ความหลังที่สุรินทร์
อ่าน: 908ประมาณปี พ.ศ. 2523-2525 ผมเผ่นจากภาคเหนือไปอีสานเพราะควันหลงเดือนตุลา คนข้างกายได้รับทุนจากรัฐมนตรีเยอรมันไปเรียนที่นั่น
ทำไมต้องสุรินทร์: เพราะ ลาวเวียตนาม เขมรถูกปลดปล่อย ศัพท์ปลดปล่อยนั้นเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ เหมือนดงหลวง มุกดาหารที่ผมทำงานมาสมัยโน้น ชาวบ้านก็บอกว่าที่นี่คือเขตปลดปล่อยมาก่อน
เพราะสงครามจึงเกิดการอพยพมากมาย โดยเฉพาะชายแดนไทย-กัมพูชาเพราะมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงมีค่ายอพยพชายแดนบริเวณนี้มากมาย และนี่เองที่เป็นเหตุให้มีหน่วยงานต่างประเทศนับร้อยๆองค์กรเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อนฝูงผมจำนวนมากต่างมาทำงานกับค่ายอพยพเหล่านี้ ที่จังหวัดสุรินทร์ก็มีค่ายอพยพเช่นกัน
เวลาผ่านไป เกิดประเด็นทางสังคมเกิดขึ้นคือ คนอพยพในค่ายมีความกินดีอยู่ดีมากกว่าชาวบ้านคนไทยที่อยู่รอบๆค่าย…ประเด็นทางสังคมนี้เอง หน่วยงานต่างประเทศที่มาทำงานในค่ายนั้นต่างก็ทยอยสร้างโครงการพัฒนาชนบทไทยไปด้วย
พ.ศ. นั้นเองที่เมืองไทยเป็นยุคองค์กรพัฒนาเอกชน จึงเกิด กป.อพช. (คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน) เรียก NGO นั้นแหละ ผมเองเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อครั้ง เพราะก่อนหน้านั้นเรามีการประชุมกันที่ชะอำทุกปี จนพัฒนามาดังกล่าว
CUSO ย่อมาจาก Canadian University Services Oversea เป็นองค์กรหนึ่งที่สนใจจะทำงานพัฒนาชนบทตามชายแดนไทย-กัมพูชาที่จังหวัดสุรินทร์ โดยรวมองค์กรที่สนใจมาร่วมกันทำโครงการในพื้นที่เดียวกัน เท่าที่ผมจำได้ มี GGAT ของคุณหญิงกนก สามเสนวิลล์ มี PDA ของท่านมีชัย วีระไวทยะ มีมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม มี บัณทิตอาสาสมัครของจุฬาฯที่มีท่านอาจารย์จอห์น อึ้งภากรณ์ มีมูลนิธิโฮลสหทัย มี…ฯ มีทีมคณะพี่เลี้ยงเป็นแกนกลาง ผมเป็นหนึ่งในนั้น
ชายแดนไทย-กัมพูชาตรง อ.กาบเชิง อ.สังขะ อ.บัวเชด ของจังหวัดสุรินทร์นั้นชนพื้นคือชาวเขมร(สูง) ขะแมลือ ส่วนเขมรในประเทศเขมรนั้นเรียกเขมรต่ำหรือ ขะแมกรอม ภาษาราชการจะใช้คำว่าราษฎรไทยเชื้อสายเขมร
ผมไปทำงานใหม่ๆสมัยนั้น มีท่านอาจารย์ มรว.อคิน รพีพัฒน์ และทีมงาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และอีกหลายท่านเป็นวิทยากรอบรม โดยมีท่าน ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตรานนท์)เป็นที่ปรึกษาโครงการท่านอาจารย์สุธีราท่านเป็น Science Board of Canada ด้วยนะ ท่านอาจารย์สุธีราเป็นสตรีไทยคนแรกๆที่เปิดประเด็นสิทธิสตรีขึ้นในประเทศนี้
ผมต้องไปนอนในหมู่บ้านชายแดนที่เป็นชาวเขมรที่บ้าน “ขนาดมอญ” การอยู่บ้านชาวบ้านในชนบทนั้นไม่มีปัญหาสำหรับผม แต่ที่นี่ ผมเกิดปัญหาที่จำได้แม่นคือท้องผมเสีย และบ้านชาวบ้านไม่มีห้องน้ำ ต้องเข้าป่า…โฮยมันทรมานผม และมันเกิดเหตุกลางคืน….
ผมต้องไปเรียนภาษาเขมรที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ มีการสอบด้วย เดี๋ยวนี้ลืมหมดแล้ว ช่วงที่เราทำงานที่นั่นก็ยังเกิดการปะทะกัน มีการซ้อมการอพยพ มีหลุมหลบภัย ชาวบ้านไปหาของป่าก็โดยกับระเบิดขาขาดบ่อยๆ
ที่นั่นผมรู้จักกันตรึม แซนโดนตา กนบติงต๊อง วัฒนธรรมเขมร ไม้ประดู่ที่มีลายสีดำสวยที่สุดที่ผมเคยเห็น เห็นพิธีกรรมชนเผ่าเขมร เห็นพิธีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ แม่แต่หมอจากศิริราชก็งง อธิบายไม่ได้ว่ามันคืออะไร
เห็นการตกเขียวข้าวจากแปลงนา งานสำคัญที่ผมได้ก่อฐานรากไว้ และบัดนี้เติบโตไปมากมายนั้นคือ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ทราบว่ามีเงินหลายสิบล้านบาทแล้ว
ผมออกมาจากที่นั่นแล้วไปอยู่ขอนแก่นก่อนที่โครงการจะจบลงเพราะมีงาน ของโครงการ USAID ที่ผมสนใจที่นั่น ที่สุรินทร์น้องๆก็ตั้งเป็นมูลนิธิ NET ขึ้นมาจนปัจจุบันนี้
มูลนิธิ NET ในปัจจุบันยังทำหน้าที่อยู่ชายแดนแถบนั้น และน้องๆก็เติบโตกัน
เมื่อเกิดการปะทะกันชายแดน และมีชาวบ้านอพยพ ผมดูข่าวแล้วก็นึกได้ว่า นั่นคือหมู่บ้านที่ผมทำงานมาทั้งนั้นเลย …..