ท่องอีสาน ดูการจัดการน้ำ..เมืองเพีย

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2445

เมืองเพียตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านไผ่ไปทางทิศตะวันตก บนเส้นทางที่จะไปอ.มัญจาคีรี ประมาณ 4 กม. ผมขับรถผ่านเมืองเพียนับครั้งไม่ถ้วน แต่ผมไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับเมืองเพีย…


จนเช้าวันที่ 27 ก.ค. 52 คณะก็หยุดที่สนามหญ้าในวัดกลางเมืองเพีย คณะผู้จัดแนะนำให้รู้จักโอ๋ ลูกหลานชาวบ้านคนหนึ่งที่ตื่นตัวมาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานรักแม่น้ำชี แนะนำให้เรารู้จักสถานที่วัดแห่งนี้


ทีมงานเอาเก้าอี้มาให้ อ.ศรีศักดิ์ได้นั่งแล้วก็ถามน้องโอ๋ว่าพามาที่วัดนี้ทำไม ฯ โอ๋บอกว่าพามาดูหลักฐานว่าสถานที่แห่งนี้คือเมืองเพีย ที่ตั้งสังคมโบราณที่มีการจัดการน้ำ หลักฐานก็คือคูน้ำที่มีล้อมรอบที่ตั้งตัวบ้านเรือน และพระมงคลหลวงเป็นพระประธานในโบสถ์แห่งนี้ ที่กล่าวกันว่าเป็นพระสมัยทวาราวดี อ.ศรีศักดิ์สอบถามข้อมูลต่างๆก่อนที่จะเดินเข้าไปกราบและพิจารณาพระประธานในโบสถ์ ตามหลักวิชาการ แล้วกล่าวยอมรับ..

อาจารย์ก็มานั่งร่ายยาวถึงระบบการจัดการน้ำโดยระบบคูรอบที่ตั้งชุมชน กล่าวว่า หากพวกเธอต้องการศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ต้องมีสิ่งสำคัญต่อไปนี้


ประการแรกให้เอาแผนที่มาตราส่วน 1:50000 หรือละเอียดกว่านี้ยิ่งดีมาดู และต้องเป็นแผนที่ที่ครอบคลุมบริเวณกว้างขวางมากกว่าแผนที่เฉพาะที่ตั้งชุมชน เพราะระบบนิเวศวัฒนธรรมและการจัดการน้ำเป็นเรื่องของภาพกว้างที่เกี่ยวเนื่องกันหมด (PRA เรียก Secondary Data Collection)

ประการที่สอง เธอต้องเข้าใจสัญลักษณ์ของแผนที่ทั้งหมด อ่านแผนที่เป็น

ประการที่สาม เธอต้องลงสนามไปคุยกับชาวบ้านผู้รู้(Key Informance)มากๆ พร้อมทั้งขอดูหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ และสิ่งสำคัญต่างๆที่จะบ่งบอกเรื่องราวของอดีต และพัฒนาการของสังคมอดีต (PRA เรียก Focus Group Discussion)

ประการที่สี่ เธอต้องเดินดูสภาพพื้นที่จริงทั้งหมดด้วยตาเธอเองพร้อมกับชาวบ้านซักถามข้อมูลต่างๆ (PRA เรียก Walk-Through Survey)

ทั้งหมดที่ท่านอาจารย์ได้เมตตาสอนพวกเรานั้น มันช่างตรงกับหลักการการทำ PRA ที่ผมมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงเข้าใจเครื่องมือต่างๆ แต่ผมนั้นมืดบอดสนิทในเรื่องความรู้ทางโบราณคดีทางด้านประวัติศาสตร์ ที่ต้องการนำความรู้ด้านนี้มาพิจารณาและถอดรหัสหลักฐานต่างๆที่ค้นพบในชุมชนนั้นๆ

อาจารย์บอกทิศทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติก่อนมาสู่คูเก็บกักน้ำรอบๆหมู่บ้านนี้ โดยการดูในแผนที่ที่มีเส้นคอนทัวร์ น้ำที่เก็บไว้ในคูเก็บน้ำรอบที่ตั้งชุมชนนี้ ก็คือ Water Tank ที่ไหลมาจากพื้นที่ที่สูงกว่า และน้ำในคูเก็บกักน้ำนี้โบราณเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภคของชุมชนนี้

อาจารย์สอนคนโบราณเลือกทำเลที่ตั้งชุมชน ที่ต้องมีทางไหลของน้ำ เข้าและออก มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์….

ท่านอาจารย์มีเมตตาเหลือเกินที่ให้ความรู้มากมายแก่คณะของเรา โดยเฉพาะผมเอง หูตาสว่างขึ้นเยอะทีเดียว….


ท่องอีสานดูการจัดการน้ำ..เกริ่น..

586 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:30 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4068

เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาฟังท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม มาบรรยายท่ามกลางของจริงต่อหน้าในเรื่องการจัดการน้ำในสังคมโบราณและปัจจุบัน


ท่านอาจารย์ เป็นคนเรียบง่าย ท่านมีอายุ  70 ปีแล้ว แม้จะต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงยามเดินเหิน แต่ก็แข็งแรง

ระหว่างนั่งรถไปไหนต่อไหน สมาชิกในรถนั่งหลับกัน แต่ท่านไม่หลับ แถมคุยประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นของท่านต่อเรื่องต่างๆตลอดทาง เล่นเอาผม ทึ่งในตัวท่านจริงๆ

หลายเรื่องเป็นความสำคัญระดับประเทศ เช่น ความคิดเห็นของท่านต่อเขาพระวิหาร ต่อข้อมูลที่ทัวร์ไกด์ส่งต่ออย่างผิดๆให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาชมโบราณสถานต่างๆ เช่นที่พิมาย พนมรุ้ง … ล้วนเป็นประเด็นที่สังคมไทยน่าที่จะหาข้อสรุป มิใช่ปล่อยให้ความต่างไม่มีข้อสรุป ซึ่งหากการส่งต่อข้อมูลนั้นๆของทัวร์ไกด์ไม่ถูกต้อง นั่นคือความล้มเหลวของ ททท. และระบบการผลิตบุคลากรที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนชาติเช่น ทัวร์ไกด์ …

บางเรื่องทำให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นในเรื่องมุมมองต่อภูมิภาคนี้ ต่อชุมชนต่างๆที่เข้าไปทำงานด้วย และเกิดความเข้าใจภารกิจของสหวิทยาการมากขึ้น

…ฯลฯ

มีหลายประการที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนในเรื่องการจัดการน้ำ

มีบางประการมาตอกย้ำข้อสรุปเรื่องคุณสมบัติของประชาชนในระบบภูมินิเวศวัฒนธรรมที่ผมมีที่ดงหลวง

——

…หากคุณไม่แสวงหาก็ไม่มีทางได้พบ..

(ยังไม่มีเวลาสรุปครับ)


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

131 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:53 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4215

ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

————-

งานหลักของเราที่สำคัญงานหนึ่งคือการสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งเราเลือกเป็นชนิดเครดิตยูเนี่ยนที่มีสภาคริสจักร์แห่งประเทศไทยเป็นผู้นำเข้ามาและจัดตั้งสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยทำงานสนับสนุนไปทั่วประเทศ


เราตระเวนขายความคิดนี้ตลอดทั้งปีทั่วทุกหมู่บ้านทั้ง 4 ตำบล โดยใช้วิธีออกไปประชุมชาวบ้านยามกลางคืน คุย คุย คุย มากกว่า 7-8 ครั้งต่อหมู่บ้าน ก่อนที่จะมั่นใจว่า เข้าใจ และสนใจเราจึงจะจัดตั้งขึ้นมา

รูปที่เห็นนั้นคือทีมงานของโครงการและทีมงานของ สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยที่ตระเวนไปคุยกับชาวบ้านร่วมกับเรา โดยใช้รถมอเตอร์ไซด์ที่เห็นนั่นแหละ ส่วนฝรั่งคนนั้นเป็นอาสาสมัครชาวเยอรมันที่มาศึกษาชุมชนพักหนึ่งแล้วก็กลับไป ดูเขาจะสนใจมวยไทยมากกว่าชนบท เพราะเขาลงทุนไปเรียนมวยไทยที่กรุงเทพฯอยู่สามเดือน

เรามีกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด 27 กลุ่มใน 4 ตำบล จากปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบันรูปแบบกลุ่มปรับเปลี่ยนไป เป็นการยุบรวมเป็นกลุ่มระดับตำบล ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่า ชนบทไกลปืนเที่ยงเยี่ยงสะเมิงนั้นจะมีนิสัยการออมและมีเงินมากขนาดนี้

อาจเป็นเพราะจิตตารมณ์ 5 ประการ หรือหลักการรวมกลุ่มของเครดิตยูเนี่ยนที่เน้น ความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ ไว้วางใจกัน กลุ่มจึงเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มอื่นๆล้มหายตายจากไปนานแสนนานแล้ว…

อาจเป็นเพราะเราตอกย้ำความเข้าใจต่อหลักการจนอิ่มจึงจัดตั้งกลุ่ม มิใช่ประชุมเช้าตั้งกลุ่มตอนบ่าย แต่เราใช้เวลาตลอดทั้งปีให้ความรู้ความเข้าใจจนถึงแก่นแท้ ทะลุปรุโปร่ง จนแน่ใจแล้วจึงตั้งกลุ่มขึ้นมา แล้วเราก็เป็นพี่เลี้ยงต่ออีก 5 ปี..

นี่เองที่ผมมีความคล่องในการขับรถมอเตอร์ไซด์ เพราะขับจากบ้านนี้ไปบ้านโน้นวนเวียนในป่าเขาตลอดทั้งปี ค่ำไหนนอนนั่น กินกับชาวบ้าน นอนกับชาวบ้านแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านจนเขาเรียกเป็นลูกเป็นแม่ เป็นพ่อกันทั้งนั้น…

เอ..หมดงานพัฒนานี่ผมไปสมัครเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างได้สบายเลยนะเนี่ย อิอิ..


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 4

59 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:16 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3734

หนึ่ง..

เมื่อต้องจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่ด้านพัฒนาชนบท แม้แต่ได้รับเชิญไปฝึกอบรมวิศวกรหรือผู้ที่มีพื้นฐานวิชาชีพด้านอื่นๆก็เช่นกัน ผมมักใช้เครื่องมือทดสอบความคิดรวบยอดชิ้นหนึ่งครับ..

โดยตั้งโจทย์ว่า … ให้ทุกท่านเอากระดาษ A4 เอาปากกาหรือดินสอมา แล้วให้ลองใช้เวลาสัก 5 นาที ทบทวนเรื่องราวของชนบทที่ท่านรู้จัก แล้ววาดภาพชนบทเท่าที่ท่านรู้จักออกมาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อหมดเวลาให้ทุกคนจับกลุ่ม 5 คน เอารูปที่วาดนั้นมาดูร่วมกัน ซึ่งจะพบว่าคนนั้นมีสิ่งนั้นไม่มีสิ่งนี้ คนนี้มีสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้น แล้วให้ทั้ง 5 คนวาดใหม่ โดยให้มีองค์ประกอบรวมทั้งหมด ..ให้เวลา 5 นาที เอาภาพที่ได้จากกลุ่มมาติดบนกระดาน ให้ตัวแทนมาบรรยายภาพที่มีองค์ประกอบแทนเรื่องราวชนบทมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ทุกคนทราบ

สิ่งที่พบมากที่สุดคือ ภาพนั้นมักจะมีภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์ มีนกบินสองสามตัว มีต้นไม้ มีกระต๊อบ มีลำธาร มีทุ่งนา มีวัว ควาย เป็ด ไก่ …. แต่ส่วนใหญ่ไม่มี วัด พระ ภาพประเพณีต่างๆ…. สรุปแล้วมักจะได้ภาพชนบทที่เป็นลักษณะทางกายภาพเสียส่วนใหญ่ ส่วนลักษณะชนบทที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรม ประเพณี และเรื่องราวที่คนในสังคมมีต่อกันนั้น มักไม่มีรวมอยู่ในภาพเหล่านั้น

สอง..

หลายครั้งที่ต้องเดินทางไปตามเมืองใหญ่ แม้กรุงเทพฯ จะพักตามโรงแรมระดับกลางๆ บางครั้งที่มีโอกาสพักระดับ 5 ดาว สุดเริด… วุ้ย..ค่าเช่าต่อคืนนั้นมากกว่าเงินเดือนของคนในสำนักงานบางตำแหน่งอีก ???? ทุกอย่างในโรงแรมต้องเยี่ยมไปหมด ราคาทุกอย่างต่อรองไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎที่ทางโรงแรมออกมา กำหนดขึ้นใช้กับผู้มาพักทุกคน.. แม้โรงแรม 4 ดาว 3 ดาวก็เถอะ น้ำขวดที่อยู่ในตู้เย็นนั้นหากเผลอไปดื่มเข้าละก็ บางทีคุณต้องจ่ายเป็นราคาแพงสองถึงสามเท่าราคาจริง.. เวลาเช็คบิลล์ แม้แต่เศษสตางค์ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่มีลดหย่อนผ่อนคลาย.. มันแพงฉิบ.. โรงแรมบางแห่งสภาพห้องก็อย่างงั้นๆ แต่ราคา 1,200-1,500 บาท จะเล่น internetซะหน่อยก็คิดเงิน จะกินกาแฟก็คิดเงิน …. พนักงานยกมือไหว้ พูดจายิ้มแย้มแจ่มใส แต่บาทเดียวก็ไม่ลดราคา เป็นเมืองสำหรับผู้มีเงินจริงๆ… นี่ถ้าพักสามวันห้าวันหมดตูดแน่ๆเลย..

สาม…

เมื่อผมเดินทางถึงเมืองหงสา น้องพาไปพักที่ วิลลา สีสุพัน ของเอื้อย สีสุพัน (ศรีสุพรรณ) สาวใหญ่ หน้าตายิ้มแย้ม พูดจาไพเราะ บอกให้ไปพักห้องเบอร์ 01 และ 02 ซึ่งเป็นห้องที่มีทีวี พัดลม แอร์ฯ โต๊ะแต่งตัว ห้องน้ำในตัว โต๊ะทำงานเล็กๆ..เตียงนอนเดี่ยวใหญ่โตเพียงพอสำหรับสองคนนอน สองห้องนี้ ดีที่สุด ห้องอื่นๆเป็นพัดลม ไม่มีทีวี ไม่มีแอร์ฯ


ทุกเช้า เอื้อยจะถามว่าจะทานอะไร ก็จะจัดให้ ยกเว้นไม่มีจริงๆก็บอก และทุกครั้งที่ทานอาหารไม่ว่ามื้อไหนๆ ก็จะมีกล้วยหวีงามมาวางไว้ให้หยิบกินได้โดยไม่คิดเงิน อาหารมื้อเย็นซึ่งเป็นมื้อใหญ่ เอื้อยจะจัดรายการให้เรียบร้อย ยกเว้นว่าจะอยากกินอะไรก็สั่งเป็นพิเศษ

วันหนึ่งเรานั่งทานมื้อเช้า ผมสั่งกาแฟลาวผสมโสม กลิ่นแปลกๆ รสก็ไม่เข้มข้นตามที่ผมชอบ แต่ก็คิดว่ามาเมืองลาวก็ต้องลองชิมของเขาดู…

เอื้อยมีลูกกี่คน อยู่ที่ไหน ทำไมไม่เห็นมาช่วยเอื้อยเลย…ผมยิงคำถาม..

มีลูก สามคน..คนโตมีครอบครัวอยู่เวียงจัน คนรองเรียนหนังสือที่เมืองหลวงพระบาง คนสุดท้องทำกิจการอยู่โน่นไง เอื้อยชี้มือไปที่ร้านไกลๆโน้น.. เลิกกะสามีนานแล้วตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ หาเงินเลี้ยงลูกมาแสนยาก หาบของขายก็เอา…เอื้อยพูดไปน้ำตาผู้เป็นภรรยาของสามีที่เลิกกันไปก็หลั่งออกมา… เรารักเขาอยู่ แต่เขาไปมีคนใหม่ ก็อยู่หมู่บ้านใกล้ๆนี่แหละ กว่าจะมาถึงวันนี้ ตรงนี้ ยากลำบากแสนเข็ญ แต่ก็กัดฟันสู้มา ผู้หญิงอย่างฉันทำทุกอย่างได้… บ้านที่เวียงจันก็มี เวลาอดีตสามีไปเวียงจันฉันให้เขาไปพัก หากฉันอยู่ฉันก็หลบไปพักบ้านเพื่อน ให้เขาพักกับภรรยาใหม่ของเขา เขาเจ็บไข้ได้ป่วย ฉันก็ยังดูแลเขา เพราะเขาไม่มีเงินทองรักษาตัวเองในบางครั้ง..

เมืองไทยนั้นฉันไปมาหมดทุกที่ทุกแห่ง ฉันเป็นตัวแทนของเมืองหงสาเอาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านไปขาย ไปแสดงในนามของรัฐบาลลาว ส่วนใหญ่ก็เป็นผ้าพื้นบ้าน

บ้านหลังนี้ฉันทำเป็นเฮือนพัก ออกแบบเอง ผู้หญิงอย่างฉันออกแบบเอง ไม่ได้ฉากได้มุมหรอกเพราะฉันไม่มีความรู้.. แม้เธอจะพูดไป น้ำตาหยดไป ใบหน้าเธอก็ยิ้ม ยิ้มสู้ชีวิตจริงๆ……

เย็นวันนั้น เรากินข้าวกับน้ำพริกผักสด ผักลวก ไข่เจียวนุ่มๆจานใหญ่ ต้มยำแซบ…น้องที่ไปร่วมงานเธอเอ่ยกับเอื้อยว่า ช่วยคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่วันที่มาด้วย..เราพบว่า ราคาค่าห้องเดิมนั้นราคา 250 บาท แต่เมื่อติดแอร์ มีทีวี ขอขยับขึ้นเป็น 350 บาท แต่ทางหน่วยงานผมมีคนมาพักบ่อยยัง advance เงินมาให้ในราคาเดิม ..เมื่อเธอทราบ เธอก็ลดราคาให้เท่าเดิม… อาหารที่กินทุกมื้อจนพุงกาง เป็นเวลา 3-4 วันนั้น ไม่ถึงพันบาท

คนงานในครัวและคนทำความสะอาดห้องทั้งหมดนั้น เป็นสาวชาวบ้านที่เรียก แม่ฮ้าง (สามีทิ้ง)ทั้งนั้น มาทำงานกับเอื้อย สีสุพัน และทุกคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส


เช้าวันถัดมา เอื้อยเล่าให้ฟังว่า… อาจารย์ขึ้นไปนอนแล้ว ฉันได้ยินคนคุยกันที่เรือนไม้ท่ารถไปไชยบุรีนั่น ฉันสงสัยว่าใครมาทำอะไรที่นั่น ผิดปกติ กลางคืนจะไม่มีใครมานั่งคุยแบบนั้น จึงเดินไปดู พบ 2-3 คน คนป่วยผู้เป็นแม่ เอากลับมาจาก อ.เฉลิมพระเกียรติฝั่งไทย หมอบอกว่ารักษาไม่หายแล้วให้กลับบ้านเถอะ (เธอเป็นโรคร้าย) แต่รถมาถึงค่ำ บ้านอยู่บนดอยไกลโน้นกลับไม่ทันแล้ววันนี้ เลยจะพักที่เรือนไม้ท่ารถนี้ เอื้อยบอกผมต่อไปว่า 3 แม่ลูกไม่มีอะไรติดตัวมาเลย มุ้งก็ไม่มี ผ้าห่มก็ไม่มี … เธอจึงเชิญให้ขึ้นไปนอนในโรงแรมของเธอ โดยไม่คิดเงิน 3 แม่ลูกขอบใจ แต่ไม่ไปนอนหรอก รบกวน.. เอื้อยจึงมาเอาน้ำอาหารไปให้ เอามุ้ง ผ้าห่มไปให้ ….


ผมฟังเอื้อยเล่าให้ฟังแล้ว…คิดในใจว่า เอื้อยสีสุพันท่านนี้น้ำใจเธอ จิตใจเธอ เหลือล้นจริงๆ แม้ว่าในเมืองหงสานี้ เธอจะเป็นคนหนึ่งที่ปัจจุบันมีฐานะระดับนำคนหนึ่งในเมืองนี้เพราะมีกิจการที่มั่นคงและเจริญก้าวหน้า แต่เธอช่างแตกต่างจากคนในเมืองใหญ่ที่อื่นเสียจริงๆ

คิดว่าเรื่องราวทำนองนี้พบมากมายในชนบท แต่รายละเอียดเหล่านี้ไม่ได้ถูกวาดจำลองใส่ไปในภาพของ..เรื่องที่หนึ่ง และจะไม่พบสาระความงามของชีวิตแบบนี้ที่โรงแรมระดับ 5 ดาวที่โอ่โถงและแพงลิบนั่น..ในเรื่องที่สอง แต่เรื่องราวที่สามนั้นพบ

“นี่ไงชนบท”…ที่ผมรัก คุณก็ด้วยใช่ไหม..


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 3

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:04 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1465

การไปดู “กาดแลง” (ตลาดเย็น) บ้านจ่อมแจ้ง วันนั้น ผมได้มุมมองของ ความเป็นปุถุชนที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ มันเป็นปกติธรรมดาของวิถีชีวิตที่นั่น แต่เราผู้มาจากถิ่นอื่น มีความรู้สึกตงิดตงิดหัวใจ แม้ว่าในตลาดแห่งนั้นจะมีความหลากหลายให้ตื่นตา แต่ก็ในความหลากหลายนั้น บ่งบอกว่ามนุษย์เราพึ่งพาชีวิตเพื่อนร่วมโลกอื่นๆมากมาย…..

ชาวบ้านหรือลูกค้าเดินเข้าออกตลอด ข้าราชการที่เดินทางกลับบ้านหลังเลิกงาน แวะซื้อของติดมือกลับบ้าน มันเป็นวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ไม่มีระบบ Super Store มาผูกขาด ทำให้ชาวบ้านมีรายได้พอยังชีพตามอัตภาพ..


ในตลาดเห็นชีวิตที่ด่าวดิ้น เพราะมันเป็นอาหารของคน 1 หอย 2 จิ้งกุ่งหรือจิ้งหรีด 3 สารพัดสัตว์เล็กๆ ที่จับได้ในทุ่งนา ชาวบ้านจะซื้อไป “หมก” 4 ไก่ และเป็ดที่ชำแหละมาเรียบร้อยแล้ว ที่บรรจุใส่ถุงพลาสติกมีรูอากาศให้หายใจในกะละมังนั้นคือปลาไหล ส่วน 5 นั้นคือ รังต่อยักษ์ที่มีตัวอ่อนอ้วนๆ แม่ค้าบอกว่านึ่งมาเรียบร้อยแล้ว สามารถกินได้เลยหรือเอาไปตำไปป่นก็แล้วแต่ความชอบ ด้านในสุดจะมีเขียงสัตว์ใหญ่ตั้งแต่ ควาย วัว หมู ที่สังเวยชีวิตเพื่อยังชีวิตของคน

ความจริงใน Super Store ที่หรูหรานั้นก็ไม่ต่างไปจากตลาดเล็กๆแห่งนี้ที่คนเมืองก็พึ่งชีวิตเพื่อนร่วมโลกมากมาย อาจจะมากกว่าตลาดบ้านจ่อมแจ้งนี้ด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบปริมาณ และจำนวนชนิด เพียงแต่ Super Store ใช้ระบบการจัดการเข้ามาดำเนินการ จนผู้บริโภคไม่มีความรู้สึกใดๆเลย แม้แต่น้อย แถมอาจจะรู้สึกในทางอื่นที่ว่า ทันสมัย และนั่นคือโปรตีนที่ร่างกานคนเราต้องการ..ฯลฯ


ตลาดบ้านจ่อมแจ้งเป็นแบบพื้นๆบ้าน ง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีกระบวนการอะไรมาจัดการให้ซับซ้อน แต่ผมก็เกิดการปะทะทางความรู้สึก ขึ้นมาจนได้…


เพราะว่า มีสิ่งที่มีชีวิตหนึ่งที่ผมต้องหยุดลงตรงกลางตลาดบ้านจ่อมแจ้ง คือ เจ้านกกระยางตัวนี้ เขาถูกมัดปีก มัดขา มัดปาก วางขายอยู่ 1 ตัว เขายังมีชีวิตอยู่ ผมเลยถามแม่ค้าว่า…

บางทราย : ได้นกตัวนี้มาอย่างไร

แม่ค้า: เอาแห หรือตาข่ายไปดักในนามา

บางทราย: ชาวบ้านซื้อเอาไปทำอาหารประเภทไหนกัน

แม่ค้า: ทำหลายอย่างได้ แกง ก็ได้ ย่างก็ได้…..

เมื่อผมถามราคาแม่ค้าบอกว่า 25 บาท ผมไม่รอรีค้นหาเงินได้มา 20 บาท ขาดไป 5 บาทเลยไปขอเพื่อนข้างๆมาอีก 5 บาท ผมตั้งใจจะเอาไปปล่อย พนักงานขับรถแนะนำว่าเอาไปปล่อยในทุ่งนาดีกว่า เดี๋ยวจะพาไปที่ทุ่งนาบ้านศรีบุญเรือง


เห็นทุ่งนาแล้ว ผมนึกถึงสะเมิง เชียงใหม่ ชนบทแห่งแรกของการทำงานของผม เพราะสภาพที่ทุ่งนามีภูเขาล้อมรอบ มีน้ำไหล ยอดเขามีเมฆหน้าฝนปกคลุม มีเถียงนา ความเขียวชอุ่มของต้นข้าวที่แสดงความสมบูรณ์ด้วยธรรมชาตินั้น คนเมืองอย่างเราได้มาสัมผัสแล้วก็ ชื่นอกชื่นใจเป็นที่สุด แม้ว่าเส้นทางจะเฉอะแฉะเพราะถนนลูกรังที่โดนน้ำฝน ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่อยู่คู่ชนบทมานานแสนนานแล้ว เมืองหงสาคืออู่ข้าวอู่น้ำ ผลิตข้าวออกเลี้ยงเมืองไชยบุรี แม้กระทั่งหลวงพระบาง และอุดมไชย

คนขับรถลงมาช่วยผมคลายตอกไม่ไผ่ที่มัดเจ้านกกระยางตัวนี้ออก ทันทีที่ปากมันเป็นอิสระ มันก็จิกแขนคนขับรถเสียหนึ่งที มันคงจะต้องต่อสู่ป้องกันตัวเองเท่าที่จะทำได้ เมื่อแก้มัดออกหมดก็ยืนมาให้ผมเป็นผู้ปล่อยเขาไป ผมขอเรียกเจ้านกกระยางตัวนี้ว่า “เจ้าบุญหลง” ก็แล้วกัน

คงนึกออกนะครับว่าผมควรจะกล่าวอะไรบ้างก่อนที่จะปล่อยชีวิตน้อยๆตัวนี้ไปสู่อิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง และไม่รู้ได้ว่าเขาจะกลับไปติดตาข่ายชาวนาอีกครั้งหรือไม่ หากติดอีก ผมก็คงไม่มีความพอดีที่จะเดินไปเจอะเขาอีกเป็นแน่แท้ อย่าเป็นเช่นนั้นเลยนะ…เจ้าบุญหลง

เมื่อผมโยนเจ้าบุญหลงขึ้นซึ่งคิดว่าเขาคงจะรีบบินหนีไปอย่างสุดชีวิต ที่ไหนได้ หล่นปุ ตรงข้างรั้วนาข้าวของชาวบ้านนั่นเอง เขาไม่บินไป คนขับรถต้องไปจับมาใหม่แล้วโยนค่อยๆลงในแปลงนาไป พร้อมกับบอกว่า อาจารย์.. “มันยังเมื่อยอยู่” เพราะถูกมัดมานาน….? เหมือนคนนั่นแหละ เมื่อถูกมัดมานานๆก็ไปไหนไม่เป็นหรอก….


