เห่อเฮฯสิบ

383 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:53 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8914

เห่อ เฮฯ 10 น่าน เมืองเงิน เมืองหงสา หลวงพระบาง โปรแกรมของ อ.ภูคา


อาจารย์ Goo พาผมไปเที่ยวเฮ 10 มา ระยะทางจากเมืองเงินไปเมืองหงสาโดยประมาณเท่ากับ 32 กม. จากเมืองหงสาไปหลวงพระบางประมาณ 93 กม. สภาพถนนอุดมด้วยฝุ่นขาวๆ ก้อนกรวด และป่าเขาลำเนาไพร

ต่อไปนี้ ปาลียน เสร็จจากการเต้นกับสาวงามแล้วคงมาเล่าเรื่องราวเรียกน้ำย่อยเฮ 10 ละมั๊ง.. อิอิ งานนี้ญาติจากตรังจะขับรถมาร่วมขบวนด้วย เพราะอยากไปเที่ยวหลวงพระบาง ที่ครั้งหนึ่งคือประวัติศาสตร์ของเรา


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 11 กล้วยอบสะเมิง

1320 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 76435

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2523

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

พื้นที่สะเมิงนั้นอาชีพหลักคือการทำนาปีข้าวเหนียว และข้าวไร่ตามไหล่เขา หลังนาก็ปลูกกระเทียม ซึ่งขึ้นชื่อว่าคุณภาพดี เพราะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี กระเทียมที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หรือใช้ปุ๋ยมูลสัตว์นั้นเก็บเอาไว้นานๆจะไม่ฝ่อ เหมาะเอาไปทำพันธุ์ต่อ สรรพคุณทางยาก็มีมากกว่า นอกจากนี้มีพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ข้าวโพดพื้นบ้าน ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ฯลฯ พืชเศรษฐกิจที่ทำเป็นแบบ Contract farming คือยาสูบพันธุ์เวอจิเนีย และที่ขาดไม่ได้คือกล้วยน้ำว้า


ชาวสะเมิงมีทั้งคนเมืองและชนเผ่าไทยลื้อ นอกนั้นก็เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ส่วนมากเป็นม้งกับปกากะญอ กล้วยที่สะเมิงลูกใหญ่ หวาน ดก เพราะดินภูเขาดีมาก อาชีพที่สำหนึ่งคือการทำกล้วยอบขาย

เราเคยได้ยินกล้วยตาก แต่ที่สะเมิงเป็นกล้วยอบ เพราะใช้วิธีอบในเตา เกษตรกรเรียนรู้และดัดแปลงมาจากอาคารอบ หรือบ่มใบยาสูบนั่นเอง โดยสร้างอาคารเล็กๆขึ้น ภายในอาคารปิดด้วยดินที่มีโครงด้านในเป็นไม้ไผ่สาน ทึบ แบ่งป็นสองชั้น ชั้นล่างเกือบติดพื้นดิน เว้นไว้สำหรับเอาฟืนท่อนใหญ่ๆใส่เข้าไปได้ ชั้นบนแบ่งย่อยเป็นชั้นสำหรับใส่ตะแกรงอบกล้วย จะกี่ชั้นก็แล้วแต่การออกแบบของเจ้าบ้านนั้น

ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างแบ่ง หรือ กั้นด้วยแผ่นเหล็กชิ้นใหญ่ เพื่อใช้เผาพื้นด้านล่างแล้วให้เกิดความร้อนส่งแผ่ไปอบกล้วยที่อยู่บนชั้นต่างๆนั้น


ขั้นตอนการอบกล้วยนั้นเป็นความลับ(ทางราชการ)ที่มีเทคนิคเฉพาะของใครของมัน แต่โดยทั่วไปคือ คัดเลือกกล้วยที่เริ่มสุก และกล้วยเหล่านั้นจะไม่เอามาจากสวนที่มีต้นหญ้าคาขึ้น ชาวบ้านบอกว่า หากเอากล้วยจากสวนที่มีหญ้าคา จะทำให้กล้วยออกรสฝาดมากกว่า เอากล้วยมาปอกเปลือกลงในอ่างใหญ่ ล้างน้ำปูนเพราะ….

