ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

131 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:53 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4216

ภาพเก่าเล่าเรื่อง 15 บูรณาการทีมงาน

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

————-

งานหลักของเราที่สำคัญงานหนึ่งคือการสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งเราเลือกเป็นชนิดเครดิตยูเนี่ยนที่มีสภาคริสจักร์แห่งประเทศไทยเป็นผู้นำเข้ามาและจัดตั้งสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยทำงานสนับสนุนไปทั่วประเทศ


เราตระเวนขายความคิดนี้ตลอดทั้งปีทั่วทุกหมู่บ้านทั้ง 4 ตำบล โดยใช้วิธีออกไปประชุมชาวบ้านยามกลางคืน คุย คุย คุย มากกว่า 7-8 ครั้งต่อหมู่บ้าน ก่อนที่จะมั่นใจว่า เข้าใจ และสนใจเราจึงจะจัดตั้งขึ้นมา

รูปที่เห็นนั้นคือทีมงานของโครงการและทีมงานของ สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทยที่ตระเวนไปคุยกับชาวบ้านร่วมกับเรา โดยใช้รถมอเตอร์ไซด์ที่เห็นนั่นแหละ ส่วนฝรั่งคนนั้นเป็นอาสาสมัครชาวเยอรมันที่มาศึกษาชุมชนพักหนึ่งแล้วก็กลับไป ดูเขาจะสนใจมวยไทยมากกว่าชนบท เพราะเขาลงทุนไปเรียนมวยไทยที่กรุงเทพฯอยู่สามเดือน

เรามีกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด 27 กลุ่มใน 4 ตำบล จากปี พ.ศ. 2520 จนถึงปัจจุบันรูปแบบกลุ่มปรับเปลี่ยนไป เป็นการยุบรวมเป็นกลุ่มระดับตำบล ซึ่งมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่า ชนบทไกลปืนเที่ยงเยี่ยงสะเมิงนั้นจะมีนิสัยการออมและมีเงินมากขนาดนี้

อาจเป็นเพราะจิตตารมณ์ 5 ประการ หรือหลักการรวมกลุ่มของเครดิตยูเนี่ยนที่เน้น ความซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ ไว้วางใจกัน กลุ่มจึงเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มอื่นๆล้มหายตายจากไปนานแสนนานแล้ว…

อาจเป็นเพราะเราตอกย้ำความเข้าใจต่อหลักการจนอิ่มจึงจัดตั้งกลุ่ม มิใช่ประชุมเช้าตั้งกลุ่มตอนบ่าย แต่เราใช้เวลาตลอดทั้งปีให้ความรู้ความเข้าใจจนถึงแก่นแท้ ทะลุปรุโปร่ง จนแน่ใจแล้วจึงตั้งกลุ่มขึ้นมา แล้วเราก็เป็นพี่เลี้ยงต่ออีก 5 ปี..

นี่เองที่ผมมีความคล่องในการขับรถมอเตอร์ไซด์ เพราะขับจากบ้านนี้ไปบ้านโน้นวนเวียนในป่าเขาตลอดทั้งปี ค่ำไหนนอนนั่น กินกับชาวบ้าน นอนกับชาวบ้านแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านจนเขาเรียกเป็นลูกเป็นแม่ เป็นพ่อกันทั้งนั้น…

เอ..หมดงานพัฒนานี่ผมไปสมัครเป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้างได้สบายเลยนะเนี่ย อิอิ..


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 4

59 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:16 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3735

หนึ่ง..

เมื่อต้องจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ใหม่ด้านพัฒนาชนบท แม้แต่ได้รับเชิญไปฝึกอบรมวิศวกรหรือผู้ที่มีพื้นฐานวิชาชีพด้านอื่นๆก็เช่นกัน ผมมักใช้เครื่องมือทดสอบความคิดรวบยอดชิ้นหนึ่งครับ..

โดยตั้งโจทย์ว่า … ให้ทุกท่านเอากระดาษ A4 เอาปากกาหรือดินสอมา แล้วให้ลองใช้เวลาสัก 5 นาที ทบทวนเรื่องราวของชนบทที่ท่านรู้จัก แล้ววาดภาพชนบทเท่าที่ท่านรู้จักออกมาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อหมดเวลาให้ทุกคนจับกลุ่ม 5 คน เอารูปที่วาดนั้นมาดูร่วมกัน ซึ่งจะพบว่าคนนั้นมีสิ่งนั้นไม่มีสิ่งนี้ คนนี้มีสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้น แล้วให้ทั้ง 5 คนวาดใหม่ โดยให้มีองค์ประกอบรวมทั้งหมด ..ให้เวลา 5 นาที เอาภาพที่ได้จากกลุ่มมาติดบนกระดาน ให้ตัวแทนมาบรรยายภาพที่มีองค์ประกอบแทนเรื่องราวชนบทมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ทุกคนทราบ

สิ่งที่พบมากที่สุดคือ ภาพนั้นมักจะมีภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์ มีนกบินสองสามตัว มีต้นไม้ มีกระต๊อบ มีลำธาร มีทุ่งนา มีวัว ควาย เป็ด ไก่ …. แต่ส่วนใหญ่ไม่มี วัด พระ ภาพประเพณีต่างๆ…. สรุปแล้วมักจะได้ภาพชนบทที่เป็นลักษณะทางกายภาพเสียส่วนใหญ่ ส่วนลักษณะชนบทที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรม ประเพณี และเรื่องราวที่คนในสังคมมีต่อกันนั้น มักไม่มีรวมอยู่ในภาพเหล่านั้น

สอง..

