ก้าวหน้ามาก แต่ยังมีอีกหลายก้าว

โดย bangsai เมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 เวลา 9:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4057

วันที่ 11-12 พ.ค. 54 มีการจัด “เวทีวิชาการชาวบ้านกับการจัดการความรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหารเรื่องพันธุกรรมเพื่อความเป็นไท” ที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านที่อยู่ในวงการคงหลับตาออกนะครับว่าใครจะมาร่วมงานบ้าง จัดโดย NGO และศูนย์วิจัยข้าวหลายแห่ง มีนักวิชาการจากศูนย์วิจัยข้าวหลายท่านมาร่วมงานด้วย และ NGO คนดังหลายท่าน


ผมชื่นชม NGO ที่รวมตัวกันทำเรื่องนี้มานาน เมื่อผมเหลียวหลังไปมองน้องๆเหล่านี้ก้าวหน้ามาก โดบเฉพาะเรื่องการค้นหาสายพันธุ์พื้นบ้าน การตามสายพันธุ์พื้นบ้าน การขยายพันธุ์พื้นบ้าน การทำวิจัยแบบพื้นบ้าน และมีความพยายามจะยกระดับกระบวนการนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติของวงการ

ผมเห็นด้วยและสนับสนุน หลังจากที่ชาวนาเราปลูกข้าว กข. 6 มะลิ 105 มานานจนทิ้งข้าวพื้นบ้านไปเกือบหมด หลายพื้นที่หมดแล้วจริงๆ  NGO เป็นกลุ่มแรกๆที่หันหลังกลับมาฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งนี้ โชคดีที่ศูนย์วิจัยข้าวของราชการให้ความร่วมมือและเดินเคียงคู่กันไป NGO พี่ใหญ่ถึงกับออกปากชื่นชมราชการส่วนนี้ซึ่งปกติไม่ค่อยญาติดีกันเท่าไหร่


เท่าที่ฟังผู้มาร่วมงานและเครือข่ายการทำงานนี้ของ NGO พบว่ามากันทั่วประเทศ เหนือ กลางใต้ อีสานมาหมด ตอนแรกกะผู้มาร่วมงาน 400 คน นี่ปาเข้าไป 600 คน จนผู้จัดงานบอกขาดทุนไป 6 หมื่นกว่าบาท และไม่ได้เก็บสตางค์คนที่มา..

งานนี้มีเวทีที่สำคัญหลายอย่างที่ผมชอบคือเอาชาวบ้านตัวจริงที่ทำเรื่องข้าวพื้นบ้านมาพูดมาเล่า อธิบายการเก็บรักษาพันธุ์ และขยาย เอามูลนิธิข้าวขวัญของพี่ใหญ่ตัวเอ้ของวงการ NGO ที่ทำเรื่องนี้มานานที่สุพรรณบุรี มีตัวแทนโรงเรียนชาวนา และที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมคือเรื่อง “กฎหมายพันธุ์พืช” มีอาจารย์นักกฎหมายมาสรุปสาระเรื่องนี้ให้ที่ประชุมเข้าใจ นี่ก็ระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งของสังคมเพราะสาระนั้นเป็นปฏิปักษ์กับวิถีชีวิตชาวบ้านที่จะเติบโตขึ้นมา และก็เกิดเหตุขึ้นแล้วด้วย


ผมตั้งใจฟังทั้งสองวันว่าก้าวหน้าไปแค่ไหน อย่างไร และจะเอาไปใช้ ไปต่อยอดในพื้นที่ทำงานพัฒนาชนบทได้อย่างไรบ้าง มากมายครับ

แต่งานที่เห็นว่ามีอีกหลายก้าวที่กลุ่มนี้จะต้องเดินต่อไปคือ

  • การศึกษาและบันทึกลักษณะรายละเอียดประจำสายพันธุ์พืช โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านชื่อนั้นๆ มีการบอกกล่าวกันเท่านั้น การบันทึกก็มีอยู่ในวงแคบๆของศูนย์วิจัยข้าว แต่ที่ชาวบ้านทำกันเองนั้นต้องการนักวิชาการลงไปแนะนำทำการบันทึก ซึ่งเป็นงานมหาศาล ราชการทำเองไม่หมด
  • การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารประจำสายพันธุ์ข้าว มีการทำในวงจำกัดเท่านั้น และชาวบ้านไม่มีปัญญาที่จะทำ ราชการต้องเข้ามา หรือเอกชนต้องเข้ามา หรือสถาบันการศึกษาต้องเข้ามาช่วย

เหล่านี้เป็นประเด็นวิจัยเพื่อสังคม เพื่อชาวบ้าน เพื่อประเทศชาติทั้งนั้น อย่ามาโฆษณาครัวโลกเลยหากไม่ก้าวลงมาช่วยกันทำเรื่องพื้นๆเหล่านี้

ในงานนี้มี NGO ลาวเข้ามาร่วมสัมมนาด้วย ท่านทำงานอยู่ที่เมืองสะหวันนะเขตกล่าวว่าจากการสำรวจชุมชนลาวพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นบ้านหายไปหมดแล้ว มีแต่พันธุ์ของทางราชการที่ตอบสนองปุ๋ยเคมีทั้งสิ้น น่าเสียดายจริงๆที่ความหลากหลายทางชีวภาพของเราหดหายไปเพราะความหลงผิดของมนุษย์เรานี่เอง แต่ก็ชื่นชมศูนย์วิจัยข้าวไทยของกรมวิชาการเกษตร และกลุ่ม NGO ขยับเรื่องนี้มานานแล้ว

ผมเองก็แตะๆอยู่บ้างในอดีต แต่ไม่ได้ลงลึกเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เห็นทีจะมีงานใหญ่ทำเสียแล้ว…

« « Prev : วัดป่าฮวก ตอนที่ 3

Next : เรียนรู้ จากความเป็นไป » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

125 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.5004789829254 sec
Sidebar: 0.26433491706848 sec