ต้นซิ่ง..

374 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 มิถุนายน 2010 เวลา 14:50 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 10036

ขอเอารูปเก่าที่ไปพักที่เขาแผงม้ามา

เย็นวันนั้นใกล้ค่ำมากแล้ว เจ้าเด็กสามคนนี่เอาเรือออกกลางฝายเก็บกักน้ำ คนข้างกายบ่นว่า ค่ำแล้วยังออกไปเล่นอีก …


เด็กตัวเล็กนั่งหัวคนหนึ่ง นั่งกลางคนหนึ่ง เด็กโตทำหน้าที่พายเรืออยู่ช่วงท้าย บายไปบ้างเล่นกันบ้าง ตามประสาเด็ก ผมคิดว่าเด็กเหล่านี้น่าจะคุ้นเคยกับการพายเรือและเอาเรือออกไปกลางฝายเก็บน้ำแห่งนี้


ผมนึกถึงสมัยเด็กที่ชอบเอาเรือออกพายไปเล่นกลางทุ่งช่วงน้ำท่วม บางทีแม่ก็ให้ไปช่วยเก็บวัชพืชที่ขึ้นแทรกนาข้าว ซึ่งวัชพืชสมัยนั้นที่ขึ้นแทรกข้าว ทางภาคกลางเรียก “ต้นซิ่ง” เจ้าต้นนี้เติบโตเร็วตายยาก เหนียว ใบเหมือนต้นแค เราใช้วิธีถอนต้นออกเลยเอาใส่เรือแล้วเอาไปทิ้งตามคันนา หากแปลงไหนมีจำนวนมากเกินที่จะถอนก็ตัดสินใจพ่นสารเคมีกำจัด ซึ่งทางภาคกลางก็นิยมที่จะเอาสารเคมีนี้ผสมผงซักฟอกลงไปด้วย เหตุผลคือ ใบเจ้าต้นซิ่งนี้น่าจะมีขนเล็กๆปกใบเวลาพ่นน้ำยามักจะไม่จับใบ หากเอาน้ำยาใส่ผงซักฟอกแล้วจะช่วยให้น้ำยาจับใบมากขึ้น เพียงสามวันเจ้าต้นนี้ก็แห้งตาย เหลือแต่ต้นข้าว


พวกเราทำงานไปเล่นน้ำไปด้วยตามประสาเด็ก แล้วก็กลับบ้านไปหาขนมกิน… ส่วนใหญ่ก็เป็นผลไม้ท้องถิ่น

เดี๋ยวนี้ผมไม่เห็นต้นซิ่งอีกเลย…


ความจริงวันนี้..

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 มิถุนายน 2010 เวลา 0:51 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 760

เป็นวิธีการเผยแพร่ข้อมูลอีกแบบหนึ่งที่ อ๋อย ทำขึ้นมาแล้วแจกให้แก่สมาชิก นปช. โดยเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโรงเรียนการเมือง ผมขอยืมนายข่างผู้ที่เป็นพี่ชายผู้ตายกรณีปอบดงหลวงที่ออกทีวีรายการ คุยกับแพะไปแล้วนั้น ผมเอามาฟัง ยังไม่ทันจบทั้งหมด 27 ประเด็นหรอกครับ แค่สองสามประเด็น คนข้างกายผมก็บอกว่า ไม่ฟังแล้ว ทนไม่ได้….


ผมก็แอบฟังซิ ที่ฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาพูดเรื่องอะไร ประเด็นอะไรบ้าง สาระคืออะไร แล้วเขาต้องการชี้ให้คนเข้าใจอะไร…ฯ

ยิ่งฟังก็ยิ่งหนักใจ ลัทธิเสรีประชาธิปไตย ผมไม่ใช่ปฏิเสธ ประชาธิปไตย แต่เสรีประชาธิปไตยได้เปิดโอกาสให้ทุกคนอิสระที่จะเสนอสิ่งที่บิดเบี้ยวต่อสาธารณะ ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งที่ไปครอบความคิดคนกลุ่มหนึ่งที่ขาดการยับยั้งชั่งใจ พิจารณาข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง แต่ใครเล่าที่จะเอาข้อมูลอีกส่วนไปให้คู่ขนานกับข้อมูลที่บิดเบือนนั้น….

สังคมไทยตกอยู่ในสภาวการณ์นี้ เหมือนสงครามสื่อสาร และพรรคการเมืองหนึ่งที่สนับสนุน นปช. ตั้งเป้าที่ชนบท ต่างจังหวัดอันเป็นฐานการเมืองของเขา มันจะกลายเป็นหนึ่งประเทศ สองโซน คือโซนที่ชื่นชมพรรคการเมืองหนึ่ง ที่สร้างระบบ นปช.เป็นการเมืองภาคประชาชน จับมือกับการเมืองระบบสภา กับอีกโซนที่อยู่ตรงข้ามนั่นเอง

ยิ่งซับซ้อนไปอีกเมื่อการเมืองนั้นไม่ใช่การเมืองที่บริสุทธิ์ แต่ซ่อนเงื่อนผลประโยชน์ไปจนเป็นแบบอย่างลงไปถึงการเมืองท้องถิ่นทั่วไปหมด

เพียงไม่กี่ประเด็นที่ผมนั่งฟังอย่างตั้งใจก็มองเห็นว่านี่คือระบบการปลุกระดมมวลชนให้เข้าใจประเด็นต่างๆอย่างไม่ครบถ้วน ไม่ครบด้านของข้อมูล ผมทราบดีว่าทีมงานเบื้องหลังของอ๋อยและพรรคนี้ เต็มไปด้วยสหายเก่าที่ใช้เงื่อนไขปัจจุบันสร้างงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลมหาศาล เขาจึงท้าทายให้เลือกตั้งใหม่เพื่อเขาจะคืนเวทีการจัดตั้งรัฐบาล เขาจึงกล้าสร้างสถานการณ์ให้ยุบสภาเพื่อเขาเข้ามาทำงานการเมืองต่อเนื่องจากเดิมที่ได้ปูฐานไว้แล้ว

เมื่อหันมามองอีกด้านหนึ่งก็ไม่ต่างกัน เพราะก็ใช้ระบบสื่อสารมวลชนสร้างภาพให้แก่ตนเอง เพียงแต่บริบทของสองกลุ่มนี้ต่างกันเท่านั้น การพูดไม่หมดของกลุ่มหนึ่งก็สร้างการหลงผิดของชนชายขอบว่าสิ่งที่เขาสื่อสารมานั้นคือความจริง ทั้งที่หากเอาข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ต้นเรื่องไปจนจบนั้นความหมายของทั้งหมดมันแตกต่างจากการตัดตอนสาระเอามาพูด