เจ้าบุญหลงลงไปถึงพื้นท้องทุ่งนาแล้วเขาก็ยืนเงียบ นิ่ง ไม่กระดุกกระดิก เราคิดว่าเขาคงเมื่อย หรือเคล็ด อย่างที่คนขับรถกล่าว เราจึงยืนดูเขาสักพัก เผื่อว่าหายเคล็ดแล้วก็จะวิ่งไปหลบที่ไกลๆคนต่อไป อีกอย่างหนึ่ง เราก็เกรงกลังว่า หากมันไม่ไปไหน เมื่อเรากลับไปแล้ว ชาวบ้านมาเห็นก็จะจับมันไปเป็นอาหารอีก.. ใจคิดเช่นนั้น จึงภาวนาในใจว่า เจ้าเป็นอิสระแล้วไปเถอะ ไปไกลๆตามทางชีวิตของเจ้าเถอะนะ…เจ้าบุญหลง

หลังจากที่เราหันสายตาไปดูทุ่งนามุมอื่น เพื่อเสพธรรมชาติให้เต็มๆสักพักใหญ่ แล้วย้อนกลับมามองดูเจ้าบุญหลงว่าไปไหนแล้วหรือยัง…. พบว่าเขายืนนิ่งเงียบและตาเขามองมาที่เราเป๋งเลย ผมหยิบกล้องมาซูมดูสายตาเขา

เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เขาจะจำติดตาว่า ไอ้มนุษย์พวกนี้จับเขามาทรมาน หรือเปล่าหนอ หรือว่าเขามองเราแล้วขอบอกขอบใจเราที่ซื้อชีวิตเขามาปล่อยให้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่าเขาคิดอะไรจริงๆ แต่สายตาเขานั้นจ้องจับเราแทบไม่กระพริบเลย….

เราจากเขาไปเพราะเวลาใกล้ค่ำแล้ว… ในรถไม่มีใครพูดอะไรกันเลย แต่ผมคิดในใจเงียบๆว่า มาเมืองหงสาครั้งนี้ได้ไถ่ชีวิตหนึ่งไว้ ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ….

เจ้าไปเถอะ….บุญหลง เจ้ากลับคืนไปสู่ความมีชีวิต เพื่อดำรงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อไป…เหมือนเรานั่นแหละ ทุกเวลานาทีเราก็เสี่ยงต่ออะไรมากมาย แต่ข้าไม่รู้หรอกว่าจะมีใครหยิบยื่นมือมาไถ่ชีวิตแบบนี้บ้าง..แต่ช่างเถอะ ทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ดวงตาของเจ้าติดตาฉันจริงๆ….

ค่ำแล้วผมอาบน้ำ ทบทวนกำหนดการฝึกอบรม และสาระสักพัก ก็อ่านหนังสือที่ติดมาได้ไม่กี่หน้า ผมก็นอนหลับโดยไม่ได้คิดอะไร

ตื่นเช้าหกโมงเศษ เมื่อทำธุระแล้วก็คว้ากล้องคู่ชีพลงมาหน้าเฮือนพัก กินอาหารเช้ากับกาแฟ แล้วก็หันหน้าไปดูบนถนนยามเช้าที่มีชีวิตพี่น้องชาวหงสาเดินไปมาตามภารกิจของแต่ละคน แต่ทันใดนั้น.…นั่นเด็กสองคนนั่นที่เดินหันหลังให้เราไปไกลนั่น ถือสิ่งมีชีวิตห้อยไปสองตัว… ดูเหมือนไก่ แต่ปากมันยาวๆ ไม่น่าเป็นไก่ เป็ดก็ไม่น่าใช่


สองคนเดินไปไกลพอสมควร….เอ..หรือว่านกกระยาง ผมคว้ากล้องออกมาซูมไปที่เด็กสองคนนั่น…. ตายแล้ว..เจ้าบุญหลงหรือเปล่า……

กว่าผมจะนึกอะไรที่ควรได้ เด็กสองคนก็เดินขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ขับไปไกลเสียแล้ว ผมนึกถึงสายตาเจ้าบุญหลงคู่นั้น…

อาหารเช้าที่ผมเพิ่งกินเข้าไปมันจุกคอผม…. อือ ชีวิตที่เพื่อชีวิต…


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 2

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:58 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1504

ประสบการณ์ใหม่: ที่ต้องฝึกอบรม PRA (กระบวนการค้นหาศักยภาพชุมชนอย่างเร่งด่วน) ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง เพราะครั้งนี้โจทย์คือการย้ายหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากจะมีการขุดพื้นที่ทำเหมืองแร่ลิกไนท์ PRA จึงต้องค้นหาข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ

การไปหงสาก็ทำงานเป็นหลัก ไม่ค่อยมีเวลาไปซอกแซกดูนั่นดูนี่ตามที่ใจอยากจะทำ ก็อาศัยช่วงเช้ากับช่วงเลิกงานแล้ว ได้แวบไปบ้าง ซึ่งก็พอจะได้เห็นเมืองหงสาบางส่วน


ภาพนี้ผมนึกถึงอำเภอสะเมิง : สะเมิง เชียงใหม่อยู่หลังเขาดอยสุเทพสมัยก่อนนู้น…(2518) ที่ผมเริ่มทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ เมืองหงสามีลักษณะเป็นชนบทมากๆแบบนั้น เพราะถนนหนทางยังเป็นลูกรัง แดงเถือก สภาพบ้านเรือนก็เป็นแบบเดิมๆ ในตัวเมืองหงสาจะมีตึกรามบ้างแต่ก็ไม่ได้หรูหราแต่อย่างใด มองไปในท้องทุ่ง สวยงามด้วยความเขียวขจีของทุ่งนาข้าว ใครบางคนบอกชอบมากๆ อยากมีชีวิตอยู่ในชนบทแบบนี้จริงๆ….

“หากจะเข้าใจชุมชนต้องไปดูตลาดในท้องถิ่นนั้นๆ”

เป็นคำกล่าวที่คนทำงานพัฒนาชุมชนรู้ดีกันทั่วไป เพราะตลาดบ่งบอก ความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการบริโภค บ่งบอกถึงสภาวะทางเศรษฐกิจชุมชน บอกถึงบทบาทหน้าที่ชายหญิง เด็ก ผู้ใหญ่ รวมกว้างไปถึงสภาวะสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนนั้นๆ บ่งบอกถึงการบริหารจัดการต่างๆ บ่งบอกถึงอิทธิพลของทุนนิยมบริโภค บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่น บ่งบอกถึงระดับความเอื้ออาทรหรือทุนทางสังคมเดิมๆ บ่งบอกถึงสภาวะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งพิงธรรมชาติ และบ่งบอกอีกมากมาย…. แล้วแต่ว่าตาปัญญาจะเห็นแค่ไหน

เมื่อเลิกการฝึกอบรมเราจึงไปดูกาดแลง (ตลาดช่วงเวลาเย็น) ของหมู่บ้านจ่อมแจ้งใกล้ๆที่พัก

เป็นตลาดเล็กๆ ไม่ใหญ่โต มีอาคารถาวรมีร้านยกพื้นเป็นที่นั่งขายสินค้าพื้นบ้านต่างๆ แบ่งเป็น 4 ล็อค ทั้งหมด 90% เป็นสินค้าประเภทอาหารของกิน โดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้าน สัตว์พื้นบ้านต่างๆ มีเขียงเนื้อควาย วัว หมู 5-6 เขียง ทั้งหมดเกือบ 100% เป็นสุภาพสตรีที่มานั่งขายของ ทั้งคนกลางคนและคนแก่ สาวๆ และมีเด็กๆมานั่งข้างๆแม่บ้าง

เราตะลึงสินค้าพื้นบ้านที่ชาวบ้านเอามาวางขาย เพราะเป็นพื้นบ้านจริงๆ สดๆ สารพัด อาหารสำเร็จรูปและขนมพื้นบ้านมีบ้าง สินค้าก็กองเล็กกองน้อย ต่างก็เรียกร้องคนแปลกหน้าอย่างเราให้ช่วยอุดหนุนสินค้า


รายนี้เป็นลาวเทิง(คือชาวลาวที่อยู่บนดอย) เดินมาไกลโข เป๊อะกระบุงด้านหลังภาชนะประจำเผ่าของเขามา ผมไปถามว่ามาซื้อสินค้าหรือมาขายสินค้า เธอตอบอะไรผมไม่ทราบ (ไม่รู้เรื่องน่ะครับ) คุณยายแม่ค้าใกล้ๆนั้นช่วยบอกว่า เขาเอาผักสดๆมาขาย ไม่ได้มาซื้อ


สาวน่ารักคนนี้นั่งขายขนมพื้นบ้านไปด้วย เมื่อว่างไม่มีคนมาซื้อเธอก็ใช้เวลาว่างเย็บผ้าลายพื้นบ้านด้วยมือ ผมหละทึ่งในความสามารถที่งานนั้นประณีตจริงๆ และเธอขยันที่ไม่ยอมให้มีเวลาว่างเปล่าๆ สอบถามได้ความว่าเธอไปเอาวัตถุดิบมาจากร้านค้าที่เมืองหงสา มาแซว (เย็บลาย) แล้วเอาไปส่งให้ที่ร้าน แล้วเอาชิ้นใหม่มาทำต่อเช่นนี้ไปเรื่อยๆ…ปรากฏว่าร้านค้าในเมืองหาสาที่รับซื้องานของเธอคือเจ้าของเฮือนพัก(โรงแรมเล็กๆ)ที่ผมไปพักนั่นเอง

วัฒนธรรมกาดแลง: เป็นวัฒนธรรมชุมชนของล้านนาและล้านช้าง ที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาชนบทไปส่งเสริม สนับสนุนสร้างตลาดขึ้นมา ชาวบ้านก็มีนิสัยค้าขายและจัดทำตลาดของชุมชนขึ้นมาเองเป็นปกติวิถี ตลาดชุมชนที่เราไปสนับสนุนนั้นบางแห่งดูท่าจะพอไปได้…แต่บางแห่งก็ส่อแววว่าอาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หรือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของชุมชน จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่เราต้องออกแรงกันมากหน่อย หากตลาดมีประโยชน์จริงต่อชุมชนมันก็น่าที่จะเดินต่อไปได้ด้วยหลักการของประโยชน์นี้เอง


นั่นไม้สนเกี๊ยะ(ภาษาภาคเหนือของไทย) หอยพื้นบ้าน ปลาไหล ไก่ เป็ด ชำแหละแล้ว พริก ผักพื้นบ้าน ขวามือนั่นคืออาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิตพื้นบ้าน มีหอย จิ้งหรีด(จิ้งกุ่ง) และสัตว์เล็กๆสารพัดชนิดที่ไปช้อนมาจากทุ่งนา


สิ่งที่ขาดไม่ได้คือผงชูรส ที่ชาวลาวกินผงชูรสแบบน่ากลัวจริงๆ ขนาดไปนั่งกินเฝอ (ก๊วยเตี๊ยว) ยังมีผงชูรสอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงพวกน้ำปลา กะปิ น้ำตาลทราย ฯ

คุณยายที่นั่งลุ้นลูกค้าอยู่นั่นขายอะไร…

หวยลาวครับ…..

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวในตลาดชุมชนบ้านจ่อมแจ้ง

ไปให้เห็น คุย-ซักให้รู้ จับต้องให้ได้ความรู้สึก บันทึกภาพมาเพื่อย้ำเตือน ….

ค้นหาความจริงในสิ่งที่เห็น

จับต้องความจริงให้ได้ในมิติที่สัมผัส

สรุปให้ได้ถึงที่สุดของคำพูด ที่เอ่ย

ฯลฯ

แล้วประมวลแก่นแท้ออกมา เหล่านั้น เท่ากับเรา ปอกเปลือกสังคมหงสามาให้ล่อนจ้อนได้เลยครับ…

นี่คือเครื่องมือหนึ่งของ PRA ครับ

เครื่องมือปอกเปลือกสังคม..อิอิ


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 1

123 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:47 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4093

เอาบันทึกเก่ามาอุ่นเครื่องเมืองหงสากันครับ..

