แดงยืนหยัด..
แดงยืนหยัดกัดไม่ปล่อย ว่ะ..
แดงยืนหยัดกัดไม่ปล่อย ว่ะ..
โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??
ยกที่ 1 ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยมีข้อจำกัด หากท่านอธิการบดีสั่งรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นมาในมหาวิทยาลัยเอามากองรวมกัน ทั้ง Hard & soft innovation ผมก็คิดว่ายังทำงานภายใต้ข้อจำกัดของกรอบระเบียบ ข้อบังคับ กฎเกณฑ์ของระบบมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะยืดหยุ่นมากกว่าระบบราชการทั่วไปก็ตาม แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก
มหาวิทยาลัย
ยกที่ 2 นวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยผลิตขึ้นมานั้น “มาจากความต้องการของชุมชน หรือมาจากความอยากรู้ของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย” แตกต่างกันมากนะครับ เพราะความต้องการของชนบทนั้นจะถูกออกแบบนวัตกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพชนบทเพราะเป็นตัวตั้ง แต่หากนวัตกรรมนั้นมาจากคณาจารย์อยากทำ อาจจะไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องกับชนบท หรืออาจจะต้องถูกดัดแปลงอีกมากก็ได้ เหมือนที่พ่อครูกล่าวว่าเพลงลูกกรุงนั้นจะเอาไปให้ลูกทุ่งร้องนั้นมันคนละคีย์กันครับ แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก
ชุมชนชนบท
ยกที่ 3 แม้ว่าจะรู้ความต้องการของชนบท หรือความอยากของคณาจารย์สอดคล้องกับความต้องการของชนบท กระบวนการเอานวัตกรรมไปสู่ชนบทนั้นคืออย่างไร บ้าง อบรม หรือศึกษาดูงาน หรือทั้งสองอย่าง หรือ ฝึกทำ หรือทำแปลงสาธิต หรือตั้งศูนย์เรียนรู้ หรือ ลองผิดลองถูกกันไป หรือ…..ใครเป็นคนออกแบบกระบวนการนี้ เอาละให้เกษตรกรมีส่วนร่วม แต่กระบวนการให้มีส่วนร่วมก็มีรายละเอียดมากมาย บ่อยครั้งนวัตกรรมนั้นนำเสนอโดยคนข้างนอก ให้ชาวบ้านออกความเห็นสองสามคนแล้วก็บอกว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมแล้ว โดยทั้งกระบินั้นมาจากคนข้างนอกผลักดันมากกว่า แต่ก็เป็นความพยายามที่ควรสนับสนุนยิ่งนัก
ชาวบ้าน
ยกที่ 4 ชนบทไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีทั้งน่ารักน่าชัง ทั้งน่าสงสารและน่าตียิ่งนัก ข้อจำกัดของมหาวิทยาลัยนั้นเรื่องหนึ่งคือเวลาที่มีกำหนดตายตัว งานชิ้นนี้ต้องทำภายใน สามเดือน แปดเดือน แต่หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั้น บางเรื่องต้องใช้เวลาเข้าใจมากมาย โดยเฉพาะส่วนลึกที่เป็น soft side ราชการมักให้ผู้ใหญ่บ้านเชิญชาวบ้านเป้าหมายมาประชุมที่ศาลาวัด ท่านทราบไหมว่าชาวบ้านที่มานั่งทั้งหมดนั้นน่ะ แต่ละคนมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง หากไม่เข้าใจแล้วจะทำงานพัฒนาอย่างไรล่ะ มันก็แค่เอาลงไปใช่ไหม… ในทางการแพทย์เขาใช้คำว่า Triage ในทางการพัฒนาชนบทเราก็ใช้คำนี้เราต้องเข้าใจรายบุคคล รายครัวเรือน แล้วจึงรู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหาแต่ละคน แล้วการเยียวยารักษาจึงจะเหมาะสมถูกต้อง สอดคล้อง เพราะปัญหาแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน หรือเหมือนกันแต่หนักเบาไม่เท่ากัน อาจจะหนักเท่ากันแต่เงื่อนไขแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน ครอบครัวอาจจะเหมือนกัน แต่บุคลิกภาพแต่ละคนแตกต่างกัน…. เราต้องแยกแยะ จำแนก จัดกลุ่ม จัดหมู่ จัดพวกของคนและปัญหาออกมาแล้วก็แก้ไขกันไปตามเหตุปัจจัยแต่ละคน งานแบบนี้จะมาแล้วไปแบบราชการนั้นไม่ได้ ต้องลงคลุกคลีตีโมงกันพักใหญ่ๆ หากมาแล้วไป ไม่มีความผูกพันเลย ชาวบ้านก็หลอกกินเอาได้ โดยที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข
ยกที่ 5 การทำงานชนบทไม่เหมือนการผสมสารเคมีในห้องทดลอง เมื่อเอาไฮโดรเจนสองส่วนมาผสมกับอ๊อกซีเจนหนึ่งส่วนแล้วจะได้น้ำออกมาทันที (H2O) แต่คนมีพื้นฐาน มีที่มาที่ไป มีฐานประวัติชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และชุมชน สิ่งแวดล้อม แม้เอาการฝึกอบรมเข้าไป เอาการศึกษาดูงานเข้าไป เอาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเข้าไป แต่บ่อยครั้งยังต้องการปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย และไม่เหมือนกัน ชนบทที่สุรินทร์ กับที่สกลนครเงื่อนไขก็แตกต่างกัน แล้วทำอย่างไรล่ะมหาวิทยาลัยที่มีเงื่อนไข ข้อจำกัดมากมาย ผู้บริหารเข้าใจก็ดีไป หากไม่เข้าใจ ทีมงานอาจถูกฆ่าตายในทางการทำงานก็เป็นได้
ยกที่ 6 ส่วนที่สำคัญยิ่งคือ ด้าน Soft side ของตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน เราเอาชาวบ้านมาฝึกทหารก่อนที่จะเอาออกไปประจำการในสนามจริง เพราะอะไร ทุกท่านคงหาคำตอบได้ การที่พระคุณเจ้ามุ่งสู่หนทางละวางทั้งหมดก้าวเข้าสู่นิพพานนั้น สมณะรูปนั้นๆต้องฝึกฝนตนเองนานนับชั่วชีวิตทีเดียว หากเราจะสนับสนุนให้ชาวบ้านเดินทางไปสู่แนวทางการพึ่งตนเองนั้น การจะไปพูดไปจาเพียงไม่กี่คำนั้นคงไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการทำอย่างไรจะขจัดคราบไคลของลัทธิบริโภคนิยม ค่านิยมของทุน แล้วก้าวเดินบนเส้นทางที่ต้องถูกยั่วยวนตลอดเวลานั้น เป็นเรื่องการต่อสู้ภายในทั้งสิ้น กระบวนการพัฒนาจึงทำงานด้านในด้วย เราอาจจะประสบผลสำเร็จในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป้าหมาย แต่ล้มเหลวลงหมดเพราะเกษตรกรคนนั้น ครอบครัวนั้นหลงใหลกับการบริโภค ที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่งานพัฒนาชนบทไม่เน้นเรื่องนี้ เพราะเห็นผลยาก รายงานยาก ประเมินผลยาก สำเร็จยาก สร้างอาคารเสร็จก็รีบถ่ายรูปรายงานว่าทำสำเร็จแล้ว แต่การเอาอาคารไปใช้ประโยชน์นั้นถ่ายรูปไปครั้งเดียวก็อ้างไปหลายปี ทั้งที่การใช้ประโยชน์มีแค่ 6 เดือนแรกเท่านั้น…ผมจึงทึ่งกับ CUSO ที่หลังโครงการจบไปแล้ว 6 ปีเขาจึงมาประเมินผล..??!!
ยกที่ 7 องค์ประกอบที่สำคัญ ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ผู้นำชุมชน พี่เลี้ยงจากภายนอก key person ในชุมชน ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญมาก แต่ก็ขึ้นกับศักยภาพของแต่ละชุมชน จากบทเรียนเราพบว่า หมู่บ้านไหนผู้นำดีดี เท่ากับทำงานเสร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วทีเดียว ตรงข้ามหากผู้นำในชุมชนไม่มี หรือไม่ดีก็เหนื่อยหน่อย หลายกิจกรรมก็ล้มลุกคลุกคลานเพราะขาดผู้รับผิดชอบ ขาดการรับลูกอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดความตระหนัก หรือการให้ความสำคัญ ผู้นำชุมชนดีดีหายาก ยิ่งในปัจจุบันถูกการเมืองระบบใหญ่ระดับประเทศ และการเมืองท้องถิ่นระดับตำบลทาสีแดงไปหมด บทบาทที่เหมาะที่ควรก็ถูกเบี่ยงเบนไปเพื่อผลประโยชน์เสียสิ้น
ยกที่ 8 ระบบการเรียนรู้ในชุมชน ระหว่างชุมชน… การท่องเที่ยวไปในโลกกว้างย่อมเสริมสร้างโลกทัศน์ยิ่งนัก เห็นทั้งส่วนเล็กและใหญ่ เห็นแนวโน้ม เห็นที่ตั้งของปัญหาว่าอยู่ส่วนไหนของสังคม ของประเทศ ของการดำรงชีวิตอย่างมีสุข ปัจจุบันจึงต้องมีองค์กร และเครือข่าย เพราะการโดดเดี่ยวนั้นคือจุดอ่อนด้อย การรวมกลุ่มคือพลัง หากกลุ่มดี ระบบดี ก็พากันเดินทางไปข้างหน้าอย่างมีพลัง เพราะชุมชนเดิมของเรานั้นไม่ได้โดดเดี่ยว ชุมชนเดิมของเราเดินไปด้วยกัน พร้อมๆกัน จูงมือไปกัน ระบบกลุ่ม เครือข่ายจึงเอื้อให้นวัตกรรมต่างๆถูกถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งด้วยตัวของมันเอง บทเรียนตรงเหนือบ้านอาจจะถูกดัดแปลงไปอีกนวัตกรรมหนึ่งเมื่อเอาไปทำที่ท้ายบ้าน การเกิดขึ้น พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมนั้นต้องอาศัยกลุ่ม เครือข่าย… เครือข่ายคือระบบการเรียนรู้ในชุมชน..
ยกที่ 9 ย้ำเรื่องการเห็นคนชนบทต้องเห็นให้ทั้งหมด.. ความหมายคือ การที่ชาวบ้านเดินเข้ามาหาเราและเข้าร่วมกิจกรรมของเรานั้น เราไม่ใช่รู้จักชาวบ้านคนนั้นเท่านั้น ไม่พอ เราต้องรู้เรื่องราวของครอบครัวเขาทั้งหมด ทั้ง Hard & soft side อย่างที่เฮียตึ๋งและท่านไร้กรอบกล่าว ทางคริสตชนเรียกว่ารู้ทั้งครบ ตัวอย่าง นาย ทักษิณ เป็นเกษตรกรที่ก้าวเข้ามาร่วมกิจกรรมตามหลักการของเราในเรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีตารางการปฏิบัติชัดเจน แต่แล้วเขาหายตัวไปถึงสองเดือนไม่ได้ทำตามกำหนดที่คุยกันไว้ ต่อมาทราบว่า เขาต้องตัดสินใจลงไปหางานทำเพื่อหาเงินด่วนไปให้ลูกที่จะเปิดเทอมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง..?? งานการเพิ่มผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย… เมื่อเราคุยกันจึงทราบรายละเอียดถึงความจำเป็นสุดๆของเขา..ตัวอย่างที่สอง นายจตุพร เข้าร่วมกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ที่มีกำหนดว่าจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์เมื่อครบกำหนด จะต้องพ่นปุ๋ยน้ำหมักทางใบเมื่อครบกำหนด แต่นายจตุพรไม่ได้ทำเขาหายไปสองสัปดาห์ ต่อมาเรารู้ว่าเขาขึ้นป่าไปยิงบ่าง กระรอก หรือสัตว์ป่า ต้องการกินสัตว์ป่าเพราะมันอร่อยมากกว่าเนื้อหมูที่ตลาด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการกินของชาวบ้านแถบนี้ ทำให้การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังของเขาไม่ถูกปฏิบัติตามกำหนด ผลผลิตก็ไม่ได้สูงสุด การบันทึกข้อมูลก็สะดุด…
ทั้งหมดนี้คือเพียงบางส่วนเท่านั้น
นี่คือบทเรียน นี่คือข้อสรุป และนี่คือของจริง หากมหาวิทยาลัยจะเดินทางเข้าชนบทเอาความรู้ไปลงสู่ชนบท ลองเอาประสบการณ์เหล่านี้ไปพิจารณาดูเถิดครับ
ถึง ส.เทอด
สวัสดีเพื่อน เราไม่ได้พบกันประมาณสามสิบปี ดูเหมือน เทอดจะเมล์มาหาผมครั้งหนึ่งโดยบังเอิญแค่ทักทายแล้วก็หายไป ได้ข่าวแว่วๆมาจากลำพูนว่า เทอดอยู่ที่นั่น สักวันจะขึ้นไปหานะครับ
ที่เขียนถึงวันนี้เพราะผมได้เอกสาร “กลั่นจากความทรงจำ” ของเทอดสมัยเคลื่อนไหวกับ พคท. อ่านแล้วเหมือนดูหนังใหญ่เรื่องหนึ่งมีทุกบท ดูแล้วก็เข้าใจเทอดมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามขึ้นมากมาย เป็นคำถามที่ผมต้องการหาทางออก สังคมต้องการคำตอบ ประเทศชาติต้องการข้อสรุปที่ดีที่สุด
เห็นการทุ่มเทชีวิตที่หวุดหวิดความตายหลายครั้งของเทอด การผจญภัย บุกป่าฝ่าดง การอดอยาก การตื่นเต้น และการทำงานอย่างยากลำบากและต้องใช้อุดมการณ์ที่สูงส่งยิ่งนัก เพราะมิเช่นนั้นก็ถอดใจไปนานแล้ว
บางครั้งเทอดมาอยู่ใกล้ผมนี่เองโดยที่ผมไม่ทราบมาก่อน เราต่างคนต่างไม่ทราบแก่กัน แต่นั่นเป็นวิถีที่ชีวิตไหลไปตามลีลาที่ถูกกำหนดมาโดยภารกิจและการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
ผมศรัทธาและเชื่อมั่นในเจตนารมณ์ของเทอดและเพื่อนๆเราสมัยโครงงานชาวนา พรรคประชาธรรมและการเคลื่อนไหวที่ภาคเหนือ แม้ว่าเทอดกับผมจะอยู่ต่างสถาบันแต่อุดมการณ์นั้นเราอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แม้ประสบการณ์ชีวิตของผมจะแตกต่างจากเทิดก็ตาม ผมเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เราต่างกระทำลงไปแล้ว
ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันนั้นเทอดได้ลงเอยกับคนรักเช่นไร ผมขอให้ทั้งคู่สุขสมและอยากมีโอกาสได้พบกันครับ
ผมเดาเอาว่าเทอดได้กลับเข้าทำงานกับขบวนการที่เทอดอุทิศทั้งชีวิตให้ นั่นแหละคือโจทย์ใหญ่ คำถามที่ต้องการการคลี่คลาย หาคำตอบก่อนที่สังคมจะพังทลายลงไปด้วยการทำงานที่ต่างวิธีการกันแต่เป้าหมายอันเดียวกัน เทิดครับผมทำงานทุกวันนี้ก็เพื่อชนบทตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ เทอดเองก็มีวัตถุประสงค์เช่นนั้น แต่วิธีการต่างกัน มองเห็นปัญหาใกล้เคียงกัน แต่มุมมองในรายละเอียดแตกต่างกัน เทอดใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยกำลัง แต่ผมต้องการการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ใช้กำลัง แต่เป้าหมายใกล้เคียงกันคือ เพื่อชนบท เพื่อสังคมและเพื่อประเทศชาติที่ดีขึ้น
ผมไม่อยากเห็นเราเดินคู่ขนานกันไป แล้วสุดท้ายเรายืนคนละฝั่งกัน แต่ผมอยากให้เราเดินคู่ขนานไปและเราจับมือไปด้วยกัน แต่นั่นคือการที่เราควรพบปะพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสถานการณ์ปัจจุบันครับ..
ด้วยความศรัทธาเพื่อนยิ่งนัก
ป.ล. บันทึก 100 หน้าของกระดาษ A4 font 12 tahoma ของเทอดนั้นผมจะขออ่านอีกหลายเที่ยว บางช่วงบางตอนผมถึงกับหลั่งน้ำตาไปกับการสัมผัสได้ถึงอารมณ์สุดๆของเทอดน่ะครับ
โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??
โจทย์นี้ดีจริงๆ เพราะเป็นเป้าหมายของอุดมศึกษาโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าควรจะทำเช่นนั้น ที่ผ่านมาผมก็ว่าสถาบันอุดมศึกษาก็พยายามทำกันอยู่แล้ว มากน้อย แตกต่างกัน ทำได้มากน้อยแตกต่างกัน ทำแล้วก่อให้เกิดประโยชน์แตกต่างกัน.. แต่ประเด็นที่พ่อครูบาฯตั้งไว้น่าจะหมายถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดทำได้อย่างไร..!!
ก่อนที่จะไปลองแสดงความเห็นในประเด็นนี้ ขอเลยไปแสดงความเห็นประเด็นพ่อครูบาทีกล่าวไว้ว่า ..โครงการทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสน”.. ผมนึกถึงหลายสิบปีก่อนนั้นสมัยที่ผมทำงานกับโครงการ NET ที่สุรินทร์ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนของ CUSO ของประเทศแคนาดา เรามี ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์(ทอมสัน)เป็นที่ปรึกษา มี อ.ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ และ อ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นทีมวิทยากรอบรมพวกเราก่อนเข้าทำงาน
สมัยนั้น ดร.สุธีรา ประสานงานเอานักวิชาการระดับสูงของ CP ไปแนะนำการทำงานของเราในมุมมองของนักธุรกิจ แล้วหลังจากนั้นทีมงานของเราก็เดินทางไปดูงานของบริษัท CP ที่หมวกเหล็ก และเราก็สะอึกต่อคำกล่าวของนักวิชาการระดับสูงท่านนั้น เขากล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าการทำงานของโครงการจะทำให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน แต่เขามีโครงการที่ประกันได้ หากชาวบ้าสนใจมาเข้าโครงการเขา เขารับรองว่าชาวบ้านจะมีที่ดินทำกิน มีบ้านพักอาศัย มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน..??!!
เมื่อเราลงรายละเอียดพบว่า เขามีโครงการผลิตพืชเกษตรป้อนเข้าโรงงาน เช่น ข้าวโพด บริษัทมีที่ดิน มีแผนงาน มีโรงงานรองรับผลผลิต มีระบบน้ำ ฯลฯ แต่เขาขาดคน ขาดแรงงาน นั่นเขามองถึงเกษตรกร เขาบอกว่าเขาจัดทำเป็นรูปสหกรณ์การเกษตรที่ใครก็ตามที่เข้าร่วมโครงการเขาให้บ้านพัก มีที่ดินจำนวนหนึ่งให้ มีปัจจัยการผลิตทั้งหมด มี….. เพียงแต่ทำงานตามกำหนดก็จะมีรายได้ที่แน่นอน เพราะบริษัทรับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์..
ผมก็ถึงบางอ้อ…เพราะเกษตรกรกลายเป็นแรงงานให้บริษัท เปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปหมดสิ้น ผมเชื่อว่าเกษตรกรนั้นๆมีรายได้ชัดเจนแน่นอน ภายใน 5 ปี เขาจะมีเงินเท่านั้นเท่านี้ ผมเชื่อครับ แต่วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนไปหมดสิ้น
ผมไม่ได้ติดตามโครงการนี้ว่าไปถึงไหนอย่างไร แต่เชื่อว่าระบบธุรกิจที่มีทุนมหาศาลนั้นสามารถจัดการแรงงานเกษตรกรให้กลายเป็นแรงงานระบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีผลตอบแทนน่าพอใจได้ แต่วิถีเขาเปลี่ยนไปแน่นอน…
ผมเองคิดว่า ทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสนนั้น ผมเชื่อว่าระบบธุรกิจทำได้แน่นอน ซึ่งมีรายละเอียดมากมายอยู่ภายใต้ประโยคดังกล่าว เช่น การบริหารจัดการ แผนงาน การพัฒนาการผลิต การควบคุมคุณภาพ การเอาวิชาการ ความรู้ลงไปด้วยระบบการบริหารจัดการแบบธุรกิจ และหากกล่าวเลยไปว่า ข้าวที่ผลิตได้เป็นข้าวคุณภาพ ที่ถูกควบคุมการผลิตด้วยวิชาการเต็มที่ นำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาจถึงการส่งออก ซึ่งอาจจะมีคนกลางมารับประกันราคาผลผลิต
หากเป็นแนวนี้ผมก็เชื่อว่าทำได้ และประสบผลสำเร็จได้ เพราะนักธุรกิจนั้นเขามีวิสัยทัศน์ที่มาจากข้อมูลที่ชัดเจนเพราะอยู่ในวงการ ย่อมเห็นลู่ทางต่างๆนั้นว่ามีศักยภาพ..
แต่กิจกรรมดังกล่าวนี้อยู่ส่วนไหนของการพึ่งตนเอง การลดการพึ่งพา การลดความเสี่ยง การอยู่บนวิถีเดิมที่มีคุณค่า ฯลฯ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ใหม่ หากสามารถทำได้ผมก็เห็นด้วยและสนับสนุนครับ.