มองสังคมป่าไม้เห็นสังคมมนุษย์

376 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มิถุนายน 2010 เวลา 15:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5920

(บันทึกยาวครับ..)

ไปเยี่ยมยามแม่บังเกิดเกล้า ยามเฒ่าแก่ ให้บุพการีชื่นอกชื่นใจแล้วก็เดินทางกลับ ภาระปัจจุบันไปไหนๆได้ไม่นานนัก ก็ดีกว่าไม่ได้ไปเลย แม้ว่าใจอยากจะอยู่กับแม่นานๆ

คนข้างกายมีงานวิจัยประเภท Action Research กับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้หลายชิ้น จึงคุ้นเคยกับบุคลากรกรมป่าไม้หลายท่าน เธอมีคำถามกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ป่านั้นถูกบุกรุกทำลาย ทำร้ายมากมายทุกหนแห่ง สมัยก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองโน้นเมืองนี้ ต้องบุกป่าฝ่าดงไปนั้น ป่าในอดีตจริงๆเป็นอย่างไรหนอ..? ดร.โกมล แพรกทอง ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้กล่าวว่า อยากดูก็ไปที่ ป่าสะแกราช ที่ปักธงชัย นครราชสีมา รอยต่อกับเขาใหญ่ รอยต่อกับพื้นที่วังน้ำเขียว “ที่นั่นเป็นป่าบริสุทธิ์เท่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย” มีโอกาสก็ไปดูซะ…

ทีมงานของคนข้างกายขอร้องไว้ก่อนแล้วว่า ให้ผมพาไปพักผ่อนบ้างหลังลุยเขียนงานใหญ่ๆ สามชิ้น กลัวจะฟุบเข้าโรงพยาบาลอีก เมื่อหันหัวรถออกจากบ้านอ่างทองก็ตั้งเป้าหมายเขาใหญ่ ที่กำลังดังเป็นเป้าหมาย.. เข้าปากช่องเลี้ยวขวาเข้าเขาใหญ่ มีที่พักมากมาย แต่ไม่เอา ใช้เส้นทาง Local Road รอบเขาใหญ่จากปากช่องไปวังน้ำเขียว เป็นถนนเส้นเล็กๆ แต่ธุรกิจรีสอร์ท บ้านพัก สวน ตั้งแต่หรูหราเริ่ด ไปจนแบบชาวบ้านธรรมดา เต็มไปหมดตลอดทาง…

ค่ำพอดีเลยหาที่พักสบายๆข้างทาง ได้ที่พักชื่อ วิลล่า เขาแผงม้า ร่มรื่น สะอาด บริการดี ราคาสมน้ำสมเนื้อต่อคืน อาหารเช้าเพียบ ที่แปลกคือห้องน้ำแบบโอเพ่นแอร์ แต่ปลอดภัย คนงานทำความสะอาดตลอดเวลา สภาพทั่วไปเป็นเนินเขา การเดินขึ้นลงอาจจะไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ แต่มีบริการฟรีรถกอล์ฟรับส่งกระเป๋า หรือจะขึ้นลงก็ตาม เขามีเด็กขับบริการเอาใจ สว. อย่างเรา

หลังอาหารเช้ากับบรรยากาศสดชื่น เราก็ลุยตรงไปที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ผ่านประตูโดยมอบบัตรประชาชนให้ ยามก็รายงานขึ้นไปว่ามีคนสนใจมาศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ก็ได้รับการต้อนรับที่ดี คุยกับเจ้าหน้าที่สักพักใหญ่ๆ พอดีเขามีแค้มป์เด็กนักเรียนจาก “ดัดดรุณี” เราจึงขอแยกตัวไปสัมผัสป่าบริสุทธิ์ซึ่งขับรถช้าๆตามกติกาขึ้นไปอีกสอง กม.จากสำนักงานที่พัก คนข้างกายบอกว่า “เอารถไปจอด แล้วขอลงนั่งฟังเสียงป่าแบบเงียบๆนะ”

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า ป่าสะแกราชส่วนนี้รอดมือการสัมปทานป่ามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นความจริงที่เป็นเพียงพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง หากเราสังเกตสภาพป่าสะแกราชตั้งแต่ปากทางเข้ามาจะพบว่ามี “สังคมไม้ป่า” ที่แตกต่างกันไปหลายแบบ ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงไม่กล้าเอ่ยชื่อชนิดป่า ความจริงเขามีเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้แต่เราปฏิเสธ

มีร่องรอยการศึกษาวิจัยหลายที่หลายแห่ง อันเนื่องมาจากความสมบูรณ์ของป่านี่เองจึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ผมเองก็ซื้อหนังสือมาหอบใหญ่เกี่ยวกับกรณีศึกษาของป่าสะแกราชแห่งนี้

หยุดรถเป็นระยะ ถ่ายรูปบ้าง ลงไปดูร่องรอยการศึกษาวิจัยบ้าง และก็มาเห็นต้นไม้ใหญ่ที่มีต้นไม้เล็กเกาะยึดไว้ ทั้งที่เป็นเถาวัลย์ และต้นไม้อิงอาศัย… แหมฉุกคิดขึ้นมาทันทีถึงคำว่าสังคมป่าไม้ ที่นักวิชาการท่านกล่าวถึง นี่ไงสังคมป่าไม้ที่ความหลากหลายทางชีวภาพของไม้ป่าอิงอาศัยกันและกัน ไม้ใหญ่มีระบบราก ลำต้น เผ่าพันธุ์ที่สูงใหญ่ ก็ปล่อยให้ไม้เล็กเกาะ อาศัยเลื้อยขึ้นไปชูคอสูดอากาศข้างบน หรือขึ้นสู่เรือนยอด ผมนึกถึงระบบสังคมมนุษย์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ “ระบบอุปถัมภ์” สังคมไม้ป่า หรือสังคมไม้บ้านก็ตามก็มีระบบอุปถัมภ์เหมือนกัน

ผมเองได้ยินคำนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานพัฒนาชนบท ในสนามและท่าน ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ กับ อ.ดร.จิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เป็นวิทยากรอบรมท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้นานมากแล้ว แรกๆก็รับรู้แต่ไม่เข้าใจเท่าไหร่
ต่อเมื่อเข้าไปทำงานสนามนานๆเข้า ก็เห็น ย้อนมามองตัวเองเกี่ยวข้องเพียบเลย และมีกระจายไปทั่วหัวระแหงของสังคม ไม้ของไทยและสังคมไหนๆก็ตาม เพียงแต่ว่าจะมองในแง่ไหน จะใช้ระบบนี้ในแง่ไหน

นักวิชาการสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างมากในแง่ที่สร้างปัญหาต่อสังคมโดยรวม เช่น ระบบเส้นสายก็คือระบบอุปถัมภ์ ความพึงพอใจส่วนตัวเอามาเป็นเหตุผลมากกว่าการเคารพกฎกติกา หรือเหตุผลที่เหมาะสม ก็คือระบบอุปถัมภ์ชนิดหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นความจริงในสังคมนี้

เมื่อผมเห็น “สังคมป่าไม้ที่สะแกราช” ดังกล่าวนี้ทำไม่ผมอ่านได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นธรรมชาติแบบสังคมป่าไม้นั้นต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ยังประโยชน์แก่กัน หากเถาวัลย์ไม่มีไม้ใหญ่เกาะเกี่ยว มีหรือเขาจะเจริญเติบโต ออกลูกหลานเผ่าพันธุ์สืบมาจนปัจจุบันนี้ ผมเดาเอาเองว่า ไม้ใหญ่ก็ให้อิงอาศัยแม้ว่าอาจจะทำให้เกิดอุปสรรคบ้างในการเจริญเติบโต แต่คงไม่มาก และที่สำคัญไม่ได้ทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง ตรงข้ามพื้นที่ส่วนน้อยของเขาได้ยังชีวิตเถาวัลย์เล็กๆ และไม้อิงอาศัยได้มากที่สุด เพราะธรรมชาติของเขาต้องอิงอาศัย ต้องเกาะยึดสิ่งอื่นๆ

ผมนึกถึงที่บ้านขอนแก่น ผมเอา กลอย และ ต้นมันป่าจากดงหลวงไปปลูก ช่วงฤดูฝนนี้เขาแตกยอดใหม่เลื้อยออกมาจากหัว หาต้นไม้ข้างเคียงเกาะยึด แล้วเขาก็เลื้อยพันขึ้นไปข้างบนจนถึงยอดไม้อิงอาศัย เราดูก็อาจจะสงสารต้นไม้หลักที่เขายึดเกาะ เพราะเจ้า กลอย และมันป่าจะงาม แตะกิ่งก้านสาขาจนเกือบจะปกปิดต้นหลัก แต่เขาก็อยู่เพียงไม่กี่เดือนก็สิ้นสุดการเติบโตเข้าสู่วงจรการนอนหลับหรือการหยุดการเจริญเติบโต (Hibernation เอใช้คำนี้ได้เปล่า เปลี่ยน) ใบหลุดร่วงตายไป หัวกลอย หัวมันขยายใหญ่ขึ้น เพราะได้สังเคราะห์แสงเก็บอาหารไว้เต็มที่ตามลักษณะเผ่าพันธุ์ และไม่มีที่ผิดแผกไปจากนี่

แต่มองย้อนกลับมาที่สังคมมนุษย์ เพราะ กิเลส ตัญหา ความทะยานอยาก การไม่อยู่ในหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันคือ ศีลธรรม คุณธรรม ปฏิเสธความพอเพียง ระบบอุปถัมภ์ก็กลายเป็นเครื่องมือก้าวไปสู่ความเป็นเลิศที่ตัวเองต้องการ โดยสร้างปัญหากระทบต่อสังคมรอบข้าง โดยกระทบตั้งแต่น้อยไปหามาก จากเบาไปหาหนัก (เอ เหมือนอะไรน้อ..)

เมื่อมองจากมุมสังคมไม้ป่า ก็พบว่า ระบบอุปถัมภ์นั้นมีประโยชน์ เพราะธรรมชาติของเผ่าพันธุ์เป็นตัวควบคุม และไม้ไม่มีจิตวิญญาณ แต่สังคมมนุษย์ผู้ประเสริฐ ได้ใช้ปัญญาไปในทางที่ผิด ใช้ไปในทางทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกัน ใช้เงื่อนไขทั้งหมดเพื่อความมั่งคั่งส่วนตนและพวกพ้อง เพราะรัศมีการอุปถัมภ์ของสังคมไม้ป่านั้นอยู่วงรอบของทรงพุ่มเท่านั้น แต่รัศมีระบบอุปถัมภ์ของสังคมมนุษย์นั้นครอบไปทั่วทั้งสังคมใหญ่คือประเทศ

ดังนั้นคนชายขอบเขาจะอยู่ไม่ได้เลยหากหมู่บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศไม่โอบอุ้มเขาด้วยระบบอุปถัมภ์ เอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การยื่นน้ำใจให้แก่กัน

เช่นเดียวกันคนที่มีปัญหา หาทางออกไม่ได้ก็ต้องอาศัยระบบของสังคมมาเยียวยาด้วย หนึ่งในนั้นคือระบบอุปถัมภ์ที่มีศีลธรรม คุณธรรม และทุนทางสังคมแบบเดิมๆของเราเป็นสะพานเชื่อม



Main: 0.042651891708374 sec
Sidebar: 0.53607606887817 sec