แสดงความเห็นต่อโจทย์พ่อครูบาฯ 1
โจทย์ ที่พ่อครูบาฯตั้งไว้ ว่า จะเอาความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ออกไปพัฒนาวิถีชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไร..??
โจทย์นี้ดีจริงๆ เพราะเป็นเป้าหมายของอุดมศึกษาโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าควรจะทำเช่นนั้น ที่ผ่านมาผมก็ว่าสถาบันอุดมศึกษาก็พยายามทำกันอยู่แล้ว มากน้อย แตกต่างกัน ทำได้มากน้อยแตกต่างกัน ทำแล้วก่อให้เกิดประโยชน์แตกต่างกัน.. แต่ประเด็นที่พ่อครูบาฯตั้งไว้น่าจะหมายถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดทำได้อย่างไร..!!
ก่อนที่จะไปลองแสดงความเห็นในประเด็นนี้ ขอเลยไปแสดงความเห็นประเด็นพ่อครูบาทีกล่าวไว้ว่า ..โครงการทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสน”.. ผมนึกถึงหลายสิบปีก่อนนั้นสมัยที่ผมทำงานกับโครงการ NET ที่สุรินทร์ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนของ CUSO ของประเทศแคนาดา เรามี ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์(ทอมสัน)เป็นที่ปรึกษา มี อ.ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ และ อ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเป็นทีมวิทยากรอบรมพวกเราก่อนเข้าทำงาน
สมัยนั้น ดร.สุธีรา ประสานงานเอานักวิชาการระดับสูงของ CP ไปแนะนำการทำงานของเราในมุมมองของนักธุรกิจ แล้วหลังจากนั้นทีมงานของเราก็เดินทางไปดูงานของบริษัท CP ที่หมวกเหล็ก และเราก็สะอึกต่อคำกล่าวของนักวิชาการระดับสูงท่านนั้น เขากล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าการทำงานของโครงการจะทำให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน แต่เขามีโครงการที่ประกันได้ หากชาวบ้าสนใจมาเข้าโครงการเขา เขารับรองว่าชาวบ้านจะมีที่ดินทำกิน มีบ้านพักอาศัย มีรายได้ที่ชัดเจนแน่นอน..??!!
เมื่อเราลงรายละเอียดพบว่า เขามีโครงการผลิตพืชเกษตรป้อนเข้าโรงงาน เช่น ข้าวโพด บริษัทมีที่ดิน มีแผนงาน มีโรงงานรองรับผลผลิต มีระบบน้ำ ฯลฯ แต่เขาขาดคน ขาดแรงงาน นั่นเขามองถึงเกษตรกร เขาบอกว่าเขาจัดทำเป็นรูปสหกรณ์การเกษตรที่ใครก็ตามที่เข้าร่วมโครงการเขาให้บ้านพัก มีที่ดินจำนวนหนึ่งให้ มีปัจจัยการผลิตทั้งหมด มี….. เพียงแต่ทำงานตามกำหนดก็จะมีรายได้ที่แน่นอน เพราะบริษัทรับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์..
ผมก็ถึงบางอ้อ…เพราะเกษตรกรกลายเป็นแรงงานให้บริษัท เปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตไปหมดสิ้น ผมเชื่อว่าเกษตรกรนั้นๆมีรายได้ชัดเจนแน่นอน ภายใน 5 ปี เขาจะมีเงินเท่านั้นเท่านี้ ผมเชื่อครับ แต่วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนไปหมดสิ้น
ผมไม่ได้ติดตามโครงการนี้ว่าไปถึงไหนอย่างไร แต่เชื่อว่าระบบธุรกิจที่มีทุนมหาศาลนั้นสามารถจัดการแรงงานเกษตรกรให้กลายเป็นแรงงานระบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีผลตอบแทนน่าพอใจได้ แต่วิถีเขาเปลี่ยนไปแน่นอน…
ผมเองคิดว่า ทำนา 1 ไร่ให้ได้เงินแสนนั้น ผมเชื่อว่าระบบธุรกิจทำได้แน่นอน ซึ่งมีรายละเอียดมากมายอยู่ภายใต้ประโยคดังกล่าว เช่น การบริหารจัดการ แผนงาน การพัฒนาการผลิต การควบคุมคุณภาพ การเอาวิชาการ ความรู้ลงไปด้วยระบบการบริหารจัดการแบบธุรกิจ และหากกล่าวเลยไปว่า ข้าวที่ผลิตได้เป็นข้าวคุณภาพ ที่ถูกควบคุมการผลิตด้วยวิชาการเต็มที่ นำข้าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง อาจถึงการส่งออก ซึ่งอาจจะมีคนกลางมารับประกันราคาผลผลิต
หากเป็นแนวนี้ผมก็เชื่อว่าทำได้ และประสบผลสำเร็จได้ เพราะนักธุรกิจนั้นเขามีวิสัยทัศน์ที่มาจากข้อมูลที่ชัดเจนเพราะอยู่ในวงการ ย่อมเห็นลู่ทางต่างๆนั้นว่ามีศักยภาพ..
แต่กิจกรรมดังกล่าวนี้อยู่ส่วนไหนของการพึ่งตนเอง การลดการพึ่งพา การลดความเสี่ยง การอยู่บนวิถีเดิมที่มีคุณค่า ฯลฯ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ใหม่ หากสามารถทำได้ผมก็เห็นด้วยและสนับสนุนครับ.