พระจันทร์..
อ่าน: 3773
พระจันทร์ที่สวนป่าใหญ่เท่านี้ไหมครับ…อิอิ
ป้าสาลี่ เป็นแม่หม้าย อยู่ตัวคนเดียวลูกเต้าก็ไม่มี ปลูกบ้านอยู่หลังวัดไร่ บ้านก็โทรมๆ ป้าสาลี่ไม่มีที่ดินทำกิน ก็ยึดอาชีพขายน้ำแข็งให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัด
บ้านนอกอย่างภาคกลางนั้นโรงเรียนส่วนใหญ่อาศัยวัด อาศัยศาลาการเปรียญวัดเป็นห้องสอนเด็กนักเรียนเพราะใหญ่โตกว้างขวาง ผมก็ว่าดีนะครับได้ใช้ประโยชน์อาคารเต็มที่ ไม่ใช่สร้างใหญ่โตแต่ปีหนึ่งจะใช้สักครั้งก็ไม่คุ้มกับการก่อสร้าง
ที่วัดไร่ซึ่งก็ไม่ห่างจากบ้านเดิมของผม เป็นทางผ่านไปที่นาที่สวน โรงเรียนวัดไร่มีตั้งแต่ชั้น ป. 1 ถึง ป. 4 และ ม.1 ถึง ม. 3 ก็เป็นเด็กจากชุมชนรอบๆวัด ก็มีเด็กรวมๆกันก็มากอยู่
ป่าสาลี่ยึดโคนต้นไม้ขนาดไม่โตมากนักต้นหนึ่งน่าจะเป็นต้นพิกุล ที่โคนต้นก็จะมีกองแกลบเหลืองขนาดย่อมๆ มีร้านไม้เล็กๆ และแถบนี้เตียนโล่งหญ้าไม่มีสักต้น
เมื่อโรงเรียนเปิดเทอม เช้าขึ้นมาป้าสาลี่ก็จะหาบกระจาดใส่สาแหรกสวมงอบเดินไปตลาดวิเศษชัยชาญ เพื่อไปซื้อน้ำแข็งมาขาย สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า สังคมยังเป็นแบบเดิมๆ ชนบทจริงๆ รถราโดยสารไม่มีใช้วิธีเดินอย่างเดียว ดีที่สุดคือจักรยาน ไม่มีมอเตอร์ไซด์ หรือไม่ก็เดินทางโดยทางน้ำใช้เรือพาย แต่คนนิยมเดิน
ที่ตลาดวิเศษชัยชาญเจริญมากในสมัยนั้นเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เพราะ การคมนาคมใช้เรือนี่เองจึงมีเรือโดยสารจากท่าเตียน กรุงเทพฯรับส่งสินค้าและรับคนโดยสารด้วย พวกเราเรียกเรือแม่ไล้ ใหญ่โตมีสองชั้น ชั้นล่างไว้ใส่สินค้าต่างๆที่ร้านค้าสั่งซื้อ ส่วนชั้นบนก็สำหรับผู้โดยสารจะลงกรุงเทพฯ หรือจากกรุงเทพฯจะมาวิเศษชัยชาญ การติดต่อสื่อสารที่ดีที่สุดในสมัยนั้น วิเศษจึงมีสินค้าทุกอย่างที่ท่าเตียนมี จึงมีความเจริญ
นอกจากนี้ที่ตลาดวิเศษยังมีโรงงานผลิตน้ำแข็งขนาดใหญ่ ใช้น้ำจากแม่น้ำน้อยนี่แหละไปผ่านกระบวนการทำสะอาดแล้วก็ทำให้เย็นลงได้น้ำแข็งที่อยู่ใน “ตัวแบบ” ที่เป็นกล่องเหล็กขนาดใหญ่ มีคนงานลากออกมาตัดแบ่งขายย่อยให้เล็กลงแล้วแต่ขนาดที่ลูกค้าสั่ง ขนาดที่เล็กที่สุดเรียก “มือ” น้ำแข็งหนึ่งมือ ก็มีขนาดก้อนประมาณเท่าขนมปังปอนด์ขนาดใหญ่
ป้าสาลี่จะเดินจากบ้านข้างหลังวัดไร่หาบกระจาดสาแหรกเปล่ามา ซื้อน้ำแข็งไป 4-6 มือ ใส่กระจาดข้างละสองถึงสามมือ สมัยนั้นวิธีรักษาความเย็นก็คือเอาแกลบเหลืองมาปิดให้หนาๆ นอกจากนี้ก็ซื้อส่วนประกอบอื่นๆที่ขาดแคลน เช่นน้ำหวาน นมข้น นมสด ฯ แล้วก็หาบจากตลาดวิเศษไปถึงวัดไร่ ระยะทางประมาณ 5 กม. หนักซิครับกว่าจะถึงก็วัดไร่ก็ใกล้เที่ยง บางวันก็ขายต่อเลยไม่ทันเข้าบ้าน
เด็กๆชอบกินน้ำแข็งใสใส่น้ำหวานสีๆใส่นม ที่ขอนแก่นเรียกพวกนี้ว่า “จ้ำบ๊ะ” ทำไมเรียกอย่างนี้ก็ไม่รู้ ถามว่าสมัยนั้นน้ำขวดพวก เป็บซี่ โคลา มีไหม
มี แต่ไม่ใช่ที่เอ่ย สมัยนั้นเป็น ไบลเล่ย์ น้ำซาซี่ น้ำมะเน็ด กรีนสปอร์ด 7up แต่คนแถวบ้านไม่ค่อยกินเพราะมันแพง นิยมกินน้ำแข็งใสใส่น้ำหวานเขียวแดงนี่แหละ ใส่นมเข้าไป แค่นี้ก็ชื่นใจ กินกันหยดสุดท้ายเลยหละ..
ป้าสาลี่บอกว่า หน้าร้อนขายดี แต่ลำบากการหาบน้ำแข็งมาจากตลาดนี่ซิ หนักก็หนัก กว่าจะมาถึงน้ำแข็งก็ละลายไปเยอะทีเดียว
ผมจากบ้านมาตั้งแต่เข้าเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาเพราะเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ไม่ทราบเรื่องป้าสาลี่อีกเลย….
นี่เป็นเรื่องเล่าความหลังเมื่อสี่สิบปีที่แล้วน่ะครับ
เช้าวันที่ไปนอนวัดป่าสุคะโต ท่ามะไฟหวาน แก้งคร้อ ชัยภูมินั้น ทางวัดจัดการที่พักให้ ต่างก็ไปเบิกหมอน เสื่อปู ปลอกหมอน ท่านผู้ดูแลบอกว่าเช้าก็เอามาส่งที่นั่นที่นี่นะ กองไว้หน้าห้องหากเข้าไม่ได้ เดี๋ยวมีคนมาจัดการต่อเอง
ข้างที่พักผมมีกองหิน ถุงกรวด คงจะเตรียมก่อสร้างต่อไป ข้างๆกองหินนั้นเห็นแม่ไก่กำลังนอนฟักไข่อยู่ นิ่งเงียบเลย ไม่ส่งเสียง เข้าไปใกล้ๆก็ไม่ถอยหนี มองตาเราแป๋วๆ..
ผมหายเข้าไปในห้องสักพักก็ออกมาดูเขาใหม่
อ้าวหายไปแล้ว ทิ้งไข่ไว้ 7 ฟอง
โน่น เดินอยู่โน่น คงมาหาอาหารเช้ากิน
เดินวนไปมาไม่ห่างจากรังไข่ง่ายๆของเธอ คุ้ยหาอาหาร ซึ่งผมดูแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร แต่เธอก็เดินคุ้ยเขี่ยไป วนไปมา
บางครั้งก็มีไก่ตัวอื่นเดินเข้ามาหาสักครู่ก็เดินจากไป เหมือนมาทักทายแล้วเดินไปอาหารที่อื่นต่อไป ปล่อยให้ไก่แม่ตัวนี้ วนเวียนอยู่ใกล้รังไข่ของเธอ
นั่งดูพักใหญ่ๆ ดูเขาจะไม่ได้กินอะไรเต็มท้องเลย บนพื้นดินนั้นไม่มีอาหาร นึกถึงข้าวก้นจานของพวกเรา นึกถึงอาหารเหลือของพวกเรา หากเธอได้ของเหลือเหล่านั้นก็มากพอที่เธอจะได้พลังนอนกกลูกต่อไปอีก
จึงเข้าไปในห้องดูว่าจะมีอะไรให้เธอกินได้บ้าง เห็นมีกล้วยตากเหลืออยู่ 1 ชิ้น จึงจัดการเอามาวางใกล้ๆปากของเธอ แล้วเธอก็จิกกินจนหมด
มันเป็นวิถีชีวิตปกติธรรมดาที่ใครต่อใครก็เห็นกัน..
