การพร่องน้ำเขื่อน
เนื่องจากเคยทำงานที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ในโครงการจัดการน้ำในระดับไร่นาสนับสนุนโดยรัฐบาลเนเทอร์แลนด์ และมาทำงานกับกลุ่มบริษัท ยูโรคอลซัล เรื่องปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์เขื่อนในภาคอีสาน หลายแห่ง โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลัก อยากแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพร่องน้ำของเขื่อนต่างๆ ไม่ใช่คำอธิบายเชิงวิชาการ เป็นเพียงความเข้าใจที่มีโอกาสใกล้ชิดเรื่องนี้
- น้ำในเขื่อนมาจากไหน
เขื่อนในประเทศเรานั้นยกเว้นเขื่อนเจ้าพระยา หรือเขื่อนที่กั้นแม่น้ำนั้น น้ำมาจากฟ้า คือน้ำฝน เขื่อนแบบนี้เราเรียก Dam ส่วนเขื่อนเจ้าพระยานั้นเป็นการก่อสร้างขวางทางแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องคอยน้ำฝน แค่เอาบานประตูน้ำปิดลง วันเดียวน้ำก็เต็มหน้าเขื่อน เขื่อนแบบนี้เรียกว่า River-Pondage (หากสะกดผิดก็ขออภัยด้วย)
- วัตถุประสงค์การสร้างเขื่อนเพื่ออะไร
หากเป็นเขื่อนของกรมชลประทานก็เน้นเรื่องหลักคือ เพื่อการเกษตร โดยสร้างระบบคลอง คูส่งน้ำขึ้นมาเชื่อมต่อกับประตูระบายน้ำปกติจะทำสองบานซ้ายขวา กระจายไปตามพื้นที่การเกษตรโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงโลก หรือระดับสูงต่ำของพื้นที่เป็นตัวนำน้ำไป และพยายามกระจายออกไปให้มากที่สุดตามกำลังความสามารถของปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ในเขื่อนและสภาพพื้นที่
การเกษตรในที่นี้หมายถึงน้ำเสริมการทำนาข้าวในฤดูฝนสำหรับปีที่ฝนน้อย หรือฝนทิ้งช่วง แต่หลักๆคือน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง หรือหลังนาปี ไม่ว่าเกษตรกรจะใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรัง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หรือแม่แต่เลี้ยงปลา กรมชลประทานก็สามารถจัดการน้ำให้ได้
อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำหลากที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนได้ แต่ก็มีข้อจำกัดแค่ปริมาณความสามารถในการเก็บกักเท่านั้น หากปริมาณฯฝนมากเกินกว่าเก็บกัก ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ วัตถุประสงค์ข้อนี้มักกล่าวอ้างประโยชน์ของเขื่อน แต่ผู้อธิบายไม่ได้อธิบายทั้งหมดว่ามีข้อจำกัดนะ.. หากเกินระดับเก็บกักแล้ว มีเขื่อนก็เหมือนไม่มีเขื่อนเพราะเก็บกักไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ
เขื่อนของกรมชลประทานแบบนี้จะสร้างทั้งขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่ ซึ่งมีความจุมากที่สุดก็นับหลายพันลูกบาศก์เมตร โดยมีหน่วยวัดที่ระดับเก็บกักจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ส่วนเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ นั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์พลังน้ำในการสร้างกระแสไฟฟ้าเอาไปใช้เป็นหลัก มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร นอกจากจะดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อการเกษตรได้บ้าง
