ช่างมันเต๊อะ
อ่าน: 5175
ฝนแล้ง น้ำท่วมรึ…
เรื่องเก่าที่วนเวียนไปมา ให้เห็นบ่อยๆ
ช่างมันเถอะ เดี๋ยวก็เงียบเสียงไปเอง
…..
ฝนแล้ง น้ำท่วมรึ…
เรื่องเก่าที่วนเวียนไปมา ให้เห็นบ่อยๆ
ช่างมันเถอะ เดี๋ยวก็เงียบเสียงไปเอง
…..
เขามาจากไหนเราไม่รู้ มาเกาะนิ่ง ที่กิ่งต้นฝ้ายคำ หลังบ้าน
กางปีกอวดเราเฉยๆ
แสงเกือบหมดแล้วแต่ก็ถ่ายรูปเขาเก็บเอามาฝากกัน
เอาเวลาไปทุ่มเทกับงาน ประเด็นที่คั่งค้างในลานเลยไม่ได้เขียนสักที แค่ แหย่ๆ เข้ามา โผล่หัวมาทักทายแล้วก็หายต๋อมไป มาบอกกล่าวกันนะครับ
อีกสองเดือนผมต้องออกจากดงหลวงเพราะหมดสัญญา แล้วไปลาวสักสองเดือนโดยประมาณ เพราะไปร่วมทีมทำ Feasibility study ให้กับโครงการชลประทานที่นั่น หลังจากนั้นว่ากันใหม่..
รูปที่เห็นเป็นทางเข้าไปสู่ อ.สะเมิงเหนือ คราวที่ไปย้อนอดีตพื้นที่เกิด(การงาน) ดีใจที่ป่ายังสมบูรณ์ เขียวขจีไปหมด แต่เป็นป่าฟื้นตัวไม่ใช่ป่าเดิมๆเพราะถูกสัมปทานไปนานแล้ว
เราไปเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและวิถีชีวิต ตรงนี้อยากบันทึกไว้ว่า สามสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่บริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างสะเมิงนั้น เป็นอย่างไรบ้าง….แต่คงต้องใช้เวลาสักหน่อย..
รอไม่ไหวก็มาเขียนแบบด่วนๆๆนี่แหละ
ประการหนึ่งที่ขัดหูขัดตาและแปลกแยกมากๆคือ คนข้างกายจองที่พักเป็นรีสอร์ตที่บ้านแม่แพะราคาไม่แพง คืนละ 500 บาท เราก็ว่าดี ไม่รบกวนชาวบ้านคราวนี้ไปแบบปิดๆตัวเหมือนแอบไปดูพื้นที่เดิม จึงไม่อยากแสดงตัวว่าเป็นใครในอดีต
กว่าเราจะไปถึงที่พักเล่นเอางงมาก เพราะถนนหนทางลาดยางแบบถนน ส.ป.ก. กว้าง 4 เมตร ซึ่งแคบสำหรับรถสวนกัน อีกคันอาจจะตกไหล่ทางหากไม่เก่งจริงๆ และไหล่ทางนั้นหลายแห่งมันไม่มี มันเป็นร่องลึกไปเลย
เราไปถึงที่พักก็เข้าไม่ถูก ขับไปอีกทาง จนเราเองรู้สึกว่า มันไม่น่าจะใช่รีสอร์ต ถอยกลับก็ลำบากเพราะถนนแคบ พบเจ้าของก็บอกว่าขึ้นอีกทางหนึ่ง…
หากไม่ใช่รถ 4WD ก็ไม่ได้แน่นอน เราพบว่าที่พักอยู่บนดอยสูงที่มีป่ารอบ นึกในใจ ออกโฉนดได้ไงฟะ.. คุยไปมา คุณผู้ชายเคยทำงานโครงการหลวงจึงคุ้นเคยพื้นที่และรู้ข้อมูลพื้นที่ดีจึงได้ที่ดินตรงนี้มา เอาพี่สาวที่ทำงานหนังสือเกี่ยวกับยายยนต์ในกรุงเทพฯมาช่วยกันลงทุน แขกที่มาก็เป็นคนใกล้ชิดมาอุดหนุนกัน แม้จะมี web แต่ก็ไม่ง่ายนักที่ใครจะตัดสินใจเข้ามาสะเมิงเพื่อไปพักที่นี่ ยกเว้นหลง เข้าใจผิดจริงๆ หรือไม่ก็พรรคพวกเขานั่นแหละที่ชอบพอแล้วก็พากันมา
สภาพอาคารก็ดูมีความพยายามทำให้เป็นแบบ jungle resort ทุนน้อย แต่ฤดูนี้มีความชื้นมากๆๆ ลูกสาวบอกว่า ผ้าห่มชื้นมาก เธอไม่ชอบเลย…
มีกลุ่มหนึ่งมาก่อนหน้าเรา เจ้าของบอกว่า เป็นทีมงานทำหนังสือประเภทเดียวกันจากกรุงเทพฯ มากัน ชายสอง สาวสี่คน เอารถที่เขาเรียก AT ผมก็ไม่รู้ว่าเต็มๆเรียกอะไร เป็นคล้ายมอเตอร์ไซด์แต่มี 4 ล้อที่ใช้ลุยป่า.. ขับเล่นในป่ากัน..??
ถึงเวลาทานข้าว ห้ามสั่งว่าอยากกินนั่นกินนี่ ทำอะไรทุกคนกินเหมือนกันหมด ไม่ว่าแขกมาจากไหนๆก็ตาม ห้องหับพยายามทำเหมือน รีสอร์ทแถบเขาแผงม้า เขาใหญ่ แต่ไม่ดีเท่า แต่ความชื้นนี่มากจริงๆ
เมื่อกินข้าวเสร็จ ไม่ได้ไปไหนเราก็นั่งคุยกับครอบครัวเราเอง แต่ทีมนั้นซิ วัยรุ่นจริงๆ เอามือถือมาเปิดเพลงแล้วมีเครื่องมือขยายเสียงให้ดังขึ้น เป็นเพลงฝรั่งทันสมัยสลับยุค 60’s บางเพลงก็เป็นเพลงชอบของเราแต่ลูกสาวบอกว่า ไม่เคยได้ยิน อิอิ
เรากลับเข้าห้องไปจัดการเรื่องรูปแล้วจะพักผ่อนเพราะเช้ากะจะไปชมโครงการหลวงแม่ตุงติง และขับรถชมพื้นที่เดิมๆของเรา
เสียงเพลงยังดัง และกลายเป็นการเปิดจากเครื่องเล่นเพลงของรีสอรท์ และเพลงในแนวเดิม เราหงุดหงิดทันที
เพราะมาป่าแต่ไม่รู้จักป่า ไม่สัมผัสป่าเลย หอบเอาเสียงจากในเมืองมาเสพในป่า โถเพลงแบบนี้ฟังเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เสียงป่านี่ซิ มาถึงที่แล้วไม่เงี่ยหูฟังเสียงป่าคุยกันเลย….
แล้วกลับไปบอกเพื่อนๆว่ามานอนในป่าได้อย่างไร…
พาลนึกถึง ฉิ่งฉับทัวร์ แหกปากร้องเพลงในรถบัสดังลั่น กินเหล้าด้วย ไปถึงที่ก็ถ่ายรูปแล้วขึ้นรถแหกปากร้องเพลงต่อ….
ไม่รู้จักสถานที่นั่นๆเลย ไม่เข้าใจประวัติสาสตร์ ความเป็นมาเป็นไป..
เราจะเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่าไงดี หรือเราคิดมากไป หุหุ
ขอนแก่นมีฝนตกพรำๆตลอด ต้นไม้ข้างบ้าน กี๊บก๊าบกันใหญ่
ชูช่ออ่อนใบก่อนไหวตามลม
นกระจิบเล็กๆมาหาหนอนหนังสือ เอ้ย หนอนต้นพืช เป็นอาหาร
กะรอกข้างบ้านไปหลบมุมที่ไหน
นกกะปูดหายเงียบ นานๆส่งเสียงมาทีหนึ่ง
และร้องรับกันเป็นทอดๆ
สูงกว่าหน้าจอคอมพ์ ก็เป็นหน้าต่าง
ที่เปิดออกไปสัมผัสสีเขียวของใบไม้ที่ฉ่ำน้ำฝน
.. ทำงานอย่างผ่อนคลายในวันหยุด ..
——–
J ขอยืมรูปฝนที่ภูมโนรมย์มุกดาหารมาประกอบ
J
ผู้ล่า..
ฝนตกหลายวันที่ผ่านมา น้ำท่วมหลังบ้าน
ที่มีลักษณะเป็นบึงระบายน้ำของเมืองขอนแก่น
มีชีวิตอีกวงจรหนึ่งปรากฏ หอยเชอร์รี่มาไข่ตามโคนต้นไม้ ตามหลัก
มีปลาธรรมชาติมาตามน้ำ และมีนกกินปลามาหาปลากิน
เป็นห่วงโซ่อาหาร เป็นธรรมชาติ
เมื่อมีสิ่งนี้ ก็มีสิ่งนั้นๆ
เมื่อสิ่งนี้น้องลง หมดลง สิ่งนั้นก็ห่างหายไป
….
กลับบ้าน…
สมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง
ไม่มีถนนเช่นนี้ ไม่มีรถเช่นนี้ ทุกคนต้องเดินเท้าจากบ้านไปโรงเรียน
แล้วแต่บ้านใกล้ บ้านไกล
พวกเราต้องเดินทาง ไป-กลับ ประมาณ 9 กม.
สนุกไปกับเพื่อนและเล่นกันไปตลอดทาง
ต่อมา ดีหน่อยก็มีจักยาน แต่ก็น้อยคนที่จะมีและได้ใช้
หากเป็นฤดูฝนนอกจากเดินแล้วมือหนึ่งถือกระเป๋าใบใหญ่
อีกมือต้องหิ้วรองเท้าเก่า ซีด เอาไปใส่ที่โรงเรียน ..ถุงเท้ามักจะมีส้นขาด และเหม็น
รูปนี้ถ่ายที่เส้นทาง โพนทองไปกุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์
เด็กนักเรียนกำลังกลับบ้าน…
ความสวยคืออะไร…
ในคัมภีร์พุทธฉบับหนึ่งกล่าวไว้ว่า
พระจันทร์สวย.. จริงๆแล้วมันไม่ได้สวย.. แต่มันก็สวย
ชีวิตเราวนเวียนอยู่กับรูปธรรมที่เราสัมผัสได้..และสุข ทุกข์กับมัน
ทุกวันนี้ผมก็หลงระเริงกับโลกของรูปธรรมนี้จริงๆ
ดุจเด็กน้อยที่เห็นถุงขนมโปรด..
เฮ่อ…งานชิ้นใหญ่ สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว ตาฟ้าฟางไปเยอะเลย เพราะเพ่งดูตัวหนังสือตลอดหลายสัปดาห์ ต้องไปเปลี่ยนแว่นซะละมั๊ง
เหลือส่งให้เจ้านายตัดสินใจ
ได้ทบทวนงานเขียน ก็ดีเหมือนกัน เห็นตัวเองหลายมุม
ยังนึกเสียดายว่า หากเพื่อนร่วมงานเขียนกันหลายๆคนคงจะได้อะไรดีดีเยอะ เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป มีรายละเอียดที่แตกต่าง อ่านไปอ่านมา เห็นว่า หากเราเป็นผู้บริหารควรจะสัมมนาทบทวน การออกแบบโครงการในอนาคต เพราะสังคมเปลี่ยนไปเยอะ จะมาคิดแบบเก่าๆไม่เหมาะเสียแล้ว
ขึ้นภาคเหนือคราวที่ผ่านมาฝ่าฝนไปตลอด ก็มันช่วงฤดูฝน เป้าหมายของเราคือจัดการเรื่องที่ดินให้ก้าวหน้าหน่อย ซึ่งก็บรรลุผลไปอีกขั้นหนึ่ง แล้วเราก็ตั้งใจจะใช้เวลาสักสองวันไปเยี่ยมพื้นที่สะเมิงแบบไม่เปิดเผยตัว
เอาไว้มีเวลาเยอะจะมาตระเวนคารวะชาวบ้านที่เรามากินมานอนที่นี่ให้ทั่วถึงเลย
ขอแนะนำสะเมิงหน่อย เป็นอำเภอที่มีที่ตั้งอยู่หลังดอยสุเทพฯ ติดต่อกับ อ.แม่ริม อ.แม่แจ่ม อ.ปาย อ.แม่แตง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชนพื้นเมือง เป็นคนเมืองผสมกับไทยลื้อ และชนเผ่าตามชายขอบพื้นที่อำเภอ เช่น ม้ง ปกาเกอญอ ลีซู ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า คนพื้นเมืองที่อพยพมาอยู่ที่นี้ส่วนหนึ่งหนีระบบการเก็บส่วนสาอากรของสมัยโบราณ ที่เรียก “ถา สี่บาท” หากไม่มีจ่ายก็ต้องไปใช้แรงงานให้กับผู้ปกครองรัฐ มีภาพเก่าๆในหนังสือมากมาย ประชาชนที่ไม่มีเงินส่งภาษีและไม่ยอมไปใช้แรงงานก็หนี…หนีไปอยู่สะเมิง ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 50 กม.
….” พ.ศ.2435 เป็นต้นมา รัฐเรียกเก็บภาษีรายหัวจากผู้ชายที่มีครอบครัว เรียกกันว่า “ภาษี 4 บาท” การเก็บภาษีดังกล่าวชาวบ้านเดือดร้อนมาก เพราะในสมัยนั้นชาวไร่ชาวนาไม่ได้สะสมเงินตรา รายได้ในรูปแบบของเงิน จะได้มาจากการค้าขายเท่านั้น การเก็บภาษี 4 บาท จึงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้ทำการค้า….”
ผมมาทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2518 ถึง 2522 ผมก็จำเป็นต้องออกจากโครงการไปอยู่อีสานด้วยเหตุผลทางการเมือง การกลับมาเพราะผูกพันกับพื้นที่ ชาวบ้าน และเสน่ห์ของขุนเขา คุณตุ๊จองที่พักทางอินเตอร์เนท บอกว่าชื่อ แสงอรุณคอตเทจ อยู่กลางป่า ต.สะเมิงเหนือ ซึ่งเราไม่รู้จักเพราะคงมีการก่อสร้างภายหลังที่เราออกมาจากพื้นที่นานแล้ว ก็เลยลองจองดู เพราะอยู่ใกล้บ่อน้ำแร่ร้อนที่บ้านโป่งกว๋าว ด้วย ทราบว่าพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว
ผมบอกครอบครัวว่าขอขับรถจากสะเมิงใต้ไปสะเมิงเหนือ แทนที่จะไปทางลัดจาก อ.แม่ริมตรงไปสะเมิงเหนือเลย เพราะอยากสัมผัสพื้นที่เดิมๆของเราที่เมื่อสามสิบห้าปีที่แล้วมาลุยที่นี่ ทุกคนตกลง ผมค่อยๆขับรถไป ปากก็บรรยายให้ลูกสาวฟังว่าพ่อเคยมาทำอะไรแถวนี้ ป้ายบอกว่าหมู่บ้านข้างหน้าคือบ้านกองขากหลวง เราก็มีเรื่องเล่าให้ลูกฟังว่า ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งสมัยนั้นมาขอยืมเงินไปใช้หนี้ ธกส. แล้วเขาจะเอาควายห้าตัวมาประกันให้ ด้วยเงินสามพันบาทที่ผู้ใหญ่ต้องการ เราเอาเงินให้ไป จนบัดนี้ก็ไม่ได้คืน และไม่คิดจะขอคืน
ถนนบางช่วงผ่านข้างภูเขาที่ชันมากๆ สมัยก่อนช่วงฤดูฝนแบบนี้กอไผ่ทั้งกอเคยสไลด์ลงมาทับเส้นทางหมด การคมนาคมที่มีน้อยอยู่แล้วถูกปิดตาย ชาวบ้านต้องมาช่วยกันตัดไผ่ทีละลำจนหมดทั้งกอ แล้วขุด ลากเอาดินออกไปทั้งหมด
ขัยรถบนถนนที่ดีมาก ไม่มีลูกรังอีกแล้ว ผ่านทุ่งนา ชาวบ้านเพิ่งดำนาเสร็จ บางแปลงมีร่องรอยการเซ่นไหว้เจ้าที่ แม่โพสพ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิม น้ำท่ายังดีเหมือนเดิม ส่วนใหญ่ก็จะทำเหมืองฝายกัน ระบบเหมือนฝายภาคเหนือนั้นมีคนทำปริญญาเอกกันหลายต่อหลายคนมาแล้ว
นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของสะเมิง พืชหลักสมัยก่อนคือ ข้าว ทั้งข้าวนาปี ข้าวไร่ กระเทียม หอมแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดพื้นบ้าน ของป่าก็มี ไม้สนเกี๊ยะ เปลือกก่อ เปลือกไก๋ น้ำมันสน .. แต่วันนี้พืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้ามามากมาย…
ผมเคยเห็นสถานที่ราชการและเอกชนหลายแห่ง ติดประกาศไว้ที่ประตูห้องทำงานว่า “ห้ามขายสินค้า” หรือ “ห้ามนำสินค้ามาจำหน่าย” คงมีหลายเหตุผลที่สถานที่นั้นทำเช่นนั้น และเป็นสิทธิที่สถานที่นั้นๆจะทำได้
ที่ทำงานผมเราไม่ได้ทำเช่นนั้น จึงมีคนหลากหลายเอาสินค้ามาขาย ทั้งขาประจำและขาจร รวมไปทั้งมูลนิธิ กลุ่มองค์กรการกุศลที่มาหาผู้สนับสนุน
ส่วนมากน้องๆทีมงานจะเป็นลูกค้าประจำ ประเภทเครื่องดื่มเสริมสุขภาพ นานๆก็เลี้ยงไอติมกันบ้าง บางวันชาวบ้านเอาถั่วลิสงต้มมาขาย ไปจนถึง อาหารสำเร็จรูปต่างๆ
มันเป็นการขายเชิงรุก ที่ชาวบ้าน หรือนักธุรกิจด้านนี้ทำกันโดยทั่วไป คือเดินไปหาลูกค้าเลย ไม่ต้องนั่งคอยให้ลูกค้าเดินมาหา
มีเรื่องราวเยอะเกิดขึ้นเกี่ยวกับ พ่อค้า แม่ค้ากลุ่มนี้ เช่น
ไอสครีมยี่ห้อหนึ่ง มาถึงใกล้ๆเที่ยงก็จะเปิดเพลงมาแล้ว และเปิดทีไร ไอ้โบ้ หมาที่สำนักงานก็จะหอนทันที และวิ่งไปต้อนรับ เพราะ ไอ้โบ้มักได้กินไอสครีมฟรี บ่อยๆ ทั้งคนขายให้เอง หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานสงสารไอ้โบ้ ก็ซื้อให้
แม่ค้าขายอาหารสำเร็จรูปท่านหนึ่ง เสียงดัง ฟังชัด พูดจาโผงผาง ไม่เกรงกลัวใคร ทีมงานก็เป็นลูกค้าประจำ หลังๆมาหายหน้าไป เด็กที่ทำงานบอกว่า เจ๊แกข้ามโขงไปที่บ่อนคาสิโนฝั่งสะหวันนะเขตนั่นประจำ ผมเองก็งง ว่าแม่ค้ามาเดินขายอาหารนี่นะ ไปเล่นการพนันที่บ่อนคาสิโนฝั่งลาว…
เด็กหนุ่มเอาแผ่นซีดีหนังดังๆหลายร้อยเรื่องมาขาย หากเดินเข้าหาเป้าหมายเป็นผู้ชายก็จะแอบ หยิบหนัง rate X เสนอทันที..
มูลนิธิหนึ่งมาขอรับบริจาคเงินเพื่อซื้อโลงศพบ้าง ผ้าขาวบ้าง..เราก็บริจาคทุกครั้ง แต่น้องๆตั้งข้อสงสัยว่า พี่..มันจริงๆหรือเปล่า หรือมันเป็นแก๊งต้มตุ๋น….ม่ายรุ…
มาแปลกสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมนั่งทำงานเพลินๆมีเสียงเดินเข้ามาที่ประตูห้องทำงานรวมซึ่งเปิดเป็นปกติอยู่แล้ว …ซื้อเครื่องดื่มสุขภาพไหมครับ.. สำเนียงมันเป็นฝรั่งพูดไทยนี่ ผมเงยหน้าดู จริงๆด้วย ฝรั่งสูงโย่งโก๊ะ ในชุดพนักงานขายเครื่องดื่มบริษัทหนึ่ง หิ้วถุงเครื่องดื่มมาขาย.. เมื่อไม่มีใครซื้อเขาก็ยิ้มๆแล้วพูดว่าขอบคุณครับ แล้วก็เดินออกไป
ถัดจากนั้นไม่กี่วัน ผมก็พบเขาและสตรีอีกท่านหนึ่งในชุดพนักงานขายสินค้าเช่นเดียวกัน ขับมอเตอร์ไซด์ คงจะเดินทางไปขายตามปกติ
เขาทั้งคู่น่าที่จะเป็นสามีภรรยากัน และมาทำงานนี้ด้วยกัน
ผมแอบชื่นชมเขาทั้งสองที่มาทำงานเช่นนี้ ผมไม่มีโอกาสได้คุยส่วนลึกๆของการเดินเข้ามาทำอาชีพนี้ แค่เอาภาพพื้นๆมามองกันเท่านั้นเอง
เดินทางกลับจากโป่งแยง เชียงใหม่ มุ่งสู่ ขอนแก่น มาถึงอุตรดิตถ์ รถเบรถและติดกันนับสิบคัน ทั้งถนนขาขึ้นและขาล่อง ใจก็นึกว่าจราจรทางหลวงคงจับรถความเร็ว แต่เอ..ไม่เห็นตำรวจสักคนทั้งสองด้าน มีแต่เด็กหนุ่ม เอากิ่งก้ามปูที่หักจากข้างทางมาโบกให้รถหยุด ส่วนเส้นทางขาขึ้น โน้น เด็กหนุ่มอีกคนโบกธงแดงๆให้รถขาขึ้นหยุด
เอ..มันเรื่องอะไรกัน จะปล้นกลางแดด หรือไงหว่า..
เมื่อรถหยุดสนิททั้งสองด้าน สักครู่มีลุงแก่ๆจูงวัวตัวใหญ่ขึ้นมาจากข้างทาง อย่างรีบร้อน แล้วฝูงวัวก็ตามมานับครึ่งร้อยตัว.เห็นจะได้…
อ๋อ…เราเข้าใจแล้ว ชาวบ้านขอให้รถหยุดเพื่อเอาวัวข้ามถนน ฝูงนี้คงมีหลายเจ้าของ ต่างมาช่วยกัน โบกรถ ขอให้หยุดเพื่อเอาวัวข้ามถนน
เมื่อเสร็จสิ้น เด็กหนุ่มค้อมศีรษะแสดงความขอบคุณ…
ถนนหลวงมักมีปัญหากับวิถีชุมชนในหลายพื้นที่..แตกต่างกันไป ทางหลวงสร้างไว้เพื่อคนใช้รถคมนาคม แต่ไปขัดขวาง หรือสร้างอุปสรรคกับวิถีชุมชน
ได้อย่างเสียอย่าง หรือได้หลายอย่างเสียอย่างหรือเสียหลายอย่างด้วยเหมือนกัน
เอาผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก วิถีชาวบ้านก็ทำอย่างที่เห็นนี้ต่อไป แก้ปัญหากันเอง…
เท่าที่ผมทราบและเคยไปยุโรปมาบ้างนั้นทราบว่า ถนนหลวงสายหลักของต่างประเทศนั้นจะไม่ผ่านชุมชน แต่บ้านเราต้องผ่านชุมชน แล้วปัญหาต่างๆก็ตามมามากมาย โดยมากชาวบ้านก็คิดว่า รัฐมาให้ประโยชน์ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นก็ทนๆกันไป จนชินชาไปเลย..
กรณีนี้..เท่าที่เห็น กว่าที่เด็กหนุ่มจะโบกรถให้หยุดใช้เวลานาน คันแล้วคันเล่า เขาคงไม่เข้าใจว่ามาโบกรถด้วยประสงค์อะไร…
(รูปนี้ไม่เกี่ยวกับสาระ เอามาดูเฉยๆ)
สังคมซับซ้อนมากขึ้น
ระบบถูกสร้างเชิงซ้อนมากขึ้น
เรื่องราวต่างๆถูกผูกติดกันมากขึ้น
มิติต่างๆเกี่ยวข้องกันมากขึ้น
ยุ่งจริงๆ
แต่หากจัดระเบียบ และเคารพระเบียบ
“สิ่งที่ยุ่ง มุ่งแก้ ก็ แก้ไม่ยาก”
มาย้อนอดีตสะเมิงกับครอบครัว
ต.สะเมิงใต้ ต.สะเมิงเหนือ ต.แม่สาบ
นอนที่แสงอรุณรีสอร์ท บ้านแม่แพะ
อาบน้ำแร่ร้อนที่บ้านโป่งกว๋าว
ถนนเส้นนี้อดีตเป็นลูกรัง
เราใช้มอเตอร์ไซด์ผ่านฝุ่นและโคลนมา 5 ปี
มีเรื่องราวมากมายที่พบ..
หลายปีก่อนพ่อไม่ค่อยสบาย น้องสาวพาไปกราบหลวงพ่อโต พรหมรังสี วัดไชโย ที่อ่างทอง ที่หลังวัดมีหมอดูเพ่งกสิณ น้องเลยพาไปตรวจดู หมอบอกว่า พ่อจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกินอีกสองปี ส่วนแม่นั้นอายุยืนยาวถึงกับคลานแน่ะ.. ส่วนผมนั้น อย่าไปรู้เลย ชีวิตเป็นไปตามกรรม..
หลังจากนั้นแค่ปีเดียวพ่อก็จากไปด้วยโรคถุงลมโป่งพอง เพราะพ่อสูบบุหรี่จัด สมัยเด็กๆพ่อใช้ให้ไปซื้อบุหรี่ “พระจันทร์” ประจำ ผมเองก็เคยสูบ แต่เลิกเด็ดขาดมาพร้อมกับกินเจสัก ยี่สิบกว่าปีมานี่
ปัจจุบันแม่นั้น คลานจริงๆ คลานจนหัวเข้าด้าน ลูกๆซื้อเก้าอี้เข็นให้ก็ไม่ชอบนั่ง ยกเว้นจำเป็นจริงๆ
เมื่อปีที่แล้ว ลูกๆทำบุญต่ออายุให้แม่ เพื่อให้แม่ และทุกคนสบายใจ พระที่นิมนต์มาก็เป็นลูกอาว์ จบประสานมิตร แล้วบวชไม่สึกเลย เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
แม่ทำนามาตลอดชีวิต หลังเลิกทำนาเพราะอายุมากแล้วก็ให้เพื่อนบ้านเช่า คิดค่าเช่าแสนถูกไร่ละหนึ่งพันบาทต่อปี จะทำนากี่ครั้งก็หนึ่งพันบาท แม่เขียนหนังสือช้าแต่ลายมือสวย ชอบอ่านหนังสือธรรมมะ
เมื่อตอนพิมพ์เจ้าเป็นไผ ๑ ผมเอาไปทิ้งไว้ที่บ้านเล่มหนึ่ง แม่เอามาอ่านหลายรอบแล้ว เพราะคิดถึงลูก วันนั้นผมกลับไปบ้าน แม่ก็เล่าให้ฟังว่า แม่คิดถึงลูกก็อ่านเจ้าเป็นไผ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง
แต่ที่แม่ไม่เข้าใจเลยว่ามันแปลว่าอะไร.. ก็คำว่า อิอิ มันแปลว่าอะไรล่ะลูก….ฮา..
ผมรักแม่ครับ…
“ตอนนี้มานอนที่ลำปางแล้ว”
รูปนี้ถ่ายที่ภูมโนรมย์ เป็นภูเขาด้านใต้ของเมืองมุกดาหาร
บนนั้นจะเห็นฝั่งสะหวันนะเขต สะพานมิตรภาพไทยลาว 2
เห็นแม่น้ำโขง และเห็นธรรมชาติ
ตั้งใจจะเดินทางแต่เช้า คนข้างกายติดประชุม
ทำธุระ โน่นนี่ อ้าว ป้ำฉีดน้ำพ่นกระจกเสีย ต้องไปเปลี่ยน รถซ่อมก็เยอะ
คนข้างกายบอกว่า ผู้เชี่ยวชาญ JBIC มาขอคุยด้วย
บอกว่าตามงานเขียนมานานแล้วไม่เคยพบตัว
วันนี้มาพบ และมาชวนทำ Proposal ศึกษาเรื่องข้าวทั้งหมดในประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงเรื่องข้าวในมิติต่างๆของไทย น่าสนใจมาก
งานใหญ่อีกแล้ว เธอ…
นั่งรอรถอยู่ ช้าตามเคย อิอิ อีกแล้วครับท่าน….
ขอลอก Freemind หน่อยนะ คือว่า บันทึกยาว เพราะกระชับพื้นที่ไม่ได้ อันตรายหากฝืนอารมณ์อ่าน ..แค่บันทึกเก็บไว้เฉยๆ..
ใครเคยไปเที่ยวนครเวียงจันทร์ช่วงฤดูฝนก็จะเห็นความแตกต่างจากกรุงเทพฯมหานครอย่างน้อยก็หนึ่งอย่างคือ ใจกลางนครเวียงจันทร์ยังทำนาติดกับตึกรูปทรงฝรั่งเศสเลย ผมไม่ได้ไปนานแล้วไม่ทราบว่าเปลี่ยนแปลงเป็นตึกไปหมดหรือยัง หากมาดูกรุงเทพฯนั้น ในอดีตน่าจะเป็นเช่นนั้น ปัจจุบันที่นากลายเป็นเงินทองมหาศาล แปรเปลี่ยนเป็นอาคารพานิชไปหมดแล้ว มีแต่รอบนอกเท่านั้นที่ยังมีการทำนาอยู่บ้าง เพราะสังคมเราเป็นเกษตรกรรม
ยิ่งนครเวียงจันทร์ ความเป็นสังคมเกษตรกรรมยังมีมาก ผมเคยทราบว่าข้าราชการรับราชการแล้วก็ต้องทำนาด้วย คุณครู อาจารย์ ก็ต้องทำนา ไม่งั้นรายได้ไม่พอกิน… สมัยผมเด็กๆ พ่อเป็นครูใหญ่ ก็ต้องทำนาด้วยเหมือนกัน จำได้ว่าช่วงฤดูทำนาเคยเรียนครึ่งวัน แล้วครูๆทั้งหมดก็กลับไปรีบทำนา.. เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ครูอยากทำนาด้วยก็ต้องจ้างแรงงาน เพราะระเบียบราชการไม่อนุญาตให้ทำเช่นอดีต
แตง แม่บ้านสำนักงานผม และ พิลา พนักงานขับรถผม บ้านยังทำนา เขาลาหยุดช่วงนี้ประจำเพราะต้องไปไถนา ดำนา แม้รับจ้างช่วงวันหยุดก็ทำ เพราะค่าจ้างเดี๋ยวนี้วันละ 200 บาทขึ้นไปแล้ว ผมอนุญาตให้เขาไปทำนาได้เต็มที่ เพราะเข้าใจวิถีชีวิตเขา เงินเดือนไม่สูง รายจ่ายมาก ก็ต้องทำนากิน และรับจ้างดำนาตามโอกาส รถนั้นผมขับเองได้
สำหรับพิลานั้น พิเศษหน่อยเพราะเขาทำนาอินทรีย์ ที่เอาความรู้ไปจากการที่เราไปอบรมชาวบ้านในพื้นที่โครงการ เขาก็แอบฟัง แล้วเอาความรู้ไปใช้จนได้ผลขึ้นมา และข้าวอินทรีย์ของเขาขยายในเครือญาติ และเริ่มกระขยายสู่เพื่อนบ้านแล้ว หลังจากรีรอมาหลายปีเพื่อให้แน่ใจว่า เออ ดีจริง.. นี่คือชาวบ้าน.. ทางภาคเหนือเรียกว่า..”ถ้าผ่อ” หรือรอดู หากดีจริงก็ค่อยทำตาม นักพัฒนาหลายคนก็ใช้สูตร..ค้นหาชาวบ้านที่ “หัวไวใจสู้” .. แล้วสนับสนุนให้ทำกิจกรรมนำร่อง..เมื่อได้ผลแล้วชาวบ้านอื่นๆจะทำตาม
ปีนี้แตง เล่าให้ฟังว่า นาเสียหายมาก เพราะ ฝนไม่ตกตามฤดูกาล กะไม่ถูกว่าจะมาเมื่อไหร่ ทิ้งช่วงเมื่อไหร่ ฝนหนักๆจะมาเมื่อไหร่ ไม่เหมือนอดีต ที่จะมีความสม่ำเสมอมากกว่าปัจจุบัน
ชาวนาไม่รู้ว่าควรตกกล้าข้าวเมื่อไหร่ถึงจะพอดี เพื่อป้องกันไว้ก่อนก็ตกกล้าตั้งแต่ต้นฤดู พอมีฝนลงมาบ้างก็แบ่งเอาไปดำนา นาไหนที่น้ำไม่เพียงพอก็รอฝนไปก่อน รอไปรอมาฝนก็ไม่มาสักที กล้าข้าวก็เลยอายุที่ควรจะเอาไปปลูก ชาวนาบางคนก็ ตกกล้าใหม่ครั้งที่สอง แล้วก็นั่งรอฝนอีก… เมื่อฝนมาก็เอาไปปลูก หลายครอบครัว กล้าหมด ไม่เพียงพอ ก็ต้องไปขอจากญาติพี่น้อง หรือไปซื้อมาจากคนอื่น หมู่บ้านอื่น หากไม่มี หรือหาไม่ได้ นาแปลงนั้นก็ทิ้งร้างไปสำหรับปีนี้ ผลกระทบชัดเจนคือ จำนวนพื้นที่ที่ได้น้ำได้ข้าวนั้นไม่เพียงพอที่ผลผลิตจะเก็บไว้กิน ยิ่งต้นกล้ามีอายุไม่เหมาะสมช่วงปลูก และหรือโดนน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก ก็กระทบต่อความสมบูรณ์ของต้นข้าว กระทบต่อปริมาณผลผลิตอีก
เดือนนี้หากใครไม่ดำนาอีก ก็หมดโอกาสแล้วสำหรับนาข้าวปีนี้ เพราะเลยช่วงเหมาะสมในการทำนา
การทำนานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวบ้านจะรู้ว่านาตัวเองอยู่ในภูมินิเวศที่ลุ่ม หรือ ลุ่มสลับดอนหรือที่ดอนน้ำท่วมถึง หรือที่ดอนน้ำไม่ท่วม หรือที่สูง เพราะต้องตัดสินใจเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ(ป้าจุ๋มรู้ดีกว่าผม) แต่ปัญหาคือ กล้าข้าวไม่พอเพราะเหตุการณ์ดังกล่าว คือความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ
ผมเคยศึกษาคร่าวๆที่จังหวัดชัยภูมิว่า ชาวนามีกระบวนการตัดสินใจอย่างไร เมื่อดินฟ้าอากาศแปรปรวน หากฝนดีน้ำดี ในนาลุ่มก็ดำนาตามปกติ เมื่อฝนมาบ้างไม่มาบ้าง น้ำไม่ท่วมแปลงนา และเวลาล่วงเลยมาหลานเดือนแล้ว ชาวนาต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง หากนั่งรอฝนก็เสี่ยง จึงตัดสินใจทำนาหยอด เอาไม้แหลมมาสักที่นา มีคนเดินตามหลังเอาเมล็ดข้าวหยอดลงหลุม แล้วเอาเท้าเหยียบกลบ และหากปล่อยไปอีกก็เสี่ยงครั้งสุดท้าย หยอดก็ไม่ได้ แต่ก็อยากเสี่ยงจึงตัดสินใจหว่าน หากมีฝนมาก็ดีไป หากฝนทิ้งช่วงอีก ก็แทบไม่เหลือข้าวไว้กิน ปีนั้นเตรียมลงไปหางานทำในเมืองได้แล้ว…
อาชีพทำนาในเขตน้ำฝน ก็ขึ้นกับฟ้าฝน ที่นาในเขตชนประทานก็นั่งยิ้มได้บ้าง แต่เมืองไทยมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึงร้อยละ 10 (นี่ตัวเลขหลายปีแล้ว) หมายความว่าเกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 ต้องเผชิญโชคชะตากับฟ้าฝน
และทั้งหมดนี้ก็กระทบต่อการทำกิจกรรมเพื่อ “การพึ่งตนเอง” ของโครงการด้วย เมื่อข้าวไม่พอกินเพราะดินฟ้าอากาศ… ก็จำเป็นต้องหาเงินไปซื้อข้าว ก็ต้องมุ่งทำกิจกรรมที่สามารถทำเงินได้ ในวงจรชีวิตชาวบ้านนั้น มีแต่มันสำปะหลังเท่านั้นที่เป็นพืชหลักประกันการมีข้าวกิน….เมื่อไม่มีข้าวก็ไปขุดมันขาย แม้ว่าจะยังไม่ได้อายุครบกำหนดก็ตาม ก็ขุดเอาไปขายเอาเงินมาซื้อข้าว..
แตง บอกผมว่า ช่วงทำนานั้น บางครอบครัวข้าวเก่าที่เก็บเอาไว้กินจากปีก่อนเริ่มลดลง หรือบางครอบครัวก็หมดแล้ว รอข้าวใหม่.. แตงบอกต่อว่า อาจารย์..เมื่อคืนก่อนมีการ “ขโมยมันฯ” ในสวนไปขายกันแล้ว เพราะมันฯราคาดี เขามาขโมยกลางคืน ไปขุดเอาจากสวนมันเลยเป็นคันรถเลย..
นี่คือชีวิตชาวนาที่มีแต่ความเสี่ยง จริงๆผมอยากทบทวนงานพัฒนาที่ทำกันจริงๆ อย่ามานั่งเขียนรายงานสวยๆกันเลย…
เพื่อน NGO ที่มุกดาหารมาเยี่ยมที่สำนักงาน เพื่อมาปรึกษางานที่เขาเสนอของบประมาณจากภาคการเมืองไว้…
แล้วก็เล่าให้ฟังว่า วันนี้ที่ตำบล.. มีการลงคะแนนเลือกกำนันกัน คนหนึ่งจ่ายไป 7 แสนบาท เป็นคนที่ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดสนับสนุน ส่วนอีกคนเป็นคนที่ตัวเขาเองและกลุ่มเพื่อนๆสนับสนุน แต่ก็ใช้เงินไป 4 แสนบาท โดยการขายที่ดินมาเล่นการเมืองท้องถิ่น…
ฟังแล้วก็พูดไม่ออก..
เพื่อนยังบอกอีกว่า เดี๋ยวนี้เล่ห์เหลี่ยมการเมืองเกี่ยวกับการจ่ายเงินซื้อเสียงพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เขาเล่าว่า คนหนึ่งจ่ายให้ 3 หมื่นบาท หากได้รับการเลือกตั้งก็เอาไปเลย แต่หากไม่ได้รับการเลือกตั้งจะมาเอาคืน โดยมีการทำสัญญากัน…?
เขาว่าเทคนิคนี้มัดหัวคะแนนดีนัก เพราะอีกฝ่ายจ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นเขาจึงรับสัญญากับคนที่มาเสนอการทำสัญญานั้น และเขาก็ได้รับเลือกจริงๆ เพราะผู้รับเงินเทคะแนนให้กับคนที่ทำสัญญา แล้วก็ได้เงินทั้งสองฝ่ายไป
เฮ่อ..บ้านเมืองป่นปี้หมด เพราะลัทธิบ้าบอนี้…