ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 15:12 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2634

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่ เรากะว่าทิ้งเวลาไว้ให้เราทบทวนข้อมูลที่ได้แล้วจะกลับมาสอบถามเพิ่มเติม แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุดแต่ก็เห็นภาพที่ชัดเจน เราทดลองเอาข้อมูลมาจัดหมวดหมู่โดยใช้ Mind map ก็ได้แผนภาพดังกล่าวนี้

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ

เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนครับเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด ในแต่ละครอบครัว เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ถ้วน ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เมื่อมีเวลาเราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่…

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ
  • การเกษตร ปลูกข้าวเหนียวไร่พันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งปัจจุบันหายสูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว
  • การปลูกพืชผักนั้นผสมผสานอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับแปลงปลูกข้าวซึ่งล้อมรั้วกันวัวควายเข้ามากิน
  • ศัตรูที่สำคัญของข้าว พืชผักคือ สัตว์ป่า เช่น หมูป่า นก ลิง โรคแมลงไม่มี
  • สภาพดินอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่ ดินร่วนซุย
  • ไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ ใช้แรงงานเท่านั้น
  • นับถือผี ปู่ตา พระที่วัด
  • ประเพณีที่สำคัญคือ 3 ค่ำเดือน 3
  • ไม่มีค่านิยมเชิงบริโภคเช่นปัจจุบัน


ตอบคำถามอาม่า

1495 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 14:39 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8523

 

ช่วยกันสะท้อนปัญหาของชนบท

เอาชนบทที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันก็แล้วกัน

  1. เวลาเราทำงานในชนบทแบบนี้เรามักแบ่งพื้นที่เป็นระบบภูมินิเวศ เป็นฐานการแบ่ง ส่วนจะเน้นภูมินิเวศเกษตร ภูมินิเวศวัฒนธรรม ภูนิเวศประวัติศาสตร์หรือจะผสมผสานกันก็แล้วแต่ฐานคิดแต่ละคน แต่ละองค์กร ส่วนที่โครงการเน้นระบบภูมินิเวศเกษตรวัฒนธรรม ทั้งนี้เพราะว่าที่ดงหลวงมีความแตกต่างจากที่อื่นๆคือ เป็นเขตเชิงภูเขา ประชากรเป็นชนเผ่าไทโซ่ หรือไทโส้ หรือบรู หากพูดตามภาษาราชการก็ต้องเรียกว่า “ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่”
  2. สภาพพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศแบบเชิงเขามีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย

    ข้อเด่น: คือ มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่นๆเพราะทรัพยากรป่ายังมีอยู่มาก ป่าคือทุกอย่างในวิถีชีวิตของชนเผ่านี้ ขาดเหลืออะไรก็เข้าป่า อยากได้เงินใช้ก็เข้าป่า ทำการผลิตก็ต้องอิงป่า เลี้ยงสัตว์แรงงานเช่นวัวควาย แล้วก็ปล่อยขึ้นป่า วันวันไม่มีอะไรทำก็ขึ้นป่าไปหายิงสัตว์ เก็บหมากไม้ น้ำผึ้ง และผลผลิตอื่นๆจากป่า แทนที่จะมุ่งทำการผลิตในที่ดินของตัวเอง หรือทำควบคู่ไป แต่ไม่ได้ใส่ใจการผลิตในพื้นที่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เป็นระบบนิเวศแบบที่ราบลุ่ม เพราะไม่มีป่า

    ข้อด้อย: สภาพพื้นที่เชิงเขาจะมีพื้นที่ทำการผลิตไม่มาก เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ก็ขยายไม่ได้มาก หรือขยายก็เป็นการบุกรุกทำลายป่าไม้โดยตรง ดังนั้นพื้นที่ถือครองต่อครัวเรือนต่อคนจึงไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ราบโดยเฉลี่ย ซึ่งมีผลต่อการผลิตข้าวไม่เพียงพอบริโภค หากไม่ใช่เทคนิคการผลิตที่เหมาะสมเข้ามาแทนที่การผลิตแบบเดิมๆ ปัญหาข้าวไม่พอกินก็รุนแรงมากขึ้น

  3. สภาพปัญหาที่พบ อาจจะกล่าวเป็นสองนัย คือนัยการสำรวจปัญหาตามระบบราชการ กับสภาพปัญหาจากการวิเคราะห์ของเราที่ลงไปทำงานในพื้นที่

    สภาพปัญหาตามระบบราชการสำรวจพบว่า

    3.1 ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกษตรกรตอบคือ การขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ยามปลูกข้าวนาปีฝนก็ทิ้งช่วง หลังนาอยากปลูกพืชบ้างก็ไม่มีน้ำ (เอาปัญหาก่อนนะครับ ไม่ได้กล่าวทางแก้ไข)

    3.2 ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

    3.3 ปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคแมลง

    3.4 ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง เพราะใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่มากขึ้นเหมือนพื้นที่ราบลุ่ม เช่นการไถนาด้วยรถไถใหญ่ การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมี และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเพื่อการเกษตร

    3.5 ฯลฯ

     

    ส่วนนัยปัญหาที่เราวิเคราะห์เองเห็นดังต่อไปนี้

    1) ปัญหาการส่งเสริมการเกษตรที่ผิดพลาด ไม่ต้องการโจมตีราชการ แต่เป็นการเคลื่อนตัวของสังคมไปตามกระแสโลก ที่ไหนๆก็เป็นเช่นนั้น ทุกประเทศ คือหลังการปฏิวัติเขียวกรมส่งเสริมการเกษตรก็มีนโยบายปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวและพืชต่างๆ ให้แก่เกษตรกร จนพันธุ์ข้างท้องถิ่นสูญหายไปมาก ข้างพันธุ์ใหม่ที่ได้มาก็ต้องใช้ต้นทุนสูงเพราะต้องใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ อ่อนแอต่อโรคต้องใช้ยาปราบโรคปราบศัตรูพืช ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคอื่นๆไปด้วย ปัจจุบันเริ่มหันกลับไปเป็นเกษตรอินทรีย์ แล้วแต่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเพราะเกษตรกรไม่ใช่เปลี่ยนข้ามวันข้ามคืน เพราะสังคมไทยคือสังคมเกษตรกรรม

    2) ปัญหาที่ใหญ่มาก และแก้ยากคือ ลัทธิบริโภคนิยมที่มากับระบบธุรกิจ ที่มากับการสื่อสารทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคนนอกที่เข้าไปในชุมชนเป็นผู้แพร่ลัทธินี้ไปโดยไม่รู้ตัว ทุกครัวเรือนมุ่งหวังจะมีรถมอเตอร์ไซด์ให้ได้ รถอีแต๊ก และไฝ่ฝันจะมีรถปิคอัพ โรคมือถือระบาด โดยเฉพาะวัยรุ่นในชุมชน ต้องมีมือถือ ต้องมีมอเตอร์ไซด์ แถมใช้เวลาไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ใช้เวลาเพื่อทำการผลิต ช่วยเหลือครอบครัวอย่างมีสำนึกตรงข้ามกลับเป็นตัวบริโภคที่ไม่เกิดประโยชน์

    3) การขับเคลื่อนสังคมไปตามระบบทุน ส่งผลกระทบกว้างขวางไปมดทุกด้านทุกเรื่อง สิ่งที่เราพูดกันมากแต่ไม่ได้มีกิจกรรมเสริมสร้างอย่างจริงจังนั้นคือ การจางตัว หรือการสลายตัวของทุนทางสังคม ที่เป็นฐานสำคัญยิ่งของระบบสังคมชุมชน ระบบการพึ่งตัวเอง และพึ่งพาอาศัยกัน ไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงวัฒนธรรมชุมชน แถมดูถูก ไม่เห็นคุณค่า การไม่ปฏิบัติตามวัฒนธรรม ประเพณีก็คือการไม่จุนเจือพลังสังคมด้านที่สำคัญ สังคมเคลื่อนตัวไป วิถีคนกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนไป ก็ออกห่างวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของไทย แถมไปรับของใหม่และห่างไกลแบบเดิมและไม่เข้าใจถึงสาระที่เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรมที่เป็นประเพณี ระบบเจ้าโคตรที่เคยมีบทบาทที่ดีมากๆในชุมชนก็ค่อยๆจางลง จางลง ระบบการปกครองสมัยใหม่เข้าไปแทนที่คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.