แต่หากใช้มุมมองแบบ “เห็นในเห็น” นั้นเล่าคืออะไร
เราล่ะทำชีวิตให้เกินธรรมดามากไปหรือเปล่า
อือ..เราเห็นตัวเองว่า.ไอ้นั่นก็ใช่ นี่ก็ถูก โน้นก็แม่นแล้ว…
เฮ่อ เรานี่ปรุงแต่งมากไปแล้วนะ..
เกินธรรมดาไปมากแล้วนะ
หากท่านมีเวลา เชิญแวะที่นี่บ้างก็ได้นะครับhttp://www.pasukato.org/about_watpasukato.html
“จงคิดเสียใหม่ว่า ท่านไม่ได้เป็นมะเร็ง เพียงแต่มะเร็งมาอยู่กับตัวท่าน กายเป็นมะเร็งก็ให้รู้ไว้ แต่ใจท่านจะต้องไม่เป็นมะเร็ง”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านบรรยายกับกลุ่มคนที่เป็นมะเร็ง ผมดูทีวีเมื่อค่ำนี้ ชอบคำนี้ครับ
เขาว่าปีนี้ราคาข้าวมันดี.. ก็วิทยุ มันว่าไง เขาว่าพายุมันเข้าเวียตนาม ฟิลิปปินส์ คู่แข่งข้าวของเรา พังพาบลงไปแล้ว เหลือแต่เราไม่เป็นไรมากนัก ก็นอนยิ้มๆอยู่ แต่ยิ้มได้ไม่นานหรอกคุณเอ้ยย รายจ่ายมันไปล่วงหน้าแล้ว
รัฐก็มาช่วยจัดประกันราคาให้ เห็นแต่เถ้าแก่ยิ้มกว้างกว่าเพื่อน ทั้งขึ้นทั้งล่องเถ้าแก่ได้หมด ได้ลูกเดียว
ลูกน่ะหรือ มีซิ สาม สี่ คนนั่น… โอยมันไม่อยู่หรอกบ้านเรา โน้น..มันไปกรุงเทพกรุงไทยโน่น ส่งเงินมาบ้าง ไม่ส่งมาบ้าง นี่ตากับลูกเขยก็ต้องมาทำเอง ปีหน้าปีโน้นก็ปลดละวางตัวเองแล้ว ไม่ไหวแล้ว
นั่นยาย..มานั่งดูตาทำงาน แค่เดินก็จะไม่ไหวแล้วจะมาช่วยอะไรได้ แกมาให้กำลังใจหรือมากำกับก็ไม่รู้ หุหุ ก็ดี…มีคนคุยด้วย
เองทำงานอะไรเล่า…. จะมาช่วยตาหรือไงล่ะเห็นหยุดรถถามโน่นถามนี่
ไหวหรือเจ้านาย เดี๋ยวมือไม้ไม่ได้จับปากกาหรอกนะจะบอกให้….
ฝากไปบอกนายกด้วยนะ…มาเยี่ยมทางนี้บ้าง ไม่มีหรอกเสื้อแดงเสื้อเหลืองน่ะ มีแต่เสื้อเหม็นๆของตาที่แหละ..
ตาชอบคนนี้… ถ้าลูกสาวยังโสดจะยกให้เลยนะเนี่ยะ..
..!!!!..
อากาศดีดีอย่างนี้ผมก็ปิดแอร์รถ เปิดกระจก รับลมเย็นข้างนอก
โอ้….ดีจริงๆ.. เพลินไปเลย
ผมชอบฟังข่าวหนักๆจึงเปิดวิทยุ AM รัฐสภาฟังการอภิปราย ก็ได้ความรู้มาก ฟังความเห็นคนโน้นคนนี้ วิเคราะห์สาระคนโน้นคนนี้ บางทีก็เบื่อสุดเบื่อ ที่สภาวุ่นวายจริงๆ แต่ก็ได้ความรู้ เหมือน update บ้านเมือง
เมื่อ ผ่านกุฉินารายณ์ ก็เข้าเส้นทางไปมุกดาหาร มีหลายช่วงที่ถนนสวยมาก ผมชอบ เพราะเหมือนอุโมงค์ต้นไม้ ผมขับรถช้าเพราะรถตำแหน่งนั้นเก่าและโทรมมากๆ ไม่กล้าขับเร็วๆ เพราะซ่อมใหญ่มาหลายครั้งแล้ว จริงๆควรจะปลดระวางได้แล้ว แต่โครงการไม่มีนโยบายเปลี่ยนรถให้ นอกจากเปิดโครงการใหม่ ก็จะซื้อรถใหม่ ตามปกติของโครงการ
เอ บรรยากาศก็ดี อากาศก็เย็นดี ทำไมกลิ่นโชยมาไม่ค่อยดีเลย
เลยขับรถเร็วขึ้นเข้าไปดู รถคันข้างหน้า
ป๊าดดดดด นั่นมันรถบรรทุกปลาร้านี่เอง
ในปี๊บเต็มหลังรถคันนั้น มีแต่ปี๊บปลาร้า มุ่งหน้าไปคำชะอี มุกดาหาร เส้นทางเดียวกับเรา ผมเลยเร่งแซงไปเลย ควบอีแก่ปุเลงๆแซงไปอยู่ข้างหน้า เฮ่อ ค่อยหายเหม็นหน่อย..
ใจยังนึกว่า โห ก็ปี๊บนั่นขึ้นสนิมเต็มไปเลย มันจะมีผลกับ ส้มตำปลาร้าไหมหนอ
เฮ่อ ใครชอบส้มตำปลาร้าระวังเด้อ…..อิอิ
เราทราบกันดีว่าสังคม Blog ได้สร้างมิติใหม่ของการเรียนรู้ในบ้านเรา ที่เรียก KM และแนวความคิดเรื่องนี้ก็กระจายไปมาก มี Blog เกิดขึ้นมากมายจนนับไม่ถ้วน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ทั้งที่ก่อประโยชน์ และสร้างปัญหา
แต่ที่ลานแห่งนี้เป็นกลุ่มคนคอเดียวกัน แต่ก็กำลังเคลื่อนตัวไปสะดุดบ้าง ราบรื่นบ้างก็เป็นไปตามปรากฏการณ์ของการเคลื่อนตัวขององค์กรที่ผมเฝ้าสังเกตมา ผมไม่กล่าวถึงตรงนั้น แต่อยากจะขยายมุมมองที่พ่อครูบาฯพยายามใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ และได้ใช้มาแล้วหลายครั้ง ท่านเองก็พอใจ(ระดับหนึ่ง)
ผมเข้ามาอยู่ในวงการนี้ก็ สามปีแล้ว เห็นประโยชน์และพยายามเอาไปขยายสู่องค์กรที่สังกัด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเลย ทั้งหมดเป็นผู้อ่านเพียงอย่างเดียว แปลกนะ เวลาประชุมต่อหน้าบ่อยครั้งก็คุยกันข้ามวันข้ามคืน แต่ไม่เขียน เวลาผมเขียนก็ไม่มีความคิดเห็นย้อนกลับ เฉย เงียบ เลยไม่รู้ว่า เอ มันเอาไงแน่ รู้แต่ว่า หัวหน้างานที่เป็นชาวต่างประเทศ เอาไปแปลและสนับสนุนให้ขยายเรื่องนี้ต่อไปจนเปิด Web ขององค์กร แล้วอบรมเลขานุการทุกสำนักงานให้เอาผลงานทุกอย่างของโครงการไปใส่ที่นั่น เพื่อทุกคนจะได้เข้าถึงข้อมูลทันที ลดการส่ง Fax เอกสารที่เป็น hard copy ลดต้นทุน…
ย้อนกลับมาที่ ประเด็นของพ่อครูฯ ที่ท่านใช้ Blog เป็นเวทีระดมความคิดเห็น และหลายๆคนก็แสดงความเห็นไปใน Comment และท่านก็เอาผลไปประมวลแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆต่อไป ผมอยากเรียกว่า เป็นการประชุมทาง Blog ซึ่งผมชอบมาก การประชุมทาง Blog นี้มีประโยชน์หลายประการ
อย่างที่ผมลองสรุปมาเป็นเบื้องต้นนี้ ผมประมวลว่า ทั้งตัว Blog นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจและความคิดเห็นของเพื่อนๆที่แสดงเข้ามาก็น่าสนใจ หลายครั้งผมพบว่ามันช่วย เตือนสติเรา เป็นความรู้ใหม่มีประโยชน์ก็เอาไปปรับใช้ มีมากมาย เช่น การปลูกผักของโสทร ผมก็เอาไปใช้ แนวทางการป้องกันโรคของหมอตา ความรู้เรื่องกฎหมายที่ดินที่ อัยการเล่าให้ฟัง พืชผักที่เป็นประโยชน์ต่างๆที่อาม่าเอามาขยาย ที่พ่อครูเล่าให้ฟัง โอยมากมาย
ความรู้ทั้งหลายนั้นเอามาวางในที่สาธารณะใครๆก็เข้ามาเรียนรู้ได้ ทุกเมื่อเชื่อวัน วงสังคมนี้เชื่อมความสัมพันธ์แก่กัน ผมมาอยู่ขอนแก่นจนเป็นชาวขอนแก่นไปแล้วนานมาแล้วไม่รู้จักป้าหวานที่อยู่ใกล้ๆกันเอง แต่ก็มารู้จักกันใน Blog นี้ และที่สำคัญ หากมีการระดมความคิดเห็นต่อประเด็นใดๆ ก็สามารถเอาเหตุผลทั้งหมดนั้นมาสรุปความรู้ได้
มันก็เหมือนการประชุมทาง Blog นี่เอง
ผมสนับสนุนเวทีแบบนี้ เพราะผมมองเห็นประโยชน์หลายอย่าง ดังตัวอย่างที่ผมสรุปมาในแผนผังข้างบนนี้ เลยนึกไปถึงว่า คนข้างกายผมเดินทางไปประชุมกรุงเทพบ่อย จน ไมล์เลจน์ มากพอที่จะได้ตั๋วฟรีให้ลูกสาวบินไปไหนต่อไหนมาหลายครั้งแล้ว
ผมลองคำนวณดูว่า หากเราประชุมทาง Blog โดยไม่เดินทาง คงจะประหยัดงบประมาณมากมายทีเดียว เช่น ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าแท็กซี่ ค่าอื่นๆ ต่อคนก็ไม่ใช่น้อย และเอาจำนวนคนคูณเข้าไปก็มหาศาลทีเดียว การประชุมหลายครั้งก็ไม่ได้พูดสักคำ ปิดประชุมแล้ว
ยกเว้นการประชุมที่สำคัญๆที่จำเป็นต้องเห็นกันต่อหน้า
แน่นอนจุดอ่อนก็มี แต่เราก็สามารถพิจารณาได้ว่า การประชุมแบบไหนที่ใช้ Blog ก็พอ การประชุมแบบไหนที่ต้องแบบเห็นหน้ากัน หรือจะใช้แบบ tele-conference ก็เป็นทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน
ผมเชื่อว่าบทความสั้นๆต่อไปนี้ทุกท่านคงผ่านตามาแล้ว แต่ผมก็ยังประสงค์บันทึกในลานนี้อีกเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ลานปัญญาต่อไป เจตนาผมต้องการเทิดทูลพระองค์ท่าน ในวาระที่จะครบรอบวันสำคัญ 5 ธันวาคมที่จะมาถึงนี้ ผมไม่เคยมีบุญได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท แต่การทำงานเพื่อสังคม และพยายามเป็นคนดี ก็ถือว่าสนองพระคุณแด่พระองค์ท่าน และแผ่นดินนี้
ต่อไปเป็น FW mail ที่ผมได้รับมาสามรอบแล้วครับ จึงขอนำมาบันทึกในที่นี้เพื่อเตือนสติแก่พวกเราด้วย
————————————-
30 บาทรักษาทุกโรค
ในขณะที่ในหลวงท่านทรงประชวรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่เมื่อต้นปีนี้ มีข้าราชบริพารเข้าเยี่ยมจำนวนมาก ทุกคนคงจำได้ที่เป็นข่าวใหญ่โตที่นายกฯท่านหนึ่ง บังอาจถวายบัตร 30 บาท ให้พระองค์ เพื่อใช้สิทธิ์ สร้างความแค้นเคืองใจให้พสกนิกรชาวไทยทุกคน แต่ไม่มีใครรู้เบื้องหลังว่าพระองค์ทรงตอบว่าอย่างไร ในหลวงทรงตรัสว่า “ไม่เป็นไรหรอกหากข้าพเจ้าไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ แต่คงสามารถใช้บัตรผู้สูงอายุได้หรือจะใช้สิทธิข้าราชการของบุตรี (ฟ้าหญิง) ก็ได้” ท่านพูดเสียงเรียบๆ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกลบหลู่เลยพูดเสร็จก็ยื่นบัตรทองใบนั้น ให้นายกที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ฟังแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ว่าท่านตอบได้น่ารักมาก เคยมีคนถามผมว่านับถือใครมากที่สุด คิดถึงคนแรกและคนเดียวเลยคือ ในหลวงท่านเหนือกว่ากษัตริย์ใดในโลกหล้ายิ่งใหญ่กว่าวีรบุรุษคนใดในตำนาน มีคุณธรรมประเสริฐล้ำเทียบพระโพธิสัตว์ ขอถวายความจงรักภักดีจนกว่าชีวีจะหาไม่
เชื้อโรคตายหมด
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการโครงการหลวง
……. เหตุการณ์ในปี ๒๔๑๓ ที่ควรจะนำมากล่าว เพราะมีผลต่อจิตใจของชาวเขา และควรที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ทราบเพื่อพยายามเดินตาม “เบื้องยุคลบาท”วันนั้นเสด็จฯ ไปหมู่บ้านดอยจอมหด พร้าว เชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ “ไปแอ่วบ้านเฮา” ก็เสด็จฯ ตามเขาเข้าไปบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ และมุงหญ้าแห้งเขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้างจนมีคราบดำ ๆ จับ ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงเพราะตามปกติ ไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ จึงกระซิบทูลว่าควรจะทรงทำท่าเสวยแล้วส่งถ้วยมา พระราชทานให้ผู้เขียนจัดการ แต่ก็ทรงดวดเองกร้อบเดียวเกลี้ยง ตอนหลังรับสั่งว่า..”ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้น เชื้อโรคตายหมด” จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ
ข้าวผัดไข่ดาว โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
วันหนึ่งเสด็จฯเขาค้อเปิดอนุสาวรีย์ พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จพระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนักเฟื่อจะทรงเปลี่ยน ฉลองพระบาทเพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง………เราก็ไม่ได้ทานข้าวไม่มีใครทานข้าว ตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้วก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาทสักยี่สิบนาทีน่าจะพุ้ยข้าวทันก็รีบวิ่งไปห้องอาหารที่เตรียมไว้ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ ตามเสด็จเขาทานกันหมดแล้วในนั้นจึงเหลือข้าวผัดติด ก้นกระบะกับมีไข่ดาวิ้งแห้งไว้ 3-4 ใบ เราก็ตักเห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้ มีข้าวผัดเหมือนอย่างเราไข่ดาวโปะใบหนึ่ง มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่เพื่อนผมก็จะไปหยิบมา มหาดเล็กบอกว่า “ไม่ได้ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก”
ดูสิครับตักมาจากก้นกระบะเลยผมนี่น้ำตาแทบไหลเลยท่านเสวยเหมือนๆกันกับเรา…… ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ
พับเพียบ
รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์ผู้สนองพระราชดำริ ในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศ และอิเล็กทรอนิกส์
… ในครั้งแรก ผมทำงานตามพระราชดำริ โดยไม่ทราบว่าเป็นงานของพระองค์จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนบอกว่า ให้เข้าไปในวังด้วยกัน และให้นำระบบสายอากาศชนิดใหม่ขึ้นไปติดตั้ง ก็ไม่ได้คิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มาแต่ว่าแปลกใจทำไมอยู่ดี ๆเจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆอย่บนดาดฟ้าของพระตำหนักถึงปีนลงมาทั้ง ๆ ที่งานยังไม่เสร็จ แท้ที่จริงพระองค์ท่านเสด็จฯ มายืนอยู่ข้างหลัง ผมเหลียวหลังไปมองนิดหนึ่ง ครั้นพอเห็นพระองค์ท่านก็ตกใจ เป็นอาการวูบขึ้นมาทันที นึกอยู่ในใจว่าใช่แล้ว ใช่แน่ ๆ เพราะคิดว่าเหมือนในรูปผมก็รีบทำความเคารพ แล้วก็ทำอะไรไม่ถูก สิ่งที่ผมจำได้คือเราต้องอยู่ต่ำกว่าจึงรีบคุกเข่าให้ต่ำลงมา เป็นเหมือนชันเข่า เพราะว่าตอนนั้นพระองค์ท่านประทับยืนอยู่ ถ้านั่งพับเพียบเลยก็จะต่ำเกินไปเพราะว่าผมต้องพูดอธิบายด้วย ปรากฏว่าพระองค์ท่านก็คุกเข่าลงไปด้วย ผมก็เลยนั่งพับเพียบให้ต่ำลงไปอีก พระองค์ท่านก็ประทับพับเพียบเหมือนกันเลยกลายเป็นว่าวันนั้น นั่งพับเพียบสนทนากัน ๒-๓ ชั่วโมงบนดาดฟ้าพระตำหนักในเวลาช่วง บ่ายที่ร้อนเปรี้ยง ……. จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ
ไม่ต้องกั้น
โดยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล มีอยู่ครั้งหนึ่งเสด็จฯไปที่เซ็นทรัลวันที่มีประชุมรัฐสภาโลก วันนั้นผมจำได้ผมติดอยู่บนท้องถนนฝนตก ผมก็มีวิทยุเลยได้ยินรับสั่งมากับตำรวจมาเลย “วันนี้ไม่ต้องกั้นรถ”ทรงเข้าใจความทุกข์ของราษฎรอยู่ตลอดเวลา วันนี้เป็นวันฝนตกรถติดกันอย่างมหาศาล ถ้าขืนต้องไปติดขบวนอีกสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนทรงวิทยุบอกตำรวจว่า “ขบวนจะแล่นไปพร้อมกับรถของประชาชนไม่ต้องกั้นเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน” จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ
กส. ๙
พลตำรวจตรี สุชาติ เผือนสกนธ์อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข
..พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้เครื่องวิทยุที่ทรงมีอยู่ เฝ้าฟังและติดต่อกับ “ปทุมวัน” และ “ผ่านฟ้า” เป็นครั้งคราวเมื่อทรงว่างพระราชภารกิจอื่น การติดต่อทางวิทยุได้ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ผู้ที่ติดต่อกับพระองค์ท่านไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ พระองค์ท่านทรงจดจำสัญญาณเรียกขาน, ประมวลคำย่อ (โค๊ด “ว”)ได้อย่างแม่นยำ และใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยยังปฏิบัติไม่ได้ โดยการรับฟังการติดต่อในข่ายวิทยุของตำรวจนี้เองจึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวรายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นข่าวโจรกรรม ,อัคคีภัย ,การจราจรได้ทุกระยะ ในการเสด็จจากที่ประทับของพระองค์ท่านเพื่อปฏิบัติพระราชภารกิจ
… จึงทรงพระกรุณารับสั่งให้สมุหราชองครักษ์ติดต่อประสานงานกับกรมตำรวจ ให้สั่งการสถานีตำรวจท้องที่ติดต่อสื่อสารทางวิทยุกับแผนกรักษาความปลอดภัย บุคคลสำคัญ กรมราชองครักษ์ เพื่อจะได้ทราบกำหนดเวลาเสด็จออกจากพระตำหนักที่ใกล้เคียง และปิดการจราจรในเส้นทางผ่านเพียงช่วงเวลาสั้น ๆประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อน
… มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ได้รับสั่งทางวิทยุ กับพนักงานวิทยุ
สถานีวิทยุกองกำกับการตำรวจนนทบุรี เพื่อจะพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติ การสื่อสารบางประการโดยทรงใช้สัญญาณเรียกขานว่า “กส. ๙” ติดต่อเข้าไป พนักงานวิทยุผู้นั้นจำพระสุรเสียง ไม่ได้จึงได้สอบถามว่า “เป็น กส.๙” จริงหรือปลอม ทั้งดูเหมือนจะใช้คำพูดไม่สู้จะเรียบร้อยเรื่องนี้จึงเดือดร้อน มาถึงผู้เขียน เนื่องจากได้รับสั่งเล่าเหตุการณ์มาให้ทราบเพื่อให้ช่วยยืนยันว่าเป็น “กส.๙ จริง”
…ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์ท่าน ยังทรงห่วงใยว่าพนักงานวิทยุผู้นั้น จะถูกลงโทษทางวินัย จึงได้รับสั่งทางวิทยุให้ผู้เขียนติดต่อประสานงานกับผู้บังคับบัญชาของพนักงานวิทยุ ขออย่าให้มีการลงโทษเลย จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ
ตัวยึกยือ
มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อดีตเลขาธิการ สำนักงานกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
…… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจะพระราชดำเนินด้วยพระบาท เข้าไปในป่ายางท่ามกลางฝนตกหนักโดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตามรอยพระยุคลบาทไปไม่ห่างเป็นระยะทางถึง ๒ กม. เศษ
…. นี่คือสิ่งที่มิใช่สามัญธรรมดาในความรู้สึก ของผู้คนและความไม่สามัญ ธรรมดานี้ ก็ยิ่งไม่ธรรมดามากยิ่งขึ้น เป็นทวีคูณเนื่องเพราะบริเวณนี้คือ “ดงทาก” หรือ “รังทาก”อันมีทากชุกชุม ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
…กว่าจะถึงจุดหมาย คือบริเวณพื้นที่ที่จะพิจารณาสร้าง อ่างเก็บน้ำเพื่อใหม่มีน้ำไว้ใช้ สำหรับพื้นที่ ๕,๐๐๐ ไร่ใน ๓ เขตตำบลคือ เชิงคีรี มะยูง และรือเสาะ เกือบทุกคนก็โชกฝน และโชกเลือด แม้ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์ ก็มิได้รับยกเว้น
….. ค่ำวันนั้น ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อากาศปลายฤดูฝน กำลังสบาย ดวงดาวบนท้องฟ้า เริ่มจะปรายแสงขบวนรถยนต์พระที่นั่ง ได้หยุดลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุบนทางหลวงที่มืดสงัด เป็นเวลาหลายนาทีถามไถ่ได้ความภายหลังว่ายังมีทากหลงเหลือ กัดติดพระวรกายอยู่อีก เมื่อรู้สึกพระองค์จึงได้ทรงหยุดรถยนต์พระที่นั่งและรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯช่วยจับทากที่ตัวเป่งด้วยพระโลหิตออกจากพระวรกาย
… ทรงเรียกการทรงงานวิบาก ที่เชิงคีรีครั้งนี้ในภายหลังว่าสงครามกับตัวยึกยือ ที่เชิงคีรี “ จากหนังสือในหลวงที่สุดของหัวใจ
Stonehenge in Thailand
เอารูปมาให้ชมก่อน เป็น Stonehenge ที่บนภูเขา จังหวัดชัยภูมิ หลังจากจบทอดผ้าป่าแล้วทีมงานก็ไปเที่ยวต่อ ผมไม่รู้มาก่อนว่ามีหินแบบนี้ในบ้านเรา
น่าสนใจมาก นักธรณีวิทยาคงมาศึกษากันปรุไปแล้ว เป็นกองหินธรรมชาติที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ที่มีขนาดใหญ่และสูงเท่านี้ ในแง่ความสวยงามตามธรรมชาตินั้น สวยมากขึ้นหากท้องถิ่นพัฒนามากกว่านี้ ควบคุมคนมาเที่ยว จัดการขยะ และวิธีการเที่ยวที่มีการให้ข้อมูลไปด้วย นี่ไม่มีอะไรเลย เห็นแต่หินสวยๆ ยืนมากี่ล้านปีก็ไม่รู้
ถนนฝุ่นตลบ แต่กำลังพัฒนา
วัยรุ่นเที่ยวนี่ซิ เห็นแล้วก็รำคาญสายตาจริงๆ
เอาแค่นี้ก่อนนะ ทริปนี้มีหลายอย่างแต่งานรออยู่ครับ ค่อยทยอยก็แล้วกันครับ
วันนั้นไปทานอาหารเจที่ร้านประจำที่มุกดาหาร เมื่อเสร็จจะกลับสำนักงาน ผมเห็นชายท่านนี้นั่งยิ้มคนเดียว แล้วก็ก้มหน้าแกะปมเชือกขนาดใหญ่อย่างไม่สนใจใคร ผมหยุดดู
ท่านก็ไม่สนใจ เงยหน้ายิ้ม กึ่งหัวเราะ แล้วก็ก้มหน้าแกะปมเชือกต่อ
….ความสนใจของเขา
โลกของเขาอยู่ที่ปมเชือกนั้น..เท่านั้น…
ไม่ได้เอาอะไรมาตอนเกิด
ยามตายจากไปก็ไม่สามารถเอาอะไรไปได้
นอกจากความดี ความชั่ว ที่คนข้างหลังกล่าวถึง
ปัจจุบันผมทำอะไรอยู่เล่า
ผมถามตัวเองในใจ…
หากทบทวนว่าในชีวิตได้ตัดสินใจทำอะไรที่ผิดหวังตัวเองบ้าง ก็มีหลายประการครับ ขอเก็บไว้เป็นบทเรียนชีวิตก็แล้วกัน หากถามต่อว่ามีอะไรที่ประทับใจตัวเองบ้าง แบบยังติดในความรู้สึกดีดี จนปัจจุบันก็มีหลายประการเช่นกัน พอเอามาเล่าสู่กันฟังได้บ้างคือ
เมื่อเรียนจบก็ตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่ชนบทด้วยสำนึกพุ่งกระฉูดตามยุคสมัยคนเดือนตุลา เป็นโครงการพัฒนาชนบทที่สะเมิง เชียงใหม่ ในป่าเขาหลังดอยสุเทพ เป็นโครงการของมูลนิธิหนึ่งของประเทศเยอรมัน เงินเดือนครั้งนั้นจำได้ว่าสามพันห้าร้อยบาท ซึ่งสูงกว่าการเป็นข้าราชการใหม่ที่ได้ประมาณ สองพันกว่าบาท แม้ว่าเราจะกินนอนอยู่ในชนบท แต่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ออกมาที่ตัวเมืองเชียงใหม่ เช่าบ้านทิ้งไว้ที่หมู่บ้านสันติธรรม มาทราบปัจจุบันว่าท่านจอมป่วนมีบ้านหรูอยู่ตรงนั้นด้วย เราอยู่กัน 4 คน แบ่งค่าเช่ากัน ใช้มอเตอร์ไซด์วิบากที่โครงการจัดหาให้เป็นพาหนะ มีหมวกกันน๊อค ใส่ถุงมือใส่รองเท้าหุ้มแข้งตามหลักปลอดภัยที่ฝรั่งเจ้าของโครงการบังคับให้เราปฏิบัติ ก่อนที่กฎหมายเมืองไทยจะบังคับนับสิบปี
แม้จะมีสำนึกในการทำงานเพื่อสังคมชนบทแต่ก็อ่อนประสบการณ์ และก็เป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง ก็ดื่ม สูบบุหรี่ เที่ยวดูหนังกับกลุ่มเพื่อน แต่ก็แบ่งเวลาไปเชื่อมกับน้องๆนักศึกษาที่ยังเรียนในมหาวิทยาลัยแหล่งที่เราเรียนและทำกิจกรรมมา
พ่อขึ้นไปเยี่ยมหาและเข้าไปดูว่าลูกคนนี้เรียนจบแล้วทำงานอะไรทำไมไม่สอบบรรจุเป็นข้าราชการตามที่พ่อแม่หวัง เหมือนเพื่อนๆที่เรียนจบไปแล้วส่วนใหญ่ พ่อเข้าไปถึงพื้นที่ท่องไปตามหมู่บ้านที่ผมทำงาน นั่งหลังห้องเมื่อผมทำหน้าที่ประชุมชาวบ้านในเรื่องกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน และวันสุดท้ายที่พ่อจะเดินทางกลับ ผมควักเงินที่สะสมไว้บ้างมอบให้พ่อเหมือนที่ใครๆทำกันว่า เมื่อจบแล้วมีเงินเดือนก็ส่งให้พ่อแม่บ้างนะ พ่อรับเงินจากมือผมพร้อมกับมองหน้าผมแล้วกล่าวว่า “ขอบใจลูก” สายตาที่พ่อมองผม ผมสัมผัสได้ว่าพ่อต้องการสื่ออะไร พ่ออยากจะบอกอะไรกับลูกคนนี้บ้าง พ่อไม่เอ่ยอีกเลยว่า พ่ออยากให้ลูกเป็นข้าราชการ สายตาพ่อวันนั้นมันติดตาผมมาตลอดสื่อถึงความเข้าใจและเข้าใจว่าลูกพ่อคนนี้กำลังทำอะไร
หลายปีต่อมาพ่อไม่สบายมากนอนที่โรงพยาบาล ผมไปเยี่ยมและนั่งข้างเตียงพ่อ นวดให้พ่อ คืนนั้นพ่อลูกคุยกัน แล้วผมก็ถือโอกาสบันทึกเทปสิ่งที่เราคุยกัน แล้วขอให้พ่อเล่าชีวิตพ่อให้ฟังทั้งหมด พ่อมีความสุขมากที่ได้เล่าชีวิตพ่อให้ผมฟังหลายเรื่องผมรู้มาก่อนแล้วแต่ก็มีหลายเรื่องที่ผมไม่รู้มาก่อน บางช่วงบางตอนพ่อหัวเราะงอหายทั้งๆที่ป่วยหนัก บางช่วงน้ำตาพ่อก็ล่วงหล่นมา ยันสว่างคาตา ที่พ่อลูกคุยกัน แม่ตื่นขึ้นมาก็เตือนพ่อว่า ลูกต้องขับรถกลับไปขอนแก่นทำงาน เดี๋ยวขับรถไม่ไหว นั่นเองเราจึงหยุดคุยกัน
หลังจากนั้นไม่นานพ่อก็เสียชีวิต..
อีกเรื่องที่ผมประทับใจในสิ่งที่ได้ทำ คือ ได้ช่วยเพื่อนที่เดือดร้อน…เขาคือเพื่อนร่วมงานเธอคือสาวชาวบ้านที่เพื่อนชอบพอและได้เป็นสามีภรรยากัน เมื่อโครงการพัฒนาชนบทปิดโครงการ พวกเราก็แตกกระสานซ่านเซ็น ตามเงื่อนไขปกติที่เรารู้ชะตาชีวิตอยู่แล้ว ผมเผ่นจากเหนือมาอีสาน เพื่อนไปทำงานที่แม่ฮ่องสอน เมื่อโครงการที่นั่นจบก็ไม่มีงานโครงการที่จะสมัครเข้าไปทำงานอีก จึงหันหน้าเข้ากรุงเทพฯ ไปขายน้ำเต้าหู้ แต่ก็โดนตำรวจเทศกิจไล่จับ สองคนผัวเมียกับลูกน้อยก็หิ้วหม้อน้ำเต้าหู้ร้อนๆวิ่งหนีตำรวจ….ไม่ไหวกลับบ้านเกิดภรรยาที่เชียงใหม่ดีกว่า แต่ไม่มีเงินเลยเขาขอเงินผม ก็ส่งไปให้แล้วบอกว่า ไม่ต้องคืนเงินจำนวนนี้ แต่ขอให้นายได้ช่วยคนอื่นต่อไปเหมือนเราช่วยนาย…
หลายปีต่อมาสองคนผัวเมียมีเงินมีกิจการหลายล้านบาท และได้เอาเด็กมาเลี้ยง ให้ทุนการศึกษา ช่วยเหลือสังคมต่างๆมากมาย ด้วยเพราะทำตามที่เราบอกกล่าวเขาไว้เมื่อเขาตกยาก…. ผมประทับใจ “ลูกโซ่แห่งการทำดี” แบบนี้จังเลยนึกเมื่อไหร่ก็ประทับใจเพื่อนที่เขามีสำนึกแห่งการเอื้ออาทร
อีกซักเรื่อง ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาชลประทานภาคตะวันออกเฉียงเหนือในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านฝึกอบรม ซึ่งทำหน้าที่อบรมให้แก่ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำและเจ้าหน้าที่โครงการ เจ้าหน้าที่ข้าราชการกรมชลประทาน และการใช้ชีวิตที่สนุกสุดขีดทั้งที่มีครอบครัวแล้วและมีลูกน้อยแล้ว ดื่ม สูบบุหรี่ เที่ยวกับเพื่อน และน้องๆร่วมงาน
เย็นวันนั้นผมได้รับโทรศัพท์ว่าทำงานเสร็จแล้วจะไปคอยหน้าสำนักงานนะ คนข้างกายโทรมาบอกให้ไปรับ ผมรับปาก แต่แล้วน้องๆก็ชวนไปนั่งดื่มเบียร์หลังเลิกงาน โดยน้องไม่ทราบว่าผมมีนัด และผมก็คิดว่า เออ ไปร่วมคุยกับน้องๆซักหน่อยเดี๋ยวก็ค่อยไปรับเธอ…..เพลินครับเมื่อดื่มไปแล้วก็เพลิน คุยกันสนุก พักใหญ่ๆนึกขึ้นได้..ตายแล้ว…ตายแล้ว…ทิ้งเธอไว้ที่นั่นยังไม่ได้ไปรับ เท่านั้นเองรถคันเก่าๆก็บึ่งเต็มที่ไปรับเธอ เมื่อถึง ผมเห็นตาเธอแดงๆ โดยไม่พูดอะไร เท่านั้นเอง ผมรู้ตัวดีว่าผิดพลาดอะไร…
วันรุ่งขึ้นขณะที่นั่งทำงานที่ห้อง มีรถโฆษณาผ่านหน้าที่ทำงาน โฆษณาถึงท่านอาจารย์ชิงไห่ Supreme Master จะมาปาฐกถาธรรมที่โรงแรมโฆษะ ผมจึงตัดสินใจพาลูกสาวไปฟังในคืนนั้น คนเต็มห้องล้นออกมาข้างนอก สามชั่วโมงที่ท่านปาฐกถาธรรม แล้วก็เชิญชวนให้มาปฏิบัติธรรมโดยทานเจและนั่งสมาธิกัน ลูกสาวนั่งหลับจึงพามาส่งบ้านแล้วผมกลับไปร่วมกิจกรรมต่อโดยตัดสินใจเด็ดขาดเข้าร่วมเป็น Follower นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาผมเป็นคนทานเจ ปฏิบัติธรรมแบบพลิกฝ่ามือจนภรรยาและเพื่อนร่วมงานแปลกใจ สมาชิกวงเหล้าวงเบียร์ขาดผมไปแล้ว กลุ่มผู้สูบบุหรี่ไม่มีผมอีกต่อไป การเที่ยวเตร่ไม่เห็นหน้าผม แน่นอนเพื่อนผมหายไปมาก แต่เราก็มีความสุข นี่คือเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
เมื่อวันก่อนคนข้างกายบอกว่ารู้สึกเจ็บๆที่ไหล่ซ้าย กดดูก็ไม่มีก้อนอะไร และพิจารณาดูรู้สึกว่าเจ็บมากขึ้น มากขึ้น
เอ๊ะ..ไม่ได้เรื่องแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องเอาใจใส่สุขภาพอย่างจริงจังมากขึ้นกว่าจะทำบ้างไม่ทำบ้าง บัดนี้ผมต้องตัดสินใจอีกครั้งในเรื่องสุขภาพ ที่ต้องเคร่งการกินอยู่ของเราทั้งสองคน เพื่อรักษาสุขภาพ
เราตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตมาก็หลายครั้ง มาครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ต้องทำต้องดำเนินการเรื่องสุขภาพร่างกายของเราทั้งสองคน… เราจะนั่งคุยกันว่าจะจัดตารางสุขภาพอย่างไรบ้าง หากไม่ทำวันนี้ ก็ไม่มีข้อแก้ตัวอีกต่อไปแล้ว…..