เทียบเชิญ: ปลายปี 51 ได้รับเทียบเชิญจากท่าน paleeyon ให้ชวนเพื่อนร่วมงานไปเมืองหงสา ลาว ไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาวเรื่อง PRA เมืองหงสานี้ติดกับเมืองเงิน ซึ่งติดกับ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ จังหวัดน่านของเรา เมืองหงสาอยู่ในแขวงไชยบุรี สปป.ลาว


เดินทาง: เริ่มต้นที่สุวรรณภูมินั่ง PB air ไปลงน่านแล้วนั่งรถจากน่านไป “ด่านห้วยโก๋น” อ.เฉลิมพระเกียรติ์ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ผ่าน อ.ท่าวังผา อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง เข้า “ด่านน้ำเงิน” ของลาว แล้วเข้าเมืองเงิน จากเมืองเงินไปเมืองหงสา ระยะทางจากด่านถึงเมืองหงสาประมาณ 40 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาทั้งหมดจากน่านไปถึงเมืองหงสาประมาณ 4 ถึง 4.30 ชั่วโมง แบบไม่มีอะไรติดขัดนะ


สองข้างทางจากน่านไปถึงด่านห้วยโก๋นนั้น คนที่ชอบภูเขาและธรรมชาติจะตื่นตาตื่นใจ เพราะจะเห็นต้นไม้ ป่า พืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน วิถีชีวิต และถนนหนทางที่สะดวกสบาย ตรงข้ามจากด่านน้ำเงินของลาวไปเมืองเงินไปเมืองหงสานั้น แม้ธรรมชาติป่าจะดีกว่าฝั่งไทยแต่สภาพถนนนั้นมีแต่ลูกรังและถนนอยู่บนยอดภูเขา ไหล่เขา ทั้งสิ้น แต่ก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่งครับ


ด่านชายแดนเหงาๆ: ที่ด่านห้วยโก๋น สภาพเงียบเหงา ไม่โอ่อ่าฟู่ฟ่าเหมือนด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต มีร้านค้าสองสามร้าน เป็นร้านที่ขายของกินของใช้ที่จำเป็น และร้านอาหารหนึ่งร้าน ช่วงที่เราเดินทางนั้นมีเพียงเราสามคนเท่านั้นที่ข้ามผ่านแดน เจ้าหน้าที่นั่งตบยุงทั้งวัน เพื่อนผู้ร่วมเดินทางจัดการเอา Passport ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แล้วเราก็นั่งกินข้าวกลางวันกันที่นั่นแล้วจึงเดินทางต่อไปโดยขออนุญาตนายด่านเอารถไปส่งเราที่ด่านฝั่งลาวอีกประมาณ 100 เมตร


ตื่นเต้นอ่ะ: ที่ด่านน้ำเงินฝั่งลาวนี้มีเรื่องให้ตื่นเต้น คือ นายด่านไม่อนุญาตให้เราเข้าไปเพราะไม่มี Visa เอาแล้วซี…. เราต้องนั่งโคนต้นพิกุลที่เห็นนั่น(รูปล่าง)ประมาณสองชั่วโมง รอให้เจ้าหน้าที่บริษัทเจรจา จัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อยก่อน ในฐานะที่เราไม่เคยผ่านด่านนี้ก็ลุ้น เพื่อนร่วมทางก็วางแผนขณะที่รอการเจรจาว่ามี 2 หนทางที่แก้ไขหากไม่สามารถผ่านด่านนี้ได้ คือ เดินทางกลับไปน่านแล้วต่อไปเชียงใหม่นั่งเครื่องบินไปหลวงพระบางแล้วนั่งเรือเร็วในแม่น้ำโขงประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นมาถึงท่าส่วง แล้วนั่งรถมาเมืองหงสา(อะไรจะอ้อมโลกขนาดนั้น..) อีกทางคือนั่งรถไปน่าน ไปชียงราย ไป อ.เชียงของแล้วนั่งเรืออีก 6 ชั่วโมงล่องแม่น้ำโขงมาบ้านท่าส่วง แล้วนั่งรถมาเมืองหงสา แต่ไม่สนุกสักเส้นทางเพราะกินเวลามากมาย และจะทำให้โปรแกรมการฝึกอบรมต้องเสียหายไปด้วย


ทำไมไม่ทำ Visa : ขอไม่อธิบายนะครับเป็นเหตุผลเฉพาะ

ได้เฮ: เมื่อเรานั่งตื่นเต้นอยู่ 2 ชั่วโมงการเจรจาบรรลุผลอนุญาตให้ผ่านได้ แต่ต้องมีคนค้ำประกัน…..เฮ…. เมื่อเราเดินทางต่อ แม้จะนั่งหน้ารถแต่ไม่สามารถจะถ่ายรูปได้เลย เพราะทางขรุขระโยกไปโยกมาตลอด แม้วิว ทิวทัศน์จะสวยงามแต่ก็ไม่อยากรบกวนพนักงานขับรถให้หยุดเพื่อถ่ายรูป.. แท้ในใจอยากจะหยุดรถหลายต่อหลายครั้ง…. เส้นทางบนยอดเขานั้น ธรรมชาติในช่วงฤดูฝนสดชื่นมาก เขียวขจีไปหมด ไม่รู้ว่าในช่วงฤดูแล้งจะมีไฟป่าเหมือนบ้านเราหรือไม่… .

เราผ่านเมืองเงิน และในที่สุดพนักงานขับรถดูนาฬิกาแล้วบอกว่าพอมีเวลา จะพาไปวนดูเมืองเงินซะหน่อย

สิ่งที่คิดส่วนหนึ่ง: การได้มาน่านในวันข้างหน้า แล้วเลยไปหงสา คิดว่าต้องหาเวลามาเที่ยวในสถานที่หลายๆแห่งดังนี้

  • เส้นทางก่อนไปหงสา ควรเที่ยวจังหวัดน่านก่อน แค่มากราบพระเก้าวัดที่เมืองน่านก็คุ้มสุดคุ้มแล้ว มีวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพญาภู วัดภูมินทร์ วัดมิ่งเมือง วัดหัวข่วง วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดสวนตาล วัดพญาวัด วัดพระธาตุเขาน้อย
  • แค่ไปดูพิพิธภัณฑ์งาช้างดำ พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นบ้าน โบราณ ก็สุดคุ้มแล้ว
  • แค่ไปดูดอกชมพูภูคาที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัวเดือน กุมภา-มีนาก็คุ้มแล้ว
  • ไม่ต้องนั่ง “ยนต์เหาะ” (เครื่องบิน) เอารถไปเที่ยวก็สนุกโขแล้ว
  • น่านเป็นเมืองค่อนข้างปิด เพราะมิใช่เมืองผ่าน สภาพธรรมชาติ วิถีชีวิตยังเดิมๆอยู่มาก ใครที่ชอบแบบนี้ ไม่ผิดหวังครับ
  • ยิ่งข้ามไปเมืองหงสา โอยคุณเอ๋ย ผมนึกถึงชนบทภาคเหนือของไทยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาจริงๆ
  • การเดินทางข้ามประเทศ แม้ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง แต่ก็ชอบ สนุก และแปลกหูแปลกตาต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชีวิตเพื่อนร่วมโลกอีกซีกหนึ่ง
  • คนเรานี่ก็ดิ้นรนจริงๆ ป่าเขาสูงชัน ไกลแหล่งความสะดวกสบาย ทำไมพากันมาอยู่ได้ ในป่าในเขาเช่นนี้
  • คิดถึง bloggers ชาวเฮฮาศาสตร์ หากมาจัดเปลี่ยนบรรยากาศที่เมืองหงสา ตั้งแค้มป์เรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวหงสากันสักสองสามวันน่าจะดี โดยเฉพาะคนที่ชอบ “ลุยๆ”
  • หากข้ามไปเมืองเงิน เมืองหงสาแล้ว เราไปหาคำตอบกันว่า ความพอเพียงคือระดับที่เหมาะสมของการดำรงชีวิต และเป็นทางออกของเป้าหมายการพัฒนาหรือไม่

สน ม๊ะ……. หากสน..ลุงเปลี่ยนเทหมดหน้าตักแน่ๆ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 14 ในหลวงกับสะเมิง

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 1614

พื้นที่ไกลปืนเที่ยงอย่างสะเมิงนั้น สุขภาพชุมชนย่อมด้อยไปเสียทุกด้าน ยิ่งสารเคมีเข้ามากับการส่งเสริมการเกษตรแบบใหม่ กับความไม่เท่าทัน ไม่ระมัดระวังเท่าที่ควรของเกษตรก็ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพมาก


ปี 2518 นั้นโรคคอพอกยังมีจำนวนมาก Mr Klaus Bettenhausen ผู้แทนองค์กรที่ทำงานอยู่จึงติดต่อขออาสาสมัครหมอมาจากเยอรมัน แล้วร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการของสมเด็จย่า จึงเกิดแพทย์อาสาในพื้นที่สะเมิงขึ้น มีการบริการสุขภาพเกือบทุกด้านที่สามารถทำงานได้ในระดับสนาม


พวกเราก็ช่วยเรื่องการประสานงาน การจัดการต่างๆ การอำนวยความสะดวกให้คณะแพทย์ พยาบาลทุกสาขาได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ

งานด้านนี้เป็นเหมือนสงเคราะห์ ซึ่งยุคนั้นเป็นช่วงรอยต่อระหว่างงานพัฒนาแบบสงเคราะห์กับการพัฒนาแบบยั่งยืน ซึ่งเราก็ทำควบคู่กันไป

สะเมิงแห่งนี้เกี่ยวข้องกับในหลวงของเรามาก โดยพระองค์เสด็จออกเยี่ยมเกษตรกรหลายครั้ง ทุกครั้งพระองค์จะเสด็จลงเดินไปตามหมู่บ้านเยี่ยงข้าราชการและประชาชนทั่วไป ด้วยเหตุนี้มีส่วนทำให้พระองค์เกิด “โรคพระหทัยเต้นผิดปกติ” มีข้อมูลโดยสรุปดังนี้

  • ปี 2530 ทรงเสด็จไปเยี่ยมประชาชนที่อำเภอสะเมิง ทรงพบว่าชาวบ้านจำนวนมากเป็นโรคคอพอก ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทูลว่า มีการเอาเกลือเสริมไอโอดีนมาแจกประจำ แต่ชาวบ้านไม่ยอมใช้ เพราะไม่รู้จักก็กลัวจะเป็นอันตราย ในหลวงจึงรับสั่งให้นำเกลือเสริมไอโอดีนมาแจกประชาชนด้วยพระหัตถ์ ชาวบ้านจึงยอมเชื่อว่าเกลือชนิดนี้กินได้ จนแพร่หลายต่อๆมา ปัจจุบันไม่มีคนป่วยโรคคอพอกที่สะเมิงแล้ว
  • ทรงเสด็จขึ้น-ลงสะเมิงอีกหลายครั้ง เพื่อติดตามแก้ปัญหาเรื่องน้ำและถนน จนชาวบ้านทำกินกันได้เป็นปกติสุข มีรายได้เลี้ยงชีพได้พอเพียง หากพระองค์เองที่ทรงพระประชวร! ในหลวงทรงได้รับเชื้อไมโครพลาสม่าจากการเสด็จไปที่สะเมิงนี้เอง
    อันเป็นสาเหตุของโรคพระหทัยเต้นผิดปกติเรื้อรังมาถึงปัจจุบัน แม้คณะแพทย์จะพยายามเท่าใด ก็ไม่อาจถวายการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงถวายพระโอสถประคองพระอาการมาตลอด จนกระทั่งต้องทรงรับการผ่าตัดใหญ่เมื่อปี 2538
  • ในหลวงเคยมีพระราชกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า… ” ฉันขึ้น-ลงสะเมิงอยู่หลายปี จนได้รับเชื้อไมโครพลาสม่า ซึ่งในที่สุดทำให้ฉันเป็นโรคหัวใจเต้นไม่ปกติ จนเกือบต้องเสียชีวิต”


“การรักผู้อื่นยิ่งกว่าชีวิตของตนเองนั้น…ยิ่งใหญ่อย่างไรและเพียงไหน”

ข้อมูลนี้บันทึกก่อนแล้วที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/166752

ขอบคุณแหล่งข้อมูล


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 13 ยอดภู

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:47 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1453

สะเมิงเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา สมัยนั้นไม่มีถนนดำ หรือที่ลาดยางเลย หมู่บ้านจะเกาะกลุ่มกันตามพื้นที่หุบเขา ที่มีพื้นที่มากน้อยแตกต่างกัน บางหมู่บ้านจะต้องข้ามภูเขาไป และแน่นอนระหว่างตำบลก็จะมีภูเขาขวางกั้น


มอเตอร์ไซด์จึงเหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นยานพาหนะ เพื่อทำงานในโครงการนี้ พวกเราเองก็เป็นวัยรุ่น การขับมอเตอร์ไซด์ขึ้นดอย ลงดอย จึงคุ้นชินจนเป็นปกติ บ่อยครั้งที่เราหยุดรถบนยอดเขาแล้วมองกลับลงไปในหมู่บ้าน ไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน เถียงนา และทิวเขาไกลลิบโน้น สร้างบรรยากาศ และจินตนาการมากมายทีเดียว อากาศเย็นสบาย และวัฒนธรรมชุมชนที่เปิด แม้กับคนต่างถิ่นอย่างเรา เป็นชีวิตที่มีความสุข

บางช่วงฤดู เราชอบที่จะหยุดที่ยอดเขาเพื่อดูเมฆปกคลุมหมู่บ้านเบื้องล่างเสียมิด เหมือนเราอยู่บนสวรรค์ คิดถึงสะเมิง..


