นาชลประทาน

760 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 กันยายน 2010 เวลา 21:49 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 11288

 

วันนี้เดินทางกลับมาขอนแก่น ผ่านพื้นที่ชลประทานเขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ พื้นที่ทำงานเก่าของผม โห…นาบางแปลงเกี่ยวข้าวแล้ว ขณะที่บางจุดที่มุกดาหาร เพิ่งมีการดำนาซ่อมไปเมื่อต้นเดือน

พื้นที่ชลประทาน เขื่อนลำปาวนั้น ไม่สนใจว่าฝนจะมาหรือไม่ แค่ขอน้ำจากชลประทาน น้ำก็มาถึงแปลง ไม่ได้ถ่ายรูปมา

ตอนอยู่ลำปาวเราก็ตระเวนไปประชุมสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ปรึกษาหารือเรื่องการปลูกข้าว มีปัญหาอะไรไหม นักเกษตรทำหน้าที่เต็มที่ น้ำมีปัญหาไหม หากมีก็ประชุมปรึกษาหารือกันระหว่างสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำกับนักชลประทานและนักเกษตร

มีเกษตรกรหลายคนที่ลงมาขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ก็เลิกอาชีพขับรถกลับไปทำนาดีกว่า.. เพราะน้ำดี

ส่วนใหญ่ก็มีปัญหาซ้ำๆ และชาวบ้านก็คุ้นเคยกับการแก้ปัญหา เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องทำอะไรมากนัก เพราะชาวบ้านรู้ดีอยู่แล้ว

ระบบชลประทานเป็นนวัตกรรมผสมผสานระหว่างนักเทคนิคกับนักสังคมและนักส่งเสริมเกษตร ทำงานด้วยกัน ปรึกษาหารือกัน และแลกเปลี่ยนเหตุและผลต่อกันทั้งหมดเพื่อประโยชน์ชาวบ้าน…

หากพิจารณารายละเอียดแล้ว เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานได้เปรียบหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับเกษตรกรนอกเขตชลประทาน ลำปาวมีพื้นที่รับประโยชน์สูงมากถึง 100,000 ไร่ และส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำ เพราะพื้นที่รับน้ำกว้างมาก ขณะที่เขื่อนอื่นๆมักมีปัญหาปริมาณน้ำทุกปี

หลายท่านไม่เชื่อว่าที่มีมีการเลี้ยงกุ้งน้ำกร่อย ใครอยากกินกุ้งเผาสดๆต้องมาลำปาว มีร้านกุ้งเผามากมาย กุ้งน้ำกร่อยทำอย่างไรหรือ….

เขาไปบรรทุกน้ำทะเลมาผสมกับน้ำเขื่อน แล้วเลี้ยงกุ้งครับ หลายปีก่อนนั้นเกิดปัญหาใหญ่ เพราะน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งนั้นถูกปล่อยลงแปลงนาข้างเคียง แต่พบว่า ข้าวงามมาก งามมาก มาก งามจนไม่มีรวงข้าว ที่เขาเรียกว่า เฝือใบ… บริษัทใหญ่ของไทยที่แหละไปส่งเสริม…

ได้อย่างหนึ่ง อีกหลายอย่างเสีย….


สอบสัมภาษณ์

94 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 กันยายน 2010 เวลา 12:13 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1949

 

 

หากไปถามเด็กๆว่า 1+1 เท่ากับเท่าไหร่ เด็กๆคงรีบยกมือแล้วบอกว่า ถ้าหนูตอบถูกต้องให้ขนมหนูนะ แล้วรีบแย่งกันตอบว่า 2 ครับ, ค่ะ

หากไปถามแม่ค้าในตลาด แม่ค้าคงค้อนสามตลบ แล้วก็ด่าอีกสามกระบุง เสียงบ่นตามหลังมาว่า มันจะบ้ารึ มาถามอะไรแบบนี้ โน่นไปถามเด็กประถมโน้นไป๊…

หากไปถามนักฟิสิกส์ จบ ดร. มาจากอเมริกา นักฟิสิกส์ จะมองหน้าผู้ถามแล้วก็ทำคิ้วขมวด แล้วตอบว่า เออ.. มันแล้วแต่ว่า 1 ตัวแรกมันเป็นสารชนิดไหน มีมวลเท่าไหร่ มันมีความร้อนในตัวมันกี่เซลเซียส มันอยู่นิ่งๆหรือว่าเคลื่อนที่ ด้วยความเร็วเท่าไหร่ ในองศาเท่าไหร่ของเส้นระนาบ….?????

หากไปถามนักสังคมสงเคราะห์ เขาก็จะถามว่า มันขึ้นกับว่า 1 แรกนั้นเป็น หนูแอน น่าร๊ากกกก หรือเปล่า และ 1 ตัวที่สองเป็นฟีล์ม รูปหล่อสะบัดโลกใช่หรือไม่

หากไปถามนักคณิตศาสตร์ ที่จบมาจากเยอรมัน ก็คงคิดว่า อีตาคนนี้จะมาไม้ไหนกันวะ.. แล้วก็อาจจะบอกไปว่า อันนี้เป็นกระบวนวิธีการนำเข้าสู่บทเรียนแบบ เรียนสนุก ลุกนั่งสบาย รึเปล่า อิอิ…..เอิ๊ก… (แซวเล่นเด้อครับ)

ที่สำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง ท่าน CEO สัมภาษณ์สาวๆ เพื่อเอามาทำงานเป็นฝ่ายบัญชี แล้วตั้งคำถามว่า นี่หนู ตอบซิว่า 1 + 1 เป็นเท่าไหร่จ๊ะ….

หนูแหม่ม ตอบว่า ก็ เท่ากับ 2 ซิคะท่าน…. ท่าน CEO มองหน้าแล้วก็ชี้นิ้วไปที่ประตูว่า ไปเลย มาทางไหนไปทางนั้นเลย….

ท่าน CEO ถามน้อง จีจี้ ว่า แล้วหนูคิดว่าคำตอบมันเป็นเท่าไหร่จ๊ะ….

หนู จีจี้..ยิ้มหวานที่สุดแล้วตอบว่า: “แหม..ท่านค๊ะ อันนี้ก็แล้วแต่ท่านละค่ะ ว่าจะให้เป็นเท่าไหร่ ได้หมดเลยค่ะ…”

ท่าน CEO ตบมือแปะๆ เก่งมากหนู จีจี้ พรุ่งนี้มาทำงานได้เลยนะครับ


ภิกษุ

103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 กันยายน 2010 เวลา 8:48 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1795

ภิกษุ คือ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ

(ดูที่นี่ )


ประชาธิปไตยแบบไหน..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 กันยายน 2010 เวลา 8:14 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 1186

“ประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเป็นใหญ่

แต่ประโยชน์ของประชาชนต้องเป็นใหญ่

หากประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนที่บ้าบอก็มี

บ้านเมืองก็ฉิบหายหมด..”

…ท่านพุทธทาส…

กำลังรื้อถอนผลงานของกลุ่มผู้ที่อ้างว่ารักชาติ เชิดชูประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย ในความหมายของเขาคือการทำลายอย่างนั้นหรือ

จะให้เด็กรุ่นหลังเรียนรู้อะไรจากคนรุ่นนี้ในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ในเมื่อการกระทำแบบนี้ เขาอ้างว่านี่คือกลุ่มรักชาติ รักประชาธิปไตย

หากการเคลื่อนตัวของสังคม ประเทศชาติเต็มไปด้วยอารมณ์เหนือเหตุผล

เราก็กำลังก้าวลงสู่หุบเหวแห่งความพินาจ สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน

โปรดใช้สติเถิด..


แนะนำหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ”

28 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 กันยายน 2010 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2166

นานมาแล้วผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ช๊อคความรู้สึกผมมาก ผู้เขียนฆ่าตัวตายโดยการดื่มสารพิษและพยายามตั้งสติบันทึกความรู้สึกนั้นๆออกมาเป็นอักษรว่าคนที่กำลังจะตายแบบเขานั้นเป็นอย่างไร คิดอะไร ฯลฯ มันหดหู่ และกระตุกความคิดมากมายทีเดียว….

ผมเคยเขียนถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ “เดินสู่อิสรภาพ” ของอาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ ผมอยากที่จะเขียนถึงอีกเพราะผมชอบ สำหรับท่านที่ไม่เคยรู้จักเล่มนี้ขอแนะนำสั้นๆว่า ประมวล เพ็งจันทร์เป็นชาว สุราษฎร์ เกาะสมุย จบปริญญาเอกด้านปรัชญาจากอินเดียแล้วไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่แล้ววันหนึ่งก็ลาออกจากราชการและเดินด้วยเท้าจากเชียงใหม่กลับบ้านเกิด


ระหว่างการเดินทางนั้นไม่มีเงินติดตัว ด้วยความตั้งใจเช่นนั้นค่ำไหนนอนนั่น ทำการบันทึกว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเรื่องราวต่างๆก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ที่มีความหนาถึง 500 หน้า

ผมสนใจสภาวะด้านในของอาจารย์ ประมวล ที่สะท้อนออกมาระหว่างการกระทำที่มนุษย์สมัยนี้ไม่มีใครทำ ส่วนตัวผมคิดว่าจิตใจด้านในนั้นจะอยู่ในสภาวะที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับจิตใจมนุษย์ที่มุ่งหาความสุขความสะดวกสบาย นี่เองที่ผมชอบมากๆว่าทุกย่างก้าว เกิดอะไรบ้าง และคิดอะไรบ้าง อาจารย์เผชิญการต่อสู้ด้านในมากมายซึ่งดูเหมือนอาจารย์ก็รู้ว่าจะต้องเผชิญอะไรบ้าง


อาจารย์เห็นสังคมด้านปรกติ และอีกด้านหนึ่งที่ยังพบอยู่ในสังคมไทยเรา เห็นความงดงามสิ่งนั้น ได้เสพสุขกับภาพ การสัมผัส และความรู้สึกที่เกิดขึ้นแม้ในจิตใจของช่วงเวลานั้นๆ ถ่ายทอดมาเป็นภาษา แม้ว่าว่าภาษาจะมีข้อจำกัดในตัวมันเอง ผู้อ่านก็สัมผัสส่วนลึกนั้นได้จริงๆ เช่น การที่อาจารย์กำหนดการเดินครั้งนี้ว่าไม่เอาเงินติดตัวไปเลยจะขอใช้ความเป็นมนุษย์อยู่รอดให้ได้ ในสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยตามชุมชนที่อาจารย์เดินผ่านไป


เดาซิครับว่า การอยู่รอดของชีวิตในสภาวะไม่มีเงินตรานั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีทั้งการมองมาด้วยคำถาม ไม่ไว้ใจ ระมัดระวัง รวมไปถึงสงสาร อยากช่วยเหลือ..


อาจารย์ได้สรุปความคิด ความรู้สึกที่สัมผัสมาอย่างข้างบนนั้น จากบทนี้มีความคิดเกิดขึ้นมากมายว่า สังคมเงินตราจะพัฒนาไปสู่จุดจบแบบไหนในอนาคต


ผมมีความรู้สึกว่าพัฒนาการสังคมนั้นทำให้มนุษย์ยิ่งออกห่างไกลความเป็นธรรมชาติ และการอยู่รอดที่พอดี มิใช่การเสพ หรือการบริโภคที่ทำลายธรรมชาติอย่างมากมายในปัจจุบันนี้


อาจเพราะอาจารย์เป็นผู้ยึดหลักศาสนาและความเป็นผู้มีฐานคิดแบบปรัชญา การตัดสินใจเดินครั้งนั้น ผมคิดว่ามิใช่อาจารย์ได้ค้นพบอิสรภาพของตัวเองแล้ว ยังได้สอนให้เราได้ย้อนมาทบทวนการดำรงชีวิตได้อย่างแรงทีเดียวครับ

ในหน้าสุดท้ายของ “เดิอนสู่อิสรภาพ”นั้นอาจารย์สรุปว่า

ชีวิต…..ยังมีความสุขในแบบที่เราไม่เคยรู้จักอีกเยอะแยะ

ขอบพระคุณอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เป็นอย่างสูง ที่ชี้ให้เห็นชีวิตที่ควรจะเป็นนั้นมีอยู่..

(หมายเหตุ: ลายเส้นในฉบับนี้เป็นฝีมือพี่เทพศิริ สุขโสภาด้วยครับ)


ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 15:12 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2543

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่ เรากะว่าทิ้งเวลาไว้ให้เราทบทวนข้อมูลที่ได้แล้วจะกลับมาสอบถามเพิ่มเติม แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุดแต่ก็เห็นภาพที่ชัดเจน เราทดลองเอาข้อมูลมาจัดหมวดหมู่โดยใช้ Mind map ก็ได้แผนภาพดังกล่าวนี้

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ

เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนครับเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด ในแต่ละครอบครัว เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ถ้วน ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เมื่อมีเวลาเราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่…

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ
  • การเกษตร ปลูกข้าวเหนียวไร่พันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งปัจจุบันหายสูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว
  • การปลูกพืชผักนั้นผสมผสานอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับแปลงปลูกข้าวซึ่งล้อมรั้วกันวัวควายเข้ามากิน
  • ศัตรูที่สำคัญของข้าว พืชผักคือ สัตว์ป่า เช่น หมูป่า นก ลิง โรคแมลงไม่มี
  • สภาพดินอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่ ดินร่วนซุย
  • ไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ ใช้แรงงานเท่านั้น
  • นับถือผี ปู่ตา พระที่วัด
  • ประเพณีที่สำคัญคือ 3 ค่ำเดือน 3
  • ไม่มีค่านิยมเชิงบริโภคเช่นปัจจุบัน


ตอบคำถามอาม่า

1495 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 14:39 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8430

 

ช่วยกันสะท้อนปัญหาของชนบท

เอาชนบทที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันก็แล้วกัน

  1. เวลาเราทำงานในชนบทแบบนี้เรามักแบ่งพื้นที่เป็นระบบภูมินิเวศ เป็นฐานการแบ่ง ส่วนจะเน้นภูมินิเวศเกษตร ภูมินิเวศวัฒนธรรม ภูนิเวศประวัติศาสตร์หรือจะผสมผสานกันก็แล้วแต่ฐานคิดแต่ละคน แต่ละองค์กร ส่วนที่โครงการเน้นระบบภูมินิเวศเกษตรวัฒนธรรม ทั้งนี้เพราะว่าที่ดงหลวงมีความแตกต่างจากที่อื่นๆคือ เป็นเขตเชิงภูเขา ประชากรเป็นชนเผ่าไทโซ่ หรือไทโส้ หรือบรู หากพูดตามภาษาราชการก็ต้องเรียกว่า “ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่”
  2. สภาพพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศแบบเชิงเขามีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย

    ข้อเด่น: คือ มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่นๆเพราะทรัพยากรป่ายังมีอยู่มาก ป่าคือทุกอย่างในวิถีชีวิตของชนเผ่านี้ ขาดเหลืออะไรก็เข้าป่า อยากได้เงินใช้ก็เข้าป่า ทำการผลิตก็ต้องอิงป่า เลี้ยงสัตว์แรงงานเช่นวัวควาย แล้วก็ปล่อยขึ้นป่า วันวันไม่มีอะไรทำก็ขึ้นป่าไปหายิงสัตว์ เก็บหมากไม้ น้ำผึ้ง และผลผลิตอื่นๆจากป่า แทนที่จะมุ่งทำการผลิตในที่ดินของตัวเอง หรือทำควบคู่ไป แต่ไม่ได้ใส่ใจการผลิตในพื้นที่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศแบบที่ราบลุ่ม เพราะไม่มีป่า

    ข้อด้อย: สภาพพื้นที่เชิงเขาจะมีพื้นที่ทำการผลิตไม่มาก เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ก็ขยายไม่ได้มาก หรือขยายก็เป็นการบุกรุกทำลายป่าไม้โดยตรง ดังนั้นพื้นที่ถือครองต่อครัวเรือนต่อคนจึงไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ราบโดยเฉลี่ย ซึ่งมีผลต่อการผลิตข้าวไม่เพียงพอบริโภค หากไม่ใช่เทคนิคการผลิตที่เหมาะสมเข้ามาแทนที่การผลิตแบบเดิมๆ ปัญหาข้าวไม่พอกินก็รุนแรงมากขึ้น

  3. สภาพปัญหาที่พบ อาจจะกล่าวเป็นสองนัย คือนัยการสำรวจปัญหาตามระบบราชการ กับสภาพปัญหาจากการวิเคราะห์ของเราที่ลงไปทำงานในพื้นที่

    สภาพปัญหาตามระบบราชการสำรวจพบว่า

    3.1 ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกษตรกรตอบคือ การขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ยามปลูกข้าวนาปีฝนก็ทิ้งช่วง หลังนาอยากปลูกพืชบ้างก็ไม่มีน้ำ (เอาปัญหาก่อนนะครับ ไม่ได้กล่าวทางแก้ไข)

    3.2 ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

    3.3 ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคแมลง

    3.4 ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เพราะใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่มากขึ้นเหมือนพื้นที่ราบลุ่ม เช่นการไถนาด้วยรถไถใหญ่ การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมี และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเพื่อการเกษตร

    3.5 ฯลฯ

     

    ส่วนนัยปัญหาที่เราวิเคราะห์เองเห็นดังต่อไปนี้

    1) ปัญหาการส่งเสริมการเกษตรที่ผิดพลาด ไม่ต้องการโจมตีราชการ แต่เป็นการเคลื่อนตัวของสังคมไปตามกระแสโลก ที่ไหนๆก็เป็นเช่นนั้น ทุกประเทศ คือหลังการปฏิวัติเขียวกรมส่งเสริมการเกษตรก็มีนโยบายปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวและพืชต่างๆ ให้แก่เกษตรกร จนพันธุ์ข้างท้องถิ่นสูญหายไปมาก ข้างพันธุ์ใหม่ที่ได้มาก็ต้องใช้ต้นทุนสูงเพราะต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ อ่อนแอต่อโรคต้องใช้ยาปราบโรคปราบศัตรูพืช ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคอื่นๆไปด้วย ปัจจุบันเริ่มหันกลับไปเป็นเกษตรอินทรีย์ แล้วแต่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเพราะเกษตรกรไม่ใช่เปลี่ยนข้ามวันข้ามคืน เพราะสังคมไทยคือสังคมเกษตรกรรม

    2) ปัญหาที่ใหญ่มาก และแก้ยากคือ ลัทธิบริโภคนิยมที่มากับระบบธุรกิจ ที่มากับการสื่อสารทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคนนอกที่เข้าไปในชุมชนเป็นผู้แพร่ลัทธินี้ไปโดยไม่รู้ตัว ทุกครัวเรือนมุ่งหวังจะมีรถมอเตอร์ไซด์ให้ได้ รถอีแต๊ก และไฝ่ฝันจะมีรถปิคอัพ โรคมือถือระบาด โดยเฉพาะวัยรุ่นในชุมชน ต้องมีมือถือ ต้องมีมอเตอร์ไซด์ แถมใช้เวลาไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ใช้เวลาเพื่อทำการผลิต ช่วยเหลือครอบครัวอย่างมีสำนึกตรงข้ามกลับเป็นตัวบริโภคที่ไม่เกิดประโยชน์

    3) การขับเคลื่อนสังคมไปตามระบบทุน ส่งผลกระทบกว้างขวางไปมดทุกด้านทุกเรื่อง สิ่งที่เราพูดกันมากแต่ไม่ได้มีกิจกรรมเสริมสร้างอย่างจริงจังนั้นคือ การจางตัว หรือการสลายตัวของทุนทางสังคม ที่เป็นฐานสำคัญยิ่งของระบบสังคมชุมชน ระบบการพึ่งตัวเอง และพึ่งพาอาศัยกัน ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวัฒนธรรมชุมชน แถมดูถูก ไม่เห็นคุณค่า การไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรม ประเพณีก็คือการไม่จุนเจือพลังสังคมด้านที่สำคัญ สังคมเคลื่อนตัวไป วิถีคนกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนไป ก็ออกห่างวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของไทย แถมไปรับของใหม่และห่างไกลแบบเดิมและไม่เข้าใจถึงสาระที่เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรมที่เป็นประเพณี ระบบเจ้าโคตรที่เคยมีบทบาทที่ดีมากๆในชุมชนก็ค่อยๆจางลง จางลง ระบบการปกครองสมัยใหม่เข้าไปแทนที่คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.

