วันก่อนพาทีมงานไปศึกษาเรื่องการบริหารจัดการน้ำของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และชลประทานระบบท่อที่ อ.ชุมแพ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ค่อยเขียนเฉพาะ
ชลประทานระบบท่อที่ขอนแก่น เป็นมหากาพย์ที่ต้องจารึกไปอีกนาน เป็นกรณีตัวอย่างที่ขอกล่าวแรงๆสักครั้งว่า “บัดซบที่สุด” ไปดูสิ่งเจ็บปวดอันเนื่องมาจากนักการเมืองที่ถลุงเงินของชาติ เพียงเพื่อโฆษณาหาเสียงกับประชาชน ว่าจะเอาน้ำมาให้ถึงแปลงนาในพื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง แล้วรีบก่อสร้างเพื่อให้เห็นผลงาน แต่แล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์ตามที่โฆษณาไว้ ถ่ายโอนไปให้ อบต. เขาก็ไม่รับ รัฐก็แบกภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้า การซ่อมแซมทุกปีจำนวนมากมาย แต่แล้วฟ้าดินก็ลงโทษ นักการเมืองท้องถิ่นคนนี้ไม่ได้รับเลือกในฤดูกาลเลือกตั้งถัดมา แต่เขาก็ยังได้เป็นรัฐมนตรี..???
เจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัดกล่าวว่า ช่วงนี้ระบบสูบน้ำไม่สามารถเอาน้ำขึ้นมาได้ เพราะโรงสูบน้ำตั้งอยู่ในหมู่บ้านห่างจากริมน้ำที่ไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ เมื่อห่างก็ต้องลงทุนขุดคลองนำน้ำเข้ามา แต่พบว่าคลองไม่ลึกมากพอ เมื่อน้ำในลำน้ำลดลงก็ไม่มีน้ำไหลเข้าคลองโรงสูบ ทุกอย่างก็จบ…
สูบน้ำไม่ได้ ก็ไม่มีน้ำใสถัง ที่ห่างออกไปอีกนับกิโลเมตร จำนวน 6-8 ถัง กระจายไปตามแปลงนาชาวบ้าน เมื่อไม่มีน้ำในถัง เกษตรกรก็ไม่สามารถใช้น้ำตามวัตถุประสงค์ได้…….
วัตถุประสงค์นั้นเพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนา มีเพียงไม่กี่คนที่ทำเช่นนั้น นอกนั้นใช้น้ำเสริมการทำนาทั้งนั้นซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ…??? แต่ถูกต้องตามความต้องการชาวบ้าน.. (และทราบว่าเกษตรกรหลายหมู่บ้านในเขตนี้มีอาชีพทำรางน้ำขายทั่วประเทศ ทุกหลังคาเรือนมีรถปิคอัพตั้งแต่ 1-2 คัน ก็ไม่มีแรงงานมาทำพืชผักหลังนา หรือเขาไม่สนใจด้วยซ้ำไปเพราะเสี่ยงมากกว่าทำรางน้ำขาย… ทำไมข้อมูลเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในการตัดสินใจช่วงก่อนการก่อสร้างโครงการ)
การจัดการน้ำเพื่อเข้าสู่ระบบตามโครงการผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย เจ้าหน้าที่และชาวบ้าน(ส่วนหนึ่ง)บอกว่าเป็นเพราะนักการเมืองทั้งสิ้น ผมถามเจ้าหน้าที่ว่า น้ำในลำน้ำแห้งหรือ เขาตอบว่า น้ำไม่แห้งยังมีปริมาณพอสูบได้ แต่คลองนำน้ำเข้าโรงสูบไม่ลึกพอ จะสูบได้เมื่อมีน้ำมากขึ้น
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้ไปเกี่ยวกับระบบการจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ด้วย
ชาวลานหลายท่านคงไม่ทราบว่า เขื่อนที่สร้างขึ้นมานั้นก็ต้องการเก็บกักน้ำไว้เพื่อการเกษตรก็คือเขื่อนของกรมชลประทาน และเขื่อนเพื่อนำไปสร้างพลังไฟฟ้าก็คือเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในช่วงฤดูฝน เขื่อนจะระบายน้ำออกจำนวนหนึ่งเพื่อรอน้ำฝนจากฟ้า… เมื่อมาถึงประโยคนี้ท่านคิดอะไรบ้าง…
- เอาน้ำทิ้งไปเท่าไหร่ คิดได้อย่างไรว่าจะทิ้งเท่านั้นเท่านี้ ทิ้งเพื่อจะรอน้ำฝนใหม่ที่จะมาเติม
- แล้วมั่นใจได้อย่างไรว่าฤดูฝนปีนี้จะมีพายุผ่านเขื่อน ฝนตกได้ปริมาณน้ำเต็มเขื่อนพอดี
- ทำไมน้ำที่ทิ้งลงคลองธรรมชาตินั้น คิดอ่านนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นอีกได้ไหม..