Contrast of Light: Contrast of Life

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1297

เป็นคนที่ค่อนข้างชอบภาพประเภทนี้ ภาพที่สีตัดกัน

มันมีความชัดเจน เด่นโดด และขมุกขมัวอยู่ในเฟรมเดียวกัน

เอ..นักแปลความหมายคงอธิบายอะไรเป็นตุเป็นตะ..

ย้อนมองดูตัวเอง

วิถีชีวิตก็อยู่ระหว่างชนบทและเมือง

สลับไปมาเช่นนี้แบบครึ่งต่อครึ่ง

จึงเป็นชีวิตที่มีคำถามมากจริงๆ


เห่อเฮ 10 ไปดูสุสานมูโอต์ที่หลวงพระบาง

295 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:27 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2915

นี่ คือเรื่องราวของ สุสานมูโอต์ และชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนความสัมพันธ์กับสยามประเทศในยุคนั้น ทำให้ทราบพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่นำพาประเทศรอดพ้นการล่า อาณานิคมของฝรั่งเศสไปได้… ได้ความรู้สึกดีดีต่อประเทศชาติ มากมายทีเดียวครับ…

เพราะคำกล่าวของท่านอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริที่ว่า  ...หลุมศพนี้..ช่างน่า “นอนตาย” และงดงามเสียนี่กระไร….
(ในหนังสือที่ชื่อ The Mekong: From Dza Chu-Lancang-Tonle Thom to Cuu Long) ทำให้ผมต้องหาทางไปดูสถานที่แห่งนี้ เมื่อคราวไปหลวงพระบางครั้งที่สองที่เพิ่งผ่านมา…   

ผมเอ่ยปากถามคนขับรถวันนั้น ก็เป็นชาวหลวงพระบางที่ “ออกรถตู้” มารับจ้างนักท่องเที่ยว น้องคนนี้ชื่อ “ต้น” เขาบอกว่าไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยิน เราไปถามคนขับรถรับจ้างคนอื่นๆแถวนั้น เขาบอกว่าอยู่ริมน้ำคานใกล้บ้านนุ่น ออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร ต้น จึงรู้ทางแต่ก็สารภาพว่าไม่รู้เรื่องสุสานนี้จริงๆ ??  สะท้อนหรือเปล่าว่า น้อยคนนักที่จะมาดูสุสานนี้ ? 

ระหว่าง ทางเป็นลูกรังกับฝุ่นตลบ เหมือนวิ่งจากหลวงพระบางไปไชยบุรีไม่ผิด แต่ที่แย่กว่าเพราะต้องเลาะไปตามลำน้ำคานโค้งไปมาคนที่เมารถก็คงไม่ชอบ ส่วนผมเองนั้นชอบที่ได้ดูน้ำคานอันสวยงามเบื้องล่างนั่น ซึ่งน้ำใส สวย เบื้องล่างท้องน้ำเขียวขจี แน่นอนเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นั่นคือ ไคน้ำ หรือไกบ้านเรา หรือสาหร่ายน้ำจืด ที่ขึ้นชื่อลือชานักในเรื่องคุณค่าทางอาหาร ผมและเพื่อนๆบอกให้จอดรถและถ่ายรูปแต่ก็ไม่สวยเท่าที่ต้องการเพราะอยู่สูง เกินไป   


วงกลมแดงนั่นคือที่ตั้งของสุสาน มูโอต์ 

พักเดียวเราก็มาถึงสถานที่สุสาน อองรี มูโอต์ (ระยะทางวัดโดย Google เท่ากับ 5.29 กม.)ขอทบทวนประวัติคนนี้สักนิดหนึ่งครับ 

………..ในสมัยที่ลาวและกัมพูชายังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ากรุงเทพฯ ในรัชสมัยรัชการที่ 4 มีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเข้ามาสำรวจดินแดนสยาม ลาว กัมพูชา เมื่อปี 2401-2404 นายคนนี้ชื่อ อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่ได้รับทุนจากอังกฤษ….   


          เขาสำรวจทั่วดินแดนลุ่มน้ำโขง เขามากรุงเทพฯ จันทบุรี เพชรบุรี สระบุรี  ครั้ง สำคัญคือเลาะลัดจากตราดไปเมืองกัมปอต เดินต่อไปยังอุดง เมืองหลวงกัมพูชาสมัยนั้น แล้วขึ้นตนเลธมจนถึงนครวัด แล้วกลับเข้ากรุงเทพฯ          

            ในปี 2404 เขาเดินทางเข้าสู่ที่ราบสูงโคราช ไปชัยภูมิ เข้าปากลายแล้วขึ้นไปหลวงพระบาง ได้ไปเฝ้าเจ้ามหาชีวิต “จันทราช” และในที่สุดมูโอต์ก็เป็นไข้ป่าและเสียชีวิตที่หลวงพระบาง เมื่อ 29 ตุลาคม 2404 อายุเพียง 35 ปี ศพของเขาฝังที่ริมน้ำคานด้านเหนือหลวงพระบาง          

           บันทึก ของเขาที่น้องชายและภรรยาเขาตีพิมพ์ขึ้นภายหลังนั่นเองทำให้นครวัดนครธมกลาย เป็นสิ่งเลื่องลือถึงความมหัศจรรย์ของโลกตะวันออก และเป็นผลทำให้ฝรั่งเศสสนใจในดินแดนอินโดจีนอย่างมหาศาลจนในที่สุดก็เข้ามา ยึดครองเป็นอาณานิคม           

            การสำรวจแม่น้ำโขงไม่ได้สิ้นสุดที่ มูโอต์เท่านั้น ยังมีอีกชุดหนึ่งคือ ดู ดาร์ต เดอ ลาเกร (Dudart de Lagree) ในปี 2409 วัตถุประสงค์เพื่อเส้นทาง “ประตูหลัง” เข้าสู่เมืองจีน ทีมสำรวจชุดนี้มีนายทหารหนุ่มที่ “คลั่งแม่น้ำโขง” ชื่อ ฟรานซีส การ์นิเยร์ มาด้วย  ชื่อบุคคลเหล่านี้จะปรากฏบนสุสานของมูโอต์ด้วย….    


เส้น ทางเข้าถึงสุสานเหมือนถูกพัฒนามาเมื่อเร็วๆนี้เอง มีสะพานไม้ไผ่ข้ามลำห้วยปูพื้นด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ ทำราวจับและกันตกลงไปในห้วยพอใช้ได้ เส้นทางเดินไปถูกปรับให้เป็นทางชั่วคราวดูสะอาด เข้ากับบรรยากาศดี เบื้องล่างซ้ายมือคือแม่น้ำคาน ใส เขียวขจีด้วยไคเต็มท้องน้ำ ผมละตื่นเต้นที่จะเห็นตัวสุสาน….   


คุณครูสาวพาเด็กๆมาทำความสะอาดสุสานมูโอต์ทุกสัปดาห์ 

เราเดินมาสัก 50 เมตรก็มาถึงสถานที่ เราแปลกใจที่มีเด็กๆอยู่กันเต็ม(ประมาณ 30 คน) ต่างก็กวาดใบไม้ ทำความสะอาดบริเวณสุสานทั้งหมด มีสาวใหญ่สองท่านคุมการทำงานของเด็กๆ  ผม เข้าไปสอบถามทันที เป็นใคร มาทำอะไร มาจากไหน มากับใคร ทำไมถึงมา มาบ่อยไหม….คำตอบคือ เป็นคณะเด็กนักเรียนของโรงเรียนประจำหมู่บ้านนุ่นเหนือขึ้นไปไม่ไกลมากนัก คุณครูสองท่านเป็นคนพามาทุกต้นสัปดาห์ เป็นคำสั่งของท่านเจ้าแขวงหลวงพระบางให้มาทำความสะอาด… 

ผมถามเธอว่าเธอรู้จักประวัติคนที่นอนในสุสานนี้ไหม เธอรู้จักครับ..??   


เธอแสดงความยินดีที่เรามาเที่ยวสุสานแห่งนี้ ที่เธอเด็กนักเรียนและชาวบ้านใกล้ๆแห่งนี้มีส่วนมาดูแล… 

ผม นึกถึงการจัดการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ว่าเขาทำได้ดี ที่เอานักเรียนมาช่วยกันทำความสะอาดบริเวณแห่งนี้และหากครูท่านนี้จะถือ โอกาสบรรยายประวัติศาสตร์นายคนนี้กับหลวงพระบาง กับประเทศลาว ต่อหน้าสุสาน และสถานที่ทางประวัติศาสตร์จริงแห่งนี้ ผมว่ามันน่าเรียนยิ่งนัก…   


เด็ก นักเรียนตั้งใจทำความสะอาดกันเต็มที่อย่างมีความสุข แบ่งกันรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆจนทั่วบริเวณ แม้ว่าสถานที่จะยังไม่ได้ลงทุนมากนักในการปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ก็ดีมากสำหรับผมเห็นเช่นนั้น ร่มรื่น แต่ไม่น่านอนตาย อย่างท่านอาจารย์ชาญวิทย์กล่าว อิ..อิ..   


ถ้า ถามถึงความสมบูรณ์ของการให้ความรู้ที่เรียกว่า สังคมแห่งการเรียนรู้นั้น ผมว่า ยังขาดบางอย่างไป ซึ่งสำคัญมากๆ เหมือนกับ หลายๆแห่งในเมืองไทยก็ขาดสิ่งที่ผมจะกล่าวนี้ คือ…. ขาดอะไรสักอย่างที่อธิบายถึงสุสานแห่งนี้ เขาเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หลวงพระบางและลาวอย่างไร  ทำไมถึงมาอยู่ในสุสานแห่งนี้..ฯลฯ ไม่มีแผ่นป้ายบรรยายข้อความดังกล่าว  มีผู้รู้ประวัติศาสตร์จากการอ่านหนังสือเท่านั้น  แต่ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจริงๆคงจะน่าฟังน่าศึกษามากกว่า แต่ไม่มี.. คนมาดูที่ไม่ทราบประวัติศาสตร์ก็จะไม่สัมผัสพัฒนาการของสังคมแห่งนี้ไป …   


ชื่อ บุคคลและพ.ศ.มันบอกอะไรแก่คนทั่วไปบ้าง หากไม่มีการบรรยายก็ไม่ทราบว่ามันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคนี้ อย่างไร น่าเสียดายที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบางไม่ได้ทำสิ่งนี้ไว้ ผมคงมีโอกาสสะท้อนเรื่องนี้ให้เจ้าเมืองบ้างในโอกาสข้างหน้า 

บันทึกผมน่าจะจบลงตรงนี้ แต่หากท่านสังเกตที่ตัวสุสานจะมีชื่อ  ”Pavie” อยู่ด้วย ผมคุ้นๆชื่อนี้จริงๆ อีตาหมอนี่เกี่ยวข้องกับไทยมากมายนัก  

ทำ ให้ผมต้องย้อนไปทบทวนประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อจะทราบประวัติ ซึ่งก็พบว่า คนชาติเดียวกับมูโอต์ คือเป็นฝรั่งเศสที่รัฐบาลเขาส่งมาปกครองญวนซึ่งฝรั่งเศสเอามาเป็นอาณานิคม และPavie ก็คิดขยายอาณานิคมไปทางตะวันตกคือ เขมรลาว ไทย ซึ่งสมัยนั้นลาว เขมรส่วนใหญ่เป็นประเทศราชของไทยในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 และที่ 5 ขอนำบางส่วนมาลงไว้ดังนี้  

               ในรัช สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ฝรั่งเศสได้ส่งเมอซิเออร์ เดอมองติญี (Monsieur de Montigny) เป็นราชทูตเข้ามาเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทย โดยยึดถือแนวทาง การทำสัญญาเช่นเดียวกับอังกฤษ ที่ได้ทำไว้กับไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ได้เริ่มมีกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ กงสุลฝรั่งเศสคนแรกคือ คองต์ เดอ คาสเตลโน (Conte de Castenau)  

               ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทยได้ส่งพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ไปทำสัญญากับฝรั่งเศสเรื่องเมืองเขมรกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ตามสัญญาฉบับนี้ไทยยอมรับรู้ว่าเขมรอยู่ใต้ความคุ้มครอง ของฝรั่งเศส ส่วนเมืองพระตะบองและเสียมราฐนั้น ฝรั่งเศสยอมให้ไทยปกครองตามเดิม ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสเริ่มแบ่งเขตแดนไทยกับเขมรบริเวณทะเลสาบกับแม่น้ำโขง ฝ่ายไทยต้องการเมืองจงกัล เมืองโซเตียน เมืองมโนไพร และเมืองท่าราชปริวัตรเป็นของไทย 

                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ไทยได้ส่งพระยาราชวรากูล (บุญรอด กัลยาณมิตร) ไปเจรจากับฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนและการภาษี จับปลาในทะเลสาบ การเจรจาปัญหาเขตแดนไม่คืบหน้านัก เนื่องจากฝรั่งเศสเริ่มทำสงครามกับเยอรมนี  

               ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ไทยยกกำลังไปปราบฮ่อ โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ฝรั่งเศสได้กล่าวหาไทยว่าถือโอกาสรุกล้ำเข้าไปในดินแดนลาว ซึ่งอยู่ในอำนาจของญวน ซึ่งฝรั่งเศสกำลังจัดการปกครอง เมืองญวนอยู่ ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำอนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง โดยมี ม.ปาวี (Auguste Pavie) เป็นไวซ์กงสุล (Viee Consul) ประจำเมืองหลวงพระบาง เพื่อทำหน้าที่ดูแลความเคลื่อนไหวของไทยในดินแดน ลาว และสำรวจการสร้างทางระหว่างตังเกี๋ยกับแม่น้ำโขง  

                ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ไทยกับฝรั่งเศสได้เจรจาเรื่องปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับญวน โดยตั้งกรรมการผสม โดยมี ม. ปาวี เป็นหัวหน้าคณะ
ออกทำการสำรวจแผนที่และภูมิประเทศชายแดน และในปีต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันว่า กองทหารไทยจะไม่เข้าไปในแคว้นสิบสองจุไทย ส่วนในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นพวน คงให้อยู่ใน สถานะเดิมคือ ทหารฝ่ายใดตั้งอยู่ที่ใดก็ให้คงอยู่อย่างนั้น ห้ามรุกล้ำเขตซึ่งกันและกัน จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันที่กรุงเทพ ฯ ส่วนทางด้านคำเกิด คำม่วน กองทหารไทยยกไปตั้งจนถึงเขตแดนญวน ม.ปาวี ก็ได้ทำความตกลงกับ ข้าหลวงเมืองหนองคาย ให้ต่างฝ่ายต่างรักษาสถานะเดิม คือให้ฝ่ายไทยอยู่ที่คำม่วน ฝรั่งเศสอยู่บ้านนาเป  

               ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ม.ปาวี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นไวซ์กงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ และได้เลื่อนฐานะเป็นราชฑูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๕ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสชื่อ ม.เดอลองดล์ ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาดินแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมร รัฐสภาฝรั่งเศสเห็นชอบ และให้รับดำเนินการต่อไป จากนั้นฝรั่งเศสได้ยกกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงเข้ามายังกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการใช้กำลัง ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ใน ร.ศ.๑๑๒  

นี่ คือเรื่องราวของ สุสานมูโอต์ และชื่อผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนความสัมพันธ์กับสยามประเทศในยุคนั้น ทำให้ทราบพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่นำพาประเทศรอดพ้นการล่า อาณานิคมของฝรั่งเศสไปได้… 

ได้ความรู้สึกดีดีต่อประเทศชาติ มากมายทีเดียวครับ… 

———————— 

หมายเหตุ: ข้อมูลจาก จดหมายเหตุแดนสยาม oursiam.net 

บันทึกครั้งแรกที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/161686


เห่อเฮ 10 หลวงพระบางในสมัยรัชกาลที่ 5

562 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:11 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 10436

เพื่อนลานทราบไหมว่า เส้นทาง น่าน-เมืองเงิน-หงสา-หลวงพระบางคือ เส้นทางประวัติศาสตร์ที่รัชการที่ 5 ได้ว่าจ้าง มร.เจมส์ แมคคาร์ธี ให้ทำการสำรวจและทำแผนที่สยามอย่างละเอียดช่วงพ.ศ.นั้นหลวงพระบางเป็นบริเวณดินแดนสยาม อีตาเจมส์ ต่อมาเข้ารับราชการได้ราชทินนามเป็น “พระวิภาคภูวดล” ในตำแหน่ง “เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่” ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย 

หมายเหตุ: บันทึกนี้เคย post แล้ว เอามาแสดงใหม่เผื่อเพื่อนลานยังไม่ได้ผ่านตาครับ

————–

เมื่อ อังกฤษยึดครองอินเดีย พม่า ได้ก็พยายามทะลวงเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ทางประตูหลัง คือการเข้าทางแม่น้ำอิรวดี สาลวินไปยังยูนนาน ฝรั่งเศสมาทีหลังก็เร่งยึดเวียตนามกัมพูชา ลาว และเร่งสำรวจแม่น้ำโขงทันที ดังที่ ดูดาร์ท เดอ ลาเกร นายทหารเรือฝรั่งเศส และเรือโท ฟรานซิส การ์นิเยร์ เป็นผู้บุกเบิกทำหน้าที่สำรวจให้กับรัฐบาลเขา

ก่อน หน้านี้มีชุดสำรวจแล้วสองชุดคือ ของอองรี มูโอต์ที่เล่าให้คราวที่แล้ว ซึ่งมูโอต์ แต่ฝรั่งตาน้ำข้าวก็จบชีวิตเพราะไข้ป่าที่หลวงพระบางด้วยวัยหนุ่มแน่นเพียง 35 ปีเท่านั้นเอง

มีการสำรวจแม่น้ำโขงชุดที่สองแต่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เป็นคณะที่รัฐบาลสยามว่าจ้าง หัวหน้าคณะเป็นชาวฮอลันดาชื่อ ดุยส์ฮาต (Duyshart) ผู้ร่วมสำรวจเป็นชนพื้นเมืองทั้งหมดมีถึง 40 คน  ช่วง เวลาที่สำรวจของคณะนี้เป็นช่วงเดียวกันที่คณะของฝรั่งเศสกำลังเดินทางขึ้น แม่น้ำโขง แต่คณะสยามล่องเรือจากภาคเหนือ และทั้งสองคณะได้พบกันช่วงหนึ่งในแม่น้ำโขง งานสำรวจแม่น้ำโขงของดุยส์ฮาร์ตที่รับจ้างสยามไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่เจมส์ แมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) ได้ใช้ผลสำรวจของดุยส์ฮาร์ตในการเตรียมทำแผนที่สยามอย่างละเอียด (ดี.จี.ฮอล์ล 2549)


 Mr. James Fitzroy McCarthy หรือพระวิภาคภูวดล

อีตาแมคคาร์ธีนี้ เจ้าเป็นไผหรือครับ  ก็เป็นเจ้าหน้าที่กองแผนที่อังกฤษที่เข้ามาปฏิบัติงานที่ อินเดีย พม่า จนถึงเขตแดนไทย รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญ ในการทำแผนที่ เพราะช่วงนั้นกำลังต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันในสมัยพระองค์ท่าน รัฐบาลสยามจึงจ้างนายแมคคาร์ธีเข้ามาเป็นข้าราชการเมื่อปี 2424 อีกสองปีต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิภาคภูวดล” ในตำแหน่ง “เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่” ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย 

20 ปีที่แมคคาร์ธีรับราชการ เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสำรวจพื้นที่ทำแผนที่ และก็สำเร็จตีพิมพ์ออกมาตามแบบสากลในปี 2440 ในการสำรวจพื้นที่นั้นดำเนินการโดยพระราชโองการรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการหนึ่งสรุปความได้ว่า

“เสนาบดี ผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือ ถึงข้าหลวงตรวจการ เจ้าเมืองและข้าราชการผู้น้อยในมณฑลนี้” มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจเดินทางไปจนถึงชายแดน และทำการสำรวจในมณฑลต่อไปนี้ นครสวรรค์ พิศณุโลก พิชัย ตาก เชียงใหม่ เถิน นครลำปาง น่าน หลวงพระบาง หนองคาย พวน
นครจำปาศักดิ์
อุบลราชธานี พระตะบอง
นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ท่าอุเทน และมณฑลเล็กๆตลอดแนวชายแดนในอำนาจการปกครองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเจ้าพนักงานสำรวจมาถึงให้ข้าราชการทุกคนช่วยเหลือจัดพาหนะ คนงาน เสบียงให้…

พระวิภาคภูวดลเดินทางไปหลวงพระบางถึงสามครั้งเพื่อสำรวจ “งานสามเหลี่ยม” ซึ่ง คือ กระบวนวิธีการทำแผนที่โดยอ้างอิงหมุดมาตราฐาน กระบวนวิธีนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบ GPS ในปัจจุบัน       

   

ซ้าย แผนที่แสดง”งานสามเหลี่ยม”ที่อ้างอิงหมุดมาตราฐานมาจากประเทศอินเดีย ขวา คือแผนที่ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จัดทำด้วยระบบ GPS เมื่อปี 2534 มีหมุดมาตราฐานที่ภูเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี  

ต่อมากองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) เพื่อนแมคคาร์ธี ซึ่งเป็นช่างแผนที่จากอินเดียเข้ามารับราชการไทย พระวิภาคภูวดลได้ยกกองออกเดินทางสำรวจพื้นที่มีนายคอลลินส์  และหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน 

          จาก น่านไปหลวงพระบาง ได้แยกกองออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยนายคอลลินส์ และนายเรือโท รอสมุสเซน ไปทางบก อีกกลุ่มหนึ่งนำโดยพระวิภาคภูวดล ไปทางท่านุ่น  แล้วเดินทางทางน้ำไปบรรจบกันที่หลวงพระบาง

          กลุ่มพระวิภาคภูวดลได้ผ่านเมืองจุก (เอกสารที่คัดลอกมากล่าวว่าเมืองจุกคือเมืองหาสาวดี ผู้บันทึกคิดว่าน่าจะเป็นเมือง “หงสา” ในปัจจุบันมากกว่า) มีทุ่งพื้นราบยาวประมาณ ๖x๑๐ ไมล์ล้อมรอบด้วยภูเขา มีภูเขาไฟ ๒ ลูก โผล่ให้เห็น ชื่อ ภูไฟใหญ่ และภูไฟน้อย พระวิภาคภูวดลได้แวะไปดูภูไฟใหญ่ มีทางขึ้นไปถึงปากปล่องภูเขาไฟ ทรงวงรี ขนาด ๑๐๐x๕๐ หลา ปากปล่องภูเขาไฟข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้างหนึ่งประมาณ ๕๐ ฟุต เมื่อเอาเศษไม้แห้งใส่เข้าไปตามรอยแตกร้าวไม่ช้าได้ยินเสียงเหมือนไฟคุขึ้น มีควันออกมา และต่อมาเห็นไฟไหม้ขึ้นมาที่เศษไม้นั้น แต่ ที่รอยแตกร้าวอื่นจะเห็นมีแต่ควันขึ้นมา 

          เมื่อ เดินทางต่อไปถึงท่านุ่น ริมแม่น้ำโขงกลุ่มของพระวิภาคภูวดลได้เดินทางทางน้ำไปพบกันกับอีกกลุ่มหนึ่ง ที่หลวงพระบาง กองแผนที่ได้เดินทางต่อไปยังทุ่งเชียงคำซึ่งเป็นที่ตั้งกองทหารไทย กำลังทำการปราบพวกก่อการร้ายฮ่อ เมื่อเสร็จธุรกิจกับข้าหลวงที่กำลังทำการปราบฮ่อ  ได้ยกกองทำแผนที่ไปที่หลวงพระบาง และทำการบุกเบิกสำรวจและทำแผนที่ภูมิประเทศบริเวณเหนือของแม่น้ำโขง และตะวันออกของหลวงพระบาง  เมื่อเสร็จก็ยกกองกลับกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๗          
         

          พระวิภาคภูวดลได้ขึ้นไปภาคเหนืออีกสองครั้ง  เพื่อทำแผนที่ให้แก่กองทัพโดยไปที่เมืองเทิง อยู่ทางเหนือของหลวงพระบาง  และ เวลานั้นเป็นที่ตั้งกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และได้กลับกรุงเทพฯ ปลาย พ.ศ. ๒๔๒๙ ครั้งที่สองที่พระวิภาคภูวดลเดินทางหลวงพระบางนั้นท่านเดินทางไปเชียงใหม่-เชียงราย แล้วนั่งเรือลงแม่น้ำโขงล่องไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง   

          การตายของมูโอต์ที่หลวงพระบางนั้น พระวิภาคภูวดล ได้บันทึกไว้เช่นกันว่า ”ทางทิศตะวันออกมีเขาชื่อ ภูสวง(Pu Suang) เป็นที่ที่ มูโอต์(Mouhot) นัก วิทยาศาสตร์ผู้ท่องเที่ยวมาสิ้นชีวิต…ชาวลาวเชื่อกันว่าเขาตายเพราะผีทำ เนื่องจากบนยอดเขานั้นมีขุมทรัพย์ ซึ่งมังกรเฝ้าอยู่….ผู้ที่พยายามไต่เขาจะต้องตายทุกคนไป มูโอติ์ ได้พยายามแล้วก็จับไข้และตาย…”

          เมื่อกราบถวายบังคมลารัชกาลที่ 5 เพื่อกลับบ้านเกิดเมืองแล้วได้เขียนหนังสือเผยแพร่ 2 เล่ม คือ Report of Survey in Siam และ Surveying and Exploring in Siam ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้นะครับ ดีมากเลยครับ เส้นทางที่พระวิภาคภูวดลลงเรือสำรวจแม่น้ำโขงในสมัยนู้นนั้น

ในกลางเดือนนี้ ผู้บันทึกก็จะลงเรือไปสำรวจแม่น้ำโขงด้วยเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์ต่างกันครับ….