นี่คือเจตนาที่ผมตั้งใจจะทำครับ..
ขอ TAG ต่อไปที่ อาว์เปลี่ยน หวังว่ายังไม่โดน Tag นะ อีกท่านก็ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า BM.chaiwut โดยมีข้อตกลงตาม กติกา นี้ครับ
รอรับพ่อครูบาฯที่สนามบินขอนแก่นเมื่อเช้านี้ คนมารับมีจำนวนมากมาย คิดว่าคงมีผู้ใหญ่มาเที่ยวบินนี้ จริงๆคือ หมอประเวศ วะสี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุข และปลัดกระทรวงนี้ และผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงหลายท่าน มาร่วมงานที่ Pullman
จ๊ะเอ๋ กับ อ.แสวง ที่มารับพ่อครูเหมือนกัน เลยพากันไปกินเซี่ยงจี้เลิศรสของขอนแก่น แล้วพ่อครูก็ตัดสินใจไปแปลงนา อ.แสวง แทนไป รพ.น้ำพอง พ่อครูบอกว่าส่งการบ้านให้แล้ว ขอปลีกตัวไปดูนาหน่อย
กำลังเกี่ยวข้าวพอดี อ.แสวง พาเราเดินชมโน่นนี่ พร้อมอธิบายละเอียดยิบ ผมนั้นทึ่งกับ อ.แสวงมานานแล้วตั้งแต่ทราบว่ามาทำนาเอง นี่แหละคนจริง..
ผมถือโอกาสไปคว้าต้นข้าวที่เกี่ยวรวงข้าวไปแล้ว เอามาทำปี่ แบบที่เคยเล่นสมัยเด็กๆ ที่เคยบันทึกไปแล้ว เอามาเป่าดู….ใช้ได้ ใช้ได้ ยังดังอยู่..
บริเวณที่นา อ.แสวงจัดแบ่งเป็นโซน ออกแบบที่นาแตกต่างจากรูปแบบเดิม ขออนุญาตลงรายละเอียดทีหลังครับ
เพราะมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผมที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน
จากแปลงนาเราไปรับป้าหวานไปทานข้าวมังสวิรัติที่ร้านดังที่สุดของขอนแก่น ตะวันทอง ที่ผมเป็นลูกค้ามานานกว่า 10 ปี ที่ร้านนี้เป็นสายอโศก จึงมีหนังสือดีดีที่เกี่ยวกับสุขภาพ และแนวคิดดีดีมาวางขาย รวมทั้งของ อ.ไร้กรอบ ดร.บัญชา (ชิว) ผมเองก็มาคว้าไปหลายต่อหลายเล่ม ยังกองอยู่บนโต๊ะเลย อิอิ
แล้วก็พากันไปเข้าร่วมสัมมนาที่โรงแรม Pullman เรื่อง “เวทีจุดประกาย: ขับเคลื่อนแผนแม่บทกำลังคนด้านสุขภาพสู่การสร้างสุขภาพภาคอีสาน” บุคลากรทางด้านนี้มาร่วมกันแน่นห้องขนาดใหญ่ ต้องใช้เก้าอี้เสริม
มีวิทยากรมาเล่าเรื่องราวด้านนี้ให้ฟัง 6 ท่าน ไม่รวมปาฐกถาของท่านหมอประเวศ วะสี ขอสรุปเท่าที่จับความได้โดยไม่ได้บันทึก
ในที่ประชุมได้เชิญนายแพทย์ในหลายจังหวัดของอีสานมาเล่าประสบการณ์การแก้ปัญหาดังกล่าว ผมเป็นทึ่งกับการทำงานของคุณหมอ พวกเราทุกคนก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ป้าหวานถึงกับกล่าวว่า คุณหมอเหล่านั้นคิดได้ไง..ทำได้ไง..เก่งจัง…
ขอจบดื้อๆ โดยพวกเราประทับใจข้าราชการในกระทรวงนี้ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก ที่ร้านอาหารเย็นและที่สนามบิน เรานั่งวิเคราะห์กันว่า ทำไมบุคลากรกระทรวงนี้เรายกนิ้วให้ แต่เมื่อพ่อครูและ อ.แสวงกล่าวถึงบุคลากรอีกกระทรวงหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างคนนั้น ท่านทั้งสองก็ส่ายหน้า
เรื่องนี้ผมว่าแทงใจดำ อ.แสวงมากเพราะ อ.แสวงกำลังพาลูกศิษย์ลงนาของจริง แต่คณะกลับไม่สนับสนุน ให้เรียนแต่ทฤษฎี….
มาร่วมสัมมนาได้ทั้งชื่นใจและ ถอนหายใจ เฮ่อ….
เถียง….
ไม่ใช่ไทยเถียงกับเขมร เสื้อแดงเถียงกับเสื้อเหลืองนะครับ แต่เป็นเถียงนา..
รูปเบลอๆที่แสดงไว้ในบันทึกก่อนหน้านี้ ความจริงคือรูปนี้
เถียงนา…..
เถียงนาเป็นสิ่งก่อสร้างที่ชาวนาสร้างขึ้นในแปลงนา หรือใกล้ๆแปลงนา เพื่อใช้พักผ่อนยามฤดูทำนาและเกี่ยวข้าว หรือยามไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ได้อาศัยหลบแดดหลบฝน
เถียงนามีมากมายหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบชั่วคราวซึ่งมักเป็นส่วนใหญ่จนไปถึงกึ่งถาวรและถาวร ซึ่งแบบถาวรนั้นน้อยมากๆ ส่วนมากเมื่อยามจะใช้ก็ไปซ่อมแซมบ้าง เช่นหลังคาผุพังไป หรือถูกภัยพิบัติต่างๆ หรือถูกขโมยไป
หลายครอบครัวยามฤดูทำนาก็เอาเถียงนาเป็นบ้านไปเลย หรือเรียกบ้านแห่งที่สองก็ได้ หอบลูกอุ้มเมียไปอยู่ด้วยกันที่เถียงนาโน่น เพื่อสะดวกในการไปมา เพราะงานส่วนใหญ่อยู่ในนา และที่นั่นพร้อมทุกอย่าง มีแหล่งน้ำใช้น้ำกิน มีแหล่งหาอาหาร มีสถานที่ที่ให้ลูกเล่น มีสถานที่ให้สัตว์อยู่
ผมเห็นเถียงนาลักษณะนี้ในภาคเหนือ อีสานและใต้ แม้ว่าอาคารสิ่งก่อสร้างจะแตกต่างกันไป แต่วัตถุประสงค์ก็ทำนองเดียวกัน แต่ผมไม่เห็นเถียงนาในภาคกลางเลย หรือมีน้อยมาก ไม่ได้สอบถามเหตุผล แต่น่าจะเดาได้บ้างเพราะว่า ภาคกลางมักใช้วิธีไปทำนาเช้าแล้วกลับมาพักผ่อนที่บ้าน กิจกรรมกลางนาเช่นการกินข้าวก็จะกินบนคันนา หรือกลางนาโดยเอาฟางข้าว หญ้าต่างๆมาปูแทนเสื่อ
ส่วนเด็กๆจะตามพ่อแม่ไปก็มักจะทำเพิงชั่วคราวโดยใช้ตอซังข้าวซึ่งยาวมากมาปิดแดด ปิดข้างๆ กันแดด และมักให้เด็กพักในร่มนี้ เมื่อเสร็จนา ก็มักจะทำลายฟางข้าวนั้นก็จะถูกเผาไปในที่สุด ปีหน้าก็เริ่่มใหม่
แต่รูปนี้ก็ถือว่าเป็นเถียงนา พบที่คำชะอี มุกดาหาร
ถือว่าเป็นเถียงนายุคไฮเทค อิอิ
รูปอะไรคงเดาออกนะครับ
ไม่ใช่กล้องไม่ดี
ไม่ใช่คนถ่ายรูปนี้ไม่ดี
ไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ใดๆ
……
แต่ นั่งในรถถ่ายรูปผ่านกระจกด้านข้างรถที่ทำงาน
ซึ่งฟีล์มกรองแสงย่นเป็นคลื่น อันเนื่องมาจากรถใช้งานหนัก
ภาพเลยออกมาอย่างนี้
เห็นแปลกดี เลยเอามาฝาก…
ดูไปก็สวยอีกแบบนะครับ
ข้าวที่สุกพร้อมกันหมดทั้งทุ่งนั้นก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะหาแรงงานมาเกี่ยวให้เสร็จเร็วๆไม่ได้ สมัยก่อนคนไม่ได้เรียนหนังสือ จบ ป.4 ก็ออกมาทำไร่ทำนา แรงงานมีมาก แค่ญาติพี่น้องในสายสกุลก็มากมาย เพราะคนโบราณไม่มีการคุมกำเนิด มีลูกมาก ก็มีแรงงานมาก และวัฒนธรรมก็เอื้ออาทรกัน จึงไปเอามือเอาแรงการเกี่ยวข้าวกัน
มาสมัยใหม่ขึ้น คนไม่นิยมทำนา ไปรับราชการกัน แรงงานก็เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะในช่วงเกี่ยวข้าว จึงใช้วิธีลงแขก และในที่สุดลงแขกก็หดหายไปเป็นการจ้างเกี่ยวกัน เริ่มตั้งแต่ 50 บาท ปัจจุบันที่มุกดาหาร(17 พ.ย. 52 วันที่ฝนดาวตกลีโอนิดส์มา)แรงงานเกี่ยวข้าว 250 บาทต่อคนต่อวันทั้งชายหญิง ไม่รวมอาหารและการเอาอกเอาใจสารพัด เช่น มีกระทิงแดงให้ ตกบ่ายแก่ๆ บางรายขอเหล้าขาว เป็นต้น ขนาดนี้ยังหาแรงงานยาก
พนักงานขับรถ และแม่บ้านสำนักงานของผมจึงขอลาไปเกี่ยวข้าว เราก็ให้ไปเป็นสัปดาห์เลย มิเช่นนั้นข้าวจะเสียหายมากขึ้น
ย้อนกลับไปภาคกลาง เมื่อแรงงานเกี่ยวข้าวไม่พอ เจ้าของแปลงนาก็พยายามเร่งเกี่ยวเองตั้งแต่เช้ามืดจนเย็นย่ำ นี่แหละหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ต้องก้มเกี่ยวข้าวทั้งวันปวดเมื่อยไปหมด นาหลายแปลงนั้นพื้นนาก็ยังไม่แห้งสนิทดี ยังมีน้ำอยู่ การเดินย่ำลงไปก็ยิ่งลำบากเป็นหล่มลึก และต้องเดินก้มๆเงยๆทั้งวัน ก็ยิ่งทำให้ปวดเมื่อย หมอนวดพื้นบ้านต้องทำงานหนักในช่วงนี้..
เนื่องจากน้ำเพิ่งจะลดลงไปหมาดๆ ดังกล่าวแล้วว่าพื้นท้องนาหลายแห่งก็ยังไม่แห้งสนิทดี ก็จะมีสัตว์ต่างๆที่อาศัยน้ำตกข้างในแปลงนา ชาวบ้านก็มักจะถือโอกาสจับไปทำอาหารกิน ก็เป็นหอย ส่วนใหญ่ก็เป็นปลา ที่เรียก “ปลาหลงทุ่ง” เพราะพอน้ำลดเขาหาทางออกไปตามกระแสน้ำเพื่อลงไปตามลำคลองไม่ถูก ไม่ทัน มัวเพลิดเพลินทุ่งซะ ก็หลงอยู่ในทุ่งนั่นเอง ช่วงนี้ก็จะมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งก็จะมาหากิน เช่น งู นกเหยี่ยว นกฮูก ซึ่งจะมากลางคืน บางปีก็มีข่าวงูเห่ากัดคนตาย ญาติที่บ้านก็เคยโดยงูเห่ากัดตายในช่วงนี้แหละ
เนื่องจากแรงงานหายาก การว่าจ้างก็แพง แดดในช่วงฤดูนี้ก็จัดมาก ใครที่มีที่นามาก แรงงานน้อย เก็บเกี่ยวไม่ทัน ข้าวที่เกี่ยวมัก “หักคอรวง” เพราะแดดเผารวงข้าวจนแห้งเกินไป เมื่อเกี่ยวรวงข้าวก็จะหักตกลงพื้นท้องนา นี่เอง เป็นหน้าที่เด็กๆอย่างผมต้องเดินเอากระบุงห้อยบ่ากับพี่ๆน้องๆเดินตามคนเกี่ยวข้าวเพื่อ “เก็บข้าวตก” ได้ข้าวตกมากมายครึ่งค่อนกระบุง ต่อคน แล้วเอาไปรวมกัน ผู้ใหญ่ก็จะหาบเอาไปเก็บที่บ้านเพื่อนวดเอาเมล็ดข้าวออกจากรวงต่อไป
การเก็บข้าวตกสำหรับเด็กๆก็สนุกไปอย่าง หากมีหลายๆคนก็เล่นไปด้วยเก็บไปด้วย ผู้ใหญ่ก็ฉลาดจะเอามีดมาตัดต้นข้าวที่เป็นตอเอาตรงโคนๆที่เป็นปล้องข้าว แล้วมาทำเป็นปี่ (อธิบายยากสักหน่อยต้องเอารูปมาให้ดู แต่จะเอามาจากไหนล่ะเนี่ยะ) เอาให้เด็กๆใส่ปากเป่ากันดังลั่นทุ่ง เดินเป่าปี่จากปล้องต้นข้าวไป เดินเก็บข้าวตกไป สนุกดี….
ชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนจน ไม่มีที่นา ก็จ้องว่านาใครเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วบ้าง เขาก็จะเอาเป็ดที่เลี้ยงไว้นับร้อยนับพันตัวมาลงกินอาหารในแปลงนาข้าวที่เกี่ยวแล้วนั้น ที่เรียก “เป็ดไล่ทุ่ง” เป็ดกินอะไรก็ข้าวตกที่ตกหล่นจากการเก็บข้าวตกไม่หมดของเด็กๆนั่นแหละ มัวเป่าปี่เพลินเดินเลยรวงข้าวที่หักขอรวง นั่น และหอย ปูปลาที่ตกค้างในนานั่นคืออาหารวิเศษสุดของเป็ด ชาวบ้านก็ชอบซื้อไข่เป็ดจากเป็ดไล่ทุ่งเพราะไข่แดงจะแดงพิเศษ เพราะเขาได้อาหารดี…
ผมไม่เห็นเด็กชาวบ้านสมัยนี้เป่าปี่จากต้นข้าวเลย อิอิ..
