สักการสถานที่มุกดาหาร

1771 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 สิงหาคม 2009 เวลา 21:52 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 25892

มีคนจำนวนไม่มากนักที่จะรู้จักสักการสถานที่จังหวัดมุกดาหาร ความจริงสถานที่แห่งนี้คือประวัติศาสตร์อันหนึ่งของประเทศไทย ของอีสาน ของศาสนา และปรากฏการณ์การเผยแพร่ศาสนาในยุคแรกๆของเมืองไทย

หากท่านเป็นคาทอลิค ท่านคงทราบสถานที่นี้ดี แต่หากท่านนับถือศาสนาพุทธ ท่านอาจจะไม่เคยได้ยินสถานที่แห่งนี้เลยก็ได้ เพราะ ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ แม้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเองก็ตาม ทั้งนี้มีเหตุผลที่สำคัญหลายประการ ไม่ขอกล่าวถึง



ที่ยกมากล่าวเพราะ ออต กำลังจะไปทำค่ายในพื้นที่ใกล้ๆแห่งนี้ ก็เลยถือโอกาสแนะนำให้รู้จักซะเลย

สักการสถานเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชนชาวคาทอลิก พี่น้องชาวคาทอลิกกล่าวว่าในชีวิตสักครั้งจะต้องมากราบสักการสถานที่แห่งนี้ หากจะไม่กล่าวถึงความเป็นมา แค่ตัวอาคารก็พิเศษสุดที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย


การออกแบบอาคารแห่งนี้ได้รับรางวัลดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกแห่งประเทศไทย สวยงามมาก มาเห็นแล้วนึกเลยไปถึงยุคกรีก โรมันโน้น


กำแพงโค้งด้านซ้ายมือ กำแพงโค้งด้านขวามือ


แค่กำแพงโค้งก็มโหฬารตระการตา มหาทึ่ง เมื่อเดินเข้าไปดูตัวอาคารภายในกำแพงก็ยิ่งตะลึงครับ


ตัวอาคารที่ใช้ประโยชน์นั้นเป็นคล้ายๆกล่อง มีพื้นที่โล่ง สำหรับใช้เทศนาของนักบวชเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ ภายนอก เป็นที่โล่งหน้าเขียวขจี เย็นตา เย็นใจ สงบ



กระต๊อบสองหลังที่เห็นคือประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ ที่เก็บรักษาไว้ให้เป็นการระลึกถึงความหวาดระแวง ความไม่รู้ จนเป็นที่มาของสักการสถาน


หากท่านมีโอกาสมามุกดาหาร สถานที่แห่งนี้น่ามาเยือนสักครั้งครับ


ค่ายเด็กของ ออต..

475 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 สิงหาคม 2009 เวลา 15:35 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 10050

วันที่ 1-3 ก.ย. นี้จะมีการจัดค่ายเด็กที่ อ.หว้านใหญ่ ริมโขง จ.มุกดาหาร โดย ออต ของเราเป็นโต้โผใหญ่จัดงานเด็ก แต่ไม่เล็กครั้งนี้ ผมสารภาพว่าเป็นคนทื่อๆ ไม่ค่อยมีศิลปะเท่าไหร่ แม้จะชอบ แต่ก็เข้าหูซ้ายออกหูขวาประเภทนั้น เมื่อมาคบกับออต ก็ค่อยๆซึมซับ วิธีคิด วิธีมอง เมื่อผมไปร่วมการสัมมนาที่ RDI จัดเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปนั้นก็ได้สาระเกี่ยวกับเรื่องราวเอาศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้ จนผมปิ๊งแว๊บมาว่า เจ้าพิพิธภัณฑ์ที่ผมรู้จักชื่อมานานนั้นมันมีประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่เป็นที่สะสมของเก่า แล้วเดินเข้าไปชื่นชมเท่านั้น แต่นักพิพิธภัณฑ์ยังสามารถเอาของเก่าเป็นสื่อลากไปถึงอดีต และเรียนรู้เรื่องราวของบรรพชนได้อย่างดี


ผมชอบมาก ถึงมากที่สุดเพราะว่า ผมเองก็เคยทำ Dialogue โดยใช้โบสถ์เก่าเป็นสื่อในการพาผู้คนในชุมชนย้อนรำลึกอดีตอย่างมีคุณค่าและได้สำนึกของท้องถิ่นคืนมา

มุกดาหารมีของเก่าที่ทรงคุณค่าหลายแห่ง และ ออตมาค้นพบจึงจะสร้างห้องเรียนขึ้นแล้วระดมทรัพยากรผู้รู้มาช่วยกันย้อนรำลึกอดีตให้แก่ เด็กๆมุกดาหารได้ตระหนักคุณค่าของพัฒนาการของคนในท้องถิ่น


มันเหมือนนั่ง Time Machine ย้อนไปท่องเที่ยวท้องถิ่นแถบนี้ โดยมีเด็กๆเป็นเป้าหมายที่จะให้ประสบการณ์ใหม่ๆจากของเก่าๆ โดยทีมงานของ ออต

ยิ่งผมทราบมาว่า อดีต ออต คือนักปลุกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โดยหน่วยงานนี้เห็นฝีมือฉกาจของ ออต เลยยกแผนงานนี้ให้ทั้งหมด…?? ยิ่งทำให้ออต มีชั่วโมงบินที่ไปเทียบเซียนได้เลย

วันที่ 1-3 นี้ เราได้วิทยากรเอกอย่าง อาม่า มาเขย่าแม่น้ำโขงให้เกิดละลอกคลื่นแห่งความรู้ ความสุขอีกด้วยละก็ น่าจะเป็นการพัฒนาทีมงานของ ออต ก้าวไปอีกหลายขุมทีเดียว

ท่านที่สนใจ หนุ่มน้อย ต่อยหนักคนนี้ เตรียมตารางแผนงานไว้เถอะ..


แมลงมุม-สาบ

196 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 สิงหาคม 2009 เวลา 0:50 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5601

เช้าวันนั้น จะเข้าไปในห้องเก็บของ เห็นแมลงมุมกำลังกินแมลงสาบอยู่ เลยวิ่งไปเอากล้องมาเก็บภาพไว้ เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก แมลงมุมตัวใหญ่ๆในบ้านมีหลายตัว เราคอยไล่มันเพราะหลายคนกลัว มาเห็นวิถีชีวิตมันเช่นนี้ ก็อือ…เป็นการจัดการโดยธรรมชาติ


อย่าป๊ะกัน

391 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 สิงหาคม 2009 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4970

หลังการประชุมสรุปบทเรียนเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไป บ้านใครบ้านมัน เจ้าหน้าที่ชวนกลุ่มอาวุโสของกลุ่มผู้ใช้น้ำ มากินก๊วยเตี๋ยวร้านริมถนน

เราถือโอกาสคุยกันต่อเรื่องทำมาหากินวันนี้ของชาวบ้าน

บางทราย: พ่อเมย พ่อดอกไม้ พ่อทองคำ ปีที่ผ่านมา งานปลูกพืชของพ่อเมยกับพ่อดอกไม้ไม่เป็นไปตามแผน เป็นเพราะพวกเราไม่คุ้นเคยกับการปลูกพืชที่ต้องมีการดูแลใกล้ชิด ซับซ้อน…

แล้ววงสนทนาก็โขมงพร้อมๆกับการกินก๊วยเตี๋ยว เมื่อกินเสร็จก็นั่งผึ่งพุงพร้อมกับคุยกันต่อ


พ่อทองคำ: ประชุมกันทีไรเห็นอาจารย์พวกเรา “ก็ดีใจ” แล้ว ขออย่างเดียวนะอาจารย์ “อย่าป๊ะกันเด้อ” (อย่าทิ้ง หรือหนีกัน ป๊ะในความหมายที่เป็นภาษาอีสาน)

บางทราย: ??????!!!!!!! มันเป็นความรู้สึกที่ปนๆกัน ชาวบ้านต้องการเรา พี่น้องรู้ตัวว่าต้องการเราเป็นพี่เลี้ยง แนะนำ บอกกล่าว… ชาวบ้านติดกับบุคคล เป็นจุดอ่อนของการพยายามสร้างการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่ที่มั่นใจคือชาวบ้านมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับเรา เกิดความผูกพันกัน ก็เป็นปกติของมนุษย์ที่รู้สึกดีดีต่อกัน..

