กรณีความขัดแย้งเรื่องบานประตูน้ำชลประทาน..

411 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 11730

กรณีความขัดแย้งบานประตูเปิดปิดน้ำชลประทานเพราะน้ำท่วม… หากมีใครถามผมว่า หากคุณเป็นผู้รับผิดชอบ คุณจะทำอย่างไร..? ผมอยากแสดงความคิดเห็นในฐานะคนทำงานพัฒนาคน… โดยมองจากประสบการณ์ แม้ว่าเงื่อนไข รายละเอียด สาระ และปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน แต่พยายามนำเสนอเพื่อต่อยอดเท่านั้นเอง

  • ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา

เพราะชุมชนแตกต่างกัน มากมาย การแก้ปัญหาที่อีสานอาจจะสำเร็จ แต่กระบวนวิธีเดียวกันอาจจะใช้ไม่ได้เลยที่ปทุมธานี อาจใช้หลักการเดียวกันได้ แต่ผู้ดำเนินการต้องพลิกแพลงไปตามปัจจัยในระหว่างการดำเนินการ หรืออาจจะพบช่องทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้หากคิดวิเคราะห์ไปตลอดเวลาของการจัดทำกระบวนการ


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • ทำงานมวลชนแบบต่อเนื่อง

เป็นที่ยอมรับกันว่าการทำงานกับคนนั้น ต้องจริงใจเป็นเบื้องต้น มีความพยายามเข้าใจเขาผู้เดือดร้อน ถามว่าแสดงอย่างไร… ตอบว่า มันไม่ใช่พอน้ำท่วมแล้วมาแสดงด้วยคำพูดกันใหญ่ว่า เข้าใจ เห็นใจ จริงใจ แล้วก็หายหน้าไป เดี๋ยวก็โผล่มา เดี๋ยวก็หายไป ต้องมีความผูกพันกันมาก่อนหน้านี้แล้วนานพอสมควรที่ชุมชนนั้นๆจะรู้จักเราดี

นั้นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบานประตูชลประทานต้องทำงานมวลชนมาก่อนหน้านี้ตลอดเวลามานานแล้ว

  • งานมวลชนคืองานอะไร..?

งานที่เจ้าหน้าที่ชลประทานจะต้องเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน ตั้งแต่หัวหน้าชุมชนทุกระดับจนถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน ทั้งในภาระงานที่รับผิดชอบนำความรู้ความเข้าใจไปอธิบายให้ชุมชนฟัง อธิบายอย่างหมดเปลือก ถึงภาระหน้าที่ บทบาท การบริหารน้ำ ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลดี ผลเสีย ประโยชน์ต่างๆ ชุมชนได้อะไร เสียอะไร ระบบน้ำทั้งหมดเป็นอย่างไร ฯลฯ อธิบายซ้ำซาก ใช้เครื่องมือต่างๆทางเทคนิควิทยาการมาช่วย เช่น ระบบ Simulation ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบๆบานประตูน้ำและทั้งระบบน้ำ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของบานประตูและความต่อเนื่องของระบบการจัดการในภาพใหญ่ ภาพรวม นี่คือเป้าหมายแรกของงานมวลชน

  • งานมวลชนต้องละรูปแบบทางการ

เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องอุทิศเวลาส่วนตัว เวลางานออกไปเยี่ยมเยือน พูดคุยกับชาวบ้านอย่าง “ไม่เป็นทางการ” ไปแวะถามไถ่การทำนา ทำสวน หรือการทำอาชีพต่างๆของเขา ไปเยี่ยมเยือนผู้นำ ที่เราเรียกว่า Key informant เป็นระยะๆจนเกิดความสนิทสนม กิจกรรมแบบไม่เป็นทางการนี้แหละที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญสุดของงานมวลชน ก่อนที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในสาระที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งงานแบบนี้เจ้าหน้าที่ชลประทาน หรือข้าราชการทั่วไปมักไม่ได้ให้ความสำคัญ ตรงข้ามมักเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ได้กำหนดไว้ในบทบาทหน้าที่ และไม่ถนัดที่จะทำ เพราะส่วนใหญ่เป็นนายช่าง จะวางตัวในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเทคนิคกับมวลชน ผมเคยสอบถามว่าในวิทยาลัยชลประทานนั้นมีวิชาที่ว่าด้วยสังคมศาสตร์บ้างหรือเปล่า คำตอบคือไม่มี เน้นความเป็นเลิศทางช่างเท่านั้น นี่คือจุดอ่อนของบุคลากรเทคนิคของบ้านเรา

  • งานมวลชนต้องรับฟัง และทำซ้ำ

การใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงไปอธิบายให้ประชาชนทั้งชุมชนเข้าใจระบบการทำงานของบานประตูกับระบบการจัดการน้ำทั้งระบบนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าใจทั้งหมด ยิ่งใช้วิธีแบบทางการ ก็อย่าหวังว่าตามีที่มีอาชีพปลูกข้าวมาตลอด 60 ปีจะเข้าใจทั้งหมด ให้เวลาเขา รับฟังเขามากๆ ต้องทำแบบ two way communication ตลอดเวลา คือชุมชนสามารถสอบถามถึงความไม่เข้าใจ ต่างๆได้ ซึ่งมีเทคนิควิธีมากมายจะบอกกล่าวให้ชุมชนทราบ เช่น โทรศัพท์ การเดินเข้าไปหา การ เขียนจดหมายถึง การเชิญไปอธิบายเพิ่มเติม ฯลฯ ทำซ้ำๆหลายครั้งหลายหน พาไปดูของจริง ตระเวนไปดูทั้งระบบ ฯลฯ

  • งานงานมวลชนนั้นเป็นทักษะเฉพาะคน

พร้อมที่จะดัดแปลงกระบวนวิธี เพราะมวลชนนั้นแตกต่างกันมากมาย อายุ เพศ อาชีพ ลักษณะที่ตั้งชุมชน การเข้าถึงของสื่อต่างๆ ระบบถนน และระยะห่างจากสังคมเมือง สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยห่อหุ้มมวลชนให้มีลักษณะเฉพาะ และแตกต่างกันและกัน

  • งานมวลชนกับชุมชนแบบไหน

ที่กล่าวมานั้นเป็นมวลชนประเภท ชุมชนแบบดั้งเดิม ซึ่งง่ายเพราะชุมชนดั้งเดิมของสังคมไทยนั้นมีลักษณะร่วมมากกว่า มีทุนทางสังคมเป็นแรงเกาะเกี่ยวแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว การทำงานมวลชนง่ายกว่า หากผู้รับผิดชอบเข้าใจโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม และคลำหาตัวบุคคลได้ถูก เท่ากับเดินมาถูกทางไปมากแล้ว โครงสร้างชุมชนดั้งเดิมนั้นถูกซ้อนทับด้วยโครงสร้างการปกครองสมัยใหม่ พ่อเฒ่าพูดกับผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.พูดนั้น บางชุมชนนั้น พ่อเฒ่าพูดมีน้ำหนักมากกว่า คุณผู้ทำหน้าที่เข้าใจและคลำหาบุคลากรเหล่านี้ได้หรือไม่

ส่วนชุมชนอีกแบบเป็นแบบสมัยใหม่ คือหมู่บ้านจัดสรร เป็นชุมนเมือง เป็นชุมชนที่สมาชิกมาจากทั่วสารทิศ แตกต่างกัน มีลักษณะการเกาะเกี่ยวกับด้วยกฎ ระเบียบ ข้อตกลง ข้อบังคับ มากกว่าความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ ความสนิทสนม มีความเป็นส่วนตัวสูง ตัวใครตัวมัน เก็บตัว มันเหมือนมีกำแพงบางอย่างขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่