หลายครั้งที่ต้องเดินทางไปตามเมืองใหญ่ แม้กรุงเทพฯ จะพักตามโรงแรมระดับกลางๆ บางครั้งที่มีโอกาสพักระดับ 5 ดาว สุดเริด… วุ้ย..ค่าเช่าต่อคืนนั้นมากกว่าเงินเดือนของคนในสำนักงานบางตำแหน่งอีก ???? ทุกอย่างในโรงแรมต้องเยี่ยมไปหมด ราคาทุกอย่างต่อรองไม่ได้ ต้องเป็นไปตามกฎที่ทางโรงแรมออกมา กำหนดขึ้นใช้กับผู้มาพักทุกคน.. แม้โรงแรม 4 ดาว 3 ดาวก็เถอะ น้ำขวดที่อยู่ในตู้เย็นนั้นหากเผลอไปดื่มเข้าละก็ บางทีคุณต้องจ่ายเป็นราคาแพงสองถึงสามเท่าราคาจริง.. เวลาเช็คบิลล์ แม้แต่เศษสตางค์ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่มีลดหย่อนผ่อนคลาย.. มันแพงฉิบ.. โรงแรมบางแห่งสภาพห้องก็อย่างงั้นๆ แต่ราคา 1,200-1,500 บาท จะเล่น internetซะหน่อยก็คิดเงิน จะกินกาแฟก็คิดเงิน …. พนักงานยกมือไหว้ พูดจายิ้มแย้มแจ่มใส แต่บาทเดียวก็ไม่ลดราคา เป็นเมืองสำหรับผู้มีเงินจริงๆ… นี่ถ้าพักสามวันห้าวันหมดตูดแน่ๆเลย..

สาม…

เมื่อผมเดินทางถึงเมืองหงสา น้องพาไปพักที่ วิลลา สีสุพัน ของเอื้อย สีสุพัน (ศรีสุพรรณ) สาวใหญ่ หน้าตายิ้มแย้ม พูดจาไพเราะ บอกให้ไปพักห้องเบอร์ 01 และ 02 ซึ่งเป็นห้องที่มีทีวี พัดลม แอร์ฯ โต๊ะแต่งตัว ห้องน้ำในตัว โต๊ะทำงานเล็กๆ..เตียงนอนเดี่ยวใหญ่โตเพียงพอสำหรับสองคนนอน สองห้องนี้ ดีที่สุด ห้องอื่นๆเป็นพัดลม ไม่มีทีวี ไม่มีแอร์ฯ


ทุกเช้า เอื้อยจะถามว่าจะทานอะไร ก็จะจัดให้ ยกเว้นไม่มีจริงๆก็บอก และทุกครั้งที่ทานอาหารไม่ว่ามื้อไหนๆ ก็จะมีกล้วยหวีงามมาวางไว้ให้หยิบกินได้โดยไม่คิดเงิน อาหารมื้อเย็นซึ่งเป็นมื้อใหญ่ เอื้อยจะจัดรายการให้เรียบร้อย ยกเว้นว่าจะอยากกินอะไรก็สั่งเป็นพิเศษ

วันหนึ่งเรานั่งทานมื้อเช้า ผมสั่งกาแฟลาวผสมโสม กลิ่นแปลกๆ รสก็ไม่เข้มข้นตามที่ผมชอบ แต่ก็คิดว่ามาเมืองลาวก็ต้องลองชิมของเขาดู…

เอื้อยมีลูกกี่คน อยู่ที่ไหน ทำไมไม่เห็นมาช่วยเอื้อยเลย…ผมยิงคำถาม..

มีลูก สามคน..คนโตมีครอบครัวอยู่เวียงจัน คนรองเรียนหนังสือที่เมืองหลวงพระบาง คนสุดท้องทำกิจการอยู่โน่นไง เอื้อยชี้มือไปที่ร้านไกลๆโน้น.. เลิกกะสามีนานแล้วตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ หาเงินเลี้ยงลูกมาแสนยาก หาบของขายก็เอา…เอื้อยพูดไปน้ำตาผู้เป็นภรรยาของสามีที่เลิกกันไปก็หลั่งออกมา… เรารักเขาอยู่ แต่เขาไปมีคนใหม่ ก็อยู่หมู่บ้านใกล้ๆนี่แหละ กว่าจะมาถึงวันนี้ ตรงนี้ ยากลำบากแสนเข็ญ แต่ก็กัดฟันสู้มา ผู้หญิงอย่างฉันทำทุกอย่างได้… บ้านที่เวียงจันก็มี เวลาอดีตสามีไปเวียงจันฉันให้เขาไปพัก หากฉันอยู่ฉันก็หลบไปพักบ้านเพื่อน ให้เขาพักกับภรรยาใหม่ของเขา เขาเจ็บไข้ได้ป่วย ฉันก็ยังดูแลเขา เพราะเขาไม่มีเงินทองรักษาตัวเองในบางครั้ง..