- การเก็บกักน้ำของเขื่อน
เขื่อนที่สร้างขึ้นมานั้นมีการศึกษาความเหมาะสม อย่างรอบด้านแล้ว จึงตัดสินใจก่อสร้าง โดยกำหนดระดับเก็บกักน้ำฝนที่คาดว่าจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสภาพพื้นที่และในแง่มุมต่างๆ ตัวเลขเก็บกักนั้นใช้มาตรฐานสากลระบุ คือปริมาตรลูกบาศก์เมตรที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง คนในวงการก็จะพูดสั้นๆว่า เขื่อนนี้มีปริมาตรความจุเท่ากับ …. ที่ระดับเก็บกักฯ นายช่างชลประทานที่รับผิดชอบจึงต้องศึกษาสถิติน้ำฝนในรายละเอียดย้อนหลังไปมากที่สุดเพื่อศึกษาค่าเฉลี่ยและ Trend ในแต่ละช่วงปี โดยมีข้อมูลการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นข้อมูลหลัก
- จัดการน้ำในเขื่อน
วัตถุประสงค์เขื่อนแตกต่างกัน การจัดการน้ำจึงไม่เหมือนกันในรายละเอียด แต่หลักการใหญ่ๆคือ ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ก็จะบริหารปล่อยออกไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และปรับปรุงไปตามสภาวการณ์ทุกช่วงระยะที่กำหนด เช่นทุกสัปดาห์ เป็นต้น หากเป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะต้องพิจารณาปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ต้องการผลิตซึ่งจะบ่งชี้ปริมาณน้ำที่ต้องใช้สร้างกระแสไฟฟ้า คือปริมาณน้ำที่ต้องปล่อย
เช่นเดียวกันน้ำเพื่อการชลประทานก็ต้องปล่อยน้ำลงคลองส่งน้ำตามแผนงานของฝ่ายส่งเสริมการผลิตว่ามีพื้นที่ที่ทำการเกษตรเท่าไหร่ ปลูกอะไร ช่วงเวลานั้นอยู่ระยะไหนของการเพาะปลูก ซึ่งต้องการน้ำที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ชลประทานแต่ละตอนส่งน้ำจะต้องเตรียมประชุมกับเกษตรกรในพื้นที่ของตนตั้งแต่ต้นฤดูการผลิตเพื่อสำรวจจำนวนครัวเรือนที่ประสงค์จะทำการผลิตในช่วงฤดูแล้งนี้มีจำนวนกี่ครัวเรือน รวมพื้นที่กี่ไร่ แปลงที่ทำการผลิตอยู่ตรงไหน ตั้งใจจะปลูกพืชอะไร แยกชนิด ประเภท จัดทำระบบข้อมูลอย่างละเอียดจึงมาวางแผนปล่อยน้ำว่าจะเริ่มปล่อยน้ำให้เกษตรกรได้เมื่อใดวันที่เท่าใด โดยคำนึงถึงการประหยัดน้ำ เพราะน้ำทุกหยดมีต้นทุน
- การพร่องน้ำ
โดยสภาพปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปีนั้นจะมีปริมาณมากเกินการเก็บกักของเขื่อน และมีความไม่แน่นอนว่าแต่ละปีจะตกกี่ครั้ง กี่วัน ที่เรียกว่าการกระจายตัวของฝน แต่ละครั้งนั้นมีปริมาณน้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด ข้อมูลเหล่านี้วิศวกรแหล่งน้ำที่ควบคุมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และฝนตกแต่ละครั้งต้องรีบตรวจสอบว่ามีปริมาณเท่าใดที่เข้ามาในเขื่อน และศึกษาข้อมูลคาดการณ์ข้างหน้าว่าจะมีฝนตกอีกกี่ครั้ง น้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด
โดยปกติ วิศวกรแห่งน้ำที่ควบคุมและบริหารน้ำเข้าและออกจากเขื่อนจะเปิดบานประตูเขื่อนให้น้ำในเขื่อนไหลออกไปจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขื่อนมีปริมาตรเก็บกักน้ำมากเพียงพอที่จะรับน้ำฝนใหม่ที่จะตกลงมา การเปิดบานประตูและปล่อยน้ำออกจากเขื่อนนี้เราเรียก “การพร่องน้ำเขื่อน”