  • งานมวลชนไม่ใช่มาทำเมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งแล้ว

คนที่ทำงานมวลชนที่หวังผลนั้นต้องทำมาอย่างต่อเนื่อง หลักการของในหลวงที่พระราชทานให้ไว้นั้นสั้นที่สุดและครอบคลุมที่สุดคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในกระบวนการทำงานด้านสังคมชุมชนนั้นเรามีเครื่องมือมากมายที่จะ “เข้าใจชุมชนทั้งครบ” เรามี PRA, RRA, Socio-gram, Triage, Community profile, Historical profile, Sustainability analysis, Livelihoods analysis, Transect, Dairy routine work, ฯลฯ เพื่อศึกษาด้านลึกของแต่ละครอบครัว เพื่อวิเคราะห์จุดร่วม หรือเงื่อนไขที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน งานมวลชนแบบนี้ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์สูงมาทำ เพราะจะเข้าใจเครื่องมือที่ใช้ ท่าที กระบวนวิธี และการสื่อสารกันและกัน เอามาวิเคราะห์ แล้วมาทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านมวลชนเฉพาะ

นี่คือเครื่องมือที่เข้าใจเขา ประการสำคัญขอย้ำว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะที่ทำหน้าที่นี้เพื่อทุ่มเทเวลาในการทำงานด้านมวลชน เพื่อเข้าใจเขา การเข้าใจเขานั้นมิใช่เพียงเข้าใจ แต่ต้องเป็นการ “เข้าใจด้านลึกของเขาทั้งครบ”


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • เขาเข้าใจเราไหม

เราเข้าใจเขาแล้วทั้งภาพรวม ภาพย่อย เงื่อนไข การเกาะเกี่ยว เอกลักษณ์ ความเป็นปัจเจก ความสามัคคี ความขัดแย้ง กลุ่มอิทธิพล การเชื่อมโยงภายในภายนอก ฯลฯ แล้วมาถึงคำถามใหญ่ว่า แล้วเขาเข้าใจเราไหม เข้าใจบานประตูชลประทานไหม เข้าใจระบบการจัดการน้ำไหม เข้าใจความเชื่อมโยงของบานประตูนี้กับบานอื่นๆ คลองอื่นๆ ส่วนอื่นๆ ระบบการสั่งการ การตัดสินใจ ฯลฯประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งเงื่อนไข ปัญหาอุปสรรคต่างๆในการปฏิบัติงาน มวลชนต้องเข้าใจ อย่างน้อยที่สุดกลุ่มผู้นำ และ Key Informant ต้องเข้าใจโดยละเอียด ทุกครั้งที่มีการปฏิบัติงานต้อง Inform ให้กลุ่มผู้นำทราบโดยเฉพาะในช่วงฤดูการเปิดปิดประตูน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเพื่อการระบายน้ำในกรณีน้ำท่วม อาจพิจารณาถึงขั้นตั้งผู้นำชุมชนให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยซ้ำไป


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดหยาบๆที่นำเสนอมาภายหลังที่เกิดกรณีความขัดแย้งการเปิดปิดบานประตูน้ำชลประทานคลองต่างๆ..ในกรณีน้ำท่วม ซึ่งผมส่วนตัวเชื่อว่า เจ้าหน้าที่พยายามที่สุดแล้วแต่ดังกล่าวว่า การทำงานมวลชนนั้นมันมิใช่เพิ่งจะมาทำช่วงวิกฤตินี้ ไม่มีผลเพราะมันเกิดความคาดหวังและอารมณ์ร่วมมากกว่าเหตุผลที่เอามาพิจารณาร่วมกัน

บทเรียนนี้จะทำให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องทบทวนและเอาไปพิจารณากำหนดแผนงานที่สำคัญในอนาคตเพื่อยกระดับการทำงานมวลชนควบคู่ไปกับงานด้านเทคนิค



Main: 0.0346360206604 sec
Sidebar: 0.049504995346069 sec