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นที่ดงหลวงนี้ เกิดขึ้นเกือบทุกแห่งที่เราผ่านงานสนามมา ไม่ว่าที่สะเมิง เชียงใหม่ ชายแดนไทยสุรินทร์ ที่ชายกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง นครสวรรค์

หากผมกลับไปที่สะเมิงวันนี้ ผมเชื่อว่าพี่น้องที่นั่นจะชวนผมกินข้าว นอนค้างที่บ้าน เอาส้มสูกลูกไม้มาให้แน่นอน เพราะช่วง 5 ปีที่นั่น แม้ว่าจะนานมากกว่า 30 ปีแต่เหมือนเพิ่งผ่านไป ความรู้สึกที่มีต่อกันนั้นยังเหมือนเดิม

ผมเองก็เชื่อว่า ในเฮฮาศาสตร์ของเรานั้น จะมีลิ้นกระทบฟัน ฟันเผลอไปกัดลิ้นบ้างก็เป็นเรื่องวิสัยมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ หากเราคิดยาวๆ ไกลๆ และยืนบนฐานของความรัก ความตั้งใจดีต่อกัน สิ่งที่ขัดข้องหมองใจที่มีบ้างนั้น ก็เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้อภัยแก่กัน และก้าวข้ามฝุ่นละอองทางอารมณ์นั้นเถอะครับ

โถ…คนดีดีอย่างสมาชิกเฮฮาศาสตร์ หากจะรักกันแล้ว ความรักเป็นใหญ่กว่าเรื่องอื่นๆ ผมเชื่อเช่นนั้นครับ เราให้อภัยกันได้ครับ หากมีขยะทางใจ ผมอยากจะขอรับสิ่งเหล่านั้นไว้ ช่วยส่งมอบให้ผมด้วยเถอะ ผมจะเอาไปทิ้งแม่น้ำโขงครับ..

และสำนึกผมบอกว่า เพื่อนเฮที่รักทุกท่าน “อย่าป๊ะกันเด้อครับ”


ข่าวด่วน

258 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 สิงหาคม 2009 เวลา 9:21 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5379

ระหว่างนี้มีการสัมมนา “ทศวรรษใหม่…วิจัยเพื่อสังคม” ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น โดย RDI มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

วันนี้เป็นวันสุดท้าย ที่สำคัญเวลา 11.00-12.00 น. จะเป็น ปัจฉิมนิเทศกถา เรื่อง วิจัยทศวรรษหน้า….ฐานหลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา: ความหวังและความเป็นจริง” โดยคุณหมอประเวศ วสี

ติดตามรายการสด ถ่ายทอดทาง internet ที่ www.kku.ac.th ท่านที่สนใจโปรดติดตามครับ

ช่วงเวลาเช้าเวลา 9.15-10.45 สรรค์เสวนาเรื่อง “ทศวรรษใหม่ …วิจัยเพื่อสังคม: ข้อเสนอเชิงประเด็นและนโยบาย” โดย ดร.สุริชัย หวันแก้ว, ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย, รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย, ท่านที่สนใจเชิญชมสดได้ครับ

 

 


ขอบคุณเธอ

767 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 สิงหาคม 2009 เวลา 1:18 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 12102


สับปะรด

273 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 23:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6308

ผมชอบทานสับปะรด โดยเฉพาะสับปะรดน้ำหนึ่ง
จากท่าอุเทน นครพนม หวานอร่อยครับ

บ่อยครั้งที่ไปซื้อแล้วขอแกนสับปะรดจากแม่ค้ามาด้วย เขาให้ฟรีๆ บอกเขาว่าเอาไปให้หมาคุ้กกี้ อิอิ แต่เราก็แอบกินด้วย เห็นหมอบอกว่า แกนสับปะรดมีส่วนช่วยแก้นิ่วที่ไตด้วย

สับปะรดบางร้านมีผึ้งมาเกาะเต็มไปหมด เขาพยายามมาเอาน้ำหวานไป แม่ค้าขายสับปะรดก็แถมผึ้งไปด้วย

เจ้าคุ้กกี้ที่บ้านชอบกินผลไม้ทุกอย่างรวมทั้งแกนสับปะรดด้วย เลยคนกะหมานั่งกินแกนสับปะรดด้วยกัน แบ่งกันคนละแกน ไม่ได้กินแกนเดียวกันนะ อิอิ


อภิปรายประเด็นของเบิร์ด..

1633 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 สิงหาคม 2009 เวลา 20:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 10764

เบิร์ดตั้งประเด็นว่า ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร??

ต้องขออภัยที่เอา diagram ไปขึ้นใน comment ไม่เป็นเลยยกมาเปิดบันทึกใหม่ตอบครับ


พี่ลองร่างวิเคราะห์เส้นทางเดินของเฮฮาศาสตร์ โดยอาศัยประสบการณ์เฝ้ามองพัฒนาการขององค์กรชุมชนมาเป็นตัวแบบ ยืนยันว่าเป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น เพราะพี่ไม่ใช่หมอฟันธง หรือหมอคอนเฟิร์ม อิอิ

(ขออนุญาตวิเคราะห์ตรงๆนะครับ อย่าคิดเป็นเรื่องทำร้าย ทำลายแต่อย่างใด)

เส้นทางเดินมักเป็นดังภาพ ช่วงแรกหลังการ “ฟอร์มตัวตน” ขึ้นมาแล้วต่างก็มีความสุขกับสิ่งใหม่ ตื่นเต้น กระปรี้กระเปร่า จ๊ะจ๋า เจี้ยวจ้าว ต่างก็ยิ้มแย้มเข้าหากัน ความรักมีมากล้นรำพัน พี่เรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงฮันนิมูน” กำลังฟอร์มตัว ปรับตัวในเบื้องต้น ทุกคนจึงเอาใจมากองไว้ มาให้แก่กัน ทำงานกันเพลินไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ช่วงนี้มีความสุขมากครับ

อาจจะบ่งชี้ช่วงนี้ได้ คือ ช่วงที่เราจัดเฮฮาศาสตร์ตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งล่าสุด เรามีความสุขมาก พี่มีความสุขมาก ทุกคนอิ่มเอม การกอดรัดฟัดเหวี่ยง ยังตราตรึงในความทรงจำ ความประทับใจที่เรามากินมานอนมาคุยแลกเปลี่ยน มาใช้ชีวิตหมู่ร่วมกัน

(ขอกราบอีกครั้งว่าที่จะกล่าวต่อไปนี้มิใช่จะหมายถึงเฮฮาศาสตร์ แต่เอาข้อเท็จจริงของการพัฒนาองค์กรชุมชนมาเทียบเคียง)