หากข้อมูลชัดเจน และการคาดการณ์จากการพยากรณ์แม่นยำ แน่ชัด หรือมีความเชื่อมั่นสูง การพร่องน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก็จะพอดีกับปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาใหม่จากฝนที่ตกลงมา หากบริหารได้เช่นนี้ ก็จะไม่ส่งผลเสียหายแต่อย่างใด และหากในแต่ละปีปริมาณฝนที่ตก และการกระจายตัวของฝนอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง การบริหารจัดการก็ไม่น่าจะมีปัญหาอย่างใด
แต่ในกรณีที่ปีใดที่มีฝนตกมาก เช่นปีนี้ที่มีพายุเข้ามาถึง 5 ครั้ง แต่ละครั้งปลดปล่อยน้ำออกมามากมายลงสู่หน้าเขื่อน จนเกินระดับเก็บกัก ก็จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำออกมากกว่าทุกปี เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อนให้มีความมั่นคงในการเก็บกัก ตรงนี้เองที่ปริมาณน้ำที่พร่องออกมามากเกินกว่าปกติย่อมส่งผลต่อพื้นที่ด้านล่างของตัวเขื่อน คือ น้ำท่วม และก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ
- พร่องน้ำเขื่อนอย่างไรจึงจะปลอดภัย
คำถามนี้ วิศวกรแหล่งน้ำผู้ควบคุมย่อมอธิบายได้ แต่ในมุมมองของผมนั้นคิดว่าในกรณีปกตินั้นไม่มีปัญหาอย่างใด แต่ในปีที่มีฝนตกมาก เช่น ปีนี้ ยากที่จะบริหารจัดการน้ำ เพราะการพร่องน้ำมากมันรุนแรงกว่าฝนตกมาก เพราะฝนตกมากนั้นมันตกกระจายตัวในพื้นที่กว้าง แต่การพร่องน้ำในปริมาณที่มากออกมานั้น มันมากเกินกว่าที่ลำน้ำหน้าเขื่อนจะรับได้ เพราะเป็นปริมาณที่มากผิดปกติ หากไม่พร่องก็อาจก่อปัญหาความมั่นคงของตัวเขื่อน ปล่อยมามากก็ทำให้เกิดการท่วมอย่างรวดเร็ว และส่งผลเสียหายมากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่สองข้างริมฝั่งลำน้ำที่เป็นทางไหลออกขากน้ำจากเขื่อน
อาจจะพร่องน้ำบ่อยครั้งในปริมาณที่ไม่กระทบต่อการท่วมย่อมได้ แต่ก็เสี่ยงต่อน้ำฝนที่จะเติมลงมาใหม่ว่าจะมีมากเพียงพอให้เก็บกักตามแผนงานหรือไม่ แม้จะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สถิติ การพยากรณ์ที่แม่นยำ แต่ไม่มีหลักประกันในความเชื่อมั่นสูงแต่อย่างใด การบริหารงานเก็บกักน้ำจึงเป็นการบริหารงานความเสี่ยงแบบหนึ่ง
ยิ่งหากมีการเมืองเข้ามาแทรก หรือมีอำนาจที่เหนือกว่ามาสั่งการให้บริหารจัดการตามประสงค์ของผู้สั่งการ โดยไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลและความเหมาะสมแล้ว ความผิดพลาดในการบริหารงานย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ
- ประโยชน์ของเขื่อน
ทัศนะส่วนตัวเห็นว่าเขื่อนมีประโยชน์โดยเฉพาะเพื่อการเกษตร เป็นความฉลาดของมนุษย์ที่ดัดแปลงธรรมชาติมาเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร แต่ขนาดของเขื่อนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใหญ่มากเพราะส่วนที่ทำให้เกิดผลเสียก็ย่อมมี เช่นไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติต่างๆ สองด้านนี้ต้องศึกษาและประเมินแบบมีส่วนร่วมอย่างละเอียดว่าความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน