สะเมิงที่เปลี่ยนแปลง 1

326 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 สิงหาคม 2010 เวลา 22:42 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3036

ขึ้นภาคเหนือคราวที่ผ่านมาฝ่าฝนไปตลอด ก็มันช่วงฤดูฝน เป้าหมายของเราคือจัดการเรื่องที่ดินให้ก้าวหน้าหน่อย ซึ่งก็บรรลุผลไปอีกขั้นหนึ่ง แล้วเราก็ตั้งใจจะใช้เวลาสักสองวันไปเยี่ยมพื้นที่สะเมิงแบบไม่เปิดเผยตัว


เอาไว้มีเวลาเยอะจะมาตระเวนคารวะชาวบ้านที่เรามากินมานอนที่นี่ให้ทั่วถึงเลย

ขอแนะนำสะเมิงหน่อย เป็นอำเภอที่มีที่ตั้งอยู่หลังดอยสุเทพฯ ติดต่อกับ อ.แม่ริม อ.แม่แจ่ม อ.ปาย อ.แม่แตง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชนพื้นเมือง เป็นคนเมืองผสมกับไทยลื้อ และชนเผ่าตามชายขอบพื้นที่อำเภอ เช่น ม้ง ปกาเกอญอ ลีซู ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า คนพื้นเมืองที่อพยพมาอยู่ที่นี้ส่วนหนึ่งหนีระบบการเก็บส่วนสาอากรของสมัยโบราณ ที่เรียก “ถา สี่บาท” หากไม่มีจ่ายก็ต้องไปใช้แรงงานให้กับผู้ปกครองรัฐ มีภาพเก่าๆในหนังสือมากมาย ประชาชนที่ไม่มีเงินส่งภาษีและไม่ยอมไปใช้แรงงานก็หนี…หนีไปอยู่สะเมิง ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 50 กม.

….” พ.ศ.2435 เป็นต้นมา รัฐเรียกเก็บภาษีรายหัวจากผู้ชายที่มีครอบครัว  เรียกกันว่า  “ภาษี  4  บาท”  การเก็บภาษีดังกล่าวชาวบ้านเดือดร้อนมาก  เพราะในสมัยนั้นชาวไร่ชาวนาไม่ได้สะสมเงินตรา  รายได้ในรูปแบบของเงิน จะได้มาจากการค้าขายเท่านั้น  การเก็บภาษี  4  บาท จึงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้ทำการค้า….”

ผมมาทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2518 ถึง 2522 ผมก็จำเป็นต้องออกจากโครงการไปอยู่อีสานด้วยเหตุผลทางการเมือง การกลับมาเพราะผูกพันกับพื้นที่ ชาวบ้าน และเสน่ห์ของขุนเขา คุณตุ๊จองที่พักทางอินเตอร์เนท บอกว่าชื่อ แสงอรุณคอตเทจ อยู่กลางป่า ต.สะเมิงเหนือ ซึ่งเราไม่รู้จักเพราะคงมีการก่อสร้างภายหลังที่เราออกมาจากพื้นที่นานแล้ว ก็เลยลองจองดู เพราะอยู่ใกล้บ่อน้ำแร่ร้อนที่บ้านโป่งกว๋าว ด้วย ทราบว่าพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว


ผมบอกครอบครัวว่าขอขับรถจากสะเมิงใต้ไปสะเมิงเหนือ แทนที่จะไปทางลัดจาก อ.แม่ริมตรงไปสะเมิงเหนือเลย เพราะอยากสัมผัสพื้นที่เดิมๆของเราที่เมื่อสามสิบห้าปีที่แล้วมาลุยที่นี่ ทุกคนตกลง ผมค่อยๆขับรถไป ปากก็บรรยายให้ลูกสาวฟังว่าพ่อเคยมาทำอะไรแถวนี้ ป้ายบอกว่าหมู่บ้านข้างหน้าคือบ้านกองขากหลวง เราก็มีเรื่องเล่าให้ลูกฟังว่า ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งสมัยนั้นมาขอยืมเงินไปใช้หนี้ ธกส. แล้วเขาจะเอาควายห้าตัวมาประกันให้ ด้วยเงินสามพันบาทที่ผู้ใหญ่ต้องการ เราเอาเงินให้ไป จนบัดนี้ก็ไม่ได้คืน และไม่คิดจะขอคืน

ถนนบางช่วงผ่านข้างภูเขาที่ชันมากๆ สมัยก่อนช่วงฤดูฝนแบบนี้กอไผ่ทั้งกอเคยสไลด์ลงมาทับเส้นทางหมด การคมนาคมที่มีน้อยอยู่แล้วถูกปิดตาย ชาวบ้านต้องมาช่วยกันตัดไผ่ทีละลำจนหมดทั้งกอ แล้วขุด ลากเอาดินออกไปทั้งหมด


ขัยรถบนถนนที่ดีมาก ไม่มีลูกรังอีกแล้ว ผ่านทุ่งนา ชาวบ้านเพิ่งดำนาเสร็จ บางแปลงมีร่องรอยการเซ่นไหว้เจ้าที่ แม่โพสพ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิม น้ำท่ายังดีเหมือนเดิม ส่วนใหญ่ก็จะทำเหมืองฝายกัน ระบบเหมือนฝายภาคเหนือนั้นมีคนทำปริญญาเอกกันหลายต่อหลายคนมาแล้ว

นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของสะเมิง พืชหลักสมัยก่อนคือ ข้าว ทั้งข้าวนาปี ข้าวไร่ กระเทียม หอมแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดพื้นบ้าน ของป่าก็มี ไม้สนเกี๊ยะ เปลือกก่อ เปลือกไก๋ น้ำมันสน .. แต่วันนี้พืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้ามามากมาย…



Main: 0.019021987915039 sec
Sidebar: 0.075246095657349 sec