ข้อสังเกต: คณะสำรวจที่สยามจ้างไปนั้นไม่มีการวาดรูปกลับมาเหมือนคณะของทีมสำรวจ ฝรั่งเศสเลย คณะของฝรั่งเศสจะมีหมอ นักธรณีวิทยา นักธรรมชาติวิทยา ช่างวาดภาพ ถ่ายภาพ ทหารคุ้มกัน ชาวบ้านผู้ชำนาญทาง… 

แหล่งข้อมูล:
Report of Survey in Siam และ Surveying and Exploring in Siam

Post ครั้งแรกที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/157989


เห่อเฮ 10 หลวงพระบาง และอองรี มูโอต์

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:46 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1464

หมายเหตุ: ผมหยิบเอาเรื่องราวหลวงพระบางเก่าที่ผมเคยpost มาแล้วเอามาลงใหม่อีกครั้ง เผื่อเรียกน้ำย่อยเฮสิบครับ เหมือนเรียนประวัติศาสตร์ก่อนไปครับ

—————-

หลาย ครั้งผมเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอ่านหนังสือท่องเที่ยว สถานที่นั้นๆก่อนไปเที่ยว บางคนก็เดินอ่านไปดูสถานที่นั้นๆไป เราก็ชมว่าเขาเที่ยวแบบศึกษาจริงๆ  แต่บ้านเรามีท่องเที่ยวแบบฉิ่งฉับทัวร์ กินเหล้าเมากันตั้งแต่บนรถแล้ว  พอลงรถได้ก็หิ้วขวดเหล้าลงไปด้วย เมื่อกินหมดขวดก็ปาเข้าป่าแถวนั้น ร้ายไปกว่านั้นก็ทุบให้แตกเล่น ..มีไรป่าวเพ่…  เดินไปหน่อยก็เอากล้องมาถ่ายรูปกันแล้วก็เดินกลับไปร้องเพลงลั่นรถอีก  สนุกซะไม่เมี๊ยะ.. ร้ายไปกว่านั้นก็จารึกอักษรลงบนแหล่งเที่ยวนั้นด้วย

แต่ที่ผมได้ยินมาว่า “นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็นกิน ปล่อยเป็นหลง ลงเป็นซื้อ” นี่ก็อีกฉายาหนึ่งของนักเที่ยวไทย..อิอิ…

ผม ก็เลยเอาข้อมูลอีกส่วนหนึ่งมาให้เพื่อนๆได้ผ่านหูผ่านตากัน เห็นหลายๆคนเคยไป กำลังจะไป และฝันจะไปเมืองหลวงพระบางกันครับ ข้อมูลต่อไปนี้เป็นประวัติศาสตร์ครับที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขง หลวงพระบางและเมืองไทยของเรา และ….


รัชการที่ 4 กับอองรีและหลุมศพเขาที่หลวงพระบาง

ในสมัยที่ลาวและกัมพูชายังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ากรุงเทพฯ ในรัชสมัยรัชการที่ 4 มีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเข้ามาสำรวจดินแดนสยาม ลาว กัมพูชา เมื่อปี 2401-2404 นายคนนี้ชื่อ อองรี มูโอต์ (Henri Mouhot) เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่ได้รับทุนจากอังกฤษ นายคนนี้ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ค้นพบ นครวัด และเป็นเจ้าของวลีโด่งดังที่ว่า see Ankor and die

เขาสำรวจทั่วดินแดนลุ่มน้ำโขง  เขามากรุงเทพฯ จันทบุรี เพชรบุรี สระบุรี  ว่า กันว่าการเดินทางครั้งสำคัญคือเลาะลัดจากตราดไปเมืองกัมปอต เดินต่อไปยังอุดง เมืองหลวงกัมพูชาสมัยนั้น แล้วขึ้นตนเลธมจนถึงนครวัด แล้วกลับเข้ากรุงเทพฯ

ในปี 2404 เขาเดินทางเข้าสู่ที่ราบสูงโคราช ไปชัยภูมิ เข้าปากลายแล้วขึ้นไปหลวงพระบาง ได้ไปเฝ้าเจ้ามหาชีวิต “จันทราช” และในที่สุดมูโอต์ก็เป็นไข้ป่าและเสียชีวิตที่หลวงพระบาง เมื่อ 29 ตุลาคม 2404 อายุเพียง 35 ปี ศพของเขาฝังที่ริมน้ำคานไหลลงแม่น้ำโขงที่เหนือวัดเชียงทอง

บันทึกของมูโอต์ถูกส่งกลับไปอังกฤษให้น้องชายเขา ภริยาเขาตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสหลายครั้งหลายหน

ความ สำเร็จในการสำรวจครั้งนั้นและบันทึกเขาตีพิมพ์นั่นเองทำให้นครวัดนครธมกลาย เป็นสิ่งเลื่องลือถึงความมหัศจรรย์ของโลกตะวันออก และเป็นผลทำให้ฝรั่งเศสสนใจในดินแดนอินโดจีนอย่างมหาศาลจนในที่สุดก็เข้ามา ยึดครองเป็นอาณานิคม


การสำรวจแม่น้ำโขงไม่ได้สิ้นสุดที่ มูโอต์เท่านั้น ยังมีอีกชุดหนึ่งคือ ดู ดาร์ต เดอ ลาเกร (Dudart de Lagree) ในปี 2409 วัตถุประสงค์เพื่อเส้นทาง “ประตูหลัง” เข้าสู่เมืองจีน ลาเกรเป็นผู้แทนของฝรั่งเศสในเวียตนามใต้คุ้นเคยดินแดนแถบนี้ดี ทีมสำรวจชุดนี้มีนายทหารหนุ่มที่ “คลั่งแม่โขง”  ชื่อ ฟรานซีส การ์นิเยร์ มีแพทย์ทหารเรือสองคน มีนักพฤกษศาสตร์นักธรณีวิทยา และช่างภาพ


ความยากลำบากของคณะสำรวจเพราะเกาะแก่งมากมาย

คณะเดินทางชุดนี้ออกจากไซ่ง่อนตามลำน้ำโขงและนครวัด และเสียเวลาเพื่อขอใบอนุญาตผ่านแดนสยาม (ซึ่งเวลานั้นสยามมีอธิปไตยเหนือมณฑลบูรพา หรือมณฑลเขมรในรัชสมัยรัชการที่ 5 ) คณะสำรวจผ่านเวียงจัน ฝรั่งเศสบันทึกช่วงนี้ว่า เวียงจันยังเป็นเมืองร้าง มีป่าไม้ปกคลุมหนาทึบ นี่คือผลจากสงครามเสียกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวเวียงจัน เมื่อปี 2371 ในสมัยสงครามกู้กรุงของ “เจ้าอนุวงศ์” ที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 และ “ท้าวสุรนารี”


ภาพบน เป็นภาพคอนพะเพ็งฝีมือวาดโดยนักสำรวจ

ชุดสำรวจนี้ถึงหลวงพระบางและได้เข้าเฝ้าเจ้ามหาชีวิต “จันทราช” เช่นเดียวกันกับ มูโอต์ แล้ว เดอ ลาเกร เดินทางขึ้นแม่น้ำโขงต่อไปอีก เมื่อเข้าเขตเมืองจีนเขาก็เสียชีวิต  การ์นิเยร์ เดินทางต่อจนถึงเมืองต้าลี่ (น่านเจ้า) แล้วก็ตัดสินใจสิ้นสุดการสำรวจที่นั่น สรุปเขาใช้เวลา 2 ปี และรู้ว่าแม่น้ำโขงไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางเข้าประตูหลังเมืองจีนได้ เพราะเกาะแก่งมากมายนั่นเอง ฝรั่งเศสตัดสินใจเลิกล้มที่จะใช้แม่น้ำโขงเข้าสู่จีน เช่นเดียวกับที่อังกฤษก็เลิกล้มใช้แม่น้ำอิรวดีและสาละวินเข้าเมืองจีน


ภาพพิมพ์เมืองหลวงพระบางและวัดพูสี ภาพล่างเป็นเรือยาวลงจากพระราชวังหลวงพระบาง(ตีพิมพ์ปี 2416)

ฝรั่ง เขาคิดอะไรกับดินแดนแถบนี้เล่า หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราก็จะเข้าใจสถานที่นั่นๆมากขึ้นถึงวัฒนธรรมประเพณี ศิลปะ อาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ…เราจะเข้าใจจิตใจเขาที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์เหมือนเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เสียกรุงให้พม่า…

หาก ท่านไปหลวงพระบางก็อย่าลืมไปเยี่ยมดูหลุมศพ มูโอต์ที่ริมน้ำคานเหนือวัดเชียงทองนะครับ ท่านอาจารย์ชาญวิทย์กล่าวว่า …หลุมศพนี้..ช่างน่า “นอนตาย” และงดงามเสียนี่กระไร….

———-

ข้อมูล: The Mekong: From Dza Chu-Lancang-Tonle Thom to Cuu Long บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ

ข้อมูลนี้เดิมอยู่ที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/157488


แมลงสาบ..

41 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3915

วันก่อนพบ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคอีสาน(จำชื่อใหม่ของสำนักงานนี้ไม่ได้แล้ว) ไปออกกำลังกายด้วยกัน ท่านกล่าวว่า

พี่..ปีนี้เตือนเกษตรกรหน่อยนะเพราะเมื่อต้นปีการเพาะปลูกข้าวฝนดี มาช่วงนี้ฝนเริ่มจะทิ้งช่วง หรือตกก็ไม่ได้น้ำ แถมอากาศร้อนอบอ้าว ธรรมชาติแบบนี้แมลงศัตรูพืชจะเจริญเติบโตเร็วมาก และจะเข้าทำลายพืชผักของเกษตรกร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่ลงทุนสูงให้หมั่นตรวจตรา หากพบมากผิดปกติ ให้รีบรายงานให้เกษตรอำเภอทราบ จะได้รีบแก้ไขแต่ต้นมือ….


เมื่อคืน คนข้างกายลงไปชั้นล่าง เมื่อขึ้นมาจะเข้าประตูก็เอะอะ เสียงดังอยู่ที่ประตู

ออกไปดูพบว่า มีแมลงสาบนับสิบตัว บินชนมุ้งลวดหน้าต่าง พยายามจะเข้ามาในห้อง.. เป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่เคยพบมาก่อน…


เห่อเฮฯสิบ

383 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:53 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8913

เห่อ เฮฯ 10 น่าน เมืองเงิน เมืองหงสา หลวงพระบาง โปรแกรมของ อ.ภูคา


อาจารย์ Goo พาผมไปเที่ยวเฮ 10 มา ระยะทางจากเมืองเงินไปเมืองหงสาโดยประมาณเท่ากับ 32 กม. จากเมืองหงสาไปหลวงพระบางประมาณ 93 กม. สภาพถนนอุดมด้วยฝุ่นขาวๆ ก้อนกรวด และป่าเขาลำเนาไพร

ต่อไปนี้ ปาลียน เสร็จจากการเต้นกับสาวงามแล้วคงมาเล่าเรื่องราวเรียกน้ำย่อยเฮ 10 ละมั๊ง.. อิอิ งานนี้ญาติจากตรังจะขับรถมาร่วมขบวนด้วย เพราะอยากไปเที่ยวหลวงพระบาง ที่ครั้งหนึ่งคือประวัติศาสตร์ของเรา


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 11 กล้วยอบสะเมิง

1320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 76435

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2523

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

พื้นที่สะเมิงนั้นอาชีพหลักคือการทำนาปีข้าวเหนียว และข้าวไร่ตามไหล่เขา หลังนาก็ปลูกกระเทียม ซึ่งขึ้นชื่อว่าคุณภาพดี เพราะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี กระเทียมที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือใช้ปุ๋ยมูลสัตว์นั้นเก็บเอาไว้นานๆจะไม่ฝ่อ เหมาะเอาไปทำพันธุ์ต่อ สรรพคุณทางยาก็มีมากกว่า นอกจากนี้มีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ข้าวโพดพื้นบ้าน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ฯลฯ พืชเศรษฐกิจที่ทำเป็นแบบ Contract farming คือยาสูบพันธุ์เวอจิเนีย และที่ขาดไม่ได้คือกล้วยน้ำว้า


ชาวสะเมิงมีทั้งคนเมืองและชนเผ่าไทยลื้อ นอกนั้นก็เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากเป็นม้งกับปกากะญอ กล้วยที่สะเมิงลูกใหญ่ หวาน ดก เพราะดินภูเขาดีมาก อาชีพที่สำหนึ่งคือการทำกล้วยอบขาย

เราเคยได้ยินกล้วยตาก แต่ที่สะเมิงเป็นกล้วยอบ เพราะใช้วิธีอบในเตา เกษตรกรเรียนรู้และดัดแปลงมาจากอาคารอบ หรือบ่มใบยาสูบนั่นเอง โดยสร้างอาคารเล็กๆขึ้น ภายในอาคารปิดด้วยดินที่มีโครงด้านในเป็นไม้ไผ่สาน ทึบ แบ่งป็นสองชั้น ชั้นล่างเกือบติดพื้นดิน เว้นไว้สำหรับเอาฟืนท่อนใหญ่ๆใส่เข้าไปได้ ชั้นบนแบ่งย่อยเป็นชั้นสำหรับใส่ตะแกรงอบกล้วย จะกี่ชั้นก็แล้วแต่การออกแบบของเจ้าบ้านนั้น

ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างแบ่ง หรือ กั้นด้วยแผ่นเหล็กชิ้นใหญ่ เพื่อใช้เผาพื้นด้านล่างแล้วให้เกิดความร้อนส่งแผ่ไปอบกล้วยที่อยู่บนชั้นต่างๆนั้น


ขั้นตอนการอบกล้วยนั้นเป็นความลับ(ทางราชการ)ที่มีเทคนิคเฉพาะของใครของมัน แต่โดยทั่วไปคือ คัดเลือกกล้วยที่เริ่มสุก และกล้วยเหล่านั้นจะไม่เอามาจากสวนที่มีต้นหญ้าคาขึ้น ชาวบ้านบอกว่า หากเอากล้วยจากสวนที่มีหญ้าคา จะทำให้กล้วยออกรสฝาดมากกว่า เอากล้วยมาปอกเปลือกลงในอ่างใหญ่ ล้างน้ำปูนเพราะ….