ขอหักมุมไปที่องค์กรชุมชน เมื่อช่วงฮันนิมูนผ่านไป ความมีตัวตนของคณะกรรมการ ผู้นำ และสมาชิกบางคนก็ออกลาย ผู้นำบางคนที่จะเอาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ ก็หันเหองค์กรไปรับใช้ความคิดเขามากขึ้น จนฝ่าฝืนกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับก็มีให้เห็น กรรมการบางคนก็แผลงฤทธิ์ เช่น กู้แล้วไม่คืน หรือคืนช้าไม่เป็นไปตามกำหนด เป็นต้น แล้วใช้ความเป็นกรรมการ ให้อภัยแก่ตัวเอง สมาชิกบางคนเริ่มเบี้ยว หรือวิภาควิจารณ์องค์กร ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หากสมาชิกคนนี้มีฟอร์ม การออกฤทธิ์ก็ส่งผลสะเทือนไม่น้อย

ทั้งหมดนี้ พี่เรียกว่า “แรงกดดัน A” ตามไดอะแกรม

หากองค์กรมีผู้นำที่ไม่เข้มแข็ง หากคณะกรรมการไม่เข้มแข็ง หากสมาชิกไม่เข้าใจถ่องแท้ องค์กรก็ซวนเซ ตั้งข้อสงสัย ระแวง ไม่มั่นใจ ฯลฯ เป็นแรงกดที่ทำให้องค์กรแกว่ง

หากว่าผู้นำมีคุณธรรม เข้มแข็ง มีทีมงาน คณะกรรมการที่เข้มแข็งอยู่บ้าง มีสมาชิกที่เข้าใจ เชื่อมั่น ยืนหยัดหลักการองค์กรดีอยู่แล้ว ต่างก็ก้าวเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ หาจุดอ่อน เสริมความเข้มแข็ง ฯลฯ องค์กรก็ตั้งตัวได้ใหม่ ก็ดำเนินการได้ ก้าวไปข้างหน้าได้อีก

ทั้งหมดนี้พี่เรียก “แรงปรับ a” ตามไดอะแกรม

ดำเนินไปอีก ทำกิจกรรมต่างๆขององค์กรไปอีก ก็เกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นมาอีก สารพัดชนิด ประเภทของปัญหา พี่เรียก “แรงกดดัน B” แล้วก็มี แรงปรับ b” หากคณะกรรมการ ผู้นำเข้มแข็ง สมาชิกส่วนหนึ่งเข้มแข็งก็ประคับประคองไป

เวลาผ่านไปก็เกิด “แรงกดดัน C” และมี “แรงปรับ c” อีก

ช่วงที่เกิดแรงกดดัน แรงปรับ ครั้งแล้วครั้งเล่านี้ พี่เรียกว่า “ช่วงวิบากกรรม”

โดยภาพรวมนี้ทั้งหมดนี้พี่เรียกว่า “กระบวนการปรับตัวขององค์กร” ทั้งหมดนี้เพื่อเดินเข้าสู่เป้าหมายขององค์กร ต้องยอมรับว่าชาวบ้านนั้นไม่ได้จบ MBA ไม่มีหลักการบริการสารพัดสูตรอย่างที่เราเรียนรู้กัน ชาวบ้านใช้สามัญสำนึกที่ยืนบนวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ ผลประโยชน์ที่แอบแฝง ในกรณีที่เขาผู้นั้นใช้องค์กรให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

การสวิงไปมานั้น บางแห่งบางองค์กร สมาชิกลาออกเกือบหมด แล้วฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แล้วก้าวไปอย่างเข้มแข็งเพราะเขามีบทเรียนและมีประสบการณ์ที่ดี

หากการปรับตัวขององค์กรก้าวเข้ามาอยู่ใน “ภาวะนิ่ง” ก็จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง บางแห่ง บางองค์กรก้าวกระโดด มีสมาชิกแห่เข้ามา มีความก้าวหน้ามากมาย ก็มีให้เห็น

ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เป็นอย่างสมมติฐานนี้เลยก็ได้นะครับ

ดังนั้น อภิปรายประเด็นของเบิร์ด ได้ว่า ทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงอยู่คืออะไร พี่เห็นก็คือ “คน” ที่มาอยู่ในองค์กรนั่นเอง หากเข้ามาแบบเข้าใจ ศรัทธา เชื่อมั่น หลักการขององค์กรแล้ว พลังในการแก้ไขปัญหาต่างๆก็มีมากมาย พลังในการผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้าก็มีมากมาย คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ทั้งผู้นำ คณะกรรมการ สมาชิก ภารกิจที่สำคัญขององค์กรคือ กระบวนการพัฒนาคนในองค์กร เพื่อร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมาย… หากคนในองค์กรมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรอื่นๆก็ตามมาโดยอัตโนมัติ

ส่วนประเด็นโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร กรณีองค์กรชุมชนนั้นส่วนใหญ่มีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็สามารถปรับให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆได้ เพื่อให้เหมาะสมต่อเงื่อนไขขององค์กรนั้นมากที่สุด

แต่สำหรับเฮฮาศาสตร์นั้น เราไม่อยู่ในรูปขององค์กรสากล เราเป็นองค์กรพิเศษ จะเรียกอะไรก็ตาม โครงสร้างก็ควรจะปล่อยให้ก่อรูปและปรับไปตามสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราเห็นภาพลางๆขององค์กรนี้แล้ว เช่นมีพ่อครูบาเป็นเสาหลัก มีรอกอดมาเสริม มีป้าจุ๋ม มีน้องครูปู มีอ.แฮนดี้ มี พี่หลิน มี จอมป่วน มีแป๊ด มีออต มีอีกหลายๆคนที่เข้ามาช่วยเสริมอย่างใกล้ชิด ทำให้หัวขบวนเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆไม่ติดขัดเท่าไหร่นัก

ก็เป็นโครงสร้างที่เป็นไปตามสถานการณ์และความพร้อมของบุคลกรที่มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว

หากจะถามว่าเฮฮาศาสตร์จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่เป็นรูปแบบไหม ในขั้นนี้คิดว่าให้พัฒนาไปตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลามันจะลงตัวของมันเอง หากจะผลักดันให้เกิดขึ้นมาล่ะ คิดว่ายังไม่จำเป็น หากทุกคนพร้อมที่จะก้าวเข้ามาร่วมมือกันในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามเงื่อนไขที่ทำได้ แน่นอนอาจจะทำให้มีพลังไม่เต็มที่นัก ในแง่หน้าที่ความรับผิดชอบ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรพิเศษที่มาด้วยใจ bonding ที่มีใจเป็นสายใยนั้นอาจจะมีพลังมากกว่าคำว่าบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในองค์กรปกติเสียอีก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวนะครับ


โลกใบนี้..

23 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 23:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1604

โลกใบนี้..


นี่คือภาพของโลกเราในมุมหนึ่ง

อาจจะพิสูจน์มุมมองของคนเราว่า

เห็นแล้วอาจคิดอะไรไปมากมาย..


อภิปรายคำถามหลักพ่อครูบาฯ

595 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 15085

คำถามหลัก
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบา
สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้

อภิปรายคำถามหลัก จากการวิเคราะห์คร่าวๆ

  • เป็นความลงตัวระดับหนึ่งของตัวคนคือครูบาฯ และระบบสื่อสารในยุคนี้คือ blog แต่เนื่องจากครูบามีต้นทุนในหลายประการอยู่ในตัวตน มีสวนป่าที่น่าสนใจยิ่ง มีคนที่รู้จักมักจี่ในท้องถิ่นใกล้ ไกลมากมาย มีบุคลิกท่าทีที่มีเสน่ห์ใครเห็นก็เย็นตาเย็นใจ ยิ่งเนื้อในมีความรู้ มีสาระ ใส่สีสันวาทะเข้าไปก็กระเจิดกระเจิง ถูกใจโก๋ กี๋ กิ๊ก กั๊ก ทั้งหลายแหล่
  • พ่อครูบาเขียนบันทึกลง Blog อันเนื่องมาจาก blog นี่เองและปัจจัยต้นทุนดังกล่าว ก็มีสิงห์เหนือเสือใต้ หมี แมว ทั้งหลายเดินเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ก็เกิดรู้จักกัน เกิดไปมาหาสู่กัน เลยกลายเป็นข่ายเป็นเครือทั้งเหนือทั้งใต้ ออก ตก กลายเป็น Cyber Community / bond / net / node
  • เมื่อคนรู้จักกัน ก็ย่อมปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น ในสาระต่างๆทุกแนวก็เกิดขึ้นและพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
  • การปะทะสังสรรค์ย่อมเกิดผลออกมา ที่สำคัญคือ การเรียนรู้สาระต่างๆซึ่งกันและกัน ต่อยอดความรู้ มันเป็นเครือข่ายความรู้ online รู้ตัวคนที่เป็นฐานความรู้ ประสบการณ์เฉพาะด้าน ใครอยากรู้อะไรก็ไป shopping ใน blog ท่านนั้นๆ หรือติดต่อโดยตรงส่วนตัว ก็เกิดการถ่ายเทความรู้กัน หากการถ่ายเทความรู้นี้มีแสงไฟประกายออกมา เราคงจะเห็นแสงสว่างวูบวาบไปตลอดเวลา สว่างมากน้อย แล้วแต่วาระ ความสนใจ ประเด็น ฯลฯ นี่คือสังคมแห่งการเรียนรู้
  • ความรู้มีหลายลักษณะ เช่น สิ่งที่ต้องรู้ สิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ฐานวิชาชีพของแต่ละคนแตกต่างกัน สิ่งที่ต้องรู้ที่อิงอาชีพจึงแตกต่างกัน ความหลากหลายจึงเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดที่คล้ายๆกันคือ ฐานความรู้การดำรงชีพให้มีความสุข ยืนนาน ทุกคนควรจะมีพื้นฐานอันเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ก็ขึ้นกับความสนใจ การเอื้อมากน้อยที่ต่างกัน


  • แต่ละคน(Subject) มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสนใจ(Subject area) ซ้ำกันบ้าง เหลื่อมกันบ้าง เหลื่อมมากเหลื่อมน้อยบ้าง แต่ต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่บนฐานของ “เอาใจมาให้กัน” นี่คือจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้

คำถามรอง
1. กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีกระบวนการอย่างไร
2. มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่เป็นปัจจัยส่งเสริมในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
3. มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ไม่อภิปรายในข้อหนึ่ง

ข้อสอง

ปัจจัยที่เสริมในกระบวนการเรียนรู้น่าจะเป็น

  • ความเป็นครูบาสุทธินันท์ Personality ที่มีองค์ประกอบในหลายประการ อาจจะเรียกรวมๆว่าเสน่ห์ เช่น ท่วงท่า ลีลา การวางตัว อักษรที่จารลงไปในบันทึก ฯลฯ
  • องค์ความรู้ ที่เป็นทุนภายในของครูบาสิทธินันท์ มีมากมาย เพราะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมามาก เรียนรู้มาเยอะ ทั้งของตนเองและเชื่อมต่อกับท่านอื่นๆ
  • หากย้อนไปดูนิวาสถานที่อยู่อาศัยเป็นป่ากลางทะเลทราย นี่ก็เป็นสถานตักศิลาที่เหมาะสม ใครๆเห็นก็อยากจะมา มากกว่าเป็นตึกรามใหญ่โตแต่แห้งแล้ง ธรรมชาติคือองค์ประกอบสถานที่ที่มีคุณค่าแก่การมาเรียนรู้อย่างยิ่ง ทั้งเรียนรู้ธรรมชาติ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆท่ามกลางธรรมชาติ โบราณก็เรียนในป่าทั้งนั้น
  • เครือข่าย อันนี้หายากครับ หากใครมีเครือข่าย หรือพูดง่ายๆคือเพื่อนที่อุดมความรู้ ท่านครูบาไม่รู้ไปทุกเรื่อง และใครๆก็เป็นเช่นนั้น แต่สามารถระดมความรู้มาได้ บอกกล่าวได้ เชื่อมได้
  • วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ ในประเด็นต่างๆนั้น ครูบามีแตกต่างจากท่านอื่นๆ ใครที่ตามมาคุยด้วยก็จะได้เปิดสมองส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ออกมา
  • ฯลฯ

ปัญหาน่ะมีไหมในกระบวนการจัดการความรู้ของครูบาฯ

  • ไม่ว่าแบบไหนๆก็มีทั้งนั้นแหละ การศึกษาในระบบจึงมีคนสอบได้สอบตกไง มีคนแค่สอบผ่านกับคนที่ได้เกรียตินิยม ก็เป็นเรื่องปกติ
  • หากเอาปัจจัยของเสริมของครูบาตั้งขึ้น แล้วมองปัญหาในกระบวนการก็คือ ผู้ที่มาเรียนรู้ มาเพราะถูกบังคับให้มา มาเพราะเอาคะแนน อย่างคนทำวิทยานิพนธ์นี้ไง อิอิ หรือมาเพราะสนใจ อย่างหมอจอมป่วนบึ่งรถมาจากเมืองพิษฯตรงดิ่งยังกะกระทิงโทน ลุยตรงมาเลย แบบนี้ก็ได้ไปเต็มๆ
  • ผู้มาเรียนอาจจะสนใจจริง แต่รับลูกไม่ทัน ตามไม่ทัน เพราะไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่มีการปูพื้นฐานมาก่อน เคนชินกับระบบเดิมๆ พอมาแบบนี้ก็งง แปลก เลย เก็บความรู้ตกๆหล่นๆ ต้องเตรียมตัวมาก่อน มีฐานการเรียนรู้มาก่อนจึงจะรับได้เต็มๆ พ่อครูบาใช้ชีวิตผ่านองค์ความรู้มามากมาย การพูดจาบางครั้งก็เป็นธรรมะ เป็นบทสรุปสุดยอด เด็กใหม่ไม่คุ้นชินก็ลำบากเหมือนกันในบางสาระ
  • เหมือนคนสนใจปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางคนชอบแบบสัมมาอรหัง บางคนคุ้นชินแบบยุบหนอพองหนอ หลายคนสนใจแบบคู้เหยียดแขน ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นอุบายเพื่อเดินทางเข้าสู่จิตสงบ บรรลุธรรมะ ดังนั้น หลายคนไม่ถนัดที่จะเรียนแบบครูบา ตรงข้ามหลายคนได้สัมผัสแล้วน้ำตาไหล..
  • ครูบาได้ใช้ประโยชน์เฮฮาศาสตร์มาก แต่เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่สถาบันการศึกษา เช่นวงน้ำชา เชียงราย ที่วันดีคืนดีก็เรียกทีมงานมานั่งประชุมยกระดับกระบวนการให้เหมาะกับคนที่จะมาเรียนรู้ในสำนัก แต่เฮฮาศาสตร์เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่หลวมๆ โดยมีครูบาเป็นแกนกลาง เห็นเหง้าหลัก หากขาดไปก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการนี้ได้ทันที อาจสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ต่อเนื่อง และความยั่งยืน อนาคตอาจจะมีทางออกดีดีก็ได้

เอาแบบด่วนๆนะครับ อิอิ


KM ธรรมชาติของลุงเตี้ย

2266 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 สิงหาคม 2009 เวลา 22:33 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 126767

ลุงเตี้ย: สีวร วงษ์กะโซ่ หรือลุงเตี้ย แต่งงานเร็วตั้งแต่อายุ 18 แล้วก็มีลูกเลย พ่อแม่เมียสีวรไม่พึงพอใจที่สีวรไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน อายุก็ยังน้อย ทำอะไรก็ไม่เป็น สีวรจึงมีความพยายามโดยการช่วยทำนาทำไร่ และไปขายแรงงานเป็นช่างไม้ ช่างปูน กับเพื่อนๆที่อุบลราชธานี ที่สกลนคร ที่นครพนม ไม่ได้ลงกรุงเทพฯ แต่เงินทองค่าจ้างที่ได้มาก็ไม่เป็นกอบเป็นกำ ได้มาก็กินก็หมดไป แค่ได้กินปลาทูเท่านั้นแหละ…

พ่อหวัง วงษ์กะโซ่ ผู้สร้าง KM ธรรมชาติให้ ลุงเตี้ย

พ่อหวังครูสร้างคนตัวจริง: ลุงเตี้ย: ผมมักไปเล่นที่บ้านพ่อหวัง วงษ์กะโซ่ บ่อยเข้าพ่อหวังก็อ่านผมออกว่าผมมีทุกข์อะไร ต้องการอะไร พ่อหวังออกปากชวนผมมาอยู่ด้วยที่บ้านสวน ไปทำงานไร่นากัน เป็นเจตนาของพ่อหวังต้องการฉุดเด็กหนุ่มโซ่อย่างผมให้ขึ้นมาจากหลุมของความสับสนในชีวิต ไม่มีทางออก พ่อหวังใช้งานผมทุกอย่าง ไร่ นา ทั้งกลางวันกลางคืน เช้า สาย บ่ายเย็น ตลอดทั้ง 2 ปี พ่อหวังใช้งานผมแล้วสอนผม ให้สติผม แนะนำผม เตือนผม บอกกล่าวในสิ่งที่คนหนุ่มอย่างผมจะต้องรู้และคิด ผมก็น้อมรับ เหมือนคนบ้า ทำงานทุกอย่างเพราะไม่อยากไปขายแรงงานอีกแล้ว

ผมกินนอนที่บ้านสวนพ่อหวัง เมียผมทำอาหารไปส่ง ผมไม่ไปนอนที่บ้าน นอนที่สวน พ่อหวังไม่ได้จ้างแรงงานผม แต่พ่อหวังเอาชีวิตผมมาสอน สอนแบบตัวต่อตัวโดยการทำจริงๆ พ่อหวังก็ให้กินให้ใช้บ้าง

ครั้งหนึ่งพ่อหวังรู้ว่า ผมติดกัญชา พ่อหวังเรียกผมไปบอกว่า “…เตี้ย..เดินผิดทางแล้ว..ปรับตัวเสียใหม่ เลิกเสียเถอะ..สิ่งเสพติดไม่ดี เลิกซะ..” พ่อหวังใช้วิธีให้สติผมแล้วกักบริเวณผม ให้อยู่ที่สวน ห้ามไปไหน พ่อหวังควักเอาเงินให้ผม แต่บอกว่าไม่ให้เอาไปซื้ออะไรกิน อยากกินอะไรจะหามาให้หมด..ผมต่อสู่กับตัวเองสำเร็จ แต่ก็เพราะพ่อหวัง…


สร้างชีวิตใหม่ : สองปีที่ลุงเตี้ยได้ใช้ชีวิตอยู่ในไร่นา สวนกับพ่อหวังนั้น เหมือนกับโรงเรียนฝึกปฏิบัติจริง เมื่อพ่อหวังเห็นแววว่าลุงเตี้ยคนนี้ใช้ได้แล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่านเต็มตัวแล้ว มีสติมีหลักคิดและยึดมั่นในการพึ่งตนเอง ปล่อยให้ลุงเตี้ยกลับบ้านได้ พ่อแม่เมียลุงเตี้ยและพ่อแม่ลุงเตี้ยเองเห็นลุงเตี้ยเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็มอบที่ดินให้ ทำสวน 3 ไร่ และที่นาอีก 5 ไร่

ลุงเตี้ยหอบครอบครัวมาสร้างบ้านบนที่ดินผืนนี้ที่ว่างเปล่า โล่งโจ่ง เพราะใช้ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอมาตลอด ลุงเตี้ยก็เริ่มปลูกทุกอย่างจากประสบการณ์ที่ทำมากับมือตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ที่ดินที่ว่างเปล่าก็เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น พืชผักผลไม้สารพัดชนิด


พ่อหวังดึงผมเข้าไปในเครือข่ายไทบรูตั้งแต่แรก และยิ่งเข้าไปเรียนรู้จากการประชุม ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความเห็น แม้แต่เอกสารต่างๆที่ผมได้รับมา ผมอ่านครับ มันตอกย้ำว่าการเดินทางของวิถีชีวิตของผมถูกต้องแล้ว.. การไม่มุ่งหวังข้างนอก การสร้างชีวิตด้วยอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน เน้นเพื่อการพึ่งตนเอง

มาถึงวันนี้เมียผมพอใจมากที่เรามีรายได้ประจำวัน จากการปลูกทุกอย่างที่กินได้แล้วมันเหลือเฟือเราก็เอาไปขาย โดยเมียผมเป็นคนไปขาย เขาเก็บเงินเอง ได้เท่าไหร่ผมไม่รู้ เขาเก็บเองทั้งหมด ผมเป็นคนทำให้..

ยกระดับการผลิต: ลุงเตี้ยกล่าวว่า ผมพร้อมแล้ว ผมมีทุกอย่าง ผมพึ่งตัวเอง อยากกินอะไรผมมีหมด ผมมีนา ด้านหลัง แต่ก่อนทำนาไม่พอกิน เพราะเป็นนาโนน น้ำท่ามีปัญหา ทำข้าวไม่พอกิน ผมศึกษาธรรมชาติว่าเมื่อมีต้นไม้ใหญ่ความชื้นมันก็มี ผมก็ปลูกไม้ยืนต้น แล้วผมก็ขุดบ่อเล็กๆท้ายสวนติดนา ผมพบว่าเกิดมีน้ำออกมาเป็นน้ำซับ


ผมเลยไปขุดอีกแห่งใกล้กันก็ได้อีก ผมโชคดีครับ ผมก็เอาน้ำนี้ไปรดพืชผักต่างๆในสวน และปรับปรุงนาโนนโดยเอาน้ำนี้ไปใส่นาจนกลายเป็นนาลุ่มไปแล้ว ผมใช้น้ำหมักชีวภาพใส่นาจากดินที่แข็งมาเป็นดินที่นุ่มร่วนซุยมากขึ้น ผลผลิตข้าวที่ไม่เคยพอกิน ผมมีข้าวพอกินแล้วและเป็นข้าวอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีมานานแล้ว


ผมได้รับเงินจาก ส.ป.ก. 3,000 บาท ที่สนับสนุนให้เป็นแปลงเรียนรู้ ผมเพิ่มไปอีกเท่าหนึ่งไปซื้อวัวตัวแม่มาตัวหนึ่ง มาเลี้ยงปีหนึ่งได้ลูกวัวแม่เพิ่มมาอีกตัว ผมได้ปุ๋ยมูลวัวมาใส่สวนใส่นาอีก ผมดีใจที่ได้ลูกวัวเล็กเป็นเพศแม่ ต่อไปภายหน้าผมจะมีวัวมากขึ้น..

บ้านสวนผมไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ดีนะประหยัด แต่ผมก็มีตู้เย็นนะครับ โน่นไงตู้เย็นผม ลุงเตี้ยชี้ไปที่ ท่อซีเมนต์ขนาดกลางที่ซื้อเอามาเลี้ยงปลา กบ เขียด สารพัดสัตว์ที่เราจะกินมันได้ ก็เอามาเลี้ยงไว้ ผมเรียกมันว่าเป็นตู้เย็นของครอบครัวผม อยากกินปลาก็ไปเอามาได้ทุกเมื่อ…

ขยายสู่เพื่อน: เห็นร่มไผ่นั่นไหม ตรงนั้นน่ะเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยือน ผ่านไปมาก็แวะมานั่งคุยกัน หน้าหนาวก็สุมไฟคุยกัน คุยไปคุยมาเรื่องสาระชีวิตก็กลายเป็นประเด็น เพื่อนบ้านเห็นสวนผม มีพืชผักมากมาย มีของจากสวนไปขายในตลาดทุกวัน มีรายได้เข้าบ้านตลอด เพื่อนๆเขาก็เห็น เขาก็อยากทำ…


แล้วผมก็ได้เพื่อนที่ต้องการอยากจะทำ นายยงค์ มาเรียนรู้จากผมแล้วก็เอาไปทำสวนเขาอยู่ใกล้ๆผม แรกสุดก็เอาพืชง่ายๆก่อน คือสวนกล้วย ระหว่างแถวก็เอาไม้ผลไปลง แม้ว่าเพิ่งจะเริ่มเพียง 4 เดือน นายยงค์มาสวนวันละหลายรอบ ดีใจที่เห็นกล้วยโตสวยงาม และไม้ผลก็ตั้งตัวได้แล้ว นายยงค์มีแผนจะมาปลูกกระต๊อบที่สวน มีน้ำแล้วเพราะเจาะบาดาล นายยงค์บอกว่า ผมก็ได้ลุงเตี้ยแนะนำ และผมสนใจ อยากมาใช้ชีวิตสวนแบบลุงเตี้ยเขา…


อีกคนที่เริ่มทำสวนพอเพียงมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันคือนายจง.. ลุงเตี้ยบอกว่า คนนี้ได้ทุกอย่างที่ผมได้มา เช่น ผมได้ ไม้ผลมาสองต้นก็แบ่งให้เขาหนึ่งต้น ได้ กล้าผักหวานป่ามาก็แบ่งให้เขาครึ่งหนึ่ง เมียนายจงก็ไปขายพืชผักกับเมียผม บางทีติดธุระก็ฝากกันไปก็มี บางทีก็นักกันว่า วันนี้เธอเอาอะไรไปขาย จะได้ไม่เอาพืชผักไปขายตรงกัน…

ทั้งหมดนี้เป็นเสี้ยวส่วนของเรื่องราวของ “ครูคนอย่างพ่อหวัง”

“คนขายแรงงานกลับใจมาทำการเกษตรผสมผสาน” ที่บ้านอย่าง “นายสีวร”

“นายยงค์ นายจง เพื่อร่วมอาชีพที่ลุงเตี้ยขยายแนวคิด” นี้ออกไป

สรุป KM ธรรมชาติในที่นี้คือ การที่นายสีวรเรียนรู้เรื่องราวการทำการเกษตรโดยการลงมือทำจริงๆกับพ่อหวัง นั้นเป็นแบบ ชาวบ้านกับชาวบ้าน เป็น lateral knowledge transfer

การที่มีการขยายความคิดและการกระทำจากนายสีวรไปสู่นายยงค์ นายจง ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ส่วนการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการศึกษาจากเอกสารนั้นเป็นตัวเสริม


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 21 การเรียนรู้ที่ระเบียงวัด

2423 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 สิงหาคม 2009 เวลา 0:00 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 12654

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


งานชิ้นสำคัญหนึ่งของโครงการคือการขายความคิดเรื่องการออมทรัพย์ในรูปแบบเครดิตยูเนี่ยน เพื่อสร้างนิสัยการออมให้แก่ชาวบ้านในป่าอย่างสะเมิงเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา

สันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมทีมกับเราไปขายความคิดให้แก่ชาวบ้าน ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อทำความเข้าใจหลักการ วิธีการ กระบวนการ สิ่งที่จะได้รับ การบริหารจัดการ ฯลฯ เราวิ่งไปหาชาวบ้าน มิใช่ให้ชาวบ้านเดินทางมาหาเรา เราใช้ทุกแห่งที่สามารถจะใช้เป็นที่นั่งคุยกันได้ โรงเรียน บ้านผู้ใหญ่บ้าน ใต้ถุนอาคาร ใต้ร่มไม้ ฯลฯ และระเบียงกำแพงวัด

เรากวนความคิดเขาให้ตื่นตัวต่อเรื่องการออม เราแนะนำหลักการที่เป็นสิ่งพื้นๆที่ศาสนาผนวกเข้าไว้ในศีล เราปล่อยให้ประเด็นนี้ฟุ้งกระจายไปในบรรยากาศชุมชน เขาคุยกันเอง ถกเถียงกันเอง ตั้งประเด็นสงสัยไถ่ถามกันเอง แล้วการพูดคุยครั้งที่สอง สาม สี่ ห้า .. ก็ตามมาตามจังหวะของวิถีที่เหมาะสม

เมื่อทุกคนอิ่ม เราจึงกำหนดวันจัดตั้ง และส่วนใหญ่จะใช้โบสถ์เป็นสถานที่เริ่มงาน…

30 ปีผ่านมา กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 30 ล้านบาท เขาไม่สนใจกองทุนเงินล้าน กองทุน กข.คจ. และอื่นๆจากรัฐ และยังมีเงินสวัสดิการให้แก่สมาชิกยามเจ็บป่วย…

เราเริ่มต้นที่ระเบียงวัดก่อนที่จะก้าวมามีกองเงินทุนหมุนเวียนมากขนาดนี้

ดัดแปลงรูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพชุมชนเถอะ


เมฆ..

1148 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 สิงหาคม 2009 เวลา 22:06 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6391

ธรรมชาติย่อม…”เคลื่อนไหว-เปลี่ยนแปลง-ขัดแย้ง-สัมพันธ์”

การเดินทาง… ทำให้เห็นมุมต่างๆของโลกใบนี้

น้อมนำสู่… ความเข้าใจวิถีชีวิตและมวลสรรพสิ่ง


วัดลัฎฐิกวัน.หว้านใหญ่

1489 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 สิงหาคม 2009 เวลา 0:44 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 6953

ผมขอติดตามน้อง ออต ไปชมวัดและศิลปกรรมโบราณที่ อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร เมื่อวันแม่ที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา เดินทางดู 3 วัด คือ วัดพระศรีมหาโพธิ์ วัดลัฎฐิกวัน และวัดมโนภิรมย์

ใกล้เกลือกินด่าง โบราณว่าไว้ เพราะผมอยู่มุกดาหารตั้งนานแต่ไม่เคยเดินทางมาที่สามวัดนี้เลย แม้จะเคยได้ยินเพื่อนคนท้องถิ่นพูดถึงก็ตาม อาจเพราะผมไม่ใช่คนที่มีฐานทางด้านนี้ แต่ก็สนใจอยู่บ้าง โดยเฉพาะในแง่ของการทำความเข้าใจเรื่องราวของโบราณอันเป็นรากเหง้าของเราในปัจจุบัน

ที่วัดลัฎฐิกวันนั้น มีงานก่อสร้างหลายประการที่น่าสนใจเป็นของเก่า ซึ่งผมเองไม่มีความรู้ใดๆเลย พยายามเงี่ยหูฟังผู้รู้เขาคุยกัน

ผมเห็นสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งที่หลายคนเข้าไปถ่ายรูปกัน ผมก็เดินตามไปดูใกล้ๆบ้างเห็นด้านนี้มีงานดังที่เห็น อาจารย์ท่านหนึ่งพูดว่างานปูนนี้สร้างแบบแปลกๆไม่ค่อยเห็นที่ไหน ยิ่งเมื่อผมยืนพินิจก็ยิ่งประทับใจ


เพราะผนังอาคารหลังนี้มีลายและรูปหน้าหัวเราะที่ผมคิดว่าสวยงาม ช่างมีจินตนาการจริงๆคนโบราณนี่ เมื่อผมถ่ายรูปเข้าไปใกล้ๆมากขึ้นก็เห็นรูปพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานอยู่ด้านในด้วยครับ

ท่านมหาซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นที่บวชเรียนมานานแล้วสึกออกมาเป็นผู้ดูแลงานวัฒนธรรมท้องถิ่น ท่านเล่าสั้นๆว่า เคยข้ามไปฝั่งลาวเห็นวัดและงานศิลปกรรมเหมือนกันนี้อยู่ด้วย น่าที่จะเป็นช่างสกุลเดียวกัน และช่างก็น่าจะมาจากฝั่งซ้าย

เพราะแต่ก่อนเป็นชาติเดียวกัน ท่านมหายังกล่าวว่า ผมเองก็มีญาติพี่น้องอยู่ฝั่งซ้ายด้วย

มาสัมผัสรากวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบนี้ได้สำนึกในการเคารพบรรพบุรุษมากมายก่ายกองทีเดียว..


แจ๋ว หมา มือถือ..

1339 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 สิงหาคม 2009 เวลา 22:17 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5409

ครอบครัวสมัยนี้ก็เป็นอย่างที่ครอบครัวผมเป็น

ลูกสาวทำงานอยู่กรุงเทพฯ

แม่เธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและรับงานตระเวนไปทั่วประเทศไม่เว้นวันหยุด

ผมเองชีวิตส่วนใหญ่อยู่มุกดาหาร ดังนั้นเสาร์-อาทิตย์จึงกลับมาขอนแก่น

เรายังคุยกันบ่อยๆว่า แล้วบ้านเรานั้นคนที่อยู่มากที่สุดคือ “แจ๋ว”

เมื่อคุณแม่เสียไปแล้ว “แจ๋ว” ก็มาเช้ากลับเย็นไม่ได้ค้างที่บ้าน


ดังนั้นคนที่อยู่บ้านตลอดจริงๆคือ “เจ้าคุกกี้” หมา โกลเด้น รีทรีปเวอร์

สิ่งหนึ่งที่เราติดต่อกันคือ มือถือ ใครๆก็ใช้กัน..


แต่ที่ผมได้ประโยชน์จากมือถือ คือใช้ระบบ Tele-conference

ซึ่งรุ่นที่ใช้ก็เหมือนรุ่นจอมป่วนแหละ

เวลาเราโทรหาใครก็จะเปิด Conference ไปเชื่อมอีกคน ทำให้ พ่อแม่ลูก ได้คุยกันทั้งที่อยู่กันคนละมุมประเทศ ก็พอกล้อมแกล้มไปได้

ระบบนี้ผมเชื่อว่าหลายๆท่านก็ใช้อยู่..

พอช่วยให้หายคิดถึงครอบครัวนะ อิอิ


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 20 Temple Hotel..

2009 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2009 เวลา 8:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 33265

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

สมัยนั้น เมื่อเราเดินทางออกไปทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเช้ากลับเย็น แต่จะตระเวนไปทั้งสัปดาห์ ออกจากหมู่บ้านนี้ ไปบ้านถัดไป เรื่อยๆตามแผนงานทั้ง 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน

ปกติเราจะพักบ้านชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วย ซึ่งเราก็ฝากท้องไว้กับชาวบ้าน และชาวบ้านก็ยินดีมากที่เราไปพักด้วย บางครอบครัวก็เรียกเราเป็นลูกหลาน ผ่านไปไม่พักก็งอนเอาเลย ต้องไปง้อ และแน่นอนช่วงสงกรานต์เราก็ตระเวนไปรดน้ำดำหัวท่านเหล่านั้น

แต่ก็มีบ่อยๆที่เราไปเป็นคณะหลายคนรวมทั้งฝรั่งผู้รับผิดชอบโครงการ เราจึงไปพักที่วัด ก็โบสถ์ด้านหลังรูปนี้แหละครับ เป็นทั้งที่ประชุมชาวบ้านไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน เป็นสถานที่ใช้ฝึกอบรมต่างๆ เป็นสถานที่กินข้าว..ฯลฯ สารพัดประโยชน์ รวมทั้งเป็นที่นอน ท่านเจ้าอาวาสเป็นพระหนุ่มก็ยินดีและมาดูแลอย่างดี

ดูเหมือนว่าวัด โบสถ์ เป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์มากสำหรับสังคมชนบท และการใช้ประโยชน์ต่างๆนั้นจะมีความเชื่อกำกับอยู่ในมโนสำนึกว่า อยู่ในบริเวณวัด เป็นสถานที่มงคล ศักดิ์สิทธิ์ จะไม่พูดจาที่โกหก หรือเป็นเท็จ

ก่อนทำกิจกรรมใดๆ และเมื่อจบสิ้นกิจกรรมใดๆทุกคนก็ก้มกราบพระประธานในโบสถ์นั้นๆ อย่างน้อยที่สุดกิจกรรมต่างๆที่ทำในที่นั้นจะอยู่บนความเชื่อและหลักการศาสนากำกับอย่างแน่นอน..

แม้แต่เราใช้เป็นที่นอนพักผ่อน เราก็ก้มกราบพระก่อนทุกครั้ง ฝรั่งเลยเรียกว่า Temple Hotel อิอิ


เบ้าหลอมวิถี..

984 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2009 เวลา 0:43 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 13231

เย็นวันศุกร์หนึ่ง ผมเดินทาง มุกดาหาร-ขอนแก่น เส้นทาง ดงหลวง-สมเด็จ-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น แวะเติมน้ำมันที่กุฉินารายณ์


เห็นรถปิคอัพสวยคันนี้ เป็นรถของคุณครู เดาเอาว่าคุณครูคงใจดีให้นักเรียนนั่งรถกลับบ้านด้วย เด็กนักเรียนสตรีใส่กระโปรง ม่อฮ่อม น่ารัก

เธอก้าวออกมาจาก 711 ทุกคนหิ้วถุงมาคนละใบในนั้นคงเป็นขนมหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นพวก มันฝรั่งทอด

ต่างเอามาอวดกัน แล้วก็เดินขึ้นไปนั่งกะบะหลังรถ เอาขนมออกมากินกัน คงสนุกน่าดู…

มันเป็นภาพปกติประจำวันที่เราก็อาจเห็นที่ไหนๆก็ได้

มันเป็นภาพปกติที่อาจจะเกิดกับบุตรหลานของเราเองก็ได้

มันเป็นภาพปกติที่คนที่หิ้วถุงนั้นอาจเป็นเราเองก็ได้

แต่ผมเดินทางมาจากดงหลวง ที่ไม่มีภาพเหล่านี้ต่อเด็กในวัยเดียวกันที่นั่น

บางทีเพราะเราคิดว่ามันเป็นปกติ

เราเลยมองไม่เห็นเบ้าหลอมวิถีใหม่ของชีวิตแบบบริโภค

แม้แต่เราเอง..


เรื่องมันมัน..

2085 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 สิงหาคม 2009 เวลา 23:51 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9294

รถสิบล้อพ่วงจำนวนมากมายบรรทุกมันสำปะหลังเข้าคิวหน้าโรงงานฯ บนถนน กุฉินารายณ์-สมเด็จ

มันเป็นภาพปกติที่เราก็เห็นๆกัน..

แต่เบื้องหลังของภาพนี้คือลูกโซ่ของวิถีการผลิตที่ซ่อนประเด็นไว้มากมาย ลองไปค้นหาที่แหล่งผลิตซิ…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 19 เจ้าเล็ก..

1514 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 สิงหาคม 2009 เวลา 23:23 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9828

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

เล็กเป็นชื่อเล่นเขา ความที่เป็นลูกสุดท้องของพ่อชาวสุพรรณ ตระกูลนี้มีการศึกษาดี ญาติพี่น้องจึงมีหน้าที่การงานสูงๆ แต่เล็กออกจะเกเร กระนั้นก็ยังไปเรียนจนจบ High school จากปีนัง มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

ปากเปราะ จริงใจ มีน้ำใจ รักเพื่อนฝูง ขี้เล่น และออกจะกรุ้มกริ่มกับสาวๆซักหน่อย เขาเข้ามาร่วมโครงการเป็นรุ่นที่สาม มาพร้อมกับภรรยาสาวและลูกชายเล็กๆสองคน เนื่องจากบุคลิกง่ายๆ คล่องแคล่ว กว้างขวางในความสามารถ จึงเป็นฝ่ายสนับสนุนของโครงการ

ครั้งหนึ่งเราขึ้นไปเยี่ยมชนเผ่ากระเหรี่ยง หรือปกากะญอบนดอยสูงด้วยมอเตอร์ไซด์ แล้วเจ้าเล็กโดนตัว “ต่อป่า” ต่อยเอาที่ต้นคอ เล็กรู้สึกเจ็บแปลบๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นความผิดปกติก็เกิดขึ้นกับเล็กทันที รู้สึกบวมขึ้นอย่างทันทีทันใด และเริ่มหายใจติดขัด ทั้งตัวขึ้นผื่นเต็มไปหมด

ด้วยสัญชาติญาณ ผมเอาเล็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ บึ่งลงจากยอดดอย ลัดเลาะไหล่เขา ทุ่งนา หมู่บ้าน ลำห้วยมุ่งสู่ตัวอำเภอสะเมิง เป้าหมายคือสถานีอนามัยอำเภอ ขณะนั้นเวลาบ่าย ผมขับมอเตอร์ไซด์เร็วมากกว่าขับแข่งอีก เพราะ เล็กที่นั่งข้างหลังพูดตลอดเวลาว่า ..หายใจไม่ออก ปวด…

ผ่านตรงไหนมา ชาวบ้านต่างแปลกใจว่าผมทำไมขับรถเร็วจังวันนี้ จะรีบไปไหน ผมพาเล็กมาถึงสถานีอนามัยใช้เวลาเกือบ 45 นาทีจากยอดดอย ปกติน่าจะใช้เวลามากกว่าชั่วโมง… เล่าเรื่องให้พี่อนามัยทราบ พี่เขาเข้าใจจับนอนบนเตียงแล้วก็ฉีดยาเข้าไปหนึ่งเข็ม… ทันที

พี่อนามัยบอกว่า ทำบุญมามากนะนี่ หากช้ากว่านี้ เล็กคงหายใจไม่ออกอันตรายถึงชีวิตได้เลย เพราะเล็กเขาแพ้พิษของตัวต่อป่า พิษตัวต่อทำให้เกิดบวม เห่อด้านในหลอดลม หลอดลมหายใจตีบลง นี่แหละที่ทำให้หายใจไม่ออก….

เล็กคนนี้คืออดีตสามีของป้าดาว ที่ผมชวนเธอมาร่วมปลูกป่าที่พระบาทห้วยต้ม ลี้ ลำพูนคราวที่แล้วด้วย ปัจจุบันเล็กมีครอบครัวครั้งที่สาม อยู่กินกันที่แม่สาย เชียงราย เขาเคยมานอนพักกับผมที่มุกดาหารนานนับสัปดาห์…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 18 เศรษฐีกับการสนับสนุนงานพัฒนาชนบท

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 สิงหาคม 2009 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1144

ภาพเก่าเล่าเรื่อง 18 เศรษฐีกับการสนับสนุนงานพัฒนาชนบท

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

มูลนิธิฟริดริช เนามัน ผู้จัดทำโครงการพัฒนาชนบทที่สะเมิง เป็นมูลนิธิของประเทศเยอรมันนี มหาอำนาจหนึ่งของโลก ผู้แทนมูลนิธิคือที่รับผิดชอบโครงการ Mr. Klaus Bettenhausen เชิญมหาเศรษฐีนักธุรกิจเยอรมันมาเที่ยวโครงการให้เห็นสภาพชุมชน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่บริษัทจะบริจาคให้กับโครงการ

จึงมีโอกาสพาครอบครัวมหาเศรษฐีเยอรมันท่านนี้เที่ยวหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ที่บนดอยสูง สมัยนั้นต้องใช้รถแลนด์โรเวอร์จีฟ ฝรั่งที่ไม่เคยเห็นสภาพชุมชนชาวไทยภูเขาเช่นนี้ ก็ตื่นเต้นและแปลกหูแปลกตาต่อสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา สภาพที่คิดว่าเขาคงไม่เคยเห็นมาก่อน

เราได้รับบริจาคเงินมาทำกิจกรรมต่างๆจำนวนมากพอสมควร ซึ่งเป็นกิจกรรมการพัฒนาเด็กเล็กในชุมชน

ผู้มีอันจะกินในเมืองไทยก็มีจำนวนไม่น้อย หากเขาจะเจียดเงินส่วนเกินมาสนับสนุนการทำงานด้านพัฒนาชนบทก็น่าที่จะก่อเกิดประโยชน์แก่สังคมในหลายแง่มุมทีเดียว ชนบททุกแห่งยังต้องการการสนับสนุนจากคนภายนอกไม่เพียงแต่งานของราชการเท่านั้น งานของเอกชนที่เข้าใจชนบทนั้นจำเป็น เป็นอย่างมาก



Main: 0.096820116043091 sec
Sidebar: 0.095272064208984 sec