เมืองไทยนั้นฉันไปมาหมดทุกที่ทุกแห่ง ฉันเป็นตัวแทนของเมืองหงสาเอาผลิตภัณฑ์พื้นบ้านไปขาย ไปแสดงในนามของรัฐบาลลาว ส่วนใหญ่ก็เป็นผ้าพื้นบ้าน

บ้านหลังนี้ฉันทำเป็นเฮือนพัก ออกแบบเอง ผู้หญิงอย่างฉันออกแบบเอง ไม่ได้ฉากได้มุมหรอกเพราะฉันไม่มีความรู้.. แม้เธอจะพูดไป น้ำตาหยดไป ใบหน้าเธอก็ยิ้ม ยิ้มสู้ชีวิตจริงๆ……

เย็นวันนั้น เรากินข้าวกับน้ำพริกผักสด ผักลวก ไข่เจียวนุ่มๆจานใหญ่ ต้มยำแซบ…น้องที่ไปร่วมงานเธอเอ่ยกับเอื้อยว่า ช่วยคิดค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่วันที่มาด้วย..เราพบว่า ราคาค่าห้องเดิมนั้นราคา 250 บาท แต่เมื่อติดแอร์ มีทีวี ขอขยับขึ้นเป็น 350 บาท แต่ทางหน่วยงานผมมีคนมาพักบ่อยยัง advance เงินมาให้ในราคาเดิม ..เมื่อเธอทราบ เธอก็ลดราคาให้เท่าเดิม… อาหารที่กินทุกมื้อจนพุงกาง เป็นเวลา 3-4 วันนั้น ไม่ถึงพันบาท

คนงานในครัวและคนทำความสะอาดห้องทั้งหมดนั้น เป็นสาวชาวบ้านที่เรียก แม่ฮ้าง (สามีทิ้ง)ทั้งนั้น มาทำงานกับเอื้อย สีสุพัน และทุกคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส


เช้าวันถัดมา เอื้อยเล่าให้ฟังว่า… อาจารย์ขึ้นไปนอนแล้ว ฉันได้ยินคนคุยกันที่เรือนไม้ท่ารถไปไชยบุรีนั่น ฉันสงสัยว่าใครมาทำอะไรที่นั่น ผิดปกติ กลางคืนจะไม่มีใครมานั่งคุยแบบนั้น จึงเดินไปดู พบ 2-3 คน คนป่วยผู้เป็นแม่ เอากลับมาจาก อ.เฉลิมพระเกียรติฝั่งไทย หมอบอกว่ารักษาไม่หายแล้วให้กลับบ้านเถอะ (เธอเป็นโรคร้าย) แต่รถมาถึงค่ำ บ้านอยู่บนดอยไกลโน้นกลับไม่ทันแล้ววันนี้ เลยจะพักที่เรือนไม้ท่ารถนี้ เอื้อยบอกผมต่อไปว่า 3 แม่ลูกไม่มีอะไรติดตัวมาเลย มุ้งก็ไม่มี ผ้าห่มก็ไม่มี … เธอจึงเชิญให้ขึ้นไปนอนในโรงแรมของเธอ โดยไม่คิดเงิน 3 แม่ลูกขอบใจ แต่ไม่ไปนอนหรอก รบกวน.. เอื้อยจึงมาเอาน้ำอาหารไปให้ เอามุ้ง ผ้าห่มไปให้ ….


ผมฟังเอื้อยเล่าให้ฟังแล้ว…คิดในใจว่า เอื้อยสีสุพันท่านนี้น้ำใจเธอ จิตใจเธอ เหลือล้นจริงๆ แม้ว่าในเมืองหงสานี้ เธอจะเป็นคนหนึ่งที่ปัจจุบันมีฐานะระดับนำคนหนึ่งในเมืองนี้เพราะมีกิจการที่มั่นคงและเจริญก้าวหน้า แต่เธอช่างแตกต่างจากคนในเมืองใหญ่ที่อื่นเสียจริงๆ

คิดว่าเรื่องราวทำนองนี้พบมากมายในชนบท แต่รายละเอียดเหล่านี้ไม่ได้ถูกวาดจำลองใส่ไปในภาพของ..เรื่องที่หนึ่ง และจะไม่พบสาระความงามของชีวิตแบบนี้ที่โรงแรมระดับ 5 ดาวที่โอ่โถงและแพงลิบนั่น..ในเรื่องที่สอง แต่เรื่องราวที่สามนั้นพบ

“นี่ไงชนบท”…ที่ผมรัก คุณก็ด้วยใช่ไหม..


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 3

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:04 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1465

การไปดู “กาดแลง” (ตลาดเย็น) บ้านจ่อมแจ้ง วันนั้น ผมได้มุมมองของ ความเป็นปุถุชนที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ มันเป็นปกติธรรมดาของวิถีชีวิตที่นั่น แต่เราผู้มาจากถิ่นอื่น มีความรู้สึกตงิดตงิดหัวใจ แม้ว่าในตลาดแห่งนั้นจะมีความหลากหลายให้ตื่นตา แต่ก็ในความหลากหลายนั้น บ่งบอกว่ามนุษย์เราพึ่งพาชีวิตเพื่อนร่วมโลกอื่นๆมากมาย…..

ชาวบ้านหรือลูกค้าเดินเข้าออกตลอด ข้าราชการที่เดินทางกลับบ้านหลังเลิกงาน แวะซื้อของติดมือกลับบ้าน มันเป็นวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ไม่มีระบบ Super Store มาผูกขาด ทำให้ชาวบ้านมีรายได้พอยังชีพตามอัตภาพ..


