คำถามที่ต้องตอบ..

47 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 เวลา 9:52 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 3705

วิกฤติน้ำท่วมบ่งชี้แนวทางการเติบโตของสังคม ของประเทศให้เห็นชัดๆมากขึ้น ผมยังไม่แตะในเรื่องสาเหตุของอุทกภัย แต่เมื่อเกิดแล้วนั้นประชาชนประสพภัยอะไรบ้าง

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการดำรงชีพด้วยปัจจัยสี่พื้นฐานนี่แหละ ความจริงมากกว่าปัจจัยสี่

เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมเมืองนั้นดำรงชีพด้วย “เงิน” เวลาของชีวิตส่วนใหญ่ต้องเข้าระบบงาน เพื่อได้เงิน และเอาเงินนั้นไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และชีวิตที่ขึ้นกับเงินตรานั้นยังเคลือบไปด้วยค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่น มากกว่าคุณสมบัติความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ยิ่งทำให้ชีวิตยืนอยู่บนราคาที่แพงมากขึ้น ต้องใช้เงินที่มีปริมาณมากขึ้น ในขณะที่รายได้นั้นไม่มากเพียงพอ จึงกลายเป็น “ชีวิตผ่อนส่ง” ยิ่งติดใน ค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่นมากเท่าไหร่ อัตราการผ่อนส่งของชีวิตก็แพงมากขึ้น


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

สภาพชีวิตเช่นนี้ได้สร้างลูกโซ่แห่งทัศนคติ นิสัย แห่งการได้มาของปริมาณเงินตรา และค่อยๆก้าวข้ามคุณค่าเดิมของสังคมในด้านความเอื้ออาทร บาป สิ่งไม่พึงกระทำที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมกำกับ เวลาที่มีอยู่ต้องเข้าระบบงาน บางแห่งทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน

เด็กรุ่นใหม่มีวิถีประจำวันที่หลุดลอยออกจากคุณค่าทางสังคมเดิมออกไป ใช้เงินตรามากมายไปกับสิ่งที่มิใช่ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่แฝงบนค่านิยมมากกว่าความจำเป็น

แน่นอนครอบครัวใดที่มีอาชีพที่สร้างรายได้มากเพียงพอ ก็ก้าวผ่านสภาพสังคมแบบนี้ไปได้ แต่ครอบครัวใดที่ไม่มีรายได้เพียงพอ แต่ค่านิยมนั้นท่วมท้นการตอบสนอง ก็ดิ้นรนในวิธีการได้มาซึ่งเงินตราไปในช่องทางที่เขาจะพึงทำได้ หลายคนทำงานพิเศษ แต่หลายคนต้องก้าวไปบนเส้นทางที่ผิดต่อระเบียบบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามวิถีคนเมืองพัฒนามาบนสภาพเช่นนี้นับชั่วอายุคน จนเป็นความเคยชิน และรู้สึกแปลกแยกเมื่อต้องไปอยู่ในสังคมที่มีวิถีแบบชนบท


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

เมื่อเงินไม่มี ปัจจัยสี่ก็ขาดแคลน ตรงข้ามเมื่อมีเงินแต่ไม่สามารถจับจ่ายตามต้องการได้ ก็กระทบต่อปัจจัยสี่ เช่น กรณีเกิดน้ำท่วมในลักษณะวิกฤติมีเงินก็ซื้ออะไรไม่ได้ ในขณะที่ชีวิตประจำวันขึ้นกับการใช้จ่ายวันต่อวัน นี่คือการสูญเสียปัจจัยการดำรงชีวิต กล่าวอีกทีคือ พึ่งตัวเองไม่ได้เลย…

ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เราจึงเห็นขบวนการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหาร น้ำ ฯ และที่ร้ายมากไปกว่านั้นคือ ความรู้ในการพึ่งตนเองก็ไม่มี หรือมีน้อย

กรณีวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้บ่งบอกว่ากระทบต่อลูกโซ่ของวิถีสังคม การขับเคลื่อนของสังคม ประเทศ และเลยไปถึงความมั่นคงของประเทศ ยิ่งใจกลางของวิกฤติน้ำอยู่ในใจกลางของนครหลวงที่รวมศูนย์ทุกอย่างของประเทศอยู่ที่นี่..

ถามว่าหากวิกฤติน้ำเกิดในชนบทสภาพจะแตกต่างกันอย่างไร.. ตอบได้ว่า การซวนเซของปัจจัยสี่นั้นมีแน่นอน แต่ฟื้นตัวเร็วกว่า เพราะมีสภาพ เงื่อนไขของวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเองได้มากกว่าพึ่งพาภายนอก รวมทั้งเขามีประสบการณ์ในการยังชีวิตด้วยสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้มากกว่า

ภาพนี้นั้นจึงเป็นคำถามใหญ่ๆว่า แนวทางการเติบโตของสังคมแบบเมืองนั้นควรทบทวนอย่างหนัก เพราะวิกฤติในทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจจะหนักมากกว่านี้ก็เป็นได้

หากไม่มีพลังงาน เช่นไฟฟ้า แก๊ส จะทำอย่างไร..?

หากไม่มีอาหารในซูปเปอร์มาร์เก็ต จะทำอย่างไร…?

หากบ้านพักไม่สามารถพักได้ มีความรู้อะไรจะแก้ปัญหานี้..?

หากน้ำที่มีท่วมบ้านท่วมเมืองดื่มไม่ได้ จะมีความรู้พื้นฐานอะไรแก้ปัญหานี้ได้…?

หากมีเงิน แต่ใช้ไม่ได้ จะแก้ปัญหาการดำรงชีพอย่างไร…?

หากเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน จะมีความรู้อะไร มีปัจจัยเอื้ออย่างไรที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ได้…?

ฯลฯ….

การพึ่งตัวเองในเมืองคืออย่างไร

เป็นคำถามที่ต้องตอบ….?



Main: 0.019090890884399 sec
Sidebar: 0.049731016159058 sec