บางส่วนของปัญหาการจัดการน้ำในภาพรวม

458 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 เวลา 11:31 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 9625

ในช่วงเดือน สิงหาคมถึงเดือนตุลาคม รวมสามเดือนที่ผมได้เข้าไปลุยพื้นที่คลองต่างๆของปทุมธานีเพื่อเก็บข้อมูลชุมชน ความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและประชาชนในงานก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งที่สองขององค์การเภสัชกรรมที่คลอง 10 ซึ่งเป็นพื้นที่ อำเภอธัญบุรี นอกจากนี้ในรัศมี 5 กม.จากที่ตั้งโครงการ ยังต้องไปเก็บข้อมูลต่างๆเช่นเดียวกัน นั่นหมายถึงครอบคลุมพื้นที่ของ อำเภอหนองเสือ ซึ่งอยู่ด้านเหนือของอำเภอธัญบุรีและติดต่อกับอำเภอวังน้อยของจังหวัดอยุธยา และเก็บข้อมูลทางด้านใต้ของ ธัญบุรีคืออำเภอลำลูกกา


ผมไม่เคยมาพื้นที่แถบนี้มาก่อนแรกๆจึงงงกับสภาพพื้นที่ ที่เป็นคลองจากทิศเหนือ-ใต้ และคลองขวางทางตะวันออกตะวันตก ตลอดสามเดือนนั้นผมได้พบข้าราชการตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ผู้นำชาวบ้านรวมถึงตัวเกษตรกรเอง และ เจ้าหน้าที่บริหาร อปท. จึงมีความเข้าใจพื้นที่นี้มากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย

  • สองวัตถุประสงค์หลักของระบบคลองน้ำ

พื้นที่ของจังหวัดประทุมธานีส่วนนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่รัชการที่ 5 เท่าที่รับฟังมานั้นพระองค์ทรงมีประสงค์จะสร้างทางระบายน้ำจากทิศเหนือกรุงเทพฯไปลงทะเลโดยให้ผ่านพื้นที่เหล่านี้ เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาพื้นที่เป็นเขตเกษตรกรรมก้าวหน้า เพราะสามารถจัดการน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงได้ตลอดปี

เจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมตรงนี้นั้นเป็นพื้นที่ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย เมื่อพัฒนาระบบคลองส่งน้ำจึงมีชื่อคลองที่เป็นชื่อ “เจ้านาย” อยู่หลายแห่ง และในระยะเวลาต่อมาที่ดินเปลี่ยนมือไปสู่ประชาชนที่เป็นผู้มีเงินทอง….

แต่ผมสอบถามผู้นำชุมชนและเกษตรกรพบว่าร้อยละ 70-90 ของพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เช่า..เกษตรกรเช่าในอัตราที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นที่..

  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เป็นที่ทราบดีว่าอาชีพหลักของประชาชนไทยเรานั้นคือการทำการเกษตร ทำนา ทำสวน กรุงเทพฯในสมัยรัชการที่ 5 นั้นเหมือนกรุงเวียงจันทร์ปัจจุบันที่กลางกรุงยังมีการทำนากันอยู่ พื้นที่ปทุมธานีเขตนี้ก็ทำการเกษตรทั้งหมด

เมื่อน้ำดีการพัฒนาการเกษตรก็ก้าวหน้า จนเกิดนวัตกรรมพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์เกิดขึ้นที่นี่ ที่มีชื่อเสียงคือพันธุ์ข้าว “เหลืองปทุม” และอื่นๆเพราะมีสถานีข้าวของกรมการข้าวที่นี่ น้ำดี การพัฒนาเทคโนโลยี่การผลิตการเกษตรดี จึงเป็นเขตเกษตรก้าวหน้า และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ จึงเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนเมืองกรุง และการส่งออกต่างประเทศ

เมืองพัฒนาไปมากเท่าใด ก็ขยายตัวออกไปรอบๆกรุงเทพฯมากขึ้น ที่ดินในกรุงเทพฯแพงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดย่อมและขนาดเล็กก็ขยายตัวไปรอบๆกรุงเทพฯรวมทั้งพื้นที่ตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะรอบๆถนนสายหลักและตามต้นลำคลองทั้งหลาย จนมีการพบมลพิษและปัญหาต่างๆมากขึ้นจึงมีการกำหนดให้พื้นที่ปทุมธานีส่วนนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ไม่อนุญาตให้ทำโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง แต่มีขนาดย่อมและขนาดเล็กมากมายนับร้อยนับพันแห่ง