    4) ปัญหาเฉพาะของพื้นที่ดงหลวงที่ผมเห็นและแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ลัทธิความเชื่อผี ตอนแรกๆไม่คิดว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน ยิ่งทำงานไปนานเข้า เฝ้าสังเกตปรากฎการณ์ต่างๆในชุมชน พบว่า ความเชื่อเหล่านี้มีทั้งดีและไม่ดี ดีคือเป็นตัวข่มมิให้ใครออกนอกลู่นอกทาง ตี่ในทางไม่ดีคือ เกิดการใช้เป็นเครื่องมือ เกิดการเกรง เกิดการไม่กล้ากระทำในหลายอย่างที่มีส่วนเสริมสร้างการเติบโตขององค์กร ชุมชน เรื่องนี้เป็นความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ เราคนนอกไม่มีทางเข้าใจและไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ เช่น ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องปอบ การกระทำของปอบ อิทธิฤทธิ์ของปอบ ไม่ต้องการให้ใครทำอะไรโดดเด่นเกินหน้าตาคนอื่นๆ เช่น ใครปลูกพืชขายได้เงินทองก็ต้องเงียบๆ ไม่อิสระ และหากปลุกพืชเศรษฐกิจขายได้ราคาดี ปีหน้าคนนั้นน่าที่จะขยายพื้นที่การผลิตมากขึ้น แต่ไม่ เพราะไม่ต้องการทำงานเกินหน้าคนอื่นเพราะความเกรงกลัวปอบมากระทำ เป็นเรื่องราวเฉพาะพื้นที่

     

    ทั้งหมดนี้ สรุป เอามาให้นะครับ

 

มีข้อมูลเก่าๆที่อาจจะช่วยให้เห็นประเด็นกว้างขึ้น อาท่าโปรดดูข้างล่างนี้ด้วยครับ

จากหลักการสู่การปฏิบัติไม่ง่ายเหมือนพูด http://lanpanya.com/bangsai/archives/879

อุปสรรคของการพึ่งตนเองของชาวบ้านที่
http://lanpanya.com/bangsai/archives/927

ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ http://lanpanya.com/bangsai/archives/543


น้ำบนใบบัว

225 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 10:52 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3067

 


เห็นรูปนี้ มีคำถามคาใจที่คิดไปเรื่อยเปื่อย

บ้านเรามีนักคิดเยอะ แต่นักทำ ไม่มากเท่าไหร่ มองเชิงบวกก็ดีนะ เพราะพวกคิดก็คิดไป พวกทำก็เก็บความคิดเหล่านั้นไปทำ ไปขยาย ไปดัดแปลง เป็นโจทย์ไปขยายต่อไป

เมื่อผมเห็นน้ำกลมๆบนใบบัว ใบบอน และใบอื่นๆอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบนี้ ความจริงใครๆก็เคยเห็น เคยเล่น เคยใช้ประโยชน์ เช่น เด็ดใบบัว ใบบอนมาเป็นที่ตักน้ำดื่ม

คำถามคือว่า ผิวใบบัว ใบบอนนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดหรือจึงทำให้น้ำไม่จับเปียก และน้ำกลับรวมตัวกันเป็นก้อนน้ำกลิ้งไปมาบนผิวนั้น ผมเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายนี้ เช่นมันมีขนเล็กๆจำนวนมหาศาลอยู่ที่ผิวใบ ขนเหล่านั้นมีคุณสมบัติไม่เปียกน้ำ

เอ…หากเราผลิตผ้าที่มีบนเล็กๆแบบนั้นและมีคุณสมบัติแบบนั้นจะดีไหม เอาผ้านั้นมาตัดเสื้อกันฝนแล้วฝนตกก็ไม่เปียก ดีไหม…. นักวิทยาศาสตร์บ้านเราเอาไปคิดต่อ สร้างผลงานต่อได้ไหม และเอามาทำประโยชน์แก่มนุษยชาติได้ไหม


หากทำได้ เอาไปดัดแปลงทำ Wall paper ติดฝาบ้านที่ไม่เปียกน้ำ เอาไปเคลือบรางน้ำ เอาไปทำถุงมือ เอาไปทำตุ๊กตา เอาไปทำอะไรต่อมิอะไรมากมาย

ธรรมชาติ à ฉงนใจ à ตั้งคำถาม à ค้นหาความจริง à ได้คำตออบตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ à ความจริงนั้นคือการเข้าใจธรรมชาติ à ความจริงนั้นคือความรู้ à เอาความรู้ไปคิดต่อ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ à เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายหลายชนิด à ผลิตภัณฑ์นั้นไปเสริมสร้างการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประหยัด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สันติ…..

หากจะปฏิรูปประเทศ อย่าลืมโน้มน้าวมุมมองปฏิรูปด้านนี้ด้วยนะครับ…


ต่อให้ 3G ก็เถอะ หาก…

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กันยายน 2010 เวลา 23:30 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 786

สมัยเรียนที่เชียงใหม่ มีเพื่อนรัก เป็นชาวสงขลา เรารักกันมาก เรากินด้วยกัน นอนด้วยกันเที่ยวด้วยกัน อดอยากด้วยกัน ยามไม่มีเงินก็พลัดกันเอานาฬิกาไปจำนำ และเราถูกเสนอชื่อแข่งขันเป็นหัวหน้ารุ่นในปีที่ 1 ผมแพ้ เพราะมันพูดเก่ง เรียนไปได้ค่อนปี มันก็บอกว่า …ไอ้บู๊ดกูจะ en ใหม่ กูอยากเรียนวิศวะ.. แล้วมันก็ไม่ร่ำไม่เรียน ในที่สุดก็ไป Drop การเรียน เอาแต่ดูหนังสือหามรุ่งหามค่ำ เรานอนห้องเดียวกัน เราก็เลยต้องดูแลมันไปด้วย เช่น กลางวัน หรือเย็นๆ มันนั่งอยู่ที่โต๊ะดูแต่หนังสือ ทำแบบฝึกหัด เราก็ไปซื้อข้าวกลางวัน ข้าวเย็น เอามาให้ เนื่องจากห้องอยู่ชั้นสาม เรายังไม่อยากขึ้นห้องก็ตะโกนให้มันหย่อนเชือกลงมา เราก็เอาข้าวห่อผูกเชือก มันก็ดึงขึ้นไป ..ห้า ห้า สนุกซะ

กลางคืนเราก็ชงโอวัลตีนให้มันกระป๋องเบ่อเริ่ม เพื่อนๆก็ว่า มึงเอาจริงอย่างนี้วิศวไม่พลาดแน่ๆ.. เมื่อเวลา Entrance มาถึงมันก็มั่นใจเต็มที่ วันสุดท้ายมันวิ่งจากห้องสอบไปหาพวกเราถึงห้อง… ไอ้บู๊ด..กูทำข้อสอบได้โว้ยยยย.. มันดีใจมาก และมั่นใจว่าไม่พลาด แล้วงานฉลองก็เกิดขึ้น อย่าให้อธิบายนะ..มันเหมือนหมาเลย เมา ซะ..

วันประกาศผลมาถึง… ทำไมมึงหน้าไม่ยิ้มเลยวะ.. ไม่มีชื่อกูว่ะ… ความเศร้ามาเยือนพวกเรา.. เมาอีกรอบหนึ่ง…


ด้วยความแน่วแน่ที่จะเรียนวิศวะให้ได้ เพื่อนรักคนนี้ลาออก แล้วกลับบ้านบอกเพื่อนๆว่า กูจะขอตังค์แม่ไปเรียนวิศวะที่ฟิลิปปินส์… เอ้า เมากันอีกรอบหนึ่ง…. ส่งมันกลับบ้าน

เราได้ข่าวว่ามันไปเรียนที่ฟิลิปปินส์ จนจบและทำงาน แล้วไปเรียนต่อโทที่อเมริกา …เราไม่เจอะกันอีกเลยนานมาก..

จนเมื่อสัก 6-7 ปีที่ผ่านมาเพื่อนรุ่นเดียวกันนัดรวมรุ่น ควานหาเพื่อนทุกคนให้มาพบปะกันหน่อย นั่นเองเราจึงพบกันอีกครั้ง เพื่อนประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน โดยเป็นมือบริหารบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ระดับหลายพันล้านขึ้นไป

เมื่อสองสามปีมานี้ มันขึ้นมาเป็นผู้บริหารโรงงานผลิตกระดาษที่ขอนแก่น.. แต่หน้าที่การงานก็ไม่ได้พบกัน ผมส่งเด็กจบปวส.ที่เคยมาช่วยงานที่บ้านไปให้มันเลือกเข้าทำงานคนหนึ่ง เด็กคนนั้นก็ได้ทำงานจนปัจจุบันนี้

วันหนึ่งเราพบกันโดยบังเอิญที่สนามบินขอนแก่น มันตะโกนเรียก ไอ้ห่าบู๊ด.. มึงจะลงกรุงเทพฯหรือ..
เปล่ากูมาส่งคุณนายที่บ้านว่ะ เธอจะไปประชุมที่ ILO แล้วมึงทำไมหน้าตายุ่งๆจังวะจะลงกรุงเทพฯหรือ..

เออ แต่กูเสือกลืมมือถือไว้ในรถที่มาส่งกูว่ะ… ตายห่า ทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด

ผมก็ยื่นมือถือให้แล้วก็บอกว่า มึงลองโทรไปตามพนักงานขับรถซิ ให้เขากลับมาเอามือถือมึงมาส่งด่วน.

ไอ้ห่า..กูจำไม่ได้สักเบอร์.. ตารางนัดหมาย หมายเลขโทรศัพท์ ข้อมูลต่างๆอยู่ในนั้นหมด กูจะทำอะไรได้วะเนี่ยะ.. ซวยฉิบ…

มันเดินวุ่นวาย คิดหาทางจะเอาอย่างไรดี แล้วมันก็เดินไปที่ร้านขาประจำในสนามบินนั้น บอกช่วยโทรไปที่โรงงานให้หน่อย ด่วนจี๋ ….

เสียงประกาศขึ้นเครื่องแล้ว…

เห็นมันแล้วสงสารว่ะ มึงขาดมือถือมึงทำอะไรไม่เป็นเลย.. เอางี้มึงไปขึ้นเครื่องเลย เดี๋ยวกูจัดการให้ แล้วจะส่งมือถือไปให้มึงพรุ่งนี้เช้าเที่ยวบินแรก มึงไปรับเอาที่สนามบินนะ.. แล้วเราก็จัดการติดต่อโรงงานผลิตกระดาษให้ ซึ่งก็ตามได้และให้เขาจัดการทุกอย่างให้นายใหญ่เขาด้วย

ถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ ต่อให้ 3 G หรือ 8 G มันก็ทำอะไรไม่ได้

จนกว่าจะผลิตรุ่นที่ หากลืมที่ไหนมันบินไปหาเจ้าของเองน่านแหละ..ห้า ห้า ห้า (ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อเพื่อนคนนี้นะครับ) ใครสนใจเรื่อง 3 G อ่าน ที่นี่


เตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ๒

23 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กันยายน 2010 เวลา 21:37 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 667

สมัยทำงานที่สะเมิงนั้น นอกจากจะใช้มอเตอร์ไซด์ที่รักของเราแล้ว บ่อยครั้งที่ต้องใช้ปิคอัพ เพราะไปหลายวัน ตามแผนงานต้องไป 27 หมู่บ้านเพื่อประชุมทำความเข้าใจชาวบ้านเรื่องการจัดตั้งกลุ่ม Credit Union หรือกลุ่มออมทรัพย์ ก็ขออนุญาตผู้จัดการเอารถปิคอัพไปเพราะต้องเอาสัมภาระต่างๆไปด้วย เช่น ชุด เขียนที่เราเรียก ไวท์ บอร์ด เครื่องเขียน ขาตั้ง ของหลายอย่างเป็นวัสดุสิ้นเปลืองก็ต้องมีเก็บไว้ในห้องเก็บของ พร้อมที่จะเอามาใช้งานได้ ระบบสำนักงานปัจจุบันเขารู้เรื่องเหล่านี้ดี

สะเมิงนั้นห่างไกลเมืองเชียงใหม่ หากขาดเหลืออะไรแล้วยากลำบากที่จะซื้อหามาใช้ทันท่วงที การทำงานด้านนี้ต้องแม่น งานด้านสังคมสนับสนุนจัดตั้งกลุ่ม Credit Union นั้น ผมมีลูกน้องอีกสองคน เจ้าสาย กับสมจิต เป็นชาวบ้านที่เราพัฒนาเขาขึ้นมาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ ติดสอยห้อยตามเราไปตลอดทุกที่ ให้เขาช่วยเรื่องการอบรมการทำบัญชีเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน ดังนั้นเวลาเดินทางไป 27 หมู่บ้าน สองคนก็ไปกับเราด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ อาหาร เราไม่ต้องการรบกวนชาวบ้าน แค่ไปนอนบ้านชาวบ้านก็เป็นบุญคุณหาที่สุดมิได้แล้ว เราจึงซื้อถังแช่ ใส่ท้ายรถขนาด 1 คิว หรือเล็กกว่า สำหรับใส่อาหารเอาไปทำกินระหว่างเดินทางไปทำงานตลอด 5-7 วันนั้น ส่วนมากก็เป็นผัก เนื้อ และอื่นๆที่อยากกิน ซื้อน้ำแข็งก้อนใส่เข้าไป ก็กลายเป็นห้องเย็น กะให้พอก็แล้วกัน แล้วก็ตระเวนไป ค่ำนี้ประชุมบ้านนี้ นอนบ้านนี้ ค่ำโน้นย้ายไปบ้านโน้นนอนที่บ้านโน้น บางหมู่บ้านเราก็ขอนอนที่วัด ที่โบสถ์ และใช้วัดใช้โบสถ์นั่นแหละเป็นที่ประชุม เรียกว่าใช้สาธารณะสถานให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเต็มที่ไม่ต้องไปสร้างห้องประชุม ประแชมอะไรให้มากความ พระท่านก็มานั่งฟังด้วย ก่อนเริ่มประชุมก็ไหว้พระซะ จบแล้วก็กราบพระด้วย


หากเป็นช่วงฤดูฝนในรถจะต้องมี มีดใหญ่ เลื่อย เชือก โซ่คล้องล้อรถ เตรียมพร้อมสำหรับฟันกิ่งไม้ ต้นไม้ที่มักโค่นลงมาทับเส้นทาง บางครั้งก็ใช้เวลาเป็นวันกว่าจะผ่านไปได้ และบางครั้งเราเอาหมูพ่อพันธุ์ไปให้ชาวบ้านด้วย รถมีอุปสรรคในฤดูฝนไปช้าไปหมูตายเลยก็มี โธ่เจ้าหมู เราไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเจ้านะ.. ช่วงฤดูฝนเช่นช่วงนี้หละทุลักทุเลสิ้นดี เสื้อผ้าดูไม่ได้ เปียกชื้นไปหมด มีบ่อยครั้งรถติดหล่ม คนขับรถบนดอยจึงนิยมใช้ โตโยต้า มากกว่า อีซูซุ เขาบอกว่า รถที่ใช้น้ำมันเบนซินนั้นแรงดีกว่า หากรถติดหล่ม โตโยต้าจะเอาตัวรอดมากกว่า อีซูซุ อันนี้เป็นสถิติก็แล้วกัน แต่โตโยต้าก็เถอะ บ่อยครั้งเราต้องใช้วิธีย้ายคนไปอยู่ในกระบะหลังแล้วขย่มขณะที่รถวิ่งฝ่าร่องน้ำโคลน ประสบการณ์ชาวบ้านบอกว่า บันทำให้รถเกาะถนนมากขึ้น หรือไม่ก็พบบ่อยๆที่ หากขับมาคนเดียวหรือสองคนขย่มไม่ไหวก็เอาก้อนหินใส่เข้าไปท้ายกระบะนั้นให้มันหนักมากขึ้น แล้วก็ใช้ฝีมือขับลุยร่องโคลนลึกไปจนได้

เมื่อมาทำงานอีสานที่โครงการ USAID กับพวกอเมริกัน ฟอร์มใหญ่ ฟอร์มมาก บ้านพักใหญ่ๆ รถคันใหญ่ๆ ห้องทำงานใหญ่ๆ ตัวฝรั่งเองก็ใหญ่โตมโหระทึก พูดจาเสียงดังคับฟ้า สภาพการทำงานแตกต่างสิ้นเชิงกับสะเมิง มีพนักงานขับรถ ใช้รถจีป ประจำตำแหน่ง วิ่งไปมาระหว่างจังหวัดในอีสานท่องจนทั่วทะลุปรุโปร่ง เจ้ารถจี๊ปวิลลี่นี่ก็กิน(แดก) น้ำมันเป็นอูฐ (เอ อูฐมันกินน้ำนี่ ไม่ได้กินน้ำมันสักกะหน่อย) เติมน้ำมันร้อยบาทวิ่งไปกลับท่าพระขอนแก่นสองเที่ยวก็หมดแล้ว…ป๊าดดดด ไอ้กันนี่มันผลาญทรัพยากรจริงๆ ทั้งหมดล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ ซึ่งข้าราชการหลายคนก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่นั่น จนจบโท จบเอก ผมเป็นลูกจ้าง ไม่มีสิทธิ์

ผมได้รับประสบการณ์ดีดีที่นี่เรื่องการเตรียมความพร้อมตามระบบนิสัยฝรั่งคือ เขาจะต้องจัด First Aids ใส่ไปในรถทุกคัน พร้อมใช้ เขารู้ว่าการใช้ชีวิตในเมืองไทยนั้นโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพมีอะไรบ้าง เขาก็เตรียมหยูกยาเหล่านั้นไว้มากกว่า First Aids ทั่วไป เช่น เขารู้ว่าบ้านเราน้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน อาหารไม่สะอาดเพียงพอ ฝรั่งท้องเสียมาก บ่อย เขาก็เตรียมยากลุ่มนี้ไว้ น้ำดื่มก็เอาไปด้วย หากหมดจริงๆเขาซื้อน้ำโซดาดื่มครับ ไม่กล้าซื้อน้ำดื่มใส่ขวดบ้านเรา

First Aids มีประโยชน์มากครับ บ่อยครั้งเราได้เอามาใช้ประโยชน์ ทั้งพวกเรากันเอง และชาวบ้านที่เราไปพบ และระหว่างทาง บางทีเราพบอุบัติเหตุก็ได้ใช้จริงๆ มีประโยชน์จริงๆ ผมติดเป็นนิสัยเลย ในรถส่วนตัวปัจจุบันก็ต้องมีชุดนี้อยู่ตลอด ไปที่ร้านขายยาบอกขอซื้อชุดนี้เขาก็จัดให้ หากจะเพิ่มเติมอะไรก็เพิ่มเข้าไป ไม่กี่บาทหรอก แต่เรามีความพร้อมมากกว่า เดินทางใกล้ ไกล ไม่ต้องห่วงเรื่องเหล่านี้ นี่คือประสบการณ์ที่ได้ แต่พึงระมัดระวังนะครับ หยูกยาเหล่านั้นมีอายุใช้งาน ต้องหมั่นตรวจสอบว่าหมดอายุหรือยัง เปลี่ยนซะ ขึ้นเหนือ ล่องใต้ได้เอาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็เป็นกุศลไปอีก

เมื่อผมย้ายไปทำงานกับโครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ภาคอีสาน ฝรั่งออสซี่ ก็มี First Aids ที่นี่ใช้ โตโยต้าจีฟ กับรถตู้ ผมว่าทำงานกับออสซี่ทำงานง่ายกว่ามะกัน ลูกทุ่งๆ ง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองมากนัก แต่มีระบบชัดเจนแน่นอน บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ลามาทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาเพื่อหาประสบการณ์สนาม ผมเอาจีฟไปทำงานสนาม ขับไปเองที่มหาสารคาม แล้วกลับตอนเย็น ถนนจากมหาสารคามไปยางตลาด ออกมาจากตัวจังหวัดหน่อยเดียว พอถึงทางโค้ง ล้อหน้าซ้ายหลุด รถทรุดฮวบ ล้อรถวิ่งแซงไปข้างหน้าตกลงจากถนนยังวิ่งต่อไปจะชนบ้านชาวบ้าน พอดีมีคันนา มันจึงชนคันนากระดอนขึ้นสูงมากแล้วก็ตกลงมา ส่วนตัวรถที่ทรุดลงตัวถังรถสีไปกับถนนเกิดประกายไฟ ชาวบ้านแถวนั้นกรี๊ดกันใหญ่ แล้วก็พากันวิ่งมาที่รถ เมื่อผมควบคุมสติได้ก็ลงไปตรวจสภาพรถ ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ก็มาถึง เสียงเอะอะ แล้วต่างก็วิ่งไปที่ท้ายรถ ดูว่ารถคันนี้ทะเบียนเลขอะไร…

จะเอาไปซื้อหวยครับ…..


เมื่อเหยี่ยวมาเยือน

31 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กันยายน 2010 เวลา 11:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2612

ที่หลังบ้านที่ขอนแก่นเป็นทุ่งโบราณ อาจเรียก บึง หนอง ห้วย ทาม ไม่รู้เรียกไม่ถูก แต่ทำหน้าที่รองรับน้ำที่ล้นเอ่อจากตัวเมืองขอนแก่นยามฝนตกมากๆ สมัยนี้น่าจะเรียกแก้มลิง

หมู่บ้านที่อาศัยอยู่นั้นเป็นดินถม จึงมีปัญหาการทรุดตัวของดิน เลยลามมาถึงตัวบ้าน ทำให้แก้ไขปัญหาตลอดมา กระนั้นก็ตามผมชอบสถานที่นี้เพราะหลังบ้านติดบึงดังกล่าวจึงเกิดวัชพืชขึ้นเต็มไปหมดตามธรรมชาติ คือต้นไมยราบยักษ์ และต้นจามจุรี ซึ่งทำให้เกิดร่มเงาหลังบ้าน และที่ชอบมากคือกลายเป็นทำมาหากินของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย แม้แต่งู… สัตว์ปีก พวกนกมีแปลกๆมาให้เห็นเรื่อยๆ

วันหยุดที่ผ่านมาผมได้ยินเสียงสัตว์ปีก เสียงเล็กๆ แอบดูก็ไม่เห็น ต้องพยายามฟังเสียงว่ามาจากไหน เรารู้มาก่อนแล้วว่าสัตว์ปีกแปลกๆนั้นมักมีสัญชาติญาณที่เร็วมาก แค่เราเปิดประตู หน้าต่าง มุ้งลวดมีเสียงดังเขาก็บินหนีไปทันที

จึงค่อยๆหาต้นตอเสียง คราวนี้เห็นแล้ว เป็นเหยี่ยว พยายามขยับมุ้งลวดแบบค่อยๆที่สุดเพื่อจะถ่ายรูปเขาเก็บไว้ เขายังได้ยินเสียงและจ้องมองมาทางผม โดยมีใบจามจุรีบัง พรางตัวเขาอยู่ ฉลาดจริงๆเจ้าเหยี่ยว คว้ากล้องมาถ่ายรูปเท่าที่ถ่ายได้ ก่อนที่เขาจะบินหนีไป และก็ไปจริงๆ แค่เราขยับตัวแสดงความเคลื่อนไหวนิดเดียว เขาก็บินหนีไป

ไม่ค่อยได้เห็นครับ เหยี่ยวแบบนี้ แสดงว่ามีอาหารของเขาคือพวกสัตว์ทั้งหลาย เช่น ปลาที่น้ำลดแล้วหนีไม่ทัน หรือหนู หรืออื่นๆ

เราไม่กวนเธอหรอกนะ แค่เก็บภาพเท่านั้น แล้วมาอีกนะเจ้าเหยี่ยวขนปุย


เตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ๑

45 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 กันยายน 2010 เวลา 15:20 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2526

แต่ละอาชีพก็ต้องพิจารณาความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา อุปสรรคต่างๆที่จะเกิดขึ้น หากภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่า Risk Management ผมเองก็วิเคราะห์ไว้เล่มหนึ่งในงานสูบน้ำฯ เป็นการคาดการณ์ว่า ในการดำเนินกิจการนั้นมีโอกาสที่จะเกิดปัญหานั้น ปัญหานี้ขึ้น ซึ่งเราเองก็ใช้การระดมความรู้มาจากทุกแหล่งว่า หากเกิดจะมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง คนที่เรียนเรื่องนี้มาโดยตรงก็สามารถวิเคราะห์โอกาสการเกิดได้อีก วิเคราะห์ความรุนแรง หรือระดับการเกิดได้ ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบต่อกิจการ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหาหนทางแก้ไขเสียตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหานั้นๆ

อันนี้ผมไม่ได้เรียนมาจากสถาบันไหน ได้ประสบการณ์จากการทำโครงการนั้นโครงการนี้ เห็นเขาทำนั่นทำนี่ก็เรียนรู้มาและเอาสิ่งดีดีเหล่านั้นมาปรับใช้กับโครงการปัจจุบัน อย่างดีก็เพิ่มเติมจากอาจารย์ Goo นั่นแหละ

ถามว่าคนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นจะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง นอกจากความรู้ในวิชาชีพด้านนี้แล้ว องค์ประกอบอื่นๆในชีวิตประจำวันของคนทำงานด้านนี้จะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ผมว่าหัวข้อนี้ไม่มีการสอนในภาควิชาพัฒนาชุมชนในสถาบันไหนๆก็ตาม เพราะอาจารย์ที่สอนๆนั้นหลายท่านไม่เคยทำงานพัฒนาชุมชนจริงๆเลยก็ได้ แต่รู้เชิงหลักการ ทฤษฎีมากมายที่ผมไม่รู้เรื่องตั้งเยอะแยะ

อยากจะบันทึกไว้เผื่อใครเอาไปใช้ประโยชน์บ้าง ดัดแปลงไปใช้บ้าง ก็เป็นบุญกุศลต่อไป

สมัยทำงานที่สะเมิง เป็นการก้าวเข้าสู่วงการนี้แรกๆ ทั้งที่ไม่ได้เรียนมาทางนี้แต่ใจมันชอบ และสมัยนั้นค่อนข้างไม่ชอบอาชีพรับราชการ แม้ว่าพ่อแม่พี่น้องจะอยากให้เราเป็นก็ตาม โครงการที่ผมทำอยู่นั้นใจป้ำมากเลย เขาให้ทุกคนใช้มอเตอร์ไซด์ คันใหม่เอี่ยม เมื่อใช้ครบสามปี ยกให้เลย เป็นแนวคิดไม่เลวนะ เมื่อเรารู้ว่าจะเป็นของเราเราก็รัก ดูแลอย่างดี เจ้าของโครงการเป็นชาวเยอรมัน กำชับอีกว่า “คุณจะต้องดูแลมอเตอร์ไซด์ เหมือนกับคุณดูแลหญิงสาวที่รัก..” นั่นหยอดคำหรูเข้านั่น


ฝรั่งเขามีมาตรฐานสูงกว่าเราในหลายเรื่อง (แต่บางเรื่องก็โหล่ยโท่ย) ไม่ใช่พูดกระตุ้นเราอย่างเดียว แถมจัดรายการส่งเราไปศูนย์ขายรถมอเตอร์ไซด์ ที่เชียงใหม่ สมันนั้นคือ นิยมพานิช ฝึกครับ ไปให้ช่างเขาฝึกสอนเราว่า มาตรฐานขั้นต่ำสุดที่เราควรรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกมีอะไรบ้าง ต้องทำ Maintenance อะไร เมื่อไหร่ อย่างไร สอนให้รู้จักน้ำมันเครื่อง ชนิดต่างๆ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่เราทำอยู่ การดูแลหัวเทียน การทำความสะอาดกระบอกสูบ เบรก โซ่ การปรับแต่งความตึงความหย่อนของโซ่ ระบบไฟ ฯลฯ ตลอดไปจนถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งของล้อในการบรรทุก เพราะบ่อยครั้งที่เราเห็นชาวบ้านเดินทาง เราก็ให้เขาซ้อนและไปส่งถึงที่ บ่อยครั้งที่ต้องซ้อนสามคน เท่ากับเป็นการเพิ่มน้ำหนักเกินที่รถถูกออกแบบมา เป็น tip หรือเกล็ดเล็กน้อยที่มีประโยชน์ในการทำงานยิ่งนัก

การ Safety ให้กับคนขับคนซ้อนท้าย สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องสรวมหมวกกันน๊อค แต่ฝรั่งบังคับให้ทุกคนต้องใส่ นอกจากนั้นต้องมีถุงมือ มีเสื้อแขนยาว และรองเท้าหุ้มหน้าแข้ง หากไปซื้อหนังแท้ราคามันเป็นพันบาท เราก็ซื้อรองเท้าคนงานที่เป็นยางมาใส่ก็โอเค เราเองก็เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ในฤดูฝนนั้นถนนมีแค่โคลนดินเหนียว ก็ต้องมีโซ่มักล้อหลังเพื่อเพิ่มการตะกุยดิน มีไม้สำหรับแคะดินเหนียวออกจากล้อ เพราะดินเหนียวจะเกาะติดล้อแล้วไปอัดแน่นกับบังโคลนทั้งหน้าหลัง วิ่งไม่ไปเลยหละ…


ทุกเช้าที่จะออกปฏิบัติงานต้องตรวจสภาพมอเตอร์ไซด์ถึงความพร้อมในการทำงานก่อน เพราะเขาคือเครื่องมือการทำงานของเรา หากเขาไม่พร้อมก็จะเกิดปัญหาได้ ยิ่งขับขี่ไปกลางป่าสะเมิงแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา มีอย่างเดียวนั่งร้องให้ขี้มูกโป่งแน่ เพราะแต่ละหมู่บ้านนั้นมันขึ้นเขาลงห้วยหลายลูกนะ…

ทุกสัปดาห์เราจะถอดฝาสูบออกมา เอาหัวเทียนมาตรวจดูการ สปาร์คของไฟ ตรวจดูเขม่าที่หัวสูบว่ามีมากแค่ไหน หากมีมากก็ขัดออกแล้วประกอบใส่เข้าไปใหม่ ตรวจดูโซ่ ใส่น้ำมันโซ่ หรือถอดออกมาต้มอุ่นๆกับน้ำมันเกียร์ให้น้ำมันซึมเข้าไปในข้อโซ่ ช่วยขยายอายุการใช้งาน สภาพยาง ลมยาง ฯลฯ หากเป็นรถสองจังหวะก็ต้องมี Autolube


ความรู้เหล่านี้ที่ได้จากการอบรม และได้จากประสบการณ์ทำงาน คนโน้นแนะนำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราทดลองแล้วใช้ได้ ก็นำไปใช้ประโยชน์กับการแนะนำชาวบ้านต่อไปอีก บางครั้งถึงกับลงมือช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

มีหลายครั้งที่เราต้องลากมอเตอร์ไซด์เป็นกิโลเพื่อเอามาซ่อม เพราะยางแบน… หมดปัญญา หากจะเ “ขี่บด” ทั้งที่ยางแบนไปก็ได้ แต่ความเสียหายกับยางกับวงล้อจะมีมากขึ้น จึงยอมเสียเหงื่อดีกว่า

โธ่ ก็เจ้าที่รักนี่จะเป็นของเราแล้ว ถนอมเธอหน่อยดิ……


เขียนถึงพี่สืบ นาคะเสถียร

124 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 21:41 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4397

เมื่อ 1 กันยายนเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทยเรา คนในวงการพัฒนาจะไม่ลืมวันนี้ คือวันสืบ นาคะเสถียร พี่สืบมีอายุแก่กว่าผม 1 ปี ขาดไป 4 วัน ผมไม่รู้จักพี่สืบเป็นการส่วนตัว แต่ผมมีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดหลังจากที่พี่สิบสิ้นไปแล้ว


ปี พ.ศ. 2538 หลังพี่สืบเสียชีวิตไปแล้ว 5 ปี ขณะนั้นผมทำงานที่โครงการ NEWMASIP กับกลุ่มบริษัท UROCONSULT ในด้านการพัฒนาระบบชลประทานภาคอีสาน ปลายปีนั้น เพื่อนฝรั่งเขามาเป็นผู้อำนวยการองค์การ Save the Children (USA) ชวนผมมาทำงานเป็น Project Manager ประจำที่นครสวรรค์ ขณะเดียวกันนั้น ส.ป.ก. ร่วมกับมูลนิธิหนองขาหย่างฯ จ.อุทัยธานีของพี่ สมพงษ์ สุทธิวงศ์ จัดทำโครงการพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง โดยได้รับเงิน Grant จาก DANCED ประเทศเดนมาร์ค ส.ป.ก.และมูลนิธิหนองขาหย่างก็ชวน Save มาร่วมงานด้วยโดยให้รับผิดชอบชายป่าห้วยขาแข้งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยระบุให้ผมเป็นผู้ประสานงานในนามของ Save the Children (USA) ก็ท่านรองเลขาฯ ส.ป.ก.ปัจจุบันที่สนับสนุนให้ผมพิมพ์งานเรื่องเล่าจากดงหลวงนี่แหละเป็นผู้จัดการโครงการสมัยนั้น ในราชการท่านเป็นผู้อำนวยการกองแผนงานฯ

ส่วนมูลนิธิหนองขาหย่าง จ.อุทัยธานีนั้น พี่สมพงษ์ สุทธิวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านผู้นี้คืออาจารย์ในงานพัฒนาชนบทผมเหมือนพี่บำรุง บุญปัญญา เพราะพี่เหล่านี้คือบัณฑิตรุ่นแรกของเมืองไทยที่เข้าร่วมงานกับ ดร.ป๋วยทำงานพัฒนาชนบท ที่ชัยนาท ที่เรียกโครงการบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) จำลองมาจาก PRRM ของประเทศฟิลิปปินส์ ที่มี Dr. James C Yen เป็นผู้ก่อตั้ง ดร.ป๋วยศรัทธาในอุดมการณ์และการทำงานเพื่อชนบทจึงนำหลักการมาตั้งในประเทศไทย

ทำไมต้องเป็นที่ชัยนาท ท่านที่ศึกษาประวัติ ดร.ป๋วย คงทราบดีว่าท่านเป็น นายเข้ม เย็นยิ่ง เสรีไทย ที่คู่กับ รูธ คือท่านปรีดี พนมยงค์ ท่านกระโดดร่มลงมาที่ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ท่านรอดชีวิตเพราะชาวบ้านช่วยท่าน ท่านจึงต้องการกลับมาพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เมื่อท่านมีโอกาส ดูสำนึกของท่านซิ


ทั้งพี่บำรุง บุญปัญญา เกียรตินิยมอันดับหนึ่งภาควิชา ปัฐพีศาสตร์ มก. พี่สมพงษ์ สุทธิวงศ์ นี่ก็นิสิตดีเด่น ยังไม่ทันจบคณะเศรษฐศาสตร์ ธนาคารชาติก็มาจองตัวท่านไปทำงาน พี่พี่เหล่านี้มีอนาคตสดใสหากท่านก้าวเข้าสู่ระบบราชการ แต่ท่านหันหน้าสู่ชนบท…

ผมร่ายยาวมาเพราะท่านเหล่านี้สนิทสนมกับพี่สืบในฐานะที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ และท่านเหล่านี้คือแบบอย่างของผม แม้ว่าผมจะไม่ติดขี้เล็บของท่านเลยสักนิด

โครงการพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้งที่ร่วมมือกันระหว่าง ส.ป.ก. มูลนิธิหนองขาหย่างและ Save the Children (USA) นั้น ทำกับพื้นที่ชายป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่อุทัยธานี นครสวรรค์ยาวมากกว่า 200 กม. โดยมีกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานร่วมมือหลัก นอกจากนี้ก็มีอีกสองมูลนิธิเข้าร่วมคือ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรและมูลนิธิ World Wildlife Fund (WWF) ที่มีกษัตริย์ประเทศเดนมาร์คทรงเป็นประธานและผมเคยรับเสด็จท่านที่ห้วยขาแข้งโดยบรรยายงานของโครงการให้พระองค์ท่าน ตื่นเต้นซะ..เหงื่อท่วมตัวเลย… พระองค์ทรงมาตบไหล่แล้วยิ้มให้

พี่สมพงษ์ถือว่าเป็นผู้อาวุโสสำหรับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พี่จึงเป็นตัวแทนนิสิตเกษตรฯประจำภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน มีงานพบปะสังสรรค์ประจำทุกปี พี่พงษ์จึงเป็นคนกว้างขวางในวงการ ที่ทำงานของพี่พงษ์ เป็นร้านอาหาร บนเส้นทางเข้าตัวเมืองอุทัยธานี อันเป็นเมืองปฐมบรมราชานุสรณ์ ที่รัชการที่ 1 ท่านเกิดที่นี่ สถานที่นี่เองเป็นที่รวมพลคนเกษตรศาสตร์ ใครผ่านไปผ่านมาก็แวะเยี่ยมพี่พงษ์ ขาประจำท่านหนึ่งคือพี่สืบนี่แหละ..


งานหลักของโครงการ DANCED นั้นกิจกรรมส่วนใหญ่คือการอนุรักษ์กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง เจริญรอยอุดมการณ์ของพี่สืบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือ การปลูกป่าเสริม กิจกรรมสร้างทีมงานชาวบ้านช่วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดับไฟป่าตลอดแนว 200 กว่า กม.ในจังหวัดอุทัยธานีและนครสวรรค์ จัดทำแนวเขตกันชน Buffer Zone รอยต่อระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก.กับป่าอนุรักษ์ โดยการพิสูจน์ขอบเขตที่ดินให้ชัดเจน แล้วทำแนวเขตตลอด 200 กม. โดยการใช้รถไถทำแนวเขต และปลูกต้นไม้ตามแนวเขตนั้นให้เกิดแนวที่ชัดเจน จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ประจำหมู่บ้าน จัดฝึกอบรม เพิ่มเติมความรู้ชาวบ้านรอบๆขอบป่า และสารพัดกิจกรรม

ทุกครั้งที่มีการประชุมร่วม มักเข้าไปจัดในสถานีป่าไม้ที่พี่สืบเคยอยู่ และยิงตัวตาย ทุกครั้งเราจะไปเคารพรูปปั้นแทนตัวพี่สืบ และมีการยืนไว้อาลัย สำนึกถึงอุดมการณ์ของพี่สืบ เรามีกิจกรรมเพิ่มเติมความรู้มากมายทั้งเจ้าหน้าที่ราชการ ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำกลุ่มต่างๆ เด็กนักเรียน เยาวชนอกโรงเรียน ชาวบ้านทั่วไป และกลุ่มประชาชนที่อยู่วงนอกออกไปด้วย เพราะชาวบ้านเหล่านั้นจะเหมารถนั่งกันเต็มคันแล้วไปจอดชายป่า แล้วขึ้นป่าไปหาของป่า เราพบว่า ตลอดแนวขอบป่านั้นเราเชื่อมั่นว่า กิจกรรมของเราสามารถสร้างกำแพงได้มากสมควร แต่ประชาชนที่ห่างออกไปนั้นก็เป็นผู้บุกรุกอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกพื้นที่โครงการ แต่เข้าไปทำร้ายทำลายป่า มากเหมือนกัน งานอนุรักษ์จึงมิใช่เฉพาะกลุ่มคนในพื้นที่เป้าหมายเท่านั้น นี่คือความจริง..


ผมได้ความรู้เกี่ยวกับป่ามากมายที่นี่ เพราะกลุ่มป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกที่พี่สืบทำงานชิ้นนี้ทิ้งไว้ การอนุรักษ์จึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะพื้นที่กว้างขวางเหลือเกิน ผมมีโอกาสเข้าไปยังใจกลางของป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีสภาพป่าแตกต่างไปจากชายขอบมากมาย ทะลุไปออกที่เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งก็มีการเข้ามาทำลายป่ามากมาย โครงการยังเข้ามาทำสถานีลอยน้ำที่หัวเขื่อนเพื่อดักกลุ่มชาวบ้านที่เอาเรือมาตัดไม้ไผ่ป่าและอื่นๆ ล่องไปขายมากมาย การเดินทางผ่านป่าด้วยรถ 4WD หรือเฮลิคอบเตอร์เท่านั้น มันเป็นป่าจริงๆ ที่มีสัตว์ป่ามากมายที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน นกยูงธรรมชาติ ควายป่า วัวแดง หมาป่าเป็นฝูง นกเงือก ฯ และที่ไม่คาดคิดคือ พระธุดงค์

เล่ากันว่า ป่าห้วยขาแข้งนั้นคือเป้าหมายของพระธุดงค์กลุ่มหนึ่งจะนั่งรถเข้าไปที่ด่านเจดีย์สามองค์ แล้วเดินป่าไปออกที่อุทัยธานี แล้วไปเล่ากันว่า ผ่านป่านี้มาแล้ว.. เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า พระธุดงค์ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดไฟป่า เพราะจุดไฟต้มน้ำแล้วดับไม่สนิท..

ที่นี่เคยเกิดเรื่องใหญ่ครั้งหนึ่งคือ ทุกปีจะมีกลุ่มศิลปิน มาจัดดนตรีเพื่อระดมทุน เพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมงานอนุรักษ์ป่า สถานที่จัดอยู่ชายขอบป่า มีอยู่ปีหนึ่งโดยนักสื่อมวลชนเอาไปเขียนโจมตีว่าทำลายป่าเพราะเสียงดนตรีนั่นเอง ต้องยอมรับความจริงว่าเสียงดังจริงๆ นักอนุรักษ์ย่อมรู้ว่าไม่ควรทำ แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทราบดีจึงจัดสถานที่ที่ไกลออกมาจากชายป่าพอสมควร แต่ก็ยังโดยโจมตี

บางปีนักอนุรักษ์ท้องถิ่นซึ่งเป็นสายศิลปินจะเชิญศิลปินชื่อดังต่างๆ ทั้งนักเขียน นักวาดรูป นักถ่ายรูป นักแต่งเพลง ฯ เข้าไปกินนอนในป่า เพื่อซึมซับป่าแล้วใช้จินตนาการสร้างสรรค์งานที่ตนเองถนัดออกมา ขายเพื่อเอาทุนเข้ามูลนิธิสืบ.. ผมยังชอบเพลงชุดหนึ่ง ชื่อดอกเสี้ยวป่า เพราะมากกกกก เสียดายลูกสาวผมเอาไปเล่นซะเสียหายหมดเลย

มิกิจกรรมมากมายที่เกิดประโยชน์ เช่นเราต้องการปลุกต้นไม้ตามแนว Buffer zoneมีคนหนึ่งเสนอว่าเอาต้นตาลมาปลูกตามแนว เขาให้เหตผลว่า ต้นตาลอายุยืนมาก แข็งแรง ทนไฟ และเมื่อเขาโตจะเป็นแนวที่ชัดเจน นักป่าไม้ก็เถียงว่า มันไม่ใช่พืชประจำถิ่น มันแปลกแยกกับพืชป่าท้องถิ่น.. บางคนเสนอเอาต้นหว้า นับพันๆต้นมาปลูกตามแนว เพราะชาวบ้านสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่นเอาไปทำเครื่องดื่ม นักป่าไม้ก็อธิบายว่า พึงระวังเพราะเมื่อเขาออกผล สัตว์ป่าอาจจะออกมาเก็บกินตามธรรมชาติเขา ก็จะกลายเป็นการดึงสัตว์ออกมาจากป่า ชาวบ้านเองก็จะอดไม่ได้ที่จะมาทำร้ายเขา

นักวิชาการป่าไม้จากเดนมาร์คก็มาช่วยทำโครงการ ฟอร์เจนแมป (เขียนไม่ถูกแล้ว) ความหมายคือ มาแนะนำวิธีการคัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าเพื่อทำเป็นต้นพ่อแม่ที่จะใช้ขยายต่อไป


ที่โครงการนี้ผมรู้จัก “เสือข้าวสุก” ที่ผมเคยเขียนบันทึกใน G2K ลุงฉ่ำที่ยกพื้นที่ตัวเองให้เป็นป่าชุมชนเพราะเกิดสำนึกสูงส่งขึ้นมา ลุงฉ่ำเดินมาหาผมเองที่สำนักงานในพื้นที่ว่าอยากทำป่าชุมชน เพราะแกผ่านการอบรม รู้เรื่องพี่สืบ และชีวิตแกเห็นป่าเปลี่ยนแปลงไปกับตา เพราะลุงฉ่ำคือคนแรกๆที่เข้าไปใช้ชีวิตในป่า ลุงบอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าป่าจะหายไปโล่งเตียนจริงๆ จากที่แกบอกว่า สมัยเข้าไปอยู่ใหม่ๆนั้นมองไม่เห็นแสงอาทิตย์ ไอ้เสือปล้นฆ่าคนก็หลบหนีตำรวจเข้าป่าก็อาศัยข้าวของลุงกิน… ที่นี่ที่ผมรู้จักเศรษฐีสองคนผัวเมียเจ้าของโรงงานทำผ้าใบคลุมรถสิบล้อที่มาใช้ชีวิตชายป่าที่นี่ ยกสมบัติให้ลูกดำเนินงานต่อ ผมเขียนถึงท่านใน G2K เช่นกัน

ที่ผมชอบมากๆคือที่ช่องเย็น บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ น้องนิดเคยขึ้นไปเที่ยวแล้ว ที่นี่คือสุดยอดของป่า เดือนเมษายนร้อนระอุ แต่ที่ช่องเย็นต้องใส่เสื้อกันหนาว นกป่าสารพัดร้องระงม ที่เรียกกันว่า “นกร้องก้องไพร” เห็ดโคนป่าที่อุดมที่สุดขนาดใหญ่ที่สุดต้องที่ป่าแม่เล่ย์ ติดกับกำแพงเพชร เราเคยร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เจ้าของรางวัลโลกสีเขียว ร่วมมือกับ ปตท.ปลูกป่านับร้อยไร่บนเขาแม่กะทู้

อีกมากมาย ที่เราทำงานอนุรักษ์ป่าที่นั่น งานหลักนั้นคือการพัฒนาคนตามแนวชายป่าห้วยขาแข้ง ผมไปตั้งกลุ่มออมทรัพย์ตามหมู่บ้านต่างๆ ทราบว่ากลุ่มยังคงอยู่

ทั้งหมดนี้เป้าหมายที่ซ่อนอยู่ในวัตถุประสงค์ของโครงการคือการสนับสนุนอุดมการณ์พี่สืบ..

แต่ “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” วันหนึ่ง พี่สมพงษ์ เรียกผมไปเล่าให้ฟังว่าเฮ้ย ไอ้บู๊ด มาหาพี่หน่อย พี่พงษ์กรึบเหล้าแม่โขงประจำยกแก้วกระดกเข้าปากหายไปหมดแก้วเลย พี่จะเล่าให้ฟัง สืบน่ะเขาทุ่มเทชีวิตให้กับงานของเขาจริงๆ คนอะไรเข้มแข็ง เอาเป็นเอาตายกับการอนุรักษ์ป่า ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไอ้บู๊ด เองรู้ไหม คืนก่อนที่สืบเขาจะฆ่าตัวตายนั้น เขามากินเหล้ากับพี่ที่นี่ เขาเสียใจมากที่รู้ว่า คนของสืบเองนั่นแหละเป็นคนแอบตัดไม้ในป่า สืบเขาไม่รู้เลยว่าลูกน้องเขาบางคนเป็นเสียเอง ทั้งที่เขาสู้กับเรื่องนี้มาตลอดชีวิต สืบเขาเสียใจมาก….

ผมไม่ได้เขียนบันทึกนี้เพื่อเปิดโปงอะไร แต่ด้วยคารวะพี่สืบ เข้าใจอุดมการณ์พี่สืบและทุกวันนี้ก็สืบสานอุดมการณ์พี่สืบต่อไป แม้ว่าผมจะทำไม่ได้เท่าขี้เล็บของพี่สืบ

เนื่องในวาระระลึกถึงพี่สืบที่ผ่านมา อุดมการณ์ของพี่สืบอยู่ในสำนึกของเราตลอดไป…


Well-Being ของบางทราย

844 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 5:30 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 29843

เพื่อน ชาวอเมริกัน ส่ง New Economic Foundation (nef) มาให้ศึกษา ซึ่งมี Happy Planet Index (HPI) และมีแบบประเมินผล Well-Being ที่น่าสนใจ สำหรับท่านที่สนใจและยังไม่ได้รับ email ผม ก็สามารถดูได้ที่ http://www.happyplanetindex.org/info/about-nef.html


ผมลองทำ Well-Being ของตัวเองออกมาแล้ว เอาค่ามา plot เป็น เรดาร์ กราฟ อิอิ ส่วนใหญ่โดยรวมๆได้ค่าสูงกว่าเฉลี่ยนิดหน่อย มีต่ำกว่าเฉลี่ยบ้าง..

ท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ก็น่าจะพิจารณาเอาไปใช้ได้ ดัดแปลงมาเป็นไทยไทยก็ได้

เล่าถึงเพื่อนคนนี้หน่อย เป็นฝรั่งที่สนใจพุทธศาสนามาก เข้าวัด กินเจมานานตั้งแต่ผมยังไม่ประสีประสา เนื่องจากเขามีครอบครัวเป็นคนหนองคาย และอยู่เมืองไทยมานานจึงรู้ขนบธรรมเนียมไทยเป็นอย่างดี เขาเป็นคนแรกที่สอนคอมพิวเตอร์ให้ผม สมัยปี พ.ศ. 2525 เครื่องที่ใช้เป็น 8 bit มี 16 บรรทัด ผมซื้อ laptop ของ Toshiba สมัยนั้นราคา 80,000 บาท ผ่อนเกือบตาย เครื่องที่ทำงานใช้ยี่ห้อ Super Brain จอเขียวๆ ความจริงเล่นคอมมานานแต่ไม่ได้ก้าวหน้าอะไรเลย พิมพ์แต่รายงานเท่านั้น อีตาเพื่อนผมคนนี้ในห้องทำงานเขาใช้คอมสองตัว ..

กลับมาที่ nef ผมว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจนะครับ หากท่านสนใจศึกษามันลึกๆแล้วได้อะไรเอามาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ


เด็กใน Superstore

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 กันยายน 2010 เวลา 23:39 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3873

ในร้าน Superstore ใหญ่โต มีทุกอย่างที่การทำธุรกิจเห็นว่าจะทำเงินได้ มีสินค้าต่างประเทศมากมายสินค้าเหล่านั้นล้วนบ่งบอกว่ามีคุณค่า สามารถแจกแจงได้ มีสถาบันรองรับ ศูนย์อาหารก็คัดสรรมาล้วนมีชื่อเสียงมาจากทุกภาค ทุกประเภท อยากได้อะไร อยากกินอะไร เดินเข้ามาแห่งนี้ คุณจะได้ทุกอย่าง เพียงแต่…..เพียงแต่… เพียงแต่คุณมีเงินเท่านั้น เราเนรมิต ทุกอย่างให้คุณได้

มุมหนึ่งของศูนย์อาหารมีตู้เกมส์ หากคุณมีเหรียญ คุณก็สามารถหาความสนุกได้

ผู้ใหญ่คนไหนจะมาเล่นเกมส์ เห็นมีแต่เด็ก กับคนที่ดูเหมือนไม่มีงานทำ

เกมส์ ที่เล่น มีแต่ความรุนแรง เอาชนะกันให้ได้ ยิงกัน แทงกัน ฆ่ากัน เล่นวนไปวนมาไม่รู้กี่รอบ

มีคำถามมากมายที่เกิดขึ้น….


นึกไปถึงความรุนแรงในบ้านเรา แม้แต่ปล้นแบงก์ ปล้นร้านทอง ผู้ร้ายบอกว่าเอาตัวอย่างมาจากทีวี แล้วเด็กที่นั่งเล่นเกมส์รุนแรงเหล่านี้โตขึ้นจะเป็นอะไรหนอ…

บ้านเมืองแห่งนี้มีใครมาตรวจสอบดูแล

สิ่งแวดล้อมแบบนี้ไม่ได้ซ่อนตัวอยู่ในสถานที่หรูหรา แต่โจ่งแจ้ง ชัดเจน

เห็นพ่อแม่พาเด็กมากินข้าว แต่เมื่อเด็กเห็นเกมส์ก็รบเร้าพ่อแม่ให้ไปดู.. ผมนึกว่าหากผมเป็นพ่อแม่เด็กคนนั้นผมจะอธิบายลูกอย่างไร และหากเด็กยังยืนยันจะเข้าไปดูไปเล่น ไม่งั้นก็อาละวาด จะทำอย่างไร….

