บทเรียนสวนป่าของบางทราย..
อ่าน: 3797ตัวเองมาพินิจพิจารณาจากการไปสวนป่าครั้งนี้ มีบทเรียน และความคิดเห็นหลายประการ ดังบันทึกไปบ้างแล้ว อยากบันทึกความคิดเห็นต่อบทเรียนชิ้นสำคัญ กรณีอาจารย์โสรีช์ ที่ผมประทับใจบทบาทและลีลาของท่านอย่างไม่เคยพบอาจารย์ท่านใดทำมาก่อน
ท่านอาจารย์ปฏิบัติตัวเองเป็นทั้งผู้บอกกล่าวและเพื่อนเล่น เพื่อนร่วมการเรียนรู้ อาจารย์โสรีช์ท่านเล่นหลายบทบาทในตัวเอง ในมุมมองของผมนั้นประทับใจการสร้างความกลมกลืน ความเป็นกันเอง การเปิด ฯ ของอาจารย์ต่อลูกศิษย์คนอื่นๆ ผมคิดว่านี่คือปฐมบทของกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยิ่งท่านเอาความสามารถเฉพาะตัวเรื่องการเล่นกีต้าร์ มาเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ผ่านบทเพลงอันไพเราะ เพลง Greenfields นี้ผมยิ่งฟังยิ่งไพเราะ เมื่อผมเดินทางถึงบ้านเดินไปหยิบเอา CD แผ่นนี้มาเปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และนึกถึงการบรรยายของอาจารย์ที่กินความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก เป็นแรงผลักให้ผมยกระดับการมองอะไรอะไรให้ไปสู่อีกมิติหนึ่งทีเดียว จนผมมองตัวอาจารย์โสรีย์ในอีกสถานะหนึ่ง เหมือนนักเทศนาทางด้านจิตวิญญาณเลยทีเดียวครับ
ผมขอพิจารณากรณี Session ที่ผมดำเนินการ ความคิดเห็นของแต่ละคนต่อชนบทนั้นมีบทพิจารณาอย่างไร
เป็นเรื่องปกติเหลือเกินที่คนมองดวงจันทร์วันเพ็ญแล้วอธิบายด้วยสาระที่แตกต่างกันมากมาย หรือใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกัน แต่ละคนมองชุมชนในมิติที่หลากหลายเพราะ “ฐานการมอง” ที่แตกต่างกัน ซึ่งฐานการมองที่แตกต่างกันนั้นมาจาก “เบ้าหลอมชีวิต” ที่แตกต่างกัน ซึ่งเบ้าหลอมนี้เองที่ได้เป็นเหตุปัจจัยให้วิสัยทัศน์ของบุคคลนั้นๆแตกต่างกันและมีส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการเดินบนเส้นทางที่เหมือนกัน ต่างกัน หรือใกล้เคียงกัน
เบ้าหลอมหลายคนมีอิทธิพลมาจากครอบครัว การศึกษา ความสนอกสนใจเฉพาะตัว หรือเกิดสำนึกสูงส่งใดๆขึ้นมา ประสบการณ์ชีวิตก็มีส่วนสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา ก็ยังมีผลต่อเบ้าหลอม และเบ้าหลอมอื่นๆ ฯลฯ นี่เองที่เรามักพูดถึงระบบการศึกษาสร้างอะไรแก่เด็ก ระบบครอบครัวมีส่วนมากน้อยแค่ไหนในการสร้างเด็กรุ่นใหม่ และแม้แต่สภาพชุมชน ที่มีทุนทางสังคม หรือการแตกสลายของทุนทางสังคมก็ส่วนสำคัญต่อเด็กรุ่นใหม่.. และฐานมุมมองก็ไม่ได้มาจากอิทธิพลปัจจัยด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะผสมผสาน ปนเปกันไปตามเหตุผลที่แตกต่างกัน
ขออนุญาตยกกรณี การแสดงความคิดเห็นของท่านอาจารย์โสรีช์ต่อ ตารางสี่เหลี่ยมที่ผมนำมาเป็นสื่อการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้นั้น ท่านตอบว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพียงหนึ่งรูปเท่านั้น(จากทั้งหมด 30 รูป) ท่านมีคำอธิบายที่เป็นคำอธิบายในมิติ ปรัชญา จากฐานการมองที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆ และน่าสนใจ ทำให้ผมเกิดมิติการเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากมุมมองของท่าน
“ในความต่างมีความเหมือน ในความเหมือนมีความต่าง” ท่านมองในมุมความแตกต่างมีความเหมือน ซึ่งท่านเน้นว่ามุมนี้เป็นมุมบวก หากเรามองแต่ความแตกต่างก็สามารถพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกได้ ตรงข้ามหากเรามองเห็นความเหมือนในความต่าง ก็จะเป็นวิธีมองที่ไม่เกิดความแตกแยก..
ผมยอมรับมิติของท่าน แต่ผมก็มีความคิดเห็นต่อเนื่องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราในฐานะที่คนทำงานต้องเผชิญหน้ากับคนที่เป็นเป้าหมายที่มีความแตกต่างในเรื่องฐานการมองที่แตกต่างกันมากมาย และมิติเชิงปรัชญานี้ต้องเป็นคนที่มีสติปัญญาที่ถูกพัฒนามาระดับหนึ่งเท่านั้นจึงจะสัมผัสได้ เข้าใจได้ นั่นหมายความว่า ผู้ทำงานต้องเป็นผู้เล่นดนตรีได้หลายคีย์ อ่านบุคคลต่อหน้าให้ออกว่าเขาอยู่ในคีย์ไหนแล้วยกระดับตัวเราให้ใกล้เคียงกับเขาแล้วคุยกันเพื่อยกระดับเขา
แต่นักปฏิบัติต้องฝึกฝนมิตินี้อย่างมากมายทีเดียวก่อนที่จะลงสนามทำงาน มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงผู้เล่นดนตรีเท่านั้น เพลงที่บรรเลงไม่มีความไพเราะเอาเสียเลย
เมื่อสรุปได้ดังนี้ผมก็มองมาดูตัวเอง โอ้พระเจ้า เรายังต้วมเตี้ยมอยู่เลย..