จากนาข้าวถึง Pullman
อ่าน: 7316รอรับพ่อครูบาฯที่สนามบินขอนแก่นเมื่อเช้านี้ คนมารับมีจำนวนมากมาย คิดว่าคงมีผู้ใหญ่มาเที่ยวบินนี้ จริงๆคือ หมอประเวศ วะสี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุข และปลัดกระทรวงนี้ และผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงหลายท่าน มาร่วมงานที่ Pullman
จ๊ะเอ๋ กับ อ.แสวง ที่มารับพ่อครูเหมือนกัน เลยพากันไปกินเซี่ยงจี้เลิศรสของขอนแก่น แล้วพ่อครูก็ตัดสินใจไปแปลงนา อ.แสวง แทนไป รพ.น้ำพอง พ่อครูบอกว่าส่งการบ้านให้แล้ว ขอปลีกตัวไปดูนาหน่อย
กำลังเกี่ยวข้าวพอดี อ.แสวง พาเราเดินชมโน่นนี่ พร้อมอธิบายละเอียดยิบ ผมนั้นทึ่งกับ อ.แสวงมานานแล้วตั้งแต่ทราบว่ามาทำนาเอง นี่แหละคนจริง..
ผมถือโอกาสไปคว้าต้นข้าวที่เกี่ยวรวงข้าวไปแล้ว เอามาทำปี่ แบบที่เคยเล่นสมัยเด็กๆ ที่เคยบันทึกไปแล้ว เอามาเป่าดู….ใช้ได้ ใช้ได้ ยังดังอยู่..
บริเวณที่นา อ.แสวงจัดแบ่งเป็นโซน ออกแบบที่นาแตกต่างจากรูปแบบเดิม ขออนุญาตลงรายละเอียดทีหลังครับ
เพราะมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผมที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน
จากแปลงนาเราไปรับป้าหวานไปทานข้าวมังสวิรัติที่ร้านดังที่สุดของขอนแก่น ตะวันทอง ที่ผมเป็นลูกค้ามานานกว่า 10 ปี ที่ร้านนี้เป็นสายอโศก จึงมีหนังสือดีดีที่เกี่ยวกับสุขภาพ และแนวคิดดีดีมาวางขาย รวมทั้งของ อ.ไร้กรอบ ดร.บัญชา (ชิว) ผมเองก็มาคว้าไปหลายต่อหลายเล่ม ยังกองอยู่บนโต๊ะเลย อิอิ
แล้วก็พากันไปเข้าร่วมสัมมนาที่โรงแรม Pullman เรื่อง “เวทีจุดประกาย: ขับเคลื่อนแผนแม่บทกำลังคนด้านสุขภาพสู่การสร้างสุขภาพภาคอีสาน” บุคลากรทางด้านนี้มาร่วมกันแน่นห้องขนาดใหญ่ ต้องใช้เก้าอี้เสริม
มีวิทยากรมาเล่าเรื่องราวด้านนี้ให้ฟัง 6 ท่าน ไม่รวมปาฐกถาของท่านหมอประเวศ วะสี ขอสรุปเท่าที่จับความได้โดยไม่ได้บันทึก
- ปัญหาปัจจุบันด้านนี้คือบุคลากรที่จะทำหน้าที่รับมือกับการเจ็บป่วยของประชาชน
- เน้นไปที่พยาบาลที่จะต้องทำการผลิตมากขึ้นเพื่อช่วยแพทย์ และงานแทนแพทย์เบื้องต้นได้
- งานด้านสุขภาพต้องทำเชิงรุกไม่รอให้เจ็บป่วยแล้วมาหาหมอ ต้องมีทีมงานออกไปหาชุมชน หาคนไข้
- ฟื้นฟูระบบศูนย์สุขภาพชุมชนแบบรอบด้านโดยดึงผู้รู้ในชุมชนเข้ามาช่วย หรือทำให้เป็นงานของเขา
- ฯลฯ
ในที่ประชุมได้เชิญนายแพทย์ในหลายจังหวัดของอีสานมาเล่าประสบการณ์การแก้ปัญหาดังกล่าว ผมเป็นทึ่งกับการทำงานของคุณหมอ พวกเราทุกคนก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ป้าหวานถึงกับกล่าวว่า คุณหมอเหล่านั้นคิดได้ไง..ทำได้ไง..เก่งจัง…
- คุณหมอเหล่านั้นแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านนี้โดยการผลิตบุคลากรนี้กันเองโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ เพราะรัฐมีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับมากมายกำกับ
อบต.แห่งหนึ่งที่ยโสธร หาทางออกกับคุณหมอโดยการเก็บเงินชาวบ้านเดือนละ 20 บาททุกคนตั้งแต่เกิดมาจนแก่เฒ่า เก็บหมด แล้วไปจ้างเจ้าหน้าที่ด้านนี้มาเสริมโดยไม่ใช้งบประมาณรัฐ
- คุณหมอท่านหนึ่งตั้งกองทุน 2 บาท เก็บเงินกับชาวบ้านแล้วมาแก้ปัญหานี้สำเร็จ เอางบเหล่านี้ไปผลิตบุคลากรมากมาย
- ในทำนองเดียวกัน ที่ขอนแก่น ที่สกลนคร ที่อุบลราชธานี ที่ยโสธรต่างใช้วิธีการนี้หรือคล้ายคลึงกันและประสบผลสำเร็จแบบน่าทึ่งมาก..ทำได้ไง..
ขอจบดื้อๆ โดยพวกเราประทับใจข้าราชการในกระทรวงนี้ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมาก ที่ร้านอาหารเย็นและที่สนามบิน เรานั่งวิเคราะห์กันว่า ทำไมบุคลากรกระทรวงนี้เรายกนิ้วให้ แต่เมื่อพ่อครูและ อ.แสวงกล่าวถึงบุคลากรอีกกระทรวงหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างคนนั้น ท่านทั้งสองก็ส่ายหน้า
- เป็นเพราะมีตัวอย่างดีเป็นเลิศอย่าง อ.หมอประเวศ วะสี ท่านเป็นแบบอย่างที่คุณหมอต่างเอาเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะหมอรุ่นใหม่ๆ
ท่านพูดดี ท่านประพฤติดี ท่านออกไปเยี่ยมเยือนคุณหมอในชนบท ไปให้กำลังใจ ไปชื่นชม ชี้แนะ ให้แนวคิด เสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่กระทรวงอื่นนั้นไม่มีบุคลากรแบบท่าน
- โรงเรียนหมอ รุ่นต่อรุ่น ได้สร้างสมแพทย์ที่มีความรับผิดชอบสูง
- ความคิดติดดิน ดูสาระการแลกเปลี่ยนกันว่า ต่อไปนักเรียนแพทย์นั้นต้องไปฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชน ไม่ใช่ฝึกที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ประจำจังหวัด เพื่อให้เขาสัมผัสสถานการณ์จริงของสังคม
เรื่องนี้ผมว่าแทงใจดำ อ.แสวงมากเพราะ อ.แสวงกำลังพาลูกศิษย์ลงนาของจริง แต่คณะกลับไม่สนับสนุน ให้เรียนแต่ทฤษฎี….
มาร่วมสัมมนาได้ทั้งชื่นใจและ ถอนหายใจ เฮ่อ….