัวชี้วัดการพัฒนา..

55 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 เมษายน 2010 เวลา 19:44 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 2711

หากดวงจันทร์พูดได้

เขาคงสงสัยว่าจุดเล็กๆแห่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์

ทำไมมันวุ่นวายเสียจริง

โลกมนุษย์ยิ่งร้อน ความวุ่นวายยิ่งเร่งความร้อน

ยิ่งพัฒนาทำไมสติยิ่งถดถอย

การพัฒนาประเทศผ่านไปนับสิบแผนแล้ว

ความวุ่นวายนี่น่ะหรือคือผลของการพัฒนา

ฉันเป็นดวงจันทร์ อยากถามว่า

นี่คือตัวชี้วัดการพัฒนาใช่ไหม

ใช่ไหม..?


มีอะไรที่มุมแดง..

57 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2010 เวลา 22:19 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 1505

วันก่อน….

แตง ไม่ใช่ชื่อผลไม้ ประเภทแตงโม แตงไทยที่เอามาใช้กันบ่อยช่วงแดงกบฏนี่นะครับ แต่แตงที่ผมเอ่ยนี่เป็นชื่อพนักงานสำนักงานของผม เมื่อไม่ได้เจอกันช่วงสงกรานต์ก็ถามไถ่กัน

บางทราย: แตง เป็นไงช่วงสงกรานต์สนุกไหม แดงแถวบ้านลงไปกรุงเทพกันเยอะไหม (บ้านเธออยู่ชานเมือง)

แตง: โห อาจารย์ หนูกับครอบครัวไปรับจ้างสร้างห้องน้ำ ไม่ได้เที่ยวหรอก เรื่องแดงที่หมู่บ้านหนูนั่นหากรัฐบาลไม่เอาตำรวจมากักด่านมิให้แดงลงไปกรุงเทพฯละก็ กรุงเทพฯเปลี่ยนสีเป็นแดงหมดแน่นอน เขาตั้งใจจะลงกันเยอะ

คือว่าจะมีคนมาโฆษณาให้ไปเป็นสมาชิกแดง ไปทำบัตรแล้วหากทักษิณกลับมาได้แล้ว ก็จะได้นั่นได้นี่ คนก็ไปทำบัตรกันมากเกือบทั้งหมู่บ้าน เขาไม่เข้าใจอะไรหรอกค่ะ เพียงแต่ว่าการเข้าเป็นสมาชิกแดงแล้วจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็เอาแล้วหละ

วันนี้….

มีการประชุมชาวบ้านและหน่วยงานต่างๆในระดับตำบล เรื่องตลาดชุมชน เสร็จแล้วก็พาชาวบ้านที่เป็นแม่ค้าไปกินข้าวกลางวันกันประมาณ 10 คน

บางทราย: นี่คนสวย แดงบ้านเรามีมากไหม เขาลงไปกรุงเทพฯกันมากไหม

คนสวย: มากกว่าครึ่งหมู่บ้านค่ะ มีนายหน้าเข้ามาหาคนลงไปกรุงเทพฯ เขาให้วันละ 500 บาท ต้องอยู่ที่นั่นอย่างน้อย 5 วันจึงจ่ายเงิน คนไปส่งแล้วก็ตีรถขึ้นมารับชุดใหม่อีก หมุนเวียนไป เขาจัดเป็นกลุ่มจังหวัด มีคนจัดการ มีการลงชื่อ…

บางทราย: เขาแจกเสื้อแดงไหม

คนสวย: ไม่แจก ต้องซื้อค่ะ แต่ได้ข่าวว่าใครอยู่ถึงสิบวันเขาจะให้เสื้อแดงค่ะ

บางทราย: เขาไม่กลัวโดนลูกหลงตายรึ

คนสวย: ไม่กลัว อยากได้เงินมากกว่า บ้านอื่นไม่รู้นะ แต่บ้านนี้น่ะ เขาไม่รู้เรื่องอะไรหรอก รู้ว่ายุบสภาแล้วหากมีบัตรแดงก็จะได้รับสิทธิพิเศษในสังคม เขาไม่เข้าใจอะไรหรอก

วิเคราะห์:

๑. เห็นว่าได้ประโยชน์ เช่น ได้เงินที่เรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ขอเรียกค่าจ้างก็แล้วกัน อย่างวันนี้ชาวบ้านบอกว่าได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท กินอยู่ เขารับผิดชอบหมด แค่ไปร่วม 5 วันก็ได้ 2500 บาท ดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ ประโยชน์อย่างอื่นที่อาจตามมา ก็อย่างที่เขาโฆษณาว่า หากทักษิณกลับมาจะแก้ปัญหาความยากจนใน 6 เดือน ทุกคนจะมีเงินใช้ ทุกคนจะมีงานทำ ประกอบกับนโยบายประชานิยมได้ผลในชนบทมาก ชาวบ้านติดอกติดใจ

๒. พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยเดิม เป็นอดีตพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่ที่มีแผลเดิม ใครมาสะกิดว่ารัฐเลว ไม่ดี กดขี่ คนส่วนนี้ก็พร้อมจะเดินเข้าร่วม ผู้นำแดงอย่างน้อยสองคนเคยอยู่ในป่าในพื้นที่นี้ จึงผูกพันกับชาวบ้าน ยังมีสายใยแก่กัน ผนวกกับนโยบายประชานิยมที่ถูกใจ เขาก็เดินตามต้อยๆ และออกหน้าออกตาในพื้นที่ด้วย.. แต่แปลกคนส่วนนี้ไม่ค่อยลงมากรุงเทพฯ แต่เข้าร่วมที่ศาลากลางจังหวัด.. มีผู้นำชุมชนหนุ่มคนหนึ่งที่สนิทสนมกับเรา ออกหน้าออกตามาก วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานขอยืมกล้องถ่ายรูปมาใช้เพราะกล้องของเธอถ่านหมด เมื่อเอารูปมาโหลดลงเครื่องคอมฯก็ตกใจ เพราะมีรูปผู้นำคนนี้กอดเอว..ไอ้กี้… คราวที่ไปไฮปารค์ที่หน้าอำเภอเดือนก่อนๆ ผู้นำคนนั้นก็โทรมาทวงกล้อง แล้วบอกว่าตอนนี้อยู่ที่หน้าศาลากลาง…????

๓. หากจากข้อมูลในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ ผมคาดการณ์ไว้ว่า หากฝนตกหนักๆลงมาสักครั้ง สองครั้ง ชาวบ้านที่ในพื้นที่ที่ลงมาร่วมชุมนุมต้องขอกลับบ้านหมด เพราะต้องลงมันสำปะหลัง เตรียมพื้นที่ทำนาปี.. แม้อยากได้เงิน แต่ข้าวเป็นหลัก เพราะเงินที่ได้ก็ไม่ได้มากมายจนทำให้ร่ำรวยเหมือนแกนนำ..

๔. สิ่งที่น่าสนใจกว่าของคนที่เฝ้ามองสังคม คือ พฤติกรรมสังคมเช่นนี้คือโจทย์ใหญ่ที่นักวิชาการต้องศึกษาเพื่อหาทางที่เหมาะสมในอนาคตป้อนให้รัฐบาลเพื่อประชาชนแท้จริงเอาไปพิจารณา นักพัฒนาสังคมต้องหยิบเอาปรากฏการณ์สังคมนี้มาเสวนาเพื่อหาทางสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในชนบทมิให้ใครมาลากไปเพราะเงิน ระบบสื่อสารมวลชนควรถูกคัดกรองอย่างไร ฯลฯ บทบาทของชุมชนเข้มแข็งกับการเมืองควรจะอยู่ในรูปใด..ฯลฯ


ถึงฯพณฯท่านนายก..

