ภาพเก่าเล่าเรื่อง 3 ฝิ่น

153 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:06 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4747

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2522

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ



สภาพพื้นที่ อ.สะเมิงเป็นภูเขา หมู่บ้านจะตั้งอยู่ระหว่างหุบเขา ที่มีลำห้วยน้ำใสไหลผ่าน ทุกช่วงฤดูทำนาเราจะเห็นภาพนี้จนคุ้นชินตา บ่อยครั้งที่เราหยุดรถมอเตอร์ไซด์เพื่อชื่นชมภาพสวย เช่นนี้ อิอิ บางครั้งเราก็ลงไปนอนเล่นที่เถียงนาหรือกระต๊อบนั่น..


ปี พ.ศ.2518 นั้น ยอดเขาบางแห่งที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวม้ง จะมีการปลูกฝิ่นกันอย่างเปิดเผย เราชอบขึ้นไปชมไร่ฝิ่น ซึ่งเจ้าของไร่คุ้นเคยกับพวกเราก็มิได้มีปฏิกิริยาในทางลบแต่ประการใด หลังจากนั้นไม่กี่ปีทางราชการก็ปราบปรามอย่างหนัก การปลูกฝิ่นจึงหมดสิ้นไป หรือลบลี้มากขึ้นกว่าอดีตที่เคยทำมา



ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ..2

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2832

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..


สังคมอีสานที่เปลี่ยนแปลงมาจากอดีตอยู่ในรูปปัจจุบัน ก็ไม่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันของภูมิภาคอื่นๆ เพราะพลังและอำนาจของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน คือการปกครองสังคมและระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่ชายแดนมุกดาหารมีโลตัสเหมือนกลางกรุงเทพฯมหานคร


ถามว่ามีอะไรที่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง นักวิชาการก็คงตอบว่ากระแสหลัก(กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์) ที่มาแรงสุดๆ เป็นกระแสที่มีพลังมากที่สุด และเพราะเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมมาเป็นทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ ได้ส่งผลสะเทือนเข้าไปในทุกหนทุกแห่งที่มีถนนเข้าไป ที่มีวิทยุ ที่มีทีวี หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆทั้งหมด ระบบธุรกิจที่มุ่งผลกำไรสูงสุด ไม่ได้พูดความเหมาะสมขององค์ประกอบการดำรงชีวิต แต่สร้างภาพลักษณ์ที่ทุกคนที่ต้องการความทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก คุณจะต้องรีบหาสินค้านั้นๆมาไว้ครอบครอง


การเปิดโลกใหม่สุดๆเช่นนี้ ผมก็คิดว่า ต่อให้หมู่บ้านใดๆมีเฒ่าจ้ำร้อยเฒ่าจ้ำก็หยุดไม่อยู่ เพราะเฒ่าจ้ำก็ไม่เข้าใจต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามา เพราะเขาอยู่ในโลกเกษตรกรรม โลกสิ่งแวดล้อมเดิมๆ และสิ่งใหม่เข้ามาพร้อมๆกับคำว่า ทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ เขาเหล่านั้นไม่เข้าใจเท่าทัน และคนในสังคมก็ไม่เท่าทัน อย่างกรณี กรมกสิกรรมกระทรวงเกษตรนำเอาข้าวพันธุ์ใหม่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว เพื่อขาย เพื่อเงิน เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่ใน พ.ศ. นี้ กลับเดินย้อนรอยเดิม พร้อมสารภาพว่า ต้องใช้ปุ๋ยคอก ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เพราะเขาพัฒนามานานแสนนานจนเหมาะต่อสภาพพื้นที่นั้นๆอยู่แล้ว สติที่กลับคืนมาก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนับเกือบชั่วอายุคน แล้วนวัตกรรมอื่นๆเหล่า มีใครกล้าออกมาสารภาพเช่นนี้บ้าง

คำถามใหญ่คือ อะไรคือตัวคัดกรองของสังคมต่อการเปลี่ยนแปลง อะไรคือภูมิคุ้มกัน อะไรคือพลังคัดหางเสือสังคม เมื่อเฒ่าจ้ำ และบรรดาผู้อาวุโสในสังคมตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว..

เราจะหวังที่ระบบการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่สถาบันการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่หน่วยงานราชการหรือ…?

หรือหวังที่ตัวเองโดยการสร้างชุมชนในรูปแบบใหม่…?

แผนผังแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นต่อทางออก

น่าสนใจการพัฒนาชุมชนในรูปแบบใหม่ที่มีความพร้อมต่อการหนุนสร้างทุนทางสังคม สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ๆ สร้างสิ่งคัดกรองการพัฒนาในรูปแบบต่างๆว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ฯลฯ

ภาพนี้ผมแอบถ่ายที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งระหว่างเดินทางไปมุกดาหาร ตรงนี้คือห้องน้ำของปั้มน้ำมันที่อยู่ในมุมปิด ทุกครั้งที่ผมแวะและเข้ามาใช้บริการ จะพบเด็กนักเรียน ทั้งชายหญิง ขี่มอเตอร์ไซด์มามั่วสุม ไม่ไปเรียนหนังสือ เด็กสาวรุ่นคนนี้ไม่ไปเรียนหนังสือแต่กลับมาวุ่นวายอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เมื่อผมไปถามคนที่ปั้มน้ำมัน เขาก็บอกแบบไม่สนใจว่า “เด็กมันก็มามั่วสุมที่นี่กันทุกวัน”…..

สรุปว่าชุมชนไปหวังคนไกลตัวไม่ได้ หวังระบบก็ไม่ได้ หวังสถาบันต่างๆก็มองไม่เห็นแสงไฟ มีแต่หวังที่ตัวเอง คนในชุมชนด้วยกันเอง … แล้วสร้างอย่างไรล่ะ..เป็นหนังยาวอีกม้วนหนึ่งครับ….


ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ…1

1287 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 17:29 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8751

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..

ผมมองเป็นสองสถานภาพ คือสถานภาพที่เป็นอดีตของสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และสถานภาพที่เป็นปัจจุบันอันเนื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มาจากการพัฒนาประเทศชาติในทุกด้านทุกแง่มุม สองส่วนนี้เกี่ยวเนื่องกัน ส่งผลแก่กันและกัน มีพัฒนาการแก่กัน ปัจจุบันมาจากอดีต และอดีตมีส่วนส่งผลถึงปัจจุบัน สรุปมุมมองเป็นแผนผังคร่าวๆดังที่เห็นนี้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมิได้พัฒนามาจากเพียงอดีตแต่อย่างเดียว แต่ยังมาจากการนำเขามาจากภายนอกประเทศ อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศทั้งในด้านการค้าขาย การศึกษา อุตสาหกรรมจนมาถึงยุคธุรกิจในระบบโลกาภิวัฒน์

การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศจึงเป็นผลพวงของปัจจัยหลักของทั้งสองนั้น แต่ที่เป็นตัวชี้ขาดของการปรับเปลี่ยนคือ ตัวของตัวเราเองว่าเราสืบต่อของเก่าเพราะอะไร เรารับของใหม่เข้ามาเพราะอะไร เราเอาสองส่วนมาผสมผสานกันเพราะอะไร..