แล้วก็เอาไปเข้าเครื่องบีบให้แบนดังรูป แล้วก็เอาไปวางเรียงกันในตะแกรง มากเพียงพอสำหรับการอบครั้งหนึ่งๆ แล้วก็ปิดประตู ทำการก่อไฟเผาฟืนใส่เข้าไปด้านล่างของเตาอบนี้ ควบคุมความร้อนด้วยเทอร์โมมิเตอร์ ความร้อนเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ)

นานพอสมควรก็เปิดประตูเอาตะแกรงออกมากลับกล้วยเอาด้ายอื่นลงล่างบ้าง และสลับตะแกรงบนลงล่าง ล่างขึ้นบนบ้าง ดูแลฟืนให้มีตลอด นานเท่าไหร่เป็นความลับ(ทางราชการ) เมื่อได้ที่ก็เอาออกมาทิ้งให้อุ่นๆบรรจุถุงพลาสติก ขาย

สมัยก่อน กก.ละ 10 บาท กินกันพุงกาง เดียวนี้แพงขึ้นไปเท่าไหร่แล้วไม่รู้…

กล้วยอบสะเมิงขึ้นชื่อว่ารสอร่อย สะอาด ออกจากเตาก็เข้าถุงเลย.. ไม่ได้ทิ้งให้แมลงวันตอม..

ใครเข้าสะเมิงละก็ถามหากล้วยอบนะครับ ที่บ้านศาลา หรือบ้าน ป่ากล้วยก็ได้ รับรองไม่ผิดหวังแน่ๆ..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 12 ส. ศิวรักษ์

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:42 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1166

สถานที่: สะเมิง

วันเดือนปี: ประมาณปี พ.ศ. 2524

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

 

เนื่องจากโครงการฯเป็นมูลนิธิของประเทศเยอรมัน และเข้ามาเมืองไทยโดยการชักนำของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เนติบัณฑิตอังกฤษผู้โด่งดัง ท่านอาจารย์เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อสังคมในด้านต่างๆ ท่านเป็นผู้รู้กว้าง และสัมผัสการทำงานแบบนี้มามากจึงมีสาระที่อบรมบ่มเพาะสำนึกพวกเรามาเสมอ ท่านไปพูดที่ไหนๆ พวกเราก็แห่ไปฟังกัน


ประมาณปี พ.ศ. 2522 เราก่อตั้ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติขึ้นหรือ กป.อพช. ผมเป็นกรรมการในยุคแรกๆอยู่พักหนึ่ง เราเชิญท่านมาพูดให้สติแก่พวกเรา ท่านพูดถึงนักเขียนมากมาย เช่น ฟร้านซ์ เฟนอน, กอร์กี้, ฟริจอฟ คับปรา, อี เอฟ ชูเมกเกอร์, ฯลฯ นักคิดนักเขียนไทยก็มีมากมาย โดยเฉพาะท่าน ประยุต ปยุตโต หนังสือต่างๆที่นักพัฒนาชุมชนควรจะอ่านมากมาย เรางี้ แค่กระผีกของท่านก็ไม่ได้ ท่านอ่านหนังสือดีดีมากมาย และเอาแง่คิด ความรู้มาบอกกล่าวพวกเรา

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมท่านก็พาฝรั่งเข้าไปประเมินผลโครงการที่เราทำอยู่ ผมพาท่านท่องสะเมิงโดยท่านนั่งท้ายมอเตอร์ไซด์ เนื่องจากท่านไม่เคยนั่งมาก่อน เกร็งไปหมด ผมเองก็เกรงที่มีผู้ใหญ่ระดับโลกมานั่งท้ายมอเตอร์ไซด์ ท่านมาสัมผัสชีวิตพวกเรา มาดูงานที่เราทำ มาเยี่ยมชาวบ้าน…และให้สติแก่พวกเรา

เพราะเรามีแต่ความตั้งใจทำงาน มีความต้องการช่วยเหลือชุมชนผ่านระบบโครงการ แต่ไม่มีประสบการณ์ สมัยนั้นในมหาวิทยาลัยยังไม่มีภาควิชาพัฒนาชุมชน มีแต่เรียนกันเอง สนใจกันเอง และไปหาประสบการณ์กันเอง ดีที่สุดก็ไปฝึกงานหรือศึกษาดูงานกันที่ต่างประเทศ เช่นที่ ฟิลิปปินส์ที่เรียกสถาบัน “เซียโซลิน” ที่ศรีลังกาก็โครงการ “ซาโวดายา” ที่อิสราเอลก็ “กิบบุช” และ “โมชาป” บลังกาเทศก็คือ “กรามินแบ๊งค์” ของมูฮัมหมัด ยูนุส ที่ได้รับรางวัลโนเบล ที่เกาหลีก็โครงการ “แซมาเอิลอุลดอง” ของปักชุงฮี

ในเมืองไทยที่ทำกันอย่างจริงจังก็ต้องสภาคาทอลิคแห่งประเทศไทยที่ก้าวหน้ามากที่สุด อาจเรียกว่าเป็นต้นปฐมบทของงานพัฒนาเอกชนในประเทศไทย

ท่านอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ถือได้ว่าท่านเป็นปรมาจารย์ของคนทำงานเพื่อชุมชน


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 10 ตลาดม้ง..

