กรอบรูปที่หัวเตียง..
อ่าน: 8386ผมจำได้ว่าผมรู้จักท่านอาจารย์ ชุมพล สุรินทราบูรณ์ ท่านเป็นอดีตอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬา ในฐานะที่ท่านเป็นคนสุรินทร์ เมื่อ CUSO จะไปทำโครงการพัฒนาชนบทที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ท่านก็ลาออกจากราชการมาเป็นผู้จัดการโครงการ และผมเผ่นจากเหนือมาอีสานครั้งแรก เพราะภัยทางการเมือง ท่านอาจารย์รับผมเข้ามาทำงาน โดยการแนะนำของพี่บำรุง บุญปัญญา ผมทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาสังคมรับผิดชอบ โซน พื้นที่ชายแดน
ช่วงนั้นเขมรแดงกำลังแรงมากๆ ขึ้นมาเขตไทยปล้นเอาข้าวไปก็บ่อย ชาวบ้านเข้าป่าชายแดนโดนกับระเบิดตายบ้าง เสียขาก็เยอะ ชาวบ้านทั้งหมดเป็นคนไทยเชื้อสายเขมร ผมต้องเข้าโรงเรียนภาษาเขมรที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ สมัยนั้น ไปกินนอนบ้านชาวบ้านเพื่อปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น ภาษา วัฒนธรรม วิถีต่างๆ ครั้งนั้นมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ท่านอ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์เป็นทีมงานด้วย และมีคณาจารย์จากสถาบันวิจัยจุฬา จากสถาบันไทยคดีศึกษาอีกหลายท่านมาร่วม
ท่านอาจารย์ชุมพล ท่านเป็นสถาปนิก นิสัยสนุกสนาน แต่มีความรู้เพียบคอยหยอดคอยเติมเรามาตลอด ท่านเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านอยากส่งภาพศิลป์เข้าประกวดระดับชาติ ในหัวข้อ ทางธรรมะ ท่านคิดแล้วก็เอาผ้าดิบขึงกรอบ ยกขาตั้งไปตั้งริมทะเล หยิบพู่กันไปยืนเตรียมจะวาดอะไรสักอย่างลงในผืนผ้าดิบนั้น
ท่านสงบ ตั้งสติ ยืนนิ่งในน้ำทะเลนั้น ทำสมาธิ ท่านได้ยินเสียงน้ำทะเล สัมผัสกับลมที่พัด เสียงนก แสงแดดอุ่นๆ … พักหนึ่งท่านก็คลายจากสมาธิแล้วก็ใช้ฝีแปลงจุ่มสีขาวสะบัดสีลงบนผ้าจนทั่ว แล้วก็ยืนทำสมาธินานพอจนสีบนผ้านั้นแห้ง แล้วท่านก็เก็บกรอบผ้า ขาตั้งเดินทางกลับ….
แล้วท่านก็เอากรอบผ้าดิบที่มีแต่สีพื้นขาวนั้นส่งเข้าประกวดภาพศิลป์ที่บ่งชี้หลักธรรมะ
เสียงคนฮือฮามาก ว่านี่คือรูปอะไร ไม่เห็นมีอะไรนอกจากสีขาวบนพื้นผ้าดิบนั้น…
ท่านอธิบายว่าสิ่งสูงสุดของการหลุดพ้นคือความว่างเปล่า ไม่มีตัวตน….ปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวกูของกู นี่คือความว่างเปล่า… ท่านได้รับรางวัล แต่ไม่ทราบว่ารางวัลอะไรนะครับ
คราวที่ผมไปนอนที่บ้านพักเขาแผงม้า ที่หัวเตียงมีกรอบรูปนี้แขวนอยู่ คนข้างกายบอกว่า ..ดูซิ แค่นี้ก็ดูงามแล้ว…
ผมสนับสนุนว่า รูปในกรอบนี้งามจริงๆครับ..