เตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ๑

45 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 กันยายน 2010 เวลา 15:20 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2605

แต่ละอาชีพก็ต้องพิจารณาความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา อุปสรรคต่างๆที่จะเกิดขึ้น หากภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่า Risk Management ผมเองก็วิเคราะห์ไว้เล่มหนึ่งในงานสูบน้ำฯ เป็นการคาดการณ์ว่า ในการดำเนินกิจการนั้นมีโอกาสที่จะเกิดปัญหานั้น ปัญหานี้ขึ้น ซึ่งเราเองก็ใช้การระดมความรู้มาจากทุกแหล่งว่า หากเกิดจะมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง คนที่เรียนเรื่องนี้มาโดยตรงก็สามารถวิเคราะห์โอกาสการเกิดได้อีก วิเคราะห์ความรุนแรง หรือระดับการเกิดได้ ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบต่อกิจการ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหาหนทางแก้ไขเสียตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหานั้นๆ

อันนี้ผมไม่ได้เรียนมาจากสถาบันไหน ได้ประสบการณ์จากการทำโครงการนั้นโครงการนี้ เห็นเขาทำนั่นทำนี่ก็เรียนรู้มาและเอาสิ่งดีดีเหล่านั้นมาปรับใช้กับโครงการปัจจุบัน อย่างดีก็เพิ่มเติมจากอาจารย์ Goo นั่นแหละ

ถามว่าคนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นจะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง นอกจากความรู้ในวิชาชีพด้านนี้แล้ว องค์ประกอบอื่นๆในชีวิตประจำวันของคนทำงานด้านนี้จะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ผมว่าหัวข้อนี้ไม่มีการสอนในภาควิชาพัฒนาชุมชนในสถาบันไหนๆก็ตาม เพราะอาจารย์ที่สอนๆนั้นหลายท่านไม่เคยทำงานพัฒนาชุมชนจริงๆเลยก็ได้ แต่รู้เชิงหลักการ ทฤษฎีมากมายที่ผมไม่รู้เรื่องตั้งเยอะแยะ

อยากจะบันทึกไว้เผื่อใครเอาไปใช้ประโยชน์บ้าง ดัดแปลงไปใช้บ้าง ก็เป็นบุญกุศลต่อไป

สมัยทำงานที่สะเมิง เป็นการก้าวเข้าสู่วงการนี้แรกๆ ทั้งที่ไม่ได้เรียนมาทางนี้แต่ใจมันชอบ และสมัยนั้นค่อนข้างไม่ชอบอาชีพรับราชการ แม้ว่าพ่อแม่พี่น้องจะอยากให้เราเป็นก็ตาม โครงการที่ผมทำอยู่นั้นใจป้ำมากเลย เขาให้ทุกคนใช้มอเตอร์ไซด์ คันใหม่เอี่ยม เมื่อใช้ครบสามปี ยกให้เลย เป็นแนวคิดไม่เลวนะ เมื่อเรารู้ว่าจะเป็นของเราเราก็รัก ดูแลอย่างดี เจ้าของโครงการเป็นชาวเยอรมัน กำชับอีกว่า “คุณจะต้องดูแลมอเตอร์ไซด์ เหมือนกับคุณดูแลหญิงสาวที่รัก..” นั่นหยอดคำหรูเข้านั่น


ฝรั่งเขามีมาตรฐานสูงกว่าเราในหลายเรื่อง (แต่บางเรื่องก็โหล่ยโท่ย) ไม่ใช่พูดกระตุ้นเราอย่างเดียว แถมจัดรายการส่งเราไปศูนย์ขายรถมอเตอร์ไซด์ ที่เชียงใหม่ สมันนั้นคือ นิยมพานิช ฝึกครับ ไปให้ช่างเขาฝึกสอนเราว่า มาตรฐานขั้นต่ำสุดที่เราควรรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกมีอะไรบ้าง ต้องทำ Maintenance อะไร เมื่อไหร่ อย่างไร สอนให้รู้จักน้ำมันเครื่อง ชนิดต่างๆ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่เราทำอยู่ การดูแลหัวเทียน การทำความสะอาดกระบอกสูบ เบรก โซ่ การปรับแต่งความตึงความหย่อนของโซ่ ระบบไฟ ฯลฯ ตลอดไปจนถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งของล้อในการบรรทุก เพราะบ่อยครั้งที่เราเห็นชาวบ้านเดินทาง เราก็ให้เขาซ้อนและไปส่งถึงที่ บ่อยครั้งที่ต้องซ้อนสามคน เท่ากับเป็นการเพิ่มน้ำหนักเกินที่รถถูกออกแบบมา เป็น tip หรือเกล็ดเล็กน้อยที่มีประโยชน์ในการทำงานยิ่งนัก

การ Safety ให้กับคนขับคนซ้อนท้าย สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องสรวมหมวกกันน๊อค แต่ฝรั่งบังคับให้ทุกคนต้องใส่ นอกจากนั้นต้องมีถุงมือ มีเสื้อแขนยาว และรองเท้าหุ้มหน้าแข้ง หากไปซื้อหนังแท้ราคามันเป็นพันบาท เราก็ซื้อรองเท้าคนงานที่เป็นยางมาใส่ก็โอเค เราเองก็เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ในฤดูฝนนั้นถนนมีแค่โคลนดินเหนียว ก็ต้องมีโซ่มักล้อหลังเพื่อเพิ่มการตะกุยดิน มีไม้สำหรับแคะดินเหนียวออกจากล้อ เพราะดินเหนียวจะเกาะติดล้อแล้วไปอัดแน่นกับบังโคลนทั้งหน้าหลัง วิ่งไม่ไปเลยหละ…


ทุกเช้าที่จะออกปฏิบัติงานต้องตรวจสภาพมอเตอร์ไซด์ถึงความพร้อมในการทำงานก่อน เพราะเขาคือเครื่องมือการทำงานของเรา หากเขาไม่พร้อมก็จะเกิดปัญหาได้ ยิ่งขับขี่ไปกลางป่าสะเมิงแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา มีอย่างเดียวนั่งร้องให้ขี้มูกโป่งแน่ เพราะแต่ละหมู่บ้านนั้นมันขึ้นเขาลงห้วยหลายลูกนะ…

ทุกสัปดาห์เราจะถอดฝาสูบออกมา เอาหัวเทียนมาตรวจดูการ สปาร์คของไฟ ตรวจดูเขม่าที่หัวสูบว่ามีมากแค่ไหน หากมีมากก็ขัดออกแล้วประกอบใส่เข้าไปใหม่ ตรวจดูโซ่ ใส่น้ำมันโซ่ หรือถอดออกมาต้มอุ่นๆกับน้ำมันเกียร์ให้น้ำมันซึมเข้าไปในข้อโซ่ ช่วยขยายอายุการใช้งาน สภาพยาง ลมยาง ฯลฯ หากเป็นรถสองจังหวะก็ต้องมี Autolube


ความรู้เหล่านี้ที่ได้จากการอบรม และได้จากประสบการณ์ทำงาน คนโน้นแนะนำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราทดลองแล้วใช้ได้ ก็นำไปใช้ประโยชน์กับการแนะนำชาวบ้านต่อไปอีก บางครั้งถึงกับลงมือช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

มีหลายครั้งที่เราต้องลากมอเตอร์ไซด์เป็นกิโลเพื่อเอามาซ่อม เพราะยางแบน… หมดปัญญา หากจะเ “ขี่บด” ทั้งที่ยางแบนไปก็ได้ แต่ความเสียหายกับยางกับวงล้อจะมีมากขึ้น จึงยอมเสียเหงื่อดีกว่า

โธ่ ก็เจ้าที่รักนี่จะเป็นของเราแล้ว ถนอมเธอหน่อยดิ……



Main: 0.017413139343262 sec
Sidebar: 0.047043800354004 sec