คิดแบบญี่ปุ่น
อ่าน: 2950ผมทำงานพัฒนาชนบทก็ชื่นชมนโยบาย OTOP ไม่ว่าใครจะริเริ่มหรือสนับสนุน แต่ผลของมันอย่างน้อยที่สุดก็เป็นโอกาสให้ชนบทลืมตาอ้าปากได้บ้าง แม้ว่าหลายอย่างดูจะเพี้ยนๆไป ผมพอรู้เรื่องมากขึ้นบ้าง ก็เพราะคนข้างกายมีส่วนในการสนับสนุนกิจกรรมนี้ แม้ว่าจะเผชิญระบบการเมืองที่มีธุรกิจแอบแฝงมากระทำให้เสียความรู้สึกไปบ้าง เราก็พยายามใช้เงื่อนไขที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านเท่าที่จะเป็นไปได้
เธอไม่เคยไปญี่ปุ่น แต่ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมาร่วมมือกับเธอเพื่อศึกษา OTOP ในประเทศไทย ส่วนตัวผมแอบนินทาว่า เออ ดูประเทศชาติเขาซิ(ญี่ปุ่น) เขาเป็นต้นตำหรับ แต่ไม่ได้หยุดนิ่งเลย ส่งนักวิชาการตามติดไปตลอดว่า ประเทศไหนเอา OTOP ไปใช้บ้างแล้วไปถึงไหน ซึ่งมีผลสองด้านหรือมากกว่า เช่น เขาเอาองค์ความรู้ที่เขาได้ย้อนกลับไปประเทศเขาเพื่อพัฒนายกระดับสินค้าของเขาให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง สอง เขาเอาองค์ความรู้นี้ไปขยายต่อในประเทศอื่นๆต่อไปที่ญี่ปุ่นไปมีอิทธิพลอยู่ เช่น ในกลุ่มประเทศอาฟริกา ที่นักวิชาการญี่ปุ่นมาชวนคนข้างกายเดินทางไปสัมมนาปลายปีนี้
ผมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลายประเทศในด้านการพัฒนาชนบท กับญี่ปุ่นนี้มีแง่คิดมากกว่าทุกประเทศ เขาฉลาดและได้เปรียบเสมอ อย่างที่เราคิดไม่ถึง หรือไม่ได้คิด เพราะมันมาพร้อมกับคำว่าวิชาการ การช่วยเหลือ หรือเงื่อนไขของการกู้เงิน ทำไมคนของเขา ระบบคิดของเขา นโยบายของเขา… จึงทำทุกอย่างให้ทุก “เยน”จะต้องตอบสนองกลับไปแผ่นดินแม่ของเขา
ส่วนหนึ่งผมคิดเอาเองว่าระบบคิดของเขา เบ้าหลอมของการคิดของเขาปลูกฝังให้คนของเขาทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติเขา อย่างมีประสิทธิภาพ เขาเชิญนักวิชาการเราไปพูด และทุกคำพูดเขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และเป้าสุดท้ายของเขาเพื่อธุรกิจในแง่มุมต่างๆ
ผมจำได้ว่าเคยอ่านเอกสารชิ้นหนึ่งที่เล่าถึงวิวัฒนาการ “ซาวอะเบ้าท์” ที่ยุคหนึ่งเฟื่องสุดขีดที่หนุ่มสาวจะต้องมีไว้ใช้ แม้ปัจจุบัน จุดเกิดมาจากท่านประธานบริษัทโซนี่เดินทางไปอเมริกา ระหว่างทางรถที่นั่งไปนั้นหยุดเติมน้ำมัน และที่ปั้มน้ำมันนั้น ท่านประธานเห็นคนผิวดำที่ทำหน้าที่เติมน้ำมันทำงานไปด้วยแต่ก็ยกทรานซิสเตอร์ ขนาดใหญ่แนบหู เพราะต้องการฟังเพลงที่ชอบตามวัยรุ่นทั่วโลกที่คลั่งไคล้เพลงที่ตัวเองชอบ เท่านั้นเองความเป็นนักธุรกิจของท่านประธานบริษัทโซนี่ ก็คิดออกว่า ทำไมเราไม่ทำเครื่องมือเล็กๆที่ใช้หนีบหูและฟังเพลงได้ตลอดเวลาแม้ขณะทำงานโดยไม่ต้องใช้มือถือ… เมื่อกลับไปบริษัทก็โยนโจทย์นี้ให้วิศวกรคิดออกมา และเพียงไม่นานเท่าไหร่ ซาวอะเบ้าท์ก็ออกสู่ตลาดและขายดิบดีไปทั่วโลก….
นี่คือการสั่งสมวิธีคิดแบบญี่ปุ่นใช่ไหม นี่คือการตั้งโจทย์ขึ้นมาใช่ไหมแล้วโยนให้ผู้เชี่ยวชาญไปคิดต่อ วันเวลาผ่านไป ก็พัฒนาเครื่องเล่นไปมากมาย และทั้งหมดก็เป็นธุรกิจที่ขายได้เอาเงินเข้าประเทศได้ทั้งหมด
เมื่อสองเดือนก่อน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมาหาคนข้างกายเพื่อปรึกษาหารือเรื่อง OTOP และชักชวนไปอาฟริกาไปสัมมนากัน แลกเปลี่ยนกันกับ OTOP ที่นั่น สิ่งสุดท้ายที่นักวิชาการท่านนั้นมอบให้เธอคือ กล่องขนมกล่องหนึ่ง ผมดูก็ว่ามันสวย สีน้ำเงินเข้ม ดูขลัง ยิ่งมีเครื่องหมายมหาวิทยาลัยประทับที่หน้ากล่อง ก็ยิ่งดูมีคุณค่า มีระดับ มีความหมายอะไรทำนองนั้น ผู้ให้ก็เต็มใจที่มอบให้ ผู้รับก็รู้สึกดีที่เป็นสิ่งของที่มหาวิทยาลัยมอบให้
เราแกะกล่องออกดู ทราบว่านี่คือขนมเล็กๆที่ถูกจัดการเรื่องหีบห่ออย่างดี ดูแล้วดี นักวิชาการท่านนั้นบอกว่า นี่คือสินค้า OTOP จากหมู่บ้านหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยไปสนับสนุนให้มีมาตรฐานแล้วก็สั่งทำในนามของมหาวิทยาลัยเป็นของชำร่วยของมหาวิทยาลัย….
ผมหละ….สุดยอดจริงๆญี่ปุ่นนี่ ชาวบ้านได้ทำงาน ได้รายได้ มหาวิทยาลัยได้ชื่อสนับสนุนชุมชน ประเทศชาติได้….ได้ ได้ ได้…..
แนวคิดนี้ทำให้คนข้างกายเห็นว่า มีงานต้องทำอีกเยอะเลยนี่…. OTOP บ้านเรามากมาย หากมหาวิทาลัยจะทำเลียนแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากสถาบัน หน่วยงานรัฐใดๆจะทำ ก็มีแต่เรื่องได้กับได้
OTOP บ้านเรามากมายดูที่นี่ซิ http://www.otop5star.com/search-th.php?cat=14 แต่ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปในระดับนี้