เนื่องมาจากสารคดีฉบับเดือนมีนาคม…

268 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 เมษายน 2011 เวลา 21:50 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4474

เนื่องจากหนังสือสารคดี ผ่านทางดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ ได้ขอรูปผมไปลงใน “สารคดีฉบับใหม่นี้เดือนมีนาคม 54″  ผมจึงอยากบันทึกเบื้องหลังไว้สักหน่อย…

ผมมีอาชีพเป็นนักพัฒนาชุมชน สมัยก่อนเรียกอาสาสมัคร ต่อมาสรุปว่าเป็นอาชีพได้ประเภทหนึ่ง พัฒนาตัวเองไปตามจังหวะชีวิตจนมาเป็น Freelance งานด้านสังคมชุมชน

ผมเป็นคนบ้ากล้องมานานแล้ว สมัยไม่มี DSLR ผมก็บ้าขนาดล้างฟิล์มเองในห้องน้ำที่พักยันสว่าง แต่เป็นภาพขาวดำ เอามาห้อยระโยงระยางเต็มห้อง สมัยนั้นผมทำงานชนบทที่เชียงใหม่ในป่าในเขา ชอบวิถีชีวิตธรรมชาติแบบชนบท จึงถ่ายรูปแล้วเอามา Develop สมัยนั้นที่เชียงใหม่มีชมรมคนบ้ากล้องอยู่กลุ่มหนึ่ง ชอบถ่ายรูป เป็นสไลด์แล้วเอามาฉายดูแล้วก็ติชมกัน จำได้ว่า ท่าน ทอม เชื้อวิวัฒน์ เคยขึ้นไปเป็นวิทยากร ผมเป็นเด็กเป็นเล็กก็นั่งแอบฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน แล้วก็จดจำเอาความรู้ไปใช้ การตั้ง Sutter speed ให้สัมพันธ์กับ Aperture การวาง Composition การเช็ค Dept of field การใช้ Filter สีต่างๆ การใช้ Flash การถ่ายรูป Portrait การถ่ายภาพ Silhouette จะถ่ายภาพสีก็ต้อง Over ครึ่ง stop จะถ่ายสไลด์ก็ Under หนึ่ง stop ถ่ายรูปกลางวัน กลางคืน เช้า เย็น ล้วนต้องใช้ทักษาการ set ค่าต่างๆของตัวกล้องทั้งสิ้น เพราะกล้องสมัยนั้นเป็น Manual และเป็น SLR ความรู้เหล่านี้มีเรียนในระดับปริญญาตรี แต่ผมเรียนจากเข้าร่วมฟังผู้สันทัดกรณีคุยกันและซื้อหนังสือมาอ่าน แต่ ทั้งหมดเป็นกล้องแบบ SLR ใครไม่ทราบว่าแปลว่าอะไรไปเปิด GOO เอานะครับ


รูปนี้ประทับใจมาก ระหว่างทางกลับมาขอนแก่น

โอย เงินเดือนนักพัฒนาก็น้อยกว่าเบี้ยเลี้ยงของท่านผู้ใหญ่สมัยนี้ หรือน้อยกว่าเบื้ยประชุมของท่านทั้งหลาย ผมก็อดออมเอา หากรวมๆกัน โฮ….หลายตังค์ ผมเปลี่ยนกล้องไป 4 ยี่ห้อ Minolta, Cannon, Yachica จบลงที่ Nikon F2 และ Nikon FM ความที่ต้องย้ายที่ทำงาน ทำให้ผมทิ้งกล้องไปหลายปี มาอีกทีก็ที่มุกดาหาร มาเป็น Freelance ทำงานชนบทกับเขตปลดปล่อยแห่งแรกในประเทศไทย พี่น้องชนเผ่าบรู ที่ดงหลวง มุกดาหาร หน้าที่การงานบังคับให้ต้องใช้กล้องถ่ายรูปเพื่อบันทึกกิจกรรมที่เอาไปทำรายงาน Quarterly report, Yearly report, Progress report โอยสารพัด report


รูปซ้ายมือถ่ายที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร ขวามือระหว่างทางกลับขอนแก่น

กล้อง DSLR เข้ามาเมืองไทยนานแล้ว แต่ผมไม่ได้สนใจ จนภาคบังคับนี่แหละจะต้องซื้อกล้องส่วนตัวมาใช้กับงาน แม้ว่าที่ทำงานจะมีงบซื้อกล้องก็ตาม แต่ความเป็นส่วนตัวมันสะดวกกว่ามาก ผมก็กลับมาจับกล้องอีกครั้ง ที่มุกดาหารเรามีร้านถ่ายรูปที่เราเป็นลูกค้าประจำ แรกๆก็ยังล้างอัดภาพสี แล้วเอารูปไป scan แล้วแปลงเป็น file .pdf เป็นสกุลอื่นๆ ก็เพื่อเอามาทำรายงาน โอยมันหลายขั้นตอน เอา DSLR ดีกว่าจบเลย สะดวก รวดเร็ว ยิ่งมี Program ตัวช่วยสำหรับปรับปรุงภาพ digital ก็ยิ่งสนุกใหญ่ เราถ่ายรูปกิจกรรมแบบไม่ยั้งแล้วเอามาคัดทำรายงาน ต้นฉบับก็เก็บไว้จนล้นหน่วยความจำเครื่อง


ทั้งสองรูปนี้ถ่ายที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร

ต้องไปซื้อ External HD มาถ่ายออกจากเครื่อง แรกๆ เจ้า External HD ก็ใหญ่โตมโหระทึก หน่วยความจำก็ไม่มาก เต็มอีก ต่อมามี ตัวเล็กๆและหน่วยความจำมากมาย พกพาสะดวก ก็ซื้อมาเก็บ อิอิ มีแต่รูปเมฆกับดอกไม้และภาพชนบทที่ตัวเองชอบ เต็มไปหมด


ทั้งสองรูปนี้ถ่ายที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร

มาสนใจเมฆก็อาจารย์ชิวนี่แหละ แหมมาถูกเวลาจริงๆเพราะมันเป็นธรรมชาติที่ผมชอบอยู่แล้ว และเป็นงานอดิเรกที่ปลดปล่อยตัวเองออกจากงานภารกิจซะบ้าง และมีความสุขกับกิจกรรมนี้กับธรรมชาติ เห็นเมฆเห็นสัจจะธรรม ว่าเข้าไปนั่น ก็มัน “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ สิ้นสุดไป” เมฆ “สวยสุดใจ เดี๋ยวเดียวก็สลายไป” มี “หลังพายุร้ายก็มีความสงบนิ่ง” “ความสวยนั้นมันเป็นคุณสมบัติทางธรรมชาติ ไม่มีใครไปตกแต่งเขา” มิติของความสวยนั้นอยู่ที่ “Time and Space” “สวยมากสวยน้อยอยู่ที่ผัสสะของเรา” ฯลฯ


ทั้งสองรูปนี้ถ่ายที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร

“คาถาเรียกหมวกเมฆ” ผมไม่แน่ใจว่าน้องลูกเกด หรือน้องท่านใดเรียกผมเช่นนั้น อาจเป็นเพราะว่า ผมถ่ายรูปหมวกเมฆมาค่อนข้างมาก

  • เพราะผมมีโอกาสมาก คือ ผมอยู่ชนบทมีพื้นที่กว้างขวางบนท้องฟ้าที่ไม่มีตึกรามบ้านช่อง เสาไฟฟ้า มาบดบังมวลเมฆ
  • เวลาที่เกิดหมวกเมฆเป็นเวลาที่ผมเลิกจากงานเป็นส่วนใหญ่และมีโอกาสเห็น นี่คือข้อสังเกตส่วนตัวผิดถูกขออภัยนะครับ
  • สถานที่ที่ผมใช้ดูเมฆนั้นเป็นยอดภูเขาที่มุกดาหาร ยิ่งเปิดโอกาสให้ผมเห็นท้องฟ้าไปไกลแสนไกล เกือบสามร้อยหกสิบองศา ไม่มีเมฆก้อนไหนรอดพ้นสายตาผมไปได้ อิอิ


ทั้งสองรูปนี้ถ่ายที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร

  • ผมเดินทางบ่อย เป็นปกติอยู่แล้วที่เช้าตรู่วันจันทร์ผมก็ขับรถไปมุกดาหาร เย็นเลิกงานวันศุกร์ผมก็กลับมาขอนแก่น 250 กม. ผมขับรถคนเดียว จะจอดฉี่ข้างทางก็ไม่มีใครว่า ขอให้มิดชิดซะหน่อย จะจอดถ่ายรูปเมฆให้เวลาเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครมาจับเวลา ชนเผ่าม้งกล่าวว่า “แม่น้ำเป็นของปลา ท้องฟ้าเป็นของนก” ผมแอบคุยเล่นกันที่บ้านว่า “ท้องฟ้าเป็นของนกและของบางทราย” อิอิ.. อิอิ…เอิ้กกกกก


ทั้งสองรูปนี้ถ่ายที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร

ช่วงฤดูฝนนั้นมวลเมฆมากมาย ยิ่งมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเยอะเพราะมีเงื่อนไข ปัจจัยเอื้อให้เกิด เราก็หยิ่งมากหน่อย หยิ่งคือแหงนมองท้องฟ้าบ่อยๆไง เชิดหน้า


