ผมเรียกว่าการเผชิญหน้าเพื่อการแก้ปัญหา Conflict Confrontation เป็นเรื่องที่ยากมากๆที่จะเข้ามาแก้ปัญหาในลักษณะเผชิญหน้าเช่นนี้ โอกาสในการแก้ปัญหานั้นมีเท่าๆกับไม่มี ต้องดูที่ ความเดือนร้อนของประชาชนได้รับ ประเด็นของปัญหาเป็นตัวหรือส่วนรวม พัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ชลประทาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นและที่อาจจะเกิดขึ้น ทางออกมีกี่ทางในทางเทคนิคและสังคม ฯลฯ
สิ่งที่ผมเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงความเห็นของคนภายนอกที่ไม่มีรายละเอียดของข้อมูล จึงเป็นความคิดเห็นทั่วไปเท่านั้น
ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อมวลชนประสบปัญหาและกระทบต่อวิถีชีวิตของเขาอย่างรุนแรง และเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่น้ำท่วมมากกับพื้นที่น้ำท่วมน้อยกว่า เพียงมีสิ่งก่อสร้างมาแบ่งความรุนแรงของปัญหา เป็นปกติของสำนึกขอผลประโยชน์ของบุคคลทั่วไป ไม่ว่าใครจะมีสำนึกแค่ไหนก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ เมื่อไม่มีคำอธิบายความอดทนก็ถึงจุดระเบิด ที่จะต้องแสดงออกถึงความเดือดร้อนและความคิดเห็น หากมีเพื่อนร่วมความทุกข์ ก็ง่ายที่จะร่วมความรู้สึก ความรู้สึกที่ร่วมก็ง่ายต่อการรวมตัวกันแบบหลวมๆแล้วแสดงความอัดอั้นภายในออกมาตามบรรยากาศที่เอื้อและแรงหนุนที่อาจจะมี
หากการแสดงออกไม่ได้รับการตอบสนองทันทีก็ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาไปได้หลายทาง เช่น จากการรวมตัวแบบหลวมๆพัฒนาไปสู่องค์กรง่ายๆ ผู้มีอิทธิพลทั้งทางการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์สามารถใช้ความขัดแย้งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อเขาได้ง่าย เพียงเดินมาสนับสนุนและให้ท้าย ที่เป็นพลังเสริม ฯลฯ
การแสดงออกของกลุ่มผู้เดือดร้อนโดยธรรมชาติจะหาพรรคพวกเพื่อนร่วมความทุกข์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วคุยกันถึงสิ่งที่ควรทำ บวกอารมณ์ที่ไม่ได้รับการชี้แจงแถลงไขอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเกิดความเดือดร้อน กระทำในสิ่งที่เขาตกลงกันมาก่อน หรือไม่ได้ตกลงแต่มีคนเริ่มก่อน อาจจะเรียกสถานการณ์ช่วงนี้ได้ว่า Chaos ก็ได้ ดังที่ปรากฏในจอทีวีครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบก็เป็นได้
ขึ้นกับว่ากลุ่มผู้เดือดร้อนนี้มีกลุ่มนำเป็นแบบไหน หากเป็นผู้มีความรู้ มีสติ มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็จะมีขั้นตอนการเรียกร้อง เช่น ไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงความเดือดร้อน และขอรับการแก้ไข อาจจะทำหนังสือส่วนตัวชี้แจงความเดือดร้อนและขอรับการแก้ไข หรือทำหนังสือและมีบัญชีหางว่าวของผู้ร่วมการเดือดร้อนมาขอรับการแก้ไข
หรือบางกลุ่มที่ไม่สนใจขั้นตอนดังกล่าวก็จะรวมตัวกันแล้วพากันเดินมาหาเจ้าหน้าที่ กดดันให้แก้ปัญหาทันที นี่คือการเผชิญหน้า ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้เสียง อารมณ์และกลุ่มคนเป็นเครื่องมือในการกดดัน
หากเจ้าหน้าที่ไม่มีการศึกษา ฝึกฝนการเผชิญหน้ามาก่อนย่อมทำอะไรไม่ถูก มีแต่ขอปรึกษาผู้ใหญ่ เมื่อไม่มีคำตอบ กลุ่มเรียกร้องย่อมยิ่งมีอารมณ์ เมื่อมีอารมณ์มากก็ยิ่งด้อยเหตุผลและความสุขุมรอบคอบ และนำไปสู่การกระทำตามที่กลุ่มต้องการ นั้นคือการทำลายคันดิน บานประตู เพื่อเจาะทางให้น้ำไหลไปได้ เพื่อให้บรรลุความต้องการ พฤติกรรมกลุ่มแบบนี้ขึ้นกับผู้นำว่าจะนำไปทางไหน หรือไม่มีผู้นำแต่มีผู้กระทำบางสิ่วบางอย่าวออกมาก่อน ก็จะมีคนตาม เช่นอ่อนหน่อยก็การใช้วาจาที่หยาบคาย ท่าทีที่โมโห แล้วก็รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
