อภิปรายประเด็นของเบิร์ด..
เบิร์ดตั้งประเด็นว่า ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร??
ต้องขออภัยที่เอา diagram ไปขึ้นใน comment ไม่เป็นเลยยกมาเปิดบันทึกใหม่ตอบครับ
พี่ลองร่างวิเคราะห์เส้นทางเดินของเฮฮาศาสตร์ โดยอาศัยประสบการณ์เฝ้ามองพัฒนาการขององค์กรชุมชนมาเป็นตัวแบบ ยืนยันว่าเป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น เพราะพี่ไม่ใช่หมอฟันธง หรือหมอคอนเฟิร์ม อิอิ
(ขออนุญาตวิเคราะห์ตรงๆนะครับ อย่าคิดเป็นเรื่องทำร้าย ทำลายแต่อย่างใด)
เส้นทางเดินมักเป็นดังภาพ ช่วงแรกหลังการ “ฟอร์มตัวตน” ขึ้นมาแล้วต่างก็มีความสุขกับสิ่งใหม่ ตื่นเต้น กระปรี้กระเปร่า จ๊ะจ๋า เจี้ยวจ้าว ต่างก็ยิ้มแย้มเข้าหากัน ความรักมีมากล้นรำพัน พี่เรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงฮันนิมูน” กำลังฟอร์มตัว ปรับตัวในเบื้องต้น ทุกคนจึงเอาใจมากองไว้ มาให้แก่กัน ทำงานกันเพลินไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ช่วงนี้มีความสุขมากครับ
อาจจะบ่งชี้ช่วงนี้ได้ คือ ช่วงที่เราจัดเฮฮาศาสตร์ตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งล่าสุด เรามีความสุขมาก พี่มีความสุขมาก ทุกคนอิ่มเอม การกอดรัดฟัดเหวี่ยง ยังตราตรึงในความทรงจำ ความประทับใจที่เรามากินมานอนมาคุยแลกเปลี่ยน มาใช้ชีวิตหมู่ร่วมกัน
(ขอกราบอีกครั้งว่าที่จะกล่าวต่อไปนี้มิใช่จะหมายถึงเฮฮาศาสตร์ แต่เอาข้อเท็จจริงของการพัฒนาองค์กรชุมชนมาเทียบเคียง)
ขอหักมุมไปที่องค์กรชุมชน เมื่อช่วงฮันนิมูนผ่านไป ความมีตัวตนของคณะกรรมการ ผู้นำ และสมาชิกบางคนก็ออกลาย ผู้นำบางคนที่จะเอาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ ก็หันเหองค์กรไปรับใช้ความคิดเขามากขึ้น จนฝ่าฝืนกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับก็มีให้เห็น กรรมการบางคนก็แผลงฤทธิ์ เช่น กู้แล้วไม่คืน หรือคืนช้าไม่เป็นไปตามกำหนด เป็นต้น แล้วใช้ความเป็นกรรมการ ให้อภัยแก่ตัวเอง สมาชิกบางคนเริ่มเบี้ยว หรือวิภาควิจารณ์องค์กร ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หากสมาชิกคนนี้มีฟอร์ม การออกฤทธิ์ก็ส่งผลสะเทือนไม่น้อย
ทั้งหมดนี้ พี่เรียกว่า “แรงกดดัน A” ตามไดอะแกรม
หากองค์กรมีผู้นำที่ไม่เข้มแข็ง หากคณะกรรมการไม่เข้มแข็ง หากสมาชิกไม่เข้าใจถ่องแท้ องค์กรก็ซวนเซ ตั้งข้อสงสัย ระแวง ไม่มั่นใจ ฯลฯ เป็นแรงกดที่ทำให้องค์กรแกว่ง
หากว่าผู้นำมีคุณธรรม เข้มแข็ง มีทีมงาน คณะกรรมการที่เข้มแข็งอยู่บ้าง มีสมาชิกที่เข้าใจ เชื่อมั่น ยืนหยัดหลักการองค์กรดีอยู่แล้ว ต่างก็ก้าวเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ หาจุดอ่อน เสริมความเข้มแข็ง ฯลฯ องค์กรก็ตั้งตัวได้ใหม่ ก็ดำเนินการได้ ก้าวไปข้างหน้าได้อีก
ทั้งหมดนี้พี่เรียก “แรงปรับ a” ตามไดอะแกรม
ดำเนินไปอีก ทำกิจกรรมต่างๆขององค์กรไปอีก ก็เกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นมาอีก สารพัดชนิด ประเภทของปัญหา พี่เรียก “แรงกดดัน B” แล้วก็มี แรงปรับ b” หากคณะกรรมการ ผู้นำเข้มแข็ง สมาชิกส่วนหนึ่งเข้มแข็งก็ประคับประคองไป
เวลาผ่านไปก็เกิด “แรงกดดัน C” และมี “แรงปรับ c” อีก
ช่วงที่เกิดแรงกดดัน แรงปรับ ครั้งแล้วครั้งเล่านี้ พี่เรียกว่า “ช่วงวิบากกรรม”
