แผนสอง

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 เมษายน 2011 เวลา 22:31 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 766

ผมจำได้ว่านานมาแล้วที่เครื่องบินการบินไทยตกที่ภูเก็ต เพื่อนผมเป็นคนใต้และทำงานกรมป่าไม้เสียชีวิตไปด้วยพร้อมกับท่านอื่นๆนับร้อยคน ครั้งนั้นการบินไทยมีการทบทวนแผนอุบัติภัยขององค์กรครั้งใหญ่ มีการประชุมเตรียมงานวางแผนละเอียดยิบพร้อมระบุผู้รับผิดชอบและระบบการติดต่อและอื่นๆไว้หมด หากเกิดอุบัติภัยขึ้นทันทีที่ผู้บริหารทราบและประมวลข้อมูลได้มากเพียงพอแล้วก็จะกดปุ่มสั่งการให้ทุกคนที่มีชื่อในแผนงานดำเนินการทันทีโดยไม่ต้องรีรออะไร ซึ่งเรียกแผน A หรือแผนหนึ่ง

ไม่ว่าบุคคลที่มีชื่อในแผนจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร ต้องละงานและมาดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ที่กำหนดไว้แล้วในแผนหนึ่งนั้นทันที ท่านที่อยู่ในแวดวงนี้คงอธิบายได้ดีกว่าผมนะครับ

องค์กรที่เป็นระบบธุรกิจที่มีความเสี่ยงเช่นนี้ต้องดำเนินการจัดทำแผนรับมืออุบัติภัยอย่างละเอียดรอบคอบ และปรับปรุง ซ้อมแผนเป็นประจำเพื่อให้เกิดความรื่นไหล คล่องตัว และหาข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงให้ดีที่สุด เพราะชีวิตผู้โดยสารนั้นเป็นที่สุดที่ต้องช่วยเหลือทันที ไม่มีเวลามาถามหรือประชุม หรือโอ้เอ้แต่อย่างใด…

จำได้ว่าคราวเกิดสึนามิที่ภาคใต้นั้นมีเด็กฝรั่งเห็นปรากฏการณ์น้ำทะเลลดลงกะทันหัน เด็กคนนั้นตะโกนว่ากำลังจะเกิดสึนามิ แล้ววิ่งหนีขึ้นที่สูง ทั้งที่คนพื้นที่ไม่รู้เรื่องเลย และเสียชีวิตมากมาย เด็กคนนั้นถูกฝึกมาในระบบโรงเรียนของเขา..?!!

นึกเลยไปถึงว่าในสังคมเมืองปัจจุบันมีความเสี่ยงมากมาย จากเล็กน้อยเช่น ไฟฟ้าดับ ไปจนถึง ไฟไหม้ เกิดพายุรุนแรงรอบพันปี..ฯลฯ…. สังคมเรายังขาดระบบเตือนภัยอย่างที่คุณตฤณได้ทำอยู่

ในหมู่บ้านจัดสรรนั้น แค่ไฟดับ ก็เห็นสตาร์ทรถไปซื้อเทียนกันเป็นแถว ไม่ได้เตรียมตัวเลย ยังมีภัยอีกมากมายที่มีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน คู่มือแบบนี้มีบ้างไหม ผมว่าอาจจะมีบ้าง แต่ไม่แพร่หลาย

เพื่อนรักผมเป็นกรรมการผู้จัดการ โรงงานผลิตกระดาษที่น้ำพอง ขอนแก่น วันนั้นผมพบที่สนามบินขอนแก่น เดินงุ่นง่านใหญ่ ถามว่าเกิดอะไรหรือ เขาบอกว่าลืมมือถือไว้ในรถที่มาส่งขึ้นเครื่อง “ตายเลย ทุกอย่างอยู่ในมือถือนั่น ไม่มีมือถือทำอะไรไม่ถูกเลย”….

ผมว่าเราและท่านก็อาจจะเคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้มาบ้างเหมือนกัน ย้อนไปที่ แผนรับมืออุบัติภัยของสายการบินแห่งชาตินั้น นอกจากเขามีแผน A หรือแผนหนึ่งแล้ว ยังมีแผนสอง แผนสาม อีก เพราะทุกอย่างต้องเดินต่อไปได้ หากแผนหนึ่งติดขัดใดๆก็ตามซึ่งเกิดขึ้นได้ แผนสองต้องทำงานต่อไปได้…

ในวิถีชีวิตของเราภัยความเสี่ยงมีมากมาย เราเองควรมาทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น เพราะความเสี่ยงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมีข่าวการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมากมายและทั้งหมดกระทบต่อวิถีเราทุกคน

“แผนหนึ่ง” ไม่พอด้วยซ้ำไป ต้องมี “แผนสอง” สำรองในกระเป๋าด้วย



Main: 0.27515697479248 sec
Sidebar: 0.31089997291565 sec