แล้วก็เอาไปเข้าเครื่องบีบให้แบนดังรูป แล้วก็เอาไปวางเรียงกันในตะแกรง มากเพียงพอสำหรับการอบครั้งหนึ่งๆ แล้วก็ปิดประตู ทำการก่อไฟเผาฟืนใส่เข้าไปด้านล่างของเตาอบนี้ ควบคุมความร้อนด้วยเทอร์โมมิเตอร์ ความร้อนเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ)

นานพอสมควรก็เปิดประตูเอาตะแกรงออกมากลับกล้วยเอาด้ายอื่นลงล่างบ้าง และสลับตะแกรงบนลงล่าง ล่างขึ้นบนบ้าง ดูแลฟืนให้มีตลอด นานเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ) เมื่อได้ที่ก็เอาออกมาทิ้งให้อุ่นๆบรรจุถุงพลาสติก ขาย

สมัยก่อน กก.ละ 10 บาท กินกันพุงกาง เดียวนี้แพงขึ้นไปเท่าไหร่แล้วไม่รู้…

กล้วยอบสะเมิงขึ้นชื่อว่ารสอร่อย สะอาด ออกจากเตาก็เข้าถุงเลย.. ไม่ได้ทิ้งให้แมลงวันตอม..

ใครเข้าสะเมิงละก็ถามหากล้วยอบนะครับ ที่บ้านศาลา หรือบ้าน ป่ากล้วยก็ได้ รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 12 ส. ศิวรักษ์

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:42 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1164

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2524

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

 

เนื่องจากโครงการฯเป็นมูลนิธิของประเทศเยอรมัน และเข้ามาเมืองไทยโดยการชักนำของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตอังกฤษผู้โด่งดัง ท่านอาจารย์เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อสังคมในด้านต่างๆ ท่านเป็นผู้รู้กว้าง และสัมผัสการทำงานแบบนี้มามากจึงมีสาระที่อบรมบ่มเพาะสำนึกพวกเรามาเสมอ ท่านไปพูดที่ไหนๆ พวกเราก็แห่ไปฟังกัน


ประมาณปี พ.ศ. 2522 เราก่อตั้ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติขึ้นหรือ กป.อพช. ผมเป็นกรรมการในยุคแรกๆอยู่พักหนึ่ง เราเชิญท่านมาพูดให้สติแก่พวกเรา ท่านพูดถึงนักเขียนมากมาย เช่น ฟร้านซ์ เฟนอน, กอร์กี้, ฟริจอฟ คับปรา, อี เอฟ ชูเมกเกอร์, ฯลฯ นักคิดนักเขียนไทยก็มีมากมาย โดยเฉพาะท่าน ประยุต ปยุตโต หนังสือต่างๆที่นักพัฒนาชุมชนควรจะอ่านมากมาย เรางี้ แค่กระผีกของท่านก็ไม่ได้ ท่านอ่านหนังสือดีดีมากมาย และเอาแง่คิด ความรู้มาบอกกล่าวพวกเรา

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมท่านก็พาฝรั่งเข้าไปประเมินผลโครงการที่เราทำอยู่ ผมพาท่านท่องสะเมิงโดยท่านนั่งท้ายมอเตอร์ไซด์ เนื่องจากท่านไม่เคยนั่งมาก่อน เกร็งไปหมด ผมเองก็เกรงที่มีผู้ใหญ่ระดับโลกมานั่งท้ายมอเตอร์ไซด์ ท่านมาสัมผัสชีวิตพวกเรา มาดูงานที่เราทำ มาเยี่ยมชาวบ้าน…และให้สติแก่พวกเรา

เพราะเรามีแต่ความตั้งใจทำงาน มีความต้องการช่วยเหลือชุมชนผ่านระบบโครงการ แต่ไม่มีประสบการณ์ สมัยนั้นในมหาวิทยาลัยยังไม่มีภาควิชาพัฒนาชุมชน มีแต่เรียนกันเอง สนใจกันเอง และไปหาประสบการณ์กันเอง ดีที่สุดก็ไปฝึกงานหรือศึกษาดูงานกันที่ต่างประเทศ เช่นที่ ฟิลิปปินส์ที่เรียกสถาบัน “เซียโซลิน” ที่ศรีลังกาก็โครงการ “ซาโวดายา” ที่อิสราเอลก็ “กิบบุช” และ “โมชาป” บลังกาเทศก็คือ “กรามินแบ๊งค์” ของมูฮัมหมัด ยูนุส ที่ได้รับรางวัลโนเบล ที่เกาหลีก็โครงการ “แซมาเอิลอุลดอง” ของปักชุงฮี

ในเมืองไทยที่ทำกันอย่างจริงจังก็ต้องสภาคาทอลิคแห่งประเทศไทยที่ก้าวหน้ามากที่สุด อาจเรียกว่าเป็นต้นปฐมบทของงานพัฒนาเอกชนในประเทศไทย

ท่านอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ถือได้ว่าท่านเป็นปรมาจารย์ของคนทำงานเพื่อชุมชน


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 10 ตลาดม้ง..

54 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:52 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2124

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2521

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

เส้นทางเข้าตัวอำเภอสะเมิงนั้นเข้าได้สองทาง คือจากเชียงใหม่ แม่ริม โป่งแยง ขึ้นภูเขาเข้าสะเมิง หรือ เชียงใหม่ หางดง ขึ้นภูเขา เข้าสะเมิง เส้นทางหลังนี้ยาวกว่า นานๆเราก็เปลี่ยนบรรยากาศไปใช้เส้นทางเส้นนี้


สำหรับเส้นทางแรกนั้น เริ่มขึ้นภูเขาตั้งแต่ องแม่ริม เข้าทางน้ำตกแม่สา บ้านโป่งแยงนอก บ้านโป่งแยงใน แล้วขึ้นดอยสูง โครงการหลวงปางดะ แล้วลงเขาสู่ อ.สะเมิง

ระหว่างทางตรงยอดดอยสูงนั้นไม่ไกลจากที่นั่นจะมีหมู่บ้านชาวม้งตั้งอยู่ เขาก็จะเอาผลผลิตจากไร่มาขายข้างทาง สร้างเพิงแบบง่ายๆ มุงหลังคาด้วย “ใบกล้วยป่า” หรือบางครั้งก็เปลี่ยนเป็น “ตองตึง” ทำไม้ขัดแตะ สานด้วยไม้ไผ่ เอาใบตองป่ามาปู แล้วก็วางผลผลิตลงไป ก็มี ฟักทอง แตงร้าน น้ำเต้า แตงกวา ฯลฯ รวมทั้งไม้สนเกี๊ยะ คนทางเหนือทราบดีว่า ไม้สนเกี๊ยะนี้เอาไว้ใช้เป็นตัวเริ่มดังไฟ(ก่อไฟ)เพื่อทำการหุงต้ม เพราะเป็นไม้ที่มียางสนอยู่เต็ม ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟง่าย


ตลาดม้งแห่งนี้เป็นที่พวกเราอาศัยซื้อผลผลิตของเขาเอาไปทำกิน ฝากเพื่อนฝูงบ้าง และได้อาศัยเพิงเขาหลบฝน การซื้อขาย ราคาถูกแสนถูก เหมือนจะให้เปล่า

สมัยนั้นไม่มีสารเคมีที่ใช้กับพืชผักเข้ามาในสะเมิง แต่มีสารเคมีที่ใช้เฉพาะกับยาสูบพันธุ์เวอจิเนีย ภาพแบบนี้เดี๋ยวนี้หายไปหมดสิ้นแล้ว ไม่หลงเหลือ กลายเป็นรูปแบบใหม่ๆตาม เทรนด์ของการพัฒนา


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 9 อดีตผู้ว่าฯเชียงใหม่

935 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:52 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 49054

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2521

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ภาพนี้มีอายุ 31 ปีแล้ว


โครงการร่วมมือกับสภากาชาดไทย สมาคมสตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ ร่วมกันจัดฝึกอบรมสาระที่จำเป็นให้แก่แม่บ้าน สตรีทั่วไป ผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ เราได้ส่งสตรีที่จะไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็กมาเข้าหลักสูตรด้วย เพื่อนำความรู้ไปดัดแปลง ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่อไป

เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ผู้จัดได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาแจกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมทุกคนโดยนายประเทือง สิทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น

ท่านผู้ว่าท่านนี้ต่อมาอีก 2 ปี พ.ศ. 2523 ท่านใช้ปืนยิงตัวเองตายที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เหตุผลที่ทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์ภายหลังคือ ท่านไปพัวพันคดีคอรับชั่นโรงพิมพ์ของราชการในสมัยนั้น ท่านทนสภาพกดดันไม่ได้ก็จบชีวิตลงดังกล่าว


(ภาพนี้เอามาจาก internet ไม่ทราบที่อยู่แล้ว ขออภัยท่านเจ้าของภาพด้วย)

ภาพจวนผู้ว่าหลังนี้ ทราบว่าปัจจุบันเป็นอาคารสงวนไว้ และย้ายจวนผู้ว่าไปสร้างใหม่ จวนหลังนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานสมควรอนุรักษ์ไว้ ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนวรัตน์ขาเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ ติดริมปิง

คนเชียงใหม่ทราบรายละเอียดกรุณาขยายความด้วยเน้อ…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 8 ทัศนศึกษากรุงเทพฯ

1408 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 16782

กิจกรรมการพัฒนานั้นมีมากมาย ล้วนแต่เป็นความคาดหวังที่จะก่อเกิดในสิ่งที่ดี แก่บุคคล แก่ชุมชน แก่กลุ่ม องค์กร หรือแม้แต่ส่งผลสะเทือนในระยะยาว


แต่ทั้งหมดนั้นก็ก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นด้วย เพราะไม่ได้คิดถึงส่วนนี้ หรือคิดไม่ถึง หรือไม่ระมัดระวัง หรือ ฯลฯ

สะเมิงเป็นเมืองปิด หรือกึ่งปิด(เหมือนดงหลวงช่วงที่ผมเข้าไปใหม่ๆ) เพราะชาวบ้านมีเวลาส่วนใหญ่อยู่กับท้องที่ท้องถิ่น เชื่อมต่อกับโลกภายนอกด้วยรถโดยสารที่มีจำกัด และวิทยุที่ฟังได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะทีวี เลิกกันเลย ทั้งอำเภออาจจะมีไม่ถึง 10 เครื่อง เพราะเป็นพื้นที่ภูเขา ไม่สามารถรับคลื่นได้ สมัยนั้นยังไม่มีระบบดาวเทียม…

ความหวังดีของเราก็คือ พาคณะแม่บ้าน และเยาวสตรีออกไปศึกษาดูงานในเมืองจนถึงกรุงเทพฯ โดยเชื่อมกับเพื่อนองค์กรพัฒนาเอกชนในเมือง เพื่อดูแหล่งสลัม ซึ่งก็คือพี่น้องจากชนบทที่มาอาศัยที่นี่เพื่อหางานทำ….

เราคิดในแง่ดี มีการเตรียมมาตัวมาก ก่อนการเดินทาง ระหว่างการเดินทาง และหลังการเดินทาง พูดคุยกันมากเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สภาพสังคมในมุมต่างๆ ในครั้งนั้นเรามีโอกาสติดต่อกับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิสตรีที่ถูกกดขี่ เราเลือกกรณีขายบริการจำนวนหนึ่งที่มาทำงานในกรุงเทพฯ การพบปะพูดคุยกันมีการเตรียมการอย่างดี โดยภาพรวมก็ออกมาดี ใครต่อใครก็แสดงความเห็นว่า อยู่บ้านนอกเราดีกว่า ไม่มีเงินใช้แต่มีกิน ไม่ต้องดิ้นรน เผชิญปัญหาการกดขี่มากมายเช่นกรณีอาชีพนี้…

เราเดินทางกลับสะเมิง ต่างแยกย้ายกับกลับบ้าน….

……

ทุกอย่างก็เดินไปตามปกติ เราก็ออกตระเวนเยี่ยมเยือนพี่น้องกันตามแผนงาน..

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น…. มีหญิงสาวในหมู่บ้านหายตัวไปสามคน..

ต่อมาทราบว่าเธอเหล่านั้นแอบหนีหมู่บ้านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปหากลุ่มสตรีที่ขายบริการนั้น..??

พระเจ้า….

กิจกรรมของเรามีส่วนเป็นการชี้โพรงให้กะรอกเสียแล้ว…..



Main: 0.18375396728516 sec
Sidebar: 0.047697067260742 sec