หนีภัยน้ำท่วม.. หนีภัยโตโจ..

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2011 เวลา 23:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3130

ครอบครัวผมก็คงเหมือนๆกับหลายครอบครัวที่มีญาติพี่น้องที่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตามเงื่อนไขของชีวิต นอกจากพี่น้องคลานตามกันมาแล้วก็มีญาติฝ่ายสามี ฝ่ายภรรยา เพื่อนรักของญาติ ของลูก ผู้มีพระคุณ และใครต่อใครอีกมากมายตามวัฒนธรรมสังคมไทยที่เป็นครอบครัวขยาย

โดยปกติเราก็จะคิดถึงกัน ถามไถ่กันตามโอกาส ใครเจ็บป่วยก็ไปเยี่ยมยามกัน หรือส่งข้าวของไปเยี่ยมกันตามเงื่อนไข

ยิ่งมีอุทกภัยคราวนี้ก็มีความถี่ในการถามไถ่กันด้วยความเป็นห่วง ต่างรู้สภาพกันดีว่าใครอยู่บนเงื่อนไขอย่างไร ต่างก็พิเคราะห์กันว่าจะทำอะไร อย่างไรถึงจะดีที่สุด ก็เหมือนๆกับทุกคนในสภาพนี้แหละครับ เพียงแต่ทางออกของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดวิกฤติเช่นนี้ก็เห็นชัดเจนว่า อะไรคือความสำคัญของชีวิต องค์ประกอบชีวิต อะไรคือความอยู่รอด และการสร้างเงื่อนไขของการอยู่รอด และต่างก็ถามไถ่ ปรึกษาหารือกันเพื่อเสนอความเห็น คำแนะนำแก่กันและกัน

การที่ส่วนใหญ่อพยพไปต่างจังหวัด ทำให้ผมนึกถึงสมัย “สงครามโตโจ” หลายคนไม่รู้จักชื่อนี้นะครับ ก็แนะนำเลยว่า ก็คือมหาสงครามเอเชียบูรพา หรือสงครามญี่ปุ่น หรือสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง ที่ญี่ปุ่นต่อสู้กับอเมริกาโดยญี่ปุ่นบุกประเทศต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้วบังคับให้เอากำลังทหารเข้าร่วมรบกับอเมริกา …โอยเดี๋ยวยาว….

“โตโจ” คือชื่อนายพลญี่ปุ่นที่นำทัพบุกประเทศไทย สมัยนั้นมีการสอบ Entrance พอดีจึงมีการงดสอบทั่วประเทศกลางคัน แล้วเมื่อสงครามสงบก็มีการสอบใหม่ เป็นการสอบสองครั้ง ซึ่งผมเกิดไม่ทันหรอกครับ แต่รุ่นผมนั้นก็มีการสอบ Entrance สองครั้ง ไม่ใช่เพราะเกิดสงครามแต่เพราะข้อสอบรั่ว..อิอิ ขายหน้าจริงๆ กระทรวง ทบวงมหาวิทยาลัยจึงประกาศยุติการสอบกลางคัน และให้สอบใหม่หมด จึงเป็นรุ่นที่สอบ Entrance สองครั้งเหมือนสมัยที่นายพลโตโจบุก เลยเรียกรุ่นผมสอบว่าเป็น “รุ่นโตโจ” ไปด้วย…

อ้าวเรื่อยเปื่อยไปเลย…

ย้อนกลับมา เมื่อเกิดสงครามญี่ปุ่นก็ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด แน่นอน เขาก็ทิ้งสถานที่สำคัญๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เมืองเป็นอัมพาต ไปทั้งหมด นั่นคือตัดเส้นทางคมนาคม ทิ้งระเบิดสถานีไฟฟ้าวัดเลียบ สะพานพุทธ และ…..เมื่อมีการทิ้งระเบิด ประชาชนก็อพยพซิ ไปไหนล่ะ ก็ออกต่างจังหวัดซิ ใครมีญาติโกโหติกาที่ไหนๆก็อพยพไปกันทุลักทุเลพิลึกพิลั่นเชียว เพราะคมนาคมมันแย่กว่านี้แบบเทียบกันไม่ได้

บ้านผมที่วิเศษชัยชาญกลายเป็นที่พักของคุณตา สำเภา ถาวรอยู่ และครอบครัว ความจริงคุณตาไม่ได้เป็นญาติกับตระกูลผมโดยตรง แต่คุณตามีญาติพี่น้องในหมู่บ้านเดียวกัน คุณตามีอาชีพเป็นครูวัดรางบัว ครอบครัวก็เป็นผู้มีความรู้ ย่อมมีนิสัยเรื่องสุขอนามัย วิเศษชัยชาญสมัยเมื่อ 60-70 ปีที่แล้วนั้นคือบ้านนอก ขอโทษนะครับ ไม่มีส้วมสักหลัง เข้าป่าข้างบ้านกันทุกเช้า เป็นที่รู้กัน มีเพียงบ้านผมเท่านั้นที่พ่อผมเป็นครูประชาบาล และมีส้วมซึม…. ญาติพี่น้องคุณตาจึงแนะนำให้มาพักบ้านผม พ่อผมก็ยินดีต้อนรับเต็มที่ถือเป็นความเต็มใจยิ่ง ที่ได้ต้อนรับคนจากเมืองกรุง หนีภัยสงครามมา

ตั้งแต่นั้นมาครอบครัวตระกูลผมกับครอบครัวคุณตาก็เคารพนับถือกันเสมือนญาติพี่น้อง หลายสิบปีเมื่อสงครามผ่านไปคุณตาและเพื่อนๆคุณตารุ่นเดียวกันต่างพากันไปย้อนความหลังที่วิเศษชัยชาญ และไปนอนที่บ้านผม ผมโตแล้ว คุณตาและเพื่อนร่วมภัยสงครามนั่งกินข้าวที่บ้านผม ต่างเล่าถึงความหลังกันลั่นบ้าน ผมเป็นเด็กก็นั่งฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน และคอยรับใช้พ่อที่ให้ไปหยิบโน่นหยิบนี่มาให้

ผมกวาดบ้าน ถูบ้าน ตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่ห้องน้ำ ทำงานบ้านทุกอย่าง คุณตาเห็นก็ออกปากว่า เมื่อเรียนจบมศ. 3 แล้ว อยากเรียน มศ.4-5 ก็ไปเรียนที่ฝั่งธนบุรีได้โดยไปพักที่บ้านคุณตานั่นแหละที่สำเหร่ ให้พักฟรีไม่ต้องเสียค่าเช่า แถมกินฟรีด้วย นั่นคือเงื่อนไขที่ผมได้เข้ามาเรียนที่ฝั่งธนบุรีก่อนจะสอบ entrance ในที่สุด

การอพยพหนีภัยสงครามของคุณตา ก็คล้ายๆคนหนีน้ำในปัจจุบันมากันแต่ตัวเอาเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็นไปเท่านั้น

แต่คราวนี้เป็นภัยน้ำท่วม….



Main: 0.024268865585327 sec
Sidebar: 0.065286159515381 sec