โดยภาพรวมนี้ทั้งหมดนี้พี่เรียกว่า “กระบวนการปรับตัวขององค์กร” ทั้งหมดนี้เพื่อเดินเข้าสู่เป้าหมายขององค์กร ต้องยอมรับว่าชาวบ้านนั้นไม่ได้จบ MBA ไม่มีหลักการบริการสารพัดสูตรอย่างที่เราเรียนรู้กัน ชาวบ้านใช้สามัญสำนึกที่ยืนบนวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ ผลประโยชน์ที่แอบแฝง ในกรณีที่เขาผู้นั้นใช้องค์กรให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
การสวิงไปมานั้น บางแห่งบางองค์กร สมาชิกลาออกเกือบหมด แล้วฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แล้วก้าวไปอย่างเข้มแข็งเพราะเขามีบทเรียนและมีประสบการณ์ที่ดี
หากการปรับตัวขององค์กรก้าวเข้ามาอยู่ใน “ภาวะนิ่ง” ก็จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง บางแห่ง บางองค์กรก้าวกระโดด มีสมาชิกแห่เข้ามา มีความก้าวหน้ามากมาย ก็มีให้เห็น
ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เป็นอย่างสมมติฐานนี้เลยก็ได้นะครับ
ดังนั้น อภิปรายประเด็นของเบิร์ด ได้ว่า ทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงอยู่คืออะไร พี่เห็นก็คือ “คน” ที่มาอยู่ในองค์กรนั่นเอง หากเข้ามาแบบเข้าใจ ศรัทธา เชื่อมั่น หลักการขององค์กรแล้ว พลังในการแก้ไขปัญหาต่างๆก็มีมากมาย พลังในการผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้าก็มีมากมาย คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ทั้งผู้นำ คณะกรรมการ สมาชิก ภารกิจที่สำคัญขององค์กรคือ กระบวนการพัฒนาคนในองค์กร เพื่อร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมาย… หากคนในองค์กรมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรอื่นๆก็ตามมาโดยอัตโนมัติ
ส่วนประเด็นโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร กรณีองค์กรชุมชนนั้นส่วนใหญ่มีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็สามารถปรับให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆได้ เพื่อให้เหมาะสมต่อเงื่อนไขขององค์กรนั้นมากที่สุด
แต่สำหรับเฮฮาศาสตร์นั้น เราไม่อยู่ในรูปขององค์กรสากล เราเป็นองค์กรพิเศษ จะเรียกอะไรก็ตาม โครงสร้างก็ควรจะปล่อยให้ก่อรูปและปรับไปตามสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราเห็นภาพลางๆขององค์กรนี้แล้ว เช่นมีพ่อครูบาเป็นเสาหลัก มีรอกอดมาเสริม มีป้าจุ๋ม มีน้องครูปู มีอ.แฮนดี้ มี พี่หลิน มี จอมป่วน มีแป๊ด มีออต มีอีกหลายๆคนที่เข้ามาช่วยเสริมอย่างใกล้ชิด ทำให้หัวขบวนเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆไม่ติดขัดเท่าไหร่นัก
ก็เป็นโครงสร้างที่เป็นไปตามสถานการณ์และความพร้อมของบุคลกรที่มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว
หากจะถามว่าเฮฮาศาสตร์จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่เป็นรูปแบบไหม ในขั้นนี้คิดว่าให้พัฒนาไปตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลามันจะลงตัวของมันเอง หากจะผลักดันให้เกิดขึ้นมาล่ะ คิดว่ายังไม่จำเป็น หากทุกคนพร้อมที่จะก้าวเข้ามาร่วมมือกันในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามเงื่อนไขที่ทำได้ แน่นอนอาจจะทำให้มีพลังไม่เต็มที่นัก ในแง่หน้าที่ความรับผิดชอบ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรพิเศษที่มาด้วยใจ bonding ที่มีใจเป็นสายใยนั้นอาจจะมีพลังมากกว่าคำว่าบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในองค์กรปกติเสียอีก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวนะครับ