อย่าป๊ะกัน
อ่าน: 4985หลังการประชุมสรุปบทเรียนเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไป บ้านใครบ้านมัน เจ้าหน้าที่ชวนกลุ่มอาวุโสของกลุ่มผู้ใช้น้ำ มากินก๊วยเตี๋ยวร้านริมถนน
เราถือโอกาสคุยกันต่อเรื่องทำมาหากินวันนี้ของชาวบ้าน
บางทราย: พ่อเมย พ่อดอกไม้ พ่อทองคำ ปีที่ผ่านมา งานปลูกพืชของพ่อเมยกับพ่อดอกไม้ไม่เป็นไปตามแผน เป็นเพราะพวกเราไม่คุ้นเคยกับการปลูกพืชที่ต้องมีการดูแลใกล้ชิด ซับซ้อน…
แล้ววงสนทนาก็โขมงพร้อมๆกับการกินก๊วยเตี๋ยว เมื่อกินเสร็จก็นั่งผึ่งพุงพร้อมกับคุยกันต่อ
พ่อทองคำ: ประชุมกันทีไรเห็นอาจารย์พวกเรา “ก็ดีใจ” แล้ว ขออย่างเดียวนะอาจารย์ “อย่าป๊ะกันเด้อ” (อย่าทิ้ง หรือหนีกัน ป๊ะในความหมายที่เป็นภาษาอีสาน)
บางทราย: ??????!!!!!!! มันเป็นความรู้สึกที่ปนๆกัน ชาวบ้านต้องการเรา พี่น้องรู้ตัวว่าต้องการเราเป็นพี่เลี้ยง แนะนำ บอกกล่าว… ชาวบ้านติดกับบุคคล เป็นจุดอ่อนของการพยายามสร้างการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่ที่มั่นใจคือชาวบ้านมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับเรา เกิดความผูกพันกัน ก็เป็นปกติของมนุษย์ที่รู้สึกดีดีต่อกัน..
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นที่ดงหลวงนี้ เกิดขึ้นเกือบทุกแห่งที่เราผ่านงานสนามมา ไม่ว่าที่สะเมิง เชียงใหม่ ชายแดนไทยสุรินทร์ ที่ชายกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง นครสวรรค์
หากผมกลับไปที่สะเมิงวันนี้ ผมเชื่อว่าพี่น้องที่นั่นจะชวนผมกินข้าว นอนค้างที่บ้าน เอาส้มสูกลูกไม้มาให้แน่นอน เพราะช่วง 5 ปีที่นั่น แม้ว่าจะนานมากกว่า 30 ปีแต่เหมือนเพิ่งผ่านไป ความรู้สึกที่มีต่อกันนั้นยังเหมือนเดิม
ผมเองก็เชื่อว่า ในเฮฮาศาสตร์ของเรานั้น จะมีลิ้นกระทบฟัน ฟันเผลอไปกัดลิ้นบ้างก็เป็นเรื่องวิสัยมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ หากเราคิดยาวๆ ไกลๆ และยืนบนฐานของความรัก ความตั้งใจดีต่อกัน สิ่งที่ขัดข้องหมองใจที่มีบ้างนั้น ก็เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้อภัยแก่กัน และก้าวข้ามฝุ่นละอองทางอารมณ์นั้นเถอะครับ
โถ…คนดีดีอย่างสมาชิกเฮฮาศาสตร์ หากจะรักกันแล้ว ความรักเป็นใหญ่กว่าเรื่องอื่นๆ ผมเชื่อเช่นนั้นครับ เราให้อภัยกันได้ครับ หากมีขยะทางใจ ผมอยากจะขอรับสิ่งเหล่านั้นไว้ ช่วยส่งมอบให้ผมด้วยเถอะ ผมจะเอาไปทิ้งแม่น้ำโขงครับ..
และสำนึกผมบอกว่า เพื่อนเฮที่รักทุกท่าน “อย่าป๊ะกันเด้อครับ”