ช่วงนี้ขับรถไปมุกดาหารก็อดที่จะหยุดรถดูข้างทางไม่ได้ เพราะท้องทุ่งอร่ามสีทองเต็มไปหมด
เลยถือโอกาสบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับฤดูกาลนี้ในภาคกลางสมัยที่ผมยังเป็นเด็กเล็ก เท่าที่ความทรงจำยังมีอยู่
กระบวนวิธีการเก็บเกี่ยวข้าวของภาคกลางและอีสานมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ที่เห็นชัดๆคือการมัดข้าว อีสานกับภาคเหนือจะมีความคล้ายคลึงกันมาก คือ มัดข้าวด้วย “ตอก” ที่ทำมาจากไม้ไผ่ที่มีธุรกิจด้านนี้ทำเงินจำนวนไม่น้อย ขนาดข้าวที่มัดนั้นทางอีสานกับภาคเหนือมีขนาดใกล้เคียงกันคือ ประมาณเอาสองมือมากำได้พอดี เพราะเป็นขนาดที่เหมาะที่จะเอามือจับแล้วตีเพื่อเอาเมล็ดออกก่อนจะเหลือฟางข้าวแล้วเอาทิ้งไปหรือเอาไปประโยชน์อย่างอื่นต่อ
ส่วนภาคกลางนั้นไม่ได้ใช้ “ตอก” แต่ใช้เขน็ด อ่านขะเน็ด ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกไหมเพราะเป็นคำที่ไม่ได้ใช้มานานมากแล้ว เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักเขน็ดแล้ว เขน็ดก็คือ ต้นข้าวที่เอารวงข้าวออกแล้ว เอามาหลายๆต้นแล้วเอามาควั่นเหมือนเชือก เพื่อเอาไปใช้มัดข้าวที่เกี่ยว ให้เป็น “ฟ่อน” ฟ่อนข้าวภาคกลางมีขนาดเท่ากับเอาสองมือโอบรัดได้พอดี
พ่อจะตื่นแต่เช้ามืดคว้าเคียวเกี่ยวข้าวไปเกี่ยวข้าวพอประมาณไปกองไว้ในที่ที่เหมาะสม แล้วก็เอาเคียวนั้นเกี่ยวต้นข้าวที่มีความยาวมากกว่า 1 วาของเรา ท่านอย่าลืมนะครับว่าทุ่งนาภาคกลางนั้นเป็นนาน้ำท่วมลึกท่วมหัวคน ชาวนาภาคกลางก็จะใช้พันธุ์ข้าวที่เรียก “ฟางลอย” ที่ต้นข้าวจะยืดยาวมากเท่าที่น้ำท่วมสูง น้ำท่วมแค่ไหน ต้นข้าวก็จะสร้างตัวเองให้ยืดยาวมากกว่าความสูงของน้ำที่ท่วม แล้วชูรวงข้าวขึ้นเหนือน้ำ เมื่อข้าวสุก ก็พอดีน้ำลดลงเมื่อน้ำลดลงหมด ต้นข้าวก็จะราบเรียบนอนไปในทิศทางเดียวกันตามทิศทางการไหลของน้ำ ไม่ตั้งต้นเหมือนข้าวภาคอีสานหรือภาคเหนือ
เขน็ดที่พ่อนำทุกเช้าก็มากเพียงพอใช้มัดข้าวในเกี่ยวได้ในแต่ละวัน ชาวนาที่ลงมือทำเองรู้ดีว่าจะต้องทำเขน็ดจำนวนเท่าไหร่ คนที่ทำเขน็ดไม่มีคุณภาพดีพอเวลาเอาไปมัดข้าวให้เป็นฟ่อนก็อาจจะเกิดขาดทำให้ข้าวเสียหายได้… หลายครั้งเห็นพ่อเอาต้นข้าวที่จะมาทำเขน็ดแผ่เอาไว้ตั้งแต่เย็นจนรุ่งเช้าจึงตื่นมาทำเขน็ด พ่อบอกว่า ทิ้งให้น้ำค้างมันลงจับต้นข้าวจะได้เหนียวไม่แห้งกรอบจะช่วยให้คุณภาพเขน็ดดี
ผมไม่เห็น “เขน็ด” มานานแล้วครับ
ให้กำลังใจน้องจิสัปดาห์หน้าจะชิงชนะเลิศแล้ว
แม่ขวัญจิตต์ ศรีประจันต์ แม่ครูเพลงผู้ยิ่งใหญ่ เป็นกรรมการตัดสินด้วย
ไทยโชว์ หกโมงเย็นวันอาทิตย์ครับ
ต่อไปจะมีแม่จิราภรณ์ กาญจนสุพรรณ คลื่นลูกใหม่
บ้านผมอยู่ติดวัด กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นที่วัดจึงอยู่ในสายตาครอบครัวผมทั้งหมด บ้านติดแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา แยกมาจากตัวเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท และไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งที่จังหวัดอยุธยา แม่น้ำน้อยเส้นนี้มีบทบาทสำคัญในอดีต เพราะไหลผ่านตัวเมืองวิเศษชัยชาญ ที่เป็นเมืองด่านสำคัญก่อนที่พม่าจะเข้าถึงกรุงศรีอยุธยา
วัดใกล้ๆบ้านยังมีร่องรอยของบรรยากาศการสู้รบกับพม่า คือมีการพบกะโหลกศีรษะคนโบราณที่บนเพดานโบสถ์วัดอ้อย คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมาว่า เป็นกะโหลกชาวบ้านที่หนีกองทัพพม่าขึ้นไปแอบบนเพดานโบสถ์ จนกระทั่งเสียชีวิตบนนั้น
การที่มีบ้านติดแม่น้ำนั้นมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ส่วนดีก็คือ หน้าหนาวก็ไม่หนาวจัดเพราะไออุ่นจากน้ำจะส่งผลไปถึงบ้านที่อยู่ติดแม่น้ำ และหน้าร้อนก็ได้ลมที่พัดมาตามลำน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน ก็ลดความร้อนลงไปได้ แต่ข้อเสียคือ ตลิ่งหน้าบ้านพังทุกปี จนถึงเสาเรือนและในที่สุดก็ต้องย้ายบ้านไป บ้านที่ปลูกริมแม่น้ำในมุมที่น้ำกัดเซาะนั้นจะพบปัญหานี้ทั้งนั้น ครอบครัวที่มีเงินก็ลงทุนทำที่ชะลอน้ำที่ภาษาภาคกลางเรียก “รอ” หรือ เขื่อน กันตลิ่งพัง แต่โดยทั่วไปก็จะใช้ปลูกต้นไม้ ที่นิยมมากคือ “ต้นพง” น่าจะประเภทเดียวกับ แขม อ้อ (หากผิดพลาดก็อภัยนะครับ)
บ้านภาคกลางนั้นจะมีทรงเดียวคือใต้ถุนสูง มีหลายเหตุผล คือ ภาคกลางนั้นน้ำท่วมจำเป็นต้องยกพื้นสูง การมีบ้านใต้ถุนสูงช่วยในเรื่องการถ่ายเทลมได้ดี จึงช่วยลดความร้อนในช่วงฤดูร้อนได้ และมีหลายหลังคาเรือนที่ใช้ใต้ถุนบ้านดัดแปลงเป็นคอกสัตว์ ซึ่งส่วนมากเป็นควาย ในช่วงฤดูแล้ง หากช่วงน้ำหลากก็ย้ายควายไปอยู่บนร้าน หรือที่อยู่ของควายที่สร้างเป็นเรือนยกพื้นสูงขึ้น ไม่มีฝา อาจจะมีหลังคา แต่ก็โปร่ง ตลอดช่วงน้ำท่วมควายจะอยู่บนเรือนนั้น เจ้าของจะเกี่ยวหญ้ามาให้กิน และจูงลงมากินน้ำ หรือตักน้ำไปให้กิน
หรือจูงลงไปอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้ ควายชอบน้ำ จึงชอบนอนในน้ำเป็นเวลานาน เด็กๆก็ขึ้นไปขี่บนหลังพร้อมกับขัดตัวให้ด้วย ชาวนาจึงใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่ใช้แรงงานมาก
บ้านผมทั้งติดวัดและติดคอกควายของเพื่อนบ้าน จึงนอนดมกลิ่นขี้ควายตลอด ชาวนาจะแข่งขันกันเลี้ยงควายให้อ้วนท้วนและอวดกัน คุณพ่อผมนอกจากรับราชการเป็นครูใหญ่แล้วก็ทำนาช่วยแม่ด้วย พ่อจึงมีควายโปรดสองตัวไอ้ม่วงกับไอ้มั่น อ้วนท้วนมาก เรียกว่าควายถึกก็ได้
ผมเฉียดตายมาแล้วเพราะเจ้าสองตัวนี่แหละ ครั้งหนึ่งช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้วเสร็จ ก็ต้องขนย้ายฟ่อนข้าวเข้าลานใกล้ๆบ้านพัก การขนย้ายฟ่อนข้าวก็จะใช้เกวียนเทียมควาย เกวียนก็มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก หากเล็กมากๆก็เรียก “เลื่อน” ที่บ้านมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง วันนั้นพ่อให้ผมเอาเกวียนขนาดกลางไปขนข้าวกลางนาที่มีญาติพี่น้องคอยอยู่ที่ทุ่งนาแล้ว ให้ผมเอาเกวียนเทียมไอ้ม่วงไอ้มั่นไปบรรทุกกลับมา นัยว่าพ่อต้องการฝึกผมทำงาน ผมก็สนุกซี นั่งบนเกวียนที่มีควายถึงอ้วนท้วนเป็นแรงลากเกวียนไป สักพักเดียว มันเห็นควายตัวเมียเพื่อนบ้านอยู่ข้างหน้า มันก็เดินอย่างเร็วไปหาตัวเมีย จะบังคับหรือส่งเสียงอย่างไรมันก็ไม่ฟัง มุ่งแต่จะไปหาตัวเมีย
ยิ่งดึงยิ่งบังคับมันยิ่งโขยก หรือวิ่งเหยาะๆไป มันเป็นเกวียนนะไม่ใช่รถ ล้อเกวียนไม่มีโชคอับ ไม่มียาง มีแต่ไม้ล้วนๆ เกวียนถูกควายถึกลากไปออกนอกเส้นทางมันก็ไปโดนคันนาเข้าซิ เกวียนก็กระดอนโหยง เท่านั้นเอง ผมก็ตัดสินใจกระโดดลงจากเกวียน ปล่อยให้ควายถึงวิ่งไปหาตัวเมียทั้งที่บ่ามันเทียมเกวียนอยู่ ดูดู๋ ความรักของมันหน้ามืดตามัวไม่ฟังเสียงเจ้าของแล้ว ปรากฏว่าเกวียนพังล้อหลุดไปข้างหนึ่งมันจึงหยุดเพราะวิ่งต่อไปไม่ได้แล้ว พ่อผมและเพื่อนบ้านเห็นจึงวิ่งมาช่วยกันจับ…เฮ่อ เกือบพิการไปแล้ว.. ชาวบ้านจึงมักตอนควาย การตอนก็ทำให้ฮอร์โมนเพศลดลงหรือหมดไป ทำให้ฤดูการ “เป็นสัตว์” ของควายที่ตอนแล้วไม่ดุดันอย่างที่เล่ามา
แล้วท่านทราบไหมว่าภาคกลางแต่ก่อนนั้นเขา “สนสะพาย” “ตอนควาย” ทำ “ลานกองข้าว” กันอย่างไร….