ขุมทองอีสาน

โดย bangsai เมื่อ 3 เมษายน 2011 เวลา 12:05 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2872

เมื่อคืนหากผมไม่ได้ไปงานพิธีมอบรางวันแล้ว เสียใจตายเลย จริงๆผมไม่ค่อยเท่าไหร่กับงานพิธีรีตองเหล่านี้ แต่ที่ผมชอบมากๆเพราะประวัติผู้ได้รับรางวัลแต่ล่ะท่านนั้น ผมต้องแสดงคารวะต่อท่านด้วยความจริงใจอย่างสุดซึ้ง กว่าผลงานของท่านจะถูกคณะกรรมการแอบไปพิจารณาสรุปออกมาว่าสุดยอดสมควรมอบรางวัลให้นั้น แต่ละท่าน พ่อคุณ แม่คุณเอ๋ย เป็นไม้ใกล้ฝั่งกันแล้วทั้งนั้น บางท่านถึงกับเสียชีวิตไปแล้ว ต้องให้ทายาทมารับแทน บางท่านต้องประคองมา หลายท่านถือไม้เท้าขโยกขึ้นเวที

ขอบคุณคณะกรรมการจัดงานที่ทำให้ผมรู้จักอีสานเพิ่มขึ้น อีสานที่เป็นมุมที่เป็นรากเหง้า เป็นแก่น เป็นแกนของสังคม วัฒนธรรม และผู้คนที่สร้างสรรค์งานของท่าน และส่งต่อให้สู่ลูกหลาน เพียงแต่ว่าเรามองงานนี้ในมุมไหนเท่านั้นแหละ

อยากจะเขียนถึงทุกท่านเหลือเกิน ผมตามงานของท่านมาบ้าง เช่น สมคิด สิงสง บางท่านผมไม่รู้จักท่านแต่เห็นฝีมือท่าน เช่น ช่างแกะเทียนที่อุบล ที่ผมขออนุญาตแสดงความประทับใจส่วนตัวคือ นางผมหอม สกุลไทย แห่งดอนตาลมุกดาหาร และเจรียงนรแก้ว ของแม่แก่นจันทร์ นามวัฒน์จากสุรินทร์

ผมอยู่มุกดาหารนับสิบปีเคยได้ยินชื่อเสียงท่านบ้างแต่ไม่เข้าหู ไม่ซึมซับ มาวันนี้ผมได้เห็นท่านได้ยินท่านมา “รำผญาย่อย” พร้อมเครื่องดนตรีท้องถิ่น ผมสะดุ้งโหย่ง นึกเสียดายเวลาไปถ่ายรูปเมฆบนยอดเขาภูมโนรมณ์ซะ ไม่เคยไปสัมผัสท่านที่ดอนตาล ซึ่งเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงติดอันดับของเมืองไทยมานานในหลายมิติ เช่นเป็นแหล่งลือลั่นท่านอดีตรักษาการณ์ ผบ.ตร.คนตรง ท่านเสรีพิสุทธ์ เป็นอำเภอที่หมอเขียวอยู่ที่ลือลั่นในปัจจุบัน และท่านผมหอม

ผญาย่อยคืออะไร ผญาเป็นภาษาถิ่นอีสานและทางเหนือ ภาคกลางน่าจะใกล้กับคำว่า สุภาษิต ซึ่งบรรพบุรุษได้จารย์ไว้สอนลูกหลานในเรื่องต่างๆของวิถีชีวิตปกติของคนในแต่ละรุ่น รำผญาย่อย ก็เป็นการร่ายรำ ร้องคำโบราณที่สอนลูกสอนหลานในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต การปฏิบัติตนในสังคม เคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่ควรทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ควรทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ โอ้โฮในโรงเรียนเอาผญาไปสอนกันไปเรียนบ้างไหมนี่ แล้วหยิบมาใส่ทำนอง ร่ายรำประกอบ มีเสียงดนตรีเข้ามามันเป็นการสั่งสอนที่ไม่แห้งแล้ง เสียงของเธอนั้นสุดแสนจะชัดเจน ภาษานักร้องเขาเรียกแก้วเสียงหรือเปล่าหนอ

อีกรายการที่ผมขนลุกคือการร้องรำ “กันตรึม” คนที่ไม่เคยมาใช้ชีวิตทางอีสานใต้อาจจะไม่รู้จักกันตรึม เป็นศิลปะการแสดงของราษฎรไทยเชื้อสายเขมร ก็แถบบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกศ ที่เป็นชานแดนติดประเทศกัมพูชานี่แหละ บังเอิญผมเคยมาใช้ชีวิตชนบทแถบชายแดนแห่งนี้ในประมาณปี 2523-2525 มาเรียนภาษาเขมร มาชื่นชมกันตรึม มีร้านอาหารและเครื่องดื่มอยู่ร้านหนึ่งที่มีการแสดงกันตรึมทุกคืน ร้านนี้เป็นทายาทของท่านเปรื้อง วรรณศรี ใครไม่รู้จัก เปรื้อง วรรณศรี ไปถามอาจารย์ Goo ดูนะครับ ท่ารำของผู้ชายและผู้หญิงจะออกไปคล้ายนางอับษร (เขียนผิดขออภัยด้วย) สวยงามมากๆ ผมชอบ ผมชอบ ถ้าเป็นสมัยหนุ่มๆที่ชอบดื่มกระเป๋าผมฉีกไปแล้ว ก็จะตกรางวัลให้เธอเหล่านั้นน่ะซี..อิอิ สมัยทำงานที่สุรินทร์แถว กาบเชิง สังขะ บัวเชดนั้น ล้วนเป็นชนเผ่าที่ใช้ภาษาเขมร แต่ภาษาเขมรที่นี่กับภาษาเขมรในประเทศเขมรนั้นไม่เหมือนกันเพี้ยนไปบ้าง แต่เข้าใจกัน ผมไปเรียนภาษาเขมรและสอบด้วย ที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ เข้าไปกินนอนในหมู่บ้าน จึงเป็นวัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะท้องถิ่น ที่นี่ และหนีไม่พ้น กันตรึม เครื่องดนตรีมีไม่กี่ชิ้น คำร้องเนื้อหาสาระก็มีความหมายคล้ายผญา ออกไปทางสั่งสอนให้คนทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง ละเว้นสิ่งไม่ดีต่างๆ

พ่อครูบอกว่า เคยจัดกันตรึมที่บริเวณหน้าปราสาทหิน โดยไม่ใช้เครื่องเสียงเลยเอาแบบธรรมชาติๆจริงๆ ขนลุกครับ มันจะงดงามและมีความหมายแค่ไหน บรรยายไม่ถูกเชียวหละ..

ไม่ได้กล่าวถึงราตรี ศรีวิไล, บานเย็น รากแก่น ที่ใช้ท่วงทำนองเพลงถิ่นอีสานกล่าวถึงความสัมพันธ์สองฝั่งโขงของพี่น้องเหล่านี้

ผมทำงานพัฒนาชุมชนแม้จะไม่ใช่คนท้องถิ่นแต่ก็เห็นคุณค่า ประโยชน์การใช้วัฒนธรรมมาขับกล่อมหลอมชีวิตให้ดีให้งามจากท่านผู้เป็นศิลปินระดับเซียนเหล่านี้

นี่คือสาระเนื้อแท้ของศิลปะการร้องรำในวัฒนธรรมสมัยแต่ก่อนมา

มามองสมัยนี้….มีแต่อะไรก็ม่ายรุ….

« « Prev : เทิดทูนท่านผู้ทำดี..

Next : เนื่องมาจากสารคดีฉบับเดือนมีนาคม… » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

80 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.4610319137573 sec
Sidebar: 0.04808497428894 sec