ในตลาดเห็นชีวิตที่ด่าวดิ้น เพราะมันเป็นอาหารของคน 1 หอย 2 จิ้งกุ่งหรือจิ้งหรีด 3 สารพัดสัตว์เล็กๆ ที่จับได้ในทุ่งนา ชาวบ้านจะซื้อไป “หมก” 4 ไก่ และเป็ดที่ชำแหละมาเรียบร้อยแล้ว ที่บรรจุใส่ถุงพลาสติกมีรูอากาศให้หายใจในกะละมังนั้นคือปลาไหล ส่วน 5 นั้นคือ รังต่อยักษ์ที่มีตัวอ่อนอ้วนๆ แม่ค้าบอกว่านึ่งมาเรียบร้อยแล้ว สามารถกินได้เลยหรือเอาไปตำไปป่นก็แล้วแต่ความชอบ ด้านในสุดจะมีเขียงสัตว์ใหญ่ตั้งแต่ ควาย วัว หมู ที่สังเวยชีวิตเพื่อยังชีวิตของคน

ความจริงใน Super Store ที่หรูหรานั้นก็ไม่ต่างไปจากตลาดเล็กๆแห่งนี้ที่คนเมืองก็พึ่งชีวิตเพื่อนร่วมโลกมากมาย อาจจะมากกว่าตลาดบ้านจ่อมแจ้งนี้ด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบปริมาณ และจำนวนชนิด เพียงแต่ Super Store ใช้ระบบการจัดการเข้ามาดำเนินการ จนผู้บริโภคไม่มีความรู้สึกใดๆเลย แม้แต่น้อย แถมอาจจะรู้สึกในทางอื่นที่ว่า ทันสมัย และนั่นคือโปรตีนที่ร่างกานคนเราต้องการ..ฯลฯ


ตลาดบ้านจ่อมแจ้งเป็นแบบพื้นๆบ้าน ง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีกระบวนการอะไรมาจัดการให้ซับซ้อน แต่ผมก็เกิดการปะทะทางความรู้สึก ขึ้นมาจนได้…


เพราะว่า มีสิ่งที่มีชีวิตหนึ่งที่ผมต้องหยุดลงตรงกลางตลาดบ้านจ่อมแจ้ง คือ เจ้านกกระยางตัวนี้ เขาถูกมัดปีก มัดขา มัดปาก วางขายอยู่ 1 ตัว เขายังมีชีวิตอยู่ ผมเลยถามแม่ค้าว่า…

บางทราย : ได้นกตัวนี้มาอย่างไร

แม่ค้า: เอาแห หรือตาข่ายไปดักในนามา

บางทราย: ชาวบ้านซื้อเอาไปทำอาหารประเภทไหนกัน

แม่ค้า: ทำหลายอย่างได้ แกง ก็ได้ ย่างก็ได้…..

เมื่อผมถามราคาแม่ค้าบอกว่า 25 บาท ผมไม่รอรีค้นหาเงินได้มา 20 บาท ขาดไป 5 บาทเลยไปขอเพื่อนข้างๆมาอีก 5 บาท ผมตั้งใจจะเอาไปปล่อย พนักงานขับรถแนะนำว่าเอาไปปล่อยในทุ่งนาดีกว่า เดี๋ยวจะพาไปที่ทุ่งนาบ้านศรีบุญเรือง


เห็นทุ่งนาแล้ว ผมนึกถึงสะเมิง เชียงใหม่ ชนบทแห่งแรกของการทำงานของผม เพราะสภาพที่ทุ่งนามีภูเขาล้อมรอบ มีน้ำไหล ยอดเขามีเมฆหน้าฝนปกคลุม มีเถียงนา ความเขียวชอุ่มของต้นข้าวที่แสดงความสมบูรณ์ด้วยธรรมชาตินั้น คนเมืองอย่างเราได้มาสัมผัสแล้วก็ ชื่นอกชื่นใจเป็นที่สุด แม้ว่าเส้นทางจะเฉอะแฉะเพราะถนนลูกรังที่โดนน้ำฝน ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่อยู่คู่ชนบทมานานแสนนานแล้ว เมืองหงสาคืออู่ข้าวอู่น้ำ ผลิตข้าวออกเลี้ยงเมืองไชยบุรี แม้กระทั่งหลวงพระบาง และอุดมไชย

คนขับรถลงมาช่วยผมคลายตอกไม่ไผ่ที่มัดเจ้านกกระยางตัวนี้ออก ทันทีที่ปากมันเป็นอิสระ มันก็จิกแขนคนขับรถเสียหนึ่งที มันคงจะต้องต่อสู่ป้องกันตัวเองเท่าที่จะทำได้ เมื่อแก้มัดออกหมดก็ยืนมาให้ผมเป็นผู้ปล่อยเขาไป ผมขอเรียกเจ้านกกระยางตัวนี้ว่า “เจ้าบุญหลง” ก็แล้วกัน

คงนึกออกนะครับว่าผมควรจะกล่าวอะไรบ้างก่อนที่จะปล่อยชีวิตน้อยๆตัวนี้ไปสู่อิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง และไม่รู้ได้ว่าเขาจะกลับไปติดตาข่ายชาวนาอีกครั้งหรือไม่ หากติดอีก ผมก็คงไม่มีความพอดีที่จะเดินไปเจอะเขาอีกเป็นแน่แท้ อย่าเป็นเช่นนั้นเลยนะ…เจ้าบุญหลง

เมื่อผมโยนเจ้าบุญหลงขึ้นซึ่งคิดว่าเขาคงจะรีบบินหนีไปอย่างสุดชีวิต ที่ไหนได้ หล่นปุ ตรงข้างรั้วนาข้าวของชาวบ้านนั่นเอง เขาไม่บินไป คนขับรถต้องไปจับมาใหม่แล้วโยนค่อยๆลงในแปลงนาไป พร้อมกับบอกว่า อาจารย์.. “มันยังเมื่อยอยู่” เพราะถูกมัดมานาน….? เหมือนคนนั่นแหละ เมื่อถูกมัดมานานๆก็ไปไหนไม่เป็นหรอก….