อุตสาหกรรมขยาย และที่ดินกรุงเทพฯแพงมาก และเป็นพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวก จึงเกิด “บูม” ในเรื่องที่พักอาศัย ทั้งเป็นที่พักของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแถบนั้น และบ้านพักข้าราชการที่ขยายไปอยู่ การลงทุนหมู่บ้านจัดสรรนั้นเติบโตเกินไป และพบปัญหาระบบน้ำประปาไม่มี อาศัยน้ำใต้ดินที่คุณภาพน้ำไม่เหมาะที่ใช้ดื่ม แม้เป็นน้ำใช้ก็มีปัญหา จึงเกิดล่มสลายของหมู่บ้านจัดสรรมากมายอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก บางแห่งทั้งโครงการมีผู้อยู่อาศัยไม่ถึงสิบหลัง นอกนั้นปล่อยร้างต้นไม้ขึ้นเป็นป่า หรือซื้อแล้วทิ้ง ซื้อแล้วให้ธนาคารยึดมากมายเหลือคณานับนัก


ดังนั้นพื้นที่เกษตรเดิมถูกสภาพเมืองบุกรุกกลายเป็นบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่สนามกอล์ฟ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง พื้นที่เหล่านั้นถูกถมเพื่อก่อสร้าง ทำให้พื้นที่รองรับน้ำเดิมลดลงไป

  • การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร

การเกษตรดั้งเดิมคือการทำนาทำสวน เมื่อระบบคลองถูกพัฒนา น้ำดี ระบบประตูน้ำชลประทานเข้ามาจัดการน้ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตรเป็นแบบก้าวหน้า เมื่อเทคโนโลยี่การเกษตรพัฒนามากขึ้น การทำนาแถบนี้เป็นแบบก้าวหน้าทั้งสิ้น ไม่มีวัว ควาย มีแต่เครื่องจักรร้อยเปอร์เซ็นต์ พบว่าในสองปีทำนา 5 ครั้ง พบว่าเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็เริ่มเพาะปลูกข้าวรุ่นใหม่ต่อไปเลยทันที เกิดระบบพืชสวนขนาดใหญ่ หลายแห่งเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นทำสวน ยกร่อง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ส้ม ซึ่งส้มทั้งหมดล้มละลายไปเมื่อสิบปีที่แล้วเพราะโรคระบาดหนัก เกษตรกรหลายคนมีหนี้สินเป็นหลายล้านบาท ใช้หนี้ธนาคารมาจนถึงปัจจุบัน ทำสวนฝรั่ง มะนาว ฟัก แฟง บวบ ฯลฯ การปลูกพืชเศรษฐกิจแบบนี้ไม่เหมือนภาคกลางส่วนอื่นหรือภาคเหนือภาคอีสานที่ปลูกอย่างมากก็ไม่เกินสองไร่ แต่พื้นที่แถบนี้อย่างต่ำ สิบไร่ขึ้นไป

น้ำท่วมครั้งนี้ยังมีสื่อสารมวลชนไปสอบถามชาวบ้านคลอง 9 ว่ากำลังงมฟักที่เตรียมเก็บขายนับ 10 ตันมาจากใต้น้ำ..?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตการเกษตรนั้นเป็นไปอย่างอิสระ ใครใคร่ปลูกอะไรปลูก..จึงไปกระทบวัตถุประสงค์ของระบบชลประทานพื้นที่นี้ที่เพื่อการเกษตรและเพื่อระบายน้ำออกทะเลยามที่น้ำหลากมากเกินไปและจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ


ช่วงปลายเดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนถึงต้นเดือนตุลาคมนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวของภาคกลาง ที่แต่ละเจ้า แต่ละรายไม่ได้ปลูกข้าวพันธุ์เดียวกัน เวลาเดียวกัน ข้าวจึงสุกพอจะเก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ชลประทานได้รับคำสั่งให้พร่องน้ำในคลองและเปิดรับน้ำเข้าคลองมากขึ้นจึงไปกระทบช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร ปัญหาก็เกิดขึ้น…เอาหละซี..น้ำก็มากขึ้น คำสั่งกรมชลประทานก็สั่งให้นายช่างเปิดประตูรับน้ำเข้าคลอง เกษ๖รกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็ไปร้อง อบต เกษตรอำเภอ นายอำเภอ สส. ใครใกล้ชิดใครก็ไปที่นั่น โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติในพื้นที่นั้นๆก็ย่อมรักษาฐานเสียง หรือหาเสียงนี่คือโอกาสการสร้างความเชื่อถือในอำนาจ ต่างก็วิ่งสุดฤทธิเพื่อระงับการรับน้ำเข้าคลองเพื่อให้เกษตรเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อน

ดังกล่าวว่า พันธุ์ข้าวไม่เหมือนกัน ปลูกไม่พร้อมกัน กำหนดสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวจึงไม่สามารถกำหนดได้ คนนี้เกี่ยวเสร็จ คนนั้นยังไม่เสร็จ และปัจจัยอื่นๆ เช่น ไม่มีแรงงาน ใช้เครื่องจักรก็ไม่สามารถลงไปในท้องนาได้เพราะน้ำสูงไป อุปสรรคจึงซับซ้อนมากขึ้นหลายเท่าตัวนัก

การเมืองย่อมเหนือกว่าหลักการ การเปิดรับน้ำเข้าคลองเพื่อเร่งช่วยระบายน้ำลงทะเลตั้งแต่ต้นมือจึงล่าไปกว่าที่ควรจะทำ….?????