22 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2010 เวลา 18:18 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 784

ฯพณฯท่านนายก

ผมเรียนรู้ว่าสังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

ทั้งในด้านเจริญก้าวหน้า แลเสื่อมถอย

ทั้งเคลื่อนไปโดยอัตโนมัติ ด้วยการสร้างสรรค์ด้านต่างๆของการพัฒนาประเทศ

และการเคลื่อนไปโดยการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างจงใจ

เส้นทางเดินของสังคมก็คดเคี้ยวโค้งงอในบางช่วง

แต่ผมก็เรียนรู้ว่า ทุกครั้งเนื้อในของสังคมจะพยายามปรับตัว

ปรับตัวให้การเดินทางของสังคมอยู่ในเส้นที่ตรง หรือใกล้เคียงเส้นตรงมากที่สุด

การปรับตัวให้สังคมอยู่ในเส้นตรงนั้นผมเรียกว่า พลังของความถูกต้อง เหมาะสม

มันเป็นพลังของคุณธรรม ที่ซ่อนอยู่ในสังคมทุกหนทุกแห่ง

ทุกครั้งที่เกิดการจงใจเปลี่ยนสังคมไปในทิศทางที่บิดเบี้ยว โค้งงอ

พลังนี้จะค่อยๆออกมา ทัดทาน ปรับแต่ง

บอกกล่าวในสิ่งที่ดีกว่า ถูกต้องกว่า เหมาะสมกว่า

แล้วสังคมจะค่อยๆปรับเข้าหาเส้นทางแห่งคุณธรรมที่อยู่ในแนวที่ตรงมากที่สุด

ตื่นเถิดคุณธรรม ตื่นเถิดพลังแห่งความถูกต้อง

มาช่วยกันคัดหางเสือเรือลำนี้ให้แล่นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นไปเถิด

พลังคุณธรรมจงออกมาช่วยกัน

สังคมเรียกร้องท่าน…


ถึงฯพณฯท่านนายก..

1300 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 เมษายน 2010 เวลา 13:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 16915

ผมทราบว่าท่านมีโจทย์หนักอึ้งดั่งภูผาใหญ่

บางโจทย์ต้องใช้เวลาและการเริ่มกระทำที่เป็นรูปธรรมเดี๋ยวนี้

บางโจทย์ก็ยากที่จะถอดสลักระเบิดออกมาอย่างนิ่มนวล

บางเรื่องซับซ้อนเกินกว่าความเร่งด่วนจะปัดเป่าได้

เมื่อฟังท่านยืนยันว่าไม่ถอดใจ และยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง

ประชาชนส่วนหนึ่งได้ทำบางอย่างที่สนับสนุนท่าน

ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งหูหนวก ตาบอด

ฟังแต่ไม่ได้ยินในสิ่งที่ท่านพูด

มองแต่ไม่เห็นเจตนา และความพยายามในเส้นทางที่ถูกต้องที่ท่านกำลังทำ

จะอย่างไรก็ตาม ท่านเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ขอได้จงเขียนประวัติศาสตร์นี้ด้วยสติ ธรรมภิบาล และความตั้งใจที่บริสุทธิ์ต่อไปเถิด

และแสดงออกมาให้ประชาชนได้เห็น แม้จะมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นก็ตาม

ประชาชนจะยืนอยู่ข้างท่าน

และวันข้างหน้าประชาชนอีกส่วนหนึ่งจะเข้าใจสิ่งที่ท่านทำ

ผมยืนอยู่ในด้านที่ถูกต้อง

ผมยืนอยู่เคียงข้างท่าน..


มุมอับ..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 เมษายน 2010 เวลา 9:05 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 1013


ไม่ทำอะไรก็โดนประชาชนด่า

พอทำลงไปก็โดนฆ่า และเกรงว่าประชาชนจะตายอีก

ไม่ทำอะไร นักธุรกิจก็หงุดหงิด บางคนยุส่งให้ยุบฯไปเลย

อีกฝ่าย รุกตลอด “เดี๋ยวยกระดับ เดี๋ยวยกระดับ”

ส่งหมาต๋าไปจับ ก็โดนเขาจับหม๋าต๋า ขำไม่ออกจริง

กองกำลังไม่ทราบฝ่าย (จริงๆทราบว่าเป็นฝ่ายไหน)

จะทำอย่างไรจึงจะเรียบร้อยที่สุด..

จะควบคุมตัวแกนนำอย่างไร จึงจะเรียบร้อยที่สุด..

จะจบเกมส์นี้อย่างไรจึงจะเรียบร้อยที่สุด

โธ่.โธ่..ประเทศชาติ



Main: 0.081333875656128 sec
Sidebar: 0.064728021621704 sec