ความจริงเราท่านต่างก็ทราบดีว่าการสื่อสารนั้นมักมีปัญหาเสมอแม่ในครอบครัว ที่ทำงาน ในหมู่บ้าน ซึ่งเราพบบ่อยๆ แต่นั่นอาจสร้างปัญหาเพียงเล็กน้อย แต่การสื่อสารที่ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว เป็นความจริงบางส่วน และเป็นเรื่องราวของประเทศชาติแบบนี้ อันตรายยิ่งนัก…

โลกร้อนยิ่งขึ้นทุกวัน การเมืองในสภาโดยเฉพาะภาคประชาชนก็ถูกไฟสุมทุกวัน การขยายตัวของความแตกต่างนั้นคือ ไฟนรกที่รอวันลุกขึ้นมาในวันข้างหน้า

ฤาบ้านเมืองเราจะแหลกลานอีก เพราะความแตกต่างทางความคิดของคนไทยด้วยกันเอง.. ห่วงจริงๆ


กรอบรูปที่หัวเตียง..

350 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มิถุนายน 2010 เวลา 13:31 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8408

ผมจำได้ว่าผมรู้จักท่านอาจารย์ ชุมพล สุรินทราบูรณ์ ท่านเป็นอดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬา ในฐานะที่ท่านเป็นคนสุรินทร์ เมื่อ CUSO จะไปทำโครงการพัฒนาชนบทที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ท่านก็ลาออกจากราชการมาเป็นผู้จัดการโครงการ และผมเผ่นจากเหนือมาอีสานครั้งแรก เพราะภัยทางการเมือง ท่านอาจารย์รับผมเข้ามาทำงาน โดยการแนะนำของพี่บำรุง บุญปัญญา ผมทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาสังคมรับผิดชอบ โซน พื้นที่ชายแดน


ช่วงนั้นเขมรแดงกำลังแรงมากๆ ขึ้นมาเขตไทยปล้นเอาข้าวไปก็บ่อย ชาวบ้านเข้าป่าชายแดนโดนกับระเบิดตายบ้าง เสียขาก็เยอะ ชาวบ้านทั้งหมดเป็นคนไทยเชื้อสายเขมร ผมต้องเข้าโรงเรียนภาษาเขมรที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ สมัยนั้น ไปกินนอนบ้านชาวบ้านเพื่อปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น ภาษา วัฒนธรรม วิถีต่างๆ ครั้งนั้นมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ท่านอ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์เป็นทีมงานด้วย และมีคณาจารย์จากสถาบันวิจัยจุฬา จากสถาบันไทยคดีศึกษาอีกหลายท่านมาร่วม

ท่านอาจารย์ชุมพล ท่านเป็นสถาปนิก นิสัยสนุกสนาน แต่มีความรู้เพียบคอยหยอดคอยเติมเรามาตลอด ท่านเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านอยากส่งภาพศิลป์เข้าประกวดระดับชาติ ในหัวข้อ ทางธรรมะ ท่านคิดแล้วก็เอาผ้าดิบขึงกรอบ ยกขาตั้งไปตั้งริมทะเล หยิบพู่กันไปยืนเตรียมจะวาดอะไรสักอย่างลงในผืนผ้าดิบนั้น

ท่านสงบ ตั้งสติ ยืนนิ่งในน้ำทะเลนั้น ทำสมาธิ ท่านได้ยินเสียงน้ำทะเล สัมผัสกับลมที่พัด เสียงนก แสงแดดอุ่นๆ … พักหนึ่งท่านก็คลายจากสมาธิแล้วก็ใช้ฝีแปลงจุ่มสีขาวสะบัดสีลงบนผ้าจนทั่ว แล้วก็ยืนทำสมาธินานพอจนสีบนผ้านั้นแห้ง แล้วท่านก็เก็บกรอบผ้า ขาตั้งเดินทางกลับ….

แล้วท่านก็เอากรอบผ้าดิบที่มีแต่สีพื้นขาวนั้นส่งเข้าประกวดภาพศิลป์ที่บ่งชี้หลักธรรมะ

เสียงคนฮือฮามาก ว่านี่คือรูปอะไร ไม่เห็นมีอะไรนอกจากสีขาวบนพื้นผ้าดิบนั้น…

ท่านอธิบายว่าสิ่งสูงสุดของการหลุดพ้นคือความว่างเปล่า ไม่มีตัวตน….ปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวกูของกู นี่คือความว่างเปล่า… ท่านได้รับรางวัล แต่ไม่ทราบว่ารางวัลอะไรนะครับ

คราวที่ผมไปนอนที่บ้านพักเขาแผงม้า ที่หัวเตียงมีกรอบรูปนี้แขวนอยู่ คนข้างกายบอกว่า ..ดูซิ แค่นี้ก็ดูงามแล้ว…

ผมสนับสนุนว่า รูปในกรอบนี้งามจริงๆครับ..


Loving Hut

329 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 มิถุนายน 2010 เวลา 17:20 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7092

บนเส้นทางจากอ่างทองไปขอนแก่นนั้นปรกติผมจะหยุดพักทั้งรถทั้งคน ระหว่างทางเพื่อทานอาหารบ้าง กาแฟ บ้าง แต่ไม่มีร้านประจำ ก็แล้วแต่ท้องมันร้อง หรือความเหมาะสมของเวลาและร้านอาหารระหว่างทาง

มาคราวที่ผ่านมาคนข้างกายบอกว่า หิวแล้ว ทั้งที่เพิ่ง 11 โมงไปไม่เท่าไหร่ เราแวะซื้อองุ่น ลูกใหญ่ๆจากไร่ข้างทางแถว กลางดง ปากช่อง แล้วก็มองหาร้านอาหาร เห็นป้านร้านเจ จึงคุยกันว่าเราลองแวะร้านนี้ก็แล้วกัน