หรือแม้จะมีคำตอบ คำอธิบาย ตามหลักการซึ่งจะอยู่ในลักษณะของเนื้อหาที่ ยืนยันในสิ่งที่ชลประทานดำเนินอยู่ ที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียกร้อง คำอธิบายเหล่านี้ยิ่งไปเพิ่มแรงผลักให้กลุ่มเรียกร้องกดดันรุนแรงมากขึ้น ในวินาทีนั้น กลุ่มผู้ร้องเรียนต้องการคำตอบ เมื่อไม่ได้ก็ต้องแสดงพลังความต้องการทันทีเมื่อกลุ่มตัดสินใจ จึงเกิดการทำลายเกิดขึ้น
หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานมวลชนมาก่อนดังที่นำเสนอไว้นั้น สิ่งที่ควรทำคือ การเผชิญหน้าอย่างมีสติ หนักแน่น และยึดกุมผลประโยชน์ส่วนรวม เจ้าหน้าที่ย่อมทราบดีว่ามีแรงต้านจากประชาชน จึงควรเตรียมตัวปรึกษาหารือถึงหลักการ นโยบาย คำสั่ง แนวทางการปฏิบัติ ระเบียบ ฯ ทั้งหลายอย่างรัดกุม และเตรียมพร้อมการเผชิญหน้าอย่างมีสติ และใจเย็นเป็นที่สุดๆ อดทนต่อคำกล่าวที่ไม่เข้าหูต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
เมื่อหลักการต่างๆ หรือนโยบายไปขัดต่อความประสงค์ของประชาชนก็ต้องเจรจาอย่างสุขุมรอบคอบ สติ อดทน ท่าทีเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในวิกฤติเช่นนี้ ท่านที่ไม่เคยผ่านตรงนี้มาก่อนย่อมตื่นเต้น จนบางท่านไม่สามารถคุมสติได้ ยิ่งโดนมวลชนใช้วาจาที่หยาบคาย ก็จะเป็นแรงกดดันมหาศาลต่อการเจรจา
การเจรจานั้นอาจเกิดขึ้นในหลายลักษณะตามแรงดันที่มีอยู่ โดยหลักการนั้นจะให้ฝ่ายเรียกร้องตั้งตัวแทนมาจำนวนหนึ่งมาเจรจากับผู้มีอำนาจหรือได้รับมอบหมายของหน่วยงาน ในที่นี้อาจเป็นผู้บริหารของชลประทานระดับสูง แต่หลายครั้งการเผชิญหน้านั้นมีองศาของอารมณ์ที่สูงมากบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่คุยกันตรงนั้น ต้องการคำตอบตรงนั้น การเจรจาจึงอาจเกิดขึ้นตรงนั้น เจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบที่ถูกห้อมล้อมด้วยแรงกดดันของมวลชนที่เดือดร้อน เพราะทุกครั้งที่ฝ่ายมวลชนกล่าวอะไรไปก็จะมีเสียงสนับสนุนมาจากเพื่อนมวลชน นี่หากเจ้าหน้าที่ไม่มีสติ ไม่มีท่าทีที่ดี ไม่มีความอดทน ไม่เข้มแข็ง ก็อาจ “หลุด” ได้ง่ายๆ
การเจรจาที่ดีนั้น เจ้าหน้าที่ต้องรับฟังมากๆ รับฟังเหตุผล ต่างๆ ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และความต้องการ จับประเด็นให้ได้ ให้เวลากับเขามากๆเพื่อเป็นการระบายองศาของความร้อนลงไปด้วย การรับฟังก็ต้องมีท่าทีที่ดี สงบ เยือกเย็น น้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เก็บประเด็นต่างๆไว้ เพื่ออธิบายเหตุผลต่างๆที่มีอยู่
หากไม่มีการทำงานมวลชนมาก่อนการอธิบายด้วยหลักวิชาทางชลประทานนั้น ยากที่ชาวบ้านจะเข้าใจและยอมรับ นี่คือจุดอ่อนในการเผชิญหน้าที่ขาดการทำงานมวลชนมาก่อน นี่คือการตั้งรับที่ต้องอดทน
ในที่สุดก็ต้อง ทางออกก็ต้องต่อรองและเจ้าหน้าที่ชลประทานต้องชั่งน้ำหนัก หากผู้เจรจามีอำนาจตัดสินใจได้ก็ดี หากไม่สามารถตัดสินใจได้ก็ต้องรีบหาคำตอบด่วนที่สุด เพราะความเดือดร้อนนั้นมันไม่ได้รอ หากไม่มีคำตอบ หรือคำตอบไม่ผ่อนคลายใดๆเลยมีแต่ยืนหยัดหลักการ นโยบายอย่างเอาเป็นเอาตาย เชื่อว่า กลุ่มมวลชนย่อมใช้เสียงสนับสนุนของเขานั้นทำลายระบบจัดการน้ำอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน
ยกเว้นว่าหัวหน้ากลุ่มมวลชนเป็นผู้มีเหตุผลและสามารถรับฟังเจ้าหน้าที่ที่ขอเวลาปรึกษากับฝ่ายบริหารระดับสูงในเวลาที่กำหนดร่วมกัน
ไม่ยั่วยวน ไม่ใช้ไม้แข็ง ไม่มีท่าที่ที่แข็งเกินไป ไม่รับฟัง ใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว ท้าทาย ข่มขู่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เท่ากับการไปเติมเชื้อเพลิงของฝ่ายมวลชนที่กำลังร้อนแรงและจะพัฒนาไปสู่การไร้เหตุผลได้ในที่สุด พัฒนาไปสู่ลักษณะ Chaos ซึ่งอันตรายและมีแต่ความเสียหายเกิดขึ้น
นี่ไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่แนวทางประเสริฐ ไม่ใช่สูตร แต่เป็นความคิดเห็นหยาบๆที่อยากแสดงออกเท่านั้น เพราะผู้เขียนเคยเผชิญสิ่งเหล่านี้มาบ้างแล้ว ไม่ว่าในกรณีการเมืองสมัย 14 ตุลา หรือความขัดแย้งในชนบทลักษณะต่างๆ หลายครั้งผู้เขียนอยู่ฝ่ายมวลชนนั้นเองด้วย….