สว.ในสังคมใหม่

70 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 14:01 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2610

ผมมีประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุในสังคมเมือง คราวที่แม่ยายมาใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันที่บ้านขอนแก่น

เราไม่มีประสบการณ์มาก่อนโดยตรง แต่ผ่านสังคมเก่าที่มีญาติพี่น้องมากมายห้อมล้อม คุณปู่ คุณย่า เจ็บป่วยลูกหลานมากมายช่วยกันดูแลแม่คราวคุณยายมาอยู่กับเราด้วยนั้นนึกออกอย่างเดียวว่าจะต้องหาคนมาดูแล

เรามีบ้านในเมืองและอาชีพก็เดินทางบ่อยมากทั้งพ่อบ้านแม่บ้าน โดยเฉพาะผมต้องไปประจำต่างจังหวัดจะมาอยู่บ้านเพียงวันหยุดงานคือ เสาร์ อาทิตย์ ลูกสาวก็ไปเรียนหนังสือต่างถิ่น ไม่ได้อยู่บ้าน คนอยู่บ้านคือ คนใช้ เรียกเธอว่าผู้ช่วยแม่บ้านก็แล้วกัน

การที่จะให้ผู้ช่วยแม่บ้านมาดูแลคนแก่ที่ป่วย หากเจ็บป่วยธรรมดาก็คงพึ่งพาอาศัยกันได้ แต่หากเจ็บป่วยที่ต้องดูแลมากๆจะแก้ปัญหาอย่างไร…..? มีทางเดียวคือส่งโรงพยาบาลและ หรือ จ้างคนมาดูแล นั่นเราต้องมีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายรายการเช่นนี้

ที่ขอนแก่นมีสถาบันฝึกอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เราไปติดต่อ ก็ได้เด็กสาวมา ทางสถาบันรับประกันการผ่านงานดูแลผู้สูงอายุทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งได้ฝึกฝนมาจึงมีมาตรฐานจึงขอรับค่าจ้างอย่างต่ำสุด 5000 บาทต่อเดือน กินอยู่กับเจ้าของบ้าน

เราจ้างมาหนึ่งคน เธอก็มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุดีแต่ สาวๆก็คือสาวๆ ย่อมมีการติดต่อสื่อสารกับคนรัก กับญาติพี่น้อง กับครอบครัวเขา และเรื่องราวของเธอเราก็รู้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ลึกๆเธอเป็นคนเช่นไรนั้นเราตั้งสมมติฐานไว้แล้วก็ศึกษากันต่อไป

มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลผู้สูงอายุ ถึงสามคนใน 1 ปี ส่วนใหญ่เธอก็อ้างว่า กลับไปทำงานที่บ้าน คนใหม่มาก็ต้องศึกษากันใหม่ ทำความเข้าใจกันใหม่ ในที่สุดเราเปลี่ยนผู้ดูแลเป็นคนที่ 5 และเราจ้างเธอมา 2 คนที่เป็นพี่น้องกัน และเธอกำลังเรียนหนังสือ เธอบริหารเวลาเรียน ดูแลผู้ป่วยกลางวันหนึ่งคน กลางคืนหนึ่งคน เธอเป็นสาวชาวบ้านที่หน้าตาซื่อๆ ตรงๆ เงียบๆ เก็บตัวไม่เหมือนสาวๆคนอื่นๆที่รักสวย งาม และพยายามหาเวลาเพื่อตัวเองมากขึ้น แต่เธอสองคนนี้ไม่ มีแต่เรียนหนังสือกับทำงานดูแลผู้สูงอายุ เราเองพึงพอใจมาก เราเลี้ยงเธอเหมือนลูกสาว ทั้งๆที่เธอเป็นลูกจ้างมาดูแลแม่ และเธอก็ปฏิบัติกับเราเหมือนญาติผู้ใหญ่ เธอเรียนเราว่า ลุง ป้า

ต่างกันลิบลับในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุของคนในสังคมสมัยนี้กับสังคมเก่า ครอบครัวเราส่งคุณแม่ไปเป็นคนไข้ประจำกับคุณหมอที่เรารู้จักครอบครัวคุณหมอดีเพราะสามีคุณหมอเรียนจบจากสถาบันเดียวกัน และรู้จักกันมาก่อนแม้จะไม่สนิทสนมแต่ก็เคารพนับถือกัน และให้ความเป็นกันเอง ต้นทุนแบบนี้มีส่วนช่วยมากในการขอรับคำแนะนำพิเศษต่างๆ

