ครอบครัวสังคมไทยโบราณเหมาะกับสังคม สว.

โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2040

บันทึกต่อไปนี้เป็นการรวบรวมประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองและครอบครัวเกี่ยวกับชีวิตบั้นปลาย ในฐานะที่เราเป็น สว.ก็อยากจะขีดเขียนมุมของตัวเอง

เราเรียนรู้กันมานานแล้วว่าครอบครัวของสังคมไทย หรือสังคมตะวันออกก็ว่าได้ เป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวขยาย เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคม เศรษฐกิจ มันเอื้อให้สังคมออกแบบมาเป็นเช่นนั้น คือ ในครอบครัวหนึ่งมีสามชั่วคนอาศัยร่วมกันในบ้านหลังเดียวกัน หรือชิดติดกัน หรือไม่ห่างจากกัน หรืออยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สามชั่วคน นั้น ชั้นที่ 1 คือ ปู่ ย่า / ตายาย ชั้นที่ 2 คือ พ่อ แม่ ชั้นที่ 3 คือ ลูก

แต่หลายครอบครัวก็มีมากกว่า 3 ชั่วคน เพราะมีหลานและแหลนอีก ครอบครัวแต่ก่อนจึงอบอุ่น จนมีคำกล่าวว่า “เสียงเด็กร้องไห้ เสียงไอคนแก่” เป็นสภาพสะท้อนสังคมสามชั่วคนที่มาอยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดกัน เมื่อวิเคราะห์ลงไปเห็นว่าเหมาะสมกับลักษณะเศรษฐกิจที่มีฐานการเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะต้องการแรงงานในการช่วยกันทำการเกษตรซึ่งแรงงานเป็นปัจจัยหลัก ครอบครัวสมัยนั้นจึงต้องการมีลูกหลายคน แถบภาคกลางผมนั้นคุ้นเคยกับครอบครัวที่มีเด็กมากครอบครัวที่มีลูกน้อยที่สุดคือ 3 คน ส่วนใหญ่ 5-7 คน พอจบ ป. 4 ก็ออกจากโรงเรียนไปช่วยครอบครัวทำนากันทั้งนั้น

ครอบครัวแบบนี้อบอุ่น และเหนียวแน่น เพราะความเป็นญาติพี่น้อง เมื่อครอบครัวไหนมีเด็กเล็กก็จะมีพี่พี่ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ที่ต้องไปใช้แรงงานทำมาหากิน ครอบครัวไหนมีคนเฒ่าคนแก่เจ็บป่วย ผู้ใหญ่ก็จะแบ่งญาติพี่น้องมาช่วยดูแล อาศัยหมอพื้นบ้าน ต้มยาสมุนไพร โบก พัดวีให้ นวดตัวนวดแขนขาให้ เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ หาข้าวปลาอาหารให้… โดยแรงงานการเกษตรแม้จะขาดไปสักคนสองคนก็มีญาติพี่น้องทดแทนให้

เด็กๆจะวนเวียนอยู่กับผู้ใหญ่ เห็น เรียนรู้โดยไม่ต้องเข้าห้องสอน ผู้ใหญ่ก็จะบอกกลบ่าวสั่งสอน ให้เหตุให้ผล ว่ากล่าวตักเตือน จนถึงตีก้นหากดื้อดึง

ผมเติบโตใสจากสภาพสังคมแบบนี้จริงๆ ผมมีปู่ ย่า ตายาย อา น้า พี่ๆ ญาติพี่น้องเต็มไปหมด นับกันไม่หวาดไม่ไหว ผู้ใหญ่ก็จะแนะนำให้กราบไหว้ ลุง ป้า น้า อา ท่านนั้น ท่านนี้..บางทีท่านเหล่านั้นก็เรียกไปกอด จูบ ให้ขนม ให้เศษสตางค์

สังคมแบบนี้คือประสบการณ์ผมเมื่อยุคก่อน 2500 หรือไม่เกิน 2510

ผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อเจ็บป่วยก็มีลูกหลานดูแลไม่ขาด ใครอยู่บ้านเหนือบ้านใต้รู้ข่าวก็มากัน ลูกๆ หลานๆออกเรือนไปอยู่ไหนก็หาเวลาแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนกัน หาส้มสูกลูกไม้ ติดไม้ติดมือมา มาบีบมานวดให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่กัน

อบอุ่นจะตาย คนเฒ่าคนแก่ที่เจ็บป่วยก็ชื่นใจ ลูกหลานมาเยี่ยม พี่ป้าน้าอามาเยี่ยมกัน พูดคุยกัน ถามไถ่หากัน

หลังการพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่ความก้าวหน้า ทันสมัย ลูกหลานเลิกทำนา มุ่งหน้าไปหาความรู้ในห้อง จบออกไปก็ไม่ได้อยู่บ้าน แยกกันไปคนละทิศละทาง มุ่งแสวงหายศถาบรรดาศักดิ์เอามาคุยโอ้อวดกัน(ในที) ไอ้คนนั้น จบ ป.โท ป.เอกที่นั่น ที่นี่ อีคนนี้ได้ทุนไปเรียนเมืองนอก ไอ้คนโน้นเงินเดือนมันเป็นแสน….

แต่ผู้เฒ่าแม่เฒ่าเหงาหงอย ยิ่งยามล้มป่วย แทนที่จะมีลูกหลาน พี่น้องมาดูแลใกล้ชิด นี่ใครก็ไม่รู้มาใส่ชุดขาวๆมาดูแลให้ อธิบายว่า เป็นการดูแลรักษาตามวิทยาการสมัยใหม่ เป็นการจัดระบบใหม่ทางสังคม ลูกหลานกว่าจะปลีกตัวมาได้ ก็มาแบบรีบมารีบไป..ยังไม่ทันหายคิดถึงเลย ลูกคนนั้นต้องไปรับผิดชอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทิ้งให้แม่ที่ป่วยไข้ให้คนอื่นมาดูแลแทน โดยลูกหลายทิ้งเงินไว้ให้จัดจ้างใครก็ไม่รู้มาดูแล

แม้จะถูกหลักอนามัย เป็นไปตามวิชาการสมัยใหม่ แต่จิตใจไม่ได้เลย เหงาเหลือเกิน จะเยี่ยมก็มีเวลาเยี่ยม วันๆมีเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ลูกหลานจะมานั่งจับขอบเตียงดูแม่ทำตาปริบๆ บีบจับอะไรมากก็ไม่ได้….

…อือ….สักวันหนึ่งผมและท่านๆ ก็คงจะอยู่ในสภาพนั้น

« « Prev : ขอขอบคุณ..

Next : สว.ในสังคมใหม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

23 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 6.7549569606781 sec
Sidebar: 0.060083866119385 sec