ผมชอบกิจกรรมเดินสวนป่าที่พ่อครูบาฯเป็นผู้นำ กลุ่มผู้สนใจเดินตาม จะหยุดเป็นช่วงๆ แล้วพ่อครูบาก็แนะนำพืชนั้นๆ และความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกัน
ผมนึกถึง Walk through Survey (WTS) ซึ่งเป็นเทคนิคชนิดหนึ่งของ กระบวนการมีส่วนร่วมประเมินสภาพชุมชนชนบทแบบเร่งด่วน Participatory Rapid Appraisal หรือ PRA ที่เราใช้สำหรับสำรวจสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชน หรือพื้นที่เป้าหมายที่เราจะเข้าไปทำงานว่ามีสภาพด้วยตาประจักษ์นั้นเป็นเช่นใด แล้วจัดทำเป็นรายงานระดับต่างๆขึ้นมา
สาระสำคัญของ WTS ใน PRA นั้นคือการค้นหา Key informance (KI) ในชุมชนนั้นๆที่เป็นผู้รู้เรื่องชุมชนดีที่สุดและเข้าใจลักษณะสภาพทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด ซึ่งอาจจะมากกว่า 1 คนแล้วพากันเดินดูสภาพชุมชนทั้งหมด โดยมี KI เป็นผู้อธิบายเรื่องราวทุกเรื่องที่เดินผ่านไปแต่ละก้าว ทีมงานจะซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญมากที่สุด แล้วทำการบันทึกไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้อาจทำแผนที่แบบต่างๆทางกายภาพประกอบด้วย อาจถ่ายรูป อาจวาดภาพประกอบ ฯ
ข้อมูลที่ได้มานั้น ทีมงานจะนำมารวบรวมไว้ จัดหมวดหมู่ความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ และอาจจะนำไปสู่การสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นศักยภาพ จุดเด่น จุดด้อย และอื่นๆที่มีคุณค่าต่อองค์ความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมากทีมงานที่จะทำ WTS นั้นจะเป็น Multi disciplinary ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานแต่ละด้านใช้ความถนัดของตัวเองเจาะข้อมูลที่สำคัญๆออกมา เพื่อความสมบูรณ์
ในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ต่อไป
สวนป่าอาจจะดัดแปลงมาใช้ได้ ประเด็นคือ ต้องมีผู้ที่มีความรู้ เข้าใจและเคยใช้ WTS มาช่วยจัดทำ Session design ซึ่งก็จะขึ้นกับการกำหนดเป้าหมายว่าการเดินครั้งนี้เพื่ออะไร คาดหวังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราสามารถจะ design ออกมาได้ และในกรณีที่พ่อครูเป็น KI เพราะเป็นเจ้าของสวนป่า แต่อาจจะมี Facilitator หรือกระบวนกร ช่วยเสริมในการขยายความ ตั้งประเด็นคำถาม กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ
เมื่อสิ้นสุด WTL อาจจะจัดการแบ่งกลุ่ม โดยให้โจทย์แต่ละกลุ่มอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันก็แล้วแต่เพื่อให้ทำการสรุป ยกตัวอย่าง
กลุ่มที่ 1 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชที่พบที่สามารถกินได้ พืชสมุนไพร พืชอาหารสัตว์ ฯลฯ
พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย
กลุ่มที่ 2 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้วาดแผนที่ และสิ่งสำคัญที่พบทั้งหมดตลอดเส้นทางที่เดิน
กลุ่มที่ 3 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชไม้ยืนต้นที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่างๆได้ พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย
กลุ่มที่ 4 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อสัตว์ทุกชนิดที่พบ คุณค่า อันตราย พร้อมเอาหลักฐานเช่น ขน รูป หรือวาดรูป ตำแหน่งที่พบ แสดงด้วย
ฯลฯ
การแบ่งกลุ่มอาจจะแบ่งก่อน walk through ก็ย่อมได้ แล้วแต่วัตถุประสงค์
วิทยากร หรือพ่อครูบา อาจจะพูดให้น้อยที่สุด แล้วให้ กลุ่มต่างๆนั้นซักถามเพื่อเขาจะได้ความรู้แล้วเอาไปรวบรวมตามโจทย์ที่มอบหมายให้ ฯลฯ สารพัดที่จะดัดแปลงให้เกิดการเรียนรู้
หากจะเอาหลักการของท่านไร้กรอบ ที่จอมป่วนเอามาพูดบ่อยๆว่า Learn how to learn นั้นอาจจะเน้น
ดัง diagram นี้
คือมอบโจทย์ให้แล้วแต่ละกลุ่มหาคำตอบเอง ไปเรียนรู้เอง ไปหาข้อมูลเอง ไปสัมผัสเอง
การกระทำ walk through learning แบบนี้เป็นการใช้กระบวนการเรียนรู้มาช่วย แทนที่พ่อครูจะเดินเล่า อธิบายไปเรื่อยๆ โดยมีคนเดินตามจำนวนมากไม่ได้สนใจ ไม่ฟัง เมื่อเดินจบอาจไม่ได้เรียนรู้อะไร เท่าไหร่นัก ยกเว้นคนที่สนใจจริงๆ
โจทย์ อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้กลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้เรื่องราวของวัว.. ไก่ต่างๆในสวนป่า ฯ และให้เขาไปหาความรู้เอง อาจจะแนะบ้างว่าไปหาความรู้ได้ที่ไหนบ้าง กรณีวัวนั้น พ่อครูอาจเอาคนเลี้ยงวัวในสวนป่าเป็นครู แทนพ่อครู เป็นการใช้ทรัพยากรคนในสวนป่าเพิ่มขึ้นอีก พ่อครูค่อยมาเติมเอาทีหลัง
ตอนกลุ่มมาสรุปที่สนุกคือ ระหว่างการเรียนรู้ให้เก็บหลักฐานมาแสดงด้วย เช่น ใบไม้ทุกชนิดที่เรียนรู้มา เปลือกไม้ กิ่งไม้ หรือวาดรูปมา หรือถ่ายรูปมา หรือ ฯ…. เอาหลักฐานเหล่านี้มาติดที่กระดาษให้เป็นหมวดหมู่ หรือแล้วแต่กลุ่มจะออกแบบเอง…
การสรุปนั้นควรที่จะเน้นดังนี้
- ความรู้ที่ได้
- ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเดิน จากการสัมผัส จากการพบปะ ฯ
- กระบวนการเรียนรู้มีกี่วิธี แต่ละวิธีเป็นอย่างไรบ้าง จะโน้มนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร
- เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับระบบนิเวศ ป่า พืช พืชและสัตว์ คน-พืช-สัตว์-ป่า ฯลฯ
- การเรียนรู้เป็นกลุ่มเป็นเช่นไรบ้าง
- ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่สามารถสร้างสรรค์ ดัดแปลงได้มากมายโดยเฉพาะท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ศิลปินแบบออต หรือนักคิดสร้างสรรค์ต่างๆ แล้วแต่วัตถุประสงค์ แล้วแต่เงื่อนไขวันนั้นๆ ฤดูกาลนั้นๆ องค์ประกอบของทีมผู้สนับสนุน ฯลฯ
สวนป่ายังเล่นอะไรได้อีกมากมายครับ..