ตรงข้าม หากเปลี่ยนเกมส์รุนแรงแบบนั้นเป็นเกมส์ที่สร้างสรรค์ เป็นนิทานดีดี เป็นเรื่องการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ จะเป็นอย่างไร จะขายบริการไม่ได้หรืออย่างไร…

ผมเดินออกจากร้าน Superstore ธุรกิจเงินพันล้านที่มีมุมหนึ่ง กำลังสะสมความรุนแรง….

มุมหนึ่งของประเทศมีคนไม่กี่คนคิดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก กับสังคม กว่าจะได้งบประมาณมาสนับสนุน กว่าจะลงมือทำ กว่าจะได้รับความร่วมมือ กว่าจะเกิดการตกผลึกทางสำนึก เบ้าหลอมนี้มันไม่ทันกันกับสิ่งแวดล้อมความรุนแรงที่แฝงอยู่ในธุรกิจและอื่นๆอีกมากมายทั่วประเทศนี้…


รถติด

41 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 กันยายน 2010 เวลา 22:53 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1189

วันนี้เดินทางไปเยี่ยมคุณแม่ คนแก่ โดนอะไรนิดหน่อยก็ล้มหมอนนอนเสื่อกัน

ขับรถมาถึงปากช่อง โห รถติดชั่วโมงกว่า กระดึบ กระดึบไปได้ไม่ถึง 100 เมตร

เลยหันหัวกลับเข้าไปเขาใหญ่ และใช้เส้นทางเลาะชายเขาไปออกมวกเหล็ก

ผ่านร้าน เป็นลาวที่เพิ่งตีแตก ในรายการตีแตกไปเมื่อคืน

รถเก๋งจอดเต็มหน้าร้านไปหมด

ถนนกำลังซ่อมฝนก็ตก แต่ก็ดีกว่ารถติดนิ่งเฉยๆบนถนนมิตรภาพปากช่อง

กว่าจะมาถึงที่ ค่ำเลย


ชฎาฟ้า

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 กันยายน 2010 เวลา 0:49 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2782

ครั้งหนึ่งผมไปกราบอัฐิหลวงปู่ขาว พบพระอุปัฏฐากหลวงปู่ ได้คุยกัน

ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยที่หลวงปู่มีชีวิตนั้น ในหลวง พยายามจะมากราบหลวงปู่ ส่งผู้แทนพระองค์ มาทาบทามท่าน..

มาหลายครั้งหลวงปู่ก็ไม่ตอบตกลงซักที หลายปีต่อมาหลวงปู่ไม่ค่อยพูดจากับใคร เอาแต่ ส่งเสียงอือ หากแสดงความเห็นด้วยหรือตกลง แล้วผู้แทนพระองค์ก็มากราบหลวงปู่อีก ครั้งนี้ได้เรื่อง หลวงปู่ส่งเสียงในลำคอว่า “อือ” แล้วในหลวงก็เสด็จมากราบหลวงปู่ ข้าราชการและชาวบ้านล้นวัด ผู้ติดตามเป็นทหารเสียมากกว่า ครั้งนั้นในหลวงทรงชุดทหาร มานั่งกราบหลวงปู่ใกล้ๆ หลวงปู่ไม่รู้เรื่อง คุยอะไรไปเรื่อยเปื่อย ผู้แทนพระองค์พยายามบอกหลวงปู่ว่าท่านที่นั่งอยู่ตรงหน้าหลวงปู่คือในหลวง หลวงปู่ก็ไม่สนใจ เมื่อมีคนมาเยอะท่านก็พูดให้ศีลให้พรทุกคน จนผู้แทนพระองค์เข้าไปกราบหลวงปู่ดังๆว่าท่านที่นั่งตรงหน้านั่นคือในหลวง

หลวงปู่หันมามองแบบสงสัย แล้วถามว่า ในหลวงหรือ ทำไมไม่ใส่ชฎามาด้วย เรื่องของเรื่องคือ หลวงปู่นั้นมีชาติกาลเป็นชาวไร่ชาวนา ไม่ได้เรียนหนังสือรู้จักในหลวงจากรูปในปฏิทินเท่านั้น และในปฏิทินนั้น ในหลวงทรงชฎาด้วย….

พระอุปัฏฐาก เล่าต่อว่า ในหลวงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ มีอยู่ช่วงหนึ่งในหลวงทรงถามว่า ..ประชาชนทั่วสารทิศกราบไหว้หลวงปู่ หลวงปู่มีอะไรดีหรือจึงมีประชาชนกราบไหว้มากมายเช่นนั้น หลวงปู่ตอบในหลวงว่า เออ เขา “หอม” อาตมาน่ะซี เขาหอม “ศีล” อาตมา ศีลนั้นมัน “หอมทวนลม” นะ …. พระอุปัฏฐากกล่าวกับผมว่า ในหลวงได้ยินเช่นนั้นก็ก้มลงกราบหลวงปู่เป็นนานทีเดียว…


แสงฝน

209 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 กันยายน 2010 เวลา 16:19 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3687

เห็นฝนตกไกลๆ ขณะที่พระอาทิตย์ยังส่องแสง เวลาแบบนี้หลายท่านคงเคยเห็นว่ามันสวยจริงๆ

“อย่าปล่อยให้ความสวยงามของธรรมชาติลอยนวล”

ลงมาจากรถซะดีดี หาหม่อง(สถานที่)เหมาะๆถ่ายรูปเก็บไว้ อิอิ ถ่ายรูปซะบานเบอะเลย บนถนนกุฉินารายณ์กับโพนทองนั้น สองข้างทางมีแต่ไร่อ้อยเพราะโรงงานน้ำตาลมิตรผลอยู่ใกล้ๆที่นี่ ยอดใบไม้ด้านล่างคือยอดอ้อยนะครับ ไม่ใช่หญ้า ชาวบ้านผ่านไปมา งง งง อีตาเฒ่านี่มาถ่ายอะไร.. ยืนยิ้มอยู่คนเดียว บ้ารึเปล่า อิอิ แม้วัวสองตัวอยู่ใกล้ๆยังหยุดกินหญ้า หันหน้ามาเบิ่งเรา ห้า ห้า ห้า…

อยากได้รูปสวยๆมาฝากชาวลาน ดูภาพธรรมชาติกันบ้างน่ะครับ


แต้มสีท้องฟ้า

400 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 กันยายน 2010 เวลา 16:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5774

ระหว่างที่เพลินกับการถ่ายรูปท้องฟ้าทางตะวันตก นานพอสมควรก็จะเดินทางต่อ จอดรถไว้ข้างทางซึ่งมีต้นไม้ครึ้มไปหมด แต่ลึกเข้าไปสัก 7 เมตรก็โล่งเตียนเป็นแปลงอ้อยบ้างมันสำปะหลังบ้าง ก่อนขึ้นรถ เออ ปวดฉี่ ไปปล่อยออกซะก่อนขึ้นรถดีกว่า จึงเดินไปหลังแนวไม้ ดูท้องฟ้าทางตะวันออก โฮ…..นั่นมีทั้งฝนกำลังตกไกลๆและรุ้งกินน้ำ เหมือนแต้มสีท้องฟ้า เมฆก้อนเป็นกลุ่มๆ

ทำธุระเสร็จก็เอากล้องมาเก็บรูปสวยนี่ซะ

บางทีเราก็เห็นโดยบังเอิญนะ


เมื่อฟ้าชักธงชาติ

538 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 กันยายน 2010 เวลา 15:08 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7161

แม่แต่ฟ้ายัง ชักธงชาติ

ไอ้อุบาทที่ไหนจะมาล้าง

ฝันไปเถอะ ฝันไป ไม่มีทาง

ทุกก้าวย่าง หย่อมหญ้า ลุกมาสู้

มันจาบจ้วงล้วงลึก ถึงบึ้งก้น

เขาก็คน เราก็คน รู้กันอยู่

อ้างประชาธิปไตย ธิปตู

แม้นกหนู ก็รู้ว่า คืออะไร

ประชาธิปไตย คือไพ่ ใบแรกแรก

แล้วสอดแทรก ทำลายร้าง(คือ) ยุทธศาสตร์ใหม่

(มาเถอะ) ทุกสาขาอาชีพ ร่วม รวมไทย

ชักธงไทย ไตรรงค์สะบัด ซัดกับมัน

—–

เห็นรูปนี้แล้วอยากจะเขียนอะไรสักอย่าง เลยร่ายมาอย่างนี้ เดินทางเข้าขอนแก่นเมื่อวานก็แวะเข้าข้างทางมาตลอดเพื่อถ่ายรูปเมฆไปตามเรื่อง มาถึงยางตลาด เห็นเมฆตรงหน้าที่จะเข้าขอนแก่นเริ่มปรากฏสี ภาวนาว่า อย่าเพิ่งหนีไปนะขอหาทางจอดรถดีดีก่อน อยากถ่ายเก็บไว้ ขับรถไปก็มองหาสถานที่เหมาะ ผมรำคาญเสาไฟฟ้าข้างถนนเสียจริง เพราะดูมันเกะกะในกรณีแบบนี้ ใจก็กลัวว่า เมฆสวยจะหนีหายไปเลยเห็นทางยูเทิน ข้างหน้า เอาหละ เอาอย่างงี้แหละ ไปจอดตรงยูเทิน ก็อยู่กลางถนนนั่นแหละ แหมวิวพอดีเลย ลงจากรถเปิดไฟฉุกเฉิน คว้ากล้องลงมาถ่าย ฉับๆ ฉับๆ ไม่นับเลย ได้มาสักยี่สิบรูปรถที่วิ่งเข้าขอนแก่นก็วิ่งไป เราไม่ได้ขวางอะไร รถที่วิ่งมาจากขอนแก่น ก็วิ่งไป เราไม่ได้ขวางอะไร ทันใดนั้น เสียงปี๊ดๆดังมาข้างหลัง อิอิ มีรถคันหนึ่งจะเลี้ยวยูเทิน เราวิ่งไปขอโทษขอให้เขาแซงไปเลย แล้วฟ้าสีสวยก็ค่อยๆจางหายไป ….



Main: 1.8889961242676 sec
Sidebar: 0.44995594024658 sec