แล้ววิกฤติก็มาเผชิญอย่างใหญ่หลวง..ดังที่เราเห็น


  • การเคร่งครัดต่อความรับผิดชอบในหน้าที่

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเหมือนห่วงโซ่ของเหตุปัจจัย มันมิใช่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มาจากหลายปัจจัย การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะสังคมเราซับซ้อนมากขึ้น มากขึ้น เหมือนที่ผมมีความเห็นต่อระบบจราจรในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด ว่า กฎจราจรอันเดียวกัน ต่างจังหวัดจะย่อหย่อนไปก็ไม่ค่อยกระทบปัญหามากนัก แต่ในกรุงเทพฯที่มีรถมาก ถนนแคบ เวลามีจำกัด ยิ่งต้องเคร่งครัดกฎระเบียบมาก หากใครละเมิดจะส่งผลกระทบมากมาย

การจัดการน้ำก็ทำนองเดียวกัน เมื่อปีไหนน้ำน้อย หรือไม่มากจนท่วม การจัดการก็ยืดหยุ่นได้ ไม่กระทบอะไรมากนัก หากปีไหนน้ำมากมาย หากการจัดการน้ำไม่เคร่งครัดต่อหลักการจัดการน้ำย่อมส่งผลกระทบมากมายเพราะปริมาณน้ำจำนวนมากมายนั้นไม่สามารถผลักให้รีบไหลลงทะเลได้ ก็เอ่อท่วม

นานๆ หรือหลายปีน้ำจะมากมายสักที แม้เจ้าหน้าที่ชลประทานเอง เจ้าหน้าที่ อบต. เทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐส่วนที่รับผิดชอบต่างก็ละเลยการสำรวจตรวจตราระบบคลองให้มีความพร้อมในการระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ ปล่อยให้มีการบุกรุก ปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นเต็มคลอง ปล่อยให้คูคลองตื้นเขินตามกาลเวลา บานประตูเสียหายไม่ได้แก้ไข..ฯลฯ ล้วนมีผลต่อระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือความเห็นส่วนตัวที่เป็นเหตุ ปัจจัยส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของผม ยังมีเหตุ ปัจจัยอีกมากมายนักที่เป็นองค์ประกอบของการเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งนี้

มองไปข้างหน้าแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม แต่มนุษย์ย่อมมีปัญญาในการแก้ไขปัญหา หากสามัคคีกัน ร่วมมือกัน…

แต่เอ จะมีวันนั้นไหมหนอ.. เพราะมัวแต่ชี้นิ้วว่า เองน่ะผิด…??


หนีน้ำ..

234 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 เวลา 2:13 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4794

ผมหนีน้ำท่วมกรุงเทพฯมาด้วยเหตุผลสองสามประการ

หนึ่ง เห็นปริมาณน้ำมากมายแล้วไม่คิดว่าเราจะรับมือไหว ด้วยสภาพหมู่บ้านจัดสรรแบบกรุงเทพฯ ที่เพิ่งจะมาอยู่ร่วมกัน และยังขายไม่หมด การรวมตัวเพื่อแก้ปัญหาร่วม อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ

สอง ต้องแก้ปัญหาลูกสาวที่ที่ทำงานไม่หยุด หากเธอต้องมาทำงานและต้องกลับมาพักบ้านจะลำบากมากๆ หากปิดบ้านและให้เธอไปอยู่กับเพื่อนรักของเธอน่าจะสะดวกกว่า

สาม อันนี้สำคัญสุด คือ ญาติที่เป็นพี่ชาย พี่สะใภ้ ถูกลูกๆบอกให้อพยพไปอยู่บ้านเราที่ขอนแก่นก่อนดีกว่า เพราะพี่สะใภ้เป็นมะเร็งที่หน้าอก ตัดเต้าทิ้งไปแล้ว ลูกๆขอดูแลบ้านที่กรุงเทพฯเอง น้ำแห้งเมื่อไหร่ก็ค่อยกลับไป

เราจึงอพยพกลับบ้านขอนแก่น เพื่อดูแลพี่ๆ แล้วก็เปิดทีวี วิทยุ และสื่อต่างๆเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำที่กรุงเทพฯ ถามไถ่กับญาติพี่น้องคนนั้นคนนี้ ….. โทรถามเพื่อนบ้านว่าน้ำถึงไหนแล้ว ดูวุ่นวายกับน้ำนี้จริงๆ…จนลูกสาวผมบ่นเหมือนคนกรุงเทพฯหลายๆคนว่า “น้ำน่ะ จะมาก็มาซะให้รู้แล้วรู้รอดซะเลยดีกว่า….”

บ้านลูกสาวพี่สะใภ้ที่ขึ้นไปขอนแก่นด้วย เพื่อช่วยกันดูแลคนป่วยก็บอกว่าน้ำเข้าบ้านท่วมถึงหน้าอกแล้ว พ่อบ้านเป็นคนส่งข่าว พี่ชายอีกคนของภรรยาผมที่อยู่เสนานิเวศก็ท่วมแล้ว อพยพไปเช่าที่พักวุ่นวายไปหมด น้องชายผมอยู่ฝั่งธนก็โดนเต็มๆ หนีแบบทุลักทุเล เพราะมีน้องหมาด้วย …..

ปัญหาใหญ่ของคนที่เป็นพ่อแม่คือ ลูกๆยังต้องทำงาน ที่ทำงานไม่หยุด จะอพยพไปไกลก็ห่วงลูก ยิ่งเป็นลูกสาวก็ยิ่งห่วงจะไปอยู่ที่ไหนกับใคร จะไปทำงานอย่างไรสะดวกสบายแค่ไหน มันเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะแรกๆ แต่ต่อมาดูจะคลี่คลายมากขึ้น เมื่อที่ทำงานได้ช่วยเหลือที่พักให้ บางแห่งจัดให้พักฟรี บางแห่งให้งบประมาณเช่าที่พักตามอัธยาศัย..ดีขึ้นมามากทีเดียว…

ส่วนผมนั้น ยาหยีผมก็งานล้นมือไม่ได้พักได้ผ่อน เดินทางตลอด เดี๋ยวลงมาภาคใต้สามคืน เดี๋ยวไปยโสธร สองคืน ไปเชียงรายห้าคืน นี่ไปอุดรอีกสองคืน… ผมรับหน้าที่ดูแลพี่สะใภ้ที่ป่วยไข้ห่างๆ เพราะเขามีลูกสาวและพี่ชายใหญ่ดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของบ้านก็ต้องบริหารจัดการเรื่องการกินการอยู่ให้เรียบร้อย พร้อมที่จะรองรับสถานการณ์เช่นนี้

คนป่วยเข้มแข็งมาก ออกเที่ยวเกือบทุกวัน แล้วก็กลับมานอนพักผ่อน หยูกยาเต็มไปหมด ขาดอะไรก็ให้ส่งมาจากกรุงเทพฯด่วน ผมก็บอกว่า ที่ขอนแก่นน่าจะมียาทุกอย่างสามารถจะซื้อหาได้ แต่พี่เขาอยากได้จากกรุงเทพฯ

บ้านขอนแก่นโชคดีที่น้ำไม่ท่วม แค่ปริ่มๆท่อระบายน้ำจากตัวบ้านออกไปข้างนอก แล้วก็ลดลงตามลำดับ ตอนนี้น้ำเริ่มเน่าเหม็น และลมก็พัดเข้าบ้านเสียด้วย ผมทำหน้าที่กำจัดน้ำเน่าโดยเอา EM ที่ทำไว้ประจำอยู่แล้วเอาไปราด ไปเทตลอดริมน้ำริมรั้ว ผมคิดว่าได้ผมครับ นี่สำรวจด้วยสายตาและสังเกตสภาพทั่วไป

การมีเวลาอยู่กับญาติพี่น้อง ถือโอกาสคุยกันถึงชีวิตของพี่พี่เขา โดยเฉพาะพี่ชายของภรรยาผมท่านนี้อดีตเป็นนายตำรวจอยู่เชียงใหม่ทำหน้าที่รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ท่านเสด็จสร้างดอยอ่างขางใหม่ๆ เป็นประวัติศาสตร์ที่หาฟังยาก นอกจากนี้พี่ชายยังใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การจัดการกับนายครอง จันดาวงศ์ การปะทะกับคอมมิวนิสต์ กำเนิดแนวคิดพระราชทานพอเพียงของในหลวง ฯลฯ

เสียดายที่เรื่องราวที่เกี่ยวกับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นผมเอามาเขียนไม่ได้ด้วยมารยาทและความเหมาะสมในเนื้อหาสาระ ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ผมได้รับฟังเรื่องราวจากพี่ชายของภรรยาผมท่านนี้ กล่าวได้อย่างเดียวว่า พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่น ทุ่มเทในการสร้างบ้านสร้างเมืองอย่างเต็มที่มาตลอด…

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน…



Main: 0.029315948486328 sec
Sidebar: 0.045382976531982 sec