    4) ปัญหาเฉพาะของพื้นที่ดงหลวงที่ผมเห็นและแตกต่างจากที่อื่นๆ คือ ลัทธิความเชื่อผี ตอนแรกๆไม่คิดว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน ยิ่งทำงานไปนานเข้า เฝ้าสังเกตปรากฎการณ์ต่างๆในชุมชน พบว่า ความเชื่อเหล่านี้มีทั้งดีและไม่ดี ดีคือเป็นตัวข่มมิให้ใครออกนอกลู่นอกทาง ตี่ในทางไม่ดีคือ เกิดการใช้เป็นเครื่องมือ เกิดการเกรง เกิดการไม่กล้ากระทำในหลายอย่างที่มีส่วนเสริมสร้างการเติบโตขององค์กร ชุมชน เรื่องนี้เป็นความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ เราคนนอกไม่มีทางเข้าใจและไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ เช่น ชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องปอบ การกระทำของปอบ อิทธิฤทธิ์ของปอบ ไม่ต้องการให้ใครทำอะไรโดดเด่นเกินหน้าตาคนอื่นๆ เช่น ใครปลูกพืชขายได้เงินทองก็ต้องเงียบๆ ไม่อิสระ และหากปลุกพืชเศรษฐกิจขายได้ราคาดี ปีหน้าคนนั้นน่าที่จะขยายพื้นที่การผลิตมากขึ้น แต่ไม่ เพราะไม่ต้องการทำงานเกินหน้าคนอื่นเพราะความเกรงกลัวปอบมากระทำ เป็นเรื่องราวเฉพาะพื้นที่

     

    ทั้งหมดนี้ สรุป เอามาให้นะครับ

 

มีข้อมูลเก่าๆที่อาจจะช่วยให้เห็นประเด็นกว้างขึ้น อาท่าโปรดดูข้างล่างนี้ด้วยครับ

จากหลักการสู่การปฏิบัติไม่ง่ายเหมือนพูด http://lanpanya.com/bangsai/archives/879

อุปสรรคของการพึ่งตนเองของชาวบ้านที่
http://lanpanya.com/bangsai/archives/927

ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ http://lanpanya.com/bangsai/archives/543


น้ำบนใบบัว

225 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 10:52 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3147

 


เห็นรูปนี้ มีคำถามคาใจที่คิดไปเรื่อยเปื่อย

บ้านเรามีนักคิดเยอะ แต่นักทำ ไม่มากเท่าไหร่ มองเชิงบวกก็ดีนะ เพราะพวกคิดก็คิดไป พวกทำก็เก็บความคิดเหล่านั้นไปทำ ไปขยาย ไปดัดแปลง เป็นโจทย์ไปขยายต่อไป

เมื่อผมเห็นน้ำกลมๆบนใบบัว ใบบอน และใบอื่นๆอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติพิเศษแบบนี้ ความจริงใครๆก็เคยเห็น เคยเล่น เคยใช้ประโยชน์ เช่น เด็ดใบบัว ใบบอนมาเป็นที่ตักน้ำดื่ม

คำถามคือว่า ผิวใบบัว ใบบอนนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดหรือจึงทำให้น้ำไม่จับเปียก และน้ำกลับรวมตัวกันเป็นก้อนน้ำกลิ้งไปมาบนผิวนั้น ผมเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์มีคำอธิบายนี้ เช่นมันมีขนเล็กๆจำนวนมหาศาลอยู่ที่ผิวใบ ขนเหล่านั้นมีคุณสมบัติไม่เปียกน้ำ

เอ…หากเราผลิตผ้าที่มีบนเล็กๆแบบนั้นและมีคุณสมบัติแบบนั้นจะดีไหม เอาผ้านั้นมาตัดเสื้อกันฝนแล้วฝนตกก็ไม่เปียก ดีไหม…. นักวิทยาศาสตร์บ้านเราเอาไปคิดต่อ สร้างผลงานต่อได้ไหม และเอามาทำประโยชน์แก่มนุษยชาติได้ไหม


หากทำได้ เอาไปดัดแปลงทำ Wall paper ติดฝาบ้านที่ไม่เปียกน้ำ เอาไปเคลือบรางน้ำ เอาไปทำถุงมือ เอาไปทำตุ๊กตา เอาไปทำอะไรต่อมิอะไรมากมาย

ธรรมชาติ à ฉงนใจ à ตั้งคำถาม à ค้นหาความจริง à ได้คำตออบตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ à ความจริงนั้นคือการเข้าใจธรรมชาติ à ความจริงนั้นคือความรู้ à เอาความรู้ไปคิดต่อ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ à เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่มากมายหลายชนิด à ผลิตภัณฑ์นั้นไปเสริมสร้างการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประหยัด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สันติ…..

หากจะปฏิรูปประเทศ อย่าลืมโน้มน้าวมุมมองปฏิรูปด้านนี้ด้วยนะครับ…



Main: 0.030725955963135 sec
Sidebar: 0.050462961196899 sec