หมวกเมฆรูปนี้ถ่ายที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร ผมประทับใจหมวกใบนี้มาก


รูปนี้ถ่ายที่ถนนวงแหวนขอนแก่นด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ขอบคุณ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ หรือน้องชิวของผมที่เป็นผู้ฉุดประกายการใช้เวลาส่วนตัวท่องไปในท้องฟ้าแล้วผมก็พบความสวยงามเสมอๆ

ขอบคุณภูมโนรมย์ที่ผมต้องขึ้นไปเกือบทุกเย็น หลังเลิกงานจนสนิทกับหมอดูชาวบ้านที่นั่น และสุนัขอีกฝูงหนึ่ง …. มันเป็นความสุขคนบ้านนอก ผมเชื่อว่าทุกท่านก็หาความสุขส่วนตัวแบบนี้ได้ครับ….

และท้องฟ้าจะเป็นของนกและของท่านด้วยครับ…..


ขุมทองอีสาน

80 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 เมษายน 2011 เวลา 12:05 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2887

เมื่อคืนหากผมไม่ได้ไปงานพิธีมอบรางวันแล้ว เสียใจตายเลย จริงๆผมไม่ค่อยเท่าไหร่กับงานพิธีรีตองเหล่านี้ แต่ที่ผมชอบมากๆเพราะประวัติผู้ได้รับรางวัลแต่ล่ะท่านนั้น ผมต้องแสดงคารวะต่อท่านด้วยความจริงใจอย่างสุดซึ้ง กว่าผลงานของท่านจะถูกคณะกรรมการแอบไปพิจารณาสรุปออกมาว่าสุดยอดสมควรมอบรางวัลให้นั้น แต่ละท่าน พ่อคุณ แม่คุณเอ๋ย เป็นไม้ใกล้ฝั่งกันแล้วทั้งนั้น บางท่านถึงกับเสียชีวิตไปแล้ว ต้องให้ทายาทมารับแทน บางท่านต้องประคองมา หลายท่านถือไม้เท้าขโยกขึ้นเวที

ขอบคุณคณะกรรมการจัดงานที่ทำให้ผมรู้จักอีสานเพิ่มขึ้น อีสานที่เป็นมุมที่เป็นรากเหง้า เป็นแก่น เป็นแกนของสังคม วัฒนธรรม และผู้คนที่สร้างสรรค์งานของท่าน และส่งต่อให้สู่ลูกหลาน เพียงแต่ว่าเรามองงานนี้ในมุมไหนเท่านั้นแหละ

อยากจะเขียนถึงทุกท่านเหลือเกิน ผมตามงานของท่านมาบ้าง เช่น สมคิด สิงสง บางท่านผมไม่รู้จักท่านแต่เห็นฝีมือท่าน เช่น ช่างแกะเทียนที่อุบล ที่ผมขออนุญาตแสดงความประทับใจส่วนตัวคือ นางผมหอม สกุลไทย แห่งดอนตาลมุกดาหาร และเจรียงนรแก้ว ของแม่แก่นจันทร์ นามวัฒน์จากสุรินทร์

ผมอยู่มุกดาหารนับสิบปีเคยได้ยินชื่อเสียงท่านบ้างแต่ไม่เข้าหู ไม่ซึมซับ มาวันนี้ผมได้เห็นท่านได้ยินท่านมา “รำผญาย่อย” พร้อมเครื่องดนตรีท้องถิ่น ผมสะดุ้งโหย่ง นึกเสียดายเวลาไปถ่ายรูปเมฆบนยอดเขาภูมโนรมณ์ซะ ไม่เคยไปสัมผัสท่านที่ดอนตาล ซึ่งเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงติดอันดับของเมืองไทยมานานในหลายมิติ เช่นเป็นแหล่งลือลั่นท่านอดีตรักษาการณ์ ผบ.ตร.คนตรง ท่านเสรีพิสุทธ์ เป็นอำเภอที่หมอเขียวอยู่ที่ลือลั่นในปัจจุบัน และท่านผมหอม

ผญาย่อยคืออะไร ผญาเป็นภาษาถิ่นอีสานและทางเหนือ ภาคกลางน่าจะใกล้กับคำว่า สุภาษิต ซึ่งบรรพบุรุษได้จารย์ไว้สอนลูกหลานในเรื่องต่างๆของวิถีชีวิตปกติของคนในแต่ละรุ่น รำผญาย่อย ก็เป็นการร่ายรำ ร้องคำโบราณที่สอนลูกสอนหลานในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต การปฏิบัติตนในสังคม เคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่ควรทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ควรทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ โอ้โฮในโรงเรียนเอาผญาไปสอนกันไปเรียนบ้างไหมนี่ แล้วหยิบมาใส่ทำนอง ร่ายรำประกอบ มีเสียงดนตรีเข้ามามันเป็นการสั่งสอนที่ไม่แห้งแล้ง เสียงของเธอนั้นสุดแสนจะชัดเจน ภาษานักร้องเขาเรียกแก้วเสียงหรือเปล่าหนอ

อีกรายการที่ผมขนลุกคือการร้องรำ “กันตรึม” คนที่ไม่เคยมาใช้ชีวิตทางอีสานใต้อาจจะไม่รู้จักกันตรึม เป็นศิลปะการแสดงของราษฎรไทยเชื้อสายเขมร ก็แถบบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกศ ที่เป็นชานแดนติดประเทศกัมพูชานี่แหละ บังเอิญผมเคยมาใช้ชีวิตชนบทแถบชายแดนแห่งนี้ในประมาณปี 2523-2525 มาเรียนภาษาเขมร มาชื่นชมกันตรึม มีร้านอาหารและเครื่องดื่มอยู่ร้านหนึ่งที่มีการแสดงกันตรึมทุกคืน ร้านนี้เป็นทายาทของท่านเปรื้อง วรรณศรี ใครไม่รู้จัก เปรื้อง วรรณศรี ไปถามอาจารย์ Goo ดูนะครับ ท่ารำของผู้ชายและผู้หญิงจะออกไปคล้ายนางอับษร (เขียนผิดขออภัยด้วย) สวยงามมากๆ ผมชอบ ผมชอบ ถ้าเป็นสมัยหนุ่มๆที่ชอบดื่มกระเป๋าผมฉีกไปแล้ว ก็จะตกรางวัลให้เธอเหล่านั้นน่ะซี..อิอิ สมัยทำงานที่สุรินทร์แถว กาบเชิง สังขะ บัวเชดนั้น ล้วนเป็นชนเผ่าที่ใช้ภาษาเขมร แต่ภาษาเขมรที่นี่กับภาษาเขมรในประเทศเขมรนั้นไม่เหมือนกันเพี้ยนไปบ้าง แต่เข้าใจกัน ผมไปเรียนภาษาเขมรและสอบด้วย ที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ เข้าไปกินนอนในหมู่บ้าน จึงเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะท้องถิ่น ที่นี่ และหนีไม่พ้น กันตรึม เครื่องดนตรีมีไม่กี่ชิ้น คำร้องเนื้อหาสาระก็มีความหมายคล้ายผญา ออกไปทางสั่งสอนให้คนทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง ละเว้นสิ่งไม่ดีต่างๆ

พ่อครูบอกว่า เคยจัดกันตรึมที่บริเวณหน้าปราสาทหิน โดยไม่ใช้เครื่องเสียงเลยเอาแบบธรรมชาติๆจริงๆ ขนลุกครับ มันจะงดงามและมีความหมายแค่ไหน บรรยายไม่ถูกเชียวหละ..

ไม่ได้กล่าวถึงราตรี ศรีวิไล, บานเย็น รากแก่น ที่ใช้ท่วงทำนองเพลงถิ่นอีสานกล่าวถึงความสัมพันธ์สองฝั่งโขงของพี่น้องเหล่านี้

ผมทำงานพัฒนาชุมชนแม้จะไม่ใช่คนท้องถิ่นแต่ก็เห็นคุณค่า ประโยชน์การใช้วัฒนธรรมมาขับกล่อมหลอมชีวิตให้ดีให้งามจากท่านผู้เป็นศิลปินระดับเซียนเหล่านี้

นี่คือสาระเนื้อแท้ของศิลปะการร้องรำในวัฒนธรรมสมัยแต่ก่อนมา

มามองสมัยนี้….มีแต่อะไรก็ม่ายรุ….


เทิดทูนท่านผู้ทำดี..

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 เมษายน 2011 เวลา 1:02 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 708

ชื่นอกชื่นใจที่สังคมยกย่องคนดี คนทำดี

อย่างน้อยที่สุดเป็นกำลังใจท่านผู้สร้างสรรค์สังคมในสาขาต่างๆ

แน่นอนยังมี นาย นาง อีกมากมาย ที่รางวัลยังเอื้อมมือไปไม่ถึง

เหมือนปิดทองหลังพระ

แต่ท่านเหล่านี้ และ เหล่านั้น ก็ไม่ได้ทำดี เพื่อรางวัล

แต่ทำดีเพราะสันดานดี

ขอเทิดทูนท่านผู้ทำดี ด้วยความจริงใจยิ่ง

เนื่องในโอกาสพ่อครูบาฯรับรางวัลแก่ชีวิต



Main: 0.034507036209106 sec
Sidebar: 0.050074815750122 sec