54 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 13:52 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2125

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2521

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

เส้นทางเข้าตัวอำเภอสะเมิงนั้นเข้าได้สองทาง คือจากเชียงใหม่ แม่ริม โป่งแยง ขึ้นภูเขาเข้าสะเมิง หรือ เชียงใหม่ หางดง ขึ้นภูเขา เข้าสะเมิง เส้นทางหลังนี้ยาวกว่า นานๆเราก็เปลี่ยนบรรยากาศไปใช้เส้นทางเส้นนี้


สำหรับเส้นทางแรกนั้น เริ่มขึ้นภูเขาตั้งแต่ องแม่ริม เข้าทางน้ำตกแม่สา บ้านโป่งแยงนอก บ้านโป่งแยงใน แล้วขึ้นดอยสูง โครงการหลวงปางดะ แล้วลงเขาสู่ อ.สะเมิง

ระหว่างทางตรงยอดดอยสูงนั้นไม่ไกลจากที่นั่นจะมีหมู่บ้านชาวม้งตั้งอยู่ เขาก็จะเอาผลผลิตจากไร่มาขายข้างทาง สร้างเพิงแบบง่ายๆ มุงหลังคาด้วย “ใบกล้วยป่า” หรือบางครั้งก็เปลี่ยนเป็น “ตองตึง” ทำไม้ขัดแตะ สานด้วยไม้ไผ่ เอาใบตองป่ามาปู แล้วก็วางผลผลิตลงไป ก็มี ฟักทอง แตงร้าน น้ำเต้า แตงกวา ฯลฯ รวมทั้งไม้สนเกี๊ยะ คนทางเหนือทราบดีว่า ไม้สนเกี๊ยะนี้เอาไว้ใช้เป็นตัวเริ่มดังไฟ(ก่อไฟ)เพื่อทำการหุงต้ม เพราะเป็นไม้ที่มียางสนอยู่เต็ม ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟง่าย


ตลาดม้งแห่งนี้เป็นที่พวกเราอาศัยซื้อผลผลิตของเขาเอาไปทำกิน ฝากเพื่อนฝูงบ้าง และได้อาศัยเพิงเขาหลบฝน การซื้อขาย ราคาถูกแสนถูก เหมือนจะให้เปล่า

สมัยนั้นไม่มีสารเคมีที่ใช้กับพืชผักเข้ามาในสะเมิง แต่มีสารเคมีที่ใช้เฉพาะกับยาสูบพันธุ์เวอจิเนีย ภาพแบบนี้เดี๋ยวนี้หายไปหมดสิ้นแล้ว ไม่หลงเหลือ กลายเป็นรูปแบบใหม่ๆตาม เทรนด์ของการพัฒนา


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 9 อดีตผู้ว่าฯเชียงใหม่

935 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 กรกฏาคม 2009 เวลา 12:52 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 49058

สถานที่: สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2521

โครงการ: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

ภาพนี้มีอายุ 31 ปีแล้ว


โครงการร่วมมือกับสภากาชาดไทย สมาคมสตรีผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือ ร่วมกันจัดฝึกอบรมสาระที่จำเป็นให้แก่แม่บ้าน สตรีทั่วไป ผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ เราได้ส่งสตรีที่จะไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็กมาเข้าหลักสูตรด้วย เพื่อนำความรู้ไปดัดแปลง ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่อไป

เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ผู้จัดได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาแจกใบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมทุกคนโดยนายประเทือง สิทธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น

ท่านผู้ว่าท่านนี้ต่อมาอีก 2 ปี พ.ศ. 2523 ท่านใช้ปืนยิงตัวเองตายที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เหตุผลที่ทราบจากข่าวหนังสือพิมพ์ภายหลังคือ ท่านไปพัวพันคดีคอรับชั่นโรงพิมพ์ของราชการในสมัยนั้น ท่านทนสภาพกดดันไม่ได้ก็จบชีวิตลงดังกล่าว


(ภาพนี้เอามาจาก internet ไม่ทราบที่อยู่แล้ว ขออภัยท่านเจ้าของภาพด้วย)

ภาพจวนผู้ว่าหลังนี้ ทราบว่าปัจจุบันเป็นอาคารสงวนไว้ และย้ายจวนผู้ว่าไปสร้างใหม่ จวนหลังนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานสมควรอนุรักษ์ไว้ ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานนวรัตน์ขาเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ ติดริมปิง

คนเชียงใหม่ทราบรายละเอียดกรุณาขยายความด้วยเน้อ…



Main: 0.047435998916626 sec
Sidebar: 0.073407888412476 sec