มีคนนั่งอยู่ก่อนแล้ว 2-3 โต๊ะ เขาจัดร้านน่ารักมาก เน้นต้นไม้ เรียบง่าย โปร่ง ดูสะอาดตา เราพอใจจึงนั่งลงสั่งอาหาร โดยผมยกให้คนข้างกายจัดการ ผมหยิบหนังสือที่วางอยู่ข้างโต๊ะมาดู เป็นเรื่องราวของท่าน ติช นัท ฮันท์ ที่หมู่บ้านพลัมในประเทศฝรั่งเศส ผมเองคุ้นเคยกับท่าน ติช นัท เพราะมีหนังสือของท่าน และมีประสบการณ์บางอย่างเกี่ยวกับท่านด้วย ผมชอบหนังสือเล่มนี้มาก


ระหว่างนั่งรออาหารก็ชื่นชมการจัดร้านและบรรยากาศ มีมุมหนังสือให้หยิบอ่าน มีทีวีถ่ายทอดสดๆผ่านระบบดาวเทียมจากต่างประเทศ เมื่ออาหารมาก็ทึ่งในรูปแบบ เราสั่งแกงส้มผักกะเฉด ร้านก็จัดเตามาให้แยกผักกะเฉดสดๆมาให้เราจัดการเอง.. ผัดน้ำมันเห็ด.. สลัดผัก.. และใส้กรอกอีสานเจ นี่นะคนหิวสั่งอาหาร เต็มโต๊ะนั่งกันแค่สองคน อิอิ

อร่อยทุกอย่างครับ โดยเฉพาะแกงส้มผักกะเฉด ระหว่างนั่งทานไปผมเหลือบไปดูทีวี ก็เอ๊ะขึ้นมาเพราะไปเห็นมุมทีวีมีสัญลักษณ์ SM เลยถือโอกาสสำรวจร้านใหม่อย่างละเอียด ใช่แล้ว ใช่แล้ว นี่เป็นร้านอาหารเจสายของอาจารย์ชิงไห่ ที่ผมเป็นศิษย์ท่าน จึงถือโอกาสถ่ายรูปและเอามาฝากกัน


ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่เพราะอาจารย์ชิงไห่ เมื่อสมัยที่ผมทำงานกับ UROCONSULT ในโครงการ NEWMASIP ที่สำนักงานชลประทานที่ 4 ขอนแก่นใกล้บ้านของผมเอง ช่วงนั้นผมกำลังสนุกเต็มที่กับการดื่ม สูบบุหรี่ และเที่ยวกลางคืน โดยมากเพื่อนชวนออกนอกบ้านมากกว่าผมจะชวน อ้าวจริงๆนะ..


ตกเย็นเห็นลูกน้องซึ่งกำลังตกมัน ก็นั่งดื่มเบียร์กันที่ร้านหน้าสำนักงาน ผมก็นั่งดื่มด้วย เพลินไป ไม่ได้ไปรับคนข้างกายที่ มข. เมื่อรู้ตัวก็เสียใจที่เกิดเรื่องเช่นนั้น จึงคิดจะเลิกดื่ม เลิกสูบบุหรี่ ก็พอดีอีกไม่กี่วันต่อมา มีรถโฆษณาเชิญคนที่สนใจไปฟังอาจารย์ชิงไห่มาปาฐกถาธรรม ที่โรงแรมโฆษะ ผมก็ชวนลูกสาวซึ่งยังเล็กอยู่เลยไปฟังด้วย ถูกใจมาก จึงตัดสินใจเข้ารับการประทับจิตกับอาจารย์ชิงไห่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม กินเจ พร้อมทั้งฝึกสมาธิกับกลุ่ม

ผมทำอยู่ประมาณ 6 ปี พบว่ามีผลดีกับตัวเองมาก ให้มุมมองชีวิตใหม่ๆ และส่งผลดีไปต่างๆด้วย เช่น สุขภาพดีเพราะเลิกดื่ม เลิกสูบบุหรี่ มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น รายจ่ายทางด้านนี้ก็ไม่มี ฯลฯ

ผมต้องสารภาพว่าการกินเจกับการเข้าพื้นที่ทำงานพัฒนาชาวบ้านนั้น เราต้องเตรียมตัวเองมากเพราะในหมู่บ้านไม่มีอาหารเจ เราต้องหอบหิ้วไปเอง และเจนั้นมีข้อห้ามมากมาย เช่นสถานที่กิน ภาชนะที่ใช้ ต้องระวังหมดไม่แปดเปื้อน ในที่สุดเกิดปัญหากับการปรับตัวในพื้นที่ทำงานชนบท เป็นภาระคนรอบข้างไปหมด จึงตัดสินใจลดลงมาเหลือแค่มังสวิรัติจนถึงปัจจุบันนี้..


ผมจึงออกจากกลุ่มปฏิบัติธรรมมาโดยปริยาย แต่ยังเคารพ เชื่อถือวิธีปฏิบัติธรรมของอาจารย์ แต่ลดตัวเองมาเป็นพวกรายสะดวก ที่เรียกว่า Convenient group

เมื่อผมแสดงตัวต่อเจ้าของร้าน Loving Hut แห่งนี้ ท่านก็ดีอกดีใจและต้อนรับผมเสมือนกับรู้จักกันมานาน ท่านเอาหนังสือให้ เอาแผ่น CD ให้ และเชิญให้แวะมาทุกครั้งนะหากมีโอกาสผ่านทางนี้

ผมจึงถือโอกาสนี้แนะนำเพื่อนๆที่ผ่านกลางดง ปากช่องก็แวะทานอาหารเจร้าน Loving Hut แห่งนี้นะครับ


เขียนถึงตระกูล “ถาวรอยู่”

1140 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 มิถุนายน 2010 เวลา 22:44 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 15574

หากที่สาธารณะแห่งนี้ผมสามารถจะประกาศคุณงามความดีของคน ผมก็ขออนุญาตใช้พื้นที่แห่งนี้เชิดชูตระกูลถาวรอยู่ ที่ผม น้องชายผม และน้องสาวได้พึ่งใบบุญคุณตาสำเภา ถาวรอยู่ คุณพ่อของคุณน้าสมพันธ์ ถาวรอยู่ชื่อที่ปรากฏป้ายแห่งนี้


สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวถาวรอยู่ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ สำเหร่ ธนบุรี หนีภัยสงครามไปบ้านนอกคือ วิเศษชัยชาญ อ่างทอง โดยอาศัยเรือกลไฟวิ่งขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาและเข้าสู่แม่น้ำน้อย ไปหยุดที่บ้านญาติที่หน้าวัดกำแพง ต.ศาลเจ้าโรงทอง ครั้งนั้นทำให้ครอบครัวช่วงฉ่ำโดยคุณพ่อผมที่เป็นครูประชาบาลที่วัดกำแพงได้รู้จักครอบครัวถาวรอยู่

เมื่อสงครามยุติ สองตระกูลก็ติดต่อกันบ้างตามโอกาส มีครั้งหนึ่งคุณตาสำเภาและเครือญาติสมัยหนีภัยสงคราม พากันออกเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องที่วิเศษชัยชาญ ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นที่หลบภัยสงคราม ครั้งนั้นเองที่คุณตาเลือกที่จะมาพักบ้านครูเชาวน์ คือบ้านผม เพียงเพราะบ้านผมหลังเดียวเท่านั้นที่มีส้วมซึม นอกนั้นใช้วิธีเข้าป่าละเมาะหลังหมู่บ้าน


บ้านผมได้รับแขกผู้ใหญ่ ผมกำลังเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 กำลังใช้แรงงานเต็มที่ ได้ทำหน้าที่กวาดบ้าน ถูบ้านให้สะอาดต้อนรับคุณตาและญาติผู้ใหญ่จากเมืองกรุง ทำหน้าที่หาบน้ำใส่ตุ่มให้อาบ ใส่ห้องน้ำ และน้ำใช้ต่างๆอย่างแข็งขัง จนคุณตาออกปากว่า จบมัธยมปีที่สามแล้วจะไปต่อที่ไหน หากไม่มีที่ไปก็ไปเรียนที่สมบุญวิทยาและพักที่บ้านคุณตาได้….

คำกล่าวของคุณตาในครั้งนั้นได้เปิดอนาคตของเด็กบ้านนอกอย่างผมและน้องๆให้ได้ฝัน ผมเป็นคนแรกที่นั่งเรือยนต์(สมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์)ล่องน้ำจากวิเศษชัยชาญมาขึ้นที่ท่าเตียน และนั่งแท็กซี่ไปซอยวัดราชวรินทร์ คุณพ่อผมได้พาผมไปฝากคุณตาให้มาเรียนมัธยมปีที่ 4-5 จึงได้ไปอยู่ร่วมชายคาบ้านสวนที่ซอยวัดราชวรินทร์ สำเหร่

ต่อมาน้องอีกสองคนก็ได้อาศัยร่มไทรบารมีของคุณตาสำเภา ถาวรอยู่ท่านนี้

เมื่อสิ้นคุณตาและคุณยาย คุณน้าสมพันธ์ ถาวรอยู่ บุตรสาว ก็ยังไม่ได้ละทิ้งถิ่นที่เคยหนีภัยสงคราม โดยรวบรวมญาติพี่น้องจัดกองกฐินมาทอดที่วัดกำแพงเมื่อคราวออกพรรษาที่ผ่านมา นำเงินที่ได้ทำนุบำรุงวัดที่ทรุดโทรม ไปตามวันเวลา อายุขัยของสรรพสิ่ง


เมื่อการทำนุบำรุงวัดกำแพงเรียบร้อยลงเกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงนำช่อฟ้าขึ้นไปติดตั้ง คุณน้าก็ตั้งกองผ้าป่ามาอีกครั้ง พร้อมมาทำพิธียกช่อฟ้าขึ้นติดตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง โดยเชิญคุณแม่ผมร่วมเป็นประธานด้วย เนื่องจากคุณแม่ผมไม่สามารถเคลื่อนไหวไปร่วมงานได้จึงมอบให้ผมเป็นประธานร่วมแทน..

คุณน้าเป็นอดีตข้าราชการครู ที่คอยดูแลลูกสาวคนโต น้องอ้น ที่ผมจูงมือไปโรงเรียนทุกวันในสมัยก่อนโน้น น้องอ้นเส้นเลือดในสมองแตกตอนกลับมาจากเรียนที่ออสเตรเลีย ต้องพิการตลอดชีวิตนับสิบปีมาแล้ว ต้องนอนบนเตียงมีคนคอยช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง เสียเงินไปนับสิบล้านแล้ว เพราะคุณน้าให้สิ่งดีที่สุดที่ลูกสาวคนนี้ควรจะได้ ส่วนน้องอ้อมลูกสาวคนกลางเป็นสะใภ้ท่านกฤษณา อโศกสิน และทำงานเกี่ยวกับหนังสือและศิลปะตามที่เธอสนใจ ส่วนน้องอ่อนลูกสาวสุดท้องของคุณน้า เป็นนักแปลข่าวต่างประเทศอยู่ที่วัฏจักร

สายสัมพันธ์ของสังคมไทยนั้นลึกซึ้งกว่าคำอธิบายใดๆที่เป็นอักษร และคำพูด แต่มันเป็นความรู้สึกภายใน..

ทุกครั้งที่ผมก้มกราบพระ ผมระลึกถึงพระคุณของคุณตาคุณยาย ตระกูลถาวรอยู่ ซอยสำเหร่ ธนบุรี ผมระลึกถึงคุณน้าสมพันธ์ ที่แม้เวลาปัจจุบันจะห่างไกลจากสงครามโลกครั้งที่สองนานมากแล้ว แต่คุณน้าก็ยังหาโอกาสมาสร้างประโยชน์ให้แก่วัดกำแพง และชุมชนแห่งนี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้หนีร้อนมาพึ่งเย็น


ผมได้ยินคุณย่า คุณยาย คุณปู่ ที่มาร่วมงานยกช่อฟ้า ต่างถามไถ่หากัน เนื่องจากกันมานาน หลายคนก็ละสังขารไปแล้ว หลายคนก็ขยับเขยื้อนร่างกายไม่ไหว ใครที่พอจะหิ้วปีกมาได้บ้างต่างก็ขโยกเขยกมาพบปะกัน อาจจะเรียกรุ่นสงครามโลกครั้งที่สองก็ได้…

ผมขออนุญาตใช้พื้นที่นี้บันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้ว่า

นี่คือรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยเรา

(วัดกำแพง เป็นวัดที่มีโรงเรียนวัด
ที่คุณพ่อผมเป็นครูใหญ่ที่นี่จนปิดตัวลงเมื่อคุณพ่อผมเกษียณ และจำนวนเด็กนักเรียนน้อยเกินไป ผมเองก็เรียนชั้นประถมที่นี่ อิอิ เด็กโรงเรียนวัด)


ภูธาราฟ้า..

33 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 มิถุนายน 2010 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1125

รูปนี้อยู่บนภูเขาสูงนะครับ

วันนี้แอบมานอนค้างที่เขาแผงม้าแล้ว

พรุ่งนี้จะลงไปรับลูกสาวที่กรุงเทพฯกลับไปอ่างทองอีก

เป็นงานศพคุณอา ครับ..


สาวสะแกราช

77 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 มิถุนายน 2010 เวลา 1:28 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2120

วันที่ไปเที่ยวชมป่าสะแกราช รอยต่อปักธงชัยกับวังน้ำเขียวนั้น ขากลับออกจากป่า ตรงประตูทางออก เราต้องจอดรถเพราะเอาบัตรประชาชนคืน พอดีเราเห็นสตรีคนหนึ่งนั่งอยู่ เธอเป็นคนตาบอด ผมถามยามว่า เธอจะไปโคราชหรือเปล่า ยามบอกว่าใช่ ผมบอกว่า เชิญไปด้วยกัน เธอตกลง


เธอเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น แต่เป็นคนโคราช ได้สามีเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานป่าไม้สะแกราชนี่เอง มาอยู่ด้วยเพราะต้องการบรรยากาศดูหนังสือ จะไปสอบเป็นพนักงานของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ที่เขาประกาศรับคนตาบอดเข้าทำงาน แผนกคอมพิวเตอร์


เธอใช้คอมพิวเตอร์เก่ง เธอว่าเช่นนั้น เขามีโปรแกรมพิเศษที่เมื่อพิมพ์ลงไปแล้วเกิดเสียงก็ทราบว่าเป็นอักษรอะไร เธอบอกว่ามีคู่แข่งเยอะเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะสอบผ่านหรือเปล่า

ระหว่างทางไปโคราชนั้น บางจังหวะเธอใช้โทรศัพท์โทรไปบอกแฟนเธอว่า มาโคราชกับอาจารย์แล้ว อาจารย์ให้นั่งรถมาด้วย…

สักพักเธอก็โทรไปที่บ้านบอกให้มารับด้วยที่หน้า บิ๊กซีโคราช เสียงทางโทรศัพท์บอกว่าไม่ว่างติดธุระอยู่ เธอบอกว่างั้นเธอจะนั่งรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างเข้าไปเอง


ก่อนถึงบิ๊กซี จะต้องผ่านเดอะมอลล์ ซึ่งมีคนมาเดินมาก รถจำนวนมากก็มาที่นี่ ทำให้รถติด เราก็คุยกันว่ารถติด เธอก็บอกว่าถึง เดอะมอลล์แล้วหรือ เหมือนเธอรู้ทุกอย่าง …

เธอคุยเก่ง และอารมณ์ดี เราชื่นชมเธอที่ต่อสู้กับชีวิตในโลกมืดด้วยความสามารถของเธอเอง และเราขอปรบมือให้บริษัทประกันภัยที่ประกาศรับคนพิการทางสายตาเข้าทำงาน แม้เพียงคนเดียวเราก็ชมเชยที่กล้าอ้าแขนรับพลเมืองของประเทศเรากลุ่มนี้

เราส่งเธอที่คิวรถมอเตอร์ไซด์ หน้าบิ๊กซี พร้อมทั้งบอกรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้ไปส่งเธอด้วย แต่เธอคุ้นเคยอยู่แล้ว

เธอยกมือไหว้และขอบคุณเรา

เราอวยพรให้เธอโชคดีในการสอบ…

ผมขับรถต่อไปขอนแก่นด้วยความสุขใจลึกๆ…


มองสังคมป่าไม้เห็นสังคมมนุษย์

376 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มิถุนายน 2010 เวลา 15:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5935

(บันทึกยาวครับ..)

ไปเยี่ยมยามแม่บังเกิดเกล้า ยามเฒ่าแก่ ให้บุพการีชื่นอกชื่นใจแล้วก็เดินทางกลับ ภาระปัจจุบันไปไหนๆได้ไม่นานนัก ก็ดีกว่าไม่ได้ไปเลย แม้ว่าใจอยากจะอยู่กับแม่นานๆ

คนข้างกายมีงานวิจัยประเภท Action Research กับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้หลายชิ้น จึงคุ้นเคยกับบุคลากรกรมป่าไม้หลายท่าน เธอมีคำถามกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ป่านั้นถูกบุกรุกทำลาย ทำร้ายมากมายทุกหนแห่ง สมัยก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองโน้นเมืองนี้ ต้องบุกป่าฝ่าดงไปนั้น ป่าในอดีตจริงๆเป็นอย่างไรหนอ..? ดร.โกมล แพรกทอง ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้กล่าวว่า อยากดูก็ไปที่ ป่าสะแกราช ที่ปักธงชัย นครราชสีมา รอยต่อกับเขาใหญ่ รอยต่อกับพื้นที่วังน้ำเขียว “ที่นั่นเป็นป่าบริสุทธิ์เท่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย” มีโอกาสก็ไปดูซะ…

ทีมงานของคนข้างกายขอร้องไว้ก่อนแล้วว่า ให้ผมพาไปพักผ่อนบ้างหลังลุยเขียนงานใหญ่ๆ สามชิ้น กลัวจะฟุบเข้าโรงพยาบาลอีก เมื่อหันหัวรถออกจากบ้านอ่างทองก็ตั้งเป้าหมายเขาใหญ่ ที่กำลังดังเป็นเป้าหมาย.. เข้าปากช่องเลี้ยวขวาเข้าเขาใหญ่ มีที่พักมากมาย แต่ไม่เอา ใช้เส้นทาง Local Road รอบเขาใหญ่จากปากช่องไปวังน้ำเขียว เป็นถนนเส้นเล็กๆ แต่ธุรกิจรีสอร์ท บ้านพัก สวน ตั้งแต่หรูหราเริ่ด ไปจนแบบชาวบ้านธรรมดา เต็มไปหมดตลอดทาง…

ค่ำพอดีเลยหาที่พักสบายๆข้างทาง ได้ที่พักชื่อ วิลล่า เขาแผงม้า ร่มรื่น สะอาด บริการดี ราคาสมน้ำสมเนื้อต่อคืน อาหารเช้าเพียบ ที่แปลกคือห้องน้ำแบบโอเพ่นแอร์ แต่ปลอดภัย คนงานทำความสะอาดตลอดเวลา สภาพทั่วไปเป็นเนินเขา การเดินขึ้นลงอาจจะไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ แต่มีบริการฟรีรถกอล์ฟรับส่งกระเป๋า หรือจะขึ้นลงก็ตาม เขามีเด็กขับบริการเอาใจ สว. อย่างเรา

หลังอาหารเช้ากับบรรยากาศสดชื่น เราก็ลุยตรงไปที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ผ่านประตูโดยมอบบัตรประชาชนให้ ยามก็รายงานขึ้นไปว่ามีคนสนใจมาศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ก็ได้รับการต้อนรับที่ดี คุยกับเจ้าหน้าที่สักพักใหญ่ๆ พอดีเขามีแค้มป์เด็กนักเรียนจาก “ดัดดรุณี” เราจึงขอแยกตัวไปสัมผัสป่าบริสุทธิ์ซึ่งขับรถช้าๆตามกติกาขึ้นไปอีกสอง กม.จากสำนักงานที่พัก คนข้างกายบอกว่า “เอารถไปจอด แล้วขอลงนั่งฟังเสียงป่าแบบเงียบๆนะ”

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า ป่าสะแกราชส่วนนี้รอดมือการสัมปทานป่ามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นความจริงที่เป็นเพียงพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง หากเราสังเกตสภาพป่าสะแกราชตั้งแต่ปากทางเข้ามาจะพบว่ามี “สังคมไม้ป่า” ที่แตกต่างกันไปหลายแบบ ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงไม่กล้าเอ่ยชื่อชนิดป่า ความจริงเขามีเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้แต่เราปฏิเสธ

มีร่องรอยการศึกษาวิจัยหลายที่หลายแห่ง อันเนื่องมาจากความสมบูรณ์ของป่านี่เองจึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ผมเองก็ซื้อหนังสือมาหอบใหญ่เกี่ยวกับกรณีศึกษาของป่าสะแกราชแห่งนี้

หยุดรถเป็นระยะ ถ่ายรูปบ้าง ลงไปดูร่องรอยการศึกษาวิจัยบ้าง และก็มาเห็นต้นไม้ใหญ่ที่มีต้นไม้เล็กเกาะยึดไว้ ทั้งที่เป็นเถาวัลย์ และต้นไม้อิงอาศัย… แหมฉุกคิดขึ้นมาทันทีถึงคำว่าสังคมป่าไม้ ที่นักวิชาการท่านกล่าวถึง นี่ไงสังคมป่าไม้ที่ความหลากหลายทางชีวภาพของไม้ป่าอิงอาศัยกันและกัน ไม้ใหญ่มีระบบราก ลำต้น เผ่าพันธุ์ที่สูงใหญ่ ก็ปล่อยให้ไม้เล็กเกาะ อาศัยเลื้อยขึ้นไปชูคอสูดอากาศข้างบน หรือขึ้นสู่เรือนยอด ผมนึกถึงระบบสังคมมนุษย์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ “ระบบอุปถัมภ์” สังคมไม้ป่า หรือสังคมไม้บ้านก็ตามก็มีระบบอุปถัมภ์เหมือนกัน

ผมเองได้ยินคำนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานพัฒนาชนบท ในสนามและท่าน ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ กับ อ.ดร.จิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เป็นวิทยากรอบรมท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้นานมากแล้ว แรกๆก็รับรู้แต่ไม่เข้าใจเท่าไหร่
ต่อเมื่อเข้าไปทำงานสนามนานๆเข้า ก็เห็น ย้อนมามองตัวเองเกี่ยวข้องเพียบเลย และมีกระจายไปทั่วหัวระแหงของสังคม ไม้ของไทยและสังคมไหนๆก็ตาม เพียงแต่ว่าจะมองในแง่ไหน จะใช้ระบบนี้ในแง่ไหน

นักวิชาการสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างมากในแง่ที่สร้างปัญหาต่อสังคมโดยรวม เช่น ระบบเส้นสายก็คือระบบอุปถัมภ์ ความพึงพอใจส่วนตัวเอามาเป็นเหตุผลมากกว่าการเคารพกฎกติกา หรือเหตุผลที่เหมาะสม ก็คือระบบอุปถัมภ์ชนิดหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นความจริงในสังคมนี้

เมื่อผมเห็น “สังคมป่าไม้ที่สะแกราช” ดังกล่าวนี้ทำไม่ผมอ่านได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นธรรมชาติแบบสังคมป่าไม้นั้นต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ยังประโยชน์แก่กัน หากเถาวัลย์ไม่มีไม้ใหญ่เกาะเกี่ยว มีหรือเขาจะเจริญเติบโต ออกลูกหลานเผ่าพันธุ์สืบมาจนปัจจุบันนี้ ผมเดาเอาเองว่า ไม้ใหญ่ก็ให้อิงอาศัยแม้ว่าอาจจะทำให้เกิดอุปสรรคบ้างในการเจริญเติบโต แต่คงไม่มาก และที่สำคัญไม่ได้ทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง ตรงข้ามพื้นที่ส่วนน้อยของเขาได้ยังชีวิตเถาวัลย์เล็กๆ และไม้อิงอาศัยได้มากที่สุด เพราะธรรมชาติของเขาต้องอิงอาศัย ต้องเกาะยึดสิ่งอื่นๆ

ผมนึกถึงที่บ้านขอนแก่น ผมเอา กลอย และ ต้นมันป่าจากดงหลวงไปปลูก ช่วงฤดูฝนนี้เขาแตกยอดใหม่เลื้อยออกมาจากหัว หาต้นไม้ข้างเคียงเกาะยึด แล้วเขาก็เลื้อยพันขึ้นไปข้างบนจนถึงยอดไม้อิงอาศัย เราดูก็อาจจะสงสารต้นไม้หลักที่เขายึดเกาะ เพราะเจ้า กลอย และมันป่าจะงาม แตะกิ่งก้านสาขาจนเกือบจะปกปิดต้นหลัก แต่เขาก็อยู่เพียงไม่กี่เดือนก็สิ้นสุดการเติบโตเข้าสู่วงจรการนอนหลับหรือการหยุดการเจริญเติบโต (Hibernation เอใช้คำนี้ได้เปล่า เปลี่ยน) ใบหลุดร่วงตายไป หัวกลอย หัวมันขยายใหญ่ขึ้น เพราะได้สังเคราะห์แสงเก็บอาหารไว้เต็มที่ตามลักษณะเผ่าพันธุ์ และไม่มีที่ผิดแผกไปจากนี่

แต่มองย้อนกลับมาที่สังคมมนุษย์ เพราะ กิเลส ตัญหา ความทะยานอยาก การไม่อยู่ในหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันคือ ศีลธรรม คุณธรรม ปฏิเสธความพอเพียง ระบบอุปถัมภ์ก็กลายเป็นเครื่องมือก้าวไปสู่ความเป็นเลิศที่ตัวเองต้องการ โดยสร้างปัญหากระทบต่อสังคมรอบข้าง โดยกระทบตั้งแต่น้อยไปหามาก จากเบาไปหาหนัก (เอ เหมือนอะไรน้อ..)