—————
เหตุผลข้อแรกนั้นเพราะว่า ปริมาณเก็บกักน้ำของเขื่อนมีจำกัด จะเอาน้ำเข้าใหม่เท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าพายุลูกไหนจะเข้า เข้าเมื่อไหร่ จะมีปริมาณน้ำที่ได้เท่าไหร่ แต่สิ่งที่ชาวเขื่อนต้องทำคือต้องระบายน้ำในเขื่อนออกในปริมาณหนึ่ง เพื่อรอรับน้ำฝนใหม่ดังกล่าว ความถูกต้องพอดีนี้อยู่ที่ตรงไหน เหตุผลทางวิชาการตรงนี้น่าจะคำนวนได้ แต่ที่คำนวนไม่ได้คือ เฮ้ย…ปีนี้พายุจะเข้ากี่ลูก เข้าแล้วผ่านพื้นที่รับน้ำหน้าเขื่อนหรือไม่ พายุลูกนี้จะมีปริมาณน้ำที่ได้เท่าไหร่…ไม่มีใครทราบได้ เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นความเสี่ยง ดีที่สุดคือเอาสถิติและการจัดการเข้ามาวิเคราะห์ คาดการณ์….
เหตุผลข้อสอง ไม่มีใครทราบ เขื่อนทุกเขื่อนจึงมีการติดตั้งระบบอุตุนิยมวิทยาขึ้นมาเฉพาะ และระบบการจัดการที่พยายามยกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อรับประกันว่าทุกปีจะต้องระบายน้ำออกแล้วมีน้ำใหม่เข้ามาเติมเต็มที่ระดับเก็บกัก….
เหตุผลข้อที่สาม เท่าที่ทราบกรณีเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์นั้น ตลอดแม่น้ำลำปาวจะมีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหลายจุดเพื่อสูบน้ำนี้เข้านาเกษตรกรในพื้นที่อยู่นอกระบบชลประทาน
————-
แต่ที่โครงการชลประทานระบบท่อที่เดินทางไปศึกษานั้น ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำออก เพื่อรอรับน้ำฝนใหม่ การระบายน้ำในเขื่อนออกส่งผลไปดึงน้ำในลำน้ำที่มีโครงการชลประทานระบบท่อลดลงฮวบฮาบ ระบบชลประทานก็ไม่มีน้ำ ขณะที่ช่วงนี้เป็นวิกฤติช่วงหนึ่งของการทำนา เพราะเป็นช่วงที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปี
แต่น้ำในเขื่อนกลับระบายทิ้ง ระบบชลประทานแบบท่อก็ไม่ได้แก้ปัญหา สร้างหรือไม่ได้สร้าง พื้นที่เหนือเขื่อนก็ยังอาศัยเทวดาที่ชื่อ “พระธรรมชาติ” (ของเม้ง เทอร์โบ) อยู่ดี….
มีคำถามมากมาย แต่เอาสั้นๆแค่
- โครงการที่ใช้เงินมหาศาลของรัฐเพียงเพื่อให้นักการเมืองดึงดันก่อสร้างเพื่อหาเสียง เราจะมีทางป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไรในอนาคต..?
(ปัจจุบันอาจจะไปตรงกับกรณีซื้อรถเมล์ 4000 คัน)
- การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน (กรณีนี้คือ ชลประทานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต) เพื่อผลที่ดีที่สุดของการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ทำได้อย่างไร กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตดำเนินการตามปกติตามระบบของเขา คือระบายน้ำออก แต่ไปกระทบระบบชลประทานท่อที่ก่อสร้างนั้น
- ฯลฯ
หากจะว่ากล่าวว่านักการเมืองคือผู้ทำลายชาติ ก็มีนักการเมืองดีดีอีกไม่น้อยที่เราภูมิใจ กลุ่มชุมชนเล็กๆแห่งนี้คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากเอาข้อเท็จจริงมาบอกกล่าวกันเพื่อคิดอ่านกันต่อไป