เจ้าบุญหลงลงไปถึงพื้นท้องทุ่งนาแล้วเขาก็ยืนเงียบ นิ่ง ไม่กระดุกกระดิก เราคิดว่าเขาคงเมื่อย หรือเคล็ด อย่างที่คนขับรถกล่าว เราจึงยืนดูเขาสักพัก เผื่อว่าหายเคล็ดแล้วก็จะวิ่งไปหลบที่ไกลๆคนต่อไป อีกอย่างหนึ่ง เราก็เกรงกลังว่า หากมันไม่ไปไหน เมื่อเรากลับไปแล้ว ชาวบ้านมาเห็นก็จะจับมันไปเป็นอาหารอีก.. ใจคิดเช่นนั้น จึงภาวนาในใจว่า เจ้าเป็นอิสระแล้วไปเถอะ ไปไกลๆตามทางชีวิตของเจ้าเถอะนะ…เจ้าบุญหลง

หลังจากที่เราหันสายตาไปดูทุ่งนามุมอื่น เพื่อเสพธรรมชาติให้เต็มๆสักพักใหญ่ แล้วย้อนกลับมามองดูเจ้าบุญหลงว่าไปไหนแล้วหรือยัง…. พบว่าเขายืนนิ่งเงียบและตาเขามองมาที่เราเป๋งเลย ผมหยิบกล้องมาซูมดูสายตาเขา

เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เขาจะจำติดตาว่า ไอ้มนุษย์พวกนี้จับเขามาทรมาน หรือเปล่าหนอ หรือว่าเขามองเราแล้วขอบอกขอบใจเราที่ซื้อชีวิตเขามาปล่อยให้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่าเขาคิดอะไรจริงๆ แต่สายตาเขานั้นจ้องจับเราแทบไม่กระพริบเลย….

เราจากเขาไปเพราะเวลาใกล้ค่ำแล้ว… ในรถไม่มีใครพูดอะไรกันเลย แต่ผมคิดในใจเงียบๆว่า มาเมืองหงสาครั้งนี้ได้ไถ่ชีวิตหนึ่งไว้ ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ….

เจ้าไปเถอะ….บุญหลง เจ้ากลับคืนไปสู่ความมีชีวิต เพื่อดำรงชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อไป…เหมือนเรานั่นแหละ ทุกเวลานาทีเราก็เสี่ยงต่ออะไรมากมาย แต่ข้าไม่รู้หรอกว่าจะมีใครหยิบยื่นมือมาไถ่ชีวิตแบบนี้บ้าง..แต่ช่างเถอะ ทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ดวงตาของเจ้าติดตาฉันจริงๆ….

ค่ำแล้วผมอาบน้ำ ทบทวนกำหนดการฝึกอบรม และสาระสักพัก ก็อ่านหนังสือที่ติดมาได้ไม่กี่หน้า ผมก็นอนหลับโดยไม่ได้คิดอะไร

ตื่นเช้าหกโมงเศษ เมื่อทำธุระแล้วก็คว้ากล้องคู่ชีพลงมาหน้าเฮือนพัก กินอาหารเช้ากับกาแฟ แล้วก็หันหน้าไปดูบนถนนยามเช้าที่มีชีวิตพี่น้องชาวหงสาเดินไปมาตามภารกิจของแต่ละคน แต่ทันใดนั้น.…นั่นเด็กสองคนนั่นที่เดินหันหลังให้เราไปไกลนั่น ถือสิ่งมีชีวิตห้อยไปสองตัว… ดูเหมือนไก่ แต่ปากมันยาวๆ ไม่น่าเป็นไก่ เป็ดก็ไม่น่าใช่


สองคนเดินไปไกลพอสมควร….เอ..หรือว่านกกระยาง ผมคว้ากล้องออกมาซูมไปที่เด็กสองคนนั่น…. ตายแล้ว..เจ้าบุญหลงหรือเปล่า……

กว่าผมจะนึกอะไรที่ควรได้ เด็กสองคนก็เดินขึ้นรถมอเตอร์ไซด์ขับไปไกลเสียแล้ว ผมนึกถึงสายตาเจ้าบุญหลงคู่นั้น…

อาหารเช้าที่ผมเพิ่งกินเข้าไปมันจุกคอผม…. อือ ชีวิตที่เพื่อชีวิต…


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 2

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:58 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1505

ประสบการณ์ใหม่: ที่ต้องฝึกอบรม PRA (กระบวนการค้นหาศักยภาพชุมชนอย่างเร่งด่วน) ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากที่เคยทำมาอย่างสิ้นเชิง เพราะครั้งนี้โจทย์คือการย้ายหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากจะมีการขุดพื้นที่ทำเหมืองแร่ลิกไนท์ PRA จึงต้องค้นหาข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยเฉพาะ

การไปหงสาก็ทำงานเป็นหลัก ไม่ค่อยมีเวลาไปซอกแซกดูนั่นดูนี่ตามที่ใจอยากจะทำ ก็อาศัยช่วงเช้ากับช่วงเลิกงานแล้ว ได้แวบไปบ้าง ซึ่งก็พอจะได้เห็นเมืองหงสาบางส่วน


ภาพนี้ผมนึกถึงอำเภอสะเมิง : สะเมิง เชียงใหม่อยู่หลังเขาดอยสุเทพสมัยก่อนนู้น…(2518) ที่ผมเริ่มทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ เมืองหงสามีลักษณะเป็นชนบทมากๆแบบนั้น เพราะถนนหนทางยังเป็นลูกรัง แดงเถือก สภาพบ้านเรือนก็เป็นแบบเดิมๆ ในตัวเมืองหงสาจะมีตึกรามบ้างแต่ก็ไม่ได้หรูหราแต่อย่างใด มองไปในท้องทุ่ง สวยงามด้วยความเขียวขจีของทุ่งนาข้าว ใครบางคนบอกชอบมากๆ อยากมีชีวิตอยู่ในชนบทแบบนี้จริงๆ….

“หากจะเข้าใจชุมชนต้องไปดูตลาดในท้องถิ่นนั้นๆ”

เป็นคำกล่าวที่คนทำงานพัฒนาชุมชนรู้ดีกันทั่วไป เพราะตลาดบ่งบอก ความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการบริโภค บ่งบอกถึงสภาวะทางเศรษฐกิจชุมชน บอกถึงบทบาทหน้าที่ชายหญิง เด็ก ผู้ใหญ่ รวมกว้างไปถึงสภาวะสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนนั้นๆ บ่งบอกถึงการบริหารจัดการต่างๆ บ่งบอกถึงอิทธิพลของทุนนิยมบริโภค บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่น บ่งบอกถึงระดับความเอื้ออาทรหรือทุนทางสังคมเดิมๆ บ่งบอกถึงสภาวะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งพิงธรรมชาติ และบ่งบอกอีกมากมาย…. แล้วแต่ว่าตาปัญญาจะเห็นแค่ไหน

เมื่อเลิกการฝึกอบรมเราจึงไปดูกาดแลง (ตลาดช่วงเวลาเย็น) ของหมู่บ้านจ่อมแจ้งใกล้ๆที่พัก

เป็นตลาดเล็กๆ ไม่ใหญ่โต มีอาคารถาวรมีร้านยกพื้นเป็นที่นั่งขายสินค้าพื้นบ้านต่างๆ แบ่งเป็น 4 ล็อค ทั้งหมด 90% เป็นสินค้าประเภทอาหารของกิน โดยเฉพาะพืชผักพื้นบ้าน สัตว์พื้นบ้านต่างๆ มีเขียงเนื้อควาย วัว หมู 5-6 เขียง ทั้งหมดเกือบ 100% เป็นสุภาพสตรีที่มานั่งขายของ ทั้งคนกลางคนและคนแก่ สาวๆ และมีเด็กๆมานั่งข้างๆแม่บ้าง

เราตะลึงสินค้าพื้นบ้านที่ชาวบ้านเอามาวางขาย เพราะเป็นพื้นบ้านจริงๆ สดๆ สารพัด อาหารสำเร็จรูปและขนมพื้นบ้านมีบ้าง สินค้าก็กองเล็กกองน้อย ต่างก็เรียกร้องคนแปลกหน้าอย่างเราให้ช่วยอุดหนุนสินค้า


รายนี้เป็นลาวเทิง(คือชาวลาวที่อยู่บนดอย) เดินมาไกลโข เป๊อะกระบุงด้านหลังภาชนะประจำเผ่าของเขามา ผมไปถามว่ามาซื้อสินค้าหรือมาขายสินค้า เธอตอบอะไรผมไม่ทราบ (ไม่รู้เรื่องน่ะครับ) คุณยายแม่ค้าใกล้ๆนั้นช่วยบอกว่า เขาเอาผักสดๆมาขาย ไม่ได้มาซื้อ


สาวน่ารักคนนี้นั่งขายขนมพื้นบ้านไปด้วย เมื่อว่างไม่มีคนมาซื้อเธอก็ใช้เวลาว่างเย็บผ้าลายพื้นบ้านด้วยมือ ผมหละทึ่งในความสามารถที่งานนั้นประณีตจริงๆ และเธอขยันที่ไม่ยอมให้มีเวลาว่างเปล่าๆ สอบถามได้ความว่าเธอไปเอาวัตถุดิบมาจากร้านค้าที่เมืองหงสา มาแซว (เย็บลาย) แล้วเอาไปส่งให้ที่ร้าน แล้วเอาชิ้นใหม่มาทำต่อเช่นนี้ไปเรื่อยๆ…ปรากฏว่าร้านค้าในเมืองหาสาที่รับซื้องานของเธอคือเจ้าของเฮือนพัก(โรงแรมเล็กๆ)ที่ผมไปพักนั่นเอง

วัฒนธรรมกาดแลง: เป็นวัฒนธรรมชุมชนของล้านนาและล้านช้าง ที่ไม่จำเป็นต้องมีโครงการพัฒนาชนบทไปส่งเสริม สนับสนุนสร้างตลาดขึ้นมา ชาวบ้านก็มีนิสัยค้าขายและจัดทำตลาดของชุมชนขึ้นมาเองเป็นปกติวิถี ตลาดชุมชนที่เราไปสนับสนุนนั้นบางแห่งดูท่าจะพอไปได้…แต่บางแห่งก็ส่อแววว่าอาการไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หรือว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของชุมชน จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่เราต้องออกแรงกันมากหน่อย หากตลาดมีประโยชน์จริงต่อชุมชนมันก็น่าที่จะเดินต่อไปได้ด้วยหลักการของประโยชน์นี้เอง


นั่นไม้สนเกี๊ยะ(ภาษาภาคเหนือของไทย) หอยพื้นบ้าน ปลาไหล ไก่ เป็ด ชำแหละแล้ว พริก ผักพื้นบ้าน ขวามือนั่นคืออาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิตพื้นบ้าน มีหอย จิ้งหรีด(จิ้งกุ่ง) และสัตว์เล็กๆสารพัดชนิดที่ไปช้อนมาจากทุ่งนา


สิ่งที่ขาดไม่ได้คือผงชูรส ที่ชาวลาวกินผงชูรสแบบน่ากลัวจริงๆ ขนาดไปนั่งกินเฝอ (ก๊วยเตี๊ยว) ยังมีผงชูรสอยู่ในกลุ่มเครื่องปรุงพวกน้ำปลา กะปิ น้ำตาลทราย ฯ

คุณยายที่นั่งลุ้นลูกค้าอยู่นั่นขายอะไร…

หวยลาวครับ…..

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวในตลาดชุมชนบ้านจ่อมแจ้ง

ไปให้เห็น คุย-ซักให้รู้ จับต้องให้ได้ความรู้สึก บันทึกภาพมาเพื่อย้ำเตือน ….

ค้นหาความจริงในสิ่งที่เห็น

จับต้องความจริงให้ได้ในมิติที่สัมผัส

สรุปให้ได้ถึงที่สุดของคำพูด ที่เอ่ย

ฯลฯ

แล้วประมวลแก่นแท้ออกมา เหล่านั้น เท่ากับเรา ปอกเปลือกสังคมหงสามาให้ล่อนจ้อนได้เลยครับ…

นี่คือเครื่องมือหนึ่งของ PRA ครับ

เครื่องมือปอกเปลือกสังคม..อิอิ


อุ่นเครื่องเมืองหงสา 1

123 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:47 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4095

เอาบันทึกเก่ามาอุ่นเครื่องเมืองหงสากันครับ..

เทียบเชิญ: ปลายปี 51 ได้รับเทียบเชิญจากท่าน paleeyon ให้ชวนเพื่อนร่วมงานไปเมืองหงสา ลาว ไปฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ลาวเรื่อง PRA เมืองหงสานี้ติดกับเมืองเงิน ซึ่งติดกับ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ จังหวัดน่านของเรา เมืองหงสาอยู่ในแขวงไชยบุรี สปป.ลาว


เดินทาง: เริ่มต้นที่สุวรรณภูมินั่ง PB air ไปลงน่านแล้วนั่งรถจากน่านไป “ด่านห้วยโก๋น” อ.เฉลิมพระเกียรติ์ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ผ่าน อ.ท่าวังผา อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง เข้า “ด่านน้ำเงิน” ของลาว แล้วเข้าเมืองเงิน จากเมืองเงินไปเมืองหงสา ระยะทางจากด่านถึงเมืองหงสาประมาณ 40 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาทั้งหมดจากน่านไปถึงเมืองหงสาประมาณ 4 ถึง 4.30 ชั่วโมง แบบไม่มีอะไรติดขัดนะ


สองข้างทางจากน่านไปถึงด่านห้วยโก๋นนั้น คนที่ชอบภูเขาและธรรมชาติจะตื่นตาตื่นใจ เพราะจะเห็นต้นไม้ ป่า พืชเศรษฐกิจของชาวบ้าน วิถีชีวิต และถนนหนทางที่สะดวกสบาย ตรงข้ามจากด่านน้ำเงินของลาวไปเมืองเงินไปเมืองหงสานั้น แม้ธรรมชาติป่าจะดีกว่าฝั่งไทยแต่สภาพถนนนั้นมีแต่ลูกรังและถนนอยู่บนยอดภูเขา ไหล่เขา ทั้งสิ้น แต่ก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่งครับ


ด่านชายแดนเหงาๆ: ที่ด่านห้วยโก๋น สภาพเงียบเหงา ไม่โอ่อ่าฟู่ฟ่าเหมือนด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต มีร้านค้าสองสามร้าน เป็นร้านที่ขายของกินของใช้ที่จำเป็น และร้านอาหารหนึ่งร้าน ช่วงที่เราเดินทางนั้นมีเพียงเราสามคนเท่านั้นที่ข้ามผ่านแดน เจ้าหน้าที่นั่งตบยุงทั้งวัน เพื่อนผู้ร่วมเดินทางจัดการเอา Passport ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แล้วเราก็นั่งกินข้าวกลางวันกันที่นั่นแล้วจึงเดินทางต่อไปโดยขออนุญาตนายด่านเอารถไปส่งเราที่ด่านฝั่งลาวอีกประมาณ 100 เมตร


ตื่นเต้นอ่ะ: ที่ด่านน้ำเงินฝั่งลาวนี้มีเรื่องให้ตื่นเต้น คือ นายด่านไม่อนุญาตให้เราเข้าไปเพราะไม่มี Visa เอาแล้วซี…. เราต้องนั่งโคนต้นพิกุลที่เห็นนั่น(รูปล่าง)ประมาณสองชั่วโมง รอให้เจ้าหน้าที่บริษัทเจรจา จัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อยก่อน ในฐานะที่เราไม่เคยผ่านด่านนี้ก็ลุ้น เพื่อนร่วมทางก็วางแผนขณะที่รอการเจรจาว่ามี 2 หนทางที่แก้ไขหากไม่สามารถผ่านด่านนี้ได้ คือ เดินทางกลับไปน่านแล้วต่อไปเชียงใหม่นั่งเครื่องบินไปหลวงพระบางแล้วนั่งเรือเร็วในแม่น้ำโขงประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นมาถึงท่าส่วง แล้วนั่งรถมาเมืองหงสา(อะไรจะอ้อมโลกขนาดนั้น..) อีกทางคือนั่งรถไปน่าน ไปชียงราย ไป อ.เชียงของแล้วนั่งเรืออีก 6 ชั่วโมงล่องแม่น้ำโขงมาบ้านท่าส่วง แล้วนั่งรถมาเมืองหงสา แต่ไม่สนุกสักเส้นทางเพราะกินเวลามากมาย และจะทำให้โปรแกรมการฝึกอบรมต้องเสียหายไปด้วย


ทำไมไม่ทำ Visa : ขอไม่อธิบายนะครับเป็นเหตุผลเฉพาะ

ได้เฮ: เมื่อเรานั่งตื่นเต้นอยู่ 2 ชั่วโมงการเจรจาบรรลุผลอนุญาตให้ผ่านได้ แต่ต้องมีคนค้ำประกัน…..เฮ…. เมื่อเราเดินทางต่อ แม้จะนั่งหน้ารถแต่ไม่สามารถจะถ่ายรูปได้เลย เพราะทางขรุขระโยกไปโยกมาตลอด แม้วิว ทิวทัศน์จะสวยงามแต่ก็ไม่อยากรบกวนพนักงานขับรถให้หยุดเพื่อถ่ายรูป.. แท้ในใจอยากจะหยุดรถหลายต่อหลายครั้ง…. เส้นทางบนยอดเขานั้น ธรรมชาติในช่วงฤดูฝนสดชื่นมาก เขียวขจีไปหมด ไม่รู้ว่าในช่วงฤดูแล้งจะมีไฟป่าเหมือนบ้านเราหรือไม่… .

เราผ่านเมืองเงิน และในที่สุดพนักงานขับรถดูนาฬิกาแล้วบอกว่าพอมีเวลา จะพาไปวนดูเมืองเงินซะหน่อย

สิ่งที่คิดส่วนหนึ่ง: การได้มาน่านในวันข้างหน้า แล้วเลยไปหงสา คิดว่าต้องหาเวลามาเที่ยวในสถานที่หลายๆแห่งดังนี้

  • เส้นทางก่อนไปหงสา ควรเที่ยวจังหวัดน่านก่อน แค่มากราบพระเก้าวัดที่เมืองน่านก็คุ้มสุดคุ้มแล้ว มีวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพญาภู วัดภูมินทร์ วัดมิ่งเมือง วัดหัวข่วง วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดสวนตาล วัดพญาวัด วัดพระธาตุเขาน้อย
  • แค่ไปดูพิพิธภัณฑ์งาช้างดำ พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นบ้าน โบราณ ก็สุดคุ้มแล้ว
  • แค่ไปดูดอกชมพูภูคาที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัวเดือน กุมภา-มีนาก็คุ้มแล้ว
  • ไม่ต้องนั่ง “ยนต์เหาะ” (เครื่องบิน) เอารถไปเที่ยวก็สนุกโขแล้ว
  • น่านเป็นเมืองค่อนข้างปิด เพราะมิใช่เมืองผ่าน สภาพธรรมชาติ วิถีชีวิตยังเดิมๆอยู่มาก ใครที่ชอบแบบนี้ ไม่ผิดหวังครับ
  • ยิ่งข้ามไปเมืองหงสา โอยคุณเอ๋ย ผมนึกถึงชนบทภาคเหนือของไทยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาจริงๆ
  • การเดินทางข้ามประเทศ แม้ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง แต่ก็ชอบ สนุก และแปลกหูแปลกตาต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชีวิตเพื่อนร่วมโลกอีกซีกหนึ่ง
  • คนเรานี่ก็ดิ้นรนจริงๆ ป่าเขาสูงชัน ไกลแหล่งความสะดวกสบาย ทำไมพากันมาอยู่ได้ ในป่าในเขาเช่นนี้
  • คิดถึง bloggers ชาวเฮฮาศาสตร์ หากมาจัดเปลี่ยนบรรยากาศที่เมืองหงสา ตั้งแค้มป์เรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวหงสากันสักสองสามวันน่าจะดี โดยเฉพาะคนที่ชอบ “ลุยๆ”
  • หากข้ามไปเมืองเงิน เมืองหงสาแล้ว เราไปหาคำตอบกันว่า ความพอเพียงคือระดับที่เหมาะสมของการดำรงชีวิต และเป็นทางออกของเป้าหมายการพัฒนาหรือไม่

สน ม๊ะ……. หากสน..ลุงเปลี่ยนเทหมดหน้าตักแน่ๆ..



Main: 0.062391996383667 sec
Sidebar: 0.072096109390259 sec