อ่านบันทึกพ่อครูบาฯ ที่ชื่อ R-ชีวะแล้วคันไม้คันมือขึ้นมาเลยหยิบเอามาบันทึกที่นี่
ผมมีงานเล็กๆเพื่อนที่สถาบันปรีดีพนมยงค์ส่งไปให้ช่วยกันวิจารณ์ “นักวิจารณ์หนัง” เล่าสักหน่อยคือ สถาบันปรีดีฯ (อยู่ที่ไหนลองค้นเอง) มีกิจกรรมทางสังคมอยู่บ่อยๆ ล้วนเป็นกิจกรรมประเทืองปัญญาทั้งสิ้น เช่น เอาหนังดีดีมาฉาย แล้วเชิญผู้สนใจไปดู ทั้งฟรีและเก็บเงินสมทบกองทุนบ้างเป็นครั้งคราว ที่ผ่านมาเชิญนักวิจารณ์หนังไปดูแล้ววิจารณ์หนังส่งสถาบัน เขาจะประกวดการวิจารณ์หนัง เมื่อมีคนดูแล้วร่วมวิจารณ์ เขาก็คัดเอามาจำนวนหนึ่ง แล้วก็ส่งไปให้เครือข่ายผู้ใกล้ชิดสถาบันนี้ช่วยวิจารณ์ผู้วิจารณ์หนังอีกทีแล้วรวมคะแนน ประกาศให้รางวัล
มีหนังเรื่องหนึ่งที่ผมชอบสาระและมุมมองของผู้วิจารณ์ และน่าจะหยิบมาพิจารณาในกรณี R-ชีวะ ได้ หนังเรื่องนี้เล่าถึงจอมยุทธ์ นามว่า ตงจินเหมา ฉายาเขาคือ กระบี่ใต้ เขาเป็นหนึ่งในแผ่นดิน ทุกวันจะมีจอมยุทธ์ต่างๆมาท้าประลองเพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่ง ตงจินเหมาไม่เคยแพ้ใครและไม่มีใครรอดจากคมดาบเขา เขาภูมิใจลาภยศสรรเสริญ
จนกระทั่งเขามาพบนักพรตผู้สามารถเอาชนะตงจินเหมาได้ แต่ไม่ได้ชนะด้วยปลาบดาบ แต่ชนะด้วยคำพูดที่ให้สติ คิด ใตร่ตรอง ทบทวน ชั่งน้ำหนัก รู้ผิดชอบชั่วดี ฯ ตงจินเหมาแพ้อย่างราบคาบแล้วต้องติดตามนักพรตไปสามปี ช่วงเวลาสามปีนั้นนักพรตขัดเกลาจนตงจินเหมาค้นพบความสุขที่แท้จริงในชีวิตว่าหาใช่การเป็นหนึ่งในจอมยุทธไม่
สังคมเราต้องการหนัง ละคร ที่ให้สติกับคนเช่นนี้ มันอาจจะไม่สามารถทำให้ทุกคนเปลี่ยนได้ทั้งหมด แต่อาจจะมีบางคนได้สติ มากกว่าจะไปเสริมให้คนมุ่งมั่นเอาชนะคะคานกันด้วยเรื่องที่เป็นทุกข์
สังคมเรามีนักพรต หรือบุคคลที่คล้ายนักพรตเช่นในหนังเรื่องนี้ไหม ผมว่ามีและมีมาก แต่สังคมไม่ได้สำเหนียก บุคคลไม่ได้สำเหนียก R-ชีวะไม่ได้สำเหนียก ผมเชื่อว่าไม่มีวิธีการใดเพียงวิธีการเดียวที่เป็นยาวิเศษ แต่อาจจะช่วยกันทุกวิธีการแต่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน บูรณาการกัน ทุกความคิดเห็นมีประโยชน์ นำมาไร่เรียงลำดับก่อนหลังการบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ผมเห็นว่านักพรตใช้เวลาสามปีกล่อมเกลาตงจินเหมา R-ชีวะอาจจะมากกว่านั้น เพราะมีหลายปัจจัยที่หล่อหลอมจิตวิญญาณเขาอยู่แล้วกระบวนการปรับเปลี่ยนนั้นไม่สามารถเข้าไปปรับเบ้าหลอมนั้นๆได้ สิ่งแวดล้อมทางครอบครัว สังคม เพื่อน สื่อสารมวลชน สิ่งตีพิมพ์ สังคมรอบตัวเขา ภาพที่เป็นแม่พิมพ์ทางสังคม ฯลฯล้วนมีส่วนเป็นเบ้าหลอมให้ R-ชีวะและเยาวชนอื่นๆมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์มากมาย นี่คือผลลัพธ์ของสังคมที่เคลื่อนตัวไป นี่คือผลลัพธ์ของความเจริญ
การเข้าค่ายสามวันห้าวันช่วยได้บ้าง การใช้ระเบียบลูกเสือ(มีอาจารย์บางท่านเสนอ)ก็อาจมีส่วนดีบ้าง
เวลาเราพูดถึงความเจริญ เรามักจะหมายถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความทันสมัย ซึ่งผมเองก็สนับสนุน แต่นับวันผมจะคิดต่างซะแล้วผมว่าเราน่าพิจารณาชะลอความเจริญทางด้านนี้ แล้วทุมเททรัพยากรไปที่การฟื้นฟู “ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”
หากใครเสนอแนวนี้ก็เท่ากับเป็นจระเข้ขวางน้ำ ก็คิดต่างได้ไม่ใช่หรือครับ
บางทีผมนั่งริมคันนาพิจารณาโลกของชุมชนกับโลกของสังคมทุน แล้วเห็นว่าการที่เราพัฒนาการเข้าถึงสัจธรรมทางธรรมชาติที่เรียกว่าการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆนั้นอาจไม่จำเป็น ชะลอลงมาได้ไหม
คุณอาจจะค้นพบแหล่งพลังงานไม่รู้จบมาทดแทนน้ำมันได้ แต่ โลกเรายังทะเลาะกันและจ้องทำลายล้างกัน ช่วงชิงการเหนือกว่าในทุกๆด้าน มีแต่จะพาโลกไปสู่จุดจบ แล้วเทคโนโลยีจะมีความหมายอะไร
ตรงข้าม ผมยิ่งเห็นแนวคิดของ อี เอฟ ชูเมกเกอร์ ที่กล่าวถึง Small is Beautiful ที่กล่าวถึงเทคโนโลยีระดับกลาง ซึ่งเขียนไว้นานมากแล้วเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า
ผมไม่มีทางออกที่วิเศษเลิศเลอ ผมไม่ใช่นักพรต และไม่ใช่ตงจินเหมา ก็แค่คนทำงานชนบทคนหนึ่ง แค่ส่งเสียงมาบ้างเท่านั้น
สงสารเห็นใจนักการศึกษาคิดกันหัวจะแตก แต่ระบบก็รัดรึงให้ทำได้เพียงแค่นั้น อาจจะมีคนอย่าง ดร.อาจอง ฉีกวงการไปเปิด R-ชีวะสัตยาไส แถวดงหลวงบ้างก็ได้ อยู่กับภูเขา อยู่กับชนบท อยู่กับธรรมชาติบ้าง ออกไปคลุกคลีกับชาวบ้านทุกแง่มุม แล้วกลับเข้ามาห้องเรียนครูกับศิษย์คุยกันว่า สถาบัน R-ชีวะ จะมีส่วนพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือการเกษตรทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร เป็นอาชีวะเพื่อประชาชน ไม่ใช่อาชีวะเพื่อเป็นหนึ่งในยุทธจักร…..