เด็กวิเศษฯ..เขน็ด…
อ่าน: 9440ช่วงนี้ขับรถไปมุกดาหารก็อดที่จะหยุดรถดูข้างทางไม่ได้ เพราะท้องทุ่งอร่ามสีทองเต็มไปหมด
เลยถือโอกาสบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับฤดูกาลนี้ในภาคกลางสมัยที่ผมยังเป็นเด็กเล็ก เท่าที่ความทรงจำยังมีอยู่
กระบวนวิธีการเก็บเกี่ยวข้าวของภาคกลางและอีสานมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ที่เห็นชัดๆคือการมัดข้าว อีสานกับภาคเหนือจะมีความคล้ายคลึงกันมาก คือ มัดข้าวด้วย “ตอก” ที่ทำมาจากไม้ไผ่ที่มีธุรกิจด้านนี้ทำเงินจำนวนไม่น้อย ขนาดข้าวที่มัดนั้นทางอีสานกับภาคเหนือมีขนาดใกล้เคียงกันคือ ประมาณเอาสองมือมากำได้พอดี เพราะเป็นขนาดที่เหมาะที่จะเอามือจับแล้วตีเพื่อเอาเมล็ดออกก่อนจะเหลือฟางข้าวแล้วเอาทิ้งไปหรือเอาไปประโยชน์อย่างอื่นต่อ
ส่วนภาคกลางนั้นไม่ได้ใช้ “ตอก” แต่ใช้เขน็ด อ่านขะเน็ด ไม่แน่ใจว่าสะกดถูกไหมเพราะเป็นคำที่ไม่ได้ใช้มานานมากแล้ว เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักเขน็ดแล้ว เขน็ดก็คือ ต้นข้าวที่เอารวงข้าวออกแล้ว เอามาหลายๆต้นแล้วเอามาควั่นเหมือนเชือก เพื่อเอาไปใช้มัดข้าวที่เกี่ยว ให้เป็น “ฟ่อน” ฟ่อนข้าวภาคกลางมีขนาดเท่ากับเอาสองมือโอบรัดได้พอดี
พ่อจะตื่นแต่เช้ามืดคว้าเคียวเกี่ยวข้าวไปเกี่ยวข้าวพอประมาณไปกองไว้ในที่ที่เหมาะสม แล้วก็เอาเคียวนั้นเกี่ยวต้นข้าวที่มีความยาวมากกว่า 1 วาของเรา ท่านอย่าลืมนะครับว่าทุ่งนาภาคกลางนั้นเป็นนาน้ำท่วมลึกท่วมหัวคน ชาวนาภาคกลางก็จะใช้พันธุ์ข้าวที่เรียก “ฟางลอย” ที่ต้นข้าวจะยืดยาวมากเท่าที่น้ำท่วมสูง น้ำท่วมแค่ไหน ต้นข้าวก็จะสร้างตัวเองให้ยืดยาวมากกว่าความสูงของน้ำที่ท่วม แล้วชูรวงข้าวขึ้นเหนือน้ำ เมื่อข้าวสุก ก็พอดีน้ำลดลงเมื่อน้ำลดลงหมด ต้นข้าวก็จะราบเรียบนอนไปในทิศทางเดียวกันตามทิศทางการไหลของน้ำ ไม่ตั้งต้นเหมือนข้าวภาคอีสานหรือภาคเหนือ
เขน็ดที่พ่อนำทุกเช้าก็มากเพียงพอใช้มัดข้าวในเกี่ยวได้ในแต่ละวัน ชาวนาที่ลงมือทำเองรู้ดีว่าจะต้องทำเขน็ดจำนวนเท่าไหร่ คนที่ทำเขน็ดไม่มีคุณภาพดีพอเวลาเอาไปมัดข้าวให้เป็นฟ่อนก็อาจจะเกิดขาดทำให้ข้าวเสียหายได้… หลายครั้งเห็นพ่อเอาต้นข้าวที่จะมาทำเขน็ดแผ่เอาไว้ตั้งแต่เย็นจนรุ่งเช้าจึงตื่นมาทำเขน็ด พ่อบอกว่า ทิ้งให้น้ำค้างมันลงจับต้นข้าวจะได้เหนียวไม่แห้งกรอบจะช่วยให้คุณภาพเขน็ดดี
ผมไม่เห็น “เขน็ด” มานานแล้วครับ