ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ

โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2010 เวลา 11:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11908

สังคมชนเผ่าไทโซ่ หรือบรู ดงหลวงนั้นแบ่งคร่าวๆเป็นสามยุค คือยุคก่อน พ.ศ. 2500 ยุคระหว่าง พ.ศ. 2500-2527 และยุคหลัง 2527 จนถึงปัจจุบัน ที่แบ่งยุคแบบนี้ ก็เพราะว่า ช่วง 2500-2527 นั้น เป็นช่วงที่ดงหลวงร้อนเป็นไฟ เป็นที่ตั้งของฐานปลดปล่อยของพรรคคอมมิวนิสต์ พี่น้องไทยโซ่ นับร้อยนับพันขึ้นไปอยู่บนภูเขากับ พคท. และพากันเดินพาเหรดออกจากป่าเมื่อ พ.ศ. 2527

มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทโซ่ดงหลวงก่อน พ.ศ. 2500 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง น่าสนใจครับ น่าจะเป็นตัวแทนสังคมไทยโบราณได้ กรณีหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีก และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางนึกออกว่าบรรพบุรุษของเราเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรกันมาบ้าง

เนื่องจากสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์พัฒนาการมีชีวิตอยู่รอดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามระดับของความฉลาดของมนุษย์ แต่น่าจะมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน และสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งไทโซ่ ที่นับถือผีกับพุทธไปพร้อมๆกัน หลักการของพุทธย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อยในการนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิต

หลักการหนึ่งของการดำรงชีวิตของศาสนาพุทธคือการยังชีวิตด้วยปัจจัย 4 อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนโลกและตัวเอง ตีความง่ายๆคือหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง


เมื่อศึกษาสังคมโบราณของไทโซ่ดงหลวง(และผมเชื่อว่าที่อื่นๆก็คงคล้ายคลึงกัน)แล้วมันสอดคล้องกับหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง แต่หลักปัจจัย 4 แบบพอเพียงนั้นจะให้สมบูรณ์ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเชื่อมด้วยคือ วัฒนธรรมชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน เป็นทุนทางสังคม เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ และความจริงเป็นปัจจัยที่ 5 ของความพอเพียงด้วยซ้ำไป


หลักการนี้ยังสะท้อนไปถึง หลักความพอเพียงที่ในหลวงท่านพระราชทานลงมาด้วยว่า ทั้งหมดนั้นจะต้องอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ของสังคมด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นปัจเจกชน ซึ่งสังคมไม่ได้เป็นเช่นนั้น และในชีวิตจริงๆก็ไม่มีใครที่จะพึ่งตัวเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ย่อมพึ่งพาอาศัยกันด้วยเพราะเราไม่สามารถมีความสมบูรณ์ตลอดเวลาด้วยปัจจัย 4

ท่านที่นำหลักความพอเพียงไปใช้ได้โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญนี้ด้วย

ความจริงการพึ่งพาอาศัยกันนั้นรวมอยู่ในหลักความพอเพียง แต่มักไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้เน้นกัน หลายท่านไม่ได้พูดถึง เพราะเห็นเป็นประเด็นย่อย แต่จากการเฝ้าสังเกตสังคมชนบทนั้น วัฒนธรรมชุมชนเป็นโครงสร้างหลักด้วยซ้ำไป

ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ เมื่อพ่อไปทอดแหได้ปลามามาก พ่อก็แบ่งให้เพื่อนบ้านโดยให้เด็กชายบางทรายเดินไปให้ คุณยายนั่น คุณตาคนนี้ เพราะแก่เฒ่าหากินไม่สะดวก

ที่ดงหลวง เมื่อชาวบ้านเดินผ่านแปลงผัก ก็ตะโกนขอผักไปกินกับลาบหน่อยนะ เจ้าของแปลงก็ตะโกนตอบอนุญาตให้เอาไปเถอะ สังคมภาคเหนือจะมีคนโท หรือหม้อดินใส่น้ำตั้งไว้หน้าบ้าน ใครที่เดินผ่านไปมาหิวน้ำก็ตักดื่มกินเอาได้เลย มันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สวยงาม เอื้ออาทรกัน พึ่งพากัน เพราะไม่มีใครที่มีปัจจัยสมบูรณ์ไปตลอดเวลา ยามมีก็มี ยามขาดก็ขาด ก็ได้อาศัยญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ได้คิดค่าเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด

ชาวบ้านจะสร้างบ้าน ก็บอกกล่าวกัน ชายอกสามศอกสี่ศอกก็มาช่วยเหลือกัน ตามความถนัด ไม่ได้รับเหมาเอาเงินทองแต่อย่างใด ความมีน้ำใจ ความมีบุญคุณ ความกตัญญู ช่วยเหลือเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้แสดงออกโดย “การให้” ให้วัตถุ ให้แรงงาน ให้อภัย ให้ปัจจัยต่างๆ และให้ใจ คือรากเหง้าของสังคม คือทุนทางสังคม คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เราสงบ สันติ มานานแสนนาน และเป็นฐานของหลักความพอเพียง เป็นฐานของการสร้างความพอดีของปัจจัย 4 อันมีฐานรากสำคัญมาจากหลักการทางพุทธศาสนา…

ผมเห็นอย่างนี้น่ะครับพี่น้อง..

(ต่อตอน 2)

« « Prev : สวัสดีปีใหม่ลาน..อีก

Next : ใบปะหน้า.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 reviewzone ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2010 เวลา 16:01

    ได้ความรู้อีกแล้วนะค่ะ ลุงบู๊ด

    มาสาระมาให้ขบคิดกันตลอดเวลาเลยสำหรับลานนี้

    ส่วนลานของพลอย ได้แต่บ่นๆ ออกมาเป็นกลอน 555

    เขียนใหม่อีกแล้วค่ะ ^^

    เนื่องจากเกิดความกดดันภายใต้จิตสำนึก จึงสำรอกออกมาเป็นบทกวี(นอกรีต) ^_^

    รักษาสุขภาพนะค่ะ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 มกราคม 2010 เวลา 22:25

    หนูพลอย

    ความจริงสังคมแบบนี้ที่ไหนๆก็เป็นแบบนี้ในสมัยโบราณ เมื่อสังคมเมืองเข้ามาแทนที่สิ่งเหล่านี้ก็หายไป โดยเฉาพภาคกลางหายไปนานแล้ว ในทางทฤษฎีทางสังคมวิทยา เขากล่าวว่า ชุมชนใดที่อยู่ใกล้เมืองจะเปลี่ยนไปเป็นแบบเมืองมากกว่าสังคมที่อยู่ไกลเมือง

    แต่สังคมดงหลวงยังเดิมๆมากกว่าที่อื่นๆเพราะเป็นชุมชนเพิ่งเปิดใหม่  เราไม่อาจหยุดสังคมแบบเดิมๆให้อยู่กับที่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่เราสมควรสืบต่อสิ่งดีดีของสังคมที่เรา้รียกว่า ทุนทางสังคม ให้คงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังต้องคิดรับมรดกดีดีของบรรพบุรุษสืบต่อไป นะหนูพลอย

  • #3 rani ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กุมภาพันธ 2010 เวลา 0:19

    รออ่านตอนที่สองค่ะ

  • #4 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 14:54

    ตรงใจอาม่า ค่ะปัจจัยสี่ ในการดำรงค์ชีวิต คือหัวใจสำคัญ ชุมชนจะอยู่ดีมีสุข เมื่อทุกคน อิ่มท้อง นอนอุ่น สังคมที่เอื้อารีย์ ก่อให้เกิดความสุขเป็นธรรมชาติที่ยั่งยืน มนุษย์คือสัตว์สังคม ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต้องมีการพึ่งพาอาสัยกันและกันระดับหนึ่ง แต่สำคัญที่สุด คือต้องพึ่งพาตนเองได้เสียก่อน(มีภูมิปัญญา มีองค์ความรู้ ) จึงสามารถช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่นได้โดยไม่ต้องเบียดเบียนตัวเอง ส่วนการแบ่งปันแรงงานช่วยเหลือ งานที่เกินกำลังของแต่ละครัวเรือน คือวัฒนธรรมชุมชนที่งดงาม สังคมสงบสุข จะทำมีเวลาประดิษฐ์ ประดอยเครื่องมือเครื่องใช้ ฯลฯ ที่งดงามสะท้อนศิลปวัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้านที่หลากหลาย นี่คือเสน่ห์ชนบทมายาวนาน
    แต่พอระบบทุนนิยม ถูกนำเข้ามาสู่ชนบท ผ่านโครงการพัฒนา..ที่ฉาบฉวย คือเครื่องมือทำร้ายสังคมชนบทที่ ขาดการความรับผิดชอบ ก่อให้เกิดปัญหา มากมายเหลือเกินกำลัง ที่จะให้หน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานใดแก้ไขได้ แต่ถ้าเรานำทุกหน่วยมาร่วมกันวางแผนแก้การแก้ไขพร้อมๆ กันทุกคนก็จะมีภาพของแผนการพัฒนาเดียวกัน บางงานต้องรีบทำทันที่ แก้ไขให้ทันต่อสถานะการณ์ บางงานต้องลงไปทำพร้อมๆกัน เพื่อเชื่อมโยงงานให้เกิดประสิทธิภาพและใช้แก้ปัญหาได้จริง บางงานก็เป็นงานป้องกัน ก่อนปัญหาจะเกิด ก็ต้องทำพร้อมกันกับการให้ความรู้ความเข้าใจ เข้าทำนองกันดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทันโดนเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บ สุขลักษณะ สิ่งแวดล้อม ความสม่ำเสมอของการลงไปดูแลทุกข์สุขของชุมชน เมื่อเจอปัญาก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 14:58

    ตรงกันครับอาท่าครับ เดี๋ยวผมจะส่งข้อมูลอีกส่วนไปให้ครับ ผม Post ไม่ขึ้นสักกะที เป็นตอนที่สองต่อจากตรงนี้ครับ

  • #6 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 15:37

    มายกมือหนับหนุนครับ “เมื่อทุกคน กินอิ่ม นอนอุ่น มีสังคมที่เอื้ออาทรต่อกัน ก่อให้เกิดความสุข ที่เป็นธรรมชาติอย่างยั่งยืน”

  • #7 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 16:15

    ขอบคุณครับพี่ครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.17152309417725 sec
Sidebar: 0.11353993415833 sec