เมื่อมองจากมุมสังคมไม้ป่า ก็พบว่า ระบบอุปถัมภ์นั้นมีประโยชน์ เพราะธรรมชาติของเผ่าพันธุ์เป็นตัวควบคุม และไม้ไม่มีจิตวิญญาณ แต่สังคมมนุษย์ผู้ประเสริฐ ได้ใช้ปัญญาไปในทางที่ผิด ใช้ไปในทางทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกัน ใช้เงื่อนไขทั้งหมดเพื่อความมั่งคั่งส่วนตนและพวกพ้อง เพราะรัศมีการอุปถัมภ์ของสังคมไม้ป่านั้นอยู่วงรอบของทรงพุ่มเท่านั้น แต่รัศมีระบบอุปถัมภ์ของสังคมมนุษย์นั้นครอบไปทั่วทั้งสังคมใหญ่คือประเทศ

ดังนั้นคนชายขอบเขาจะอยู่ไม่ได้เลยหากหมู่บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศไม่โอบอุ้มเขาด้วยระบบอุปถัมภ์ เอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การยื่นน้ำใจให้แก่กัน

เช่นเดียวกันคนที่มีปัญหา หาทางออกไม่ได้ก็ต้องอาศัยระบบของสังคมมาเยียวยาด้วย หนึ่งในนั้นคือระบบอุปถัมภ์ที่มีศีลธรรม คุณธรรม และทุนทางสังคมแบบเดิมๆของเราเป็นสะพานเชื่อม


แนะนำแหล่งท่องเที่ยว

37 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มิถุนายน 2010 เวลา 23:10 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1624

 

 

เหนื่อยนักก็พักก่อน พี่น้องงงงง

ไม่รู้จะไปพักที่ไหนก็มาที่นี่เด้อครับ

ผาแห่งนี้รับรอง…..หดจริงๆ…

ห้า ห้า ห้า


หมวกเมฆ..

61 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 มิถุนายน 2010 เวลา 23:17 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2054

เขาเรียกหมวกเมฆ





วันนี้ตั้งใจจะหารูปเมฆสวยๆถ่าย แต่ไม่แน่ใจว่าจะโชคดีหรือเปล่า แต่ก็ไม่เป็นไร ไปคอยดีกว่า เลิกงานก็ขึ้นไปบนเขามโนรมย์ซึ่งอยู่ด้านใต้ของตัวเมืองมุกดาหารครับ

คอยตั้งแต่ 5 โมง พอ 6 โมงพระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าทางตะวันตก ก้อนเมฆจำนวนหนึ่งเริ่มปรากฏหมวกเมฆ แต่ไม่มีสีรุ้ง สักแป๊บเดียว มาแล้ว…..

ถ่ายไม่อั้นเลย โผล่ตรงโน้น ตรงนี้ กล้องเราก็ไม่ได้อย่างใจเลย พอซูมใกล้ๆ อยากได้ภาพรุ้งสวยๆใกล้ๆ ภาพมันเบลอหมด ได้มาพออวดได้บ้าง ถ่ายไปเกือบสามร้อยรูป อิอิ


อาชีพของคนจนในเมือง..

12 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มิถุนายน 2010 เวลา 22:37 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1237

เย็นมากแล้ว

ชายคนนั้นถีบจักรยานกลับบ้าน

เป็นจักรยานที่ท่านผู้นี้ใช้ประกอบอาชีพ

เป็นอาชีพที่เกือบจะไม่เห็นแล้วในสังคมยุคนี้

ผมไม่มีโอกาสคุยกับท่าน ทั้งที่อยากจะทำหน้าที่นั้น

อาชีพรับจ้างย้อมผ้าแบบ Mobile unit ครับ

อุปกรณ์เป็นปี๊บที่ออกแบบสำหรับติดไฟและต้มน้ำสำหรับย้อมผ้าได้

ข้างเตามีช่องใส่ฟืน.. แค่นี้ก็หากินได้แล้ว

อยากรู้ว่าท่านไปแถวไหนบ้าง

วันๆเฉลี่ยมีคนจ้างย้อมผ้ากี่ราย คิดราคาเท่าไหร่

และ…ฯลฯ…


ป่ากับชีวิต…

145 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มิถุนายน 2010 เวลา 21:49 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 6678

ขออนุญาตเอาบันทึกเก่ามาขึ้นใหม่ เพราะสนับสนุนพ่อครูบาฯในโอกาสที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปพบท่าน…

ผมมีเรื่องราวที่ผ่านพบมาเกี่ยวกับต้นไม้ ป่า และชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ทำงานที่โครงการกลุ่มป่าห้วยขาแข้งที่จังหวัดนครสวรรค์ และอุทัยธานี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2539 โน้น

กลุ่มป่าห้วยขาแข้งเป็นกลุ่มป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเราที่เหลืออยู่ และได้รับการยกฐานะเป็น “มรดกโลก” เป็นแหล่งน้ำประปาสำหรับคนที่กรุงเทพฯด้วย (น้ำเสริม) หลายท่านไม่ทราบความจริงข้อนี้

ช่วงนั้นผู้บันทึกสังกัดองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อ Save the Children (USA) ซึ่งเป็น International NGOs


ประสบการณ์ที่กลุ่มป่าห้วยขาแข้งเป็นช่วงเวลาที่เข้าถึงแก่นป่ามากที่สุด ร่วมกับชาวบ้านทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำแนวกันไฟเป็นระยะทางมากกว่า 100 ก.ม. ปลูกต้นไม้ตามแนวกันไฟ ตั้งคณะกรรมการดูแลอนุรักษ์ป่า รอบขอบป่า ตั้งชาวบ้านเป็นชุดดับไฟป่าเสริมงานรัฐ สนับสนุนเครื่องมือดับไฟป่า สนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชน ปลูกป่าเสริม ร่วมทำการวิจัยในการคัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าขยายพันธ์ สนับสนุนแหล่งน้ำขนาดเล็ก จัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ การพิสูจน์แนวเขตพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ตามแนวเขตป่า และ ฯลฯ

ทำ Floating Station ในเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากกลุ่มป้าห้วยขาแข้งทำหน้าที่กักกันมิให้ใครต่อใครนำเรือขึ้นไปหัวเขื่อนเพื่อตัดไม้ ทำลายป่า มีโอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของ วีรบุรุษป่าไม้ ท่านสืบ นาคเสถียร เราเข้าไปนั่งในอาคารที่ท่านสืบได้สละชีวิต เดินลุยป่าเพื่อดูการทำงานของพี่น้องเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เห็นสัตว์ป่าที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสเห็น เราสัมผัสคำไทยที่ว่า “เสียงร้องก้องไพร” ของนกป่านานาชนิด และสัตว์ป่าที่ชอบส่งเสียงดังๆคือ ค่าง ชะนี เราสัมผัส “ช่องเย็น” ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และถิ่นเห็ดโคนที่ใหญ่และมากที่สุดที่ตำบลแม่เลย์ เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และเราร่วมสนับสนุนศิลปินเข้าไปใช้ชีวิตในป่าแล้วแต่งเพลงที่เกี่ยวกับป่าเพื่อรณรงค์กับประชาชนทั่วไป

กลุ่มป่าห้วยขาแข้งคือ เป้าหมายของพระธุดงค์ทั้งสายปลีกวิเวกเพื่อหลุดพ้นจริงๆ กับสายไสยศาสตร์ โดยมักจะนั่งรถเข้าไปที่ด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี แล้วธุดงค์ผ่านป่าทึบห้วยขาแข้ง ไปออกป่าที่อุทัยธานี ครั้งหนึ่งผมนั่งเฮลิคอบเตอร์ของกรมป่าไม้เพื่อสำรวจสภาพป่า พบกลุ่มพระธุดงค์นับสิบรูปพักสรงน้ำ ตากจีวร และต้มน้ำดื่มชา กาแฟกัน และมีแม่ชีห่มขาวช่วยบริการรับใช้อีกจำนวนหนึ่งด้วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า พระธุดงค์บางกลุ่มคือปัญหาที่ทำให้เกิดไฟป่าเพราะท่านติดไฟต้มน้ำดื่มชากาแฟแล้วลืมดับไฟ หรือดับไม่สนิทนั่นเอง.. ผมเห็นฝูงนกกก ฝูงหมาใน ฝูงกระทิงป่า ควายป่า ค่างป่า นกยูง ฯ


ที่อำเภอแม่เปินซึ่งติดชายป่าห้วยขาแข้งและบางส่วนของอำเภอแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ซึ่งมีภูเขาแม่กะทู้เป็นแนวยาว พื้นที่รอบๆเขาแม่กะทู้นั้นคือแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง เราก็ออกมาทำงานกับชาวบ้านรอบๆเขาแม่กะทู้ด้วย เพื่อเป็น Human Buffer Zone

ที่นี่ผมได้พบสามีภรรยาคู่หนึ่ง ท่านคือเจ้าของโรงงานผลิตผ้าใบคลุมรถสิบล้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่แถวสมุทรปราการ และมีบริษัทจัดจำหน่ายที่ดินแดง กรุงเทพฯ ท่านมาซื้อที่ดินที่ตีนเขาแม่กะทู้นี้เมื่อหลายปีก่อน มาปลูกกระต๊อบพออาศัย มีเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตไม่กี่ชิ้น


ผมไปคารวะท่านและขอศึกษาชีวิตท่าน ท่านกรุณาเล่าให้ฟังว่า สามีท่านอดีตเป็นข้าราชการชั้นสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ภรรยาเป็นเจ้าของโรงงานดังกล่าว มีบุตรธิดา 2 คน ชีวิตก็มีความสุข แต่เมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพก็เป็นโน่นเป็นนี่ตลอด เงินทองมีเหลือเฟือแต่รักษาสุขภาพไม่หาย มีคุณหมอแนะนำให้ออกไปอยู่ป่า ในสภาพแวดล้อมใหม่

ท่านทั้งสองเชื่อคุณหมอจึงยกกิจการให้ลูกแล้วออกมาซื้อที่ดินสัก 5 ไร่ ชายป่าเขากะทู้แห่งนี้ แล้วก็ทำสวนเล็กๆ ศึกษาธรรมะ และช่วยเหลือชาวบ้านรอบๆตามความเหมาะสม เพียงสองปีเท่านั้น สุขภาพของท่านดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ แข็งแรงทั้งคู่ ภรรยาท่านนั้นทานมังสวิรัติ และเมตตาผมเสมอเมื่อไปเยี่ยมท่าน ด้วยความที่เห็นสรรพคุณชีวิตชนบท และป่าไม้ กับการฝึกธรรมะ ท่านจึงอุทิศชีวิตปลูกป่าให้กับรัฐโดยลงทุนเองหมดเงินไปหลายล้านบาท เพื่อฉลองในหลวงอันเป็นที่เคารพรัก

ในปี 2541 นั้นผมชวนนายอำเภอแม่วงก์และข้าราชการขึ้นไปเยี่ยมป่าที่ท่านปลูกและช่วยท่านปลูกป่า คืนนั้นเรานอนกันบนยอดเขาแม่กะทู้ “เพื่อดูฝนดาวตกด้วย”

ท่านเศรษฐีชายกล่าวกับผมว่า “เพราะชีวิตชนบทและป่า ทำให้ผมมีชีวิตยืนยาว หากผมยังใช้ชีวิตในเมืองหลวง ผมคงสิ้นไปหลายปีแล้ว ชีวิตที่เหลือผมขออุทิศให้กับในหลวง สมเด็จฯ และการปลูกป่าไม้บนเขากะทู้แห่งนี้….”

ผมยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมท่านอีกเลยนับออกจากนครสวรรค์มา

คิดถึงเศรษฐีผู้สร้างป่าสองท่านนี้ครับ….



Main: 0.075551986694336 sec
Sidebar: 0.045202970504761 sec