ป้าสาลี่..
ป้าสาลี่ เป็นแม่หม้าย อยู่ตัวคนเดียวลูกเต้าก็ไม่มี ปลูกบ้านอยู่หลังวัดไร่ บ้านก็โทรมๆ ป้าสาลี่ไม่มีที่ดินทำกิน ก็ยึดอาชีพขายน้ำแข็งให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัด
บ้านนอกอย่างภาคกลางนั้นโรงเรียนส่วนใหญ่อาศัยวัด อาศัยศาลาการเปรียญวัดเป็นห้องสอนเด็กนักเรียนเพราะใหญ่โตกว้างขวาง ผมก็ว่าดีนะครับได้ใช้ประโยชน์อาคารเต็มที่ ไม่ใช่สร้างใหญ่โตแต่ปีหนึ่งจะใช้สักครั้งก็ไม่คุ้มกับการก่อสร้าง
ที่วัดไร่ซึ่งก็ไม่ห่างจากบ้านเดิมของผม เป็นทางผ่านไปที่นาที่สวน โรงเรียนวัดไร่มีตั้งแต่ชั้น ป. 1 ถึง ป. 4 และ ม.1 ถึง ม. 3 ก็เป็นเด็กจากชุมชนรอบๆวัด ก็มีเด็กรวมๆกันก็มากอยู่
ป่าสาลี่ยึดโคนต้นไม้ขนาดไม่โตมากนักต้นหนึ่งน่าจะเป็นต้นพิกุล ที่โคนต้นก็จะมีกองแกลบเหลืองขนาดย่อมๆ มีร้านไม้เล็กๆ และแถบนี้เตียนโล่งหญ้าไม่มีสักต้น
เมื่อโรงเรียนเปิดเทอม เช้าขึ้นมาป้าสาลี่ก็จะหาบกระจาดใส่สาแหรกสวมงอบเดินไปตลาดวิเศษชัยชาญ เพื่อไปซื้อน้ำแข็งมาขาย สมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า สังคมยังเป็นแบบเดิมๆ ชนบทจริงๆ รถราโดยสารไม่มีใช้วิธีเดินอย่างเดียว ดีที่สุดคือจักรยาน ไม่มีมอเตอร์ไซด์ หรือไม่ก็เดินทางโดยทางน้ำใช้เรือพาย แต่คนนิยมเดิน
ที่ตลาดวิเศษชัยชาญเจริญมากในสมัยนั้นเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ เพราะ การคมนาคมใช้เรือนี่เองจึงมีเรือโดยสารจากท่าเตียน กรุงเทพฯรับส่งสินค้าและรับคนโดยสารด้วย พวกเราเรียกเรือแม่ไล้ ใหญ่โตมีสองชั้น ชั้นล่างไว้ใส่สินค้าต่างๆที่ร้านค้าสั่งซื้อ ส่วนชั้นบนก็สำหรับผู้โดยสารจะลงกรุงเทพฯ หรือจากกรุงเทพฯจะมาวิเศษชัยชาญ การติดต่อสื่อสารที่ดีที่สุดในสมัยนั้น วิเศษจึงมีสินค้าทุกอย่างที่ท่าเตียนมี จึงมีความเจริญ
นอกจากนี้ที่ตลาดวิเศษยังมีโรงงานผลิตน้ำแข็งขนาดใหญ่ ใช้น้ำจากแม่น้ำน้อยนี่แหละไปผ่านกระบวนการทำสะอาดแล้วก็ทำให้เย็นลงได้น้ำแข็งที่อยู่ใน “ตัวแบบ” ที่เป็นกล่องเหล็กขนาดใหญ่ มีคนงานลากออกมาตัดแบ่งขายย่อยให้เล็กลงแล้วแต่ขนาดที่ลูกค้าสั่ง ขนาดที่เล็กที่สุดเรียก “มือ” น้ำแข็งหนึ่งมือ ก็มีขนาดก้อนประมาณเท่าขนมปังปอนด์ขนาดใหญ่
ป้าสาลี่จะเดินจากบ้านข้างหลังวัดไร่หาบกระจาดสาแหรกเปล่ามา ซื้อน้ำแข็งไป 4-6 มือ ใส่กระจาดข้างละสองถึงสามมือ สมัยนั้นวิธีรักษาความเย็นก็คือเอาแกลบเหลืองมาปิดให้หนาๆ นอกจากนี้ก็ซื้อส่วนประกอบอื่นๆที่ขาดแคลน เช่นน้ำหวาน นมข้น นมสด ฯ แล้วก็หาบจากตลาดวิเศษไปถึงวัดไร่ ระยะทางประมาณ 5 กม. หนักซิครับกว่าจะถึงก็วัดไร่ก็ใกล้เที่ยง บางวันก็ขายต่อเลยไม่ทันเข้าบ้าน
เด็กๆชอบกินน้ำแข็งใสใส่น้ำหวานสีๆใส่นม ที่ขอนแก่นเรียกพวกนี้ว่า “จ้ำบ๊ะ” ทำไมเรียกอย่างนี้ก็ไม่รู้ ถามว่าสมัยนั้นน้ำขวดพวก เป็บซี่ โคลา มีไหม
มี แต่ไม่ใช่ที่เอ่ย สมัยนั้นเป็น ไบลเล่ย์ น้ำซาซี่ น้ำมะเน็ด กรีนสปอร์ด 7up แต่คนแถวบ้านไม่ค่อยกินเพราะมันแพง นิยมกินน้ำแข็งใสใส่น้ำหวานเขียวแดงนี่แหละ ใส่นมเข้าไป แค่นี้ก็ชื่นใจ กินกันหยดสุดท้ายเลยหละ..
ป้าสาลี่บอกว่า หน้าร้อนขายดี แต่ลำบากการหาบน้ำแข็งมาจากตลาดนี่ซิ หนักก็หนัก กว่าจะมาถึงน้ำแข็งก็ละลายไปเยอะทีเดียว
ผมจากบ้านมาตั้งแต่เข้าเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษาเพราะเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ไม่ทราบเรื่องป้าสาลี่อีกเลย….
นี่เป็นเรื่องเล่าความหลังเมื่อสี่สิบปีที่แล้วน่ะครับ
« « Prev : สุคะโต..
2 ความคิดเห็น
ชอบการเล่าเรื่องผ่านอดีตแบบนี้นะคะ แต่เบิร์ดไม่ทันน้ำมะเน็ดค่ะพี่บู๊ด ทันแต่น้ำแข็งไส กับน้ำหวานซ่า ๆ ที่มีจรวดเป็นองค์ประกอบของแผง
ไว้เบิร์ดเขียนเรื่องไอติมดีกว่า อิอิอิ
พี่ยังจำเพลงขาย 7up ได้ เขาว่า
คนที่ 1: 1 +2 เป็นเท่าไหร่
คนที่ 2: เป็น 3
คนที่ 1: แล้ว 3+4 เป็นเท่าไหร่
คนที่ 2: เป็น 7
คนที่ 1: แล้ว 7 ภาษาอังกฤษว่าอย่างไร
คนที่ 2: เซเว่น
คนที่ 1: ดื่มอะไรชื่นใจที่สุด
คนที่ 2: เซเวนอัพ
สงสัยเราเป็นพวก good old day… นะน้องเบิร์ดนะ