รากฐานสังคมไทยเราที่น่าจะมีส่วนของการพัฒนาไปเป็นปัญหา

  • ระบบอุปถัมภ์: เราพูดกันมากในเรื่องนี้ส่วนตัวเองยอมรับว่าระบบอุปถัมภ์มีส่วนดีและสามารถพัฒนาไปเป็นความล่อแหลมของการเกิดปัญหา เช่น ครูบาอาจารย์นั้น คนโบราณ เขายกย่องส่งเสริมนับถือไว้เป็นคนที่มีสถานภาพที่สูง ลูกศิษย์ลูกหาก็จะมักเยี่ยมเยือน ไปมาหาสู่ และการไปมาหาสู่วัฒนธรรมไทยก็จะมีสิ่งของติดไม้ติดมือไปด้วย ส่วนมากแต่ก่อนก็จะเป็นส้มสุกลูกไม้ ผู้ใหญ่ หรือครูบาอาจารย์ก็จะให้ศีลให้พร..แค่นั้นความสัมพันธ์ต่อกันก็แน่นแฟ้น ที่เรียกว่ามีใจให้แก่กัน นี่คือทุนทางสังคมที่มีคุณค่ามาก แต่ปัจจุบันระบบอุปถัมภ์ได้พัฒนาไปสู่ผลประโยชน์แก่กันและกัน อันเป็นความสัมพันธ์ที่ส่งผลเสียหายต่อฐานรากของเศรษฐกิจและสังคมของเรา การพัฒนาการของระบบอุปถัมภ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นทุนทางสังคม แต่ตรงข้ามเลยทีเดียวเป็นตัวบ่อนทำลายทุนทางสังคม
  • ระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม: ของเรานั้น น่าจะอยู่บนฐานของการพึ่งตัวเองได้โดยภาพรวม อาชีพเกือบทุกอาชีพจะมีฐานรากอยู่บนการเกษตรเป็นองค์ประกอบ มากน้อยแล้วแต่เงื่อนไข ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าคนจีน ข้าราชการจำนวนมาก นอกจากรับราชการก็ยังทำนาทำไร่ทำสวนกันอยู่ เหมือนสังคมในประเทศลาวปัจจุบัน ซึ่งสภาพเช่นนั้น เป็นระบบเศรษฐกิจพอเพียงในสิ่งแวดล้อมแบบดั้งเดิม สังคมไทยวัฒนธรรมไทยทั้งมวลตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม ทุนทางสังคม คุณค่าต่างๆทางสังคมตั้งอยู่บนฐานสังคมเกษตรกรรม เมื่อประเทศชาติก้าวเข้าสู่รับไทยใหม่ ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการพัฒนาอาชีพใหม่ๆเข้ามา ค่านิยมดูถูกอาชีพเกษตรกรรม ยกย่องการรับราชการและพ่อค้าธุรกิจ การดำรงชีวิตชั้นลูกหลานจึงห่างไกลสังคมเกษตรกรรม ก็ห่างไกลสังคมที่อุดมด้วยรากฐานทุนทางสังคม คุณค่าของวัฒนธรรมประเพณี ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ซาบซึ้งต่อประเพณีจุดบั้งไฟ มีแต่สนุกสนาน และสร้างความอลังการของปราสาทผึ้ง เด็กรุ่นใหม่เชื่อมไม่ติดกับคุณค่าเหล่านั้น เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจว่าทำไม พ่อแม่จึงต้องพาไปกราบไหว้ ศาลเจ้าปู่ เมื่อยามเจ้าจะจากหมู่บ้าน หรือเมื่อกลับมาหมู่บ้าน รากเหง้าตรงนี้เชื่อมกันไม่ติดเสียแล้ว มันกลายเป็นแค่พิธีกรรม แต่ไม่เข้าใจ ไม่น้อมรับ ไม่ศรัทธา ไม่สำนึก ไม่สัมผัสสิ่งเหนือธรรมชาติที่ควบคุมพฤติกรรมความดีของการปฏิบัติตนในสังคมกว้างใหญ่… เหล่านี้ทั้งหมดอยู่บนฐานของสังคมเกษตรกรรม สังคมใหม่ที่ประกาศตนว่าก้าวหน้ากว่า ทันสมัยกว่ามีอะไร เปิดสำนักงานใหม่ก็เอาโป้งฉิ่งมาแสดง ดนตรีที่ดังหนวกหู พิธีเปิดป้ายเชิญผู้ใหญ่ที่คอรับสั่งบ้านเมืองมาทำพิธี เฒ่าจ้ำบทบาทหดหายไปแล้ว…เฒ่าจ้ำผู้คอยคัดหางเสือสังคมนั้นไม่มีที่นั่งในสังคมแล้ว เลือนหายไปแล้ว เด็กอีสานยุคใหม่เกือบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่าเฒ่าจ้ำในหมู่บ้านของเราคือใคร..มีประโยชน์อย่างไร.. แต่ดันร้องให้เมื่อไมเคิล แจ็คสันตายลงไป..
  • รากเหง้าสังคมอีสาน: เฒ่าจ้ำคือตัวอย่างของโครงสร้างสังคมเดิม ก่อนโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสมัยใหม่จะเข้ามา สังคมเดิมมี จ้ำ หมอธรรม มีหมอสมุนไพร หมอตำแย หมอบีบนวด หมอเหยา หมอเป่า หมอน้ำมัน ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมีบทบาทต่อสังคมชุมชนตั้งแต่เด็กเกิดจนกระทั่งตาย เรามีโครงสร้างสังคมที่ค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว และทั้งหมดนั้นอยู่ไม่ได้หากเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับนับถือ อยู่ไม่ได้หากไม่มีคุณธรรม อยู่ไม่ได้หากไม่ปฏิบัติตนอยู่ในทำนองคลองธรรม ด้วยอี้และตองของอีสานที่เป็นครอบใหญ่ควบคุมสังคมให้อยู่อย่างปกติสุข เมื่อโครงสร้างการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามา ก็เป็นโครงสร้างซ้อนทับกันใหม่ๆก็ไม่มีปัญหาอะไรต่างอยู่ด้วยกันได้ แต่เมื่อพัฒนาการสังคมนำระบบทุนเข้ามาเต็มตัว ระบบอำนาจเข้ามาเต็มที่ โครงสร้างเดิมก็หดหายไปสิ้น แม้คงอยู่ก็เกือบจะไม่มีบทบาทมากนัก ตรงข้ามโครงสร้างใหม่พร้อมกับอำนาจ และผลประโยชน์ตามค่านิยมใหม่ของระบบโลกาภิวัฒน์ ทุนทางสังคมหดหายไป จางลงไป
  • ศาสนา: น่าตั้งคำถามว่าสังคมอีสานนั้นมีพระปฏิบัติที่มีผู้คนในประเทศเคารพกราบไหว้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมอีสานมีความสุขมากที่สุด การดำรงอยู่ของศาสนาและความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตของคนอีสานเป็นอย่างไรถึงคุณค่าทางศาสนาจึงเข้าไม่ถึง หรือไม่เข้าไปอยู่ในเนื้อในของจิตใจของชาวอีสาน(แม้ภาคอื่นๆก็ตาม) หลายวัดหาพระไม่ได้ หลายวัดพระทำบัดสี หลายต่อหลายวัดมุ่งแต่สร้างสิ่งก่อสร้าง อาจเป็นเพราะสังคมเราไม่ได้ให้วันพระเป็นวันหยุดราชการเหมือนแต่ก่อน ที่ทุกคนหยุดกิจการแล้วเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เมื่อกิจกรรมที่จะยึดโยงทางศาสนาไม่มีตรงข้ามสิ่งยั่วยุทางวัตถุอื่นๆเข้ามา คนก็ห่างวัด ความละอายต่อบาปก็หมดสิ้นไป ความเชื่อศรัทธาก็หดหายไป ความสัมพันธ์ของคนในสังคมห่างออกไป ระหว่างรุ่นก็ห่างออกไป รากฐานใหญ่ของทุนทางสังคมที่มาจากศาสนาก็ไม่เหลือหรอ

ทางออก

แผนผังคร่าวๆนี้ช่วยสรุปจากมุมมองผมว่า

สังคมเราต้องมีสถาบันที่ก้าวเข้ามาจริงจังต่อเรื่องนี้

  • ศึกษา ค้นคว้า วิจัย สร้างสรรค์สิ่งดีดีที่เป็นรากเหง้าของสังคมเราออกมา แล้ว
  • อะไรที่ดีดี คิดอ่านสานต่อกิจกรรมนั้นๆอย่างที่เป็นคุณค่าแท้จริงมิใช่เพียงสักแต่เป็นกิจกรรม
  • อาจพิจารณาดัดแปลงสิ่งดีดีของเดิมๆให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่
  • อะไรที่เป็นอุปสรรค ต้องออกมาคัดค้าน ต่อต้าน ควบคุม กำจัด จำกัด ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม

ต่อตอนสอง..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 2 ยานพาหนะและการเดินทาง

54 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 0:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4511

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ


ยานพาหนะในการทำงานคือ มอเตอร์ไซด์ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง คุณสมบัติประการหนึ่งคือ ต้องขับขี่มอเตอร์ไซด์ได้ สมัยนั้นเป็น เอนดูโร 125 CC รุ่นที่เห็นเป็น ซูซูกิ 2 จังหวะ ใช้ปีเดียวพัง ต่อมาเปลี่ยนเป็น Honda รุ่น Trial 125 CC ระบบ 4 จังหวะ


ต้องใส่หมวกกันน็อค (Helmet) ใส่ถุงมือ และใส่รองเท้าหุ้มหน้าแข้ง ตามกติกาฝรั่งที่ว่า safety first เป็นครั้งแรกๆในสังคมไทยที่คนขับขี่มอเตอร์ไซด์ต้องใส่หมวกกันน็อค ชาวบ้านชอบมามองเราเป็นตัวตลก


สภาพพื้นที่ หมู่บ้านใน อ.สะเมิง อย่างที่เห็น เป็นป่าเขา ทางลำบากมาก ลำห้วยแม่ขานสมัยนั้นยังไม่มีสะพาน ต้องข้ามลำต้นไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันทำ เมื่อฤดูน้ำหลาก ต้นไม้ใหญ่ๆที่เห็นก็หลุดลอยไปตามน้ำ ออกเขื่อนภูมิพลโน้น ฤดูแล้งก็หาต้นไม้มาทำใหม่…!!!??? ฤดูฝน เส้นทางเป็นร่องลึก ดินเหนียว ล้มแล้วล้มอีก บางปีต้องพันล้อด้วยโซ่ และมีไม้แคะดินออกจากล้อประจำรถเรา


น้ำในลำห้วยแม่ขานสะอาดใสแจ๋ว ชาวบ้านบางคนก็ดื่มกิน

มอเตอร์ไซด์เหล่านี้ทุกคนต้องเรียนวิธีการซ่อมแซมปัญหาพื้นฐานได้ และต้องทนุถนอมดุจหญิงสาว เพราะเมื่อใช้งานครบสามปี ทางโครงการโอนรถนี้ให้เป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้นเลย…



Main: 0.044135093688965 sec
Sidebar: 0.053133964538574 sec