ศูนย์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นั่งดู ไทยพีบีเอส หลายวันรู้สึกชอบใจรายการ “ชุมชนคนสู่น้ำ” ที่ตระเวนไปหลายแห่งเอาการจัดการศูนย์ประสบภัยออกมาเผยแพร่ว่าที่นั่นที่นี่จัดการอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง การช่วยเหลือของรัฐเป็นอย่างไร และที่เน้นมากคือการบริหารจัดการอย่างไร โดยมีหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นวิทยากรคอยเสริม คอยสรุปออกมาเป็นหลักการ แนวคิด ฯลฯ
ไทย พีบีเอส คัดเลือกศูนย์ฯที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการและเอามาเผยแพร่นับว่ามีประโยชน์กับศูนย์ผู้ประสบภัยอื่นๆเอาไปดัดแปลง ปรับใช้ และมีแง่มุมที่น่าคิดมากมาย ของชื่นชม ไทย พีบีเอส โดยเฉพาะน้องหมอโกมาตร ที่ไม่ได้พบกันมานานนับสิบๆปี
(ภาพจากอินเตอเนท)
ขออนุญาตกล่าวถึงน้องหมอโกมาตร ผมคิดว่าเป็นหมอที่เดินออกมาจากอิทธิพลการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ที่มีหมอหลายท่านออกสู่ชนบททั้งที่เปิดเผยตัวตน เช่น หมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว หมอแหยง หรือสำเริง แหยงกะโทกแห่งโคราช หมอโกมาตร และอีกหลายต่อหลายท่าน บุคคลเหล่านี้เคยร่วมงานกันมาสมัยโน้น แล้วต่างแยกย้ายไปกันตามเส้นทาง ท่านเหล่านี้เป็นแบบอย่างหมอรุ่นใหม่หลายท่านตามมา
หมอโกมาตรเป็นหมอคนแรกๆที่ก้าวออกมาสนับสนุนแพทย์แผนไทย สมุนไพร และกระบวนการเยียวยาตามภูมิความรู้โบราณของท้องถิ่น อาจจะเรียกการแพทย์ทางเลือกก็ได้ ท่านศรัทธาชุมชน และภูมิปัญญาชุมชนที่ท่านเอาไปผสมผสานความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ จนท่านได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศทางด้านมานุษยวิทยา(ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งหายากมากที่แพทย์ไปเรียนต่อทางด้านนี้ ส่วนใหญ่ก็เรียนทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน…
ผมขอกล่าวถึงศูนย์ประสบภัยที่ออกรายการวันนี้ คือศูนย์บ้านม้า เขตประเวศ กทม.นี่แหละ เป็นชุมชนอิสลาม อยากสรุปสั้นๆว่า
(ภาพจากอินเตอเนท)
-
แรกเข้า
หมอโกมาตรเรียกว่าการจัดการพื้นที่ มีการประมวลผลผู้เข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้ประสบภัยนี้อย่างไรบ้าง ลงทะเบียนให้หมดที่เราเรียกว่าทำฐานข้อมูล จากฐานข้อมูลก็มาคัดกรองเป็นกลุ่ม ตามความเหมาะสม เช่น กลุ่มผู้ป่วยควรจะอยู่ในพื้นที่ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย กลุ่มผู้สูงอายุควรจะอยู่ใกล้ห้องน้ำและไม่อยู่ในชั้นสูงๆของอาคาร กลุ่มสตรี กลุ่มที่มีครอบครัว ฯลฯ
(ภาพจากอินเตอเนท)
-
ปฐมนิเทศ
มีการปฐมนิเทศผู้ที่เข้ามาพักพิงในศูนย์ เพื่อให้เข้าใจระเบียบ ข้อตกลงที่จัดทำกันขึ้นมาเองโดยผู้อพยพนี้ ข้อแนะนำการพักพิง การปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกันซึ่งจะไม่มีความเป็นส่วนตัวเหมือนบ้านของตัวเอง การทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้เป็นความสำคัญในการที่ชุมชนชั่วคราวควรพูดจากันให้รู้เรื่อง เข้าใจ เช่นห้องตากเสื้อผ้ารวม ห้องแต่งตัวสตรี ห้องเก็บของส่วนกลาง ห้องนอน พื้นที่ทิ้งขยะ ฯลฯ หากไม่ทำความเข้าใจกันคงมั่วน่าดู
-
การบริหารจัดการศูนย์ฯ
ดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆที่จะต้องทำร่วมกัน ผู้บริหารศูนย์จึงระดมคนในศูนย์นั่นแหละมาช่วยกันรับผิดชอบใครมีความสามารถอะไร ถนัดอะไรก็มาช่วยกัน แบ่งความรับผิดชอบกัน เช่น ฝ่ายลงทะเบียน ฝ่ายรับและบริหารจัดการของบริจาค ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายทำอาหาร ฝ่ายสุขอนามัย ฝ่ายเก็บขยะ ฝ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ สารพัดฝ่ายที่จำเป็น ที่สมควรจัดทำขึ้น
-
การบริหารจัดการเฉพาะเรื่องเฉพาะฝ่าย
ตรงนี้สำคัญมาก กรณีที่น่าสนใจคือ ผู้บริจาคไม่ทราบว่าผู้รับบริจาคต้องการอะไร ขาดแคลนอะไร แต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แต่ละเพศไม่เหมือนกัน แต่ถุงยังชีพนั้นจัดสิ่งของเหมือนกันหมด ของบริจาคหลายอย่างไม่ได้ใช้ สิ่งที่ต้องการไม่ได้รับการบริจาค ฯลฯ และผู้บริจาคไม่ได้เข้าระบบการจัดการ เห็นผู้ประสบภัยก็ให้อย่างเดียว เรียกว่าเจตนาดีแต่ไม่ตรงกับความต้องการ ศูนย์แห่งนี้มีกระบวนการคือของบริจาคทั้งหมดมากองรวมกันเป็นส่วนกลาง แล้วแยกแยะออกเป็นกลุ่ม แล้วจัดสรรให้ตรงตามต้องการแก่ผู้พักอาศัย เท่าที่จำเป็นก่อน ส่วนเหลือยังอยู่เป็นส่วนกลาง ใครหมดก็มาเบิกไปใหม่ และเบิกได้เฉพาะเวลาเท่านั้น โดยมีการลงทะเบียนหรือจัดทำระบบข้อมูลขึ้นมาเพื่อควบคุมให้เกิดความเรียบร้อย ทั่วถึง ขาดแคลนอะไรก็สามารถร้องขอโดยตรงต่อผู้บริจาคได้.ยังมีรายละเอียดอีกมาก..
กรณีบ้านม้าที่เป็นชุมชนมุสลิมนั้นพบว่าสิ่งของบริจาคบางอย่างเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา เช่น เนื้อหมูบริจาค ก็สามารถส่งคืนผู้บริจาคหรือส่งต่อไปให้ศูนย์อพยพอื่นๆได้
-
อย่าให้เวลาล่วงเลยไปอย่างไร้ประโยชน์
ทางศูนย์ทราบดีว่าการมาร่วมกันนั้นคืออพยพหนีภัยน้ำท่วมบุคคลที่มีหน้าที่ก็ออกไปทำหน้าที่ ยังมีส่วนที่เหลืออยู่ในศูนย์ เช่นเด็กและผู้สูงอายุ อย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ศูนย์สามารถจัดการเพิ่มพูนความรู้ต่างๆให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจจะสำรวจความต้องการก่อน หรือจากการสังเกตเห็นของผู้บริหารงานศูนย์ เช่นกลุ่มเด็กๆ ก็อาจจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่สร้างสรรค์ โดยการหาผู้ที่มีความสามารถภายในศูนย์เอง หากไม่มีก็แสวงหาจากภายนอกได้ ผู้สูงอายุก็สามารถจัดกิจกรรมที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกัน
มีรายละเอียดอีกมากที่น่าสนใจ ท่านที่ได้ติดตามรายการนี้คงทราบดี ผมประทับใจบทเรียนที่คณะวิทยากรสรุปและหมอโกมาตรสรุปคือ
-
การจัดตั้งเดิมของชุมชน: ชุมชนมุสลิมมีองค์กรเฉพาะของเขาอยู่เดิมแล้วซึ่งมิใช่โครงสร้างของการปกครองของรัฐบาล การจัดตั้งเดิมนี้คือฐานสำคัญที่มาหนุนเนื่องให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
-
ระบบเครือข่าย: นอกจากการจัดตั้งดั้งเดิมของชุมชน ยังมีเครือข่ายมุสลิมมรชุมชนอื่นๆทั้งใกล้เคียงและห่างไกล เมื่อเพื่อนประสบภัยต่างก็หนุนช่วยกันเต็มที่ เป็นพลังกลุ่ม และเครือข่ายที่เห็นประโยชน์ชัดเจน
-
ชุมชนที่มีฐานศาสนาร่วมกันและเคร่งครัดเช่นมุสลิมนี้ ต่างใช้วิกฤตินี้เรียนรู้สัจธรรมของคำสอนและธรรมชาติ: เช่นมีการสรุปจากวิกฤตินี้ว่า แก่นแท้ของชีวิตคืออะไร ยามปกติเราก็ประมาท เมื่อประสบภัยเราก็ตระหนักถึงพื้นฐานง่ายๆของชีวิตที่จำเป็นและต้องการ ส่วนเกินของชีวิตมีมากมาย
-
หมอโกมาตรกล่าวว่า บางศูนย์ขนาดใหญ่เอาดนตรีวงใหญ่ๆมาขับกล่อม เพียงเจตนาช่วยด้านบันเทิงมิให้จมในกองทุกข์ แต่อีกมุมหนึ่งเป็น”ทัศนะกลบเกลื่อน” ความเป็นจริง ตรงข้ามควรที่จะเอาความจริงนั้นมาสรุปบทเรียนชีวิตต่างหาก มิได้ปฏิเสธกิจกรรมบันเทิง แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากกว่าเพียงเจตนาดี
-
ท่านผู้นำศาสนาท่านหนึ่งสรุปว่า “ศีลธรรม จริยธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” ทุกคนสามารถมีได้ สร้างขึ้นมาได้ รักษามันได้ และมันเป็นแก่นแกนของดารดำรงชีวิตร่วมกัน
ผมเรียนรู้จากรายการนี้มากทีเดียว และเชื่อว่าศูนย์อพยพอื่นๆก็มีการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปตามความเหมาะสม และท้ายที่สุดท่านนักบวชมุสลิมพบว่า ยามนี้ต้องใช้ปลัก 3 ป. คือ ป เปิด คือเปิดใจรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ฯลฯ ป ปรับ คือ ต้องปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ให้ได้ และ ป เปลี่ยน คือการที่ไม่เคยเปิดก็ต้องเปิด และที่ไม่เคยปรับก็ต้องปรับ
ขอบคุณหมอโกมาตร นักบวชและผู้นำอิสลามบ้านม้า และรายการชุมชนคนสู้น้ำ แห่ง ไทยพีบีเอสครับ