หากเราไม่อยู่บ้านทั้งสองคน ผู้ดูแลคุณแม่สามารถยกหูโทรศัพท์ตามรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาลได้ทันที และคุณหมอ หรือโรงพยาบาลก็อำนวยความสะดวกให้เต็มที่เพราะเป็นคนไข้ประจำนานนับ 10 ปี นี่คือความสะดวกของสังคมใหม่ แต่ทั้งหมดนี้คือ คุณต้องมีงบประมาณใช้จ่ายในความสะดวกเหล่านี้ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพนั้น แพง(หากพึ่งพิงระบบเอกชน)…ต่อรองไม่ได้ เสียด้วย..

ผมสรุปว่า

  • ผู้สูงอายุหนึ่งคน คนดูแลเพียงหนึ่งคนไม่เพียงพอ ต้องสองคน
  • การดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรัง คุณต้องมีงบประมาณมากเพียงพอในระบบเอกชน

ผู้ดูแลต้องผ่านการฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ


ครอบครัวสังคมไทยโบราณเหมาะกับสังคม สว.

23 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2027

บันทึกต่อไปนี้เป็นการรวบรวมประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองและครอบครัวเกี่ยวกับชีวิตบั้นปลาย ในฐานะที่เราเป็น สว.ก็อยากจะขีดเขียนมุมของตัวเอง

เราเรียนรู้กันมานานแล้วว่าครอบครัวของสังคมไทย หรือสังคมตะวันออกก็ว่าได้ เป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวขยาย เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคม เศรษฐกิจ มันเอื้อให้สังคมออกแบบมาเป็นเช่นนั้น คือ ในครอบครัวหนึ่งมีสามชั่วคนอาศัยร่วมกันในบ้านหลังเดียวกัน หรือชิดติดกัน หรือไม่ห่างจากกัน หรืออยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สามชั่วคน นั้น ชั้นที่ 1 คือ ปู่ ย่า / ตายาย ชั้นที่ 2 คือ พ่อ แม่ ชั้นที่ 3 คือ ลูก

แต่หลายครอบครัวก็มีมากกว่า 3 ชั่วคน เพราะมีหลานและแหลนอีก ครอบครัวแต่ก่อนจึงอบอุ่น จนมีคำกล่าวว่า “เสียงเด็กร้องไห้ เสียงไอคนแก่” เป็นสภาพสะท้อนสังคมสามชั่วคนที่มาอยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดกัน เมื่อวิเคราะห์ลงไปเห็นว่าเหมาะสมกับลักษณะเศรษฐกิจที่มีฐานการเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะต้องการแรงงานในการช่วยกันทำการเกษตรซึ่งแรงงานเป็นปัจจัยหลัก ครอบครัวสมัยนั้นจึงต้องการมีลูกหลายคน แถบภาคกลางผมนั้นคุ้นเคยกับครอบครัวที่มีเด็กมากครอบครัวที่มีลูกน้อยที่สุดคือ 3 คน ส่วนใหญ่ 5-7 คน พอจบ ป. 4 ก็ออกจากโรงเรียนไปช่วยครอบครัวทำนากันทั้งนั้น

ครอบครัวแบบนี้อบอุ่น และเหนียวแน่น เพราะความเป็นญาติพี่น้อง เมื่อครอบครัวไหนมีเด็กเล็กก็จะมีพี่พี่ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ที่ต้องไปใช้แรงงานทำมาหากิน ครอบครัวไหนมีคนเฒ่าคนแก่เจ็บป่วย ผู้ใหญ่ก็จะแบ่งญาติพี่น้องมาช่วยดูแล อาศัยหมอพื้นบ้าน ต้มยาสมุนไพร โบก พัดวีให้ นวดตัวนวดแขนขาให้ เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ หาข้าวปลาอาหารให้… โดยแรงงานการเกษตรแม้จะขาดไปสักคนสองคนก็มีญาติพี่น้องทดแทนให้

เด็กๆจะวนเวียนอยู่กับผู้ใหญ่ เห็น เรียนรู้โดยไม่ต้องเข้าห้องสอน ผู้ใหญ่ก็จะบอกกลบ่าวสั่งสอน ให้เหตุให้ผล ว่ากล่าวตักเตือน จนถึงตีก้นหากดื้อดึง

ผมเติบโตใสจากสภาพสังคมแบบนี้จริงๆ ผมมีปู่ ย่า ตายาย อา น้า พี่ๆ ญาติพี่น้องเต็มไปหมด นับกันไม่หวาดไม่ไหว ผู้ใหญ่ก็จะแนะนำให้กราบไหว้ ลุง ป้า น้า อา ท่านนั้น ท่านนี้..บางทีท่านเหล่านั้นก็เรียกไปกอด จูบ ให้ขนม ให้เศษสตางค์

สังคมแบบนี้คือประสบการณ์ผมเมื่อยุคก่อน 2500 หรือไม่เกิน 2510

ผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อเจ็บป่วยก็มีลูกหลานดูแลไม่ขาด ใครอยู่บ้านเหนือบ้านใต้รู้ข่าวก็มากัน ลูกๆ หลานๆออกเรือนไปอยู่ไหนก็หาเวลาแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนกัน หาส้มสูกลูกไม้ ติดไม้ติดมือมา มาบีบมานวดให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่กัน

อบอุ่นจะตาย คนเฒ่าคนแก่ที่เจ็บป่วยก็ชื่นใจ ลูกหลานมาเยี่ยม พี่ป้าน้าอามาเยี่ยมกัน พูดคุยกัน ถามไถ่หากัน

หลังการพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่ความก้าวหน้า ทันสมัย ลูกหลานเลิกทำนา มุ่งหน้าไปหาความรู้ในห้อง จบออกไปก็ไม่ได้อยู่บ้าน แยกกันไปคนละทิศละทาง มุ่งแสวงหายศถาบรรดาศักดิ์เอามาคุยโอ้อวดกัน(ในที) ไอ้คนนั้น จบ ป.โท ป.เอกที่นั่น ที่นี่ อีคนนี้ได้ทุนไปเรียนเมืองนอก ไอ้คนโน้นเงินเดือนมันเป็นแสน….

แต่ผู้เฒ่าแม่เฒ่าเหงาหงอย ยิ่งยามล้มป่วย แทนที่จะมีลูกหลาน พี่น้องมาดูแลใกล้ชิด นี่ใครก็ไม่รู้มาใส่ชุดขาวๆมาดูแลให้ อธิบายว่า เป็นการดูแลรักษาตามวิทยาการสมัยใหม่ เป็นการจัดระบบใหม่ทางสังคม ลูกหลานกว่าจะปลีกตัวมาได้ ก็มาแบบรีบมารีบไป..ยังไม่ทันหายคิดถึงเลย ลูกคนนั้นต้องไปรับผิดชอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทิ้งให้แม่ที่ป่วยไข้ให้คนอื่นมาดูแลแทน โดยลูกหลายทิ้งเงินไว้ให้จัดจ้างใครก็ไม่รู้มาดูแล

แม้จะถูกหลักอนามัย เป็นไปตามวิชาการสมัยใหม่ แต่จิตใจไม่ได้เลย เหงาเหลือเกิน จะเยี่ยมก็มีเวลาเยี่ยม วันๆมีเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ลูกหลานจะมานั่งจับขอบเตียงดูแม่ทำตาปริบๆ บีบจับอะไรมากก็ไม่ได้….

…อือ….สักวันหนึ่งผมและท่านๆ ก็คงจะอยู่ในสภาพนั้น


ขอขอบคุณ..

178 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 1:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5455

ท้องฟ้าเย็นวันที่ 28 พ.ค. 2554

งานฌาปนกิจศพแม่สาคร ช่วงฉ่ำ เสร็จสิ้งลงแล้ว..

ลูกๆแม่สาคร ช่วงฉ่ำ กราบขอบพระคุณทุกท่านที่เดินทางไปร่วมงาน

ที่ร่วมทำบุญ และที่ส่งใจไปให้

ขอขอบพระคุณด้วยความซาบซึ้ง ทุกๆท่าน..


 



Main: 0.024667978286743 sec
Sidebar: 0.084728956222534 sec